อุณหภูมิที่ลดฮวบลงเมื่อต้นเดือนมาพร้อมกับข่าวที่ชวนสลด—หนาวตาย ทั้งที่จังหวัดบึงกาฬ มหาสารคาม ชัยนาท และมีข่าวเพิ่มขึ้นอีกในสัปดาห์นี้ด้วย โดย ‘การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว’ (cold weather related death) เป็น 1 ใน 3 ภัยสุขภาพในช่วงฤดูหนาวที่กรมควบคุมโรคได้ประกาศเตือนมาก่อนหน้านี้

การปรับตัวของร่างกายต่ออากาศหนาว

ปกติร่างกายของเราจะมีอุณหภูมิภายในร่างกายคงที่ 37 องศาเซลเซียส บวกลบไม่เกิน 0.5 องศาเซลเซียส ถึงแม้อุณหภูมิสิ่งแวดล้อมภายนอกจะลดต่ำลงอย่างไร ร่างกายก็จะพยายามปรับตัวให้อุณหภูมิภายในคงที่เสมอด้วยการรักษาความสมดุลระหว่าง ‘ความร้อนที่ร่างกายสร้างขึ้น’ กับ ‘ความร้อนที่ร่างกายสูญเสีย’

โดยความร้อนที่สร้างขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเผาผลาญระดับเซลล์ที่หัวใจและตับ 

ส่วนความร้อนที่สูญเสียไปมักเกิดผ่านการพาความร้อนออกไปกับอากาศที่เย็น หรือการนำความร้อนออกไปกับน้ำ (เช่น ผู้ป่วยจมน้ำ ก็จะทำให้มีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำได้) แต่ถ้าร่างกายไม่สามารถผลิตความร้อนได้ทัน สมองก็จะสั่งให้เกิดการสั่นขึ้นมา อย่างที่บางคนน่าจะเคยหนาวจนตัวสั่น นั่นก็เพื่อสร้างความร้อนขึ้นมาชดเชยนั่นเอง 

นอกจากนี้ปลายมือปลายเท้าจะเป็นบริเวณที่เส้นเลือดใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความร้อนได้ง่าย สมองก็จะสั่งให้เส้นเลือดที่จะมาเลี้ยงส่วนนี้หดตัวด้วย (ไม่ให้เลือดไหลมาพาความร้อนออกไปจนหมด) แต่ขณะเดียวกันเส้นเลือดบริเวณนี้ก็จะหดตัวอยู่แล้วเมื่อเจอกับอากาศหนาว ทำให้ ‘มือแข็ง’ ขยับมือลำบาก หรือชาปลายมือปลายเท้า ซึ่งพอรู้สึกหนาวมากเข้า เราก็จะหาถุงมือถุงเท้ามาสวม หาเสื้อกันหนาวมาใส่ 

หรือถ้าออกไปข้างนอกแล้วทนไม่ไหว เราก็จะหนีกลับเข้ามาหลบลมหนาวอยู่ในตัวบ้าน อย่างนี้ก็ถือเป็นการปรับตัวเชิงพฤติกรรมของเราต่ออุณหภูมิที่ลดต่ำลงเช่นกัน

หากอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ 

เมื่อสัมผัสกับอากาศหนาวจัดเป็นเวลานาน ยิ่งหากไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอ ร่างกายจะไม่สามารถปรับสมดุลความร้อนในร่างกายได้ อุณหภูมิภายในจะเริ่มลดลงจาก 37 องศาเซลเซียส เรียกว่า ภาวะเครียดจากความเย็น (Cold stressed) ระยะนี้ผู้ป่วยจะยังพูดคุยรู้เรื่องและสามารถดูแลตัวเองได้ ยกเว้นแต่อาการหนาวสั่นเท่านั้น 

จนอุณหภูมิภายในต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส จะเกิดภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) ผู้ป่วยจะเริ่มคุยไม่รู้เรื่องและไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ภาวะนี้จึงอันตรายเพราะผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าจะต้องทำอะไร ถ้าอุณหภูมิลดลงอีกถึงต่ำกว่า 32 องศาเซลเซียส อาจไม่มีอาการสั่นแล้ว แต่ผู้ป่วยจะเริ่มซึม ถามไม่ตอบ

กระทั่งอุณหภูมิน้อยกว่า 28 องศาเซลเซียสก็จะหมดสติไป และเสียชีวิตได้ 

ในอเมริกา ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุที่ขาดแคลนอาหาร ไม่ได้สวมเครื่องนุ่งห่ม หรือการให้ความอบอุ่นที่เพียงพอ, เด็กที่หลับในห้องนอนที่เย็น, คนที่อยู่นอกอาคารเป็นเวลานาน เช่น คนจรจัด นักปีนเขา นายพราน และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด (ทำให้การรับรู้สติแย่ลง และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อีก) 

ส่วนในประเทศไทย พบได้ตั้งแต่กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 4, ผู้ที่มีประวัติดื่มสุราก่อนเสียชีวิต, และมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ และโรคปอดเรื้อรัง แต่ที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่เสียชีวิตภายในอาคาร โดยเฉพาะภายในบ้านพักของตัวเอง แต่นอนโดยไม่สวมเสื้อผ้าหรือห่มผ้าเพียงพอที่จะป้องกันความหนาวเย็นจากอากาศได้

สำหรับเกณฑ์ ‘แจกผ้าห่ม’ หรือการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวของกระทรวงการคลัง  ในอดีตกำหนดให้อุณหภูมิอากาศจะต้องต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 3 วัน แต่ต่อมามีการทักท้วงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเมื่อปี 2558 (เพราะตรวจพบการทุจริตในการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาว) จึงมีการทบทวนเกณฑ์ ‘หนาวจัดผิดปกติ’ (very cold) ใหม่ให้ตรงตามนิยามของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าอุณหภูมิอากาศจะต้องต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส 

 แต่ทว่าจากแผนภูมิสถานการณ์การเสียชีวิตจากอากาศหนาวย้อนหลัง 3 ฤดูหนาวที่ผ่านมาจะสังเกตว่า ถึงแม้อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมจะลดลงไม่ถึง 8 องศาเซลเซียสก็พบรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว จึงควรมีการศึกษาอย่างละเอียดเพื่อปรับเปลี่ยนเกณฑ์การช่วยเหลือประชาชนให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งล่าสุดก็มีข่าวปลัดกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ใช้เกณฑ์การช่วยเหลือเป็น 15 องศาเซลเซียสเป็นกรณีพิเศษ  

(ทั้งนี้เกณฑ์อากาศหนาว หรือ cold ของกรมอุตุนิยมวิทยาคือต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียส)

การป้องกันและการช่วยเหลือเบื้องต้น

เนื่องจากภาวะนี้เกิดขึ้นกับ ‘กลุ่มเสี่ยง’ ที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความหนาวเพียงพอ ดังนั้นคนในครอบครัวจึงควรดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าผู้นั้นไม่มีคนดูแลหรือมีฐานะยากจน (น่าเสียดายที่ระบบเฝ้าระวังโรคไม่ได้เก็บข้อมูลด้านเศรษฐสถานะของผู้เสียชีวิต) หน่วยงานในชุมชนก็ต้องช่วยกันจัดหาเครื่องนุ่งห่มหรือที่อยู่อาศัยให้ 

ทั้งนี้มีข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งผู้ที่ดื่มเหล้าเบียร์เป็นประจำเข้าใจว่าช่วยให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดขยายตัว อย่างที่ดื่มแล้วหน้าแดง (ตรงกันข้ามกับความพยายามในการทำให้เส้นเลือดหดตัวของร่างกาย) ส่งผลให้มีการพาความร้อนออกไปกับอากาศมากขึ้น

สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยสงสัยภาวะตัวเย็นเกิน คือมีอาการหนาวสั่น สับสน พูดไม่ชัด หรือซึมระหว่างที่อากาศหนาวเย็น มีหลักการ 2 ข้อ ได้แก่ 1.ร้องขอความช่วยเหลือ และ 2.ให้ความอบอุ่นกับผู้ป่วย นั่นคือภายหลังจากเราตั้งสติได้แล้ว (ความจริงต้องเป็นข้อ 0.) ต้องโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาล 

โดยระหว่างรอให้นำผู้ป่วยเข้ามาอยู่ภายในอาคารหรือห้องที่อุ่น ระมัดระวังให้ผู้ป่วยออกแรงน้อยที่สุด เพราะช่วงแรกการขยับร่างกายจะทำให้เลือดที่เย็นจากส่วนปลายเข้าสู่ส่วนกลางส่งผลให้อาการแย่ลงได้ แล้วห่มผ้าห่ม หากผู้ป่วยรู้สึกตัวสามารถให้ดื่มเครื่องดื่มอุ่นได้ แต่ถ้าหากผู้ป่วยหมดสติและคลำชีพจรไม่ได้จะต้องช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจ

ข่าวการเสียชีวิตจากการหนาวตายเป็นเรื่องที่ชวนสลด เพราะสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งด้านชีวภาพ เช่น ผู้สูงอายุ และด้านสังคมและเศรษฐกิจ เช่น ขาดแคลนเครื่องนุ่งห่ม (ซึ่งก็เสี่ยงต่อการเสียชีวิตอยู่แล้ว) ไม่ได้รับดูแล ทั้งที่ภาวะตัวเย็นเกินจนกระทั่งเสียชีวิตสามารถป้องกันได้ด้วยการมีปัจจัยสี่อย่างเพียงพอ 

ส่วนคนทั่วไปก็ไม่ควรประมาท พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอากาศหนาวจัดโดยตรงนะครับ

 

แหล่งอ้างอิงหลัก

Accidental hypothermia in adults

Tags: ,