ในยุคสมัยที่แค่อยากรู้อะไร กูเกิลก็หาคำตอบมาให้เราได้ภายในเสี้ยววินาทีอย่างยุคนี้ ทำให้การเข้าถึงความรู้ต่างๆ นั้นง่ายแสนง่ายเพียงแค่นิ้วจิ้ม ราวกับว่าทุกคนมีห้องสมุดอยู่ในมือยังไงยังงั้น หรือจะเรียกว่า โลกทั้งใบอยู่ในมือของเราก็ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงไปเลย

แล้วในเมื่ออยู่ที่ไหนเราก็ค้นหาคำตอบของสิ่งที่เราสงสัยได้ตลอดเวลาแล้ว ความรู้ในหนังสือ และห้องสมุดที่เป็นห้องสมุดจริงๆ ยังจำเป็นกับคนยุคนี้อยู่ไหม แล้วห้องสมุดแบบไหนตอบโจทย์คนสมัยนี้ได้

หากห้องสมุดในภาพจำของคุณยังเป็นอาคารหน้าตาเคร่งขรึม บนชั้นเต็มไปด้วยหนังสือตั้งแต่โบร่ำโบราณเรียงราย บรรณารักษ์ที่คอยระแวดระวังไม่ให้ใครทำเสียงดังล่ะก็ ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะสร้างภาพจำใหม่ๆ ของห้องสมุดแห่งยุคสมัยนี้ให้คุณอย่างแน่นอน

ห้องสมุดแห่งนี้เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา มีความโดดเด่นทั้งการออกแบบด้วยดีไซน์ที่สวยล้ำสมัยและฟังก์ชั่นการใช้งานที่แตกต่างไปจากห้องสมุดทั่วไป เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย โดยเฉพาะการพบปะ แลกเปลี่ยน และแบ่งปันความคิดระหว่างผู้คนด้วยกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์อันเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบนั่นเอง 

ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ และ ชัยภัฏ มีระเสน สถาปนิกแห่ง Department of Architecture  ได้เล่าให้เราฟังถึงความเป็นมาของห้องสมุดคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ว่า ห้องสมุดนี้เกิดจากบุคคลสำคัญหลายคน ทั้งคุณเสริมสิน สมะลาภา ศิษย์เก่าสถาปัตย์เป็นผู้เสนอไอเดียร่วมกับรศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดี และ ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข ให้เกิดการปรับปรุงห้องสมุดขึ้นมา เนื่องจากห้องสมุดเดิมค่อนข้างชำรุดทรุดโทรม และตอบสนองการใช้งานในโลกยุคใหม่ให้กับนิสิตได้ยังไม่ครอบคลุมได้ทั้งหมด นอกจากนั้นคุณเสริมสิน สมะลาภาได้เป็นผู้ออกงบประมาณในการปรับปรุงห้องสมุดใหม่ทั้งหมดนี้ด้วย

“ไอเดียในการปรับปรุงห้องสมุดครั้งนี้เกิดจากการที่เราต้องค้นหานิยามใหม่ของห้องสมุดว่า คนจะใช้ห้องสมุดในปัจจุบันและในอนาคตกันอย่างไรบ้าง  ซึ่งก็มีแนวคิดกันว่า สถานที่แห่งใหม่นี้น่าจะเป็น Creative Incubator พื้นที่สำหรับการใช้งานที่หลากหลายมากกว่าเดิม ผสมผสานฟังก์ชันที่ห้องสมุดทั่วไปไม่มี เป็นห้องสมุดที่มีการใช้งานแตกต่างจากห้องสมุดทั่วไป ใช้วัสดุสีดำ เทา โครงเหล็ก และปูนเปลือย เพื่อเปิดเป็นพื้นที่ทดลองสำหรับนิสิตให้มาทำอะไรใหม่ๆ กับสเปซได้”

ด้วยความต้องการที่จะตอบสนองวิถีชีวิตยุคใหม่ ในพื้นที่ขนาดใหญ่ 3 ชั้นของห้องสมุดแห่งนี้ จึงไม่ใช่สถานที่อ่านหนังสืออย่างเงียบๆ เพียงอย่างเดียว แต่มีพื้นที่การใช้งานที่รองรับความหลากหลาย Co-Working Space and Thinking การนั่งทำงานกลุ่ม พื้นที่ฉายภาพยนตร์ พื้นที่ฟังการบรรยาย พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ พื้นที่นำเสนองาน อันจะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้คน และพื้นที่ในการอ่านหนังสืออีกหลายบรรยากาศรวมอยู่ด้วย 

และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ‘หนังสือ’ หนังสือจำนวนมากที่บรรจุอยู่ในห้องสมุดแห่งนี้ไม่ได้มีแค่หนังสือเกี่ยวกับการออกแบบเท่านั้น แต่มีหลากหลายศาสตร์ ทุกเล่มได้รับการคัดสรรมาอย่างดีด้วยเนื้อหาที่โดดเด่นและแตกต่างไปจากข้อมูลในอินเทอร์เน็ต บางเล่มก็เป็นหนังสือหายากที่มีเนื้อหาน่าสนใจ การออกแบบที่ให้หนังสือโอบล้อมพื้นที่แห่งนี้ไว้ อาจดึงเราออกจากหน้าจอบ้าง ให้เรากลับมาให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือมากขึ้น

สำหรับใครที่ชอบทำงานหรืออ่านหนังสือไปด้วยคุยไปด้วย หรือเล่นกับเพื่อนบ้าง ก็ต้องมาที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นส่วนเปิดโล่งสามารถใช้เสียงได้มากกว่าชั้นอื่น และเป็นส่วนที่จัดนิทรรศการต่างๆ ได้ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ของห้องสมุดนอกจากเป็นที่แสวงหาความรู้ได้จากหนังสือแล้ว ยังทำอะไรได้มากกว่าห้องสมุดในนิยามแบบเดิมๆ 

ประเดิมพื้นที่ห้องสมุดใหม่ด้วยนิทรรศการโคมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์  ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เกิดจากแนวคิดของนิสิตคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้ออกแบบพื้นที่ของห้องสมุดใหม่ให้เป็นนิทรรศการที่สว่างไสวไปด้วยแสงไฟจากโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์

สปัญญา วัฒนะปราน และเพื่อนๆ นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกันทำนิทรรศการนี้และได้เล่าแนวคิดเบื้องหลังของนิทรรศการโคมไฟนี้ว่า พื้นที่ตรงที่จัดนิทรรศการถูกเรียกว่า Co-Working and Thinking Space เราได้ใช้พื้นที่นี้จัดนิทรรศการ ซึ่งตรงกับความตั้งใจของสถาปนิกผู้ออกแบบ ที่ต้องการให้ห้องสมุดสามารถเป็นอะไรก็ได้ เป็นที่จัดนิทรรศการได้ หรือศิลปะจัดวางก็ได้

 

“พวกเราก็มานั่งคิดกันว่าจะทำอะไรในอีเว้นท์รับปริญญา ในห้องสมุดนี้ นอกจากจะมีมุมถ่ายรูปรับปริญญาแล้ว เราอยากให้สเปซนี้สนุกทั้ง Visual และ Function โดยใช้องค์ประกอบและของที่มีในห้องสมุดมาเป็นลูกเล่นของงาน และที่เป็นจุดเด่นคือการนำโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์มาร่วมจัดแสดง ซึ่งสิ่งนี้จะสามารถส่งมอบต่อให้กับผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นการส่งต่อสิ่งดีๆ นี้ไปให้คนอื่นๆ ด้วย”

“งานนิทรรศการที่เกิดขึ้นนี้ เราใส่ไอเดียความคิดลงไป ร่วมมือร่วมแรงกับเพื่อนๆ น้องๆ ทำให้ความคิดหลุดออกมาจากกรอบกระดาษ  ได้ทดลองใช้พื้นที่ของห้องสมุดอย่างเต็มที่ แบบที่เรียกได้ว่า พื้นที่ทดลองทางสถาปัตยกรรม นั่นรวมไปถึงแต่ละไอเดียของแต่ละคนแต่ละกลุ่มที่จะเกิดขึ้นมาแล้วมาใช้พื้นที่ตรงนี้แสดงผลงานได้ต่อๆ ไปในอนาคต”

สำหรับพื้นที่ Co-Working and Thinking Space ไม่ใช่แค่สำหรับนิสิตสถาปัตย์เท่านั้น แต่ยังเปิดให้นิสิตคณะอื่นๆ รวมถึงบุคคลภายนอกสามารถใช้พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการได้ด้วย

น่าสนใจขนาดนี้แล้ว คนรักห้องสมุดจึงไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ไม่แน่ว่าคุณอาจได้ไอเดียดีๆ หรือแรงบันดาลใจดีๆ จากที่นี่ก็ได้ 

ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้บริการสำหรับนิสิตคณะสถาปัตย์ในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 08.30 -18.00 น. สำหรับพื้นที่ชั้น 2 ในวันธรรมดาเปิดให้บริการเวลา 08.30 – 22.00 น. วันเสาร์เปิดให้บริการเวลา 10.00-16.00 น. ทั้งนี้ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคณะอื่นสามารถใช้บริการได้ในวันพุธ ในส่วนของนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ต่างสถาบัน และบุคคลทั่วไปสามารถใช้บริการได้ในวันเสาร์

Tags: , , ,