ชายวัย 25 ปีจากรัฐเนเวอดากลายเป็นผู้ป่วยรายแรกในสหรัฐอเมริกาที่พบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำครั้งที่สอง แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกในเดือนเมษายนโดยมีอาการเจ็บคอ ไอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และท้องร่วง เขาอาการดีขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายนและตรวจไม่พบเชื้อสองครั้งหลังจากหายป่วย กระทั่งวันที่ 31 พฤษภาคม เขามาพบแพทย์อีกครั้งด้วยอาการมีไข้ ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ และท้องร่วง ห้าวันต่อมาเขาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง

การติดเชื้อซ้ำเป็นที่กล่าวถึงหลายครั้งท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังตั้งข้อสงสัยถึงความแม่นยำในการตรวจหาเชื้อ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำในสหรัฐอเมริกานั้นไม่ใช่รายแรกของโลก เพราะเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยจากฮ่องกงได้เผยแพร่ว่าพบการติดเชื้อซ้ำในชายอายุ 33 ปีแต่การติดเชื้อครั้งที่สองไม่แสดงอาการ

นักวิจัยจากวิทยาลัยการแพทย์เรโน มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเนเวอดา ได้ศึกษาพันธุกรรมของตัวอย่างไวรัสจากชายวัย 25 ปีก่อนจะเผยแพร่งานวิจัยที่อยู่ในกระบวนการสอบทานโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อเตรียมพร้อมตีพิมพ์ว่าไวรัสที่ทำให้ชายคนดังกล่าวติดเชื้อครั้งแรกและครั้งที่สองนั้นมีลักษณะพันธุกรรมที่แตกต่างกัน กล่าวคือเป็นเชื้อไวรัสต่างสายพันธุ์กันนั่นเอง

การศึกษาชิ้นดังกล่าวระบุว่าการติดเชื้อไวรัสซ้ำอาจเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ข้อค้นพบครั้งนี้บ่งบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะสามารถติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำได้หลายครั้ง กล่าวคือการติดเชื้อไวรัสอาจไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างที่หลายคนเข้าใจ

Mark Pandori ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุขแห่งรัฐเนวาดาระบุในการแถลงข่าวว่า “เรายังไม่มีข้อมูลว่าหลังจากผู้ป่วยหายจากโควิด-19 จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันมากน้อยเพียงใด และภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะคงอยู่ยาวนานแค่ไหน แอนติบอดีมีบทบาทอย่างไรในการป้องกันการติดเชื้อซ้ำ” เขากล่าวเสริมอีกว่าหากมนุษย์สามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้ภายในระยะเวลาไม่นาน จะส่งผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวัคซีนในแง่ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคดังกล่าว รวมถึงกลยุทธ์การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) อีกด้วย

อย่างไรก็ดี เราไม่ควรตื่นตระหนกกับข้อค้นพบข้างต้น หรือตีความงานวิจัยที่มีกลุ่มตัวอย่างจำนวนหยิบมือซึ่งอาจเป็นกรณีเฉพาะของผู้ป่วยบางคนให้กลายเป็นกรณีทั่วไปในระดับประชากร เพราะยังจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่มากกว่านี้ในการตอบคำถาม เช่น มนุษย์จะสามารถติดเชื้อซ้ำได้กี่ครั้ง การติดเชื้อครั้งหลังจะแสดงอาการอย่างไร และเชื้อไวรัสในผู้ป่วยที่ติดเชื้อซ้ำจะสามารถแพร่ระบาดได้หรือไม่ เป็นต้น

ที่มา: 

https://edition.cnn.com/2020/08/28/health/covid-19-reinfection-nevada/index.html

https://www.nytimes.com/reuters/2020/08/28/us/28reuters-health-coronavirus-reinfection.html

https://www.weforum.org/agenda/2020/08/covid-19-top-science-stories-of-the-week-from-reinfection-to-the-risks-of-obesity/

 ภาพ BRYAN R. SMITH / AFP