“ตระกูลชุณหะวัณมีความหมายคือการผูกขาดทางการเมือง ให้ลองไปดูสารคดีที่เขาทำเกี่ยวกับตระกูลนี้สิ มีคนบอกว่าก็รัฐประหารกันไปมา เป็นการเมืองแบบเก่า การเมืองตระกูล เหมือนระบบกงสี”

นี่คือคำพูดของ แก้วตา-ธิษะณา ชุณหะวัณ ลูกสาวคนโตของ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตนักการเมือง เอ็นจีโอ นักวิชาการ และอาจารย์ หลานสาวของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นตำนานหนึ่งของนักการเมือง ทวดของเธอคือ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ปี 2490 กล่าวได้ว่าตระกูลของเธออยู่ในเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเสมอมา

หากไล่เรียงนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ตระกูลชุณหะวัณคือตระกูลที่โลดแล่นอยู่บนถนนการเมืองไทยมาตลอด จอมพล ผิน ชุณหะวัณ คือผู้นำรัฐประหารรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยุติบทบาทของ ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎปีกพลเรือน และพาให้ประเทศไทยพ้นจากการปกครองโดยคณะราษฎรนับตั้งแต่ปี 2490 พร้อมกับก่อตั้งกลุ่มการเมือง ‘ซอยราชครู’ และพรรคเสรีมนังคศิลา เป็นชุณหะวัณในสนามการเมืองรุ่นที่ 1

พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ คือผู้มีบทบาทสำคัญในพรรคชาติไทย ว่ากันว่าพลเอกชาติชายมีส่วนไม่น้อยในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการคุมกำลังลูกเสือชาวบ้านและฝ่ายขวาจัด แต่หลังจากผ่านพ้นสภาพลุ่มๆ ดอนๆ ทางการเมือง พลเอกชาติชายกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในวันที่ ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ เมื่อปี 2531 พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้เป็นยุคที่อสังหาริมทรัพย์บูมสุดขีด พร้อมนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ จนทำให้ประเทศไทยและภูมิภาคนี้มีที่ยืนใหม่ในสายตาชาวโลก กระทั่งถูกทำรัฐประหารในปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) จากข้ออ้างว่าด้วยการ ‘คอร์รัปชัน’ หรือ ‘บุฟเฟต์คาร์บิเน็ต’ เป็นชุณหะวัณในสนามการเมืองรุ่นที่ 2

ขณะที่ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักวิชาการฝีปากกล้า ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของทีมที่ปรึกษา ‘บ้านพิษณุโลก’ ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย จนต้องลี้ภัยภายหลังการรัฐประหารปี 2534 ด้วยข้อหาอุกฉกรรจ์ว่าอยู่เบื้องหลังคดีลอบสังหาร1 ‘บุคคลสำคัญ’ ต่อมาไกรศักดิ์ยังโลดแล่นในเส้นทางการเมืองด้วยบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา จากการเลือกตั้งของจังหวัดนครราชสีมาในปี 2543 และเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2550 เป็นชุณหะวัณในสนามการเมืองรุ่นที่ 3 

ส่วนธิษะณา ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลชุณหะวัณ วันนี้เธอเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตปทุมวัน บางรัก และสาทร ให้กับพรรคก้าวไกล เป็นการสืบทอดเส้นทางทางการเมืองของตระกูลชุณหะวัณอีกครั้ง แต่เปลี่ยนจากการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมแบบเดิมไปสู่แนวก้าวหน้า

The Momentum พูดคุยกับเธอถึงเรื่องราวของตระกูล ที่บ้านชุณหะวัณ ซอยราชครู บ้านไม้หลังนี้คือบ้านที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เสมอ เป็นบ้านที่ ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ ย่าของเธอ พักอาศัยในช่วงบั้นปลายชีวิต และเป็นบ้านส่วนตัวของไกรศักดิ์ ที่สะสมของเก่า เครื่องดนตรี และของใช้ส่วนตัวไว้เต็มบ้าน ขณะที่ห่างออกไปเป็นบ้านเดิมของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ รวมถึงบ้านของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ผู้สมรสกับคุณหญิงอุดมลักษณ์ ชุณหะวัณ (บุตรสาวของจอมพลผิน) ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน

บรรยากาศอบอวลประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าของเธอต่อจากนี้ เคล้าทั้งการรัฐประหารเมื่อปี 2534 มาถึงเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ซึ่งปูทางไปสู่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ว่ากันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดเท่าที่เคยมีมา ต่อเนื่องถึงความขัดแย้งทางการเมือง การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และแนวทางของพรรคก้าวไกล

สำหรับคุณ ตระกูลชุณหะวัณมีความหมายต่อคุณอย่างไร

สำหรับเรา ตระกูลชุณหะวัณมีความหมายคือการผูกขาดทางการเมือง อยากรู้ว่าคนคิดกับตระกูลเราอย่างไร ให้ไปดูสารคดีที่เขาทำเกี่ยวกับตระกูลนี้สิ มีคนบอกว่าก็รัฐประหารกันไปมา การแสดงความคิดเห็นของประชาชนนั้นจริงใจและซื่อสัตย์ที่สุดแล้ว คือมันเป็นการเมืองแบบเก่า การเมืองตระกูล เหมือนระบบกงสี ซึ่งพรรคก้าวไกลพยายามก้าวข้าม

ส่วนบ้านชุณหะวัณหลังที่เราอยู่ เป็นบ้านที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด เพื่อนพ่อมาคุยมาถกกันหลากหลายเรื่อง มีนักการเมืองเวียนหน้ามาพบเสมอ ตัวเราก็เกิดและโตที่บ้านไม้หลังนี้ เมื่อก่อนไม่มีชั้นล่าง เขาทำเป็นบ้านไม้แบบโบราณ ชั้นล่างมาทำทีหลัง เราเกิดทันคุณปู่ (พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ) ทันคุณย่า (ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ) แต่ไม่ทันคุณทวด (จอมพล ผิน ชุณหะวัณ)

คุณปู่จะแยกไปอยู่ที่พหลโยธิน ซอย 3 (ปัจจุบันคือมูลนิธิพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ) เพราะตอนนั้นคุณปู่ไม่ได้อยู่กับคุณย่าแล้ว แต่คนสมัยก่อนเขาไม่หย่ากัน ถือว่าแต่งงานจดทะเบียนสมรสกันแล้วก็จะแต่งกันไปเลย ไม่มีเลิก ซึ่งที่มูลนิธินั้นก็จะเอาไว้สังสรรค์ทางการเมือง เมื่อก่อนมีดาราฮ่องกงมาร่วมงานด้วย บางทีคุณปู่ก็มาเยี่ยมบ้านชุณหะวัณ แกก็จะนั่งรถกอล์ฟมา ส่วนหลังห่างออกไปเป็นบ้านของจอมพลผิน 

ตอนเราเด็กๆ ก็เห็นนักข่าวมาเฝ้าหน้าบ้าน ตำรวจมายืนที่ต้นซอย มาดูแลคุณปู่ เวลาไปไหนก็จะมีขบวนรถเจ้าหน้าที่ติดตามตลอด

พลเอกชาติชายและท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ ขณะขับรถกอล์ฟภายในบ้านพักซอยราชครู/ภาพ: AFP 

คุณปู่ของคุณ (พลเอกชาติชาย) ในสายตาของหลานชื่อธิษะณาเป็นอย่างไรบ้าง แตกต่างจากที่คนภายนอกเห็นบ้างไหม

คุณปู่เป็นคนเฮี้ยวมาก ไม่ยอมแก่ แกจะสูบซิการ์อยู่ตลอดเวลา ยังมีหัวใจวัยรุ่นอยู่เสมอ ใส่เสื้อหนัง ขี่ฮาร์เลย์ แกใจดีกับเรามาก คือถ้าอยากได้ตุ๊กตาบาร์บี้ ปู่ซื้อให้เลย ส่วนคุณย่านั้นเป็นคนตลกมาก ตอนเพื่อนเรามา คุณย่าก็แซวเพื่อนเรา มีคนบอกว่าที่แกชอบเล่าเรื่องตลก เนื่องจากคงเก็บกด เพราะอยู่ในวังมาก่อน คุณย่าเป็นลูกพี่ลูกน้องทางพระชนนีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ท่านก็เคยตามเสด็จเป็นนางสนองพระโอษฐ์ที่ต่างประเทศ มีภาพถ่ายย่านั่งกับพื้นแล้วก็จะยิ้มทุกรูป

ย้อนกลับไปที่คุณปู่ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ตั้งทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ซึ่งคุณพ่อก็ร่วมเป็นทีมงานด้วยก่อนจะโดนคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) รัฐประหาร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ตอนนั้นทีมที่ปรึกษาก็เป็นคนรุ่นใหม่ มีคนอย่างอาจารย์พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อาจารย์สุรเกียรติ์ เสถียรไทย แล้วคุณปู่แกมีความประนีประนอม เวลามีคนมาเรียกร้องอะไร แกก็จะรับฟัง ยุคนั้นประชาชนอยู่ดีกินดี ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มสูง มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า แต่ก็มาโดนรัฐประหารไปเสียก่อน

คุณรับรู้อะไรจากเหตุการณ์การรัฐประหารวันนั้นบ้าง

วันก่อนรัฐประหาร ครอบครัวได้ทราบมาว่าเขาจะรัฐประหารบนเครื่องบิน และมีคนเตือนมาก่อน เพราะวันรุ่งขึ้น ทางพลเอกชาติชายจะต้องนำพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่

คืนนั้นคุณปู่ท่านก็นั่งสูบซิการ์ จิบวิสกี้อยู่ ก็มีคนมาบอก พอท่านฟังจบ ก็บอกรู้แล้วๆ แล้วให้พ่อขึ้นไปนอน 6 โมงเช้าอีกวัน ทางพลเอกชาติชายก็ยังลากกระเป๋าเตรียมขึ้นเครื่องที่กองทัพอากาศ พ่อกับแม่เลยถาม รู้ว่าเขาจะปฏิวัติ ทำไมยังต้องไปอีก คุณปู่บอกว่า ในหลวงรับสั่งให้เข้าเฝ้าก็ต้องไป

สมาชิกในครอบครัวจำได้เลยว่า พลเอกชาติชายที่ปกติจะมีผมดำแซมอยู่บ้าง แต่หลังจากโดนรัฐประหาร ผมขาวโพลนไปทั้งหัวเลย แกคงเครียดมาก

 พลเอกชาติชายระหว่างถูก รสช. ควบคุมตัวในบ้านพักที่กองทัพอากาศ ดอนเมือง/ ภาพ:AFP

การรัฐประหารวันนั้นมีผลกระทบอะไรกับครอบครัวคุณบ้าง

หลังจากนั้นก็มีข่าวปลอมโจมตีครอบครัวเรา คุณพ่อโดนข้อกล่าวหาไปเกี่ยวข้องกับคดีลอบสังหาร ถูกใส่ร้าย เราก็เคยถามว่า พ่อทำจริงไหม พ่อบอกทำกับลิงน่ะสิ ใครจะไปทำได้ แกโดนใส่ร้าย หลังจากนั้นคุณพ่อก็ย้ายไปอยู่อังกฤษกับคุณปู่เลย

พลเอกชาติชายและ ‘ซิการ์’ คู่ใจ/ ภาพ:AFP

สำหรับคุณพ่อของคุณ (อาจารย์ไกรศักดิ์) คุณมองเขาอย่างไรบ้าง

พ่อต่อต้านโลกกระแสหลัก เหมือนผู้ชายอินดี้ แกเป็นฮิปปี้ ลองดูบ้านหลังนี้สิ แกทำบ้านเองทั้งหมด ชอบศิลปะ ชอบภาพเขียน แกเอาหน้ากากอินโดนีเซียมาประดับบ้านด้วย คือแกชื่นชมคนชายขอบ เป็นนักวิชาการ อาชีพที่แกทำนานที่สุดคือเป็นอาจารย์ แต่แกก็เป็นฝ่ายซ้ายมาโดยตลอด

มีอยู่ครั้งหนึ่งพ่อเคยแจกหนังสือของ จิตร ภูมิศักดิ์ ให้นักศึกษา เราก็งง ถามพ่อว่า มันเป็นหนังสือต้องห้ามไม่ใช่หรือ แล้วพ่อแจกได้ไง แกบอกว่าถ้านักศึกษาไม่อ่าน แกก็จะไม่ให้เรียนจบ

คุณธิษะณาได้เรียนรู้อะไรจากคุณพ่อบ้าง

ต้องเข้าใจว่าพ่อเป็นชนชั้นสูงโดยกำเนิด ทั้งการพูด อิริยาบถ กริยา ท่าทาง แต่แกชอบแอ็กต์เป็นฮิปปี้และแต่งตัวเป็นฮิปปี้ ไว้หนวดเครารุงรัง บางทีชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิง แต่ในอีกด้าน ห้องแกจะมีระเบียบมาก เพราะเคยอยู่โรงเรียนประจำมาตั้งแต่เด็กๆ ส่วนเวลาไปทำงาน เสื้อผ้าต้องเนี้ยบ แกจะอมฟิชเชอร์แมนส์เฟรนด์ตลอด เพื่อไม่ให้คนอื่นได้กลิ่นเหม็น รองเท้าต้องขัด แต่ในเวลาเดียวกันแกก็อยากเป็นแรงงาน ชอบเป็นศิลปิน ชอบเล่นกีตาร์ อยากเป็นนักกิจกรรม

บ้านหลังนี้ต้อนรับคนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ทางบิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ซึ่งถูก ‘อุ้มหาย’ ไปในวันที่ 17 เมษายน 2557 และไม่มีใครพบเห็นร่างอีกเลย) ก็เป็นเพื่อนพ่อ แต่ถ้าเป็นนายทุนนี่ พ่อไม่เอาเลย 

แต่ต่อมาอาจารย์ไกรศักดิ์ก็เข้าสู่เวทีการเมือง และเข้าร่วม ‘พรรคศักดินา’ อย่างพรรคประชาธิปัตย์

ต้องเข้าใจว่าช่วงที่สังคมมีความขัดแย้งทางการเมืองนั้น มันมีแนวคิดการต่อสู้ระหว่างพรรคนายทุนกับพรรคศักดินาซึ่งเป็นนายทุนแบบเก่า ทีนี้คุณพ่อไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์คือกลุ่มทุนแบบเก่าเพื่อมาสู้กับกลุ่มนายทุนใหม่ ซึ่งก็ได้รู้ในเวลาต่อมาว่า การใช้วิธีหนามหยอกเอาหนามบ่งนั้นไม่ถูกต้อง

แต่ตอนเป็นนักการเมือง พ่อก็ยังคงเห็นใจวิถีชีวิตของชาวบ้านและคนชายขอบมาโดยตลอด สมัยก่อนพ่อเคยไปทะเลาะกับคณะรัฐมนตรี เพราะไม่เห็นด้วยในนโยบายที่กระทบชาวบ้าน

เราต้องเข้าใจว่าอาจารย์ไกรศักดิ์ แกโตมาในช่วงสงครามเย็น ต่อต้านสงครามเวียดนาม เคยไปรณรงค์ให้กับพรรคเดโมแครตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตามกฎหมายทำไม่ได้ เพราะคุณไม่ใช่พลเมืองสหรัฐฯ ดีที่คุณปู่เป็นเอกอัครราชทูตในเวลานั้นเลยไม่ต้องถูกส่งตัวกลับ

สรุปได้ไหมว่า แม้อาจารย์ไกรศักดิ์จะเป็นนักการเมือง แต่ก็ยังมีภาพลักษณ์แบบนักวิชาการที่ติดดินเสมอ

ออกแนวเอ็นจีโอมาก สายม็อบ สายชุมนุม ต้องไปประท้วงกับชาวบ้าน ตอนเราเด็กเคยไปสภาฯ ครั้งเดียวเอง และก็อยู่แต่ในห้องทำงานของพ่อ แต่ได้ไปชุมนุมร่วมกับชาวบ้านประท้วงต่างจังหวัดบ่อยมาก ทั้งเรื่องถ่านหิน เรื่องเขื่อน มันก็มีส่วนบ่มเพาะเรา ตอนเด็กก็อยากเป็นนักการเมือง แต่ไม่คิดว่าจะเหมือนพ่อทั้ง 100% เพราะทุกคนก็มีความแตกต่างกันไป

ต้องเข้าใจว่าคุณพ่อต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรม การไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน ที่รับไม่ได้เลยคือเรื่องความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ จุดนี้ทำให้แกออกมาต่อต้านรัฐบาลตอนนั้น (รัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร) พอความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงปี 2547 พ่อก็ตัดสินใจไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ตอนไปอยู่ก็ทะเลาะกับคนในพรรคเสมอ เคยถึงขั้นเถียงกับแกนนำพรรคบางคนอย่างรุนแรงด้วย 

คุณธิษะณาเริ่มสนใจและเข้ามาทำงานการเมืองอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อไร

ตอนแรกไม่ได้เข้าสู่เวทีการเมือง ก็ยังมีความสุขกับงานที่ทำ ตอนนั้นก็คิดว่าทำงานเอ็นจีโอไป จนทางไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ (หลานชายของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี) มาชวนเข้าร่วมกลุ่ม Re-Solution ซึ่งมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชนเพื่อยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ รื้อระบอบประยุทธ์ เราก็ไปทำ ถือเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการเมือง

ตอนเรียนที่อังกฤษ เคยเขียนรายงานเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราพบว่าของไทยเป็นระบอบแบบไฮบริดหรือระบอบผสม มันมีการเลือกตั้งเอาไว้อ้างว่าเราเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีการแต่งตั้งคนเข้าสู่อำนาจโดยคณะรัฐประหาร ของบ้านเรามันดูย้อนกลับ มันไม่เป็นประชาธิปไตย เหมือนกับอิหร่านเลย 

เราต้องเข้าใจว่าก่อนการปฏิวัติอิหร่านในปี 2522 นั้น สังคมมีเสรีภาพมาก แม้จะอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยพระเจ้าชาห์ก็ตาม แต่พอหลังปฏิวัติ มีพวกคลั่งศาสนาเข้ามา ก็มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงปัจจุบัน

มาย้อนดูประเทศไทย เราเคยมีการเลือกตั้ง มีเสรีภาพ แต่ก็ถูกรัฐประหาร แต่หลังปี 2563 ก็มีคนตื่นรู้มากขึ้น แต่จะเป็นจำนวนเท่าไรนั้น เราคงจะได้รู้กันในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ 

ก่อนหน้านี้ก็มีคนวิจารณ์ว่าคุณก็เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มปฏิปักษ์ระบอบประชาธิปไตย แล้วมาเริ่ม ‘ตาสว่าง’ ตอนไหน

เราตาสว่างตอนมีการรณรงค์เรื่อง Vote No ในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งก็คือฉบับปัจจุบัน ตอนนั้นรู้ว่ามีคนถูกจับเพราะออกมาเคลื่อนไหวเรื่องพวกนี้ ทางพ่อก็ให้พื้นที่ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ แก่ผู้ชุมนุม ซึ่งตอนนั้นมีการบุกจับแกนนำที่ลานเลย

ตัวเราเองไปโหวตโนให้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเราคิดว่าแค่การรณรงค์ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นต้องจับกันเลยหรือ ก็เลยคิดว่าจะมาร่วมรณรงค์ให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เพราะในอดีตเราเคยมีรัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้ 

จากนั้น ตัวเราก็ไปร่วมชุมนุมเสมอ ถ้าเห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้เรียกร้อง ก็จะไปในฐานะประชาชน ถ้ามีคนติดต่อให้ขึ้นพูด เราก็จะปราศรัย ถ้ามองการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบ้านเรา เรามองว่ามันมีความหวังมาก ทุกวันนี้คนไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เยอะขึ้น จากเมื่อก่อนไปมองว่าเป็นคนเสื้อแดงโดน ความคิดคนก็เปลี่ยน เพราะมีคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องชุมนุม โดนกันเยอะ คนแก่บางคนก็เปลี่ยนความคิดเมื่อเห็นเด็กๆ ถูกจับ ถูกตั้งข้อหานี้

ตอนนี้คนตาสว่างมากยิ่งขึ้น

ตอนนี้คุณกำลังลงพื้นที่หาเสียงในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกล ความเป็น ‘ชุณหะวัณ’ มีส่วนช่วยอะไรคุณบ้างไหม

ก็มีคนเก่าแก่แชตมาหาเราในเพจเฟซบุ๊กเลยว่า สมัยพลเอกชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นดีแค่ไหน เขาบอกว่าตัวเองไม่ใช่ครอบครัวรวยอะไร แต่สามารถส่งลูก 4 คนไปเรียนนอกได้หมดเลย เพราะสมัยคุณปู่นั้น เศรษฐกิจดีมาก มันมีคำพูดว่า ‘ยุคนั้นเอาหูฉลามมาล้างปาก’ ก็มีคนมาชื่นชม คิดถึงสมัยนั้น แต่เป็นคนแก่ที่พูดถึงปู่ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมี

แต่อย่างที่บอก การเมืองแบบตระกูลมันเป็นเรื่องเก่า พวกการเมืองซอยราชครู หรือเรื่องนามสกุลชุณหะวัณของเรานั้น ทุกวันนี้มีแต่คนด่า แต่เราโตมาเป็นแบบนี้ ก็เลือกไม่ได้ ที่ผ่านมาก็ได้ซึมซับกับบรรยากาศของนักการเมืองในฐานะของคนตระกูลนี้มาพอสมควร

แต่ความเป็นคนจากตระกูลชุณหะวัณที่ถือเป็นสายเลือดนักการเมืองโดยตรง มีส่วนให้คุณตัดสินใจลงสู่สนามการเมืองไหม

เราว่าน่าจะมีส่วน เพราะมันเห็นทุกคนทำ ทุกคนในชีวิตเรา เพื่อนสนิทพ่อ ล้วนเข้าสู่เวทีการเมืองหมด คุณลุง คุณน้าที่เราเห็นหน้ามา ก็เป็นนักการเมืองทั้งสิ้น

แล้วทำไมถึงตัดสินใจเข้าพรรคก้าวไกล 

เพราะเป็นพรรคที่เป็นฝ่ายก้าวหน้ามากที่สุดแล้ว เรามีแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งชอบมาตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติมหิดลแล้ว 

ตอนสมัยไปเรียนปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชนระหว่างประเทศ ที่ SOAS University of London ประเทศอังกฤษนั้น ที่นั่นถือเป็นสถาบันการศึกษาที่ซ้ายจัดมาก ทุกวันพุธจะมีการประท้วง แล้วแต่จะเป็นเรื่องอะไรแตกต่างกันไป อย่างตอนที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกอุ้มหายตัวไปที่กัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ก็มีการรวมตัวกันประท้วงที่มหาวิทยาลัย อาจารย์ก็ออกมาชุมนุมด้วย

เมื่อเข้ามาร่วมกับพรรคก้าวไกลแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เป็นแบบที่คุณคิดไหม

ก็เป็นบ้าง ไม่เป็นบ้าง แล้วแต่บริบท เพราะมีคนหลากหลายมาก ไม่ใช่ทุกคนจะคิดเหมือนเรา บางคนก็ซ้ายกลาง บางคนเป็นพวกเสรีนิยม บางคนเป็นขวานิดๆ ก็มี แต่เราคิดว่ามันก็ต้องมีผสมผสานกัน

ส่วนตัวสนใจเรื่องการปฏิรูปที่ดิน สิทธิมนุษยชน คนชายขอบ ผู้ลี้ภัย แรงงานต่างด้าว ความรุนแรงที่เกิดกับผู้เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งก็ยังเป็นปัญหาจนถึงวันนี้

เรียกว่าค่อนข้างคล้ายคลึงกับอาจารย์ไกรศักดิ์

คล้ายๆ กัน แต่เน้นประเด็นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน เช่นประเด็นเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินและสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ

สำหรับประเด็นที่สนใจเหล่านี้ คิดว่ามีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน

ก็น้อย เพราะคนที่เป็นซ้ายมากๆ ก็น้อย อย่างพรรคก้าวไกลก็มี ส.ส. บางคนไม่โหวตแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งบางคนก็ออกจากพรรคไปแล้ว บางคนก็ยังไม่ยอมออก เป็นงูเห่าอยู่ ก็แสดงว่าเขาไม่ได้เป็นซ้ายสุด เป็นขวากลาง แต่ก็ยังอยู่ร่วมในพรรคได้

ทุกวันนี้ การลงพื้นที่หาเสียงเป็นอย่างไรบ้าง

เราเครียด นอนไม่หลับ สมองว้าวุ่น จากที่เคยใช้ชีวิตปกติ ตอนนี้มีคนด่าเราตลอดเวลา เจอข่าวปลอมสารพัด เหนื่อยใจ แต่ก็จะทำจนกว่าจะไม่มีแรง ที่ผ่านมาก็มีคนให้คำแนะนำมาก ถือว่าเราไม่มีอำนาจเงินตรา เป็นพรรคใหม่ ไม่มีระบบอุปถัมภ์ อยากฝากถึงคนที่มองว่าตระกูลชุณหะวัณเป็นกลุ่มการเมืองเก่า เป็นตัวแทนฝ่ายผู้มีอำนาจ ก็อยากให้ดูการกระทำของเรา แล้วประชาชนจะตัดสินเอาเอง

คือถ้าเราไปพูดว่าเราเสรีนิยมนะ แต่การกระทำไม่เป็น ไม่มีผลงาน ไม่ช่วยใครเลย ไม่กล้าพูดตามอุดมการณ์ของตัวเอง ก็ไม่มีผล ตอนนี้เราก็ลงพื้นที่หาเสียงเต็มที่ เลือกตั้งครั้งนี้เขาอาจจะไม่เลือก แต่เขารู้จักพรรคก้าวไกลแล้ว อนาคตเขาอาจมาเลือกก็ได้

รู้สึกอย่างไรเรื่องความขัดแย้งระหว่าง Voters ของพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย

มันเป็นสิทธิในการแสดงออก เขาจะคิดอย่างไรก็เป็นสิทธิของเขา ส่วนจะขัดแย้งมากขึ้นไหม เชื่อว่าหลังเลือกตั้งเสร็จก็คงจะหายไป เพราะตอนนั้นมันต้องพูดถึงการจับมือตั้งรัฐบาล ทางคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ยืนยันว่าจะไม่จับมือกับพรรคที่อยู่ฝั่ง คสช. หรือแอบแฝงอยู่ในนั้น

และไม่ว่าจะมียุบสภาฯ หรือไม่ ปีนี้ทุกคนก็พร้อมกับการเลือกตั้งใหญ่แล้ว

มีความคิดเห็นอย่างไรที่คนบอกว่าพรรคก้าวไกลเป็นพวกซ้ายสุดโต่ง

ก้าวไกลนี่เป็นพรรคซ้ายสุดโต่งแล้วหรือ (ย้อนถามแล้วตอบทันที) เราว่าเป็นพรรคซ้ายกลางด้วยซ้ำ ดูจากนโยบายเรื่องกัญชาที่ยังอยากให้เป็นยาเสพติดอยู่ อันนี้ไม่ใช่ซ้ายสุดขอบแน่นอน

คือในสังคมไทยอาจจะมีมุมมองแบบนั้น แต่ในต่างประเทศ ต้องเข้าใจว่า พวกฝ่ายขวาจำนวนมากจะขวาจัด ขวาสุดขอบ เขาก็ยังอยู่ในประชาธิปไตย เพราะมันคือกติกาที่เป็นกลาง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขวาจัดหรือกลุ่มอนุรักษนิยมในต่างประเทศ เขาไม่เอาเผด็จการทั้งนั้น เพราะคนที่หนุนเผด็จการ จะไม่มีที่ยืนในสังคมประชาธิปไตยได้

เราอยากจะบอกคนที่กล่าวหาพรรคก้าวไกลเป็นพวกซ้ายสุดโต่งว่า ที่จริงพวกคุณนั่นแหละคือพวกขวาสุดโต่ง

 

เชิงอรรถ

1การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นอกจากจะมีข้ออ้างว่าด้วยการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางของคณะรัฐมนตรีแล้ว ข้ออ้างหนึ่งคือคดี ‘ลอบสังหาร’ โดยอ้างว่า พลเอกชาติชายมีความพยายามช่วยเหลือ พลตรี มนูญ รูปขจร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยคดีลอบสังหารบุคคลสำคัญคือลอบสังหารพลเอกเปรม รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง รวมถึงนายทหารบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีให้กลับเข้ารับราชการ และกลับมามีบทบาททางการเมือง ขณะเดียวกัน ยังมีการโจมตี ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กลุ่มที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก และบุตรชายของพลเอกชาติชายว่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้ และเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปิดการสืบสวนเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้า และไม่พบความเชื่อมโยง ทำให้คดีนี้เงียบหายไปในที่สุด

Fact Box

  • แก้วตา-ธิษะณา ชุณหะวัณ เป็นบุตรคนที่ 2 ของ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และอโนทัย ชุณหะวัณ น้องสาวของเธอคือ ขวัญตา-สิริจรรยา ชุณหะวัณ นางแบบผู้ที่มี ‘อาจารย์โต้ง’ คุณพ่อเป็นแบบอย่างเช่นกัน 
  • ‘แก้วตา’ เกิดในเดือนธันวาคม 2534 ปีเดียวกับที่มีการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์​ 2534 ปัจจุบันอายุ 31 ปี เธอเรียนจบปริญญาตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนานาชาติมหิดล และปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชนระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย School of Oriental and African Studies (SOAS) University of London ประเทศอังกฤษ โดยก่อนหน้าจะเข้าสู่งานการเมือง แก้วตาเคยทำงานเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อน
  • ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ บิดาของแก้วตามักปรากฏกายในเวทีการเคลื่อนไหวของประชาชนอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสมัชชาคนจน หรือเวทีเรียกร้องในประเด็นสิ่งแวดล้อม ในเวลาว่าง ไกรศักดิ์มักเล่นดนตรีร็อก และมีฝีมือชั้นยอดในการเล่นกีตาร์ ทั้งยังเคยขึ้นเล่นดนตรีแจมกับวงคาราบาวและคาราวานอยู่เป็นประจำ
  • ก่อนเสียชีวิตไม่นาน ไกรศักดิ์ประกาศสนับสนุนกลุ่มนักศึกษา ‘ดาวดิน’ ซึ่งมีแนวคิดช่วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ขณะเดียวกัน กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวนำโดย ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ยังได้เคลื่อนไหวต่อต้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว ทำให้หลายฝ่ายมองว่าไกรศักดิ์ซึ่งเคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ ‘ย้ายข้าง’ ไกรศักดิ์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 ด้วยโรคมะเร็งในวัย 72 ปี
Tags: , , , , ,