“เราออกมาเพราะเราต้องการปกป้องสถาบันฯ โดยใช้กระบวนการข้อมูลยุติธรรมเข้าต่อสู้”

หลังจากตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปลายปี 2562 ชื่อของ ‘นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม’ หรือ ‘หมอวรงค์’ เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นบนหน้าสื่อจากการผันตัวร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘ไทยภักดี’ กลุ่มองค์กรอิสระที่นิยามตนเองว่าเป็น ‘ผู้จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์’ และยึดมั่นต่อรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กลุ่ม ‘ไทยภักดี’ ได้รับการกล่าวขานในฐานะกลุ่ม ‘อนุรักษนิยม’ ผู้อยู่ตรงข้ามกับกระแส ‘ม็อบราษฎร’ ที่ออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขับไล่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ทั้งนี้ ไทยภักดีได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ยกเลิกการแก้ไขกฏหมายมาตรา 112 จัดกิจกรรมให้ความรู้กฏหมายมาตรา 112 แก่ประชาชน หรือเสนอ 5 ข้อเรียกร้องปกป้องสถาบันฯ พร้อมย้ำชัดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้น

กระทั่งต้นปี พ.ศ. 2564 หมอวรงค์ได้ประกาศยกระดับไทยภักดีจากกลุ่มอิสระสู่การเป็น ‘พรรคการเมือง’ ที่พร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ทั้งยังย้ำชัดว่าพรรคการเมืองพรรคนี้ไม่ใช่ ‘พรรคอะไหล่’ หรือ ‘ไม้ประดับ’ แต่พร้อมจะเป็นรัฐบาลที่มุ่งแก้ไขปัญหาปากท้องแก่ประชาชน และแม้จะเปลี่ยนสถานะเข้าสู่ระบบการเมืองอย่างเป็นทางการ ทว่าจุดยืนที่ยังมั่นคงเสมอมาคือ ‘การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์’

“มีคนฝันหวานอยากจะเป็นประธานาธิบดี ต่างชาติก็ฝันว่าถ้าเขาส่งเสริมให้มีประธานาธิบดี เขาก็เข้ามาครอบงำผลประโยชน์ได้ง่าย แต่ผมยืนยันว่าไม่มีทางเกิดขึ้นสำเร็จ” ทัศนะหนึ่งของหมอวรงค์ต่อขบวนการที่อยู่คนละขั้วกับเขาในเวลานี้ 

มินเนียน สลิ่ม ไดโนเสาร์ ฯลฯ คือสารพัดนิยามของพรรคการเมืองสีน้ำเงิน-เหลืองนี้ โดยมีภาพของหมอวรงค์เป็นหัวหน้าขบวนการอนุรักษนิยมสุดโต่ง แต่เชื่อว่าน้อยคนนักจะเคยได้ฟัง ‘อุดมการณ์ทางการเมือง’ จากปากเขาอย่างจริงจัง 

The Momentum สบโอกาสสนทนากับหมอวรงค์ ถึงความคิด จุดยืน และนโยบายของพรรค ทั้งตอบข้อสงสัยที่ว่าเขาและพลพรรคต่างพากัน ‘โหนเจ้า’ ลงมาสู่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ทำไมคุณถึงตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ แล้วออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยตัวเอง

ด้วยบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปเยอะ ทำให้ผมรู้ตัวเองว่าผมไม่สามารถทำงานในลักษณะนี้ได้ หากยังอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ผมเป็นคนชอบรุก ไม่ชอบตั้งรับ ถึงอุดมการณ์จะสอดคล้องกัน แต่สุดท้ายก็มาตายตอนวิธีการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าอุดมการณ์การเมืองของผมยังคงเดิม ไม่เคยเปลี่ยน ที่เปลี่ยนมีแค่วิธีการทำงาน ซึ่งการก้าวออกมาทำให้สามารถทำงานในสไตล์ตัวเองได้เต็มที่กว่า

เหตุผลใดทำให้คุณตัดสินใจว่ากลุ่มไทยภักดีจะต้องเป็นพรรคการเมือง

คงจะหนีไม่พ้นช่วงม็อบออกมาชุมนุมปี 2563 ด้วยเซนส์ทางการเมืองของผมตั้งแต่อดีต การออกมากล่าวให้ร้ายบิดเบือนป้ายสี จาบจ้วงต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้ผมมองว่าม็อบนี้เป็นม็อบที่ไม่ปกติ นี่ถือเป็นกระบวนการจงใจล้มล้างสถาบันฯ ซึ่งผมเชื่อว่ามีคนไทยส่วนใหญ่รู้สึกกับอึดอัดกับสถานการณ์ ณ ตอนนั้น แต่ไม่กล้าออกมาพูด ผมเลยพูดคุยกับพรรคพวกเพื่อนฝูง ว่าเราต้องจัดตั้งพรรคการเมืองที่กล้าแสดงออก มาพูดถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ ผมเชื่อว่าม็อบเองก็มีพรรคการเมืองและเครือข่ายต่างชาติหนุนหลัง ถามว่าทำไมถึงเชื่อแบบนั้นเพราะเราเห็นการแสดงออกของม็อบคลับคล้ายกับการม็อบของประเทศฮ่องกง หรือแม้แต่การเอาธงชาติฮ่องกง ธงชาติไต้หวัน ธงอุยกูร์ มาใช้

จุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคไทยภักดี หลังเปิดตัวเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 มีทั้งหมด 5 ข้อ แต่หนึ่งข้อสำคัญที่สุด ณ เวลานั้น คือการออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเรารู้สึกว่าการที่ม็อบออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ มันไม่ใช่ ในฐานะที่เป็นนักการเมือง ผมมองว่าข้อเรียกร้องเหล่านั้นไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ไม่สอดคล้องกับวิถีและบริบทของสังคมไทย 

หากมองปัญหาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าปัญหาเกิดขึ้นจากการคอร์รัปชันของนักการเมือง แล้วแทนที่จะออกมาเรียกร้องแก้ไขจุดนี้ แต่คุณกลับจงใจเลือกจาบจ้วงสถาบันฯ นี่เป็นการแก้กระดุมผิดเม็ด

จุดยืนทั้ง 5 ข้อของไทยภักดี นอกจากการออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังมีอะไรอีกบ้าง

แน่นอนว่า 1. เราปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2. สืบสานความเป็นไทย เพราะเราสังเกตเห็นการกระทำหลายๆ อย่างในปัจจุบันกำลังทำลายรากเหง้าความเป็นไทย เช่น การทำลายความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว การสร้างกระแสไม่นับถือปู่ย่าตายาย 3. การแก้ไขปัญหาทุนผูกขาด ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน 4. การแก้ไขปัญหาการเกษตรด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ผมมองมองว่าเทคโนโลยีตอนนี้เป็นเรื่องของคนกลุ่มเดียว ถ้าเราสามารถนำเทคโนโลยีไปถึงพี่น้องเกษตรกรซึ่งเป็นคนกลุ่มล่างได้ ย่อมช่วยลดปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง และ 5. สร้างรากฐานความมั่งคั่งของชาติด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง 

แต่ทั้งหมดทั้งมวลเราเน้นภารกิจหลักไปที่ข้อ 1 และ 2

จุดยืนของไทยภักดีข้อแรก มีการกล่าวว่า เป็นการ ‘โหนสถาบันฯ’ ให้มาข้องเกี่ยวกับความเกลียดชังทางการเมือง

หลายคนเข้าใจผิด เราออกมาเพราะเราต้องการปกป้องสถาบันฯ โดยใช้กระบวนการ และข้อมูลยุติธรรมเข้าต่อสู้ แต่เรากลับถูกอีกฝ่ายโจมตี หาว่าเราโหนเจ้า ทั้งที่การโหนหมายถึงเราต้องดึงสถาบันฯ ลงมา 

แน่นอนล่ะ ถ้าพูดอย่างนี้ อีกฝ่ายก็คงไม่พอใจ อย่างนั้นผมขอถามกลับด้วยหัวใจที่เป็นธรรมว่า คนที่เริ่มต้นโหนสถาบันฯ จริงๆ แล้วเป็นฝ่ายไหนกันแน่ ใช่ฝ่ายที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูป 10 ข้อหรือเปล่า ผมว่าการทำแบบนี้เป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของสถาบันฯ และดึงสถาบันฯ ท่านลงมาตกต่ำมากกว่า ฉะนั้นผมขอยืนยันว่าเราออกมาปกป้อง แต่ถ้าดึงดันจะเรียกการปกป้องว่าโหนก็ไม่เป็นไร 

การทำงานรูปแบบนี้ของไทยภักดีจะช่วยปกป้องสถาบันฯ ได้จริงมากน้อยแค่ไหน

ผมเคยบอกตอนเปิดตัวพรรคไทยภักดีว่า ที่ผ่านมาเรายึดหลักการทำงาน 2 ข้อ คือ 1. เรานำความจริงมาตีแผ่ เพราะหลายสิ่งที่ถูกนำเสนออยู่ ณ เวลานี้ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเฟกนิวส์ 2. เราใช้หลักกฎหมาย หากใครทำผิดกฎหมายเราก็จะต่อสู้ทางกฎหมายเท่าที่จะทำได้ 

ส่วนหัวใจหลักที่จะทำให้สถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคง จำเป็นต้องทำองค์ประกอบ 2 ข้อให้สำเร็จ 

1. ต้องทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น 

2. รัฐบาลต้องเป็นต้นแบบที่ดี ในการแสดงออกอย่างซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส จัดการเรื่องคอร์รัปชันให้เคลียร์ หากทำได้ ปัญหาต่างๆ จะค่อยๆ คลี่คลาย

เมื่อตัดสินใจเป็นพรรคการเมืองก็ต้องนำเสนอนโยบาย แล้วนโยบายใดที่จะทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกไทยภักดี

ผมพูดให้ The Momentum ฟังเป็นแห่งแรกเลยนะ กับนโยบายหลัก 3 ข้อที่เราคิดตกผลึกมาแล้ว คือ 1. ปกป้อง 2. ปราบโกง และ 3. ปฏิวัติ คำว่าปกป้องนี่ชัดเจนอยู่แล้วว่าเราต้องการปกป้องอะไร การปราบโกงก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะผมเติบโตมาจากการปราบโกงทุจริต 

แต่เรื่องการปฏิวัติผมต้องการจะสื่อถึงพี่น้องชาวนา พี่น้องเกษตรกร เพราะทุกวันนี้โครงสร้างทางสังคมกำลังเอาเปรียบพวกเขาอยู่ ทุกปี ผมเห็นพวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาวงจรสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ และรัฐบาลไม่ว่าจะยุคเพื่อไทยที่ใช้วิธีจำนำข้าว หรือรัฐบาลชุดนี้ที่ใช้วิธีประกันรายได้ ทั้งสองวิธีนำไปสู่ความเสียหายของประเทศ เพียงแต่ระดับความรุนแรงแตกต่างกัน ทุกวันนี้ชาวนายังจนเหมือนเดิม

ผมเลยรู้สึกว่าเมื่อวิธีที่ว่าไม่ได้ผล แล้วทำไมเราไม่แก้ไขปัญหาตรงโครงสร้างบริบทของสังคม ยังมีขบวนการบางกลุ่มที่ไม่ต้องการให้ชาวนาเข้มแข็ง ไม่ต้องการให้ชาวนารวมตัวมีอำนาจต่อรอง ฉะนั้น ถ้าอาชีพเกษตรกรจะเข้มแข็งและร่ำรวยได้จำเป็นต้องเกิด ‘สหกรณ์’ แบบที่เป็นสหกรณ์จริงๆ เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่เขาทำได้สำเร็จ ไม่ใช่แบบจอมปลอมอย่างทุกวันนี้ รวมถึงต้องเกิดการปฏิวัติเกษตรกรรม หรือ ‘ปฏิวัติเขียว’ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งแหล่งน้ำ ที่ดิน เมล็ดพันธุ์พืช กระบวนการผลิต กระบวนการแปรรูป ระบบโลจิสติกส์ แม้แต่ทำอย่างไรให้เกษตรกรติดต่อกับผู้รับซื้อโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ต้องมีการปฏิวัติล้างบางครั้งใหญ่

เรื่องของการศึกษาชาติเราก็กำลังล้มเหลวอย่างมาก โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย มีที่ไหนคุณผลิตบัณฑิต คุณผลิตอาจารย์ แล้วประเทศไปได้แค่นี้ เด็กไทยทุกวันนี้คิดก็ไม่เป็น วิเคราะห์ก็ไม่ถูก ผมจึงคิดว่าเราต้อง ‘ปฏิวัติการศึกษา’ ครั้งใหญ่ ซึ่งโชคดีผมมีทีมที่ดีมาช่วยตรงนี้ เขาบอกกับผมว่าประเทศไทยต้องกล้านำรูปแบบมาตรฐานการศึกษาโลกมาใช้

การปราบโกงทุจริตก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจนโยบายของเรา ทุกวันนี้ประเทศไทยมีทุจริตทุกที่ เปรียบงบประมาณแผ่นดินมีมาให้ประชาชน 100 บาท ถึงมือประชาชนไม่เกิน 60 บาท มันมีเบี้ยบ้ายรายทาง ขั้นตอนมากมาย ถามว่าทำไมผมถึงกล้านำเสนอเรื่องนี้ ผมกล้าเพราะที่ผ่านมาผมตรวจสอบเรื่องโครงการทุจริต ผมน่าจะเป็นนักการเมืองคนแรกของประเทศที่ฟ้องร้องจนเอาคนระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอีกสองคน และนายทุนที่หนุนหลังพรรคการเมืองเข้าคุก แต่ผมคงจะไปไล่ตามไล่จับแบบนั้นไม่ไหว ผมเลยตัดสินใจจะเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่นำเสนอระบบป้องกันการทุจริต โดยเอาจีน อินเดีย สิงคโปร์ มาเป็นต้นแบบแล้วประยุกต์

เงินสินบน เงินส่วย เงินผิดประเภท ทั้งหมดนี้ทุจริตได้เพราะใช้เงินสด แต่อินเดียเขากำจัดได้เพราะเขายกเลิกใช้เงินรูปี ส่วนจีนใช้เงินหยวนดิจิทัล และสิงคโปร์ใช้กฎหมายกำจัดทุจริตเข้มงวด ถ้าเรานำทั้งสามข้อของเขามาผสมผสานปรับใช้ เปลี่ยนมาใช้จ่ายด้วยเงินดิจิทัลเป็น ‘ดิจิทัลไทยบาท’ ถามว่าใครจะกล้าติดสินบน ใครจะกล้าโกง ถ้าวิธีการมันยากขึ้น ผมยังมีแนวคิดอีกว่าเราควรมีรัฐบาลดิจิทัล เพราะการเจอหน้ามันเป็นการเอื้อให้เกิดการเรียกสินบน

ทั้งหมดนี้ ในเชิงนโยบายผมกล้าพูดได้เลยว่าพรรคเราจะไม่เหมือนใคร เราพร้อมจะปรับรื้อ ปฏิวัติโครงสร้างครั้งใหญ่ของประเทศ

ทำไมพรรคการเมืองต้องมีบทบาทหน้าที่ปกป้องสถาบันฯ ในเมื่อประเทศไทยมีหน่วยงานที่ดำเนินบทบาทนั้นอยู่แล้ว

นี่เป็นการตั้งคำถามที่ผิดนะ…รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดบทบาทว่าบุคคลทุกคนต้องปกป้องสถาบันฯ ที่ผ่านมายุคสงคราม ทหารมีหน้าที่ปกป้องสถาบันฯ แต่ทุกวันนี้ผมใช้คำว่าเราปกป้องสถาบันฯ ด้วยวิธี ‘Social Media Organization’ ทหารนั่งเฉยๆ ไม่จำเป็นต้องหยิบจับอาวุธ เราเอาข้อมูล เอาความจริงเข้ามาต่อสู้ เพียงแต่ด้วยความเป็นพรรคการเมืองอาจออกมาตอบสนองได้ไวกว่า

ผมกล้ายืนยันได้เต็มปากเลยว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีสถาบันฯ ผมไม่เคยเชื่อในระบอบสาธารณรัฐ ยิ่งถ้าคุณศึกษามาจะเห็นว่าความเลวระยำตลอด 20 ปี มันเกิดขึ้นจากการที่นักการเมืองทุจริตและใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมทั้งสิ้น สถาบันฯ ทุกวันนี้เปรียบเสมือนแค่ศูนย์รวมจิตใจ ผมว่าถ้าไปถึงจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง นั่นแหละคือกลียุคอย่างแท้จริง

จากที่พรรคไทยภักดีลงพื้นที่พบปะประชาชน ปัญหาสำคัญที่ควรแก้อย่างเร่งด่วนตอนนี้คือปัญหาใด

เรื่องราคาพืชผลการเกษตร เรื่องราคาปัญหาราคาข้าว แค่ไม่เจอปัญหาโควิดเขาก็ลำบากมากพออยู่แล้ว ผมมีความเห็นใจพี่น้องเกษตรกรหลายๆ แห่งมากเลยนะ เขาล่องลอย ไม่มีใครช่วยเหลือ ผมถึงเสียดายว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่เอาพลัง เอาความรู้ ไปช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำลดลง คุณยกเลิกมาตรา 112 ราคาข้าวจะดีขึ้นไหม จะแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้หรือเปล่า

ในฐานะที่คุณอยู่ในวงการการเมืองมาตลอด 20 ปี มองว่าสาเหตุใดทำให้ประเทศไทยยังคงวนเวียนอยู่กับความขัดแย้งไม่จบสิ้น

เพราะการโกงและการใช้อำนาจไม่ชอบธรรม ผมกล้าท้านะ หากผมได้เป็นรัฐบาลจะไม่มีใครกล้าทำอะไรผม เพราะผมเข้ามาด้วยเจตจำนงต้องการปราบคอร์รัปชัน มีความหวังอยากให้ลูกหลานเกษตรกรได้มีชีวิตที่ดี การรัฐประหารนับตั้งแต่หลังปี 2535 จริงๆ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ที่เกิดขึ้นเพราะนักการเมืองเลวระยำเอง ล่าสุด ไม่กี่ปีเขาออกมาประท้วงกันเป็นล้านคน จนเราเห็นว่าการรัฐประหารอย่างน้อยก็เอารัฐบาลชั่วๆ ออกไปได้ก่อน

พรรคไทยภักดีถือเป็นพรรคที่ ‘เชียร์’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช่ไหม

ผมไม่แฮปปี้กับพลเอกประยุทธ์หลายเรื่องนะ อย่างเรื่องรถไฟทางคู่หรือเรื่องการขายดาวเทียมให้กับกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดนี้ อะไรที่เขาทำไม่ถูกต้องผมก็จัดการตรวจสอบ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็มีคนขี้โกง เพียงแต่ถ้าเทียบกับรัฐบาลในอดีตที่โกงเงินโครงการถึง 9.4 แสนล้าน พอบวกลบแล้วมันโหดกว่ากันเยอะ

คุณประเมินสถานการณ์การเมืองต่อจากนี้อย่างไร

ประชาชนกำลังอึดอัดกับม็อบที่ดำรงอยู่ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการชุมนุมเป็นการล้มล้างการปกครองและให้ยุติการกระทำ แต่เขากลับยังท้าทายและบิดเบือนโยงไปถึงเรื่องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมันไร้สาระมาก ถ้าเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จริง คุณถูกตัดหัวประหารชีวิตไปแล้ว ส่วนรัฐบาล คนไทยอาจจะรำคาญบ้าง เพราะมาทะเลาะไร้สาระกันในขณะที่ประชาชนกำลังลำบาก

คิดว่าเจตนาของม็อบที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงสองปีนี้ คล้ายกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 หรือเปล่า

มันมีความเชื่อมโยงอยู่นะ… การชุมนุมของคนเสื้อแดงตอนนั้น เป็นการชุมนุมที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีพรรคการเมืองหนุนหลัง จุดประสงค์หลักๆ ที่คนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ผู้นำทางการเมืองของเขา และเป็นเครื่องมือในการล้มล้างรัฐบาลยุคคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การจาบจ้วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เองก็มี เพียงแค่ไม่ได้เห็นเด่นชัด 

ส่วนการออกมาชุมนุมรอบนี้ก็มีพรรคการเมืองหนุนหลัง และบางครั้งเราเห็นคนเสื้อแดงออกมาร่วมชุมนุมด้วย เพราะมวลชนสองกลุ่มมีผลประโยชน์ลงตัวร่วมกัน แต่จุดแตกต่างคือม็อบครั้งนี้ถึงขั้นออกมามุ่งล้มล้างสถาบันฯ ไม่ใช่มุ่งล้มล้างรัฐบาลเช่นอดีต

กังวลไหมว่าจะมีการเผชิญหน้าระหว่างม็อบและเจ้าหน้าที่รัฐที่รุนแรงมากกว่านี้

เข้าใจว่า Mastermind ของผู้ที่อยู่เบื้องหลังม็อบ ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในลักษณะนี้ เพราะถ้ามีการเผชิญหน้าเกิดความรุนแรง ย่อมมีโอกาสที่เขาจะชักนำต่างชาติเข้ามาแทรกแซง สังเกตได้ว่าม็อบพยายามใช้ความรุนแรงมากกว่าใช้เหตุผลและวุฒิภาวะ ผมเห็นม็อบไม่ต่างจากเด็กแว้น ยิงหนังสติ๊กบ้าง ปาระเบิดขวดบ้าง หรือใช้อาวุธปืนก็ตาม มันเป็นการกระทำที่ส่อให้เห็นว่าเขาต้องการจัดฉากเพื่อต่อรองอะไรบางอย่าง แต่สุดท้ายวันหนึ่งด้วยบรรยากาศที่ฝ่อลง ประชาชนไม่เอาด้วย ม็อบก็คงยุติไปด้วยตัวมันเอง

ถ้าสมมุติว่าม็อบตัดข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ เหลือเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและขับไล่พลเอกประยุทธ์ คุณก็ยอมรับได้?

ผมว่าถ้าเป็นเช่นนั้นเขาชนะไปแล้ว แต่เพราะเขามุ่งล้มล้างสถาบันฯ ด้วย ประเด็นไล่พลเอกประยุทธ์เลยอ่อนลงไป

อยากบอกอะไรกับเยาวชนที่พากันออกมาชุมนุม

ผมคุยกับคนในทีมว่าเราเองก็เคยผ่านจุดแบบนั้นมาแล้ว เคยเข้าป่าชายแดนในยุคคอมมิวนิสต์ และร่วมกิจกรรมการเมือง ผมเลยไม่เคยกังวล และเชื่อว่าเด็กๆ เหล่านี้มีคุณธรรม ที่ผ่านมาเขาแค่ไม่เคยได้คุยกับพวกเรา ผมถึงเจาะจงโจมตีไปยังแกนนำหรือผู้อยู่เบื้องหลัง เชื่อเถอะว่าไม่มีม็อบไหนในโลกนี้ที่เอานักศึกษาออกมาชุมนุม และเมื่อชนะนักศึกษาจะได้เป็นรัฐบาล สุดท้ายคนที่อยู่เบื้องหลังก็จะยึดอำนาจกลายเป็นคนดูแลประเทศ แม้แต่ยุวชนเรดการ์ดของจีนเองก็ตาม

คุณอยากบอกกับเยาวชนว่ามีคนอยู่เบื้องหลังม็อบแน่ๆ อย่างนั้นหรือ

เขาต้องรู้เองด้วยเซนส์ มันไม่มีทางเป็นไปได้ที่ม็อบจะชุมนุมได้โดยไม่มีเงินทุน ถ้าม็อบพรรคการเมืองจัดเรารู้ดีอยู่แล้วว่ามีคอนเนกชัน แต่ถ้าเป็นนักศึกษา คุณไปเอาทุนจากไหน แน่นอนว่าก็ต้องมีคนสนับสนุน สังเกตว่าคนที่ออกมายุยงปลุกปั่นนักศึกษาให้เกิดความเกลียดชัง คนพวกนี้ไม่เคยถูกดำเนินคดี เพราะเขามีวิธีสื่อสารให้ตัวเองไม่ผูกมัดกับม็อบ สังเกตสมัยก่อน ม็อบสุภาพมากกว่านี้นะ แกนนำจะทำอะไรต้องระมัดระวัง เพราะเขากลัวเสียมวลชน แต่ทุกวันนี้เหมือนม็อบตั้งใจจะยกขบวนไปตีกับตำรวจอย่างเดียวมากกว่า

เป้าหมายสูงสุดของผู้อยู่เบื้องหลังม็อบที่คุณว่าคืออะไร

มีคนฝันหวานอยากจะเป็นประธานาธิบดี ต่างชาติก็ฝันว่าถ้าเขาส่งเสริมให้มีประธานาธิบดี เขาก็เข้ามาครอบงำผลประโยชน์ได้ง่าย แต่ผมยืนยันว่าไม่มีทางเกิดขึ้นสำเร็จ

จะอธิบายบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทยให้คนรุ่นใหม่หรือคนที่ยังไม่เข้าใจว่าอย่างไร

สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้คนไทยอยู่ร่วมกัน ผมกล้าพูดเต็มปากว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่จีน แขก ญวน เขมร พม่า มุสลิม ชีอะห์ สุหนี่ ทุกคนคือคนไทย เพราะเรามีศูนย์รวมเดียวกันคือสถาบันฯ แต่ถ้าคุณไปประเทศอื่นอย่างสิงคโปร์ คุณจะถูกแบ่งแยกเชื้อชาติทันทีว่าเป็นคนอินเดียนสิงคโปร์ คนไชนีสสิงคโปร์ 

ดังนั้นสถาบันฯ จึงไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน ตัวนักการเมืองทุจริตขี้โกงนี่ล่ะคืออุปสรรค ยุคนี้ไม่ได้เหมือนยุคกษัตริย์ฝรั่งเศสที่ใช้อำนาจโดยมิชอบจนประชาชนอดอยาก ฉะนั้น วันนี้ประชาชนเกิดปัญหา คุณก็ต้องโทษรัฐบาล งบประมาณทุกอย่างอยู่ที่รัฐบาล สถาบันฯ เป็นแค่สัญลักษณ์ที่คอยดูแลและช่วยเหลือประชาชน ถ้าในหลวงท่านเป็นคนบริหารราชการแผ่นดิน จัดสรรงบประมาณ ก็ยังมีความเมกเซนส์ที่ม็อบจะออกมา แต่นี่ไม่ใช่

คิดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการอย่างชัดเจนเลยไหม

ผมไม่เชื่อเรื่องนี้ ผมไม่เชื่อว่าประชาธิปไตยและเผด็จการในประเทศไทยมีจริง เป็นเพียงแค่เกมชิงคำ เป็นวาทกรรมทางการเมืองและสังคม ก็แค่ฟังแล้วคล้อยตามไป แม้แต่การนำประเด็นของสถาบันฯ ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งเราจะไม่ทำ เพราะนั่นทำให้สถาบันฯ เสียหาย

สุดท้ายแล้วสถานการณ์ที่ว่ามาทั้งหมดจะนำพาประเทศสู่จุดไหน

ประเทศไทยไม่มีทางเปลี่ยนระบอบเป็นสาธารณรัฐ ไม่มีทาง และผมไม่คิดว่าประเทศจะไปสู่จุดที่ต้องนองเลือด คนไทยหลายคนคิดว่าเด็กๆ ที่ออกมาชุมนุมล้วนถูกหลอกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ถูกหลอกมาติดคุกแทนแกนนำ

วันที่พวกผมได้เป็นรัฐบาล ผมเชื่อว่าผมเอาเรื่องพวกนี้อยู่ ถ้าทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แก้ปัญหาเกษตรกรถูกนายทุนเอาเปรียบ ถ้าทำได้ประชาชนแฮปปี้ ใครจะออกมาประท้วง

Fact Box

  • นายแพทย์วรงค์จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร่วมกิจกรรมการเมืองตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยการก่อตั้งพรรคนักศึกษา ‘12 ประสาน’ ซึ่งยังมีบทบาทในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนถึงวันนี้
  • นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตเคยรับราชการเป็นนายแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย และโรงพยาบาลพรเจริญ จังหวัดหนองคาย รวมถึงดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ก่อนจะลาออกและมุ่งสู่เวทีการเมืองในปี 2544 กับพรรคไทยรักไทย
  • ต่อมาในปี 2547 หมอวรงค์ลาออกจากพรรคไทยรักไทย และย้ายไปสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดพิษณุโลก รวมถึงเป็นรองโฆษกของพรรค โดยผลงานอันเป็นที่จดจำของเขาคือการตรวจสอบคดีจำนำข้าวยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น และเวที กปปส. ยกหมอวรงค์ในฐานะ ‘มือปราบจำนำข้าว’ 
  • เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 นายแพทย์วรงค์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทยในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี และขยับสถานะไทยภักดีจากกลุ่มอิสระเป็นพรรคการเมือง เมื่อต้นปี 2564
Tags: , , , ,