ภายในบ้านทางตอนเหนือของย่านฮาร์เล็ม เจ้าหน้าที่ตำรวจพบกองขยะสูงท่วมห้อง ทั้งกระดาษหนังสือพิมพ์ หนังสือ และสรรพสิ่ง น้ำหนักรวมกว่า 100 ตัน ซ้ำยังส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง ท่ามกลางความยุ่งเหยิงโสมมนั้น ตำรวจยังพบศพของชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีคนโทรศัพท์แจ้งตำรวจให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบอาคารหมายเลข 2078 ถนนฟิฟธ์ อเวนิว แมนฮัตตัน

บ้านหลังดังกล่าวเป็นที่ร่ำลือกันทั่วนิวยอร์กว่าเป็นที่พักอาศัยของสองพี่น้อง-โฮเมอร์ และแลงจ์ลีย์ คอลลีเออร์ (Homer & Langley Collyer) ผู้รักสันโดษและชอบสะสมข้าวของ เสียงลือยังกล่าวอีกว่า พวกเขาขลุกตัวอยู่แต่ในบ้าน จะออกมาก็เฉพาะเวลากลางค่ำกลางคืน

เจ้าหน้าที่ไม่พบทรัพย์สินมีค่าใดๆ หลังจากตรวจค้นภายในบ้าน พบแต่เพียงกองขยะในทุกห้อง ที่อัดแน่นกองสูงยันเพดานและศพของโฮเมอร์ คอลลีเออร์ ส่วนแลงจ์ลีย์ไม่รู้อยู่ที่ไหน ทั้งตำรวจและสื่อกระจายข่าวติดตามหาตัวไปทั่วทุกรัฐ ระหว่างนั้นทีมงานค่อยๆ กวาดรื้อขยะออกจากบ้าน ชาวเมืองที่ใคร่รู้พากันมายืนออรอดู ว่าสองพี่น้องเก็บสะสมอะไรไว้บ้างตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ปี 1909 สองพี่น้องคอลลีเออร์โยกย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านบราวน์สโตน หลังที่มีสี่ชั้นในย่านฮาร์เล็ม พวกเขามีพื้นเพจากครอบครัวผู้ดีเก่า บรรพบุรุษมาตั้งรกรากในนิวยอร์กช่วงศตวรรษที่ 17 ทั้งสองสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โฮเมอร์-ผู้พี่เกิดเมื่อปี 1881 เป็นนักกฎหมาย ส่วนแลงจ์ลีย์-น้องชายวัยอ่อนกว่าสี่ปี มีอาชีพวิศวกร

ความแหกคอกผ่าเหล่าเริ่มต้นขึ้นจากครอบครัว เฮอร์แมน คอลลีเออร์ (Herman Collyer) ผู้เป็นพ่อซึ่งมีอาชีพเป็นหมอ มักเดินทางไปกลับคลินิกทุกวันด้วยเรือแคนูผ่านแม่น้ำอีสต์ ส่วนแม่-ซูซี เกจ (Susie Gage) เป็นแม่บ้าน เลี้ยงดูลูกชายทั้งสองไม่ห่างตามแบบฉบับของตน กระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 1929 ขณะยังพักอยู่ในบ้านที่ฮาร์เล็มกับโฮเมอร์และแลงจ์ลีย์ หลังจากผู้เป็นพ่อได้ย้ายออกไปก่อนหน้า พี่น้องทั้งสองไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังคนเดียว หรือมีครอบครัว

กระทั่งต้นทศวรรษ 1930s สองพี่น้องเริ่มใช้ชีวิตผิดเพี้ยนไปจากปกติ โฮเมอร์ทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ในสำนักงานกฎหมาย ฝ่ายแลงจ์ลีย์ที่มีพรสวรรค์ด้านการเล่นเปียโนนั้น เคยมีโอกาสถึงขั้นโชว์ฝีมือการแสดงในคาร์เนกีฮอลล์

ด้วยความมัธยัสถ์ โฮเมอร์ยอมเดินเท้าไปสำนักงานแทนการเสียเงินนั่งรถไฟใต้ดิน รองเท้าของเขาสึกจนพื้นรองเท้าบางเหมือนแผ่นกระดาษ ที่บ้าน คอลลีเออร์แจ้งยกเลิกการใช้โทรศัพท์มาตั้งแต่ปี 1917 สาเหตุเพราะถูกเรียกเก็บค่าโทรศัพท์ทางไกลทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยใช้จริง ส่วนไฟฟ้า น้ำประปาก็ถูกหน่วยงานรัฐมาถอดมิเตอร์ออกไปเพราะความคลาดเคลื่อน

นับแต่นั้น ทั้งโฮเมอร์และแลงจ์ลีย์ต้องอาศัยความร้อนจากน้ำมันก๊าด นานวันเข้าสองพี่น้องก็เริ่มถอยตัวออกห่างจากโลกภายนอก เพราะความหวาดกลัวต่อเพื่อนบ้าน เมื่อครั้งหนึ่งนั้นฮาร์เล็มเคยเป็นถิ่นอาศัยของคนผิวขาว ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง แต่ครั้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คนผิวดำก็โยกย้ายเข้ามาตั้งรกรากเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

พี่น้องคอลลีเออร์หวาดกลัวเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกัน บรรดาเพื่อนบ้านก็หวาดกลัวบุคคลทั้งสองเช่นกัน พวกเขาเชื่อกันว่า สองพี่น้องต้องแอบซุกซ่อนศพของพ่อและแม่ไว้ภายในบ้าน และร่ำลือกันว่าแลงจ์ลีย์ คอลลีเออร์ เป็นภูตผี เหตุเพราะเขาออกจากบ้านเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น

ภายใต้ร่มเงามืดของค่ำคืน แลงจ์ลีย์มักเดินท่อมเข้าไปในสวนสาธารณะเพื่อหิ้วน้ำเข้าบ้าน หรือออกไปซื้อของ บ่อยครั้งเขามักหอบหิ้วหนังสือพิมพ์ อะไหล่รถยนต์ ร่ม และข้าวของต่างๆ ซึ่งเป็นขยะสำหรับคนอื่นๆ เข้าบ้าน ระหว่างที่ออกจากบ้าน เขามักสวมเสื้อผ้าโทรมๆ เพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกจี้ปล้น

ปี 1934 โฮเมอร์เริ่มมีอาการมองไม่เห็น สาเหตุจากเลือดออกในนัยน์ตา ถึงกระนั้นทั้งสองก็ไม่ยอมเข้ารับการรักษาจากหมอ เนื่องจากกลัวว่าหมอจะผ่าตัดเส้นประสาทตาของโฮเมอร์พลาด แลงจ์ลีย์จึงต้องบำบัดรักษาพี่ชายด้วยวิธีควบคุมอาหารแบบพิเศษ โดยให้รับประทานส้มสัปดาห์ละ 100 ลูก

บ้านของพี่น้องคอลลีเออร์ค่อยๆ แปรสภาพเป็นปราการ หนังสือจำนวนมหาศาลถูกอัดเรียงไว้ตามชั้นวางติดผนัง ส่วนหนังสือพิมพ์และข้าวของอื่นๆ ถูกวางซ้อนกันเป็นกองพะเนิน เว้นช่องไว้เป็นอุโมงค์และทางเดิน ทั้งหมดถูกรัดและยึดไว้ด้วยเส้นลวดเพื่อเป็นกับดัก หากโจรขโมยแอบย่องเข้าไปแล้วพลาดท่าสะดุดเส้นลวดเมื่อไร ภูเขาขยะก็จะทลายลงทับในทันที

แลงจ์ลีย์เฝ้าปรนนิบัติพี่ชายอยู่นานหลายปี คอยอ่านหนังสือ ป้อนอาหาร เช็ดตัวให้เขา ด้วยความหวังและความเชื่อว่าสักวันหนึ่งนัยน์ตาของพี่ชายจะกลับมาเห็นแสงสว่างได้อีกครั้ง “ผมเก็บหนังสือพิมพ์เหล่านี้ไว้ให้โฮเมอร์” เขาเคยบอกกับเพื่อนบ้านครั้งหนึ่ง ทั้งหมดนั้นเพื่อการมีชีวิตอยู่ของเขา

ปี 1942 เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจะเข้าไปรื้อบ้านของคอลลีเออร์ เนื่องจากสองพี่น้องไม่ยอมชำระเงินค่าจำนองบ้าน หลังจากพยายามค้นหาอยู่นาน เจ้าหน้าที่ก็พบตัวแลงจ์ลีย์ในห้องที่เต็มไปด้วยขยะ เขาใช้เวลารื้อคุ้ยอยู่สักพัก ก่อนนับเงินจำนวนพันดอลลาร์ส่งยื่นให้เจ้าหน้าที่ สองพี่น้องจึงมีสิทธิ์อยู่ต่อ ข่าวนี้กระจายไปถึงหูสื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก เฮรัลด์ ทริบูน ถึงกับยกย่องทั้งสองเป็น ‘วีรบุรุษนอกรีต’

ทั่วทั้งนิวยอร์กพากันติดตามข่าวอย่างใจจดใจจ่อ หลังจากมีคนไปพบศพของโฮเมอร์ คอลลีเออร์อยู่ท่ามกลางกองขยะเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1947 เขาเสียชีวิตจากสภาวะอดอาหาร ตำรวจสันนิษฐานว่า แลงจ์ลีย์น่าจะเป็นบุรุษลึกลับที่โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ให้เดินทางไปที่บ้านหลังนั้น หน่วยงานเอฟบีไอเริ่มปฏิบัติการ ปรากฏข่าวแจ้งว่ามีคนเห็นแลงจ์ลีย์ขึ้นรถบัสคันหนึ่งมุ่งหน้าไปทางนิวเจอร์ซีย์ ต่อมามีข่าวว่าเขาเดินทางไปนอร์ธ แคโรไลนา

ในขณะที่คนงานและตำรวจเคลียร์พื้นที่บ้าน พวกเขาพบเปียโน 14 หลัง ไวโอลิน รถเข็นเด็ก ร่ม และกระดูกม้า นอกจากนั้นยังมีชิ้นส่วนอะไหล่จากรถฟอร์ด โมเดลที ภาพวาดสีน้ำมัน แปรง ปืน ดาบโค้ง เครื่องเย็บผ้า และอื่นๆ อีกมาก คนงานต้องขนขยะน้ำหนักรวมประมาณ 50 ตันออกไป และนั่นเฉพาะจากบริเวณชั้นล่างของบ้าน

วันที่ 8 เมษายน 1947 มีคนพบแลงจ์ลีย์ คอลลีเออร์ในที่สุด ร่างของเขาอยู่ห่างจากศพของพี่ชายเพียงไม่กี่เมตร ตำรวจสันนิษฐานว่า ตอนที่แลงจ์ลีย์นำอาหารไปให้พี่ชาย เขาน่าจะติดกับดักของตัวเอง ทำให้กองขยะล้มทับตัวเขา และขาดใจตาย ตำรวจรายงานว่า มือของแลงจ์ลีย์เหยียดยื่นไปทางพี่ชาย ที่กำลังรออาหารจากเขา

ขยะสารพัดสิ่งที่สองพี่น้องคอลลีเออร์เก็บสะสมไว้ภายในบ้านตลอดระยะเวลาหลายปีนั้น มีน้ำหนักรวมกันกว่า 100 ตัน ทว่าไม่มีทรัพย์สินที่มีค่าแต่อย่างใด การประมูลขายสิ่งของต่างๆ เหล่านั้น เจ้าหน้าที่ได้เงินมาเพียงไม่กี่พันดอลลาร์

หลังจากคนงานเก็บกวาดข้าวของออกจากพื้นที่เสร็จแล้ว เทศบาลเมืองก็มีคำสั่งให้รื้อบ้านหลังนั้นทันที

 

 

อ้างอิง:

  • Spiegel Online
  • E.L. Doctorow, Homer & Langley, Random House (2010)
Tags: , , ,