จากสำเพ็งสู่ ตั๊กลักเกี้ย
ในอดีตตลาดน้อย คือชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมและเป็นสถานที่รวมตัวผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน ฝรั่งเศส โปรตุเกส ญวน ที่มาค้าขายทำธุรกิจ กินอาณาเขตตั้งแต่ ‘ปลายสำเพ็ง’ คือบริเวณ สุดถนนวานิช 1 ตัดถนนทรงวาด สู่ถนนวานิช 2 ไปจนถึง บ้านต้นสำโรง หรือบริเวณสถานทูตโปรตุเกสในปัจจุบัน
สถานที่แห่งนี้เคยถูกเรียกอีกหลายชื่อไม่ว่าจะเป็น โรงกระทะ บ้านช่างหลอมจีน แต่ชื่อที่ได้รับความนิยมในยุคนั่นคือ ‘ตั๊กลักเกี้ย’ ซึ่งหมายถึงตลาดขนาดเล็ก เพื่อเป็นสถานที่รองรับสินค้าจากตลาดใหญ่ อย่างตลาดสำเพ็ง แหล่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร
จุดเด่นของตั๊กลักเกี้ย คือชุมชนแห่งนี้โอบอุ้มทุกความหลากหลายทำให้มีสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม จากหลายความเชื่อ ทั้งศาลเจ้า วัดไทย วัดญวน วัดคริสต์ แต่ละแห่งล้วนเป็นศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธา ดังนั้นในชุมชนแห่งนี้จึงมีการจัดกิจกรรมทางศาสนาตลอดปี ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลถือศีลกินเจ บูชาดาวนพเคราะห์ หรือการแห่รูปปั้นพระเยซูในคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
อีกภาพจำที่ชัดเจนคือ ตั๊กลักเกี้ย คือศูนย์กลางโรงซ่อมบำรุงการสัญจรทางน้ำ โดยเฉพาะเรือกลไฟที่ใช้สำหรับบรรทุกสินค้าและอาหารเพื่อนำไปขายในตลาดใหญ่ ทำให้สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยตึกหน้าแคบทอดตัวจากแม่น้ำเจ้าพระยาลึกเข้ามาในเวิ้งชุมชนหลาย 10 เมตร เพื่อรองรับการซ่อมเรือขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมี โรงกลึง ร้านเซียงกงมากมายเพื่อขายอะไหล่ และซ่อมบำรุงเรืออีกด้วย
ทั้งหมดทำให้ตลาดน้อยกลายเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรมที่หลอมรวมความหลากหลาย ให้กลมกลืนเข้ากับกรุงเทพฯ ได้อย่างลงตัว
‘พิพิธตลาดน้อย’ มรดกอดีตยังเรืองแสง
พิพิธภัณฑ์ตลาดน้อยตั้งอยู่ใน ท่าเรือภาณุรังษี เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นโรงกลึงขนาดใหญ่ซึ่งทำชิ้นส่วนประกอบเรือ เครื่องจักรและโรงสีข้าว ภายหลังเลิกกิจการพื้นที่แห่งนี้ถูกทิ้งร้างและไม่ได้สร้างประโยชน์ ทำให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และชาวบ้านชุมชนตลาดน้อยร่วมกันเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยตัวอาคารสร้างเลียนแบบอาคารดั่งเดิมของโรงกลึงซึ่งมีหน้าแคบ หลังคาสูง บางส่วนนำไม้เก่าของอาคารเดิมมาใช้เป็นส่วนประกอบเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของโรงกลึงในอดีต
ในพิพิธภัณฑ์ตลาดน้อย เป็นจุดจัดแสดงนิทรรศการ ‘มรดกอดีตยังเรืองแสง’ จัดแสดงเทศกาลการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนย่านตลาดน้อย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยในอาคารโรงกลึงแห่งนี้แบ่งเป็น 3 ชั้น
ในชั้นแรกเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องเหรียญในสมัยต่างๆ ของประเทศไทย ตลอดจนศูนย์จำหน่ายของที่ระลึกของชุมชนตลาดน้อย และเป็นจุดประชาสัมพันธ์ลงทะเบียนเพื่อขึ้นชมนิทรรศการต่างๆ
ชั้นต่อมาคือพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ‘มรดกอดีตยังเรืองแสง’ โดยในหลายนิทรรศการสามารถใช้ผัสสะต่างๆ เพื่อช่วยในการรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต แบ่งออกเป็นการจัดแสดงออกเป็น 6 นิทรรศการย่อย ประกอบด้วย
จุดแรกจะได้เรียนรู้กับนิทรรศการ ชุมชนช่างจีนต้นรัตนโกสินทร์: ย้อนประวัติศาสตร์ตลาดน้อย จากบ้านโรงกระทะเป็นบ้านช่างหลอมจีน ก่อนจะมาเป็นตักลักเกี้ยหรือตลาดน้อยในปัจจุบัน เป็นนิทรรศการภาพโรงกลึงต่างๆ ตลอดจนนิทรรศการที่ต้องใช้มือในการจับ หมุน ดึง เสมือนได้ทดลองทำงานในโรงกลึงจริงๆ
จุดต่อมาคือเรื่องราวทางศาสนาและความเชื่อของผู้คนในตลาดน้อย ในนิทรรศการ ‘หลากศรัทธาสถาปัตยกรรม’ ในนิทรรศการนี้เสมือนว่าทุกคนจะได้เดินเข้าไปดูสถาปัตยกรรมของแต่ละแห่งตั้งแต่บ้านจีน ศาลเจ้า วัดญวน วัดไทย ตึกฝรั่ง และโบสถ์คริสต์ รวมกันอยู่ที่ตลาดน้อย โดยมีศาลเจ้าโจวซือกงเป็นศูนย์กลางชุมชน ความน่าสนใจของจุดนี้คือการบอกเล่าเรื่องราวการหลอมรวมทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เพราะในโบสถ์คริสต์ยังมีการสวดสรรเสริญพระเจ้าเป็นภาษาจีน หรือวัดที่ยังคงมีการสวดมนต์ด้วยภาษาและทำนองแบบญวน
ต่อมาคือจุดที่สวยงามจุดหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ นั่นคือ ‘เสียงตลาดน้อย’ ในจุดนี้เองจะให้เราหันหน้าสู่คุ้งน้ำเจ้าพระยาเบื้องหน้า จากวิวดังกล่าวจะเห็นส่วนขอบโค้งของแม่น้ำอย่างชัดเจน ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับวิวจะมีเสียงบรรยายถึงเรื่องเล่าครั้งเก่าของพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งย่านค้าบนแพริมน้ำ เป็นพื้นที่สำหรับซื้อขายถ่านไม้โกงกาง เรียกว่า ‘แพถ่าน’ และพื้นที่สำหรับโรงเจ เรียกว่า ‘แพศาลเจ้า’ เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้ความร้อนที่ขาดไม่ได้ในทุกบ้าน
ถัดไปคือโซน ‘ภาษา-อาหาร’ ด้วยความที่ตลาดน้อยมีคนไทยเชื้อสายจีนครบ 5 ภาษาคือ ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ฮักกา (แคะ) กวางตุ้ง และไหหลำ ทำให้อาหารการกินจึงหลอมรวมและผสมผสานได้อย่างลงตัว โดยในจุดนี้ผู้เข้าชมจะได้เดินดูสำรับอาหารคาวหวานนานาชนิด
ต่อมาไม่ไกลจากกันมากนักคือนิทรรศการ ‘เทศกาล’ ที่บอกเล่าเทศกาลประเพณีสำคัญ ถือศีลกินเจเป็นงานใหญ่ประจำปี และยังมีเทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลหง่วนเซียว ส่วนชาวคริสตัง ที่วัดกาลหว่าร์ วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์คือช่วงเวลามาร่วมกันรำลึกถึงพระมหาทรมานของพระคริสต์เจ้าเป็นประจำทุกปี
จุดสุดท้ายของชั้นที่ 2 คือนิทรรศการ ‘บรรพชนคนตลาดน้อย’ เป็นการรวบรวมบุคคลที่เกิดและเติบโตในตลาดน้อย และมีคุณูปการแก่ชุมชน รวมถึงประเทศชาติ ตั้งแต่ หลวงอภัยวาณิช (จาต) ผู้มีชีวิตอยู่ในรัชกาลที่ 3 จนถึง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในรัชกาลที่ 9
สุดท้ายชั้นที่ 3 คือห้องสำหรับฉายภาพยนต์สารคดีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตลาดน้อย เพื่อบอกเล่าความแตกต่างด้านวัฒนธรรมของคนเชื้อชาติต่างๆ แต่กลับผสมกลมกลืนได้อย่างลงตัว
นอกจากนี้ในบริเวณลานหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ หรือลานไทรทอง เป็นลานขนาดไม่ใหญ่นัก ปกคลุมรื่นรมย์ด้วยพฤกษานานาชนิด นอกจากจะเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเทศกาลและมรดกสำคัญในย่านตลาดน้อยที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เทศกาลกินเจโรงเจโจซือกง เทศกาลหย่วนเซียวบูชาขอโชคลาภเจ้าโรงเกือก ตลอดจนเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง และอื่นๆ อีกมากมาย แนะนำว่าหากมาในช่วงเย็น การได้นั่งชมวิวพระอาทิตย์ตกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางสถาปัตยกรรมชุมชนจีนก็เป็นความคิดที่ดีเช่นกัน
Fact Box
- พิพิธตลาดน้อย ซอยภาณุรังษี ถนนทรงวาด เปิดให้บริการ วันอังคาร–วันศุกร์ เวลา 08.30–16.30 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เปิดให้บริการ เวลา 10.00–18.00 น.
- สามารถเดินทางได้ ดังนี้ รถไฟฟ้าใต้ดินลงสถานีมังกร ไปพิพิธตลาดน้อย 1 กิโลเมตร, รถประจำทางขึ้นสาย 36, 45 และ 93 จากท่ารถสี่พระยา ไปพิพิธตลาดน้อย 1 กิโลเมตร และเรือด่วนเจ้าพระยาขึ้นจากท่าเรือกรมเจ้าท่า ไปพิพิธตลาดน้อย 1 กิโลเมตร