โครงการสร้างเขื่อนและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง, การชุมนุมประท้วงของชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว, เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519, เหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพฤษภาฯ 2553, และการร่วมลงชื่อยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนในปี 2563

ประเด็นต่างๆ ที่ปรากฏในผลงานศิลปะของนิทรรศการ INTERBEING (Light travels from the past) โดย ดิสรณ์ ดวงดาว ดูเผินๆ เหมือนเป็นเหตุการณ์คนละเรื่องคนละราว ที่เกิดขึ้นต่างสถานที่ต่างเวลา หากแต่เมื่อสำรวจลึกไปถึงรากเหง้าต้นตอของเหตุการณ์ในสังคมเหล่านี้แล้ว ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก จุดร่วมที่เห็นชัดเจนก็คือความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่างอำนาจรัฐและประชาชนนั่นเอง

 

 

ในฐานะศิลปินร่วมสมัย ดิสรณ์สร้างสรรค์ผลงานของเขาขึ้นจากประเด็นเหล่านี้ ไม่เพียงค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ อย่างสิ่งพิมพ์ ข่าวสาร หนังสือ หรือข้อมูลอันท่วมท้นล้นหลากในโลกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เขายังเดินทางลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลตรงจากสถานที่จริง เช่นเดียวกับการทำงานของนักมานุษยวิทยา แต่เขาก็ไม่ได้ประมวลผลข้อมูลเหล่านั้นออกมาในรูปแบบของงานวิชาการแต่อย่างใด หากนำเสนอในรูปของผลงานศิลปะ ที่แฝงประเด็นทางสังคมการเมืองในประวัติศาสตร์ไทยไว้ภายใต้พื้นผิวของศิลปะวัตถุอันละเมียดละไม ราวกับเป็นบทกวีแห่งทัศนธาตุก็ไม่ปาน

ดิสรณ์เริ่มต้นจากการเดินทางสำรวจชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาแม่น้ำโขงของจีนในการสร้างเขื่อนเพื่อควบคุมปริมาณน้ำ และความต้องการในการระเบิดเกาะแก่งตามลุ่มน้ำโขงเพื่อให้เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ล่องผ่านได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศสำคัญของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ รวมถึงความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำอย่างรุนแรง

 

นอกจากจะทำการสัมภาษณ์ผู้คน เครือข่ายชุมชน และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แล้ว ดิสรณ์ยังเดินทางล่องเรือสำรวจเกาะแก่งในแม่น้ำโขง และทำการบันทึกข้อมูลของโขดหินหนึ่งในเกาะแก่งเหล่านั้น ด้วยการทาบกระดาษลงบนโขดหินแล้วฝนด้วยแท่งถ่าน (เช่นเดียวกับที่เด็กๆ ใช้กระดาษทาบก้อนหินหรือใบไม้แล้วใช้ดินสอฝน) เก็บร่องรอยโขดหินก้อนนั้นกลับมาในรูปของภาพวาดลายเส้น Rock in the center of Mekong River ราวกับจะเป็นสารตั้งต้นของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้

ในผลงานชิ้นต่อมา ดิสรณ์แปรเปลี่ยนแรงบันดาลใจจากผลงานชิ้นตั้งต้น ต่อยอดเป็นผลงาน An islet as beautiful as glorious sun ประติมากรรมอลูมิเนียมรีไซเคิลจากเศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ หล่อขึ้นรูปเป็นโขดหินแม่น้ำโขง อีกด้านของประติมากรรมถูกทำเป็นแอ่งทรงกลมตรงกลาง ที่ศิลปินได้แรงบันดาลใจจากโขดหินที่ถูกน้ำสาดซัดกัดเซาะจนกลายเป็นแอ่งน้ำวน (คณะ​สำร​วจ​ยังบันทึก​ปรากฏ​การณ์​นี้เอาไว้ในรูปของผลงานวีดีโอ​จัดวาง Distance อีกด้วย) จำลองการค่อยๆ กัดกร่อนโขดหินของสายน้ำตามธรรมชาติอย่างเชื่องช้ายาวนานนับร้อยปี เพื่อเปรียบเปรยถึงการพยายามระเบิดทำลายโขดหินและเกาะแก่งเหล่านี้ด้วยน้ำมือมนุษย์ในชั่วพริบตา ประติมากรรมรูปโขดหินนี้ยังซ่อนประโยชน์ใช้สอยบางอย่าง นอกเหนือจากการเป็นศิลปะวัตถุสำหรับการจ้องมองแต่เพียงอย่างเดียว 

 

 

เมื่อเพ่งมองไปยังแอ่งทรงกลมของประติมากรรมโขดหิน เราจะมองเห็นภาพสะท้อนของท้องฟ้าบนผิวแม่น้ำโขงในภาพวาด New dawn fades ที่แขวนอยู่ในฝั่งตรงกันข้าม ภาพวาดจากสีอะคริลิคผสมกับน้ำจากแม่น้ำโขงบนผ้าใบภาพนี้ นอกจากจะแสดงสีสันของท้องฟ้ายามเช้าที่สะท้อนลงบนผิวน้ำแล้ว สีฟ้าสดใสในภาพยังแทนสีของ ‘แม่น้ำหิว’ หรือปรากฏการณ์ที่แม่น้ำโขงถูกกักเก็บตะกอนเอาไว้เหนือเขื่อน สีสันอันสวยงามของภาพนี้แฝงความอันตรายและหายนะของระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่กำลังถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง

หรือในผลงาน Light travels from the past ภาพวาดทรงกลมที่วาดขึ้นจากสีฟอสฟอรัสผสมน้ำจากแม่น้ำโขงบนแผ่นพลาสวูด ที่ดูดซับแสงสว่างรอบข้าง และส่องแสงเรื่อเรืองในความมืดราวกับเป็นดวงจันทร์กระจ่างฟ้าภาพนี้ นอกจากจะเป็นภาพแทนของดวงจันทร์ส่องสะท้อนลงบนผิวแม่น้ำโขงที่ศิลปินเคยได้ประสบพบเห็นแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แทนพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนแม่น้ำโขง ซึ่งไม่ได้ส่งผลประโยชน์อันใดต่อคนในพื้นที่และชุมชนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนเลยแม้แต่น้อย จนสามารถพูดได้ว่า พวกเขาพึ่งพาแสงเดือนแสงดาวได้มากกว่าแสงไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนด้วยซ้ำไป

ดิสรณ์ยังสะท้อนความล้มเหลวของการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจของรัฐในผลงาน Dear holy beings please bring forth ภาพวาดริ้วแม่น้ำสีดำ ที่วาดขึ้นจากสีอะคริลิคผสมกับน้ำและผงดินจากแม่น้ำโขง และผงธูป กำยาน น้ำมนต์ อันเป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อ และความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ ของคนท้องถิ่นและชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจอันลี้ลับนี้เอง ที่เป็นที่ยืดเหนี่ยวในยามที่พวกเขาไม่อาจพึ่งพาอำนาจรัฐได้

 

 

ในนิทรรศการยังมีผลงานที่จำลองการต่อสู้ของประชาชนจากช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านผลงานศิลปะหลากชิ้น ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Introduction ที่เป็นเสมือนการหวนรำลึกถึงกลุ่มสามัญชนในนาม ‘คณะราษฎร’ ผู้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี 2475 ออกมาในรูปของบทกวี 10 ท่อน จารึกลงบนกล่องไม้ขนาดเท่ารัฐธรรมนูญ 10 กล่องที่บรรจุความว่างเปล่าเอาไว้ภายใน หรือผลงาน Blind ศิลปะจัดวางจากกิ่งมะขามและธงชาติเปื้อนเขม่าควันสีดำ ที่กระตุ้นให้เราหวนนึกถึงความทรงจำอันโหดร้ายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 และผลงาน Bullet ภาพถ่ายป้ายชื่อ ‘ซอยปลูกจิต’ ที่มีรอยกระสุนเจาะทะลุจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 โดยดิสรณ์บันทึกภาพจากประสบการณ์ตรงของเขาเอง ที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่เกิดเหตุแห่งนี้ หรือผลงาน People ศิลปะจัดวางที่ประกอบขึ้นจากซองเปล่านับหมื่นซอง ที่เคยบรรจุเอกสารการร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน ศิลปิน​ได้นำมาบรรจุเรียงอัดแน่นจนเต็มช่องประตูของห้องแสดงงาน ราวกับเป็นการแสดงหลักฐานแห่งความฝันถึงการเปลี่ยนแปลงอนาคตทางการเมือง ของผู้คนที่รักประชาธิปไตยจากทั่วประเทศ

 

 

และผลงาน Spirit of newspaper ศิลปะสื่อผสมจากหนังสือพิมพ์ที่ถูกพ่นสเปรย์บดบังภาพ และเนื้อหาข่าวโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อันเป็นหนึ่งในชนวนปะทุที่นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 อันส่งผลกระทบเรื้อรังทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน หรือผลงาน Sparkles of Light ประติมากรรมรูปดาว ที่ประกอบขึ้นจากเคียวเกี่ยวข้าวที่ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา และบทกวี เปิบข้าว ของ จิตร ภูมิศักดิ์ กับมุมมองของชนชั้นสูงที่มีต่อความยากลำบากของชาวนา

ผลงานศิลปะที่เรากล่าวถึงทั้งหลายเหล่านี้ เป็นเพียงบางส่วนของผลงานในนิทรรศการล่าสุดของ ดิสรณ์ ดวงดาว ที่มุ่งเน้นในการบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนที่มีต่ออำนาจรัฐอันไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในเมืองหรือในชนบทอันห่างไกลก็ตาม

 

 

ดังเช่นในชื่อรองของนิทรรศการอย่าง ‘Light travels from the past’ ที่สะท้อนสภาวะที่โลกเราเป็นเพียงหนึ่งในดาวเคราะห์หลายดวง ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในจักรวาลอันกว้างใหญ่จนไม่อาจหยั่งขอบเขตได้ ระยะทางระหว่างดวงดาวในจักรวาลนั้นห่างไกลมาก จนต้องวัดระยะทางเป็นนาทีหรือปีแสง กว่าที่แสงของดวงดาวบนท้องฟ้าจะเดินทางมาสู่สายตาเรานั้น กินเวลานานนับนาทีไปจนถึงหลายสิบ หลายร้อย หลายพัน หลายหมื่น และหลายล้านปี เมื่อเรามองดวงดาวบนท้องฟ้า จึงไม่ต่างกับการมองแสงที่กำลังเดินทางมาจากอดีตกาล

แสงจากอดีตเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นหลักฐานถึงการก่อกำเนิดของจักรวาลในการระเบิดครั้งใหญ่เมื่อหลายพันล้านปีที่ผ่านมา เราต่างเป็นผลพวงจากปรากฏการณ์ครั้งนั้น เราต่างเป็นแค่ฝุ่นละอองจากการระเบิดของดวงดาว เมื่อมองเช่นนี้แล้ว ปัญหาต่างๆ อย่างวิกฤตการณ์ทางการเมือง สงคราม ความขัดแย้ง และความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือในโลก ก็ดูช่างเล็กน้อยและไร้ความหมายสิ้นดี แต่เมื่อมองในมุมกลับกัน เราทั้งหมดต่างมีที่มาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน เราต่างเป็นประกายไฟจากการระเบิดครั้งใหญ่ ที่ถือกำเนิดเป็นจักรวาลเมื่อหลายพันล้านปีที่ผ่านมา

และดังเช่นในชื่อหลักของนิทรรศการอย่าง ‘INTERBEING’ ที่สะท้อนการมองโลกอย่างเป็นอทวิภาวะ (non-duality) ในพุทธศาสนาว่าทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์โดยไม่อาจแยกขาดจากกัน ทุกๆ สิ่งที่เราทำจึงต่างส่งผลกระทบเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ดังนั้น การกระทำอะไรก็ตามแต่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างการผลักดันนโยบายหรือการขับเคลื่อนทางการเมือง การสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม ไปจนถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม เรื่องเล็กน้อยธรรมดาสามัญอย่างการใช้ชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่การสร้างงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้น อาจจะส่งผลกระทบ ส่งแรงบันดาลใจ หรือจุดประกายให้อะไรบางอย่างเกิดขึ้นมาก็เป็นได้ ใครจะไปรู้

 

 

อ้างอิง

บทสัมภาษณ์ศิลปิน ดิสรณ์ ดวงดาว

บทความประกอบนิทรรศการ โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

บทความ ตะกอนในแม่น้ำสำคัญอย่างไร ทำไมน้ำสีฟ้าใสจึงหมายถึงไร้ชีวิต โดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ https://themomentum.co/hungry-water/

หนังสือ โลกของโซฟี เขียนโดย โยสไตน์ กอร์เดอร์ แปลโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล

Fact Box

นิทรรศการ INTERBEING (Light travels from the past) โดย ดิสรณ์ ดวงดาว

จัดแสดงที่หอศิลป์เวอร์ (Gallery VER) โครงการ N22 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22 ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ถึง 28 มีนาคม 2564

Facebook: Gallery VER 

Email: [email protected]

โทร. 0-2120-6098

Tags: ,