นับตั้งแต่วันที่ราคาของบิตคอยน์ขึ้นไปแตะอยู่ที่ 1 ล้านบาท ทำให้มีใครหลายๆ คนที่สนใจที่อยากจะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น แต่แน่นอนว่าการทำความเข้าใจกับสิ่งใหม่มันเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะสิ่งใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของโลกใบนี้ไปอย่างสิ้นเชิง

หลายคนอาจรู้ถึงนิยามของบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอยู่แล้วว่ามันคือ ‘อะไร’ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ‘ทำไม’ เจ้าสิ่งนี้จึงมีความจำเป็นที่จำต้องเกิดขึ้นมาบนโลก

ปี 1879: ‘Gold standard’ ยุคเรเนซองส์แห่งทองคำ 

ในยุคแรกเริ่มนั้นการออกเงินของรัฐบาล จำเป็นต้องมีทองคำเข้ามาค้ำประกันต่อการออกเงินหนึ่งครั้ง ทำให้ประชาชนหรือองค์กรต่างๆ ไม่ต้องเก็บทองไว้เอง เนื่องจากรัฐจะเป็นคนที่เก็บทองให้ และออกธนบัตรที่มีมูลค่าเทียบเท่าสำหรับการใช้งาน โดยทางภาคเอกชนสามารถนำเงินไปแลกคืนทองเมื่อไหร่ก็ได้

 

 

นั่นทำให้ประเทศหลายประเทศหันมาใช้ค่าเงินแบบ Gold Standard เพราะทุกประเทศที่เข้าร่วมจะยึดมูลค่าเงินของรัฐตัวเองกับราคาทองคำในอัตราที่คงที่ได้ เช่น หากทองคำ 1 แท่งจะมีค่าเท่ากับ 30000 บาท, 1000 ดอลลาร์ฯ และ 100 ปอนด์ ค่าเงินบาท ดอลลาร์ฯ และปอนด์ จะสามารถแลกเปลี่ยนกันในราคาเดิมตลอด ไม่มีการขึ้นลงของราคา

จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่เราสามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องสกุลเงิน เพราะไม่ว่าจะสกุลเงินของประเทศใด ก็ไม่มีความแตกต่างกันเนื่องจากมีอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ อีกทั้งยังสามารถแลกทองคืนได้ทุกสกุลเงินอีกด้วย โดยประเทศที่เข้าร่วม Gold Standard ส่วนมากจะเป็นกลุ่มประเทศในแถบยุโรป อย่างอังกฤษ สเปน และเยอรมัน

แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914 มีหลายประเทศที่จำเป็นต้องเข้าร่วมสงคราม แต่ละประเทศจึงความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างมหาศาล แต่การผลิตเงินเพิ่มนั้นจำเป็นต้องใช้ทองคำมาค้ำ และไม่มีประเทศไหนที่ต้องการที่จะแพ้สงครามทางออกของประเทศเหล่านี้คือการ ‘พิมพ์ธนบัตรออกมาเรื่อยๆ’ โดยไม่สนใจว่าจะมีทองค้ำมาค้ำหรือไม่อีกต่อไป ซึ่งทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้ออย่างหนักจากภาวะสงคราม 

ประมาณปี 1929 หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ผลที่ตามมาคือระบบเศรษฐกิจของประเทศฝั่งยุโรป และอเมริกาเหนือเข้าสู่ภาวะถดถอย ผู้คนในประเทศขาดงานและรายได้ บวกกับเหล่าทหารที่กลับจากสงครามผันตัวมาเป็นแรงงานในภาคการเกษตรมากขึ้น พอกำลังการผลิตก็มากขึ้นทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาลดต่ำลงเพราะเกิด Over Supply ภาครัฐจึงยังคงแก้ปัญหาโดยการพิมพ์ธนบัตรออกมา และปล่อยกู้แก่ประชาชน เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ แต่การกระทำดังกล่าวกลับทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Depression) ที่จะส่งผลให้ราคาของตลาดหุ้นดาวโจนส์ ไม่สามารถกลับไปอยู่ในจุดสูงสุดได้เลยใน 3 ปีให้หลัง 

ปี 1944: ระบบ ‘Bretton Woods’ ดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะเงินสำรองของประเทศ

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ทางสหรัฐฯ ได้ทำการเรียกกลุ่มพันธมิตรไปเพื่อหารือเกี่ยวกับระบบการแลกเปลี่ยนของโลกใหม่ ณ เมืองเบรตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (Hyperinflation) จากการผลิตเงินออกมาเองเหมือนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งผลสรุปของการประชุมครั้งนั้นคือการสร้างระบบการเงินใหม่ที่มีชื่อว่า ‘Bretton Wood’  คือการให้ประเทศอื่นๆ สำรองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯไว้ โดยที่เงินดอลลาร์ฯ จะถูกอ้างอิงกับราคาทองคำที่ 35 ดอลลาร์ฯ ต่อทองคำ 1 ออนซ์ อีกทีหนึ่ง

 

 

หากใครที่กำลังสงสัยว่าเหตุใดทั่วโลกถึงเลือกสหรัฐฯ? นั่นเป็นเพราะว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาคือมหาอำนาจที่พึ่งชนะสงครามมาอีกทั้งกลุ่มประเทศจากฝั่งยุโรป มีความจำเป็นที่จำต้องฟื้นตัวจากเศรษฐกิจหลังสงคราม มิหนำซ้ำยังเป็นความสะดวกสะบายเอาเสียอีกเ นื่องจากแต่ละประเทศไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บทองคำไว้เอง เพียงแค่ถือเงินดอลลาร์ฯ ไว้ ทางสหรัฐฯก็จะเป็นคนดูแลทองคำให้เอง 

หลังจากการตกลงใช้ระบบดังกล่าว โลกได้เข้าสู่ยุคที่มีเงินดอลลาร์ฯ เป็นเงินสกุลหลักของโลก (Global Currency) โดยมีทองคำมารองรับสกุลเงินดอลลาร์ฯ ไว้อีกทีหนึ่ง ซึ่งทำให้การค้าในระดับประเทศเป็นไปอย่างอิสระ และราบรื่นเพราะเราไม่จำเป็นต้องมานั่งกังวลเรื่องค่าเงินที่จะเปลี่ยนไปอย่างไรอีกต่อไป ในยุคนั้นเราจึงเห็น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส บราซิล มีความมั่งคั่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จนถึงยุคของประธานาธิบดี Richard Nixon ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าระบบการเงินไปอีกครั้ง

ปี 1971: Nixon Shock, Fiat Currency และจุดจบของทองคำ 

แต่สิ่งที่หลายๆ ประเทศอาจจะลืมคาดไปก็คือ ‘อเมริกาสามารถร่ำรวยขึ้นได้จากการผลิตเงินเพิ่มขึ้นมาโดยไม่มีทองคำจริงๆ’ เนื่องจากในยุคนั้น การสื่อสารยังเป็นอย่างยากลำบาก ทำให้ไม่ได้มีการตรวจสอบการพิมพ์ธนบัตรของสหรัฐฯ อย่างเข้มงวดแต่อย่างใด และอะไรที่ไม่โปร่งใสซักวันความจริงก็ต้องเปิดเผย 

 

 

ช่วงสงครามเวียดนาม รัฐบาลสหรัฐฯ ได้อัดงบประมาณจำนวนมหาศาลในการทำสงคราม ทำให้หลายๆ ชาติเริ่มระแคะระคายถึงความจริงที่ว่า ‘รัฐบาลของอเมริกาผลิตเงินออกมาเกิดกว่าทองคำที่ใช้คำ้ไว้’ จนถึงขั้นที่ ชาร์ล เดอ โกล ประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้น ส่งเงินดอลลาร์ฯ คืนเพื่อรับทองคำของประเทศตนคืนไป และทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มไม่มั่นใจในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และหันมาขอทองคำคืน

จนในวันที่ 15 สิงหาคม 1971 ประธานาธิบดี Richard Nixon ของประเทศสหรัฐฯ ได้ทำการประกาศยกเลิกการผูกราคาเงินดอลลาร์ฯ ไว้กับทองคำ ทำให้ราคาของทองคำในตลาดลอยตัวอย่างเสรี และการพิมพ์ธนบัตรไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ทองคำเข้ามาค้ำอีกต่อไป นั่นหมายความว่าใครที่ยังคงถือเงินดอลลาร์ฯ อยู่เพราะคิดว่าเป็นการถือทองคำ จะทำให้เขาสูญเสียทองคำไปในทันที ภายหลังเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Nixon Shock แต่ในเมื่อทองคำไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เงินมีมูลค่าอีกต่อไป คำถามก็คือแล้วมูลค่าเงินจะถูกกำหนดจากสิ่งใดกันล่ะ? 

นับตั้งแต่เหตุการณ์ Nixon Shock เศรษฐกิจโลกถูกควบคุมโดยเงินของรัฐบาลทั้งหมด และมูลค่าของเงินถูกกำหนดโดยความเชื่อมั่นของรัฐบาล ซึ่งคือเงินในยุคปัจจุบันที่เราเรียกกันว่า Fiat Currency นั่นเอง 

ปี 2009:จากระบบเงินรวมศูนย์ สู่ ‘Bitcoin’ ระบบที่สร้างความเท่าเทียมแก่ทุกคน

จากเหตุการณ์ที่เล่ามาทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่าการที่มอบอำนาจทางด้านการเงินให้กับรัฐ มักจะเกิดปัญหาตามมาเสมอไม่ว่าจะเป็น ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงจากการพิมพ์ธนบัตรโดยไม่จำกัด การแอบพิมพ์เงินโดยไม่ใช้ทองมาค้ำ หรือแม้กระทั่งในปี 2008 ที่เกิดวิกฤติการณ์ซับไพรม์ที่ธนาคารซุกหนี้เสียเอาไว้ ทำให้สหรัฐต้องผลิตเงินจำนวนมหาศาลออกมาเพื่ออุ้มเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจต่างๆ ล้วนเกิดมาจากการพิมพ์ธนบัตรแบบไม่จำกัดทั้งนั้น

ในปี 2009 โปรแกรมเมอร์ผู้ใช้นามแฝงว่า ‘ซาโตชิ นาคาโมโตะ’ ได้สร้างระบบชำระเงินที่มีชื่อว่า ‘บิตคอยน์’ ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินที่ไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร แต่ใช้การยืนยันธุรกรรมโดยผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของคนทั่วโลก และนั่นคือจุดกำเนิดของเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยทีสูงที่สุดในโลก ที่เรารู้จักกันในนามของ ‘บล็อกเชน’ 

 

 

ผลตอบแทนของผู้ที่อาสามาเป็นคนกลางในการยืนยันธุรกรรม ระบบจะทำการให้ผลตอบแทนเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เหรียญบิตคอยน์’ มาให้ จึงกลายเป็นคือสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ตัวแรกของโลก ที่ไม่ถูกออกโดยรัฐบาล และเพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย นายซาโตชิจึงได้เขียนโปรแกรมไว้ว่า ในท้ายที่สุดแล้วนั้น บิตคอยน์จะมีอยู่เพียง 21 ล้านเหรียญทั่วโลกเท่านั้น สำหรับบิตคอยน์จึงถูกออกแบบมาให้เป็นสกุลเงินที่สามารถใช้งานได้อย่างไร้พรมแดน และไม่มีทางที่จะเกิดภาวะ Over-Supply ได้อย่างแน่นอน

บิตคอยน์จึงเป็นจุดเริ่มต้นของยุคที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินของรัฐในการแลกเปลี่ยนมูลค่าอีกต่อไปแล้ว และการเพิ่มขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลสกุลอื่น ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ามีกลุ่มคนที่ไม่เชื่อมั่นในการบริหารนโยบายการเงินของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ 

แน่นอนว่า Bitcoin อาจไม่ใช่สกุลเงินที่จะมาล้มระบบการเงินดั้งเดิม แต่มันได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าก็คือการจุดประกายความเชื่อว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินที่ออกโดยรัฐอีกต่อไป และทุกการเปลี่ยนผ่านมีคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์อยู่เสมอ การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ คุณต้องเลือกว่าคุณจะอยู่ฝั่งใด

 

ติดตามคอลัมน์ Cryptonian จาก The Momentum ที่จะทำให้คุณเข้าใจ Cryptocurrency ได้ง่ายๆ ได้ทุกวันศุกร์ 

 

ที่มา: 

https://botcryptotrade.com/history-bitcoin-for-15-minutes-th/ 

https://www.depa.or.th/th/article-view/article-getting-know-cryptocurrency 

https://admiralmarkets.com/th/education/articles/cryptocurrencies/trading-cryptocurrency-guide 

https://www.investopedia.com/terms/n/nixon-shock.asp

Tags: , , ,