“ตอนนี้พิพิธภัณฑ์สามัญชนเป็นแค่โปรเจกต์ออนไลน์ เป็นแค่เว็บเบส ถ้าวันดีคืนดี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีร่างกายขึ้นมา มีตัวตนขึ้นมา หน้าตาจะเป็นอย่างไร อยากชวนมาทำความรู้จัก” คือเสียงของ อานนท์ ชวาลาวัณย์ นักสะสมและผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน ได้ทำให้เราเข้าใจถึงประวัติความเป็นมา และหน้าตาของพิพิธภัณฑ์ว่าจะเป็นอย่างไรถ้าได้เกิดขึ้นจริง และตอนนี้พิพิธภัณฑ์ได้เกิด ‘หน้าตา’ ขึ้นจริงแลัว
พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History ร่วมกับ Kinjai Contemporary จัดแสดงนิทรรศการพิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History เพื่อแสดงถึงประวัติศาสตร์ฉบับย่อผ่านของสะสม สิ่งของที่หลายคนนับมาใช้เรียกร้อง ประท้วงและขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในสังคม ที่ถูกมองข้ามไปจากผู้มีอำนาจและรัฐว่าเป็นสิ่งไม่มีคุณค่าใดๆ ทั้งที่จริงแล้วทุกสิ่งมีคุณค่าและมีประวัติศาสตร์ในตัวมันเองเสมอ
นอกจากนี้ นิทรรศการนี้มีองค์กรและกลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรมต่างๆ มาร่วมทำกิจกรรมและนำสิ่งของเข้าร่วมจัดแสดง ได้แก่ iLaw, PrachathipaType, นักเรียนเลว, พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย : Thai Labour Museum และกลุ่มปฏิกิริยา
Culture Club สัปดาห์นี้ จะนำคุณไปพบกับประวัติศาสตร์ฉบับย่อของประชาชนคนธรรมดาที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวตามช่วงเวลาและวาระต่างๆ ผ่านสารพัดสิ่งของสะสมจากพิพิธภัณฑ์สามัญชน
ชั้นที่ 2 เป็นชั้นที่เรียกว่า ‘ห้องเสื้อสามัญชน’ เป็นห้องที่รวบรวมเสื้อทางการเมืองจากกลุ่มต่างๆ ที่เคยเคลื่อนไหวหลัก ตามช่วงเวลาและสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่เสื้อคณะราษฎร เสื้อของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เคยเคลื่อนไหวในปี 2553 เสื้อจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเสื้อ กปปส. เสื้อกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และเสื้อจากขบวนการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน
เสื้อหน้ากำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่มีรอยไหม้และรอยเปื้อนต่างๆ นั้น อานนท์ ชวาลาวัณย์ เล่าให้ฟังว่า “สำหรับรอยไหม้และรอยเลอะที่ปรากฏอยู่นี่มีเบื้องหลัง…
“คือคนที่นำเสื้อนี้มาบริจาคให้เป็นคนที่มีความคิดความเชื่อตรงข้ามกับกลุ่ม กปปส. แล้วเขาบังเอิญได้เสื้อตัวนี้มาเลยนำมาทำเป็นผ้าขี้ริ้ว แต่ว่าทราบว่าทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนเก็บสะสม เขาก็ซักและนำมอบให้เรา”
ชั้นที่ 3 เป็นห้องจัดนิทรรศการหลักที่จัดแบ่งเรื่องราวในมุมต่างๆ ตั้งแต่ คณะราษฎร 2475 เหตุการณ์ช่วงเดือนตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์พฤษภาฯ เลือด เมื่อปี 2535 เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549 และปี 2551 การชุมนุมของ กปปส. ในปี 2556-2557 เรื่องราวของคนเสื้อแดง และเหตุการณ์ในการเคลื่อนไหวของม็อบคณะราษฎรในปัจจุบัน
“จงกำจัดคอมมิวนิสต์ให้หมดไปจากแผ่นดินไทย”
ชามสังกะสีพร้อมข้อความโฆษณาชวนเชื่อในยุคสมัยสงครามเย็นที่มีผู้พบโดยบังเอิญในจังหวัดสกลนคร และได้บริจาคมาให้เป็นหนึ่งในหลักฐานของโฆษณาชวนเชื่อที่ปลุกกระแสความเกลียดชัง จนกลายเป็นการสังหารหมู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในขณะที่ผ้าพันคอที่จัดแสดงอยู่บริเวณเดียวกันนั้นเป็นผ้าพันคอของลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มทหารอาสาสมัครที่มีบทบาทในเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในวันนั้น
เลือดสีแดงที่เลอะเสื้อสีขาวจนแห้งเกรอะกรังเป็นเสื้อของ ‘จ่านิว’ – สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่ถูกลอบทำร้ายในวันที่ 28 มิถุนายน 2562 บริเวณปากซอยหน้าบ้านตัวเองในช่วงกลางวัน โดยที่ปัจจุบันตำรวจไทยยังไม่สามารถหาตัวคนทำร้ายมาดำเนินคดี และได้พร้อมยุติคดีแล้ว แม้ว่าจะเกิดเหตุในช่วงกลางวันแสกๆ และมีกล้องวงจรปิดก็ตาม ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นถือเป็นความรุนแรงที่มีมูลเหตุจงใจทางการเมือง นอกจากนี้ ในพื้นที่นิทรรศการยังปรากฏโปสเตอร์ผู้ถูกอุ้มหายโดยรัฐบาลไทย ซึ่งจัดทำโดยกลุ่ม Spring Movement รวมทั้งลำโพงของ เอกชัย หงส์กังวาน หนึ่งในนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคยถูกทำร้ายรวมเจ็ดครั้ง และถูกเผารถอีกถึงสองครั้งอีกด้วย
ชั้นที่ 4 เป็นนิทรรศการ The Noted NO.112 โดย iLaw ซึ่งมีการจัดแสดงรายชื่อของคนที่ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมเอกสารข้อมูลในคดีรวมถึงความรุนแรงของโทษ โดยการดึงกระดาษเพื่ออ่านดูรายชื่อและจำนวนคนที่ถูกดำเนินคดีจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ความรู้สึกเหมือนดึงกระดาษชำระ ที่ฝั่งรัฐบาลสามารถดึงตอนไหนก็ได้เพื่อ ‘ปิดปาก’ ไม่ให้พูด และไม่ให้ผู้ใดได้ยินเสียงของผู้พูด
Fact Box
นิทรรศการพิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History จัดแสดงถึงวันที่ 20 มีนาคม 2565 ที่ Kinjai Contemporary ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น. วันพุธ-วันอาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์และวันอังคาร) สามารถเดินทางจาก MRT สิรินธร ทางออก 1
สามารถนิทรรศการพิพิธภัณฑ์สามัญชนทางออนไลน์ได้ทาง https://commonmuze.com