‘โควิด-19’ น่าจะเริ่มคุ้นหูกับชื่อนี้กันมากขึ้นแล้วนะครับ

เพราะ COVID-19 (coronavirus disease 2019) หรือที่กรมควบคุมโรคแปลเป็นภาษาไทยว่า “โรคไวรัสโคโรนา 19” เป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019) ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงการตีตราชื่อเมือง สัตว์ หรือประชาชน (แต่ไม่วายมีพี่สัตวแพทย์แย้งว่าพ้องกับชื่อ Corvid ของวงศ์นกกา)

ในขณะเดียวกันชื่อไวรัสก็ได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า SARS-CoV-2 (severe acute respiratory syndrome coronavirus 2) เนื่องจากมีสารพันธุกรรมใกล้เคียงกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส (SARS) เมื่อปี 2002-2003 แต่ถ้าเทียบความรุนแรงตอนนี้ ถึงแม้ยอดผู้เสียชีวิตจะแซงหน้ารุ่นพี่ไปที่ 1,300 รายแล้ว แต่ถ้าหารด้วยจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 6 หมื่นกว่าราย อัตราการเสียชีวิตจึงอยู่ที่ 2.3% ซึ่งถือว่าตามหลังรุ่นพี่อยู่หลายเท่าตัว

สถานการณ์นอกประเทศจีน

จำนวนประเทศที่พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยังคงเป็น 24+1 (ไต้หวัน) ประเทศเท่าเดิม

โดยจากเส้นโค้งการระบาดของผู้ป่วยนอกประเทศจีน เรียงตามวันที่รายงาน (แผนภูมิที่ 1) จะสังเกตว่าในช่วงแรกเป็นผู้ที่เดินทางมาจากมณฑลหูเป่ย (สีเลือดหมู) จากนั้นก็เริ่มมีการระบาดภายในแต่ละประเทศ (สีชมพู) ส่วนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นผู้ที่มีประวัติโดยสารพาหนะระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นมาก (สีน้ำเงิน) ซึ่งผมคาดว่าเป็นผู้ป่วยบนเรือสำราญ Dimond Princess ที่เทียบท่าอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยล่าสุด (14 ก.พ.) มีผู้ป่วย 218 รายแล้ว

แผนภูมิที่ 1 เส้นโค้งการระบาดของผู้ป่วยโควิด-19 นอกประเทศจีน พบผู้ป่วยทั้งหมด 505 ราย
(ที่มา: รายงานสถานการณ์ของ WHO ประจำวันที่ 14 ก.พ.)

แนวโน้มการระบาดในประเทศไทย    

ธรรมชาติของการระบาดของโรคจากภายนอกเข้ามาระบาดภายในประเทศสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่ ระยะแรกพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ (imported case) คือเป็นผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมาจากภายนอกประเทศ แล้วมีอาการป่วยในประเทศไทย อย่างกรณีนักท่องเที่ยวชาวจีน อายุ 73 ปี ที่จ.นครปฐม คนไทยคนแรกที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีอาการป่วยหลังจากเดินทางกลับมาจากเมืองอู่ฮั่นหลังปีใหม่

เนื่องจากตอนแรกผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้ามายังไม่มีอาการ จึง ‘ผ่าน’ การตรวจคัดกรองที่สนามบิน และพอพ้นระยะฟักตัวแล้วก็มีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ใด จึงสามารถแพร่เชื้อต่อให้กับคนไทยได้ (local transmission)  เมื่อนั้นก็จะเข้าสู่ระยะที่สอง โดยเป็นการระบาดในวงจำกัด เฉพาะพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และเฉพาะกลุ่มอาชีพ เช่น คนขับรถโดยสาร พนักงานขายของ

อย่างกรณีน้าคนขับรถแท็กซี่ อายุ 50 ปี และคนขับรถทัวร์ (คล้ายกับกรณีที่ประเทศญี่ปุ่น) ซึ่งติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั้งที่ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศก็เป็นหลักฐานว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ระยะนี้แล้ว

แผนภูมิที่ 2 การคาดการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย
(ดัดแปลงจากการนำเสนอของกลุ่มภารกิจตระหนักรู้สถานการณ์ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค)

ส่วนระยะที่สาม เป็นการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยในระยะที่สอง จนเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง เหมือนกับการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ‘สายพันธุ์ใหม่’ 2009 ที่ต้องปิดโรงเรียนหลายแห่งในกรุงเทพฯ เพื่อควบคุมการระบาด และสุดท้ายกลาย ‘สายพันธุ์เก่า’ อยู่ประจำถิ่นในที่สุด ซึ่งโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก็มีความสามารถในการแพร่กระจายใกล้เคียงกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ จึงมีโอกาสสูงที่จะพบผู้ป่วยจำนวนมากในระยะที่ 3

แต่ก็ไม่ถึงกับหมดหวังเสียทีเดียว หากการควบคุมโรคมีประสิทธิภาพ เช่น การคัดกรองผู้ป่วยได้มากถึง 40-60% (ตัวเลขจริงต้องรอเจ้าของงานวิจัยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ตีพิมพ์อีกครั้ง)  การสอบสวนโรคเพื่อติดตามกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วย และแยกกักผู้ที่มีอาการได้รวดเร็วก็จะสามารถตัดวงจรการแพร่เชื้อต่อได้ (ไว้ผมจะมาเล่ากระบวนการนี้อย่างละเอียดอีกที) รวมถึงการดูแลตัวเองของประชาชน เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย ด้วย

สำหรับประเทศไทย ณ วันที่ 13 ก.พ. มีจำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 33 ราย (แผนภูมิที่ 3) แบ่งเป็นชาวจีน 24 ราย และชาวไทย 9 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ยังเป็นชาวไทยที่ทำงานเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวอยู่ (น่าแปลกที่ตอนนี้ยังไม่เจอในกลุ่มมัคคุเทศก์) จึงถือว่าเป็นการระบาดในวงแคบ แต่ทั้งนี้เกณฑ์การตรวจหาโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในปัจจุบันก็ยังจำกัดเฉพาะกับกลุ่มที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวอยู่ ยกเว้นเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรงที่หาสาเหตุไม่ได้

ในอนาคตหากห้องปฏิบัติการในส่วนภูมิภาคมีความพร้อม น่าจะทำให้การส่งตรวจตัวอย่าง (specimen) รวดเร็วขึ้น (สัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 13 แห่งทั่วประเทศสามารถตรวจหาไวรัสนี้ได้แล้ว) หากต้นทุนในการตรวจลดลง (จากเดิมต้องอาศัยการตรวจหลายขั้นตอนราคารวมกัน 10,000 บาท ลดลงเหลือขั้นตอนเดียวราคา 2,000 บาท และอาจมีชุดตรวจที่ราคาประหยัดกว่านี้อีก) น่าจะทำให้เกณฑ์ในการตรวจคัดกรองถูกปรับให้ครอบคลุมมากขึ้น

และน่าจะจูงใจให้มีการตั้งระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยในโรงพยาบาลศูนย์ (sentinel surveillance) โดยอาจตั้งต้นจาก 6 จังหวัดเสี่ยง ที่เคยมีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ และภูเก็ต และเป็นการสุ่มตรวจจาก specimen ของผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ว่ามีการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ เราก็อาจเห็นภาพของการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศที่แท้จริงได้

แผนภูมิที่ 3 จำนวนผู้ป่วยสะสมโรคโควิด-19 ในประเทศไทยตามวันที่แถลงข่าว
(รวบรวมข้อมูลจากข่าวเพื่อมวลชน สำนักสารนิเทศ สธ. ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.พ.)

คำแนะนำสำหรับระยะที่สอง และเตรียมพร้อมกับระยะที่สาม

เป้าหมายของการควบคุมโรคในขณะนี้ คือการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในระยะที่สาม หรือที่เป็นไปได้ก็คือพยายามยื้อระยะสองให้นานที่สุด เพื่อให้มีเวลาเพียงพอสำหรับการวิจัยวัคซีนป้องกันและรักษาโรค รวมถึงเพื่อไม่ให้คนป่วยพร้อมกันทีเดียวจนโรงพยาบาลในประเทศไม่สามารถรองรับคนไข้ได้ (ไม่ให้เหมือนประเทศจีนที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก จนต้องสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะ)

ดังนั้นผู้ที่เคยให้บริการนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงของตัวเอง หากมีอาการป่วยคล้ายโรคหวัดควรไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล พร้อมกับแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างไร ส่วนบุคลากรทางแพทย์ก็ต้องใส่ใจถามผู้ป่วยถึงประวัติส่วนนี้ เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยและแยกตัวออกจากชุมชนอย่างทันท่วงที

หรือถ้าผู้ที่เคยให้บริการนักท่องเที่ยวชาวจีนเคยป่วยมาก่อนในช่วงปลายเดือนมกราคม (ป่วยแล้วหายแล้ว และไม่ได้รับการตรวจยืนยันเชื้อ) แต่ต่อมามีคนในครอบครัวป่วยตามมา คนที่กำลังป่วยอยู่ก็ควรได้รับการตรวจหาโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เพราะประเทศจีนจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว และขณะนี้ก็เกินระยะฟักตัว 14 วันแล้ว การแพร่เชื้อก็จะเกิดจากคนที่เคยใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

สุดท้ายหากเกิดการระบาดในระยะที่สาม ขึ้นมา สิ่งที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจคือธรรมชาติของโรค และวิธีการรักษา ซึ่งก็ยังเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ยังต้องติดตามกันต่อไป แต่ ณ ตอนนี้ โรคโควิด-19 ก็เป็นโรคที่ร่างกายสามารถรักษาหายด้วยตัวเอง ซึ่งต้องใช้เวลาในการต่อสู้กับเชื้อโรค เหมือนกับใครที่เคยเป็นหวัดก็จะสังเกตว่าอาการดีขึ้นใน 3-5 วัน โดยที่ไม่ต้องกินยาฆ่าเชื้อ ดังนั้นนอกจากอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ แล้ว ถ้าจะเตรียมความแข็งแรงของร่างกายตั้งแต่ตอนนี้

ก็ยังไม่สายนะครับ

Tags: , , , ,