มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดประกาศความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากผลทดลองกับอาสาสมัคร 1,077 คนบ่งชี้ว่าร่างกายของอาสาสมัครสามารถสร้างแอนติบอดีและที-เซลล์ที่สามารถต่อสู้กับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้
วัคซีนที่ชื่อว่า ChAdOx1 nCoV-19 มาจากการดัดแปลงพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดในลิงชิมแปนซี ซึ่งนักวิจัยปรับเปลี่ยนจนมันไม่สามารถทำให้มนุษย์ติดเชื้อได้ และทำให้คล้ายกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โดยย้ายคำสั่งทางพันธุกรรมของสไปก์โปรตีน ซึ่งเป็นส่วนที่บุกรุกเซลล์มนุษย์ไปสู่วัคซีนนี้ จนทำให้ภูมิคุ้มกันของมนุษย์เรียนรู้วิธีจัดการกับมัน
นักวิจัยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดเริ่มทดสอบวัคซีนตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา การทดลองออกแบบเพื่อประเมินความปลอดภัยและดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในอาสาสมัครอายุระหว่าง 18-55 ปี เอเดรียน ฮิลล์ ผู้อำนวยการศูนย์เจนเนอร์ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดกล่าวว่า เราเห็นการตอบสนองที่ดีของภูมิคุ้มกันในอาสาสมัครเกือบทุกคน โดยแอนติบอดีและทีเซลล์ในร่างกายของอาสาสมัครอยู่ได้นานอย่างน้อย 2 เดือน แม้ผลการศึกษาจะไม่พบอันตรายจากการฉีดวัคซีน แต่อาสาสมัคร 70% มีไข้และปวดศีรษะ ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่าแก้ไขได้ด้วยการให้ยาพาราเซตามอล
ผลวิจัยตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าวัคซีนนี้จะป้องกันไม่ให้คนป่วยหรือทำให้อาการของโควิด-19 น้อยลง ศาสตราจารย์ซาราห์ กิลเบิร์ต มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดกล่าวว่า ยังต้องมีการศึกษาอีกมากก่อนที่จะยืนยันได้ว่าวัคซีนของเราสามารถแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ แต่ผลการศึกษานี้ก็แสดงถึงแนวโน้มที่ดี
แม้จะมีความเป็นไปได้ว่าภายในสิ้นปีนี้ เราจะได้วัคซีนที่ป้องกันโรคโควิด-19 แต่ก็จะยังไม่ถูกกระจายในวงกว้าง ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ในสหราชอาณาจักรเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับวัคซีนก่อน เนื่องจากเสี่ยงติดเชื้อมากที่สุด
ในระยะต่อไป มีประชาชนในสหราชอาณาจักรมากกว่า 10,000 คนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทดลอง แต่เนื่องจากตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้ยากที่จะรู้ว่าวัคซีนได้ผลหรือไม่ จึงอาจจะขยายการทดลองไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น ในสหรัฐอเมริกา 30,000 คน แอฟริกาใต้ 2,000 คน และบราซิล 5,000 คน เรื่องนี้เป็นประเด็นท้าทายทางจริยธรรม เนื่องจากผู้ที่เข้าร่วมการทดลองอาจจะติดเชื้อโควิด-19 ง่ายขึ้นหลังรับวัคซีนเข้าไป
มหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับบริษัทยา AstraZeneca ในการผลิตวัคซีนเพื่อใช้ทั่วโลกซึ่งบริษัทสัญญาว่าจะทำให้ได้ 2 พันล้านโดส ซึ่งอาจจะไม่พอ จนถึงตอนนี้หลายประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในข้อตกลงที่จะรับวัคซีนหลายร้อยล้านโดสจากวัคซีนของอ็อกฟอร์ดแล้ว ตอนนี้ทั่วโลกมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากกว่า 150 วัคซีนแล้ว ซึ่งอยู่ในระยะที่แตกต่างกันออกไป
ที่มา:
https://www.bbc.com/news/uk-53469839
https://apnews.com/fdd8be1fafa10b71d4de0dabbcd74bdf
ภาพ: Steve Parsons/Pool via REUTERS
Tags: โควิด-19, มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด