นอกจากหน้ากากปิดปากปิดจมูกจะกลายเป็นแฟชั่นไอเท็มชิ้นใหม่ที่บรรดาแฟชั่นนิสต้าสายสตรีทสวมใส่เก๋ๆ มาร่วมงานลอนดอนแฟชั่นวีค ที่กำลังมีขึ้นที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในตอนนี้แล้ว (โดยในสหราชอาณาจักพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 9 คน รักษาหายแล้ว 8 คน) หรือแม้แต่ในนิวยอร์กแฟชั่นวีคที่เพิ่งจบไปไม่นาน หน้ากากยังกลายมาเป็นหนึ่งในแอ็กเซสซอรี่หลักที่บรรดาดีไซเนอร์สร้างสรรค์ขึ้นบนรันเวย์ในช่วงแฟชั่นวีคในซีซั่นนี้อีกด้วย อย่างแบรนด์ The Blonds ที่ทำหน้ากากประดับหมุดคริสตัลหรูหราให้นางแบบสวมใส่ขึ้นโชว์บนรันเวย์ ที่นิวยอร์กแฟชั่นวีค
ผลกระทบของโคโรนาไวรัส ไม่ได้มีเพียงเฉพาะการทำหน้ากากให้เป็นเทรนด์แฟชั่นประจำซีซั่นนี้เท่านั้น แต่มันยังสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นโดยรวมในภาคส่วนต่างๆ เริ่มจากแบรนด์หรูต่างเริ่มทะยอยปิดร้านที่เปิดในประเทศจีนเป็นการชั่วคราว อย่าง Burberry แบรนด์เก่าแก่จากประเทศอังกฤษ ก็ประกาศปิดร้านจำนวน 64 ร้านในประเทศจีนเป็นการชั่วคราวแล้ว
โดยเฉพาะที่ฮ่องกง ซึ่งนอกจากจะเป็นผลต่อเนื่องมาจากการประท้วงในฮ่องกงตามมาด้วยการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้แบรนด์หรูมากมายเตรียมที่จะปิดร้านที่เปิดในฮ่องกง ด้วยทั้งยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เหตุการณ์การประท้วงในฮ่องกง ประกอบกับเมื่อโคโรนาไวรัสแพร่ระบาด ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวและช้อปปิ้งหยุดชะงัก โดยเฉพาะในส่วนของลูกค้าชาวจีน ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มหลัก ส่งผลให้ฮ่องกงไม่ได้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางสินค้าหรูระดับโลกอีกต่อไปแล้ว แม้แต่แบรนด์หรูที่มียอดขายดีไม่เคยตกอย่าง Louis Vuitton ก็เริ่มส่งสัญญาณว่าอาจจะปิดร้านที่เปิดที่ฮ่องกง
ความปั่นป่วนที่เกิดจากการระบาดของโคโรนาไวรัสนี้ ยังส่งผลถึงการผลิตสินค้าอีกด้วย เพราะหลากหลายแบรนด์ทั่วโลกต่างใช้ประเทศจีนเป็นฐานการผลิต หรือไม่ก็ใช้วัตถุดิบที่ผลิตจากประเทศจีน ก่อนจะนำไปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อ โดยเฉพาะในฝั่งแฟชั่น ประเทศจีนเป็นผู้ส่งออกผ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 280 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกลุ่มบริษัทสินค้าแบรนด์หรูทั้งหลายจึงบริจาคเงินให้แก่ประเทศจีนในการทำงานเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโคโรนาไวรัสในครั้งนี้ ทั้งเครือ LVMH (Louis Vuitton, Dior, Fendi ฯลฯ) บริจาค 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เครือ Kering (Gucci, Saint Laurent ฯลฯ) บริจาค 1.1 ล้านดอลาร์สหรัฐ เครือ Richemont (Cartier, Monblanc) บริจาค 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กลับมาที่แฟชั่นวีค ผลกระทบแรกที่เกิดขึ้นก็คือบรรดานางแบบ นายแบบ หรือบายเออร์ (ซึ่งสำคัญมาก) ชาวจีนไม่สามารถบินมาร่วมงานแฟชั่นวีคได้ ทั้งในกรณีไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ หรือประเทศปลายทางประกาศห้ามเข้า หรือแม้แต่ถ้าเดินทางออกมาได้ก็จะโดนกักตัว 14 วัน ซึ่งก็ไม่อาจเข้าร่วมงานแฟชั่นวีคได้อยู่ดี หนึ่งในนั้นก็คือแองเจลิกา ชุง บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศจีน ที่ได้ออกมาประกาศผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัวของเธอว่า ซีซั่นนี้เธอของดการเข้าร่วมงานแฟชั่นวีคทั้งที่นิวยอร์ก ลอนดอน และมิลาน ส่วนที่ปารีสนั้นยังไม่แน่ใจ
ในส่วนของดีไซเนอร์ก็วุ่นวายไม่แพ้กัน ที่นิวยอร์กแฟชั่นวีค ดีไซเนอร์ หวัง เทา (Wang Tao) ต้องมาเตรียมรันเวย์โชว์คอลเล็กชั่นของแบรนด์ของเธอโดยไร้ซึ่งทีมงานจากเซี่ยงไฮ้ เพราะทางทีมงานไม่สามารถบินมายังนิวยอร์กได้ เนื่องจากสหรัฐอเมริกา เพิ่งจะออกกฎแบนนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีนในช่วงเวลา 14 วันที่ผ่านมาก่อนมาถึงนิวยอร์ก หรือสองคู่หูดีไซเนอร์ เลนา หลัว (Lena Luo) และเอกซี ชาน (Ekcee Chan) ต้องควบคุมการจัดโชว์ที่นิวยอร์กผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากสตูดิโอของพวกเขาที่เมืองกวางตุ้ง ประเทศจีน เพราะไม่สามารถบินมานิวยอร์กได้ และเมื่อจบโชว์พวกเขาต้องให้ทีมงานที่นิวยอร์กนำเอาไอแพดที่เชื่อมต่อไลฟ์วิดีโอขึ้นไปบนเวทีเพื่อโค้งคำนับแทนที่จะได้ขึ้นไปบนรันเวย์ด้วยตัวเอง
แต่นั่นยังถือว่าเป็นกรณีที่โชคดีที่ยังพอมีทีมงานที่ช่วยจัดการได้ แต่แบรนด์อย่าง Asai ที่มีคิวแสดงโชว์บนรันเวย์ลอนดอนแฟชั่นวีค กลับต้องยกเลิกโชว์เนื่องด้วยโรงงานของแบรนด์ของเธอที่เซี่ยงไฮ้ต้องปิดทำการชั่วคราวเนื่องด้วยการระบาดของโคโรนาไวรัส เช่นเดียวกันกับแองเจล เฉิน (Angel Chen) ที่ต้องยกเลิกโชว์ในมิลานแฟชั่นวีค รวมไปถึงแบรนด์ Masha Ma, Calvin Luo, Maison Mai, Shiatzy Chen, Uma Wang และ Jarel Zhang ก็ต้องยกเลิกโชว์ที่ปารีสแฟชั่นวีคเช่นเดียวกัน
ผลกระทบในครั้งนี้ เป็นเพียงคลื่นลูกแรก เพราะอย่างไรก็ตามแฟชั่นวีคฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว 2020 นี้ เสื้อผ้า เครื่องประดับหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้นเสร็จสิ้นมาก่อนที่จะเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสแล้ว แต่คลื่นลูกที่สองและอาจจะเป็นคลื่นลูกใหญ่กว่านั้นจะสร้างผลกระทบในอีกสองซีซั่นต่อไป ซึ่งอยู่ในกระบวนการการหาวัตถุดิบ การขนส่ง การจัดทำ และอยู่ในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัสที่ทุกอย่างในโลกหยุดชะงักและเฝ้ารอการคลี่คลายไปในทางที่ดีอยู่ในขณะนี้
อ้างอิง
https://www.vogue.co.uk/fashion/article/
https://www.nytimes.com/2020/02/14/business/coronavirus-luxury-retail.html
https://www.foxnews.com/lifestyle/coronavirus-face-masks-london-fashion-week
ภาพ : Caitlin Ochs/REUTERS
Tags: แฟชั่นโชว์, แฟชั่นวีค, ประเทศจีน, โคโรนาไวรัส, โควิด-19, อุตสาหกรรมแฟชั่น