ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (พ.ศ. 2565) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จัดงานนิทรรศการรูปแบบผสมผสานระหว่าง Soundscape กับ Visual Performance ที่มีชื่อว่า ‘Sound of the Soul’ ร่วมกับ 3 ศิลปิน ได้แก่ Hear & Found, DuckUnit และศุภชัย เกศการุณกุล
นอกจากนิทรรศการนี้จะจัดในรูปแบบ ‘ภาพและเสียงประกอบ’ ที่หาชมได้ยาก ความน่าสนใจของเนื้อหาคือการพาผู้ชมไปทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ด้วยจุดประสงค์เพื่อลดช่องว่างความเข้าใจแบบเก่า ที่คนเมืองยึดติดภาพจำว่าพวกเขาเป็นคนไร้อารยะ และชูประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เหนี่ยวรั้งคนกลุ่มนี้เอาไว้ตลอดมา
ภายในงานนิทรรศการเป็นการจำลองพื้นที่เล็กๆ ราวกับได้ย้ายจากใจกลางเมืองหลวงอันวุ่นวาย สู่ธรรมชาติเงียบสงบ ก่อนจะได้รับรู้เรื่องราวของคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ที่น้อยคนจะได้สัมผัสใกล้ชิดและพูดคุยกับพวกเขาอย่างลึกซึ้ง
แม้นิทรรศการดังกล่าวจะสิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 แต่ด้วยประเด็นความน่าสนใจของงาน The Momentum จึงอยากพาคุณผู้อ่านย้อนชมบรรยากาศงาน Sound of the Soul อีกครั้ง เพื่อตั้งคำถามไปพร้อมกันว่า เรารู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศดีพอแล้วหรือยัง
“ฝ่ายกิจกรรมศิลปะ BACC อยากทำนิทรรศการที่นำเสนอประเด็นความเหลื่อมล้ำของชาติพันธุ์ แต่เราพยายามตั้งโจทย์ว่าจะนำเสนอความเหลื่อมล้ำออกมาในรูปแบบใด”
ฟ้า-กัณหรัตน์ เลี่ยมทอง ผู้จัดการนิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ Sound of the Soul และรักษ์-ปานสิตา ศศิรวุฒิ จาก Hear & Found สองฟันเฟืองสำคัญของงาน Sound of the Soul เล่าถึงที่มาของนิทรรศการดังกล่าว โดยทาง BACC ต้องการที่จะนำเสนอประเด็นความเหลื่อมล้ำของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และนำเสนอวิถีชีวิต วัฒนธรรม ไปจนถึงองค์ความรู้ที่คนท้องถิ่นเหล่านี้มีอยู่ ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้คนเมืองเข้าใจตัวตนของพวกเขามากยิ่งขึ้น
กัณหรัตน์เล่าว่าในตอนแรกได้ติดต่อทาง ‘Hear & Found’ มาร่วมโปรเจกต์ ซึ่งตั้งใจจะให้เป็นงานเล่าเรื่องด้วยรูปแบบ ‘Soundscape’ ก่อนจะได้ช่างภาพสารคดีอย่าง ศุภชัย เกศการุณกุล มาร่วมถ่ายทอดวิดีโอสัมภาษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ณ บ้านหนองเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบ Visua lPerformance และสุดท้ายฉากภายในงานทั้งหมดก็ได้ทาง DuckUnit เข้ามาช่วยออกแบบสร้างความสมจริง รวมถึงศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่ช่วยเหลือในเรื่องข้อมูลสืบค้นต่างๆ
เมื่อเข้าสู่ภายในงาน ท่ามกลางความมืดสลัว มีเพียงไฟสีส้มดวงเล็กไม่กี่ดวงที่ให้ความสว่าง คล้ายเป็นสัญญาณบอกว่าเรามาถึงหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว เสียงชวนสับสนวุ่นวายด้านนอกถูกแทนที่ด้วยเสียงธรรมชาติ ตามด้วยเสียงของบรรดากลุ่มคนชาติพันธุ์ที่ทาง Hear & Found ลงพื้นที่สัมภาษณ์
สาเหตุที่ Soundscape ถูกออกแบบมาเช่นนั้น กัณหรัตน์อธิบายว่าผู้จัดต้องการสื่อความหมาย 3 แบบ คือ 1. เสียงดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ 2. เสียงแวดล้อมธรรมชาติ และ 3.เสียงสัมภาษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์
ทั้งนี้ การที่จะได้ยินเสียงสัมภาษณ์ดังกล่าวจำเป็นต้องเงี่ยหูฟังให้ดี เพราะเสียงถูกออกแบบมาให้ค่อนข้างเบา ซึ่งเป็นความตั้งใจของงานที่ต้องการเปรียบเปรยว่าเสียงของคนกลุ่มนี้มักส่งออกมาไม่ถึงคนกรุงและผู้มีอำนาจ
ปกาเกอะญอ, ไทดำ, ไทกะเลิง, กะเหรี่ยงโปว์, มูเซอ, อาข่า, อูรักลาโว้ย ฯลฯ ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่มีใครเคยรู้จักพวกเขาอย่างจริงจัง
ภายในงานได้นำแผนที่ตั้งของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีตั้งแต่เหนือจรดใต้ ไม่ใช่ภาคใดภาคหนึ่งตามความเข้าใจเดิม และจากการใช้เวลาตั้งใจฟังเสียงสัมภาษณ์ เราจึงรับรู้ถึงเรื่องราวในมุมมองของพวกเขา เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เน้นเพิ่งพาธรรมชาติต่อการดำรงชีวิต, ลักษณะนิสัยเก็บตัว ถ่อมตัว และมีภูมิปัญญาวัฒนธรรมหลากหลายน่าสนใจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น แม้จะเรียนเก่งแค่ไหนหากขาดบัตรประชาชนยืนยันสัญชาติอนาคตก็แทบดับลง, ตลอดชีวิตที่ผ่านมาพึ่งพาธรรมชาติ หากต้องเข้ามาใช้ชีวิตเมืองกรุงจะต้องทำตัวอย่างไร, เครื่องแต่งกายประจำกลุ่มก็ถูกเหยียดว่าเชยล้าหลัง แม้แต่พื้นฐานสวัสดิการก็ไม่ได้รับเพราะถูกตีตราว่าเป็นคนต่างด้าว
ปานสิตา จาก Hear & Found เล่าว่าจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ที่บ้านหนองเต่า จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งอาศัยของกลุ่มปกาเกอะญอ เธอได้พบเห็นวิถีชีวิตน่าสนใจและสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา เช่น การทำไร่หมุนเวียน, ประเพณีเฉลิมฉลอง หรือการจัดการต้นน้ำให้หมู่บ้านได้มีน้ำสะอาดใช้ และได้รับความร่วมมือจากคนในหมู่บ้านเป็นอย่างดี
หากลองสังเกตจะเห็นว่าฉากที่เป็นผ้ากั้น ทาง DuckUnit ได้ออกแบบให้ตรงส่วนปลายเป็นรอยขาดวิ่น ที่เมื่อสะท้อนกับแสงจะมองเห็นลักษณะคล้ายทิวเขาแต่ละลูก ซึ่งนอกจากการใช้ผ้าเป็นองค์ประกอบด้านงานภาพ ยังช่วยเรื่องงานออกแบบเสียงเพื่อลดความก้องในห้องนิทรรศการอีกด้วย นับว่าเป็นลูกเล่นที่น่าสนใจมาก
นิทรรศการ Sound of the Soul อีกส่วนหนึ่งถูกจัดในรูป Visual Performance ที่ ศุภชัย เกศการุณกุล ลงพื้นที่บ้านหนองเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน (2565) เพื่อถ่ายทำสัมภาษณ์วิดีโอชีวิตกลุ่มปกาเกอะญอ และได้บุคคลน่าสนใจอย่าง พะตี่จอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ประจำหมู่บ้าน มาเป็นผู้ดำเนินเรื่อง
ภายในวิดีโอความยาว 5 นาทีกว่า พะตี่จอนิ ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของกลุ่มปกาเกอะญอ ไม่ว่าจะการเอาชีวิตรอดในป่า หรือแม้แต่เรื่องของวิญญาณกับธรรมชาติที่สอดคล้องอย่างเป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นถึงโลกทุกวันนี้ ที่เราอาจพึ่งพาเทคโนโลยีในการดำรงชีวิตจนเกินความจำเป็น ตามมาด้วยคำถามในใจว่า หากวันนึงเทคโนโลยีเหล่านี้หายไปเราจะทำอย่างไร?
นอกจากบทสัมภาษณ์ของ พะตี่จอนิ ยังมีวิดีโออีก 2 สเตชัน ที่ฉายเรื่องราววัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น การรำแสดงกิงกะหร่า ของหมู่บ้านชาวไททรงดำ ที่มีเฉพาะในพิธีมงคล ขณะเดียวกันชาวไททรงดำยังมีศูนย์วัฒนธรรมไว้จัดแสดงภูมิปัญญาและอัตลักษณ์
ทั้งนี้ ในส่วน Visual Performance จะมีหูฟังเฮดโฟนให้ผู้เข้าร่วมงานได้ดูและฟังอย่างมีสมาธิจดจ่อ
“ดื่มน้ำ ต้องรักษาน้ำ กิน ใช้ สรรพสิ่ง ก็ต้องรักษาสรรพสิ่ง น้ำสมบูรณ์ แผ่นดินอุดมสมบูรณ์”
ประโยคข้างต้นคือข้อคิดที่ พะตี่จอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ประจำหมู่บ้านหนองเต่า ใช้ปากกาเมจิกเขียนเป็นภาษาปกาเกอะญอ ซึ่งทีมผู้จัดงาน Sound of the Soul นำมาแปลเป็นภาษาไทย สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของคนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มองเห็นคุณค่าของธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมนุษย์ต่างพากันละเลยให้ความสำคัญและใส่ใจดูแล
ปานสิตาเล่าว่า จากการลงพื้นที่บ้านหนองเต่าพบว่า กลุ่มปกาเกอะญอ มีความเป็นอยู่ค่อนข้างดี มีสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต และไฟฟ้าส่องสว่างเข้าถึง ทั้งยังรับรู้ถึงความเป็นไปของโลกภายนอก แต่พวกเขากลับเลือกที่จะอยู่กับธรรมชาติด้วยความสุขอย่างสมถะ และไม่คิดเบียดเบียนผู้ใด
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เผยมุมมองกลุ่มคนชาติพันธุ์ แต่นิทรรศการ Sound of the Soul จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้ใครหลายคนมองเห็นถึงตัวตน ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม และปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ กับความหวังว่าเราทุกคนจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมให้ไปสู่ ‘ความเท่าเทียม’ ท่ามกลางอัตลักษณ์ความหลากหลายของความเป็นมนุษย์
สิ่งที่น่าสนใจคือ ภายในนิทรรศการนี้มีนักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งความเข้าใจจากนิทรรศการนี้จะเป็นความรู้ที่ดีมากกว่าแค่ในตำราเรียน และจะช่วยผลักดันให้มีนิทรรศการดีๆ เช่นนี้เกิดขึ้นอีก
“เพราะสังคมที่น่าอยู่ คือสังคมที่เคารพในความแตกต่างและเปิดรับความหลากหลาย”
สำหรับใครที่อยากดูบรรยากาศ Sound of the Soul สามารถคลิกได้ที่ลิงค์ด้านล่าง
https://www.youtube.com/watch?v=BL91g_ZwelY
หากอยากติดตามการทำงานภาคสนามเพื่อพบปะกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ สามารถตามได้ที่เพจเฟซบุ๊กหรือยูทูบ Hear & Found
Tags: Sound of the Soul, นิทรรศการ, กลุ่มชาติพันธุ์, Culture Club