“ว่ากันว่าแสงแดดคือยาฆ่าเชื้อที่ดีที่สุด” 

– หลุยส์ บรานไดส์ ตุลาการศาลสูงอเมริกัน
(กล่าววาทะอมตะนี้เมื่อปี 1914 หรือกว่าหนึ่งศตวรรษที่แล้ว)

 

ในบรรดาหลักการและเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันทั้งหมดทั้งมวล “ความโปร่งใส” ต่อสาธารณะเป็นหัวใจสำคัญ เพราะการทุจริตคอร์รัปชันมีโอกาสเกิดทุกระดับทุกช่องทาง และการคอร์รัปชันย่อมเป็นสิ่งที่ผู้กระทำผิดอยากซ่อนจากสายตาของคนอื่นให้ได้มิดชิดที่สุด ดังนั้น ยิ่งประเทศไหนมีกลไกบังคับเรื่องความโปร่งใส ให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญๆ ต่อสาธารณะ ก็ยิ่งลดความเสี่ยงต่อการทุจริต แถมยังเพิ่มพลังให้พลเมืองได้มีส่วนร่วมเป็นหูเป็นตา ตรวจสอบการทำงานของรัฐ และแจ้งเบาะแสการทุจริตด้วย

ในเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกข้ออ้างคลาสสิก “ปราบการทุจริตคอร์รัปชัน” เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 เราก็ควรทบทวนสถานการณ์คอร์รัปชันตลอดห้าปีที่ คสช. ครองอำนาจ ว่าดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index – CPI) เป็นดัชนีวัดการทุจริตคอร์รัปชันที่มีชื่อเสียงและได้รับความเชื่อถือในระดับสากล จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับคอร์รัปชันจากโครงการประเมินทั่วโลกมาประมวลเป็นดัชนี โดย CPI ในปีล่าสุด (2018) ใช้แหล่งข้อมูลมากถึง 13 ชุด อาทิ World Economic Forum Executive Opinion Survey, World Bank Country Policy and Institutional Assessment และ Varieties of Democracy Project

ผลการคำนวณ CPI ปี 2018 ปรากฏว่าประเทศไทยได้คะแนนเพียง 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ลำดับที่ 96 ในโลก ตกอันดับจากปี 2017 ซึ่งไทยได้ 37 คะแนน เป็นอันดับที่ 99 ของโลก

เมื่อเปรียบเทียบกับ CPI ปี 2013 หรือหนึ่งปีก่อนที่ คสช. จะยึดอำนาจ ปีนั้นไทยได้คะแนน 35 คะแนน น้อยกว่าคะแนนปี 2018 เพียง 1 คะแนนเท่านั้น

สรุปสั้นๆ ก็คือ สถานการณ์คอร์รัปชันไทยในสายตาของนักธุรกิจและประชาชน วัดจากมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลกนั้นไม่ได้ดีขึ้นเลยในช่วงเวลาห้าปีหลังจากวันรัฐประหารของ คสช. ทั้งที่หัวหน้า คสช. ซี่งปัจจุบันกลายเป็น “นายก500” ประกาศว่าจะปราบปรามคอร์รัปชัน เพิ่มความโปร่งใสภาครัฐแทบจะรายวัน

สถานการณ์ปีต่อปีมีแนวโน้มจะแย่ลงด้วยซ้ำ ย้อนไปเมื่อเดือนธันวาคม 2560 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยผลสำรวจดัชนีคอร์รัปชันไทย พบว่าความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในยุครัฐบาล คสช. เพิ่มขึ้นถึง 37% สูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 และคาดว่าสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นเป็น 48%

 

ทำไมการคอร์รัปชั่นจึงเพิ่มขึ้น?

สำหรับสาเหตุที่การทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นจนทำสถิติใหม่ในรอบ 3 ปีนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ส่วนใหญ่มาจาก 1) กฎหมายที่เปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลพินิจเอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชัน 18.8% รองมาเป็นเรื่อง 2) กระบวนการทางการเมืองที่ขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก 15.6% และ 3) ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ 14.7%

ผู้เขียนเห็นว่าทั้งสามข้อข้างต้นสะท้อนปัญหาหลักของระบอบเผด็จการทหารได้ชัดเจน นั่นคือ ในเมื่อไม่มีกลไกตรวจสอบตามปกติ (เช่น ไม่มีฝ่ายค้านในสภา) และไม่สนใจที่จะโปร่งใส (แม้จะอ้างเช่นนั้นตลอดเวลา) ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ การเล่นพรรคเล่นพวกอย่างน่าเกลียด คือตะบี้ตะบันตรวจสอบเฉพาะฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตัวเองไม่ต้องแม้แต่จะโปร่งใส และการแกล้ง ‘หลับตาข้างเดียว’ ของหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบและปราบปรามการทุจริต

สโลแกน “โปร่งใส ตรวจสอบได้” ของรัฐบาล คสช. จึงกลายเป็นเรื่องตลก ในเมื่อแม้แต่เรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง และ คสช. มีส่วนได้เสีย สื่อมวลชนและภาคประชาสังคมไปใช้สิทธิขอให้เปิดเผยข้อมูลตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังปฏิเสธดื้อๆ หรือให้เหตุผลแถๆ ว่า “ไม่ให้ข้อมูล” หรือเงียบหายไปกับสายลม

กรณีโครงการอุทยานราชภักดิ์ และ “นาฬิกายืมเพื่อน” เป็นเพียงสองตัวอย่างที่ชัดเจน

 

ความลึกลับของข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลาง คำวินิจฉัยศาล 

บางคนอาจมองว่า สองเรื่องนี้เป็น “เรื่องเล็ก” เทียบไม่ได้กับกรณีทุจริตคอร์รัปชันหลักพันล้านของนักการเมืองในรัฐบาลก่อนหน้า ผู้เขียนอยากตอบว่า การทุจริตก็คือการทุจริต นักการเมืองที่พัวพันกับคอร์รัปชันหลายคดีในรัฐบาลก่อนหน้า อย่างคดีระบายข้าวจีทูจี ก็ถูกฟ้องและศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว แต่สองกรณีนี้จบชนิด ‘งงกันทั้งบาง’ ทั้งที่ไม่ชอบมาพากล ลงเอยแบบหายไปกับสายลม สื่อมวลชนไม่ได้รับคำตอบมาเปิดเผยกับประชาชน

ต่อให้มองว่าเป็น “เรื่องเล็ก” ก็ตาม เรื่องเล็กแค่นี้ยังไม่ยอมโปร่งใส แล้วเรื่องใหญ่ๆ ประชาชนกับสื่อย่อมหมดโอกาสที่จะติดตามตรวจสอบ

กรณีโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งผลการตรวจสอบว่า “ไม่มีการทุจริต” แต่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักศึกษาที่รณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (คนเดียวกันกับที่โดนตีปางตาย เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2562) พยายามพาผู้ร่วมกิจกรรม “ส่องโกง” เดินทางไปดูโครงการหลายครั้งกลับถูกสกัดกั้นทุกครั้ง ไม่เคยไปถึง แม้กระทั่งถูกตัดโบกี้รถไฟกลางทาง จับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และนำตัวขึ้นศาลทหาร

กรณีโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ นักกิจกรรม “ส่องโกง” เดินทางไปดูโครงการหลายครั้ง แต่ถูกสกัดกั้นทุกครั้ง ไม่เคยไปถึง แม้กระทั่งถูกตัดโบกี้รถไฟกลางทาง จับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และนำตัวขึ้นศาลทหาร

สำนักข่าวไทยพับลิก้าพยายามขอข้อมูลโครงการนี้นานกว่าสองปี จนสุดท้ายสรุปว่า รัฐบาล คสช. ล้มเหลวในการเปิดเผยข้อมูล ในสามประเด็นด้วยกัน ตั้งแต่การไม่เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่ง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ กำหนดเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ต้องเปิดเผย “โดยอัตโนมัติ” ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ โดยไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องขอ

แต่กรณีอุทยานราชภักดิ์ เมื่อผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่กองทัพบก (ทบ.) เพื่อขอดูข้อมูล “สรุปการจัดซื้อจัดจ้างประจำเดือน” ของหน่วยงานภายใน ทบ. ในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ หน่วยงานภายใน ทบ. ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ไม่ว่าจะเป็นกรมกิจการพลเรือนทหารบก (กร.ทบ.) หรือกรมยุทธโยธาทหารบก (ยย.ทบ.) กลับจัดส่งข้อมูลมายังศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารของ ทบ. ให้ตรวจดูไม่ครบถ้วน

เมื่อกระทรวงกลาโหมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กลับไม่ตรวจสอบประเด็นที่มีคนสงสัยมากที่สุด คือกรณีเรียกรับค่าหัวคิวโรงหล่อ โดยอ้างว่า “ไม่มีอำนาจเรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล” เมื่อผู้สื่อข่าวขอข้อมูล ก็ได้รับคำตอบว่าต้องไปยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งพอไปยื่น ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ

สุดท้าย สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงตัดสินใจยื่นศาลปกครองให้เปิดราคากลาง ศาลปกครองรับฟ้องในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 เวลาล่วงเลยไปอีกสองปี จนถึงวันนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา

กรณี “นาฬิกายืมเพื่อน” ของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 5 ต่อ 3 “ไม่รับไต่สวน” ในเดือนธันวาคม 2561 สำนักข่าว The Matter ก็ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ขอข้อมูล 6 รายการ อาทิ เหตุผลที่ยกคำร้องคดีนี้โดยละเอียด (ไม่ใช่แค่ในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์), คำวินิจฉัยส่วนตนของกรรมการ ป.ป.ช. ที่ให้ยกคำร้อง ไม่ไต่สวนต่อ, ยี่ห้อ รุ่น และมูลค่ารวมของนาฬิกาที่ พล.อ.ประวิตรยืมมา ฯลฯ

ป.ป.ช. ยอมส่งเอกสารให้เพียงส่วนน้อย และข้อมูลสำคัญๆ ในเอกสารเหตุผลที่ยกคำร้อง ก็ส่งกลับมาเป็นกระดาษเปล่าเป็นปึก ซึ่ง ป.ป.ช. อ้างว่าจำเป็นต้องปกปิดข้อมูลของบุคคลตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 36 ทั้งที่กฎหมายมาตรานี้จริงๆ ห้ามเปิดเผย “ข้อมูลเฉพาะของบุคคล” เช่น ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน มิได้หมายถึงคำให้การหรือข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากบุคคลเหล่านั้นแต่อย่างใด

กรณี “นาฬิกายืมเพื่อน” ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 5 ต่อ 3 “ไม่รับไต่สวน” สื่อมวลชนก็ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ขอข้อมูลเพิ่มเติมผลที่ได้คือกระดาษเปล่าเป็นปึก ซึ่ง ป.ป.ช. อ้างว่า ต้องปกปิดข้อมูลของบุคคลตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 36 ทั้งที่จริงๆ แล่ว “ข้อมูลเฉพาะของบุคคล” หมายถึง ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน มิได้หมายถึงคำให้การหรือข้อมูลต่างๆ

ความ(ไม่)โปร่งใสในสองกรณีนี้ส่งสัญญาณอันตราย เมื่อคำนึงว่าการ “ปราบโกง” ที่น่าเชื่อถือทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ต้องชัดเจนว่าไม่เลือกปฏิบัติเท่านั้น แต่จะทำโดยภาครัฐฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ต้องเปิดให้สื่อมวลชนและประชาชนได้เข้ามาร่วมเป็นหูเป็นตา ติดตามตรวจสอบด้วย

ในเมื่อไม่เปิดให้สื่อร่วมตรวจสอบ แถมยังคุกคามประชาชนที่กล้าตรวจสอบ ก็เท่ากับไม่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ส่งผลให้มันไร้ความหมาย และคอร์รัปชันยิ่งมีแนวโน้มที่จะระบาดซึมลึกหนักข้อกว่าเดิม.

Tags: , , , , ,