ในเกม Plague Inc. ผู้เล่นจะต้องเลือกพัฒนาความสามารถของเชื้อว่าจะติดต่อผ่านทางไหน ซึ่งในเกมจะมีอยู่ 7 ตัวเลือก ที่สามารถจัดเป็นกลุ่มได้ 5 กลุ่มใหญ่ คือ
-
ติดต่อระหว่างสัตว์และคน (zoonosis) ได้แก่ นก สัตว์ฟันแทะ ปศุสัตว์
-
ติดต่อที่นำโดยแมลง (vector-borne) ซึ่งใช้ยุงเป็นสัญลักษณ์
-
ติดต่อจากการสัมผัส (contact) ได้แก่ เลือด ซึ่งใช้เข็มฉีดยาเป็นสัญลักษณ์
-
ติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ อากาศ
และ 5. ติดต่อระบบทางเดินอาหารและน้ำ (food and water borne) ได้แก่ น้ำ
ภาพที่ 1 ช่องทางการแพร่เชื้อ (route of transmission) ในเกม Plague Inc.
ความสมจริงของเกมก็คือเชื้อตัว ‘เดียว’ สามารถมี ‘หลาย’ ช่องทางการแพร่เชื้อได้
โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ
ผมขอเพิ่มรายละเอียดตัวเลือกของกลุ่ม ‘ติดต่อระบบทางเดินหายใจ’ อีกสักหน่อย เพราะเชื้อก่อโรคโควิด-19 หรือ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรคโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส-2) สามารถตรวจพบได้จากทั้งจมูก (น้ำมูก) คอ (น้ำลาย) และทางเดินหายใจส่วนล่าง (เสมหะ) ซึ่งพอผู้ป่วยไอหรือจามก็จะมีเชื้ออยู่ในละอองน้ำออกมาแพร่เชื้อต่อไปยังอีกคนหนึ่งด้วย โดย ‘ทั่วไป’ แล้ว แพทย์มักจะพูดถึง 2 แบบหลัก และอีก 1 แบบในบางสถานการณ์ ดังนี้
-
การติดต่อผ่านละอองฝอย (droplet) เป็นละอองน้ำที่มีขนาด ‘ใหญ่’ ตั้งแต่ 5 ไมครอนขึ้นไป ซึ่งก็คือละอองน้ำมูกน้ำลายจากการไอจามปกตินั่นเอง โดยละอองแบบนี้จะอยู่ในอากาศได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง และฟุ้งออกไปได้ไกล 1-2 เมตรเท่านั้น ตัวอย่างเชื้อก่อโรคคือ ไวรัสและแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจเกือบทั้งหมด เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัดเยอรมัน โรคคอตีบ เป็นต้น
-
การติดต่อผ่านอากาศ (airborne) เป็นละอองน้ำที่มีขนาด ‘เล็ก’ กว่า 5 ไมครอน ซึ่งเกิดจากการระเหยของละอองฝอย (evaporated droplet) หมายถึงเชื้อยังมีชีวิตอยู่ในละอองฝอยที่ระเหยแห้งไปแล้ว ทำให้สามารถล่องลอยในอากาศเป็นเวลานาน และฟุ้งออกไปได้ไกลจากผู้ป่วย ตัวอย่างเชื้อก่อโรค เช่น วัณโรค โรคหัด โรคสุกใส เป็นต้น
แต่จะมีบางสถานการณ์ที่ทำให้เชื้อที่ติดต่อผ่าน ‘ละอองฝอย’ กลายเป็นการติดต่อผ่าน ‘ละอองลอย’ (aerosol) ซึ่งจะแพร่กระจายเหมือนการติดต่อผ่านอากาศ โดยสถานการณ์ที่ว่าคือการทำหัตถการที่ทำให้เกิดละอองลอย (Aerosol generating procedure: AGP) เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การดูดเสมหะ การพ่นยา ซึ่งมักเป็นขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อในทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรง และเป็นสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในโรงพยาบาลเท่านั้น!
ภาพที่ 2 หัตถการที่ทำให้เกิดละอองลอยในโรงพยาบาล
(ดัดแปลงจาก Judson, S. D. and Munster, V. J. (2019))
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจก็สามารถติดต่อผ่าน ‘การสัมผัส’ ได้ แต่เป็นการสัมผัสทางอ้อม (indirect contact) โดยเป็นการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยสัมผัสมาก่อนหน้า ยกตัวอย่างเมื่อผู้ป่วยเอามือที่ปิดปากเวลาไอไปหยิบจับตรงไหน ละอองฝอยที่ไอออกมาก็จะไปติดอยู่ตรงจุดนั้น เช่น ปุ่มกดลิฟต์ ถ้าเราไปแตะต่อ แล้วเอามือมาขยี้ตาหรือจมูกก็จะมีโอกาสติดเชื้อตามผู้ป่วยได้
การติดต่อของเชื้อก่อโรคโควิด-19
นอกจากเซลล์เยื่อบุผิวของปอดแล้ว SARS-CoV-2 ยังสามารถจับกับเซลล์ของลำไส้เล็กได้ด้วยตัวรับชนิดเดียวกัน จึงทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว ร่วมด้วย และมีงานวิจัยที่ตรวจพบเชื้อจากการป้ายทวารหนัก (anal swab) ของผู้ป่วย จึงมีความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้จะสามารถติดต่อกันผ่านการปนเปื้อนของอุจจาระ (fecal-oral) ได้
ส่วนเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมาสำนักข่าว Xinhua ได้อ้างถึงคำพูดของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของจีนว่าโรคโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านการสัมผัส ‘ละอองลอย’ ที่มีความเข้มข้นสูงใน ‘สภาพแวดล้อมปิด’ เป็นเวลา ‘นาน’ ได้ ทำให้เกิดความตระหนกว่าจะติดเชื้อนี้ผ่านอากาศได้ แต่จะเห็นคำสำคัญที่ผมใส่เครื่องหมายคำพูดไว้ว่าจะต้องมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (อากาศไม่ถ่ายเท) และระยะเวลาในการสัมผัสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
อย่างไรก็ตามศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (US CDC) ระบุว่า ด้วย ‘ความเข้าใจที่มีอยู่ ณ ตอนนี้’ ช่องทางการแพร่เชื้อ ‘หลัก’ โรคโควิด-19 แพร่กระจายเหมือนไวรัสโคโรนาตัวอื่นที่รู้จักมาก่อน กล่าวคือโรคนี้จะเกิดการติดต่อจากคนสู่คนเมื่อ (1) สัมผัสใกล้ชิดในระยะ 2 เมตร (2) ผ่าน ‘ละอองฝอย’ ที่ผู้ป่วยไอหรือจามออกมา และ (3) ละอองฝอยเหล่านั้นสามารถตกลงบนปากหรือจมูกของผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรืออาจสูดหายใจเข้าไปในปอด
ดังนั้นคำแนะนำในการป้องกันตัวจากโรคโควิด-19 ในขณะนี้ยังคงเหมือนเดิม คือ ผู้ที่มีอาการป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย ส่วนคนทั่วไปควรล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน และหลังจากเข้าห้องน้ำ โดยยังไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากชนิด N95 เพราะยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าโรคนี้สามารถติดต่อผ่านอากาศ (airborne) ในสภาพแวดล้อมปกติได้ เว้นแต่จะมีข้อค้นพบใหม่ในอนาคต
Tags: โควิด-19, โคโรนาไวรัส