“ทอม ทอม แวร์ยูโก ลาสต์ไนต์
I Love เมืองไทย
I Like พัฒน์พงศ์”
เมื่อพูดถึงพัฒน์พงศ์แล้ว สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึง ก็คงจะเป็นสถานบันเทิง ถนนที่เต็มไปด้วยสีสันบริการทางเพศแล้ว บทเพลง เวลคัมทูไทยแลนด์ ของคาราบาว ก็อาจเป็นหนึ่งในภาพจำของใครหลายคน
นอกจากชื่อเสียงที่โด่งดังไปไกล ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในด้านสถานบันเทิงแล้ว พัฒน์พงศ์ยังทำหน้าที่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่สามารถร้อยเรื่องราวในวันวานอย่างแยบยล ทั้งด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม
The Momentum พาไปรู้จักกับ ‘พัฒน์พงศ์มิวเซียม’ (Patpong Museum) พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าความเป็นมาของย่านพัฒน์พงศ์ ผ่านข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่จะมาเติมเต็มความรู้ให้ใครหลายคน ที่ไม่เคยคิดจะเปิดใจรับรู้เกี่ยวกับย่านแสงสีแห่งนี้
พัฒน์พงศ์มิวเซียมก่อตั้งโดย ไมเคิล เมสซ์เนอร์ (Michael Messner) ชาวออสเตรีย ที่พื้นฐานครอบครัวมีความนิยมงานประวัติศาสตร์และศิลปะ ตามสายเลือดผู้ที่ถือกำเนิดในดินแดนแห่งวัฒนธรรมและศิลปะ ซึ่งเขามีโอกาสเข้ามาอยู่ในย่านพัฒน์พงศ์ คลุกคลีกับสังคมเมืองไทยนานหลายปี ผนวกกับการได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับพื้นที่แห่งนี้ จนเกิดแนวคิดอยากเปิดพิพิธภัณฑ์ใจกลางย่านพัฒน์พงศ์
อภิรดี จันทนางกูร ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์เล่าว่า คราแรกไม่มีใครเห็นด้วยที่ ไมเคิล เมสซ์เนอร์ จะเปิดพิพิธภัณฑ์กลางแหล่งรวมสถานบันเทิงแห่งนี้ เพราะกลัวจะไม่มีใครกล้าเข้ามาชม อย่างไรก็ตาม หลังมีการเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ กลับได้รับความสนใจจากสื่อต่างชาติอย่างล้นหลาม และกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่ของคนไทย
พัฒน์พงศ์มิวเซียมมีลักษณะการจัดโชว์งานทั้งในแบบดาร์กโทนและสีสันฉูดฉาด เพื่อให้สอดคล้องกับแหล่งพื้นสีเทาของย่านพัฒน์พงศ์ อภิรดีมองว่า การที่ประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่ของพัฒน์พงศ์ไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงมากนัก อาจเป็นเพราะภาพจำของความเป็นย่านสถานบันเทิงและบริการทางเพศ จึงอยากจะนำเสนอเรื่องราวทุกแง่มุมของที่นี้ให้ผู้คนได้รับรู้
เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาทั้งหมดเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ของพื้นที่ และอีกสามสิบเปอร์เซ็นต์เป็นเนื้อหาทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพัฒน์พงศ์ อย่างการจัดแสดงนิทรรศการโชว์ที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ และการพูดถึงเรื่องบริการทางเพศ
“สมัยก่อนเรารู้จักพัฒน์พงศ์ผ่านการฟังเพลงเพื่อชีวิตจากวงคาราบาว เพลง เวลคัมทูไทยแลนด์ แล้วเคยแอบพ่อแม่ไปดูโชว์เป่าลูกดอก ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้น ซึ่งให้หลัง เราได้มีโอกาสไปอยู่สหรัฐอเมริกา พอกลับมาเมืองไทยก็ถูกคุณไมเคิลชักชวนให้มาช่วยทำพัฒน์พงศ์มิวเซียม” อภิรดีเล่า
พัฒน์พงศ์มิวเซียมตั้งอยู่ที่ซอยพัฒน์พงศ์1 ลักษณะคล้ายตึกแถวห้างร้านทั่วไป หากมองผ่านๆ จะเห็นทางเข้าที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบันเทิงในละแวกใกล้เคียง จุดสังเกตหลักคือป้ายไฟ ‘Patpong Museum’ เมื่อเข้าสู่นิทรรศการในชั้นสองจะมีไกด์ที่คอยบรรยายให้ข้อมูลตลอดเส้นทางการรับชม
เริ่มต้นด้วยที่มาของพื้นที่พัฒน์พงศ์ ผ่านเรื่องราวของนายตุ้น แซ่ผู่ ชาวจีนไหหลำ มณฑลไหหนาน ที่ล่องเรือโพ้นทะเลมาขึ้นฝั่งที่ท่าสยาม และปักหลักใช้ชีวิตที่ประเทศไทยด้วยการค้าขายข้าวและเกลือ นำไปสู่การเข้าธุรกิจปูนซีเมนต์ไทย จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพัฒน์พงศ์พานิช และเรื่องราวการซื้อสวนกล้วยที่ชานเมืองกรุงเทพฯ ในราคา 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นพื้นที่รองรับธุรกิจต่างๆ ของตระกูลพัฒน์พงศ์พานิช จนกลายมาเป็น ‘ย่านพัฒน์พงศ์’
นิทรรศการดำเนินต่อไปในช่วงสงครามเย็น พื้นที่ธุรกิจอย่างพัฒน์พงศ์มีบทบาทสำคัญในเชิงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจต่างชาติที่ได้เข้ามาตั้งรกรากในย่านดังกล่าว ทำให้กลายเป็นย่านครึกครื้นที่เต็มไปด้วยชาวต่างชาติไปโดยปริยาย ซึ่งนอกจากจะมีบริษัทตะวันตกมาเช่าพื้นที่อาคารเพื่อกิจการพาณิชย์แล้ว ยังมีองค์กรด้านความมั่นคงชื่อก้องโลกอย่างสำนักข่าวกรองกลาง ซีไอเอ (The Central lntelligence Agency: CIA) อันเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา มาตั้งสำนักงานแบบลับๆ ที่ย่านพัฒน์พงศ์อีกด้วย
ต่อมาวัฒนธรรมแสงสีได้เข้าที่มาพร้อมกับสงครามเย็น ซึ่งมาในรูปแบบของบาร์ที่เต็มไปด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผู้หญิงบริการ ที่คอยบำเรอความสุขให้กับทหารจีไอแห่งกองทัพสหรัฐฯ ที่ต้องไปเผชิญศึกในสงครามเวียดนาม ซึ่งผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์จะได้เห็นภาพต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่องของไกด์ และโมเดลจำลองขนาดเล็กของพัฒน์พงศ์ในยุคเฟื่องฟู
ในช่วงที่เหลือของการจัดแสดงผลงาน มีโซนที่เล่าถึงธุรกิจสถานบันเทิงในย่านพัฒน์พงศ์ ซึ่งโซนดังกล่าวสงวนสิทธิ์ให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปเท่านั้น
วัฒนธรรมการมอบความบันเทิงที่เกิดขึ้นในย่านแห่งนี้ ถูกนำมาจำลองเป็นโชว์ลักษณะของงานศิลปะ และ ‘กรังปรีซ์’ บาร์อะโกโก้แห่งแรกของเมืองไทย ที่ถูกจำลองเป็นร้านบริการเครื่องดื่มประเภทบาร์ และมีเครื่องดื่มให้ดื่มจริง
อภิรดีเสริมว่า ไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงสีเทาเหล่านี้ได้ เพราะมันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในพัฒน์พงศ์ มันเป็นวัฒนธรรมและข้อเท็จจริงที่ผู้คนต่างรู้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพัฒน์พงศ์จะมีแต่สถานบันเทิงหรือแหล่งเสพโลกีย์เพียงอย่างเดียว แต่ที่นี่ยังมีทั้งร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งแรกอย่าง ‘ภัตตาคารมิสุ’ ร้านพิซซ่าเก่าแก่อย่าง ‘มาดริด พิซเซอเรีย แอนด์ บาร์’ หรือเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาแรกก็อยู่ที่พัฒน์พงศ์ ซึ่งในพิพิธภัณฑ์ก็เลือกที่จะนำเสนอมุมมองเหล่านี้ด้วย
ท้ายที่สุดนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พัฒน์พงศ์ยังคงเป็นสถานที่ลึกลับ และไม่น่าสัญจรของใครหลายๆ คน แต่หากได้ลองมาเยือนพัฒน์พงศ์มิวเซียมแห่งนี้สักครั้ง คุณอาจจะได้รับการเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไป ลบภาพจำแย่ๆ บางอย่าง และเข้าใจกับเรื่องราวอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ผู้คนไม่พูดถึง
Fact Box
พิพิธภัณฑ์ พัฒน์พงศ์ ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 5 ซอยพัฒน์พงศ์ 2 บางรัก
เวลาเปิดทำการ: อาทิตย์-จันทร์ เวลา 12.00-21.00 น. / ศุกร์-เสาร์ เวลา 13.00-22.00 น.
ราคาบัตร: นักเรียนนักศึกษา ราคา 150 บาท / บุคคลทั่วไป ราคา 250 บาท ไม่รวมเครื่องดื่ม / บัตรราคา 350 บาท ฟรีเครื่องดื่ม 2 แก้ว
*ราคาบัตรรวมการเข้าชมพิพิธภัณฑ์และไกด์พาชม รองรับภาษาอังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, จีน และอิตาเลียน