เมื่อดวงตะวันลาลับจากขอบฟ้า แสงสว่างเริ่มมลายหายไป นั่นคือช่วงเวลา ‘ยามพลบค่ำ’ ที่ภาพความจริงและภาพในจิตใจเกิดการทับซ้อน เชื่อมโยงกันจนตกผลึกกลายเป็นความคิดชุดใหม่ของสำนึกมนุษย์ สิ่งนั้นเองที่เป็นบ่อเกิดแห่งสภาวะการเปลี่ยนแปลง

ด้วยพลังแห่งห้วงอารมณ์และจินตนาการที่ถูกสั่งสมบ่มเพาะมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ ‘ชัยรัตน์ มงคลนัฏ’ ศิลปินผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการงานศิลปะไทย ตัดสินใจรังสรรค์นิทรรศการศิลปะชุด ‘ยามพลบ’ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมผ่านงานเพนติ้งบนผืนผ้าใบและผลงานประติมากรรม โดยสอดแทรกเนื้อในที่สื่อ ‘ปริศนาธรรม’ ของชีวิตมนุษย์ 

‘อดีตพุทธ’  (2019) 

ชั้น 2 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ณ โซนพื้นที่จัดแสดง People’s Gallery ความกว้างขนาด 3 ห้องใหญ่ ผลงานชุด ‘ยามพลบ’ ของ ชัยรัตน์ มงคลนัฏ ถูกจัดวางไว้อย่างพอเหมาะ หากเดินตรงเข้ามาด้านหน้าเชื่อว่าสายตาทุกคู่จะต้องพบเจอกับผลงานภาพวาดบนผืนผ้าใบอันโดดเด่นสะดุดตาที่ชื่อว่า ‘อดีตพุทธ’ 

ด้วยประสบการณ์ที่พานพบกับประติมากรรมองค์พระตามสถานที่เงียบสงบต่างๆ ยามหลีกหนีจากเมืองใหญ่ศิวิไลซ์ ประกอบกับความเงียบที่เข้าไปสัมผัสยังจิตใจ ทำให้ผลงานชิ้นนี้ถูกวาดออกมาในลักษณะตามที่เห็นในภาพ นอกจากห้วงอารมณ์ที่ถูกสื่อออกมาแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังสื่อถึงความเชื่อทางด้านพระพุทธศาสนา กับการรอ ‘พระศรีอริยเมตไตรย’ ลงมาจุติบนโลกมนุษย์เป็นองค์สุดท้ายแห่งภัทรกัปนี้ สังเกตจากเงาพระพุทธรูปด้านซ้ายมือสุดที่ยังถูกเว้นว่างไว้อยู่

“ผลงานชุดนี้เปรียบเสมือนบ้าน และบรรยากาศอารมณ์ความรู้สึกนามธรรมภายในจิตใจที่ผมอยากถ่ายทอดออกมาให้ผู้อื่นได้เห็น แม้แต่กรอบภาพก็ทำมาจากไม้สักที่ผมประกอบโครงขึ้นมาเองอย่างพิถีพิถัน”

พื้นเพของชัยรัตน์มาจากครอบครัวชาวสวน ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นล้วนปรากฏออกมาเป็นภาพแนวธรรมชาติ ด้วยความต้องการที่จะให้ผลงานชุดนี้ออกมาเป็นธรรมชาติและเรียบง่ายมากที่สุด เขาจึงเลือกใช้เทคนิคภาพสีอะคริลิกบนผืนผ้าใบเป็นหลัก

‘ปล่อยเสือเข้าป่า’  (2019) 

นอกเหนือจากนามธรรมในจิตใจที่อยากสื่อออกมาแล้ว เรื่องของ ‘ปริศนาธรรม’ เองก็ยังถูกหยิบมาระบายผ่านสีอะคริลิคบนผืนผ้าใบ ขนาด 100 x 80 ซม. ในชื่อชิ้นงาน ‘ปล่อยเสือเข้าป่า’ (2018) อันมีองค์ประกอบหลักเป็นพระและเสือเดินสวนกันภายในป่าปริศนาแห่งหนึ่ง 

ชัยรัตน์เปรียบ ‘เสือ’ เป็นดั่งความคิดอันหนักอึ้งภายในจิตใจ ที่มนุษย์ไม่สามารถปล่อยวางให้พ้นทุกข์ได้ ฉะนั้น การปล่อยเสือกลับสู่ป่าจึงเสมือนการปลดปล่อย ‘ความทุกข์’ ให้มลายหายไปจากจิตใจ หากสังเกตให้ดี ภาพทุกชุดถูกสื่อออกมาในความมืดที่เงียบสงบ ทว่าไม่ได้แสดงออกถึงความน่าสะพรึงกลัวแต่อย่างใด 

งานชิ้นนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานชุด ‘พลบค่ำ’ ที่ชัยรัตน์เริ่มลงมือสร้างสรรค์ออกมาตั้งแต่ปี 2561 ก่อนจะนำออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชนในวันนี้

‘มะพร้าวหลับ’  (2019) 

“ในเมื่อมนุษย์ยังรู้สึกเงียบเหงาหดหู่ได้ แล้วทำไมธรรมชาติจะรู้สึกแบบเดียวกันไม่ได้บ้าง”

ผลงาน ‘มะพร้าวหลับ’ เป็นการหยิบยกความรู้สึกของธรรมชาติ ให้สื่อออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบงานประติมากรรม ด้วยความรู้สึกที่ว่าหากยามมืดมิด มนุษย์ยังเกิดความเหงาขึ้นในจิตใจ เหตุไฉนธรรมชาติแบบต้นมะพร้าวจะมีความรู้สึกแบบเดียวกันบ้างไม่ได้ เราจึงเห็นลักษณะของตัวต้นมะพร้าวโน้มเอียงลงไปกับพื้นดิน ชวนให้เกิดความรู้สึกเงียบเหงาหดหู่ไปพร้อมกัน

นอกจากผลงานไฮไลต์ทั้ง 3 ชิ้น  ยังมีผลงานชิ้นอื่นๆ ให้ได้ดื่มดำพินิจพิจารณาอีกมากมาย ผู้ที่สนใจสามารถรับชมผลงานชุดพลบค่ำได้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 2 บริเวณโซนพื้นที่จัดแสดง People’s Gallery ห้อง P2 เวลา 10.00-19.00 น. ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 พร้อมพบปะพูดคุยกับศิลปิน และรับสูจิบัตรกับสติกเกอร์เป็นที่ระลึกได้ในพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการวันที่ 10 เมษายน 2564 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

Fact Box

ผู้ที่สนใจผลงานของ ชัยรัตน์ มงคลนัฏ สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก Bangbamrungstudio by Chairat mongcolnut

Tags: , , ,