คนโบราณกล่าวไว้ว่า “ทองแท้ย่อมไม่แพ้ไฟ” แล้วทองคำดิจิทัลอย่าง ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) ที่กำลังถูกทดสอบความเชื่อมั่นอยู่ในปัจจุบันนั้น จะพ่ายแพ้ต่อความเคลือบแคลงใจของเหล่านักลงทุนหรือเปล่า ในวันที่มูลค่าของคริปโตฯ ลดลงอย่างรุนแรง จึงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่เราจะถามตัวเองว่า สิ่งที่ผู้คนเชื่อมั่นคือมูลค่าราคาของเหรียญหรือมูลค่าของ ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังของบรรดาสกุลเงินดิจิทัลที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้กันแน่
Cryptonian EP.12 ขอพาทุกคนไปดูอนาคตของเทคโนโลยีบล็อกเชนผ่านทัศนะของ ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งกระดานแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Satang Pro และ Firo เหรียญ Privacy ที่ได้การยอมรับในเชิงเทคโนโลยีจากทั่วโลกว่ามีความเป็นส่วนตัวที่ดีที่สุดในโลกขณะนี้ รวมถึงในฐานะที่เป็นผู้พัฒนาคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อพูดคุยกับเขาว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนมีโอกาสให้เติบโตได้อีกมากน้อยแค่ไหน
นอกจากในวงการการเงิน เราใช้บล็อกเชน (Blockchain) ทำอะไรได้อีก?
แน่นอนว่าปัจจุบันเราใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในโลกของการเงินเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตัวเริ่มต้น แต่หากถามว่าเราใช้บล็อกเชนทำอะไรอีก ต้องเข้าใจก่อนว่าทุกวันนี้เราใช้บล็อกเชนทำงานในรูปแบบของ ‘ฐานข้อมูลที่เก็บอะไรก็ได้’ แต่เป็นฐานข้อมูลที่ทุกคนในเครือข่ายเป็นผู้เก็บข้อมูลเหมือนกันทั้งหมด นั่นหมายความเราไม่จำเป็นต้องเก็บแค่ข้อมูลทางการเงินก็ได้ เราสามารถที่จะเก็บข้อมูลของคนไข้ก็ได้ ซึ่งการที่โรงพยาบาลใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเก็บข้อมูลของคนไข้ นั่นหมายความว่าโรงพยาบาลทั่วโลกจะมีประวัติของคนไข้ทุกคนทันที ปัจจุบันจึงมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนใช้ในทางการแพทย์ เพื่อลดขั้นตอนในการซักประวัติคนไข้ และเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยอาการ ทำให้แพทย์รักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการศึกษา คือการเก็บข้อมูลของใบทรานสคริปต์ของผู้เรียน เพื่อที่แต่ละมหาลัยจะสามารถตรวจสอบได้ว่านักเรียนแต่ละคนนั้นจบการศึกษาจากที่ไหนมา เมื่อทำเป็นระบบบล็อกเชนเราสามารถเปลี่ยนใบทรานสคริปต์ให้อยู่ในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลข้ามประเทศ ข้ามสถาบันได้ แม้กระทั่งนายจ้างก็สามารถที่จะเช็กข้อมูลของผู้มาสมัครงานได้อีกด้วยว่าจบจากต่างประเทศมาจริงๆ หรือเปล่า เพราะปัญหาดั้งเดิมของการตรวจสอบคือใช้เวลานาน และเสียค่าใช้จ่ายบางส่วนในการตรวจสอบ แต่พอใช้บล็อกเชนจะลดขั้นตอนตรงนี้ลงไปได้
แล้วการเก็บข้อมูลด้วยบล็อกเชนมีอุปสรรคปัญหาอะไรหรือไม่
ในอดีต ก่อนที่เราจะมีบล็อกเชน เราใช้เงินในรูปแบบดั้งเดิม เช่น ธนบัตรและเหรียญ ธนบัตร 20 บาท ทุกใบก็จะมีลักษณะเหมือนกัน ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของ แต่หลังจากที่เราเปลี่ยนรูปแบบของเงินมาอยู่ในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้แอพลิเคชันของธนาคาร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ธนาคารจะสามารถเห็นได้หมดเลยว่าผู้ใช้เงินนั้นใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แค่ผู้จ่ายเงินและร้านค้าผู้รับเงินเท่านั้น
พอมีการเกิดขึ้นของบล็อกเชนที่ธุรกรรมจะถูกเก็บไว้ในเครือข่าย ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การจ่ายเงินด้วยธนบัตรเปลี่ยนมาเป็นบิตคอยน์ ทุกคนสามารถตรวจสอบได้หมดเลยว่าเหรียญที่นำมาใช้จ่ายนั้นในอดีตเคยเกี่ยวข้องกับธุรกรรมอะไรมาบ้าง ซึ่งอาจทำให้ผู้รับไม่ต้องการเหรียญบิตคอยน์ตัวดังกล่าว หากมันไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่มีความเสี่ยงหรือธุรกรรมผิดกฎหมาย จึงผิดหลักการที่ว่าเงินทุกตัวควรจะมีลักษณะที่เหมือนกัน (Fungible) ซึ่งทำให้บิตคอยน์ขาดลักษณะตรงนี้ไป
เหล่านักพัฒนาบล็อกเชนเช่นผมจึงได้พัฒนา ‘ระบบความเป็นส่วนตัว’ (Privacy) โดยใช้เทคโนโลยี Zero Knowledge Proof ที่ทำให้คนส่งและคนรับเป็นผู้รับรู้ข้อมูลธุรกรรมเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น แต่คนในเครือข่ายจะไม่ทราบว่าธุรกรรมเป็นของใครและเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะปัญหาในปัจจุบันคือการเปิดเผยข้อมูลบนบล็อกเชนมากเกินความจำเป็น เหมือนเวลาเราไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คนขายต้องการทราบเพียงแค่ว่าเราบรรลุนิติภาวะหรือยัง ไม่ได้สนใจว่าชื่ออะไร เกิดปีไหนด้วยซ้ำ แต่การตรวจสอบจำเป็นที่จะต้องยื่นบัตรประชาชนให้ดู ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่มากเกินความจำเป็น
ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนสามารถดูการโอนบิตคอยน์เข้าออกของร้านค้าได้ นั่นหมายถึงคุณสามารถเข้าดูยอดขายและรายจ่ายที่เป็นข้อมูลลับเฉพาะที่เจ้าของร้านไม่ต้องการที่จะให้คู่แข่งรับรู้อีกด้วย ซึ่งเราได้แก้ไขปัญหาตรงนี้ เพื่อให้ข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องถูกเปิดเผย และยังคงเก็บเป็นความลับอยู่
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ใหญ่มากแค่ไหนในระดับโลก
เรายังคงให้ความสำคัญกับปัญหานี้อยู่ แต่ต้องอย่าลืมว่าบิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่เพิ่งกำเนิดมาเพียงแค่ 12 ปีเท่านั้น ทำให้เป้าหมายในตอนนี้คือการให้คนรู้จักและยอมรับบิตคอยน์เสียก่อน รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่กำกับดูแลด้วย การเปิดเผยธุรกรรมจะทำให้หลายๆ ฝ่ายเกิดการยอมรับได้ง่ายขึ้น จึงพูดได้ว่าบิตคอยน์ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัว เพียงแต่ว่ายังไม่เป็นความสำคัญลำดับต้นๆ เพราะต้องการให้เกิดการ Mass Adoption ก่อน
ปัจจุบันนักพัฒนาบล็อกเชน (Blockchain Developer) มีความต้องการมากน้อยเพียงใด
10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีบล็อกเชนมีวิวัฒนาการเกิดขึ้นอย่างมากมาย ช่วง 4-5 ปีแรก คนจะให้ความสำคัญในการสร้างเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ดีกว่าบิตคอยน์ แต่ในปี 2015 เกิดสิ่งที่เรียกว่า Ethereum Blockchain ขึ้นมา ทำให้เกิดนักพัฒนาบล็อกเชนอีกประเภทที่มุ่งไปยังการสร้างแอพลิเคชัน (Decentralize Application) บนบล็อกเชนของอีเธอเรียมให้ออกมาดียิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น นักพัฒนาบล็อกเชน (Blockchain Developer) จะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1. นักพัฒนาที่ตั้งใจจะสร้างบล็อกเชนใหม่ให้ดีกว่าเดิม และ 2. นักพัฒนาแอพลิเคชันบนบล็อกเชนที่มีอยู่แล้ว (DApps Developer) แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน เราไม่จำเป็นที่จะต้องใช้บล็อกเชนใหม่มากขนาดนั้นแล้ว สิ่งที่จำเป็นคือการสร้างแอพพลิเคชันทางด้านการเงินบนบล็อกเชนมากกว่า เช่น กลุ่มพวก DeFi อย่าง Pancake Swaps และ Uniswap ทำให้ DApps และ Developer เป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ
ยกตัวอย่าง ทีมของผมที่ทำเหรียญ Firo ก็ได้มีการพัฒนาบล็อกเชนที่เน้นทางด้านความเป็นส่วนตัว (Privacy) อยู่แล้ว เพื่อเปิดให้นักพัฒนาเข้ามาสร้างแอพลิเคชันที่แก้ไขปัญหาด้านความเป็นส่วนตัวโดยเฉพาะ แนวทางของพวกเราคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของบล็อกเชน (Infastructure) เพื่อให้คนที่เป็นนักพัฒนาแอพฯ สามารถสร้างแอพฯ บนบล็อกเชนของเราได้สะดวกมากขึ้น
ทราบมาว่าคุณเคยใช้บล็อกเชนกับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง อยากทราบว่าทำได้อย่างไร
ตอนแรกมีคนติดต่อมาปรึกษาเรื่องบล็อกเชน ว่าจะใช้กับการเลือกตั้งได้อย่างไรบ้าง ผมในฐานะที่เป็นนักพัฒนา เลยให้คำแนะนำไปในข้อมูลเชิงกว้าง สุดท้ายเลยต้องไปทำให้เพราะต้องใช้คนที่เข้าใจ technology privacy อย่างแท้จริง ซึ่งในโลกอาจจะมีแค่ 3 เหรียญเท่านั้นในระดับสากลคือ Monero Zcoin Zcash ซึ่งเหรียญ Zcoin คือหนึ่งในนั้น (ชื่อเก่าของ Firo) ตามที่ได้เกริ่นไปว่าบล็อกเชนเป็นระบบฐานข้อมูลที่เราจะสามารถใส่อะไรลงไปก็ได้ ดังนั้น สิ่งที่ใส่ลงไปในการเลือกตั้งครั้งนี้คือข้อมูลการโหวตเลือกแคนดิเดตหัวหน้าพรรค
ถามว่าแล้วทำไมถึงต้องใช้บล็อกเชน เพราะว่าเวลาคนทำระบบเลือกตั้งมันจะมีข้อครหาว่า การออกแบบระบบเอื้อผลประโยชน์ให้พรรคใดพรรคหนึ่งหรือเปล่า เขียนโปรแกรมให้อีกฝ่ายแพ้หรือเปล่า ที่สำคัญคือ มีการเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลของคนเลือกหรือเปล่า ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเพราะความไม่เชื่อใจกันทั้งหมด
ดังนั้น หากการเลือกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้บล็อกเชน ทุกคนจะทราบโดยทั่วกันเลยว่าไม่มีใครสามารถแก้ไขระบบได้เลย ซึ่งข้อมูลที่ถูกเขียนลงในบล็อกเชนจะไม่สามารถถูกแก้ไขโดยแฮ็กเกอร์หรือคนทำระบบโหวตได้
บล็อกเชนที่ออกมารุ่นหลังๆ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า เช่น Solana Polkadot ส่งผลกระทบต่อบล็อกเชนที่มีเทคโนโลยีเก่าอย่างไร?
ถ้าพูดตรงๆ คือก็แล้วแต่ ผมขออธิบายให้เห็นภาพแบบนี้นะครับว่า ระหว่างบิตคอยน์กับอีเธอเรียม อีเธอเรียมนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าบิตคอยน์ ชูจุดเด่นเรื่องของการประมวลผลที่เร็วกว่า และสามารถเขียนแอพลิเคชันบนบล็อกเชนของอีเธอเรียมได้ด้วย ในยุคหนึ่ง จึงมีผู้คนคิดว่าบิตคอยน์ยังไงก็สู้อีเธอเรียมไม่ได้แน่นอน แต่พอเวลาผ่านไป มีเหตุการณ์ที่แอพลิเคชันบนอีเธอเรียมนั้นมีช่องโหว่และถูกแฮ็กได้ กลายเป็นจุดต้องย้ำว่า บิตคอยน์ไม่จำเป็นต้องทำงานได้เยอะอย่างอีเธอเรียม เพียงแค่ทำงานเฉพาะได้ดีก็เพียงพอแล้ว
ปัจจุบัน เรายังเห็นว่าอีเธอเรียมยังคงแซงบิตคอยน์ไม่ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอีเธอเรียมไม่ดี แต่เพราะว่าเรื่องของคอมมูนิตีของชาวคริปโตฯ นั้น ให้ความเชื่อถือบิตคอยน์มากกว่า และส่งผลไปยังมูลค่ารวม (Market cap) ของบิตคอยน์ที่มากกว่าอีเธอเรียมด้วย
ด้วยจุดมุ่งหมายของบิตคอยน์คือการใช้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่ส่งหากัน แต่อีเธอเรียมต้องการที่จะให้คนเข้ามาเขียนแอพฯ บนบล็อกเชนของอีเธอเรียมเยอะๆ ทำให้เราไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบทั้งสองอย่างนี้ได้มากนัก เพราะจุดประสงค์นั้นคนละเป้าหมายกัน ถึงแม้ว่าจะใช้บล็อกเชนเหมือนกัน
ดังนั้น บล็อกเชนใหม่ๆ ที่ออกมาภายหลังโดยสร้างขึ้นเพื่ออุดปัญหาของอีเธอเรียม ในเชิงของเทคนิคอาจจะดีกว่าแน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เคยใช้อีเธอเรียมจะหนีไปใช้บล็อกเชนตัวอื่นๆ เพราะยังคงมีกลุ่มคนที่คุ้นเคยในการใช้งานอีเธอเรียมอยู่แล้ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมาก็ตาม แต่การให้คนในเครือข่ายเรียนรู้ยังคงเป็นเรื่องยากอยู่ดีในการเรียนรู้ใหม่ อีกทั้งยังมีต้นทุนทางด้านเวลาในการเรียนรู้ของนักพัฒนาแอพลิเคชัน เพราะภาษาในการใช้เขียนโปรแกรมก็ต้องเรียนรู้ใหม่เช่นกัน
กลายเป็นว่าต่อให้มีบล็อกเชนตัวใหม่เกิดขึ้น อาจจะมีคนบางส่วนที่ย้ายไป แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้น ตราบใดบล็อกเชนตัวเดิมที่มีในตลาดนั้นยังคงตอบโจทย์ผู้คนอยู่ และไม่ได้มีปัญหาอะไร ผู้คนจะยังคงใช้งานสิ่งเดิมอยู่ จนกว่าจะเกิดปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ที่จะทำให้กลุ่มคนย้ายไปยังบล็อกเชนตัวใหม่ที่ดีกว่า
การที่คนทุนหนาอย่าง อีลอน มักส์ เข้ามาเล่นในตลาด ทำให้ความกระจายอำนาจของคริปโตฯ (Decentralize) หายไปหรือเปล่า?
สุดท้ายแล้ว บล็อกเชนก็เป็นโปรแกรมเพียงโปรแกรมหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา โดย ซาโตชิ นาคาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) ซึ่งได้ถ่ายทอดความคิดที่ว่า ต้องการมีสกุลเงินที่ไม่ถูกควบคุมโดยใครคนใดคนหนึ่งด้วยการให้เป็นโค้ด (Code) แต่ตอนที่ทำงานจริงๆ ก็เป็นการทำงานผ่านคนไม่กี่กลุ่ม ดังนั้น มันคือการทำงานแบบ Centralize ผ่านเทคโนโลยี Decentralize อีกทีหนึ่ง
ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่เลย อย่างเช่นระบบการเลือก ส.ส. ส.ว. ถึงแม้จะเป็นการเลือกโดยระบบกระจายอำนาจที่เสียงมาจากประชาชน แต่เวลาทำงานจริงๆ ก็มีการทำงานโดยคนภายในพรรคเพียงไม่กี่คนอยู่ดี ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบหรือเทคโนโลยีใดๆ ก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรที่เรียกว่า ‘คน’ เป็นคนใช้อยู่ดี
เพราะฉะนั้น การที่ทุกคนอยากจะให้ระบบ Decentralize ยังคงอยู่จริงๆ อาจจะเป็นสังคมในอุดมคติเกินไป สุดท้ายมันวนกลับมาที่คน ว่าแต่ละคนอยากจะใช้คริปโตฯ ในการทำอะไร แล้วทุกอย่างก็จะแปรผันตามคนเอง
Tags: Blockchain, Cryptocurrency, สกุลเงินดิจิทัล, บล็อกเชน, Cryptonian