วันที่ 16 สิงหาคม 2565 วทันยา บุนนาค หรือ ‘มาดามเดียร์’ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประกาศลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โดยให้เหตุผลว่าพรรคของเธออาจมีส่วนร่วมในการทำ ‘สภาฯ ล่ม’ จากการที่ ส.ส. พากันหายจากห้องประชุมในการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แบบหาร 500 ซึ่งเป็น ‘เกมการเมือง’ เพื่อทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตก กลับไปใช้รูปแบบหาร 100 เช่นเดิม
ครั้งนั้น วทันยาบอกว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ อย่างมากที่รัฐสภาซึ่งควรจะเป็นที่พึ่งของประชาชนกลับเล่นเกมการเมืองจนไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่ฝากความหวังไว้กับ ส.ส.
หลังการลาออกของเธอ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เคยมีภาพว่าเป็นกลุ่มเดียวกับวทันยา ออกมากล่าวว่า การตัดสินใจของวทันยาอาจเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับสภาฯ ล่ม และอาจเป็นเพราะต้องการไปร่วมงานกับ ‘พรรคเกิดใหม่’ ที่ปัจจุบันมีอยู่หลายพรรค
“แม้ว่าการลาออกของเรา คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์อะไร แต่ว่าอย่างน้อย เราก็อยากให้ประชาชน ให้สังคมรับรู้ว่า ในบรรดานักการเมืองเหล่านั้นก็ยังมีนักการเมืองคนนี้ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนนักการเมืองคนอื่นที่ยังไม่ทันได้ฉุกคิด เราก็หวังว่าการลาออกของเราจะเป็นเครื่องเตือนสติให้กับสังคมก็ดี หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการเมืองก็ดี ว่ามันควรจะต้องมีเส้นแบ่งระหว่างคำว่าเหมาะสม-ไม่เหมาะสม ถูก-ผิด และขาว-ดำ บางอย่างไม่ควรที่จะลุแก่อำนาจ”
การลาออกของวทันยาทำให้เกิดการคาดเดาว่าเธอจะเข้าร่วมงานกับพรรคการเมืองใด แม้เธอจะเพิ่งเป็น ส.ส. เพียงสมัยแรก แต่ภาพส่วนหนึ่งของเธอที่คนภายนอกมองก็คือภาพของ ‘ทุน’ ที่หนุนอยู่เบื้องหลังของเธอ ที่อาจ ‘ตอบโจทย์’ กับบางพรรคได้
หลังจากนั้นไม่นาน วทันยาเปิดตัวกับพรรคเก่าแก่อย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับสังคมไม่น้อย
วทันยาเตรียมลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นาน เธอเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มอบหมายให้รับผิดชอบการเลือกตั้ง ส.ส. ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมี สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ร่วมทีม
Close-Up สนทนากับ วทันยา บุนนาค ถึงบทเรียนและเส้นทางการเมืองตลอด 3 ปีที่ผ่านมาของเธอ ทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านหลังเก่าที่ชื่อพลังประชารัฐ ไปจนถึงแนวทางการลุยสนามการเมืองยกที่ 2 กับบ้านหลังใหม่ที่ชื่อประชาธิปัตย์
เส้นทางการเมืองของคุณตลอดสามปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
ในการทำงานฐานะ ส.ส. เรามองตัวเองเป็นเพียงแค่ฟันเฟืองหนึ่งของระบบนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูเรื่องของกฎหมาย ตรวจสอบ และถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลเพียงเท่านั้น ดังนั้นหากให้พูดถึงการทำงานที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่ตระหนักอยู่ตลอด คือหน้าที่และเอกสิทธิ์ของการเป็น ส.ส. ว่าได้รับมาจากประชาชน ไม่ใช่ของพรรคการเมือง จึงต้องทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ ตามความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งตลอดสามปีกว่าที่ผ่านมา เราว่าเรายืนยันในเจตนารมณ์ตรงนี้ชัดเจนมาโดยตลอด
คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากพรรคพลังประชารัฐ
ในพรรคพลังประชารัฐเราจะมีคำพูดเล่นๆ อยู่ว่า ที่นี่เป็นเหมือนหลักสูตรเร่งรัด เพราะเราได้เข้าไปอยู่องค์กรการเมืองขนาดใหญ่ที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน จึงต้องเรียนรู้การวางระบบ นโยบาย ระเบียบต่างๆ กันใหม่หมด
ข้อดีก็คือมันก็ทำให้เราได้มีโอกาสได้ลองทำงานที่หลากหลาย ทุกคนก็ต้องพยายามหาทางขับเคลื่อนงานและภารกิจของตัวเองให้เดินไปข้างหน้า อย่างตอนเลือกตั้ง ก็มีโอกาสได้ลงพื้นที่ หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นประสบการณ์อันทรงคุณค่า ได้ลงไปสัมผัสหน้างานหลายบทบาท หลากรูปแบบ เป็นเรื่องท้าทายและสนุกมาก แต่ในขณะเดียวกันความยังไม่ชัดเจนของโครงสร้างในองค์กร ก็นำมาซึ่งความไม่เข้าใจ ความขัดแย้งอยู่บ่อยครั้งด้วยเช่นกัน
‘เอกสิทธิ์ที่ได้จากประชาชน’ ของคุณในฐานะ ส.ส. กลายเป็นผลงานด้านไหนบ้าง
ถ้าติดตามการทำงานของเรามาตลอด จะเห็นว่าการโหวตในหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการออกกฎหมาย และการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เราก็มีแนวคิดของตัวเองที่ชัดเจนมาโดยตลอด รวมไปถึงการโหวตไม่ไว้วางใจตรวจสอบรัฐมนตรีที่อภิปรายในแต่ละครั้งด้วยเช่นกัน
คือเราก็ให้โอกาสรัฐมนตรีที่เข้ามาชี้แจง อภิปรายในข้อซักถามของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และให้ความสำคัญกับการรับฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านด้วยน้ำหนักที่เท่ากัน เพื่อพิจารณาและลงคะแนนเสียงด้วยความรอบคอบมาเสมอ ดังนั้น ในการลงคะแนนเสียง รัฐมนตรีท่านไหนที่ยังมีข้อให้สงสัย ก็จะไม่ได้รับคะแนนเสียงจากเราไป กลับกันหากรัฐมนตรีท่านไหนที่เราเห็นว่าสามารถตอบคำถามของฝ่ายค้านได้ชัดเจน ก็จะได้คะแนนเสียงจากเราไป ซึ่งทั้งหมดนี้คือการเลือกด้วยเจตนารมณ์และความถูกต้อง ไม่ยึดโยงกับมติพรรคเพียงอย่างเดียว
หรือในฐานะนิติบัญญัติ จะเห็นได้ว่าในตลอดการโหวตกฎหมาย ก็ไม่ได้เลือกโดยอ้างอิงว่าเราอยู่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่เราดูที่เจตนารมณ์ของตัวกฎหมายว่าอะไรเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า
ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ก็นำมาสู่การลาออกจากการเป็น ส.ส. รวมไปถึงสมาชิกพลังประชารัฐด้วยเช่นกัน
จุดยืนของคุณที่ขัดแย้งกับมติของพรรคต้นสังกัด มีส่วนทำให้เกิดปัญหาในการทำงานของคุณไหม
คือทุกครั้งก็จะมีการเข้าไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ภายในพรรคอยู่ตลอดว่า อันไหนเราเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเราก็จะเรียนกับผู้ใหญ่ทุกครั้งว่า ด้วยจุดยืนของเรา จึงจำเป็นต้องสงวนหรือรักษาสิทธิในประเด็นที่ความเห็นไม่ตรงกับพรรค
แน่นอนว่าทางพรรคจะมีบทลงโทษตามมา แต่เราก็น้อมรับในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ได้เลือกตัดสินใจแล้ว อย่างตอนที่โหวตไม่ไว้วางใจคุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ท่านมีคำชี้แจงที่ไม่ชัดเจน ในการล้มการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และข้อพิพาทการเรียกคืนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ เราก็ได้รับบทลงโทษจากทางพรรคห้ามเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคใดๆ ในฐานะกรรมาธิการเป็นเวลาทั้งหมดสามเดือน
เมื่อเกิดกรณีที่มีจุดยืนแตกต่างกับมติพรรค รู้สึกไหมว่าคุณตัดสินใจผิดที่เลือกอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ
ต้องขอใช้คำว่าไม่ได้ตัดสินใจผิดแต่อย่างใด
ในแต่ละช่วงเวลา แต่ละเงื่อนไข แต่ละสภาพแวดล้อม มันก็แตกต่างกันนับจากวันแรกจนถึงวันนี้ ในวันแรกที่ตัดสินใจร่วมกับพลังประชารัฐ ตอนนั้นเราคือเอกชนที่ทำสื่อมวลชนอยู่ เราเห็นความขัดแย้ง เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยตลอดสิบปีที่ผ่านมา เราเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทางตรงและทางอ้อม เห็นว่าเราเสียโอกาสไปมากแค่ไหนจากความขัดแย้งทางการเมือง
ดังนั้น จุดมุ่งหมายทางการเมืองครั้งแรก เราจึงมองว่าจะทำอย่างไรให้การเมืองไทยไม่ติดล็อกอยู่ในวงเวียนการแบ่งขั้วการเมือง 2 ฝ่าย ซึ่งในวันนั้นคือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย คือสีเหลืองและสีแดง ซึ่งไม่ว่าพรรคหนึ่งพรรคใดได้เป็นรัฐบาล ก็จะมีอายุของรัฐบาลที่สั้น แถมระยะเวลาสั้นก็ไม่ได้เป็นช่วงเวลาที่สามารถบริหารงานได้เต็มที่ เพราะอีกไม่นานก็จะมีเรื่องของการประท้วง การชุมนุมของขั้วฝ่ายตรงข้าม มันก็จะเป็นแบบนี้กันมาตลอด
ในวันนั้น เราก็หวังว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีความเข้มแข็งมากเพียงพอในการเป็นทางเลือกที่สาม สี่ และห้าให้กับประชาชน และในท้ายที่สุดการเมืองไทยจะคลายล็อกจากขั้วอำนาจสองฝ่ายที่เป็นอยู่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่เราตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ
อย่างไรก็แล้วแต่ วันนี้เราก็ต้องไม่ปฏิเสธว่า ด้วยบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป วันนี้พรรคพลังประชารัฐก็เหมือนกลายเป็นตัวแทนของความขัดแย้งเสียเอง จุดนี้เราก็ยอมรับ แต่ถ้าถามว่าเสียใจไหม เราตอบได้ว่าไม่เสียใจ เพราะทุกการตัดสินใจและการเดินทางในเส้นทางชีวิต จะให้คุณค่าและประสบการณ์ด้านใดด้านหนึ่งกับเราอยู่เสมอ
แต่ท้ายที่สุด คุณก็ลาออกจากการเป็น ส.ส. และการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ อะไรคือเหตุผลในการตัดสินใจ
ในการทำงานระหว่างเรากับพรรคพลังประชารัฐ ต้องยอมรับว่ามีหลายประเด็นที่ความเห็นไม่ค่อยตรงกันสักเท่าไร เราก็เริ่มตระหนักสิ่งหนึ่งได้ชัดเจนคือ แนวคิด วิธีการทำงานของเรา อาจไม่สอดคล้องกับพรรคพลังประชารัฐที่สังกัดอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เส้นทางการเมืองหลังจากนี้จะไปทางไหนดี จะเดินเลือกเส้นทางอย่างไรต่อ
การจะให้ไปเปลี่ยนพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ใช่ เราเองเป็นเพียงหนึ่งในสมาชิกก็คงต้องเริ่มพิจารณาตัวเองมากกว่าว่าจะทำอย่างไรดี จะปรับตัวหรือหาองค์กรที่เหมาะกับเรามากกว่าดีกว่าไหม เรื่องนี้ก็ติดอยู่ในใจมาโดยตลอด แต่เราก็ไม่ได้ขีดเส้นตายชัดเจนนะว่าจะลาออกหรือไม่ลาออก หรือจะลาออกตอนไหน ก็ยังคงทำงาน รับผิดชอบบทบาทหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่มาตลอด
จนมาถึงเหตุการณ์ที่สภาฯ ล่ม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ จนไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติแก้ไขกฎหมายคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แบบหารห้าร้อยได้
สำหรับเรา การจะถกกันถึงสูตรหารหนึ่งร้อยหรือหารห้าร้อย มันไม่มีถูกผิด เราคุยกันด้วยเหตุผลได้ แต่ที่มันผิดจริงๆ คือถ้าคุณอยากให้มีการกลับไปใช้สูตรหารหนึ่งร้อยเช่นเดิม คุณก็ต้องสู้ด้วยกติกาที่วางไว้ ต้องไปอภิปราย ไปโหวตกันในสภาฯ ไปใช้เอกสิทธิ์ของตัวเองกันสิ แต่พอ ส.ส. เลือกที่จะไม่เข้าประชุมกัน เพื่อให้กฎหมายถูกปัดตกไปในทางเทคนิคแบบนี้ เรามองว่าเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง
ในการทำงานที่ผ่านมา การที่จะเห็นด้วยกับมติพรรคหรือไม่เห็นด้วยกับมติพรรค มันยังเป็นจุดที่เป็นเพียงแค่ความเห็นต่าง ซึ่งเราอาจจะยอมรับกันได้ แต่การที่คุณไม่ปฏิบัติหน้าที่ ใช้วิธีการแบบอื่นเพื่อไปถึงเป้าหมายแบบนี้ มันไม่ถูกต้อง และเราคิดว่ามันไม่ควรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจนสร้างความเคยชินให้กับสังคม
ทั้งหมดนี้เลยเป็นเหตุผลที่เราตัดสินใจลาออก
รู้สึกโกรธ เสียใจ หรือผิดหวัง ที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นในสภาฯ
ไม่ได้รู้สึกส่วนตัวอะไรแบบนั้นเลย มันคือคำว่า ‘เราไม่เห็นด้วย’ เท่านั้น
เพียงแต่เราไม่อยากปล่อยเรื่องนี้ผ่านไป แล้วทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนสุดท้ายประชาชนมองว่า ส.ส. จะทำอะไรก็ได้ นักการเมืองสุดท้ายก็ไม่ดีเหมือนกันไปทั้งหมด รัฐสภาไม่สามารถเป็นที่พึ่งอีกต่อไป เราไม่อยากให้เหล่านี้เป็นความคุ้นชินของสังคม
แม้ว่าการลาออกของเราคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่กฎหมายถูกตีตกไปแล้ว แต่ว่าอย่างน้อย เราก็อยากให้ประชาชน ให้สังคมรับรู้ว่า ในบรรดานักการเมืองเหล่านั้น ก็มีนักการเมืองคนนี้ที่ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนนักการเมืองคนอื่นที่ยังไม่ทันได้ฉุกคิด เราก็หวังว่าการลาออกของเราจะเป็นเครื่องเตือนสติให้กับสังคมก็ดี หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการเมืองก็ดี ว่ามันควรจะต้องมีเส้นแบ่งระหว่างคำว่าเหมาะสม-ไม่เหมาะสม ถูก-ผิด และขาว-ดำ บางอย่างมันไม่ควรที่จะลุแก่อำนาจ
แต่ตอนแถลงข่าวเรื่องการลาออก เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งของคุณคือ ‘หมดความอดทนกับเกมการเมือง’
เราขอยกคำพูดของคุณชวน หลีกภัย ที่เคยกล่าวว่า “อย่าหมดหวังกับรัฐสภา เพราะเกมการเมือง”
คือตัวเราเองยังคงศรัทธาในกลไกของระบบรัฐสภาอยู่ว่าสามารถขับเคลื่อนทิศทางของประเทศ เป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไปได้
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวกลไกรัฐสภา เพราะมันมีขั้นตอนที่ได้รับการออกแบบ ตรวจสอบ ถ่วงดุลไว้ดีแล้ว เพียงแต่ปัญหามันอยู่ที่บุคลากรที่สังกัดอยู่ต่างหาก ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้เกมการเมืองหมดไป เราคิดว่ามันก็ต้องกลับไปถามถึงจิตสำนึกของ ส.ส. และบุคลากรทั้งหลายที่จะเข้ามาทำงานการเมือง ว่าเวลาที่เข้ามาทำงาน เป้าหมายของเขาคืออะไร อยู่ที่การขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า อยู่ที่การอยากทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ที่การรับฟังเสียงส่วนรวม ใช่หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นได้ ก็จะทำให้เกมการเมืองลดน้อยง
หลังประกาศลาออก คุณได้พบ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อกล่าวลาเป็นการส่วนตัว ได้พูดคุยอะไรกันบ้างในวันนั้น
จริงๆ ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็อวยพรขอให้เราโชคดี เพียงแต่ว่าท่านก็ถามว่าตัดสินใจมาดีแล้วใช่ไหม แล้วท่านก็ตอบเองว่า “อืม ก็รู้ว่าตัดสินใจมาแล้ว” เราคิดว่าตลอดระยะเวลาที่เราทำงานในฐานะสมาชิกพรรคของท่าน ท่านก็คงพอรู้ว่าเราเป็นคนมีแนวคิดและลักษณะนิสัยอย่างไร
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในสายตาของคุณ เป็นคนอย่างไร
คนอาจจะชอบล้อเลียน อาจจะคุ้นชินเวลาที่ท่านชอบพูดคำว่า “ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้” แต่จากที่มีโอกาสสัมผัส ขอตอบสั้นๆ ว่า จริงๆ ท่านเป็นคนฉลาดมาก
ในระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล คุณมองพรรคฝ่ายค้านอย่างไรบ้าง
เราเคารพการทำงานของฝ่ายค้าน และมองว่าบทบาทของฝ่ายค้านมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกลไกรัฐสภาทั้งหมด
พูดตามตรง เราคิดว่าข้อมูลทั้งหลายที่ฝ่ายค้านนำมาเสนอต่อประชาชน ทั้งผ่านรัฐสภาก็ดี หรือนอกรัฐสภาก็ดี มันมีการตรวจสอบหรือขุดคุ้ยที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคม ซึ่งมันทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลฝั่งรัฐบาลได้เป็นอย่างดี และถึงแม้ว่าสุดท้ายผลการลงคะแนนในเรื่องต่างๆ จะไม่เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายค้าน แต่เราว่าสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือประโยชน์ที่ตกถึงประชาชน นักข่าว สื่อมวลชน หรือใครก็แล้วแต่ที่ได้รับฟัง ข้อมูลและความจริงเหล่านี้จะอยู่ในสังคมตลอดไป
ตอนที่ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ คุณวางเป้าหมายการทำงานการเมืองต่อไปอย่างไร
ในวันนี้เรามีประสบการณ์มากขึ้น ดังนั้นในการเลือกทำงานกับพรรคการเมืองในครั้งหน้า ก็จำเป็นต้องพิจารณาระบบโครงสร้างของวัฒนธรรม แนวคิดและอุดมการณ์ของพรรคการเมืองอย่างละเอียดอ่อนมากขึ้น เพราะเวลาไปทำงานกับองค์กรไหน เราก็ไม่อยากจากบ้านหลังนั้นไปบ่อยๆ เราก็อยากจะอยู่ในบ้านหลังนั้น ได้ใช้เวลากับเขาอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันเป้าหมายที่เราคาดหวังไว้
อีกอย่างคือเรายังอยากทำงานการเมืองต่อ เรามาจากองค์กรเอกชน เคยทำมาหากินมาบนรายได้จากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง แต่ในวันนี้เราอยู่ได้ด้วยประชาชน และได้เห็นว่างานของเราเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดได้ว่าประเทศจะเดินไปข้างหน้าต่อหรือจะถอยหลัง จึงอยากขอทำหน้าที่พัฒนาประเทศต่อไป เพื่อขับเคลื่อนบ้านเมือง ทำให้ประชาชนกลับมามีความหวังอีกครั้ง
ทำไมคุณถึงตัดสินใจร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์
พอออกจากพรรคพลังประชารัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราต้องตัดสินใจว่าหลังจากนี้จะใช้หลักการหรือแกนอะไรในการเลือกสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งคำตอบของเราคือ ‘ความเป็นประชาธิปไตยในพรรค’ เพราะพรรคการเมืองก็เป็นสถาบันหลักของระบอบการเมืองในประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องสามัญมากที่เราต้องเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในพรรค ต้องมีความเท่าเทียม เปิดกว้างทางโอกาส และให้อิสระกับสมาชิก เพื่อที่เราจะได้ทำงานเพื่อสังคม เพื่อประชาชน ในท้ายที่สุดเราก็ตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์
จำได้ว่าในวันประกาศเปิดตัวว่าเข้าร่วมกับพรรค ก็มีพี่ๆ สื่อมวลชนบอกว่า ‘ที่นี่ซัดกันแรงเลยนะ ในห้องประชุมนี่ไม่ไว้หน้ากันเลยนะ’ ซึ่งเรามองว่าตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาเลย หากจะมีการวิจารณ์กันต่อหน้าและด้วยข้อเท็จจริงในการทำงาน เรา มองว่ามันเป็นการให้ข้อแนะนำและข้อปรับปรุงเพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาการทำงานต่อได้
ก่อนหน้านี้ คุณมีมุมมองต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร
ต้องยอมรับว่า พรรคประชาธิปัตย์ในช่วงรอบสามปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเลือกตั้งในปี 2562 มันมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ในปี 2562 เราจะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส. ในกรุงเทพฯ เลย หลังจากนั้นก็มีการลาออกของหัวหน้าพรรคอย่าง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการลาออกของ ส.ส. อีกหลายท่าน ซึ่งหากมองในแง่มุมของความเป็นองค์กร ก็อาจพูดได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้าง อยู่ในช่วงการเปลี่ยนเลือดใหม่
มีคำถามเกิดขึ้นมาว่า พรรคประชาธิปัตย์จะรอดไหมในอนาคต แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกและทำให้เห็นต่างจากคำถามนี้ คือหากย้อนกลับไปดูประวัติของพรรคประชาธิปัตย์ตลอดระยะเวลาเจ็ดสิบหกปี ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด มีขึ้น มีลง แต่ก็ยังคงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน สำหรับเรา เรื่องนี้มันพิสูจน์ให้เห็นว่าแม้สมาชิกจะเปลี่ยนขนาดไหน ความเป็นประชาธิปัตย์ยังคงอยู่ตลอด มีหลักการของตัวเอง ไม่ยึดโยง ยึดติดกับใครคนหนึ่งแต่อย่างใด
หลังจากนี้คุณกับพรรคประชาธิปัตย์จะเดินไปในทิศทางไหน จะมุ่งเน้นเรื่องอะไรเป็นสำคัญ
ตอนนี้เราไม่ได้มองประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพียงอย่างเดียว เรามองเรื่องปัญหาองค์รวมของประเทศ
ทุกวันนี้ปัญหาของประเทศไทยมีหลากหลายต้นตอ หากเรามองเรื่องรายได้และปากท้องของประชาชน ก็จะนำไปสู่ทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการ เศรษฐกิจ หรือกระทั่งภาษีเองก็ตาม ดังนั้นหากจะมุ่งแก้ไขเรื่องไหน เราคงจะเป็นส่วนหนึ่งไปช่วยผลักดันเรื่องนี้ ทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มสูงมากขึ้น
อีกเรื่องที่สำคัญคือ สัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองโลก ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีทำให้โลกใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่เรากลับเห็นได้ว่าประเทศไทยยังวางยุทธศาสตร์เวทีโลกไม่ชัดเจน เรื่องนี้ก็จะติดตามและดูต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม เราเป็นวัยกลางคนก็ยังต้องการประสบการณ์จากผู้ใหญ่ที่ผ่านเวทีระดับโลก ผ่านเวทีระดับชาติในการบริหารงาน คอยให้คำแนะนำ แล้วเราจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมความคิดอีกแง่มุมหนึ่งของคนในอีกเจเนอเรชันหนึ่งให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา คนส่วนหนึ่งมองว่า การที่สามีของคุณ (ฉาย บุนนาค) เป็นเจ้าของสื่อ (เนชั่นกรุ๊ป) ส่วนคุณเป็นนักการเมือง ก็อาจมีการใช้สื่อเพื่อขยายอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง คุณคิดเห็นอย่างไรบ้าง
ด้วยประสบการณ์การทำงานสื่อของเราที่ผ่านมา ก็พอจะเรียนรู้ได้ว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรในการใช้สื่อเข้ามาแทรกแซงในการเมือง การที่จะไปแทรกแซงการทำงานของบุคลากร มันเท่ากับว่าเรากำลังบอนไซ และทำลายองค์กรของเราเอง
ดังนั้น ยืนยันได้เลยว่าตั้งแต่ทำงานเป็นผู้บริหารสื่อจนลาออกมา ตลอดมาเราก็ไม่เคยแทรกแซงงานคอนเทนต์ เราทำงาน เราก็รักองค์กรของเรา อยากเห็นองค์กรเติบโตในทิศทางที่ถูกต้อง
คุณประเมินทิศทางการเมืองของประเทศไทยหลังจากนี้อย่างไรบ้าง
จากเท่าที่คุยกับหลายๆ คนมา ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าคือหมุดหมายสำคัญของประเทศ จะกำหนดทิศทางและอนาคตของประชาชนหลังจากนี้ต่อไป ดังนั้น เรื่องนี้ต้องจับตาและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้เลยในปัจจุบันแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าดีใจ คือเราเห็นการตื่นตัวทางการเมืองของคนในสังคม เราเห็นการไม่ยินยอม การต่อสู้ เราเห็นความขัดแย้งทางความคิดที่มันเพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับสังคม ที่เรากำลังโหยหาและขวนขวายอะไรบางอย่าง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่ดีขึ้น
มีมุมมองอย่างไรต่อการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคิดว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
ส่วนตัวถ้าให้วิเคราะห์จากเนื้อหาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีจดหมายชี้แจงแนวทางการวินิจฉัย คาดว่าพลเอกประยุทธ์น่าจะยังคงดำรงตำแหน่งอยู่
แต่ถ้าถามความเห็นในมุมมองส่วนตัว เราคิดว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายคือ ไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจของฝ่ายบริหารที่นานจนเกินไปเพื่อป้องกันการผูกขาดทางอำนาจ ที่ผ่านมาเราได้เห็นการปฏิบัติหน้าที่ของพลเอกประยุทธ์ตั้งแต่มีการยึดอำนาจในฐานะ คสช. ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2557
ดังนั้น หากตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ปรากฎให้เห็นชัด พลเอกประยุทธ์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีมาครบ 8 ปีแล้ว ส่วนในวันที่ 30 กันยายนนี้ ผลการวินิจฉัยจะออกมาเป็นอย่างไร ก็คือการตีความในทางกฎหมายซึ่งก็ต้องยอมรับและให้ความเคารพในผลวินิจฉัยของศาล
แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ในกรณีพลเอกประยุทธ์ได้ไปต่อ ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการก่อให้เกิดข้อถกเถียงในคำวินิจฉัยของศาล เกิดข้อถกเถียงในความสับสนของการหาเสียงเลือกตั้งโดยพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดต และหากพลเอกประยุทธ์เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้วได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งต่อเนื่องไปจนถึงคราวครบวาระอีกครั้งในปี 2568 ซึ่งก็จะต้องมีการดำเนินการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใหม่อีกรอบ จนอาจทำให้เกิดผลกระทบกับการบริหารงานในช่วงเวลาดังกล่าว
สรุปคือประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี 8 ปี จะกลายเป็นการเติมฟืนเข้าในกองไฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง หากเรามองเพียงแค่มุมนิติศาสตร์ก็เป็นประเด็นหนึ่งในการอธิบายสังคม แต่ในประเด็นทางรัฐศาสตร์ เมื่อมองบริหารประเทศและมองถึงบริบทของของสังคม ก็ไม่อาจมองข้ามหรือละเลย และต้องตั้งคำถาม
ส่วนรัฐบาลจะเป็นอย่างไรต่อ หากคำวินิจฉัยออกมาว่า พลเอกประยุทธ์ ปฎิบัติหน้าที่ครบ 8 ปี พลเอกประวิตรก็จะดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งน่าจะมีการยื้อการเลือกตั้งไปได้จนถึงกว่าจะผ่านพ้นการจัดงานเอเปคช่วงเดือนพฤศจิกายน แต่หลังจากนั้นเรามองว่า รัฐสภาจะเริ่มอยู่ในสภาวะสั่งคลอน วุ่นวาย และมีแนวโน้มในการยุบสภาฯ
แต่ถ้ากรณีพลเอกประยุทธ์ได้ไปต่อ ซึ่งอันที่จริงสภาพก็คงจะใกล้เคียงกัน คือสภาฯ เริ่มสั่นคลอนเพราะต้องยอมรับว่าไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร แต่ความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อนั้นได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะผลที่เกิดนั้นขัดแย้งต่อความรู้สึกของประชาชน
สถานการณ์ภายนอกรัฐสภาก็คงจะมีการชุมนุมเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพื่อโหมกระแสกดดันโดยหวังผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า และการยุบสภาฯ ก็คงจะเกิดขึ้นหลังการจัดงานเอเปคเช่นเดียวกัน แต่จะยื้อไปได้นานกว่าในกรณีแรกที่มีพลเอกประวิตรรักษาการนายกรัฐมนตรี
มีความเห็นกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง
เราเคารพการเคลื่อนไหวของพวกเขา ทุกคนมีเหตุผลของตัวเองแน่นอน เราเข้าใจได้ว่าที่ผ่านมาเขาไม่เห็นความหวัง เกิดการตั้งคำถามว่าว่าฝ่ายบริหารของประเทศได้เตรียมหรือจะทำให้ตัวเขาในอนาคตดีขึ้นอย่างไร มีเส้นทางชีวิตที่ดีแบบไหนที่เขาสามารถเลือกได้บ้าง
หากคำถามเหล่านี้ผู้ใหญ่ไม่สามารถให้คำตอบ ไม่สามารถสร้างศรัทธาให้กับเขาได้ มันก็เป็นสิทธิของคนรุ่นใหม่ เป็นสิทธิของประชาชนที่จะทวงถาม แต่อย่างไรก็ตาม การทวงถามก็มีกติกาของมันอยู่ ดังนั้น การที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ต้องไม่ลืมและตระหนักอยู่เสมอ คือการกระทำของเราไม่ไปเบียดบังสิทธิเสรีภาพของคนอื่น เราอยากให้เขาเคารพเรา เราก็ต้องเคารพผู้อื่น และเลือกใช้วิธีการ หนทางที่ถูกต้อง
แล้วกับคำว่า ‘ฝ่ายเผด็จการและฝ่ายประชาธิปไตย’ คุณมองว่าการเมืองปัจจุบันแยกขั้วเด็ดขาดแบบนี้จริงไหม
ถ้ามีใครมาเรียกเราว่าเผด็จการจะรู้สึกอย่างไร แน่นอนว่าเราจะไม่ยอมรับ เพราะเชื่อมั่นว่าเราทำงานอยู่บนข้อมูล บนเหตุและผล บนความถูกต้องมาตลอด
แต่หากจะมองภาพการเมืองแบบฉาบฉวยว่าฝั่งนี้เป็นเผด็จการ ฝั่งนั้นเป็นประชาธิปไตย เราก็พอจะเข้าใจประชาชนในมุมมองนั้นได้ แม้จะไม่อยากให้ประชาชนไปยึดติดและไปปิดกั้นความคิดของตัวเอง เพียงแค่มีภาพจำว่าพรรคนี้ ฝ่ายนี้ต้องมีแนวคิดทางการเมืองฝั่งใดฝั่งหนึ่งอย่างชัดเจน เพราะในทุกองค์กรก็มีคนที่แตกต่างปะปนกันไปหมด
คุณอยากเห็นนายกรัฐมนตรีในอนาคตมีคุณสมบัติแบบไหน
คุณสมบัติแรกคือเปิดกว้างและรับฟัง เพราะว่าถ้าคุณทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว คุณก็จะไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เลย ในวันนี้ที่โลกเปลี่ยนแปลงและพลิกผันไปเร็วมาก คุณจะไม่สามารถเป็นคนที่รู้ได้ทุกอย่าง และจะไม่มีวันเรียนรู้เพิ่มเลย ถ้าขาดคุณสมบัติตรงนี้ไป
ต่อมาคือทักษะของการบริหาร คือเราเชื่อว่าทักษะตรงนี้ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่อย่างไรมันก็ต้องการคนที่ประสบการณ์มาแล้วบ้าง เพราะการบริหารประเทศเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ต้องการคนที่มั่นใจว่าเข้ามาและสามารถนำพาให้ประเทศชาติพัฒนาได้
สุดท้ายคือต้องมีคุณธรรมให้สมกับเป็นผู้นำของประเทศไทยในอนาคต
Fact Box
- วทันยาจบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็น ‘โบรกเกอร์’ ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อยู่ 2 ปี และเริ่มร่วมผลิตรายการโทรทัศน์กับช่อง 5 จากนั้นจึงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารของสปริงนิวส์ ก่อนก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง
- เธอสมรสกับ ฉาย บุนนาค นักธุรกิจดัง อดีตเจ้าพ่อตลาดหุ้น และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารของ Nation Group เจ้าของธุรกิจสื่อหลายแบรนด์ ตั้งแต่ เนชั่นทีวี กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก The Nation ฐานเศรษฐกิจ The People ขอบสนาม และล่าสุด ฉายเพิ่งจะเทกโอเวอร์ ‘โพสต์ทูเดย์’ และ ‘นิวส์เคลียร์’ จากเครือโพสต์พับลิชชิ่ง
- ก่อนจะลงสนามการเมือง วทันยาเคยมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทในธุรกิจสื่อ 4 แห่ง และเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ซึ่งในปี 2560 ทีมฟุตบอลของเธอได้ครองแชมป์จากการแข่งขันในซีเกมส์ ที่ประเทศมาเลเซีย
- ในฐานะ ส.ส. จากฉายาที่คนติดปากเรียกเธอว่า ‘มาดามเดียร์’ วทันยาเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่มีจุดยืนของตนชัดเจน ซึ่งบางครั้งจะมีความเห็นที่สวนทางกับพรรคต้นสังกัด เช่น การงดออกเสียงการลงคะแนนไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังจากไม่ตอบข้อสงสัยประชาชนปมจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค รวมไปถึงกรณีการงดออกเสียงให้กับ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หลังการชี้แจงข้อกล่าวหากับฝ่ายค้านในเรื่องข้อพิพาทที่ดินเขากระโดงได้ไม่ชัดเจน
- หลังจากวทันยาได้รับตำแหน่ง ส.ส. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ส.ส. พบว่า ในฐานะ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เธอมีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้นกว่า 511,334,424.27 บาท และ หนี้สิน 82,280,019.08 บาท