คิวบาซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ เพิ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการรับรองสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน (private property) อย่างเป็นทางการ หลังจากก่อนหน้านี้เคยปฏิเสธแนวคิดนี้มาตลอด เพราะมองว่าเป็นวิธีคิดแบบทุนนิยม นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญใหม่ ยังกำหนดให้คิวบามีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นมาด้วย เพื่อแบ่งบทบาทระหว่างประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล

แต่เดิม รัฐธรรมนูญคิวบาในยุคโซเวียตเพียงแค่รับรองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของรัฐ สหกรณ์ เกษตรกร ทรัพย์สินส่วนบุคคล (personal property) และทรัพย์สินของบริษัทร่วมทุน

การห้ามซื้อขายทรัพย์สินของเอกชนมีมาตั้งแต่สมัยฟิเดล คาสโตร ขึ้นปกครองประเทศในปี 1959 แต่การปฏิรูปตลาดของราอูล คาสโตร ประธานาธิบดีคนก่อน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้ระบอบสังคมนิยมในคิวบายั่งยืนมากขึ้น ได้เตรียมพร้อมเพื่อให้ชาวคิวบาหลายแสนคนกลายเป็นเจ้านายตัวเองมาตั้งแต่ปี 2010 นั่นคือการเป็นเจ้าของธุรกิจใหม่หลายระดับตั้งแต่ร้านอาหารไปจนถึงร้านเสริมสวย

กรันมา (Granma) หนังสือพิมพ์ที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ได้ตีพิมพ์บทสรุปของรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ประกอบด้วย 224 มาตรา เพิ่มจากฉบับเดิมที่มี 137 มาตรา

แม้สำนักข่าวต่างประเทศยังไม่เห็นตัวร่างและไม่รู้รายละเอียด แต่กรันมาระบุว่า ตระหนักถึงตลาดเสรีและการครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคลในรัฐธรรมนูญใหม่

นี่อาจจะหมายถึงการเพิ่มความคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการในคิวบาและนักลงทุนจากต่างชาติ แม้ว่ากรันมาจะระบุว่า รัฐธรรมนูญย้ำว่าเสาหลักของเศรษฐกิจทั้งหมดยังอยู่ที่การวางแผนจากศูนย์กลางและการลงทุนของรัฐ และยังระบุด้วยว่า พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงมีอำนาจทางการเมืองการปกครองคิวบา

ผู้เชี่ยวชาญคิวบา หลุยส์ ราบอส บัททิสตา (Luis Carlos Battista) จากศูนย์เพื่อประชาธิปไตยในทวีปอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ในวอชิงตันเตือนว่า. การประกาศยอมรับทรัพย์สินส่วนบุคคลไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลต้องการให้การลงทุนของเอกชนมีบทบาทมากขึ้น

เมื่อต้นสัปดาห์ รัฐบาลเผยแพร่กฎหมายที่ควบคุมผู้ทำงานอิสระและการยกระดับโทษปรับให้รวมไปถึงการริบทรัพย์

จากข้อมูลของหนังสือพิมพ์กรันมา คณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลที่นำโดยคาสโตร วัย 87 ปี ซึ่งยังคงเป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ จะนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสมัชชาแห่งชาติ ในการประชุมสัปดาห์หน้า และจะคาดว่าจะมีการทำประชามติภายในปีนี้

คาดว่ามิเกล ดิแอซ ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการด้วย จะประกาศรายชื่อรัฐมนตรีใหม่ในการประชุมนี้

นอกจากเพิ่มตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งแบ่งบทบาทระหว่างประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลแล้ว รัฐธรรมนูญใหม่ยังกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นประธานสมัชชา และกำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งไว้ 5 ปี และอยู่ได้ไม่เกิน 2 สมัย

ราอูล คาสโตร น้องชายของฟิเดล คาสโตร ผู้พี่ซึ่งปกครองประเทศนี้มาเกือบ 60 ปีแล้ว ได้เสนอการจำกัดการดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2011 ซึ่งการจำกัดเวลานี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำระบบการเมืองในประเทศให้เป็นสมัยใหม่

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Alexandre Meneghini

ที่มา:

Tags: , , , , , , ,