ถ้าวันหนึ่งเรากลายเป็น ‘ผู้ป่วยโควิด-19’ — เคยลองคิดเล่นๆ ไหมครับว่าจะเล่าไทม์ไลน์ของเราแบบไหน? มาลองดูกันครับ สมมติว่าเมื่อวานเราเริ่มป่วย และมีประวัติเสี่ยง จึงไปขอตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล วันนี้เจ้าหน้าที่โทร.มาแจ้งผลว่า ‘พบเชื้อ’ และอีก 1 ชั่วโมง จะมีรถพยาบาลมารับที่บ้าน 

  เมื่อไปถึงโรงพยาบาล นอกจากแพทย์และพยาบาลแล้ว ก็จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาซักถามประวัติกิจกรรมในช่วง 14 วันที่ผ่านมา เราจะตอบเขาไปว่า…

  เราเริ่มนึกย้อนกลับไปทีละวันๆ บางวันก็จำไม่ได้ ต้องหยิบปฏิทินขึ้นมาเปิด/เปิดแอปฯ ปฏิทินขึ้นมา เปิดดูอัลบั้มรูปถ่ายว่าวันนั้นเราไปที่ไหน ถ้าทำงานประจำก็ง่ายหน่อย เพราะเราไม่ได้ไปไหน อ้อ! แต่วันนั้นเราไป xxx ว่าแต่จะบอกเจ้าหน้าที่ดีหรือเปล่า เพราะไทม์ไลน์ของเราต้องออกสื่อ!?!

  “ผู้ป่วยเพศชาย อายุ 30 ปี อาชีพพนักงานบริษัท ที่อยู่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด” ถึงแม้ไทม์ไลน์ที่เผยแพร่จะไม่ระบุชื่อของเราบนนั้น แต่คนใกล้ชิดก็น่าจะรู้ว่าเป็นเรา เจ้าหน้าที่ซักถามชีวิตประจำวันอย่างละเอียดจนเรารู้สึกว่ากำลังจะถูกเปลือยความเป็นส่วนตัวต่อหน้าธารกำนัล

 

ภาพที่ 1 การป้องกันตัวเองจากการเปิดเผยไทม์ไลน์ จากเพจกรมควบคุมโรค

 

ทำไมโควิด-19 ถึงต้องมีไทม์ไลน์?

  ตั้งแต่เรียนจนกระทั่งทำงานที่โรงพยาบาล ผมยังไม่เคยซักประวัติการใช้ชีวิตประจำวันผู้ป่วยเป็นไทม์ไลน์เลยว่าตั้งแต่เช้าทำอะไร ที่ไหน สวมหน้ากากฯ หรือไม่ เจอใครบ้าง ใครคนนั้นสวมหน้ากากฯ หรือเปล่า เสร็จแล้วไปไหนต่อ วนเช่นนี้จนครบวัน ซึ่งขนาดคนที่จดไดอารีก็คงไม่ละเอียดขนาดนี้

  แต่เนื่องจากโควิด-19 เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ทั้งทางนิตินัย คือ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และทางพฤตินัย คือเป็นโรคที่สามารถแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และมีอัตราป่วยตายสูง (ถ้าจำนวนผู้ป่วยเกินศักยภาพของระบบ) จึงต้องมีการสอบสวนโรคเพื่อค้นหาแหล่งโรคและติดตามผู้สัมผัส

  โดย ‘ผู้สัมผัส’ มีโอกาสได้รับเชื้อต่อจากเรา หากเขาติดเชื้อก็มีโอกาสที่จะไปแพร่ต่อให้กับผู้อื่นได้ ดังนั้น ถ้าทีมสอบสวนโรคจะต้องติดตามผู้สัมผัสให้ครบถ้วน โดยเฉพาะผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็จะสามารถตัดวงจรการระบาดได้ และถ้าตรวจพบเชื้อ พวกเขาก็จะได้รับการรักษาที่รวดเร็ว

  ในขณะที่ถ้าไม่ทราบ ‘แหล่งโรค’ ชัดเจน ประวัติกิจกรรมของเราในช่วงก่อนหน้านั้นก็มีความสำคัญ เพราะทีมสอบสวนโรคจะค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในพื้นที่ที่เราเคยเดินทางไป เหมือนกับกรณีตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาครทำให้ค้นพบผู้ป่วยที่เป็นแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก

  ดังนั้น ไทม์ไลน์จึงเปรียบเสมือน ‘แผนที่’ ที่ผู้ป่วยวาดให้ ยิ่งถ้าบอกเส้นทางให้ด้วย ก็ยิ่งพบผู้สัมผัสเร็วขึ้น แต่ถ้าวาดผิด เช่น ลืม จำสลับวันกัน หรือปกปิดประวัติ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็อาจเดินหลงทาง และกว่าจะตามผู้สัมผัสได้ เขาก็อาจกลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ไปแล้วก็ได้

ถ้าเราไม่อยากบอกไทม์ไลน์ทั้งหมด

  กลับมาที่เรื่องสมมติ เราชั่งใจกันอยู่ว่าจะบอกว่าไป xxx มา เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ไปติดตามผู้สัมผัสต่อ หรือเก็บไว้เป็นความลับ เพราะกิจกรรมนั้นผิดกฎหมาย/ศีลธรรม กลัวถูกนินทา กลัวถูกตำหนิ กลัวถูกสืบสาวราวเรื่อง สุดท้ายจึงเลือกที่จะกลบเกลื่อนว่าตอนนั้นอยู่ที่บ้าน 

  หลังจากเจ้าหน้าที่กลับไปไม่นาน เรานอนนึกถึงตอนที่ตอบคำถาม ถึงแม้จะรู้สึกผิดที่ไม่ได้ตอบไปตามความเป็นจริง แต่เมื่อชั่งข้อดี-ข้อเสียแล้ว ถึงอย่างไรตอบแบบนั้นก็ยังดีกว่า ทว่าเราก็เป็นห่วงเพื่อนที่ไป xxx ด้วยกัน เลยหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาโทร.หา เพื่อเตือนให้สังเกตอาการ

  เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นจริง ยกตัวอย่างกรณีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับท่าขี้เหล็ก ผู้ป่วยปฏิเสธที่จะบอกทีมสอบสวนโรคว่าเพื่อนที่มารับจากจุดที่ลักลอบเข้ามาเป็นใคร แต่บอกว่าได้แจ้งเพื่อนให้ไปตรวจหาเชื้อแล้ว ซึ่งพอไม่มีประวัติเสี่ยง (ไม่ใช่ผู้สัมผัส) เพื่อนก็ต้องต่อคิวรอตรวจและเสียค่าใช้จ่ายเอง

  หรือเทศกาลดนตรี จังหวัดเชียงราย ที่ตอนแรกประเมินว่าผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดมีความเสี่ยงต่ำ เพราะผู้ป่วยรายหนึ่งให้ประวัติว่านั่งอยู่ที่โต๊ะกับแฟน แต่เมื่อทบทวนกล้องวงจรปิดกลับพบผู้ป่วยอีกสองคนเดินทางมาพร้อมกันด้วย และเดินเข้าไปบริเวณหน้าเวที จึงต้องเปลี่ยนมาตรการตามความเสี่ยงใหม่

  ดังนั้น หากไม่อยากบอกไทม์ไลน์ทั้งหมดกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นสิทธิ ‘ส่วนตัว’ ของเราที่จะให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เพียงใด แต่ในอีกแง่หนึ่งเราก็กังวลว่าเพื่อน/คนพบปะกับเราจะติดเชื้อตามไปด้วย หรือเราก็จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อ ‘ส่วนรวม’ และในทางกฎหมายก็อาจมีความผิดที่ปกปิดข้อมูล

  อย่างน้อยเราในฐานะผู้ป่วย (สมมติ) จึงควรให้ข้อมูลถึงกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมากหรือใกล้ชิดกัน เช่น สถานบันเทิง บ่อนการพนัน โดยไม่จำเป็นต้องบอกกิจวัตรทั้งหมด เพราะผู้ที่อาศัยในบ้านเดียวกันจะถูกนับเป็น ‘ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง’ อยู่แล้ว และโทร.แจ้ง/ไลน์ส่วนตัวบอกผู้ที่พบปะกับเราให้สังเกตอาการ  

  ซึ่งความจริงถ้าเราบอกเจ้าหน้าที่ว่า “ขอไม่เผยแพร่ไทม์ไลน์ในส่วนนี้” เจ้าหน้าที่ก็คงไม่ขัดข้อง เพราะได้รับข้อมูลไปใช้ในการสอบสวนโรคแล้ว และอาจประกาศชื่อสถานที่เสี่ยงในรูปแบบอื่นแทน

จำเป็นต้องเผยแพร่ไทม์ไลน์รายบุคคลหรือไม่?

  เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 เพจสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรีชี้ว่าทำไมจังหวัดถึงไม่มีการประกาศไทม์ไลน์ผู้ป่วยเหมือนกับจังหวัดอื่น ซึ่งมีการเผยแพร่และแชร์ต่อกันในสังคมออนไลน์ โดยยกเหตุผลของ นายแพทย์วิชัย ธนาโสภณ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ดังภาพที่ 1 (ก)

 

ภาพที่ 2 ประกาศจากเพจสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี สสจ. ชลบุรี

 

   ถึงแม้ท่านรอง นพ. สสจ. จะวาดภาพไปจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ และสถานการณ์การระบาดจะวิกฤต แต่ประเด็นเปิด-ไม่เปิดไทม์ไลน์ที่เหมือนจะมีข้อสรุปไปแล้วว่าประชาชนอยากให้ ‘เปิด’ แต่ทุกครั้งที่พบผู้ป่วยก็ยังเป็นประเด็นที่หน่วยงานสาธารณสุขถกเถียงกันได้ทุกครั้ง

  แพทย์มักจะได้รับการปลูกฝังเรื่องความลับผู้ป่วย เมื่อแพทย์รักษาความลับก็จะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ป่วยตามมา แนวคิดของรอง นพ. สสจ. จึงอยู่บนหลักการนี้ การ ‘ไม่เผยแพร่’ ไม่เท่ากับ ‘ไม่มี’ ไทม์ไลน์ เพียงแต่มีใช้เป็นการภายในให้ทีมสอบสวนโรคติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่แล้ว 

  ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำหรือผู้ที่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด ค่อยประกาศพื้นที่เสี่ยงในภาพรวมไม่จำเพาะเจาะจงกับผู้ป่วยรายใด ดังภาพที่ 1 (ข) ซึ่งจนถึงปัจจุบันจังหวัดชลบุรีก็ไม่เผยแพร่ไทม์ไลน์ผู้ป่วย ถึงแม้จะมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนและความกังขาเรื่องปกปิดบางสถานที่ของผู้มีอิทธิพลในจังหวัด

  รูปแบบการทำงานนี้ก็เป็นรูปแบบที่กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคทำตั้งแต่กรณีนักท่องเที่ยวชาวจีน (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563) กรณีสถานบันเทิงทองหล่อ และกรณีสนามมวย (มีนาคม 2563) ก็ไม่ได้เปิดเผยไทม์ไลน์ละเอียดกันอย่างทุกวันนี้ ยกเว้นกรณีแมทธิว-ลิเดีย ที่สื่อมวลชนทำให้ 

  แต่ใช้การประกาศรายชื่อสถานที่เสี่ยง โดยกรมควบคุมโรคหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแทน แต่ในช่วงนั้นบางจังหวัด เช่น นครปฐม ก็เริ่มมีการประกาศไทม์ไลน์ผู้ป่วยแล้ว

  เท่าที่ผมจำได้ กรมควบคุมโรคใช้ไทม์ไลน์ครั้งแรกในการอธิบายที่มาที่ไปของผู้ป่วยภายในประเทศรายสุดท้ายของการระบาดระลอกแรก ซึ่งเป็นชาย 72 ปี กทม. ที่มีประวัติเข้ารับการรักษาหลายโรงพยาบาล แต่เมื่อย้อนกลับไป 14 วัน กลับไม่สามารถหาแหล่งโรคได้ ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดได้รับการติดตามครบถ้วน

  ทว่าการระบาดครั้งนี้ แพทย์กำลังรักษา ‘สาธารณสุข’ ทั้งการแจ้งให้ประชาชนที่เคยไปสถานที่และเวลาเดียวกันกับผู้ป่วยสังเกตอาการตนเอง (เพราะทีมสอบสวนโรคก็มีข้อจำกัดในการรีวิวกล้องวงจรปิด และความร่วมมือในการสแกนไทยชนะ) และทั้งการจำกัดพื้นที่เสี่ยงให้ประชาชนทั่วไปทราบว่าอยู่ตรงไหน 

 

ภาพที่ 3 ประกาศจากเพจกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ซึ่งอ้างอิงพื้นที่เสี่ยงจากระบบ  BKKcovid19 (http://bkkcovid19.bangkok.go.th)

 

  เราคงต้องกลับมาตีโจทย์กันใหม่ว่าวัตถุประสงค์ของไทม์ไลน์คืออะไร ถ้าไม่เปิดไทม์ไลน์ของผู้ป่วยรายบุคคลแล้วจะมีวิธีการอื่นอีกหรือไม่ ยิ่งตอนนี้ที่มีจำนวนผู้ป่วยในแต่ละจังหวัดเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และทุกไทม์ไลน์จะต้องติดตามต่อไปจนถึง 14 วัน คงไม่มีใครสามารถตามอ่านไทม์ไลน์ของผู้ป่วยได้ครบ 

  กระทรวงสาธารณสุขจะมีรูปแบบการนำเสนอสถานที่และเวลาเสี่ยงที่เข้าใจง่ายมากกว่านี้หรือไม่ แล้วเทคโนโลยีในปัจจุบันหรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะสามารถช่วยหรือเปล่า

Tags: ,