เมื่อวันพฤหัสที่ 13 กุมภาพันธ์ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่ออนุมัติให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) 

รองนายกฯ ระบุว่า การเข้าร่วมใน CPTPP น่าจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท การลงทุนเพิ่ม 5.14% มูลค่า 148,240 ล้านบาท การส่งออกเพิ่ม 3.47% มูลค่า 271,340 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท และจะช่วยในเรื่องการเปิดตลาด เพราะสมาชิกมีการลดภาษีเป็น 0% ตั้งแต่ 95-99% และยังจะมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแคนาดา และเม็กซิโก ที่ไทยไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย  

ในทางตรงกันข้าม หากไม่เข้าร่วมจะทำให้จีดีพีลดลง 0.25% คิดเป็นมูลค่า 26,629 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดี ผลที่คาดหวังจะได้จากการเป็นสมาชิก CPTPP ว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้น 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาทนั้น ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับความคาดหวังที่มีต่อเอฟทีเอใหญ่ๆ ในลักษณะเดียวกัน เช่นกรณีของ ไทย-สหภาพยุโรป ที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 1.63% ด้วยเนื้อหาที่ ‘ก้าวร้าว’ ใกล้เคียงกัน 

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ CPTPP ไม่ได้มีประเทศสหรัฐอเมริกาที่เคยเป็นตลาดความหวังของไทยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว เหลือเพียง เม็กซิโกและแคนาดาที่ไทยอาจได้ตลาดเพิ่มบ้าง กับอีก 9 ประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอแล้วทั้งสิ้น

ด้านความหวังลมๆ แล้งๆ ที่ต้องการเพิ่มการลงทุน โดยเปรียบเทียบกับสิงคโปร์และเวียดนามที่การลงทุนพุ่งขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นั่นอาจไม่ใช่เพราะไทยไม่มีเอฟทีเอ แต่เพราะประเทศไทยมีรัฐประหาร และอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมาตลอดช่วงเวลาเดียวกัน

ขณะที่การคาดการณ์ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้มีเพียงน้อยนิด แต่การเข้าร่วม  CPTPP มีความเสี่ยงจะเกิดผลกระทบทางลบหลายประการ แม้ความกังวลก่อนหน้านี้เรื่องการการขยายอายุสิทธิบัตรยาและการผูกขาดข้อมูลทางยาจะถูกพักไปแล้ว ตามที่รองนายกฯ สมคิด พยายามย้ำเพื่อคลายกังวลแล้วก็ตาม 

เพราะประเด็นในข้อตกลง CPTPP ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ผลกระทบกับเกษตรกร ผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเปิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้กับบริษัทต่างชาติในเกือบทุกระดับของการจัดซื้อ อาจจะเป็นส่วนที่ทำลายพลังของเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย

ด้านของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็รวบรวมและคาดการณ์ความ ‘วายป่วง’ ที่อาจจะเกิดขึ้น

1. ผลกระทบต่อเกษตรกร เมล็ดพันธุ์ และความหลากหลายทางชีวภาพของไทย 

ในความตกลง CPTPP มาตรา 18.7 ระบุว่า สมาชิกต้องเข้าร่วมความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา 6 ฉบับ ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการที่ต้องเข้าร่วมกับ UPOV 1991 เพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งมีหลักการคุ้มครองแตกต่างมากจาก พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 

การเข้าร่วม UPOV 1991 จะส่งผลกระทบต่อการปรับปรุงสายพันธุ์และสิทธิของผู้ปรับปรุงพันธุ์ของพืชสมุนไพร ทำให้เกิดการผูกขาด ทั้งพันธุ์ พืช ผลผลิต และผลิตภัณฑ์จากผลผลิต อาจทำให้เกษตรกรทั่วไปที่เป็นเพียงผู้ปลูก-จำหน่าย จะต้องซื้อและแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเจ้าของพันธุ์

งานวิจัยผลกระทบจากการเข้า UPOV1991 ที่สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า การลดสิทธิเกษตรกร การขยายสิทธิผูกขาดของบรรษัท จะทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น 2-6 เท่า เกษตรกรและผู้บริโภคเสียประโยชน์จากการจ่ายค่ายาและเมล็ดพันธุ์ ที่เดิมทรัพยากรชีวภาพของแผ่นดินเป็นฐานในการผลิตยาในอนาคต แต่ถูกบรรษัทจดทะเบียนผูกขาด จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 122,717-223,116 ล้านบาท

นอกจากนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ก็เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ที่เหมาะสมกับระดับเทคโนโลยีของนักวิจัยไทยอยู่แล้ว เพียงแต่เวลานี้ ยังไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. อย่างครบถ้วนมากกว่า

2. ผลกระทบกับผู้บริโภค 

ข้อกำหนดด้าน Modern biotechnology ซึ่งรวมการดัดแปรพันธุกรรม (GMO) ในสินค้าเกษตรและประมง

ข้อกำหนดนี้จะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่มีการดัดแปรพันธุกรรม ซึ่งยังไม่มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์

ที่ชัดเจนทั้งด้านบวก-ลบ ดังนั้น จึงต้องใช้ระบบป้องกันไว้ก่อน (precautionary measure)

ไทยอาจจะสูญเสียจุดยืนในการผลักดันสินค้าเกษตรและอาหารตามยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ เพราะยังไม่มีการกำหนดนโยบายหรือมาตรการโซนนิ่งที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

CPTPP บังคับให้ใช้หลักการวิเคราะห์ความเสี่ยงและอ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง การวิเคราะห์ความเสี่ยงยังจำเป็นต้องพิจารณาบริบทแวดล้อมอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประเด็นนั้นยังมีข้อถกเถียงในด้านหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการบริหารจัดการความเสี่ยง ดังนั้นในที่สุด ประเทศไทยอาจถูกบังคับให้เปิดตลาดรับสินค้าที่เกษตรและประมงที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมที่ยังมีความเสี่ยงในที่สุด

มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสินค้าอื่นๆ

ข้อตกลง CPTPP มีมาตรการด้านฉลาก โดยกำหนดข้อจำกัดการควบคุมการโฆษณาบนฉลาก และจำกัดพื้นที่เรื่องคำเตือนสุขภาพ ทำให้มาตรการเดิมที่มุ่งคุ้มครองเรื่องการโฆษณาบนฉลากและข้อความคำเตือนด้านสุขภาพตามประกาศฉลากที่ประชาชนได้รับความคุ้มครองไว้แต่เดิม จะใช้ไม่ได้

การออกอนุบัญญัติข้อความ และรูปภาพคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอนาคต จะไม่สามารถบังคับใช้กับฉลากหลักได้

CPTPP ให้ใช้มาตรฐาน Codex CAC/GL 38-2001 เป็นมาตรฐานกำหนดฉลากอาหาร แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดไม่ใช่อาหารธรรมดาทั่วไป (no ordinary food ตามองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO)  จึงจำเป็นต้องมีข้อกำหนดการแสดงฉลากและคำเตือนให้มากกว่าฉลากอาหารทั่วไป แต่ทำไม่ได้

เครื่องสำอาง

ข้อกำหนดนี้ระบุว่า ปรับเปลี่ยนระบบจดแจ้งผลิตภัณฑ์ ก่อนผลิตหรือนำเข้า โดยไม่ให้ระบุเลขที่จดแจ้งบนฉลาก ซึ่งจะช่วยลดภาระผู้ประกอบการ แต่จะทำให้การสืบค้นผลิตภัณฑ์ทำได้ยาก เพราะเจ้าหน้าที่และผู้บริโภคขาดรายละเอียดที่ใช้เชื่อมโยงและอ้างอิงข้อมูลระหว่างระบบทะเบียนผลิตภัณฑ์และการนำเข้าส่งออก เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด 

ผู้บริโภคจะขาดเครื่องมือตรวจสอบผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด ว่าผ่านการจดแจ้งจาก อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ อย. และสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก็จะขาดเครื่องมือที่ใช้เชื่อมโยง และอ้างอิงข้อมูลระหว่างระบบการจดแจ้งผลิตภัณฑ์ และการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องและการสืบค้นผลิตภัณฑ์จะทำได้ยาก โดยรวมแล้ว จะเกิดความเสี่ยง ทำให้สารต้องห้ามเข้าสู่ตลาดได้ง่ายและมากขึ้น

เภสัชภัณฑ์

ข้อบทที่กี่ยวกับเภสัชภัณฑ์ไม่มีนิยามของคําว่า International Standards ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้มาตรฐานของประเทศคู่ภาคีใหญ่มาใช้มากขึ้น หรืออาจจะมีการอ้างอิงมาตรฐานระหว่างประเทศที่ไทยไม่ได้ใช้อ้างอิงในการกำหนดกฎระเบียบ และกระบวนการตรวจสอบรับรอง เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการ

ใช้งบประมาณและระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมด้านระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับทางเทคนิค หรือมาตรฐานระหว่างประเทศรวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อภาคเอกชนต่างๆ รวมทั้งอาจจะต้องแก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้สอดคล้องกัน

เครื่องมือแพทย์

CPTPP บังคับให้เปิดตลาดเครื่องมือแพทย์เก่าที่ ‘ปรับสภาพเป็นของใหม่’ (Remanufacturing) ซึ่งจะเปิดช่องทางให้มีสินค้าใช้แล้วเข้าประเทศโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า-ส่งออก หากเรื่องนี้ไม่ได้กำหนดนิยามที่ชัดเจนและครอบคลุมเพียงพอ ก็อาจจะทำให้ไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นอย่างรวดเร็ว 

นอกจากนี้ CPTPP ยังกำหนดห้ามรัฐให้สิทธิพิเศษในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่เป็นนวัตกรรมไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมนวัตกรรมของคนไทย

ยังมีรายละเอียดเรื่องค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียน และการควบคุมกำกับให้เป็นไปตาม CPTPP (เช่น เพิ่มบุคลากร และพัฒนาระบบขึ้นทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาฐานข้อมูล การอุทธรณ์) ที่ไทยต้องจ่ายขั้นต่ำประมาณปีละ 150 ล้านบาท

ผลกระทบต่อการเข้าถึงยา จากบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา

ในความตกลง CPTPP มาตรา 18.6 ระบุว่า สมาชิกมีสิทธิ์ที่จะกำหนดข้อยกเว้นที่สำคัญ ที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามบทนี้ (ได้แก่ สถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ กรณีจำเป็นเร่งด่วนยิ่งยวด วิกฤตด้านสาธารณสุข) 

ซึ่งเรื่องนี้ จะกระทบทำให้ขอบเขต ‘การประกาศบังคับใช้สิทธิ’ หรือ CL (Compulsory Licensing) ลดลง ซึ่ง CL ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลไทยอาจประกาศใช้ในกรณีสำคัญ เช่น เกิดโรคระบาดฉุกเฉิน หรือมีโรคอันตรายร้ายแรงที่ต้องใช้ยาเฉพาะบางชนิด ในอดีต ประเทศไทยก็เคยประกาศ CL โดยรัฐ และไม่แสวงหากำไร เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงยา หนึ่งในนั้นคือยาต้านไวรัส HIV โลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์ (LPV/r) ที่ใช้เป็นหนึ่งในการรักษา COVID-19  ด้วย ทั้งนี้ หากไทยต้องทำตามเงื่อนไขของ CPTPP ก็มีข้อกังวลว่า ข้อตกลงนี้ไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นกรณี for public non-commercial use ซึ่งแตกต่างจากข้อตกลง TRIPS และหากรัฐบาลไทยประกาศใช้ CL ก็อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องได้ 

3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

การจัดซื้อจัดจ้าง

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ถือ เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่ใช้งบประมาณแผ่นดินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ความตกลง CPTPP บังคับให้เปิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเกือบทุกระดับให้กับบริษัทข้ามชาติ มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยา และวัสดุวิทยาศาสตร์ เครื่องมือแพทย์ในประเทศ ในด้านการแข่งขัน ซึ่งภาครัฐจะไม่สามารถสงวนสิทธิประโยชน์บางประการได้ (เพราะต้องเปิดการแข่งขันให้กับยาสามัญจากผู้จัดจำหน่ายของประเทศอื่น ในขณะที่ยาที่มีสิทธิบัตรก็มีผู้จัดจำหน่ายได้เพียงรายเดียวซึ่งเกือบทั้งหมดคือยาของบริษัทต่างชาติ)

ไม่ใช่เพียงแค่อุตสาหกรรมยาและองค์การเภสัชที่จะได้รับผลกระทบ แต่รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง แม้ประเทศเวียดนาม บูรไน มาเลเซีย จะได้ช่วงเวลาผ่อนผันปรับตัว แต่ใ่ช่ว่า การเข้าร่วมทีหลังของไทยจะได้เงื่อนไขเช่นนี้ หากไม่ได้จะทำเช่นไร

การยกเลิกภาษีสินค้าอ่อนไหว 

CPTPP บังคับให้ยกเลิกภาษีสินค้าถึงร้อยละ 99 ของรายการทั้งหมด ซึ่งนั่นหมายรวมถึงสินค้าอ่อนไหวที่ไทยสงวนภายใต้ FTA กับสมาชิก CPTPP อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น (รถยนต์สำเร็จรูปที่มีขนาดเครื่องยนต์ 3000 cc.) ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ยกเลิก TQR และ SSG สินค้าเกษตร เช่น เนื้อวัว นม และผลิตภัณฑ์ให้เร็วขึ้นกว่าปี 2568)

4. จำกัดพื้นที่การกำหนดนโยบายสาธารณะ

จากข้อบท ‘ความสอดคล้องของข้อบังคับ’ (regulatory coherence) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การออกกฎหมายและระเบียบต่างๆ เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและสอดคล้องกัน แม้อาจพอมีประโยชน์ และเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการพัฒนากฎระเบียบที่สมเหตุสมผล แต่เป็นที่สังเกตว่า รายละเอียดนี้ เน้นความสอดคล้องของกฎหมายโดยมองจากวัตถุประสงค์ทางการค้าและส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ยังขาดข้อคำนึงถึงด้านสังคม และอาจส่งผลกระทบทางลบได้

การออกกฎ ระเบียบต่างๆ ของภาครัฐอาจถูกแทรกแซงจากองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะกฎหมายด้านสุขภาพสาธารณสุข กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เช่น บริษัทบุหรี่สามารถแทรกแซงการเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของกระทรวงสาธารณสุขได้ ซึ่งขัดกับหลักที่พึงระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนสำหรับกรณีนโยบายสาธารณะ

5. ค่าโง่ที่มาพร้อมกับการคุ้มครองการลงทุน

CPTPP บังคับให้การคุ้มครองการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่ชั้นก่อนการประกอบกิจการ การลงทุนใน Portfolio และการลงทุนที่ไม่ได้รับการอนุมัติการคุ้มครองเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งค้านกับกรอบการเจรจาการลงทุนที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับอนุมัติจากรัฐสภา 

จากผลกระทบ 5 ข้อหลักที่กล่าวมา ยังไม่นับรวมถึง ‘ค่าผ่านประตู’ ที่ไทยต้องไปเจรจากับประเทศที่เป็นสมาชิกก่อนหน้า 

กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกของ CPTPP ครั้งนี้ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด (2560) ซึ่งเป็นฉบับที่ไม่มีข้อบังคับให้รัฐบาลต้องการขออนุมัติกรอบเจรจาจากรัฐสภาเพื่อไปเจรจา มีเพียงกลไกให้รัฐสภาเห็นชอบเมื่อเจรจาแล้วเสร็จ เพื่อลงนามรอการอนุวัติตามเท่านั้น 

ดังนั้น แม้ไทยเจรจาผ่อนผันขอข้อยกเว้นไม่สำเร็จ ก็ไม่มีสัญญาประชาคมใดๆ จะไปขัดขวางรัฐบาลได้ คำสัญญาที่ไทยยืนยันว่าจะลองเจรจาผ่อนผันบางเรื่องเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP นั้น จึงถือเป็นคำมั่นสัญญาที่เลื่อนลอย

 

ที่มา

‘รายงานผลการประเมินผลกระทบ และสิ่งที่ต้องดำเนินการ หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP’ โดย กระทรวงสาธารณสุข 

เอกสารที่กระทรวงพาณิชย์จัดทำให้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 18 ก.พ. 2562

Tags: , , , , ,