เพราะเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ติดต่อจากคนสู่คนผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย การหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ไอหรือจาม รวมทั้งการสร้างระยะห่างทางสังคม (social distancing) จึงเป็นมาตรการลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับสารคัดหลั่งข้างต้นที่มีไวรัสปะปน
เรือนจำจึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส เพราะเป็นสถานที่ปิดที่คนหมู่มากอยู่รวมกันตลอด 24 ชั่วโมง แม้ในสถานการณ์ปกติผู้ต้องขังก็ถือเป็นกลุ่มคนเปราะบางประเภทหนึ่งอยู่แล้วเพราะพวกเขาถูกจำกัดเสรีภาพบางอย่างเพื่อชดใช้ต่อการกระทำที่รัฐกำหนดให้เป็นความผิด ขณะที่การเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่าปกติที่ออกแบบไว้เพื่อป้องกันการหลบหนี
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสจนเป็นวิกฤติไปทั่วโลก ผู้ต้องขังในเรือนจำจึงตกเป็นกลุ่มเสี่ยงอันดับต้นๆ ไปโดยปริยาย ทั้งด้วยความแออัดของพื้นที่ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเบื้องต้น นอกจากนั้นการลดความแออัดโดยปล่อยนักโทษบางส่วนเพื่อลดเงื่อนไขการแพร่ระบาดของโรคก็ยังอาจถูกคนบางส่วนในสังคมตั้งคำถามได้ อย่างไรก็ตามก็เริ่มมีบางประเทศนำร่องป้องกันปัญหาด้วยวิธีนี้แล้ว
อิตาลี – เกิดจลาจลหลังปิดเรือนจำห้ามญาติมาเยี่ยม
อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากประชากรประมาณ 60 ล้านคน ข้อมูล ณ วันที่ 10 เมษายน 2563 อิตาลีมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว 18,279 คน และมียอดผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมด 143,626 คน
สถานการณ์ของผู้ต้องขังในเรือนจำของอิตาลีก็อยู่ในสภาพไม่สู้ดีนัก ช่วงวันที่ 8 และ 9 มีนาคม มีรายงานว่าเกิดเหตุจลาจลในหลายแห่งทั่วประเทศอิตาลีโดยมีผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับการจลาจลที่เกิดขึ้นราว 6,000 คน เหตุจลาจลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังทางการอิตาลีสั่งห้ามญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังเป็นเวลาสองสัปดาห์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19
Alfonso Bonafede รัฐมนตรียุติธรรมของอิตาลีบรรยายสรุปต่อรัฐสภาในวันที่ 11 มีนาคมว่า จากเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นมีผู้ต้องขัง 16 คน หลบหนีจากเรือนจำความมั่นคงระดับกลางในเมือง Foggia ซึ่งอยู่ตอนใต้ของอิตาลี Bonafede ระบุด้วยว่าทางการได้แจกจ่ายหน้ากากอนามัยประมาณ 100,000 ชิ้นให้กับเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้ต้องขังทั่วประเทศแล้ว
ช่วงกลางเดือนมีนาคมมีรายงานว่ารัฐบาลอิตาลีได้ใช้มาตรการพิเศษปล่อยตัวผู้ต้องขังส่วนหนึ่งไปกักขังที่บ้านเพื่อลดความแออัดของเรือนจำ ขณะที่รัฐมนตรียุติธรรมก็ยอมรับว่ามีผู้ต้องขัง 10 คนที่ผลการตรวจโควิด-19 เป็นบวก แต่ก็ยืนยันว่าผู้ต้องขังดังกล่าวถูกแยกควบคุมแล้วและไม่มีหลักฐานว่ามีคนติดเชื้อจากผู้ต้องขังเหล่านี้ แต่ Antigone องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในอิตาลีก็ออกมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในเรือนจำว่ามาตรการของรัฐอาจจะไม่เพียงพอ โดยเห็นว่ารัฐบาลน่าจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องขังอย่างน้อย 14,000 คน เพื่อจัดการปัญหาความแออัด Patrizio Gonnella ประธานของ Antigone ระบุด้วยว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นระเบิดเวลาต่อระบบสุขภาพของประเทศทั้งระบบ
ทั้งนี้ เรือนจำของอิตาลีสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ประมาณ 50,931 คน ขณะที่ตอนนี้มีผู้ต้องขังทั่วประเทศราว 61,230 คน มาตรการพิเศษเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังของอิตาลีมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 มีนาคม 2563 ผู้ต้องขังบางฐานความผิดที่ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 18 เดือน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3,000 คน อยู่ในข่ายที่จะได้รับการปล่อยตัวไปกักขังต่อที่บ้านโดยสวมกำไลติดตามตัว แต่จำนวนดังกล่าวยังน้อยกว่าจำนวนที่ Antagone เสนอให้ปล่อยถึง 11,000 คน
สหรัฐอเมริกา – ปล่อยผู้ต้องขัง ปรับมาตรการภายในรับมือโควิด-19
สหรัฐอเมริกาเป็นอีกหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสสูงติดอันดับโลก ข้อมูลเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 สหรัฐอเมริกาที่มีประชากรราว 329,476,690 คน มีผู้ติดเชื้อแล้ว 468,895 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 16,697 คน ทั้งนี้ จากการสำรวจในวันที่ 24 มีนาคม 2563 สหรัฐอเมริกามีผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งระบบ (เรือนจำของรัฐบาลกลาง เรือนจำของรัฐ เรือนจำท้องถิ่นและสถานที่คุมขังอื่นๆ) ประมาณ 2.3 ล้านคน
ในเดือนมีนาคม 2563 หน่วยงานที่รับผิดชอบงานเรือนจำในสหรัฐทั้งระดับท้องถิ่น มลรัฐ และรัฐบาลกลาง มีการปรับตัวและใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในเรือนจำด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น
เรือนจำระดับมลรัฐแห่งหนึ่งในมลรัฐมินิโซตา แม้จะยังไม่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อภายในระบบเรือนจำ แต่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นก็ประกาศว่าจะงดการเยี่ยมญาติที่เรือนจำผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ รวมทั้งงดการพิมพ์ลายนิ้วมือ ขณะเดียวกันเว็บไซต์ของเรือนจำก็เปิดระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ที่ทำให้ญาติสามารถพุดคุยกับผู้ต้องขังได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องมาที่เรือนจำ ทางเรือนจำยังยกเว้นเงินสมทบที่ปกติผู้ต้องขังต้องร่วมจ่ายในการรับบริการทางการแพทย์ไปจนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย
ที่มลรัฐแอริโซนา ผู้พิพากษารัฐบาลกลางประจำมลรัฐเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรือนจำของมลรัฐเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านความสะอาดและสุขภาพ ซึ่งทางหน่วยงานดังกล่าวก็ยอมเปลี่ยนแปลงนโบายของเรือนจำระดับมลรัฐโดยให้ยกเว้นการร่วมจ่ายการรักษาพยาบาลในผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้หรือเป็นหวัด และให้มีการแจกจ่ายสบู่จากเดิมที่ผู้ต้องขังต้องซื้อเอง โดยตามรายงานระบุว่าผู้ต้องขังจะต้องจ่ายเงินสี่ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 120 บาท เพียงเพื่อขอพบพยาบาล
ที่มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ Stuart Rabner หัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงประจำมลรัฐมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องขังหลายร้อยคนในเรือนจำระดับท้องถิ่นเพื่อลดความแออัดในเรือนจำโดยระบุว่า การลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำระดับท้องถิ่นภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมถือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโควิด-19
ในส่วนของเรือนจำในสังกัดรัฐบาลกลาง รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กำลังพิจารณาที่จะปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีที่ไม่มีการใช้ความรุนแรงเป็นพฤติการณ์แห่งคดี ในระดับปฏิบัติการ เรือนจำของรัฐบาลกลางเองก็เริ่มมีมาตรการเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19แล้ว โดยเรือนจำในความดูแลของรัฐบาลกลางรวม 122 แห่งที่รองรับผู้ต้องขังรวมกันไม่ต่ำกว่า 170,000 คนต่อเดือน งดการให้ญาติเยี่ยมผู้ต้องขังแล้ว การงดเยี่ยมนี้รวมถึงการพบทนายด้วย โดยกรณีพบทนายเจ้าหน้าที่อาจพิจารณาอนุญาตเป็นครั้งคราว
ไทย เตรียมความพร้อมตั้งแต่ต้นเดือนมีนา แต่ยังแต่ความแออัดยังคงเป็นความท้าทาย
ในกรณีของไทยซึ่งสถิติเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2563 มีผู้ต้องขังในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ 376,672 คน ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2563 ทางกรมราชทัณฑ์เริ่มมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส เช่น
งดการนำผู้ต้องขังออกไปทำงานนอกเรือนจำ งดการเยี่ยมญาติแบบใกล้ชิด งดฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังที่ต้องบริการบุคคลภายนอก คัดกรองบุคคลภายนอก ญาติผู้ต้องขัง รวมถึงเจ้าหน้าที่เรือนจำที่มีไข้สูงตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสและมีอาการอื่นเช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ แยกขังกับผู้ต้องขังอื่น ไม่ให้เข้าพื้นเรือนจำ และคัดกรองผู้ต้องขังใหม่หรือผู้ต้องขังที่กลับจากภายนอกเช่นผู้ต้องขังออกศาล ที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียสและมีอาการอื่นเช่นไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ แยกขังกับผู้ต้องขังอื่น รวมทั้งให้ทำความสะอาดห้องเยี่ยมผู้ต้องขังด้วยผงซักฟอกและด้วยแอลกอฮอลล์ 70% ในบริเวณที่มีคนสัมผัสมาก เช่น โทรศัพท์
จากนั้นในวันที่ 17 มีนาคม 2563 ทางราชทัณฑ์ได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติม คือสั่งงดการเยี่ยมผู้ต้องขังระหว่างวันที่ 18 – 31 มีนาคม 2563 ก่อนที่ต่อมาจะมีประกาศขยายเวลางดเยี่ยมไปถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 เนื่องจากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของไวรัสทั่วประเทศยังไม่ดีขึ้นโดยนับถึงวันที่ 10 เมษายน 2563 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรวม 2,473 คนและมีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 33 คน
ทั้งนี้แม้ทางกรมราชฑัณฑ์จะดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังแก้ไม่ตกก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความแออัด จากการศึกษาของ prison studies.org ในปี 2558 ความสามารถในการรองรับผู้ต้องขังของระบบเรือนจำไทยอยู่ที่ 217,000 คน แต่ตัวเลขผู้ต้องขังมีไม่ต่ำกว่า 370,000 คน ซึ่งเกินกว่าความจุที่เรือนจำจะรองรับผู้ต้องขังได้เต็มขีดความสามารถ ครั้งหนึ่ง สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ยังเคยแสดงความกังวลว่า
“เวลานี้เราต้องรอบคอบ คอยสอดส่องให้ทั่วถึง เพราะเรามีนักโทษจำนวนมากในเรือนจำถึง 380,000 คน เวลานี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าพบผู้ต้องขัง หรือผู้คุมติดเชื้อ ดังนั้นเราต้องช่วยกันและห้ามมีนักโทษติดเชื้อเป็นเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นการบริหารจัดการต้องวุ่นวายแน่นอน ผมเชื่อปัญหาจะไม่เกิดถ้าพวกเราใส่ใจและไม่ประมาท”
ในวันที่ 29 มีนาคม 2563 มีรายงานว่าผู้ต้องขังที่เรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ก่อเหตุจลาจลและจุดไฟเผาเรือนนอน โรงเลี้ยง โรงเฟอร์นิเจอร์ โดยเบื้องต้นมีรายงานว่าสาเหตุเกิดจากความอึดอัดของผู้ต้องขังที่ไม่ได้พบญาติมาตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 รวมทั้งจากกรณีที่มีผู้ต้องขังบางส่วนปล่อยข่าวว่ามีผู้ต้องขังในเรือนจำติดเชื้อโควิด-19 จนทำให้ผู้ต้องขังบางส่วนพยายามหนีเพราะกลัวว่าตัวเองจะติดเชื้อ หลังการจลาจลมีรายงานว่าผู้ต้องขัง 5 คนหลบหนีออกจากเรือนจำได้สำเร็จ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ติดตามตัวผู้ต้องขังก่อนจะจับกุมครบทุกคนในวันที่ 31 มีนาคม 2563
ที่ผ่านมามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลออกมาเสนอข้อเรียกร้องเพื่อให้ลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำแล้ว เช่น กลุ่ม Fairly Tell ทำการรณรงค์ผ่าน change.org ให้คนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์พิจารณาให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างการต่อสู้คดี ทั้งคดีทางความคิดและคดีทั่วไปได้รับการประกันตัวโดยให้มีการติดกำไล EM ที่ข้อเท้าแทนการควบคุมตัวในเรือนจำ ปล่อยผู้ต้องขังคดีลหุโทษหรือผู้กระทำความผิดเพียงเล็กน้อย ซึ่งเหลือโทษจำคุกไม่ถึง 1 ปีก่อนกำหนด ปล่อยตัวผู้ต้องขังที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยติดกำไล EM แทนการควบคุมตัวในเรือนจำ ปล่อยตัวผู้ต้องขังตั้งครรภ์ในคดีลหุโทษ และให้ประกันตัวผู้ที่อยู่ในระหว่างการสู้คดี และปล่อยตัวแม่และเด็กติดผู้ต้องขังในคดีลหุโทษ และ แยกเด็กติดผู้ต้องขังที่แม่มีโทษเกิน 2 ปี ให้กลับไปอยู่กับครอบครัวหรืออยู่ในการดูแลของมูลนิธิต่างๆ
ขณะที่กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ก็โพสต์เฟซบุ๊ก เสนอแนะมาตรการรับมือโควิด 19 ในเรือนจำ โดยสรุปได้ว่า ควรปล่อยชั่วคราว หรือพิจารณาเป็นพิเศษในการปล่อยตัว หรือปล่อยก่อนกำหนด หรือพักโทษ หรือใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง เช่น สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความแออัดของเรือนจำ กับผู้ต้องขังบางกลุ่ม ได้แก่ นักโทษเด็ดขาดที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี กลุ่มนี้มีจำนวน 72,000 คน ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีหรือผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับประมาณ 67,000 คน ผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปีที่คดีถึงที่สุดประมาณ 5,800 คน และกลุ่มผู้ต้องขังคดีลหุโทษ หรือความผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ กระทำผิด พ.ร.บ.การพนัน หรือเข้าเมืองผิดกฎหมายประมาณ 9,000 คน
ส่วนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ iLaw ก็เสนอให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ที่ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีและผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน หรือโรคหัวใจ ผู้ต้องขังชราอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ต้องขังตั้งครรภ์ โดยมีมาตรการควบคุมพิเศษ และพิจารณาบูรณาการการพักโทษผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศที่เข้าข่ายได้รับการพักโทษและให้ขยายการพักโทษเป็นกรณีพิเศษให้ครอบคลุมผู้ต้องขังความประพฤติดีและเหลือเวลารับโทษไม่เกิน 3 ปี โดยอ้างอิงกับเกณฑ์โทษจำคุกสูงสุดที่ศาลสามารถรอการลงโทษจำคุกจำเลยได้ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลว่าทางราชทัณฑ์จะดำเนินการลดความแออัดภายในเรือนจำแต่อย่างใด
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการว่ามีผู้ต้องขังติดโควิด-19 ในระบบเรือนจำไทยแล้วหรือยัง หรือเป็นจำนวนเท่าใด มีเพียงรายงานช่วงปลายเดือนมีนาคมว่าพบผู้ต้องขังที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยและได้มีการแยกตัวไม่ให้ไปปะปนกับผู้ต้องขังอื่นแล้ว และทางกรมราชทัณฑ์ก็ได้ดำเนินมาตรการแยกกักขังดูอาการผู้ต้องขังใหม่และผู้ต้องขังที่ออกไปภายนอกเป็นเวลา 14 วัน อย่างเคร่งครัด รวมทั้งดำเนินมาตรการเชิงรุกให้อดีตผู้ประกาศข่าวอย่างสรยุทธ สุทัศนะจินดาที่กำลังรับโทษจำคุกในคดีทุจริตโฆษณาอสมท กลับคืนจอเป็นการเฉพาะกิจจัดรายการภายใต้การอนุญาตของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงในเรื่องโควิด-19 รวมถึงเล่ามาตรการต่างๆ ที่กรมราชทัณฑ์นำมาใช้เพื่อให้ผู้ต้องขังทั่วประเทศมีความเข้าใจในสถานการณ์อย่างถูกต้องโดยหวังว่าการให้ข้อมูลดังกล่าวจะสร้างความมั่นใจในหมู่ผู้ต้องขังและป้องกันไม่ให้นำไปสู่เหตุจลาจลดังเช่นกรณีเรือนจำบุรีรัมย์ แต่ก็น่ากังวลว่าหากยังไม่มีการลดความแออัดในเรือนจำอย่างจริงจัง ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสภายในเรือนจำจะยังคงมีอยู่ นอกจากนี้หากทางกรมราชทัณฑ์ไม่พิจารณามาตรการเยี่ยมญาติผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในอนาคตอันใกล้ในกรณีที่การแพร่ระบาดของไวรัสยังไม่ดีขึ้นจนสามารถเปิดให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้ตามปกติ ความเครียดสะสมในหมู่ผู้ต้องขังก็อาจเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่รอการปะทุอยู่ในอนาคตอันใกล้
Tags: เรือนจำ, คุก, โควิด-19