ต้องขอบคุณเทคโนโลยี ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) ที่ให้เราสามารถโอนมูลค่าระหว่างกันได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางมาเป็นผู้ยืนยันการทำธุรกรรม เพราะการให้คนในเครือข่ายเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องนั้น ทำให้เราสามารถเชื่อใจระบบมากกว่าคนกลางคนใดคนหนึ่งอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ
เหล่าโปรแกรมเมอร์ นักธุรกิจ และนักการเงิน จึงเริ่มตระหนักได้ว่า ถ้าบล็อกเชนทำให้เรามีสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) สกุลเงินที่มีความกระจายตัว (Decentralize Currency) แล้ว ทำไมเรายังต้องพึ่งพาระบบการเงินรวมศูนย์ในแบบดั้งเดิมอยู่อีกล่ะ ในเมื่อเทคโนโลยีทำให้ขั้วอำนาจของโลกการเงินได้เปลี่ยนมือมาอยู่ที่ทุกคนแล้ว ทำให้เกิดระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘DeFi’ หรือ ‘Decentralize Finance’ เพื่อมาตอบโจทย์การทำกิจกรรมทางการเงินของโลกยุคใหม่
ในอดีต การดำเนินกิจกรรมทางการเงินอย่างการกู้ยืม การค้ำประกัน การโอน ไปจนถึงมรดก จำเป็นที่จะต้องหาตัวกลางที่มีความมั่นคง มีเงินทุนที่มหาศาล และที่สำคัญคือ ‘มีความน่าเชื่อถือสูง’ การทำธุรกรรมที่กล่าวมาจึงต้องดำเนินการผ่านตัวกลางหรือองค์กรต่างๆ คำถามคือ แล้วใครที่เป็นองค์กรที่มีทั้งอำนาจ เงินทุน และความน่าเชื่อถือมากที่สุดในประเทศ
คำตอบก็คือสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมโดยรัฐนั่นเอง โดยเราเรียกระบบการเงินรูปแบบนี้ว่า ‘ระบบการเงินแบบดั้งเดิม’
ภาพ: Medium
แต่ตามที่ได้อธิบายไปใน Cryptonian EP ก่อนๆ ว่า การมอบอำนาจทางการเงินไว้ให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำสักเท่าไหร่ เพราะถึงแม้เราจะบอกว่ารัฐมีความน่าเชื่อถือ แต่เราแทบไม่รู้เลยว่า องค์กรที่ดูแลจัดการเงินของเราอยู่นั้นมีการจัดการกันอย่างไร
DeFi จึงเป็นแนวคิดของระบบการเงินไร้ตัวกลางที่สามารถทำในสิ่งที่ระบบการเงินปัจจุบันหรือธนาคารสามารถทำได้ เช่น การสร้างสินทรัพย์ ปล่อยกู้ยืม ค้ำประกัน และโอนทรัพย์สิน แต่ทุกอย่างที่กล่าวมาจะเป็นการทำธุรกรรมกันระหว่างคนในเครือข่ายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป
เพราะระบบบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูงจากการตรวจสอบกันเองของคนภายในเครือข่าย เราจึงไม่ต้องจำเป็นเชื่อใจผู้ที่เราให้กู้ยืมหรือฝ่ายที่โอนทรัพย์สินให้ เพราะระบบมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และทุกคนช่วยกันดูแลพัฒนา ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินเหมือนเดิมได้ทุกประการ เพียงแต่ลดค่าใช้จ่ายจากการไม่พึ่งตัวกลางที่ทำให้การธุรกรรมล่าช้าไปด้วยนั่นเอง
ด้วยความปลอดภัยของตัวระบบทำให้ปัจจัยทางด้าน ‘เครดิต’ ของผู้ทำธุรกรรมไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพียงแค่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ก็สามารถใช้บริการกู้ยืมในโลก DeFi ได้ นับว่าเป็นการกระจายอำนาจทางการเงินสู่คนหมู่มากได้อย่างแท้จริง เพราะทุกคนสามารถที่จะกลายเป็นธนาคารได้ เพียงแค่มีสกุลเงินดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชน
ตัวอย่างเทคโนโลยีที่น่าสนใจของ DeFi ในปัจจุบันคือระบบ ‘Lending Borrowing’ ซึ่งในอดีตการที่เรานำสินทรัพย์ไปฝากธนาคาร ธนาคารจะนำสินทรัพย์ของเราไปปล่อยกู้เพื่อหาผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ตัวกลางอย่างอย่างธนาคารจึงจำเป็นที่จะต้องเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตราสูง แต่ดอกเบี้ยที่เราได้คืนมากลับมีผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะธนาคารต้องมีค่าดำเนินการในการรองรับความเสี่ยงแทน
การใช้ DeFi ทำให้เราไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางที่จะมาคอยหักค่าดอกเบี้ยที่เราควรจะได้ไป แต่เราจะได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินกู้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนกลางอย่างธนาคารอีกต่อไป
ในโลกของบล็อกเชนที่เครือข่ายมีทั้งความโปร่งใสและความปลอดภัย รวมถึงการตัดตัวกลางในโลกการเงินทิ้งออกไปนั้น ทำให้นวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นได้อย่างมากมายมหาศาล อนาคตของวงการบล็อกเชนจึงเป็นอะไรที่ควรจับตาดูว่า ทิศทางของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกตัวนี้จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด
ที่มา:
https://www.investopedia.com/decentralized-finance-defi-5113835
https://www.efinancethai.com/MoneyStrategist/MoneyStrategistMain.aspx?id=NXBlTzlBSTQ5Vjg9
https://zipmex.com/th/learn/decentralized-finance-defi-explained/
https://bitcoinaddict.org/2020/07/21/what-is-decentralized-finance-defi/
Tags: Blockchain, บล็อกเชน, Cryptonian, Decentralize Finance, DeFi