‘แม่น้ำโขง’ คือหนึ่งในแม่น้ำสายยาวที่สุดในโลก ด้วยระยะทาง 4,880 กิโลเมตร ไหลผ่าน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม ก่อนไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีลุ่มน้ำสาขา 37 แห่ง ที่ไหลผ่านมาบรรจบกัน คอยโอบอุ้มหล่อเลี้ยงคน สัตว์ และป่าบุ่งป่าทาม (Riparian forest) ริมฝั่งให้ได้พึ่งพาอาศัยประโยชน์จากความชุ่มชื้นต่อการดำรงชีวิต กลายเป็นระบบนิเวศเกื้อกูลกันอย่างน่าอัศจรรย์

เช่นเดียวกับ ‘ลุ่มน้ำสงคราม’ หนึ่งในลุ่มน้ำสาขาที่มีพื้นที่ 6,472 ตารางกิโลเมตร หรือราว 4,045,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดในประเทศไทย ตั้งแต่ สกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ จนถึงนครพนม เมื่อถึงยามฤดูน้ำหลาก ลุ่มน้ำแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นแอ่งกักเก็บน้ำที่ไหลย้อนเข้ามาจากแม่น้ำโขงเป็นระยะทางรวม 300 กิโลเมตร ก่อนจะผลักไหลย้อนคืนยามฤดูน้ำแล้งตามวัฏจักรธรรมชาติ ดั่งสมญานามว่า ‘ครรภ์แห่งแม่น้ำโขง’ (Mekong’s Womb) คล้ายกับโตนเลสาบ ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ในประเทศกัมพูชา

ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะยามน้ำล้นหรือน้ำแล้ง หลากชีวิตริมฝั่งต่างใช้ชีวิตร่วมกัน ได้ประโยชน์มากบ้างน้อยบ้างสลับกันไปตามช่วงเวลา กระทั่งช่วงหลายปีมานี้ เกิดโครงการสร้างเขื่อนขนาดมหึมาทับลงบนเส้นทางแม่น้ำโขงสายประธาน และกำลังส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต รวมถึงเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศให้แห้งแล้งฉับพลัน แม้จะมีผู้คนออกมาประท้วงแสดงความไม่เห็นชอบต่อโปรเจกต์ดังกล่าว

คอลัมน์ Culture Club ชวนชมนิทรรศการอัลบั้มภาพถ่ายชุด ‘The Mekong’s Womb’  ผลงานจากช่างภาพอาวุโสฝีมือดีอย่าง สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ ที่เพิ่งจัดแสดงจบลงไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และกำลังจะกลับมาจัดแสดงอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อตระหนักถึงปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมแม่น้ำโขง ผ่านการตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วความแห้งแล้งนี้เกิดขึ้นเองตามความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ หรือเพราะโครงการเขื่อนจากฝีมือภาครัฐ

สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ เจ้าของผลงานนิทรรศการอัลบั้มภาพถ่ายชุด The Mekong’s Womb ได้อุทิศเวลาชีวิตหลายปีเพื่อเก็บภาพวิถีชีวิตของชาวบ้าน สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ และป่าบุ่งป่าทามบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงคราม ตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติดั้งเดิม โดยแบ่งการจัดแสดงความสัมพันธ์เป็น 2 หัวข้อ ให้เข้าใจได้ง่าย คือ ‘คน เขื่อน และโขง’ และหัวข้อที่ 2 คือ ‘ต้น กลาง และปลาย’ ที่แสดงหลักภูมิศาสตร์ของลุ่มแม่น้ำสงคราม

โปรเจกต์ครั้งนี้ สายัณห์ได้มูลนิธิคอนราดอะเดนาวร์ (Konrad Adenauer Stiftung) ประเทศเยอรมนี, สำนักข่าว Bangkok Tribune และรองศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มาช่วยสนับสนุนรวมถึงสืบค้นข้อมูลอย่างถูกต้อง

ความน่าสนใจหลักนอกจากเนื้อหาที่อัดแน่นครบถ้วนแล้ว ภาพถ่ายแต่ละเฟรมยังสื่ออิริยาบทของหลากชีวิตได้น่าสนใจ เช่น ภาพถ่ายฝูงควายกำลังแหวกว่ายในแอ่งน้ำแบบมุมสูงด้วยการบินโดรน, ชาวประมงที่กำลังใช้สุ่มจับปลา, ชาวบ้านที่หันมาทำอุตสาหกรรมนาเกลือช่วงน้ำลง, หน้าดินแตกระแหงเมื่อต้องพบกับความแห้งแล้ง และเขื่อนขนาดใหญ่ก่อสร้างทับบนแม่น้ำสายประธาน ผ่านภาพสีกับขาวดำสลับกันไป 

ลุ่มแม่น้ำสงครามมีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาภูพาน บริเวณภูผาหัก ภูผาเพลิน และภูผาเหล็ก ในท้องที่ตำบลท่าศิลา อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร และตำบลคำเลาะ อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี โดยได้รับปริมาณน้ำสมทบจากลุ่มแม่น้ำเล็กอีกหลายสาย โดยเฉพาะห้วยฮี ห้วยซาง ห้วยน้ำยาม ห้วยน้ำอูน และห้วยน้ำเมา ฯลฯ จึงจะเห็นได้ว่า เส้นทางการดำเนินของน้ำมีหลายสายมากมาย คล้ายกับเส้นเลือดฝอยในร่างกายมนุษย์ ขณะเดียวกันในเชิงวิชาการได้มีการแบ่งลักษณะทางกายภาพของลุ่มแม่น้ำสงครามออกเป็น 2 ส่วน คือ ลุ่มแม่น้ำตอนบน และลุ่มแม่น้ำตอนล่าง 

ด้วยความที่ต้นน้ำของลุ่มแม่น้ำสงครามมีลักษณะอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณและหน้าดิน ชาวบ้านสมัยก่อนจึงมักตั้งถิ่นฐานเพื่อประกอบอุตสาหกรรมอาชีพต่างๆ ตามหลักฐานที่ปรากฏในปี 2534-2537 ฝ่ายวิชาการกองโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สำรวจพบเตาเผาภาชนะดินไม่น้อยกว่า 90 เตา บริเวณหนองกุดโง้ง ไล่คดเคี้ยวลึกไปถึงบ้านหาดแพง รวมระยะทาง 90 กิโลเมตร 

ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่า อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องภาชนะดินเผาตามลุ่มแม่น้ำสงคราม เกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21–22  รัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2091-2115) จนถึงรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ. 2181-2238) แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ซึ่งอุตสาหกรรมภาชนะดินเผาแบบไทย ล้านนา และจีนราชวงศ์หมิง รุ่งเรืองขีดสุด ไม่ได้เป็นชุมชนที่ห่างไกลความเจริญแต่อย่างใด

ลุ่มแม่น้ำสงครามยังแผ่ขยายอิทธิพลทอดยาวไกลออกไป ช่วงกลางและปลายมีอาณาเขตไหลผ่านตั้งแต่อำเภอบ้านม่วง, โซ่พิสัย, คำตากล้า, อากาศอำนวย จนถึงอำเภอศรีสงคราม ท่าอุเทน ที่เป็นปากลุ่มแม่น้ำสงคราม มีลักษณะกายภาพเป็นแบบป่าบุ่งป่าทาม เนื่องจากมีความชุ่มชื่น ปริมาณน้ำมากโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ส่วนใหญ่ชาวบ้านจึงนิยมจับปลาและสัตว์น้ำไว้หาเลี้ยงชีพเวลาน้ำหลาก พอยามน้ำลดจึงค่อยหันมาประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น เก็บพืชผัก สมุนไพร เลี้ยงควาย และผลิตเกลือบ่อหัวแฮด ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหารของชาวอีสานพื้นบ้าน

ข้างภาพมีเนื้อหาบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของการผลิตเกลือบ่อหัวแฮดไว้อย่างละเอียด เพื่อขจัดข้อสงสัยว่าทำไมเกลือจึงไม่ได้ผลิตแหล่งใกล้ทะเล นั่นเป็นเพราะกรรมวิธีที่เรียกว่าเกลือบ่อหัวแฮด ริเริ่มโดยกลุ่มพ่อค้าที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณท่าสะอาด จังหวัดบึงกาฬ ราวปี 2484  

บ่อหัวแฮด มีความหมายว่า บ่อน้ำเค็ม เกิดขึ้นบริเวณบนเกาะกลางลำน้ำสงคราม ปัจจุบันบ่อหัวแฮดมีขนาดใหญ่สุดอยู่ที่แอ่งสกลนคร ในอดีตชาวบ้านจะใช้วิธีขุดดินลึกไปบนเกาะแล้วสูบน้ำเค็มขึ้นมาเคี่ยวบนกระทะใบใหญ่หลายชั่วโมงจนแห้งเหือด ให้ได้ ‘ดาน’ หรือเกลือเม็ดละเอียด ส่วนใหญ่จะเริ่มทำในเดือนพฤศจิกายนที่เป็นช่วงน้ำแล้ง และหยุดทำในเดือนมิถุนายนที่เป็นช่วงน้ำหลาก กลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพค้าขายหลักของคนลุ่มแม่น้ำสงครามที่สืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่น 

ชาวบ้านบริเวณลุ่มแม่น้ำสงครามต่างพึ่งพิงธรรมชาติไว้เลี้ยงปากท้องทำการเกษตร ขุดหาพืชผัก จับปลาเล็กบ้างใหญ่บ้าง แปรเปลี่ยนไปตามวัฏจักร เมื่อเหลือก็นำไปค้าขายกับชาวบ้านต่างถิ่นสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองไม่น้อย ก่อนที่โปรเจกต์ก่อสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดความแห้งแล้งหนัก ส่งผลให้ชาวบ้านท้องถิ่นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ 

สายัณห์อธิบายว่า พื้นที่ของลุ่มแม้น้ำสงครามมีความอุดมสมบูรณ์ และด้วยความหลากหลายผนวกกับหน้าที่ตามธรรมชาติกับการเป็น ‘ครรภ์แม่น้ำ’ เมื่อการสร้างเขื่อนหรือฝายเข้ามาปิดกั้นทำให้ปริมาณแม่น้ำสายหลักต่างลดลงตามกันไป เขาจึงตัดสินใจอยากถ่ายทอดปัญหาให้ผู้คนในวงกว้างได้รับรู้

“พื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงครามมีความหลากหลายอย่างมาก ช่วงน้ำลดชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเกษตร เพาะปลูกเก็บผัก ช่วงน้ำหลากก็จะเปลี่ยนมาทำประมง เพราะมีปลาที่เข้ามาวางไข่ในป่าบุ่งป่าทาม ถ้าเราไม่ใช่คนพื้นที่จะไม่รู้เลยว่านี่เป็นผืนดินเดียวกัน 

“ผมนำเสนอโปรเจกต์นี้กับหน่วยงาน (มูลนิธิคอนราดอะเดนาวร์) ถึงปัญหาแม่น้ำโขงที่แห้งขอดลงตลอดหลายปีมานี้ และตัดสินใจกับผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนว่า เราควรนำเสนอผ่านตัวแม่น้ำสาขาที่มีความสัมพันธ์และเป็นอีกหนึ่งต้นตอเพื่อขยายภาพของปัญหา ไม่ใช่เพียงแค่แม่น้ำสายหลักเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราจะเห็นว่าสื่อหลักตามโทรทัศน์ไม่ค่อยนำเสนอสักเท่าไร”

ด้วยความที่ช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำโขงได้ไหลท่วมเข้ามายังลุ่มแม่น้ำสงครามหนาแน่น ทำให้ปลาเล็กปลาน้อยเข้ามาตามกระแสและติดอยู่ในป่าบุ่งป่าทาม ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงหันมาหาเลี้ยงปากท้องด้วยการทำประมงน้ำจืด 

ขณะเดียวกัน ปริมาณปลาที่จับขึ้นมาได้กลับมีจำนวนเยอะถึงขนาดที่ต้องนำไปถนอมด้วยการทำเป็นปลาแดก (ปลาร้า) สมัยก่อนชาวบ้านละแวกใกล้เคียงจากหนองคาย อุดรธานี และขอนแก่น ต่างเดินทางมายังที่นี่เพื่อเอาข้าวเปลือกแลกกับปลา ใบยาสูบ และเกลือเป็นประจำ จนกลายเป็นศัพท์บัญญัติวัฒนธรรมทางภาคอีสานว่า ‘ปลาแดกแลกข้าว’

สายัณห์อธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นสำคัญอย่างเรื่อง ‘เขื่อน’ ที่เข้ามามีผลกระทบต่อลุ่มน้ำสงครามว่า ผู้คนส่วนใหญ่ต่างรู้ดีว่าปัญหาการสร้างเขื่อนที่กระทบต่อแม่น้ำโขงสายประธานล้วนเกิดในอีสานตอนใต้ ทั้งลุ่มน้ำชีและมูล ทว่าลุ่มแม่น้ำสงครามที่อยู่ทางอีสานตอนเหนือเองก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากที่ผู้คนเคยจับปลา ผลิตเกลือ ทำเกษตรเพาะปลูก และเลี้ยงควาย ต้องเผชิญกับความแห้งแล้ง คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ต้องเปลี่ยนวิธีหาเลี้ยงชีพด้วยการเข้าเมืองไปเป็นลูกจ้างแรงงาน และเมื่อแหล่งกักเก็บน้ำได้รับผลกระทบ แน่นอนว่าปริมาณน้ำและความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงสายประธานย่อมลดน้อยตามไป

“ส่วนใหญ่เรามักจะรู้เรื่องผลกระทบจากเขื่อนว่าอยู่ทางอีสานใต้ คือลุ่มน้ำชีและมูล แต่ประเด็นที่เราต้องการสื่อคือลุ่มแม่น้ำสงครามที่อยู่ทางอีสานเหนือ ซึ่งคอยโอบอุ้มวิถีชีวิตผู้คนริมฝั่ง และยังได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) เมื่อโดนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อน ฝาย หรือชลประทาน จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เพราะที่ผ่านมากรณีตัวอย่าง เช่น เขื่อนปากมูลหรือเขื่อนราษีไศล ก็ยังมีคนออกมาเรียกร้องไม่เห็นด้วยตลอด 30 ปี” 

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ระบุผ่านข้อมูลประกอบชุดอัลบั้มภาพนี้ว่า การสร้างเขื่อนเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศของลุ่มแม่น้ำสายรองสูญเสียสมดุล เพราะแม่น้ำถูกตัดช่องทางการไหลออกเป็นส่วนๆ ทำให้ระบบการไหลผ่านไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อีกทั้งการจัดการลุ่มน้ำสาขาย่อยของสำนักงานจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมประมง ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาตีกรอบวิสัยทัศน์และมองลุ่มน้ำเหล่านี้เป็นเพียงแหล่งวัตถุดิบรองรับความต้องการผู้ใช้ทุกภาคส่วน ละเลยในประเด็นวัฏจักรและต้นกำเนิดของสิ่งแวดล้อม อ้างอิงตามหลักฐานเอกสาร ‘กรมชลประทาน, 2561: 8’ 

“กรมชลประทานมีภารกิจการพัฒนาแหล่งน้ำตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้เพียงพอและจัดสรรน้ำให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภท ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พลังงาน และสาธารณูปโภค” ข้อมูลประกอบภาพระบุ

ทั้งหมดนี้เป็นภาพและข้อมูลส่วนหนึ่ง ยังมีเรื่องราวน่าสนใจอีกมากในงานนิทรรศการอัลบั้มภาพ  The Mekong’s Womb ผู้สนใจสามารถรับชมงานได้อีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ช่วงเดือนมิถุนายนนี้ และสามารถติดตามความเคลื่อนไหว พร้อมอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ Bangkok Tribune News

Tags: , ,