รัสเซียได้รับการสนุนจากสมัชชาสภายุโรปให้ได้รับสิทธิลงคะแนนในสภาได้อีกครั้ง หลังจากเพิกถอนสิทธิของรัสเซียไปเมื่อ 5 ปีก่อนจากกรณีการละเมิดกฎหมายในการผนวกดินแดนไครเมียเข้ากับรัสเซีย เรื่องนี้ทำให้ยูเครนไม่พอใจอย่างมาก
เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน สมัชชาสภายุโรปลงมติด้วยคะแนน 118 ต่อ 62 และงดออกเสียง 10 คะแนนว่า รัสเซียมีสิทธิในการลงคะแนน แสดงความคิดเห็น และมีผู้แทนอยู่ในสมัชชาได้ หลังจากถูกลงโทษเมื่อปี 2014 ที่รัสเซียเข้ายึดคาบสมุทรไครเมีย เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้นานาชาติประณามว่าใช้กำลังทหารเข้ายึดครองพื้นที่นี้ซึ่งเวลานั้นอยู่ภายใต้การดูแลของยูเครน โดยรัสเซียอ้างผลการลงประชามติที่น่ากังขาว่า ชาวไครเมียสมัครใจเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
ทั้งนี้ สภายุโรป และศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) เป็นองค์กรความร่วมมือในเครือเดียวกัน มีหน้าที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐของชาติยุโรปที่เป็นสมาชิก 47 ประเทศ
รัสเซียขู่ว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกของสภายุโรป ถ้าตนเองยังไม่ได้รับสิทธิการลงคะแนนคืนกลับมา ส่วนกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนก็มองว่า ถ้ารัสเซียออกจากการเป็นสมาชิก ประชาชนชาวรัสเซียจะเสียสิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป เวลาที่ถูกระบบกฎหมายหรือฝ่ายรัฐละเมิดสิทธิ
“ผลกระทบเกิดขึ้นทันทีหากรัสเซียออกจากสภายุโรป ผู้ที่รู้สึกมากที่สุดไม่ใช่รัฐบาลรัสเซีย แต่เป็นประชาชนชาวรัสเซีย” คณะกรรมการเนเธอร์แลนด์เฮลซิงกิ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนก็ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ถ้ารัสเซียออกจากสภายุโรป จะทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศแย่ลงกว่านี้อีก
สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจให้กับยูเครนอย่างยิ่ง จน โวโลดิเมีย อารีฟ ตัวแทนจากยูเครน ประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องประชุม เขากล่าวว่า การตัดสินใจนี้เป็นการ “ส่งสารที่แย่มาก” ไปยังรัฐบาลรัสเซียและประเทศสมาชิกอื่นๆ “ทำสิ่งที่อยากทำ รวบดินแดนของประเทศอื่น สังหารประชาชน แล้วคุณก็ออกพร้อมกับทุกสิ่งทุกอย่าง”
ส่วนประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนก็บอกว่า ผิดหวังกับการตัดสินใจของสภายุโรป และจะเรียกให้ทูตที่ประจำอยู่ที่สภายุโรปกลับมา เพื่อเป็นการประท้วง
เมื่อเดือนที่แล้ว เยอรมนีและฝรั่งเศสพยายามผลักดันแผนการประนีประนอมให้รัสเซียกลับเข้ามาเป็นสมาชิกของสภายุโรปอีกครั้ง โดยหวังว่าจะทำให้ประชาชนชาวรัสเซียได้รับการคุ้มครองจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ทั้งนี้ คดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยื่นฟ้องในศาลนี้มากที่สุดก็คือประเทศรัสเซียนั่นเอง
ที่มา:
- https://www.dw.com/en/council-of-europe-restores-russias-voting-rights/a-49340511
- https://www.theguardian.com/law/2019/jun/25/ukraine-walks-out-council-europe-human-rights-assembly-protest-russia-return
- https://www.bbc.com/news/world-europe-48755606
Tags: รัสเซีย, ยูเครน, สภายุโรป, สมัชชาสภายุโรป, ไครเมีย