กระแสซีรีส์ ‘Girl from Nowhere’ หรือ ‘เด็กใหม่’ ที่ออกอากาศทางช่อง GMM 25 นับวันยิ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความแปลกใหม่ในวงการบันเทิงไทย คือเป็นซีรีส์ 13 ตอน ที่แต่ละตอนจบในตัวเอง การให้น้ำหนักกับความเป็นซีรีส์ของผู้หญิงที่หยิบเอาข่าวจริงตามหน้าหนังสือพิมพ์มานำเสนอ และการแสดงของคิทตี้-ชิชา อมาตยกุล ในบท แนนโน๊ะ ที่ทำให้เราต้องเสิร์ชกูเกิ้ลว่าเธอเป็นใครมาจากไหน ถึงแสดงสมบทบาทขนาดนี้
เบื้องหลังซีรีส์เรื่องนี้เกิดจากการที่แกรมมี่อยากสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิม เจ๋อ – ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดูแลส่วนนี้จึงชวนเล็ก-ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา ผู้ก่อตั้ง Sour Bangkok เอเจนซี่สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ มาทำซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง
และนับเป็นความกล้าหาญของเล็ก-ดมิสาฐ์ ในฐานะคนโฆษณาที่ตัดสินใจลงมาทำซีรีส์เป็นครั้งแรกในฐานะ Creator ผู้วางคอนเซ็ปต์และเรื่องราวทั้งหมด ก่อนจะส่งให้ผู้เขียนบทและผู้กำกับฯ ต่อไป ซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่ในวงการบันเทิงไทย
จุดเริ่มต้นของซีรีส์เรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ย้อนกลับไปตอนที่เราออกจากโอกิลวี่ช่วงปลายปี 2016 เพราะอยากมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น คือแพลนว่าจะมีลูก และคิดจะเปิดเอเจนซี่เกี่ยวกับผู้หญิง พอดีว่าวันที่เราลาออก ทางพี่เจ๋อ (ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)) เห็นเราโพสต์เฟซบุ๊กกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาเลยโทรมาถาม ก็ได้คุยกันแล้วเป็นช่วงเวลาที่เขาเองก็เพิ่งเข้ามาอยู่ที่แกรมมี่ และต้องการสร้างคอนเทนต์เป็นของตัวเอง เลยคุยกันและชวนทำซีรีส์เกี่ยวกับผู้หญิง เราตัดสินใจรับงานนั้นทันที
อีกอย่างคือ Sour Bangkok เป็นเอเจนซี่ที่อยู่บนพื้นฐานของกลุ่มลูกค้าผู้หญิง เราทำแบรนด์สินค้า ดีไซน์ อะไรก็ตามที่อยู่รอบผู้บริโภคผู้หญิง คราวนี้เอนเตอร์เทนเมนต์ก็เป็นขาหนึ่งที่เข้ามาเติมเต็ม เพราะเราอยู่แต่ในโฆษณาทุกวัน โอกาสแบบนี้หายาก เลยตัดสินใจกระโดดมาทำ
ตอนแรกคิดคอนเซ็ปต์กันไว้ 3 แบบ ตอนไปเสนอพี่เจ๋อ แกบอกเลือกหมดเลย (หัวเราะ) สุดท้ายเลือกคอนเซ็ปต์เด็กใหม่ เราเขียนไปแค่หนึ่งพารากราฟเองว่า ‘เด็กใหม่ เป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน’ ด้วยความที่เราเป็นคนโฆษณาถนัดคิดสั้นๆ ไม่ค่อยถนัดคิดยาวแบบ 13 ตอนต่อเนื่อง เลยบอกว่าในเมืองไทยไม่ค่อยมีซีรีส์แบบจบในตอน ไม่เหมือนเมืองนอก เช่น Black Mirror ใน Netflix ที่ความสนุกอยู่ในเนื้อเรื่องแต่ละตอน แล้วพอของเราเป็นซีรีส์ผู้หญิง ก็หาสิ่งที่จะร้อยเรียงทั้ง 13 ตอนให้เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกัน ซึ่งจริงๆ กลุ่มเด็กนักเรียนหญิงมันกว้างมาก เลยทำให้มันแคบด้วยการเน้นไปที่เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน 13 โรงเรียน โดยเล่าเรื่องผ่านเด็กผู้หญิงหนึ่งคนที่เป็นเด็กใหม่ในทุกๆ ตอน
เราใช้เวลาร่วมปีครึ่งสำหรับซีรีส์เรื่องนี้ คือเราเล่าคอนเซ็ปต์กัน 30-40 รอบ พอมันผ่านแล้วก็ต้องมาประชุมกันว่าใน 13 ตอน จะมีเรื่องอะไรบ้าง และต้องพัฒนาเรื่องราวไปด้วยกัน ต้องมานั่งคิดว่าจะทำให้มันน่าสนใจ ควรได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวจริงไหม เราก็ต้องมานั่งหาข่าวจริงที่เกิดขึ้น ก็ได้พล็อตเรื่องมาเป็นสิบเรื่อง แล้วก็มานั่งคิดต่อว่าเรื่องไหนทำอะไรได้บ้าง เริ่มหาคนเขียนบท ซึ่งกว่าจะมาเป็นพี่คงเดช (คงเดช จาตุรันต์รัศมี) ก่อนหน้านั้นเราถูกปฎิเสธมาเยอะเหมือนกัน (หัวเราะ)
โดนคนเขียนบทหลายคนปฎิเสธ แต่ทำไมยังเดินหน้าทำต่อ
บนความเป็นซีรีส์มันไม่ฟุ้งเฟ้อเหมือนโฆษณา โปรดักชั่นงานโฆษณางบฯ มหาศาล คนที่เราหามาอาจคุ้นชินงบประมาณแบบโฆษณาหรือเปล่า และคงรู้สึกว่าต้องทำงานหนักกว่าเดิมหลายเท่า เพราะการทำเรื่องสั้น 13 ตอนมันยากกว่า ไหนจะต้องทำให้มันจบในตัวเอง มีความสนุกมากพอในทุกตอน เขาอาจคิดว่าทำงานหนักขึ้นแต่เงินเท่าเดิม เลยทำงานอื่นดีกว่า คนเขียนบทในเมืองไทยเลยขาดแคลนอย่างมาก พอมันเหนื่อยกว่าปกติ เขาไม่รับก็ได้
แต่ด้วยความที่เรามีแพสชั่นกับมัน ความตั้งใจที่อยากเป็นเอเจนซีที่ทำหลายๆ มุมของผู้หญิง พอได้ทำเอนเตอร์เทนเมนต์ เราไม่ยอมทิ้งโอกาสนั้นไปเด็ดขาด ไม่ว่าจะโดนปฎิเสธหรือมีอุปสรรคใดก็ตาม ทำให้เราได้พิสูจน์ เพราะยังไม่มีเจ้าไหนทำมาก่อน
ในฐานะที่เป็น Creator คุณต้องทำอะไรบ้าง
จริงๆ แล้วการทำซีรีส์มีหลายแบบ จากผู้ลงทุนอย่างแกรมมี่ไปหาผู้กำกับฯ และไปหาคนเขียนบท ซึ่งเป็นโครงสร้างปกติ แต่คราวนี้ทางพี่เจ๋อลองโครงสร้างใหม่ ลองหาตัวกลางที่เป็นครีเอเตอร์เข้ามาช่วยกันคิดคอนเซ็ปต์ที่มันจะห่อเรื่องทั้งหมด คือวิธีคิดของคนโฆษณาจะมีไอเดียและการทวิสต์มากกว่าคนเขียนบทปกติ เพราะเราอยู่กับการทำงานแบบ 30 วินาที หรือ 1 นาที เราต้องทวิสต์เพื่อขายของ ทำให้เราฝึกคิดมาแบบนี้จนเคยชิน พอเอาครีเอเตอร์เป็นตัวกลาง หาแง่มุมที่น่าสนใจ แล้วค่อยไปหาคนเขียนบทให้เขาต่อยอดเป็นบทขนาดยาว เหมือนเราเป็นตัวกลางติดต่อโปรดักชันเฮาส์ ประชุมกันคนเขียนบท แม้กระทั่งตอนนักแสดงเวิร์คช็อป เราก็ต้องไปดูว่าเขาเล่นใช่หรือเปล่า ตรงกับสิ่งที่เราอยากสื่อสารไหม เลยจนไปถึงหลังโปรดักชั่น ทั้งการโฆษณา แผนโปรโมทต่างๆ เมสเสจที่จะสื่อสารออกไป ทุกอย่างในภาพรวม
คุณวางคาแรกเตอร์ ‘แนนโน๊ะ’ ตัวละครหลักของเรื่องไว้แบบไหน
ความตั้งใจเดิมอยากให้เป็นตัวแทนของความเป็นผู้หญิงที่ดึงด้านมืดของมนุษย์ที่อยู่รอบตัวออกมา เหมือนเป็นกรรมที่อยู่ในเด็กนักเรียนหญิง ด้วยความที่ได้แรงบันดาลใจจากข่าวจริง ทำให้เหมือนตัวละครตัวนี้ได้กลิ่นหายนะบางอย่างที่สามารถดึงด้านมืดของคนที่อยู่รอบๆ ข้าง โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ส่วนหนึ่งเราไม่อยากให้เขาดูเป็นผู้หญิงจริงๆ มากนัก เพราะอย่างที่บอกเราสร้างจากเรื่องจริง บางตอนถูกทำร้ายร่างกาย พอเราดูแล้วจะรู้สึกสงสาร เราตั้งไว้ให้ดูไม่เป็นมนุษย์ขนาดนั้น เหมือนหุ่นยนต์ที่เวลาโดนกระทำจะได้ไม่มีความรู้สึก
คิทตี้-ชิชา ถูกพูดถึงอย่างมากว่าสวมบทบาท ‘แนนโน๊ะ’ ได้อย่างยอดเยี่ยม
จำได้เลยว่าทีมแคสติ้งหานักแสดงมาเยอะมากให้เราช่วยดู ซึ่งสุดท้ายก็ยังหากันไม่ได้เสียที เพราะความยากของซีรีส์เรื่องนี้คือคนเดียวต้องเล่นหลายบทบาท เพราะเป็นเด็กใหม่ที่ย้ายไป 13 โรงเรียน มันก็ต้องมี 13 คาแรกเตอร์ในคนเดียว แล้วเราก็ไม่อยากได้นักแสดงที่ช้ำมากนัก จนมาได้คิทตี้ ในตอนที่มาแคสต์ดูสะดุดตามาก เพียงแต่คนติดภาพจากละคร เล่นเป็นตัวอิจฉา แต่พอเจอตัวจริงและเห็นแคสติ้ง เราว่าคิทตี้เหมาะกับบทนี้มากๆ
วันที่เราดูเทปแคสติ้ง มีฉากโดนข่มขืน จริงๆ ในบทตัวละครจะแค่ไม่รู้สึกอะไรกับการโดนข่มขืน แต่คิทตี้กลับแสดงมากไปกว่านั้นคือการร้องเพลง เรานี่ขนลุกเลย คือบ้าไปแล้ว (หัวเราะ) สามารถแสดงออกถึงความเซอร์เรียลของคาแรกเตอร์ได้ แล้วเราว่าคิทตี้เป็นนักแสดงจริงๆ ไม่เคยมาอ่านบทให้เราเห็นเลย ไม่มาท่องหน้างาน เวลาซ้อมแสดงก็ท่องได้ทุกประโยคเหมือนมีอินพุทมาแล้ว รู้เลยว่าอยู่บ้านต้องซ้อมมาอย่างหนัก
คุณเคยทำแต่โฆษณา พอมาทำซีรีส์ยาวๆ มีอะไรที่ไม่เหมือนอย่างที่คิดบ้าง
พอเรากลับมานั่งคิด มันเปลี่ยนโลกเลย โฆษณามีหลายอย่างสิ่งที่ต้องระวัง เพราะสุดท้ายถูกทำโดยแบรนด์ แต่โลกเอนเตอร์เทนเม้นต์ เราทำคือความสนุกและความสนใจของผู้บริโภค ที่ไม่ใช่นักการตลาด ไม่ได้เป็นอะไรกับเรา แต่เป็นความสนใจร่วมของคนส่วนใหญ่ มันไม่เหมือนงานโฆษณาที่ตอบโจทย์คนเฉพาะกลุ่ม เรียกว่างานนี้คำว่าแมสส์มีอยู่จริง (หัวเราะ)
ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์ ‘เด็กใหม่’ ทั้ง 13 ตอน
นอกจากความบันเทิง คุณคาดหวังอะไรกับงานนี้อีก
เรื่องหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงวันที่เราทำซีรีส์เสร็จ มีกระแสสองด้านคือชอบมากและเกลียดมาก มีคนที่ได้ดูแล้วบอกว่าเขาไม่ให้ลูกสาวดู เรากลับมองเห็นความแตกต่างในจุดนี้ คือหนังเรื่องนี้มาจากเรื่องจริง จากข่าวที่เห็นแล้วรับไม่ได้ หมายความว่าพื้นที่ของช่องว่างระหว่างพ่อแม่กับลูกสาวมีมาก ไม่สามารถที่คุยกับลูกเหมือนเพื่อนที่รู้สึกว่า ถ้าลูกมีเรื่องอะไรแล้วคุยกันได้ทุกเรื่อง เราอยากให้ซีรีส์เป็นเครื่องมือในการช่วยให้พ่อแม่มีความเข้าใจและใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น เป็นเพื่อนที่กล้าคุยกันถึงเรื่องที่ลึกซึ้ง เช่นการมีเซ็กซ์ หรือการคุมคามทางเพศ
ทำไมถึงวางโพสิชันนิ่งของ Sour Bangkok ให้เป็นเอเจนซีสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ
เราอยากแสดงถึงอำนาจของผู้หญิง เราให้ความสำคัญและมูลค่าวิธีคิดแบบผู้หญิงเพื่อผู้หญิง แม้โปรดักต์อาจเป็นของผู้หญิงหรือไม่ใช่ก็ได้ แต่มีกลุ่มลูกค้าหรือกำลังซื้อหลักเป็นผู้หญิง เราเคยทำแคมเปญรองเท้าแตะผู้ชาย
เพราะงานวิจัยบอกว่าผู้หญิงเป็นคนซื้อรองเท้าแตะให้ แม้กระทั่งพวกงานโปรดักต์ดีไซน์เราก็ทำ เรียกว่าทำอะไรก็ตามที่เป็นความตั้งใจให้ผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง และอยู่ในความสนใจของผู้หญิงในทุกมิติ
การที่เอเจนซีโฆษณามาเป็น Creator ในการทำซีรีส์หรือคอนเทนต์บันเทิง ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ไหม
ไม่เคยมีมาก่อน ส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตพี่เจ๋อ ที่อยากได้คอนเทนต์ใหม่ๆ จากพาร์ทเนอร์หรือครีเอเตอร์ใหม่ๆ เลยต้องมองหาครีเอเตอร์หน้าใหม่มาทำกับแกรมมี่เพื่อให้ได้คอนเทนต์ที่แปลกไป อย่างของเราเป็นเอเจนซีสำหรับผู้หญิง วิธีการโปรโมทหรือนำเสนอจะมีความแฟชั่นกว่าปกติ
ข้อดีคือมีความเชี่ยวชาญคนละแบบ สิ่งที่พิสูจน์ได้อย่างแรกเลยคือแกรมมี่มีภาพลักษณ์ใหม่ในการทำซีรีส์ เพราะเราเป็นเอเจนซีผู้หญิงที่เข้าใจผู้หญิงในหลายมิติ ขณะที่ถ้าไปพาร์ทเนอร์กับเด็กเกมมากๆ ก็อาจจะได้คอนเทนต์เกมโชว์ในรูปแบบใหม่ ที่สามารถนำเสนอคอนเทนต์ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้จริงๆ
แนวโน้มอนาคต เราจะเห็นเอเจนซีอิสระเปิดเยอะขึ้นและมีความเฉพาะด้านมากขึ้นใช่ไหม
ตั้งแต่ปลายปี 2016 มาจนถึง 2017 มีเอเจนซีเปิดใหม่ถึง 11 แห่งในเมืองไทย ทุกคนเริ่มมองเห็นแล้วว่าหนึ่งยูนิตสามารถทำอะไรเองได้และจบในตัวเอง ขณะที่ลูกค้าเริ่มมองหาสิ่งที่เป็นสเปเชียลลิสต์มากๆ ไม่ว่าจะด้านดิจิทัล คอมมิวนิเคชั่น หรือซื้อมีเดีย ไม่ค่อยมีแล้วที่ใช้เอเจนซีใหญ่เจ้าเดียวแล้วทำทุกอย่างครบ
เราเองก็ถึงจุดอิ่มตัวกับเอเจนซีใหญ่ งานเริ่มซ้ำและเราเดาทางได้เพราะอยู่มาเป็นสิบปี อย่างที่บอกความตั้งใจแรกอยากจัดการเวลาชีวิต เพราะอยากมีลูก ก็คิดว่าออกมาทำบริษัทเล็กๆ มีทีม 3-4 คน ทำกันสนุกๆ และโชคดีว่าก่อนหน้านั้นเราทำแคมเปญเกี่ยวกับผู้หญิงเยอะ และค่อนข้างประสบความสำเร็จ จากเดิมใช้ครีเอทีฟผู้ชาย พอมาใช้ผู้หญิง ทำให้ได้งานที่แตกต่าง เราเชื่อว่าพลังความคิดของผู้หญิง พอได้ทำแบรนด์ที่เป็นผู้หญิง เราจะเข้าใจมันจริงๆ
แล้วเรามีโอกาสไปตัดสินงานโฆษณาที่ต่างประเทศบ่อยๆ ก็เห็นเทรนด์ Women Economy กำลังมา สถิติปีที่แล้ว สามอันดับการใช้จ่ายสูงสุดคือในตลาด ซูเปอร์มาเก็ต อาหารและของใช้ในบ้าน และกลุ่มเครื่องสำอาง คือเป็นตลาดที่ใหญ่แบบมหาสมุทร เลยชิงเปิดก่อนเลยดีกว่า ถือว่าเป็นเอเจนซีแรกที่เป้าหมายคือผู้หญิง
เพราะก่อนที่เราจะลาออกมาเปิดเอเจนซีเอง ก็ศึกษาข้อมูลมาก่อน ก็เห็นอยู่ว่าในออนไลน์กำลังซื้อกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้หญิง แล้วพวกตลาดอสังหาริมทรัพย์ คนตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่ก็ผู้หญิงอีก เรียกว่าผู้ชายซื้อของใหญ่แล้วไม่ปรึกษาภรรยามีเสียชีวิต (หัวเราะ)
Fact Box
- ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา คนโฆษณาที่อยู่ในวงการมาสิบกว่าปี เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ให้กับ J. Walter Thompson และ Ogilvy & Mather ก่อนตัดสินใจลาออกมาเปิดบริษัทเอเจนซีอิสระในชื่อ Sour Bangkok สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์ ‘เด็กใหม่’ ในฐานะ Creator
- Girl from Nowhere หรือ เด็กใหม่ เป็นซีรีส์ แนว Mysterious-fantasy แรงบันดาลใจจากข่าวฉาวเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน 13 แห่งที่เด็กผู้หญิงถูกกระทำและโดนเอาเปรียบในสังคม ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 22.25 น. ทางช่อง GMM 25 และจะออกอากาศแบบรวดเดียวทาง Netflix