คำว่า ‘DeFi’ เป็นคำที่ได้ยินกันคุ้นหูสำหรับผู้ที่ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี เนื่องจากคนในแวดวงการเงินเชื่อว่า DeFi จะกลายมาเป็นระบบการเงินรูปแบบใหม่ ที่ยกระดับบริการทางการเงินให้แก่คนทั่วโลกได้อย่างเท่าเทียม

Cryptonian จึงขอพาทุกคนไปส่องที่มาและอนาคตของเทคโนโลยี DeFi กับ ‘คิม’ – กานต์นิธิ ทองธนากุล หรือ Kim DeFi Daddy ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการคริปโตฯ และผู้ร่วมก่อตั้งเพจ Bitcoin Addict Thailand ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่สามารถสร้างรายได้จากเทคโนโลยี DeFi เพื่อหาคำตอบว่า แท้จริงแล้ว DeFi คืออะไรกันแน่

‘คิม’ – กานต์นิธิ ทองธนากุลได้อธิบายความหมายของ DeFi ไว้ว่า

“คำว่า DeFi มาจากคำว่า Decentralize Finance ที่แปลว่า ‘การเงินกระจายศูนย์’ หรือ ‘ไร้ตัวกลาง’ ดังนั้น DeFi จึงเป็นระบบการเงินที่ขับเคลื่อนแบบไร้ตัวกลางที่ทำงานเบื้องหลังระบบที่เรียกว่า บล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นระบบการจัดเก็บข้อมูลประเภทหนึ่งที่กระจายการเก็บข้อมูลออกไปทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้คนในเครือข่ายช่วยกันตรวจสอบและรักษาข้อมูลที่ถูกจัดเก็บให้ถูกต้องและโปร่งใส ยากต่อการทุจริต การนำบล็อกเชนมาใช้กับระบบการเงิน ทำให้เราสามารถที่เขียนโปรแกรมคำสั่งให้การดำเนินการกิจกรรมทางการเงินต่างๆ โดยตัดมนุษย์ออกจากกระบวนการได้ แล้วเราใช้ระบบ Smart Contract เข้าไปแทน

“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ในระบบการเงินดั้งเดิม การฝากเงินเข้าไปในธนาคารเราต้องเอาเงินที่เตรียมไว้ไปฝากที่ธนาคารสาขาย่อย เพื่อให้พนักงานยืนยันว่าเราฝากเงินเข้าไปจริงๆ จากนั้นธนาคารจึงจะเก็บรักษาเงินให้กับเรา แต่ Decentralize Finance นั้น ธนาคารในระบบ DeFi จะไม่ใช่แบบนั้น การฝากเงินของ DeFi คือการฝากเงินเข้าไปในระบบ Smart Contract ซึ่งไม่มีมนุษย์เข้ามาจัดการเลย ข้อดีคือลดต้นทุน และลดขั้นตอนความยุ่งยากต่างๆ ออกไป ที่สำคัญที่สุดคือ ความโปร่งใสที่ตรวจสอบได้

“เนื่องจากเงินที่เราฝากเข้าไปบน DeFi จะถูกประกาศให้คนทุกคนสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด ดังนั้น เราไม่ต้องกังวลว่าเงินที่เราฝากเข้าไปนั้นจะสูญหายไปไหน ถ้าแพลตฟอร์ม DeFi ที่เราฝากเข้าไปมีความน่าเชื่อถือมากพอ ซึ่งตรงนี้คือความหมายขอ DeFi ที่ผมพยายามที่จะสรุปให้รวบรัดที่สุด”

นอกจากนี้ คิมยังได้อธิบายถึงที่มาของการให้ผลตอบแทนอันน่าเย้ายวนใจสำหรับเหล่านักลงทุน อย่างเช่นการทำ Yield Farming ในโลก DeFi ว่าทำงานอย่างไร เขาอธิบายว่า

“คำว่า Yield หมายถึงปันผล หรือผลตอบแทนที่เราได้จากการลงทุน ซึ่งในโลกของ DeFi มีการให้ผลตอบแทนหลากหลายประเภทและแพลตฟอร์มมากๆ อาจจะมาในรูปแบบของดอกเบี้ยจากการให้แพลตฟอร์มกู้ยืมสินทรัพย์ หรือการเพิ่มสภาพคล่องให้กับแพลตฟอร์มที่ต้องการ และมอบค่าธรรมเนียมให้กับคนฝาก”

 

รู้กันดีว่าในโลกการเงินนั้น สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือความเชื่อมั่น เราจึงถามถึงการก้าวเข้าสู่วงการโลก DeFi ของคิมว่า เขารู้จักและกระโดดเข้าสู่ระบบการเงินตั้งแต่เมื่อไร และเพราะอะไร

“ผมเข้ามาวงการคริปโตฯ ตั้งแต่ 4-5 ปีก่อน ตอนนั้นคำว่า DeFi ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากเท่าไหร่ ยุคนั้นเป็นยุคที่บิตคอยน์เฟื่องฟูมากกว่า คนจะไปโฟกัสกับตัวราคาของเหรียญคริปโตฯ โดยลืมพื้นฐาน (Fundametal) ของตัวโปรเจกต์หรือเหรียญว่ามันทำอะไรได้บ้าง เป็นยุคที่ทุกคนมีไอเดียอะไรก็ออกเหรียญมาขายในรูปแบบของ ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งยุคนั้นเป็นยุคที่ฟองสบู่แตกไวมาก เพราะยังไม่มีโปรดักต์อะไรที่จับต้องได้เลย แต่ผู้คนก็เอาเหรียญมาเร่ขายกัน ดังนั้นมันจึงจบลงค่อนข้างเร็ว”

“คำว่า DeFi เพิ่งมารู้จักกันแพร่หลายในช่วงมิถุนายน 2563 หรือประมาณ 1 ปีที่ผ่านมานี้เอง ช่วงนั้นผมได้เข้าสู่วงการของ DeFi หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานไปกับการขุดเหรียญ การเทรด และซื้อเหรียญ ICO มาลงทุนนานเกือบ 3 ปี ความน่าสนใจก็คือ มีแพลตฟอร์มตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Uniswap ซึ่งเป็นกระดานแลกเปลี่ยนเหรียญคริปโตฯ ที่ไร้คนกลางหรือ (Decentralize Exchange) ได้ออกฟังก์ชันการทำงานที่ปฏิวัติวงการหรือที่เรียกกันว่า AMM (Automated Market Maker) ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งเป็นปัญหาคลาสสิกของแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเหรียญคริปโตฯ

“Uniswap ได้ออกไอเดียให้คนทั่วโลกนำเหรียญเข้ามาฝากในระบบ และเก็บค่าธรรมเนียมจากคนที่เข้ามาแลกเปลี่ยนทุกๆ ธุรกรรม 0.3% เพื่อนำมาแจกจ่ายเป็นปันผลให้กับผู้ที่ฝากเหรียญเข้ามาในแพลตฟอร์ม Uniswap มันปฏิวัติวงการตรงที่เขาไม่ต้องกังวลเรื่องของสภาพคล่องอีกต่อไป เมื่อเขาสามารถดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกให้มาลงทุนกับแพลตฟอร์มของเขาเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งเป็นการอุดช่องโหว่ที่สำคัญสำหรับแพลตฟอร์มที่เป็นกระดานเทรด

“ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้ผมเริ่มชอบคอนเซ็ปต์ของ DeFi มาตั้งแต่ตอนนั้น เพราะนี่คือโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ขึ้นมาจริงๆ และเป็นผลตอบแทนที่แท้จริงที่เอามาแจกจ่ายให้กับคนในระบบ ต่อมาจุดเปลี่ยนของวงการ DeFi ก็ถูกปฏิวัติอีกครั้ง และทำให้ผมชื่นชอบเทคโนโลยี DeFi มากกว่าเดิม นั่นคือการที่แพลตฟอร์ม Compound ที่เป็นแพลตฟอร์มการกู้ยืมแบบ P2P Lending ได้ทำระบบการออกเหรียญของแพลตฟอร์มที่เรียกว่า ‘Governance Token’ ที่ทำให้ผู้ถือมีอำนาจในการโหวตหรือปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มให้เป็นไปในรูปแบบที่ผู้ถือเหรียญต้องการได้ หากผู้ถือเหรียญรายนั้นถือเหรียญมากพอ

“ครั้งนี้ไม่เหมือนกับปี 2017 ที่ออกเหรียญมาขายเฉยๆ เพราะ Compound บอกว่าเขาจะแจกจ่ายเหรียญให้กับผู้ที่เอาเงินมาฝาก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับเหรียญของเขา จากเดิมที่ฝากเหรียญใน Compound ดอกเบี้ยอาจจะไม่เยอะมาก ราว 5-10% ต่อปี ซึ่งมาจากรายได้ของแพลตฟอร์มจริงๆ แต่พอ Compound บอกว่าจะไม่ขายเหรียญ แต่จะแจกให้กับคนที่ฝากเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับ Compound

“ถ้าเหรียญนั้นไม่มีมูลค่าก็คงจะไม่เป็นปัญหาอะไร แต่กลับกลายเป็นว่าเหรียญ Compound ดันมีมูลค่าขึ้นมา สามารถเอาไปขายในกระดานเทรดของ Uniswap ได้ จากราคาตอนเปิดตัวอยู่เพียงแค่ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ จนพุ่งสูงไปถึง 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ และปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ พอเหรียญมันมีมูลค่า และเป็นการแจกเหรียญฟรีๆ ให้กับผู้ที่ฝากเงิน คนก็โลภสิครับ (หัวเราะ) จึงมีการฝากเหรียญเข้ามาอย่างล้นหลาม เพราะเขาไม่เสียอะไรอยู่แล้ว Smart Contract ทำให้เงินของเขาปลอดภัย ใครก็เอาเงินที่เขาฝากเข้าไปไม่ได้

“จากที่ Compound เปิดตัวในช่วงแรก มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ไม่ถึง 100 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใช้เวลาไม่นานให้ก็มีทุนอยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์​สหรัฐฯ และปัจจุบันอยู่ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ พูดง่ายๆว่าเติบโตขึ้นกว่า 100 เท่า จุดนี้จึงกลายเป็นต้นแบบให้กับแพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นโมเดลที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

“ซึ่งเจ้า Governance Token เหล่านี้ ผมมองว่ามันไม่ใช่การแบ่งรายได้ที่แท้จริงให้กับผู้ลงทุน กึ่งๆ ฟองสบู่เสียด้วยซ้ำ เพราะว่าผลตอบแทนที่มาจากการขาย Governance Token เป็นเหรียญที่เขาเสกขึ้นมาให้คนนำไปใช้แพลตฟอร์มของเขา คำถามคือ ถ้าไม่มีการแจกเหรียญ Governance Token อะไรคือตัวชี้วัดว่าแพลตฟอร์มนั้นยังน่าใช้งานอยู่”

จากกรณีที่แพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Bunnyswap ถูกแฮ็กเข้าไปทำการ Flashloan เพื่อทุบราคาของเหรียญ Bunny ‘คิม’ – กานต์นิธิ ทองธนากุล จึงได้แนะนำ 5 ปัจจัยในการตัดสินใจเลือกแพลตฟอร์มที่จะเข้าไปลงทุน ดังนี้

1. จำนวนเงินที่ฝากไว้ในแพลตฟอร์มทั้งหมด (Total Lock Value) 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป
ถึงแม้จะไม่ใช่ตัวที่บ่งชี้ว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์ แต่จำนวนเงินฝากที่มากนั้น บ่งบอกถึงการช่วยกันตรวจสอบว่า Smart Contract ของแพลตฟอร์มเบื้องต้นปลอดภัยแค่ไหน

2. ทีมพัฒนา/นักพัฒนาแพลตฟอร์มนั้นเป็นใคร
เราควรจะตรวจสอบประวัติของทีมพัฒนา/นักพัฒนาแพลต์ฟอร์มก่อน ว่ามีคนที่รู้จักไหม และน่าเชื่อถือมากมายแค่ไหน แม้จะไม่ค่อยมีใครเปิดเผยตัวตนเท่าไร เพราะอาจจะมีปัญหาทางด้านกฎหมาย และอ้างว่า ขนาด ซาโตชิ นาคาโมโตะ ผู้สร้างบิตคอยน์ ก็ยังไม่เปิดเผยตัวตนเลย

3. ผู้ที่ลงทุน/พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจของแพลตฟอร์ม
เพื่อที่จะสามารถดูได้ว่าแพลตฟอร์ม DeFi เหล่านั้นมีใครคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และจับมือกับใครบ้าง จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแพลตฟอร์มได้ เพราะว่าการที่นักลงทุนหรือบริษัทต่างๆ ยอมจับมือกับแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องมีการตรวจสอบมาเบื้องต้นก่อนหน้าแล้ว ไม่เช่นนั้น ทางผู้ลงทุนหรือบริษัทจะเสียชื่อได้ ถ้าจับมือกับโปรเจกต์ที่ไม่ดี ยกตัวอย่างเช่น การที่ Binance ไปจับมือกับแพลตฟอร์มไหน แสดงว่าจะต้องเป็นแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง

4. ระยะเวลาในการดำเนินการของแพลตฟอร์ม
แพลตฟอร์มใดก็ตามที่เปิดให้ใช้งานมาเป็นเวลานานโดยที่ยังไม่ถูกแฮ็ก ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นว่ามีความปลอดภัยมาก ยกตัวอย่างเช่น Uniswap ที่เปิดตัวมาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยมีการถูกแฮ็กเลยแม้แต่ครั้งเดียว ชี้ให้เห็นว่า Uniswap ที่มีเงินฝากเกือบหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีความปลอดภัยมาก

5. บริษัทที่จะมาช่วยเราตรวจสอบ
ผู้ใช้ทั่วไป 99% คงอ่านโค้ดกันไม่เป็น เนื่องจากเป็นนักลงทุนทั่วไป จึงมีบริษัทที่มาช่วยตรวจสอบ เช่น Certik ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบที่มีชื่อเสียง และมีการออกใบรับรองเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้เราได้

ทั้ง 5 ปัจจัยนี้ จำเป็นต้องใช้ร่วมกันในการตรวจสอบและคัดกรองแพลตฟอร์มที่เราเข้าไปลงทุน

“ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา มูลค่าตลาดรวมของคริปโตเคอร์เรนซีขึ้นไปแตะอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และไม่กี่วันถัดมา ก็เกิดการปรับฐานของราคาครั้งใหญ่ จากข่าวด้านลบต่างๆ ที่เกี่ยวกับคริปโตฯ จนทำให้มูลค่ารวมของตลาดลงมาอยู่ที่ 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลงมา 50% เลยทีเดียว

“แต่ในฝั่งของเงินฝาก (TVL) ของ DeFi ช่วงเวลาที่มูลค่าตลาดสูงสุดนั้นอยู่ที่ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลดลงมาที่ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลงเพียง 20% เท่านั้น ทำให้เราเห็นว่า แม้มูลค่ารวมของตลาดคริปโตฯ ลดลงถึง 50% แต่ DeFi กลับได้รับผลกระทบเพียงแค่ 20% เท่านั้น ผมจึงอยากจะชี้ว่า จริงๆ แล้ว DeFi ไม่ได้รับผลกระทบมากขนาดนั้น เพราะว่ามูลค่าที่ลดลงส่วนหนึ่งอาจจะมาจากมูลค่าของเหรียญคริปโตฯ ที่ร่วงลง แต่คนก็ยังคงฝากเงินเพื่อรับผลตอบแทนกันอยู่ เพราะเขายังคงเชื่อถือกัน”

“และในโลกของ DeFi ไม่เหมือนกับวงการคริปโตฯ สมัยก่อน การถือเหรียญ Stable Coin ในช่วงตลาดขาลงเป็นการถือเพื่อพักเงินสำรองเอาไว้ และช้อนซื้อเมื่อราคาของเหรียญร่วง แต่การเข้ามาของ DeFi นั้นไม่จำเป็นต้องถือไว้เฉยๆ เราสามารถนำ Stable Coin ไปฝากไว้ในแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อรับผลตอบแทนได้อยู่ที่ 20-30% ต่อปี ซึ่งเป็นเป็นผลตอบแทนที่ให้ได้ในขณะที่ตลาดอยู่ในช่วงขาลง เป็นอะไรที่แปลกไหมล่ะ ทำให้คนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะ DeFi ทำให้เหรียญคริปโตฯ ตัวเดิมมีอำนาจในการทำกิจกรรมทางการเงินมากขึ้นกว่าเดิมอีก”

เจ้าพ่อแห่ง DeFi เมืองไทยได้ทิ้งท้ายถึงตัวเลือกในการใช้สอยเหรียญคริปโตฯ ที่มากขึ้น หลังจากการเข้ามาของเทคโนโลยีระบบการเงินไร้ตัวกลางที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในโลกเก่าที่แข็งแรงสักเพียงใด ทว่าปัจจุบันได้มีการหันทิศทางเข้าสู่เทคโนโลยีรูปแบบใหม่หมด คำถามคือแล้วการปฏิวัติทางการเงินล่ะ ในเมื่อผู้คนต่างปรับตัวไปตามกระแสของเทคโนโลยีกันหมดแล้ว ระบบการเงินจะยังคงใช้รูปแบบเดิมอยู่หรือเปล่า

จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าสถาบันการเงินจะคว้าโอกาสที่มีอยู่ตรงหน้า หรือปล่อยให้โอกาสไหลไปกับความเป็นพลวัตของโลกนี้ ที่คอยสอนเราอยู่เสมอว่า โลกไม่มีทางหวนกลับมาเป็นดังเดิมอีกต่อไป

Tags: , , , ,