เวลาพูดถึง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ หลายคนคงตื่นเต้น (และตื่นกลัว) กับเทคโนโลยีที่เกินความเข้าใจของมนุษย์ ที่จะสามารถคิดและทำในสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ แต่หากเจาะลึกลงไปแล้ว ขีดความสามารถของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ AI นี้ยังมีจำกัดในแต่ละโดเมน นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราอาจยังไม่จำเป็นต้องตื่นกลัวมากนัก
แต่อย่างไรก็ตาม ในหมวดของ AI เองก็มีศาสตร์ที่แตกแขนงแยกย่อยไปหลายด้าน ด้านที่ได้รับความสนใจมากเป็นอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น ‘Computer Vision’ หรือการวิเคราะห์ภาพนิ่งและไฟล์วิดีโอเพื่อจำแนกสิ่งของหรือเก็บข้อมูลลูกค้า
จากการคาดการณ์ของ Tractica ซึ่งเป็นบริษัทที่วิจัย ให้คำปรึกษา และสำรวจข้อมูลตลาดภาคธุรกิจเทคโนโลยี ได้ออกรายงานมาว่า ภายในปี 2025 ตลาดของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Computer Vision จะมีมูลค่าสูงถึง 26,200 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตัวเลขนี้โตขึ้นจากสภาวะตลาดในปี 2016 ซึ่งมีมูลค่าอยู่เพียง 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉลี่ยแล้ว ตลาดโตขึ้นประมาณ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
ความหลากหลายในการประยุกต์ Computer Vision ในแทบทุกภาคธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างที่โดดเด่นมากอันหนึ่งก็คือ การที่ Computer Vision มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันกระแสรถยนต์อัจฉริยะ การประมวลผลวิดีโอจากกล้องที่ติดอยู่รอบรถอัตโนมัติ ทำให้รถ ‘มองเห็น’ สิ่งต่างๆ รอบคัน ตั้งแต่รถคันข้างๆ เส้นถนน ไปจนถึง คนเดินข้ามถนน
ตัวอย่างที่โดดเด่นมากอันหนึ่งก็คือ การที่ Computer Vision มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันกระแสรถยนต์อัจฉริยะ
ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญและต้องการความละเอียดถูกต้อง หากจะมีการใช้งานจริงของรถอัจฉริยะ ล่าสุดบริษัทเวย์โม (Waymo) ในเครือเดียวกับกูเกิล ได้เปิดตัวบริการใหม่จากที่เน้นการบริการรถไร้คนขับให้กับผู้โดยสารที่อยู่ในเมือง คราวนี้ Waymo หันมาทดลองกับรถบรรทุก
โดยในช่วงปีที่ผ่านมา เวย์โมทดลองโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไร้คนขับ โดยให้รถบรรทุกวิ่งจากรัฐแคลิฟอร์เนียจนถึงแอริโซนา เพื่อเป็นการเรียนรู้และเก็บข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากมั่นใจแล้ว เวย์โมได้ย้ายการทดลองไปที่เมืองแอตแลนตา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งทางบกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ทั้งนี้ทีมงานของเวย์โมได้ทดลองใช้รถบรรทุกไร้คนขับนี้เพื่อคนส่งสินค้าของบริษัทกูเกิล หากการทดลองงานประสบความสำเร็จ เชื่อแน่ว่าจะเห็นการขยายผลของเวย์โมไปยังบริษัทอื่นในไม่ช้า
ต่อจากรถอัจฉริยะ การประยุกต์ใช้ Computer Vision ที่ใกล้เคียงกันก็คือเรื่องของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) กล้อง CCTV ที่ติดตามมุมตึกหรือหัวมุมถนนสามารถช่วยปรับการจราจร ภาพจากกล้องเหล่านี้ถูกประมวลผลอย่างอัตโนมัติและสามารถบอกกับเจ้าหน้าที่ได้ว่ามีความหนาแน่นของรถมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ การติดกล้องพร้อมโปรแกรมอัจฉริยะยังสามารถช่วยตรวจจับรถหรือบุคคลต้องสงสัยในบางพื้นที่ได้ ช่วยทำให้บ้านเมืองปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ในแง่ของภาคธุรกิจค้าปลีกก็มีแนวโน้มจะใช้ Computer Vision มากขึ้น ลักษณะคล้ายกับการติดกล้องใน Smart City เพียงแต่จุดประสงค์อาจต่างกัน โดยที่เจ้าของธุรกิจค้าปลีกทั้งหลายอาจต้องการทราบถึงพฤติกรรมของลูกค้า ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงการบริการ การจัดวางสินค้า ไปจนถึงการทำการตลาดสู่ลูกค้าในวงกว้าง
ล่าสุดยักษ์ใหญ่วงการค้าปลีกในไทยอย่าง 7-Eleven ได้ประกาศร่วมมือกับบริษัท Remark Holdings ในการนำเทคโนโลยีด้านกล้องและ Computer Vision มาใช้ดูการสัญจรในร้าน เก็บข้อมูลเวลาที่ลูกค้าใช้ดูสินค้าในชั้นต่างๆ รวมไปถึงอารมณ์ของลูกค้าที่อยู่ในร้าน ถือเป็นมิติใหม่ในการทำธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากปัจจุบัน อาจไม่ได้มีการเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ หรือหากมี ก็อาจใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับการใช้โปรแกรมอัจฉริยะในการจับและแยกแยะลูกค้าและสิ่งของออกจากกัน
นอกจาก Computer Vision จะถูกนำมาใช้ให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เทคโนโลยีนี้ก็มีคุณประโยชน์ต่อผู้บริโภครายย่อยด้วย
ยกตัวอย่างในด้านความสวยความงาม เทคโนโลยีด้านกล้องและซอฟต์แวร์ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์สภาพผิวหนัง Neutrogena ได้เปิดตัวอุปกรณ์เสริมที่เป็นกล้องพร้อมมีแสงไฟในตัวเพื่อทำให้ลูกค้าสามารถถ่ายรูปผิวหนังตัวเองได้อย่างชัดเจน ทั้งบนผิวหนังและใต้ผิวหนัง บ่งบอกถึงสุขภาพผิวได้อย่างลึกซึ้ง ประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับคือสามารถคำแนะนำดูแลผิวหนังตัวเองได้ตรงกับสภาพของผิวหนัง แทนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ตามชั้นขายสินค้าในห้างร้านทั่วไป ความตั้งใจของ Neutrogena คือต้องการให้แอปพลิเคชันและชุดกล้องของบริษัททำหน้าที่เปรียบเสมือนหมอผิวหนังประจำตัวลูกค้าที่จะดูและสภาพผิวให้ลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา
ความสามารถของ Computer Vision ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ย้อนกลับไปที่สหรัฐอเมริกา เทรนด์อย่างรถอัจฉริยะ กว่าจะถึงวันที่รถเหล่านี้จะโลดแล่นบนท้องถนนอาจใช้ระยะเวลาหนึ่ง ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีด้านกล้องและการประมวลผลภาพได้ถูกพัฒนาเพื่อทำให้ประสบการณ์การขับรถสะดวกสบายขึ้น
ล่าสุด 7-Eleven ได้นำเทคโนโลยีด้านกล้องและ Computer Vision มาใช้ดูการสัญจรในร้าน เก็บข้อมูลเวลาที่ลูกค้าใช้ดูสินค้าในชั้นต่างๆ รวมไปถึงอารมณ์ของลูกค้าที่อยู่ในร้าน
Mindtronic AI เปิดตัวผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่งาน CES 2018 เมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อุปกรณ์ที่บริษัทคิดค้น สามารถอ่านรูปลักษณ์ใบหน้าเพื่อตรวจสอบว่าเป็นคนขับรถหรือไม่ หลังจากนั้น แผงหน้าปัดจะแสดงผลตามสไตล์ของคนขับแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสภาพอากาศ แผนที่การเดินทาง หรือข้อความที่ส่งมาทางโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ของรถ
นอกจากนี้ ส่วนที่เป็นสิ่งประดิษฐ์สำคัญของบริษัท คือเครื่องมือตรวจจับทิศทางการมองของคนขับ ทำให้ตอนแสดงผลข้อมูลต่างๆ เช่น ความเร็วรถยนต์ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง การแสดงผลจะติดตามทิศทางสายตาของคนขับ ทำให้คนขับไม่จำเป็นต้องละสายตาจากข้อมูลสำคัญที่อาจใช้ในการตัดสินใจในการขับรถ
จากตัวอย่างทั้งหมดข้างต้นคงเห็นแล้วว่า ทิศทางการประยุกต์ Computer Vision นั้นเป็นไปได้แทบจะทุกภาคธุรกิจ ขึ้นอยู่กับบริษัทหรือองค์กรไหนจะเห็นความสำคัญและมีความพร้อมมากกว่ากัน
แต่ในขณะเดียวกัน หากรอให้พร้อมก่อนแล้วค่อยทำ อาจทำให้โครงการหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เกิดเสียที หนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำได้แทบจะทันทีในทุกองค์กร คือการระดมสมองกับพนักงานในองค์กรหรือลูกค้าที่รักแบรนด์ของบริษัท ช่วยกันควานหาและรวบรวม ‘โจทย์’ ที่สมควรแก้ หากมีลิสต์ของประเด็นปัญหาเหล่านี้แล้ว การเลือกเทคโนโลยีอย่าง Computer Vision เข้ามาตอบโจทย์ย่อมตรงประเด็นมากขึ้น ส่งผลดีกับทั้งองค์กรและลูกค้าพร้อมกัน
Tags: รถยนต์อัจฉริยะ, Waymo, Computer Vision, Smart City