นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย โดยในวันนี้ (1 เม.ย.) พบผู้ป่วยใหม่ 120 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,771 คน เสียชีวิต 2 ราย รายแรกเป็นชายอายุ 79 ปี อยู่ในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ มีโรคเบาหวานและไตวายเรื้อรัง มีประวัติการเดินทางไปร่วมงานแต่งงานที่ประเทศมาเลเซียในวันที่ 7 มีนาคม เริ่มมีอากาป่วยตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม และเข้ารับการรักษาในวันที่ 23 มีนาคม ในขณะที่รายที่สองเป็นนักธุรกิจ อายุ 58 ปี เดินทางกลับมาจากประเทศอังกฤษ เข้ามาประเทศไทยในวันที่ 14 มีนาคม
ในส่วนรายละเอียดของผู้ติดเชื้อใหม่ 120 คน แยกเป็นดังนี้
1. ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 51 ราย แบ่งเป็นสถานบันเทิง 11 ราย สัมผัสกับผู้ป่วย 38 ราย และนอกจากนั้นยังพบผู้ป่วยจากสนามมวยอยู่
2. ผู้ป่วยรายใหม่ 39 ราย แยกเป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 6 ราย ผู้ติดเชื้อจากการไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 16 รายที่เหลือคือชาวต่างชาติและผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง
3. ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอสอบประวัติ ว่าเชื่อมโยงกับใคร ติดเชื้อมาได้อย่างไร อีก 30 ราย
โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุดยังเป็นกรุงเทพฯ จำนวน 43 ราย รวมเป็นผู้ป่วยสะสม 850 ราย ซึ่งตามการคาดการณ์ (เฉพาะในส่วนของกรุงเทพฯ) แล้วในจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อนี้จะมีผู้ที่ใกล้ชิดและสัมผัสและสุดท้ายอาจจะกลายเป็นผู้ติดเชื้อในเวลาต่อมาคำนวณเป็นอัตราผู้ติดเชื้อหนึ่งคนสามารถแพร่เชื้อต่อไปอีกประมาณสามคนกล่าวๆและถ้ารวมปริมณฑลแล้วด้วยตัวเลขอยู่ที่หลักพันกว่าคนก็เท่ากับว่าหากเป็นไปตามการคาดการณ์ตัวเลขจะสูงขึ้นอีกหลายพันรายจึงอยากขอร้องให้เพิ่มความระมัดระวัง
และผู้รับผิดชอบในพื้นที่ปลายทางที่มีผู้ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนั้น ต้องเข้มงวดกับมาตรการการการตรวจสอบและกักกันตัวด้วย เพราะในช่วงวันที่ 25-31 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่ามีจังหวัดที่พบผู้ป่วยใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ยังไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 มาก่อน ถึง 13 จังหวัดซึ่งส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากกลุ่มสถานบันเทิงที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ
และเมื่อดูในส่วนของการติดเชื้อของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านนี้ พบว่าในช่วงปลายเดือนตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคมเป็นต้นไปผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศเป็นชาวยุโรปเป็นหลักตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาและปากีสถาน
นอกจากนี้ ในวันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวยืนยันว่า หากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสไม่ลดลง โดยกล่าวว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อำนาจตามกฎหมายนั้นใช้ได้ 3 เดือนจะประเมินไปทีละเดือนถ้าจำเป็นก็ต่อไปเรื่อยๆและมาตรการก็จะเข้มข้นขึ้นตามลำดับและตอนนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
Tags: โคโรนาไวรัส, โควิด-19, ประเทศไทย