ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทักษะและความรู้เชิงดิจิทัลคือสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ การสนับสนุนให้เยาวชนไทยมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 จึงเป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของบุคลากรทางการศึกษาในการร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปในสมรภูมิเศรษฐกิจระดับโลก
‘โสภิตา จันทรส’ บุคลากรทางการศึกษาจากโครงการ ‘YouthSpark’ คือคนหนึ่งที่กำลังทำหน้าที่ดังกล่าว ด้วยเป้าหมายในการสร้างการเข้าถึงทักษะเชิงดิจิทัลให้กับเยาวชนทั่วประเทศและเยาวชนผู้พิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและขาดโอกาส เธอจึงเดินทางไปฝึกอบรมทักษะด้านคอมพิวเตอร์และการโค้ดดิ้งเบื้องต้นให้กับเยาวชนผู้พิการและขาดโอกาสมาแล้วทั่วประเทศ
โสภิตาให้ข้อมูลว่า กลุ่มเด็กที่อบรมมีสองประเภท คือกลุ่มเด็กพิการ ซึ่งมีทั้งที่พิการทางร่างกายอย่างเดียว และพิการทั้งทางร่างกายและสติปัญญา อีกกลุ่มคือกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่อยู่บนดอย
หากเป็นเด็กพิการโดยกำเนิดก็มักจะไม่ได้เข้าเรียนตามวัย ส่วนเด็กที่พิการทั้งทางร่างกายและสติปัญญาก็มักจะมีลักษณะสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจำสิ่งต่างๆ และไม่สามารถเรียนการโค้ดดิ้งแบบหลักสูตรปกติได้ ขณะที่เด็กที่อาศัยอยู่บนดอยก็มักจะขาดเครื่องมือและสื่อในการเรียนรู้ และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ค่อยดีนัก
การสอนเขียนโค้ดดิ้งในโครงการนี้จึงไม่ได้เริ่มต้นจากการสอนโค้ดดิ้ง แต่จะเริ่มจากการสอนกระบวนการคิดเพื่อฝึกทักษะการแก้ปัญหา แล้วจึงเริ่มสอนเกี่ยวกับสัญลักษณ์และภาษาโค้ด โดยจะเป็นการสอนโค้ดดิ้งเบื้องต้น ส่วนคนที่ต้องการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตนเองจากช่องทางอื่นๆ ได้
โสภิตากล่าวถึงรายละเอียดการเรียนการสอนว่า “วิธีการสอนของโครงการจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ความถี่ในการสอนคือเราจะเดินทางไปต่างจังหวัดเดือนละหนึ่งครั้ง โดยจะใช้เวลาสอนหนึ่งวันต่อเด็กหนึ่งกลุ่ม และการเดินทางไปแต่ละจังหวัดนั้นไม่ได้สอนเพียงวันเดียว อาจใช้ระยะเวลา 3-7 วัน แล้วแต่จำนวนของเด็ก และกลุ่มเด็กที่สอนในแต่ละวันจะไม่ซ้ำกัน
“กติกาคือ จะทำให้เด็กรู้สึกว่าพวกเขากำลังเล่นเกม เช่น ให้แข่งกันตอบคำถาม รวมถึงมีกฎว่า ถ้ามีคนที่ยังทำงานไม่เสร็จ ก็จะไม่ได้ไปพักกันทั้งห้อง ทำให้เด็กๆ เรียนรู้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันและการทำงานเป็นทีม”
นอกจากโครงการ YouthSpark มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เห็นความสำคัญของการเปิดโอกาสให้เยาวชนผู้พิการได้เข้าถึงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และทักษะเชิงดิจิทัล โดยในปี 2560 มูลนิธิพระมหาไถ่ฯ จัดอบรมทักษะเชิงดิจิทัลให้กับคนพิการมาแล้วมากกว่า 1,000 คน และด้วยความร่วมมือกับโครงการ YouthSpark ทำให้มูลนิธิพระมหาไถ่ฯ สามารถนำการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มารวมอยู่ในหลักสูตรได้สำเร็จในแปดโรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่หกจังหวัด
สำหรับโครงการ YouthSpark ในปี 2561 มูลนิธิพระมหาไถ่ฯ จะขยายโอกาสให้กับคนพิการชาวไทยด้วยการเพิ่มการเข้าถึงวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผ่านการฝึกอบรมทักษะด้านเทคโนโลยี โดยผู้ฝึกอบรมซึ่งจัดแบ่งเป็น 25 กลุ่มตามภูมิลำเนา จะจัดฝึกอบรมให้กับคนในท้องถิ่น 750 คน และเยาวชนจากบ้านเด็กกำพร้าในพื้นที่ห่างไกลอีก 75 คน
ทำไมจึงเลือกใช้วิธีโค้ดดิ้ง หลายคนคงมีคำถามนี้อยู่ในใจ
โสภิตาตอบคำถามนี้ว่า “การโค้ดดิ้งเป็นทักษะสำคัญสำหรับการเปิดโอกาสทางด้านอาชีพให้กับเด็กเหล่านี้ในอนาคต และยังเป็นการปูพื้นฐานพร้อมกับสอนทักษะการใช้ชีวิตและการเอาตัวรอดในสังคมที่จำเป็นอย่างยิ่ง เช่น การสอนให้คิดอย่างเป็นระบบ การคิดเชิงวิเคราะห์ และการฝึกทักษะในการแก้ไขปัญหา”
นอกจากจะช่วยเปิดโอกาสทางด้านอาชีพ โสภิตายังเห็นว่าการโค้ดดิ้งมีประโยชน์ตรงที่มันเป็นภาษาที่ใช้คุยกับคนได้ทั่วโลก ซึ่งแตกต่างจากการเรียนภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ หากเด็กที่ได้รับการฝึกอบรมต้องการพัฒนาตัวเองทางด้านนี้อย่างจริงจัง พวกเขาก็สามารถคุยกับใครก็ได้ทั่วโลกด้วยภาษาโค้ด
นอกจากนี้ เธอคิดว่าการโค้ดดิ้งเหมาะกับเด็กที่พิการทางร่างกาย เนื่องจากถึงแม้ว่าร่างกายของพวกเขาจะไม่พร้อม แต่สติปัญญาและการคิดวิเคราะห์ของพวกเขายังใช้การได้ดี อีกทั้งการโค้ดดิ้งเป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถทำที่บ้านได้ และหากทำเป็นอาชีพ ก็จะทำให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเองได้
และจากประสบการณ์ โสภิตาบอกว่า “เด็กที่พิการทางร่างกายมักจะมีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้มากเป็นพิเศษ เพราะต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้รับโอกาสในการศึกษา”
ชยณัฐ โภชนาทาน นักเรียนหลักสูตรการพัฒนาระบบสารสนเทศ โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา คือหนึ่งในเยาวชนผู้พิการที่มีโอกาสได้รับการฝึกอบรมการโค้ดดิ้ง ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้เขาได้เป็นผู้ให้
“เมื่อปีที่แล้ว ผมได้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมการโค้ดดิ้ง ซึ่งทำให้ผมได้มีโอกาสทำตามความฝันของตัวเอง ก่อนหน้านี้ ผมเคยเป็นแต่ผู้รับที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่น แต่หลังจากได้รับการฝึกอบรม จึงทำให้ผมมีทักษะและความมั่นใจในการเป็นผู้ให้ ด้วยการสอนการโค้ดดิ้งให้กับผู้อื่นบ้าง”
สำหรับเป้าหมายในปี 2561 โครงการ YouthSpark มีเป้าหมายที่จะจัดอบรมครูผู้ฝึกจำนวน 1,200 คนภายในเดือนตุลาคม และทีมครูผู้ฝึกซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่มีภูมิหลังหลากหลาย เช่น ผู้นำศูนย์ดิจิทัลชุมชน องค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับท้องถิ่น และครูจากโรงเรียนต่างๆ จะทำหน้าที่ถ่ายทอดทักษะ ความเข้าใจ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่ว่างงานและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจำนวน 18,000 คนทั่วประเทศ
สำหรับ โสภิตา จันทรส ในฐานะฟันเฟืองชิ้นหนึ่งของโครงการ ความคาดหวังของเธอคืออยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าการโค้ดดิ้งเป็นเรื่องง่ายที่นำไปใช้ได้จริง และโครงการนี้ก็เป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่
“สิ่งที่สำคัญคืออยากให้เด็กๆ รู้สึกสนุกและเรียนรู้กับเราไปเรื่อยๆ และหวังว่าพวกเขาจะมีแรงบันดาลใจในการทำตามความฝันของตัวเอง และหากพวกเขารู้สึกสนุก พวกเขาก็จะไปแนะนำเพื่อนๆ ต่อ และเปลี่ยนความคิดจากมุมมองที่ว่าการโค้ดดิ้งเป็นเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องสนุก”
Fact Box
‘YouthSpark’ คือโครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ที่ดำเนินการในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาสังคมเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนไทยมีทักษะที่จำเป็นและเตรียมพร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21
สำหรับปี 2561 ความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น และมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการ คือความร่วมมือในปีที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเข้าถึงทักษะดิจิทัลแก่เยาวชนทั่วประเทศและเยาวชนผู้พิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและขาดโอกาส ด้วยการจัดอบรมทักษะด้านคอมพิวเตอร์และการโค้ดดิ้งเบื้องต้น