ย้อนกลับในการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2562 พรรคภูมิใจไทยที่นำโดย อนุทิน ชาญวีรกูล สามารถคว้าเก้าอี้ ส.ส. ได้ 51 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 39 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 12 คน มากเป็นอันดับที่ 5 ของสภาผู้แทนราษฎร และประกาศจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

ผ่านมาเป็นเวลา 3 ปี พรรคภูมิใจไทยเติบโตขึ้น มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นเป็น 65 คน กลายเป็นพรรคอันดับ 2 ของพรรคร่วมรัฐบาล รองจากพรรคพลังประชารัฐ และยังมีแนวโน้มที่จะได้สมาชิกเพิ่มขึ้นอีก ทำให้พรรคภูมิใจไทยถูกจับตามองอย่างมาก ในฐานะตัวแปรสำคัญกับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

หนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงที่ทางพรรคภาคภูมิใจ คือการปลดล็อก พ.ร.บ.กัญชาเสรี ซึ่งผลักดันจนสำเร็จเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565

แต่ในอีกด้านหนึ่ง พรรคภูมิใจไทยก็ต้องประสบกับข้อครหามาโดยตลอดจากการหาเสียงเลือกตั้งครั้งก่อนที่ว่า จะ ‘ไม่จับมือกับเผด็จการ’ การสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี หรือการ ‘ดูด’ ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นมาร่วมพรรค ไปจนถึงภาพจำของพรรคการเมืองที่ ‘อยู่ตรงกลาง’ ในยุคที่มีการแบ่งฟากการเมืองในสังคมอย่างชัดเจน

The Momentum ไปเยือนที่ทำการพรรคภูมิใจไทย เพื่อพุดคุยกับ ‘ภราดร ปริศนานันทกุล’ โฆษกพรรคภูมิใจไทย ที่เข้าร่วมพรรคตั้งแต่ปี 2561 ถึงประเด็นต่างๆ ดังกล่าว

“เราใช้การกระทำแทนคำพูด เราไม่เคยตอบโต้” คือสิ่งที่ภราดรยืนยันบ่อยครั้งในบทสนทนา

แต่ไม่ว่าการเลือกตั้งใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อไร ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ต้องจับตา คือบทบาทของพรรคภูมิใจไทยที่เหมือนจะเป็น ‘ตัวแปรสำคัญ’ ของการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้

ย้อนกลับไปตอนเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 พรรคภูมิใจไทยได้เก้าอี้ ส.ส. 51 คน ผ่านมา 3 ปี จำนวน ส.ส. ของพรรคก็เพิ่มขึ้นเป็น 65 คน ทำไมพรรคภูมิใจไทยถึงเติบโตขึ้นและมีแต่คนอยากเข้ามาร่วมงานด้วย

ผมคิดว่ามันอยู่ที่ทิศทางการทำงานของพรรค จะเห็นว่าพรรคภูมิใจไทยเราออกนโยบาย ออกแคมเปญตอนหาเสียงหลายเรื่องมาก เรื่องหลักของเราก็คือ หนึ่ง เรื่องกัญชาเสรี ซึ่งผมย้ำอีกครั้งว่าเสรีทางการแพทย์ สอง เรื่องเรียนออนไลน์ ตอนนั้นยังไม่มีสถานการณ์โควิดด้วยซ้ำ แต่เราก็พยายามผลักดันเรื่องเรียนออนไลน์ และสาม เรื่องพักชำระหนี้ กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) และปลดภาระผู้ค้ำประกันให้แก่ผู้กู้ กยศ.

จากตัวอย่างสองถึงสามเรื่องนี้ เราก็พยายามผลักดันจากความฝันที่เราเสนอขายต่อประชาชนมาเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเราใช้เวลาหลายปีในการลบข้อครหาจากสังคมที่คอยปรามาสพรรคภูมิใจไทยว่าดีแต่พูด อย่างเรื่องกัญชา คนก็มักถามว่า ไหนล่ะกัญชาเสรี ไหนล่ะที่บอกว่าปลูกได้บ้านละหกต้นเพื่อให้ใช้ในกิจการครัวเรือน ใช้ในกิจการครอบครัว เราจึงใช้การกระทำแทนคำพูด เราไม่เคยตอบโต้ แต่พยายามดำเนินการไปในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ท่านหัวหน้าพรรคหรือรัฐมนตรีว่าการฯ ท่านก็ผลักดันในส่วนของท่าน คือสภาผู้แทนฯ พวกเราก็พยายามดำเนินการในส่วนนี้ คือแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ใช้เวลาสองถึงสามปีกว่าถึงจะดำเนินการให้สำเร็จได้

ต่อมา เรื่องปลดหนี้ กยศ. หรือปลดภาระให้กับผู้ค้ำประกัน เราก็ไปดำเนินการแก้ไขในตัวกฎหมายแล้ว เพื่อปลดล็อกผู้ค้ำประกัน รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ยหรือลดเบี้ยปรับของผู้กู้ กยศ. ลง อันนี้เป็นนโยบายที่เราผลักดันตอนหาเสียง และทำให้เห็นว่าเราพูดแล้วเราทำ

เรื่องที่สาม เรื่องเรียนออนไลน์ ต้องบอกว่าเป็นการผลักดันของพรรคภูมิใจไทย เราไปแก้ไขกฎหมายเรื่อง พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หลักการคือใครที่อยากจะเรียนก็สามารถที่จะเรียนได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่โรงเรียน ไม่จำกัดช่วงอายุ ต่อไปในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการควรสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเรียนออนไลน์ได้ สามารถเพิ่มทักษะของตัวเองได้ นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะไปให้ถึงในอนาคต

ส่วนคำถามว่า ทำไมคนถึงเดินเข้าสู่พรรคภูมิใจไทย อย่างที่บอก เมื่อเราออกนโยบายอะไรไป เราสามารถดำเนินการให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ นี่คือความจริงใจที่เมื่อเสนอนโยบายไปแล้ว เราก็พร้อมที่จะทำ และเมื่อมีนโยบายที่ชัดเจน มีการทำงานที่ชัดเจน ผมคิดว่าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดให้เพื่อนสมาชิกอยากที่จะมาร่วมเส้นทางกับพรรคภูมิใจไทย

วันนี้ต้องบอกว่าพรรคภูมิใจไทยดูแลกระทรวงใหญ่ คือกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะฉะนั้นในพื้นที่ตามต่างจังหวัด พวกเราที่เป็นผู้แทนเขตก็พยายามนำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน มาใช้ช่องทางสภาฯ ช่วยแก้ไข เราหารือกับทางสภาฯ สภาฯ ส่งให้กระทรวงคมนาคม เมื่อกระทรวงคมนาคมเห็นว่าเป็นปัญหาของพี่น้องประชาชน ก็ไปจัดตั้งงบประมาณในปีถัดไปเพื่อแก้ไขปัญหา นี่คือสิ่งที่จะบอกกับประชาชนได้ว่า เมื่อมองเห็นปัญหาแล้ว เราพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาให้

พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มี ส.ส. มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากพรรคพลังประชารัฐ คนทั่วไปมองว่าจุดนี้อาจเป็นตัวแปรสำคัญในอนาคต หากมีการเลือกตั้งใหม่

อย่างที่บอกว่า วันนี้ภูมิใจไทยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เติบโตทั้งในเรื่องนโยบายพรรค แคมเปญเพื่อรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เรามีอีกหลากหลายนโยบายมากที่พยายามผลักดัน เป็นทั้งนโยบายใหม่และเป็นนโยบายที่จะพยายามต่อยอดจากนโยบายเดิม ซึ่งขออนุญาตยังไม่พูดในวันนี้ ด้วยสิ่งเหล่านี้ เราก็คาดหวังว่าพรรคจะได้รับความนิยมจากพี่น้องประชาชนเพิ่มขึ้น โดยสะท้อนออกผ่านตัวเลขของจำนวน ส.ส. ที่พรรคอยากจะได้เพิ่มขึ้น

แต่ก็มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า คนที่มาเข้าร่วมกับพรรคภูมิใจไทยมักจะถูกมองว่าเป็น ‘งูเห่า’ จากพรรคเดิม ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยก็เพิ่งจัดงาน ‘ไล่หนู ตีงูเห่า’ ที่ศรีสะเกษ ที่ระบุว่า พรรคภูมิใจไทย ‘ดูด’ ส.ส. ไป 3 คน คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ผมขออนุญาตไม่นับรวมเพื่อนสมาชิกจากพรรคอนาคตใหม่ เพราะเป็นกรณีที่ต่างกัน ซึ่งอันนั้นเขาถูกยุบพรรค ดังนั้นจึงเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเดินไปทางไหนก็ได้ แต่พูดถึงเพื่อนสมาชิกศรีสะเกษสามคนที่ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย พอได้สอบถามกัน สิ่งที่ปรากฏก็คือพรรคเพื่อไทยไปเปิดตัวผู้สมัครคนอื่นในเขตของเขา หมายความว่าในครั้งหน้าเขาจะไม่ส่งเพื่อนสมาชิกเหล่านี้ลง ในเมื่อเขาไม่ส่งลง แน่นอนว่าคนเป็นนักการเมืองก็ต้องไปหาบ้านใหม่ ไม่ใช่เขาหนีออกมานะ แต่เขาถูกไล่ออกมา ตรงนี้เป็นมุมมองที่ผมมองว่าสังคมยังมองกลับด้าน

ความจริงแล้วก็เป็นเรื่องแปลกที่พรรคการเมืองจะไปเปิดตัวผู้สมัครคนอื่น ทั้งที่นักการเมืองคนเดิมก็ยังสังกัดพรรคตัวเองอยู่ และยังทำงานในฐานะตัวแทนของพรรคอยู่ การเปิดตัวคนอื่นเป็นแคนดิเดตในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมคิดว่าคนที่เป็นผู้สมัครเดิมหรือ ส.ส. คนเดิมในเขตพื้นที่ตรงนั้นก็เสียความรู้สึกนะ เพื่อนสมาชิกทั้งสามก็เสียใจที่พรรคทำกับเขาแบบนั้น ซึ่งผมว่ามันชอบธรรมที่เขาจะเดินออกมา

แล้วในอนาคต พรรคภูมิใจไทยจะสามารถทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยได้ไหม

ผมคิดว่า ก่อนหน้านี้พรรคภูมิใจไทยก็เติบโตมาจากพรรคไทยรักไทยเดิม มาเป็นพรรคพลังประชาชน แล้วถึงได้แตกตัวออกมาเป็นพรรคภูมิใจไทย แนวทางบางอย่างก็น่าจะเดินไปด้วยกันได้ ซึ่งก็อยู่ที่ทิศทางทางการเมืองในอนาคตด้วยว่าสุดท้ายแล้วประชาชนจะตัดสินใจกันอย่างไร ในสมการการเมืองต้องพูดกันตรงๆ ว่า การจัดขั้วมันต้องดูที่ตัวเลขของการตัดสินใจของประชาชนด้วยว่าให้พรรคการเมืองไหนมาทำหน้าที่มากน้อยเท่าไร

3 ปีที่ผ่านมาของพรรคภูมิใจไทยในการทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเป็นอย่างไรบ้าง

ผมว่าเรื่องนี้ต้องถามพี่น้องประชาชนดีกว่าว่าที่ผ่านมาผลงานของพรรคภูมิใจไทยเป็นอย่างไร ทั้งตัว ส.ส.เขตเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนของพรรคซึ่งทำงานในพื้นที่ รวมถึงตัวนโยบายภาพรวมของประเทศเองก็ดี มันคงไม่แฟร์นักที่เราจะพูดเอง จะประเมินตัวเองสูง หรือประเมินตัวเองต่ำเกินไป มันเป็นหน้าที่ของพี่น้องประชาชน ซึ่งการประเมินจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า ประชาชนจะให้โอกาสพรรคภูมิใจไทยกลับมาอีกมากน้อยแค่ไหน

ก่อนหน้านี้คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ ประกาศว่า พรรคภูมิใจไทยตั้งเป้ากวาด ส.ส. 100 ที่นั่งในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ถือเป็นเป้าหมายที่ยากง่ายขนาดไหน

สุดท้ายแล้วเราตอบไม่ได้ ทุกพรรคการเมืองอยากจะได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนในจำนวนที่มากเพียงพอ ในการที่จะขับเคลื่อนนโยบายที่เราได้ให้สัญญากับทางสังคมเอาไว้ อยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนว่า เมื่อลงสนามเลือกตั้งแล้ว ประชาชนจะตัดสินใจอย่างไรหรือตัดสินใจบนพื้นฐานของอะไร พรรคก็พยายามทำงานในวันนี้เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่เราพูด

ผมเชื่อว่าคนจะตัดสินใจเลือกตั้งผู้แทนฯ จาก หนึ่ง นโยบายน่าสนใจ สอง นโยบายสวยแล้วกินได้ไหม ถ้าผมเป็นประชาชน ผมจะดูว่าอดีตพรรคการเมืองพรรคไหนที่พูดแล้วลงมือปฏิบัติได้ ผมจะดูว่าผู้แทนคนไหนทำงานให้กับพื้นที่หรือชุมชนมากน้อยแค่ไหน ส่วนการเลือกผู้แทนเขต ผมก็จะดูว่าผู้แทนของผมได้ทำงานแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านไหม ชาวบ้านเดือดร้อน ผู้แทนเป็นกระบอกเสียงให้เขาในสภาฯ ได้ไหม เห็นปัญหาแล้วไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาแก้ไขปัญหาให้เขาได้ไหม หรือเราจะเลือกผู้แทนที่ถึงเวลาก็ลงพื้นที่หาเสียง รับปากนู่นนี่ แต่ถึงเวลาไม่สามารถทำอะไรให้ได้สักอย่าง

ผมคิดว่าประชาชนก็เลือกโดยการดูในจุดเหล่านี้ เพราะเขาอยากได้ผู้แทนเขตที่แก้ไขปัญหาให้กับเขาได้ อยู่กับเขาเวลาที่มีปัญหา รับฟังและเดินหน้าไปกับเขา ขับเคลื่อนชุมชนและจังหวัดไปด้วยกัน

นโยบายที่คนจับตามองพรรคภูมิใจไทยมากที่สุด คือเรื่องปลดล็อกกัญชาเสรี ซึ่งเมื่อมีการปลดล็อกแล้ว ทางพรรคมีความกังวลอะไรไหม เพราะมี ส.ส. บางพรรคที่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องโทษของกัญชา เช่น เสรีกัญชากับเยาวชน

แน่นอนเราต้องยอมรับว่าเหรียญมีสองด้านเสมอ มีทั้งคุณและโทษ แต่สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยมอง คือเราพยายามที่จะสร้างคลื่นเศรษฐกิจตัวใหม่ พยายามสร้างอาชีพใหม่ให้กับคนไทย ทำให้กัญชาเป็นทางเลือกและทางรอดของประชาชน เรามองเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องการแพทย์เป็นหลัก เราจะเห็นว่าหลังจากปลดล็อกกัญชาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ธุรกิจกัญชาทุกวันนี้เติบโตมาก อันนี้คือด้านบวก ส่วนในเรื่องของโทษ หากนำไปใช้ผิดประเภท เช่น เอาไปเสพ เอาไปใช้เพื่อสันทนาการ นันทนาการ ซึ่งเราก็บอกตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่สนับสนุนในเรื่องสันทนาการ

สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยทำคือเสนอกฎหมายเรื่อง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะได้รับพิจารณาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในนั้นก็จะมีรายละเอียดไปจำกัดขอบเขตว่า ความเสรีของมันคือเสรีอย่างไร เสรีเพื่อเศรษฐกิจ เพื่อธุรกิจ เพื่อการแพทย์ ส่วนทางด้านสันทนาการ เราพยายามปิดกั้นอยู่ ผมว่าไม่มีใครสนับสนุนหรอก เพราะมันเป็นโทษกับร่างกาย โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข เขาก็ไม่สนับสนุนให้ไปใช้ในเชิงสารเสพติดอยู่แล้ว

อีกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ที่ผ่านมามี ส.ส. จากพรรคภูมิใจไทยออกมาพูดว่า ให้คุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ หยุดหาเสียงในประเด็นเตรียมออกระเบียบไม่ให้มีกัญชาในโรงเรียนของ กทม. สิ่งนี้จะเป็นปัญหาในการทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ ไหม

ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สังคมออกมาให้ข้อสังเกตกับสภาฯ เพราะผมเชื่อว่าในส่วนของกฎหมายกัญชากัญชงมันเข้าไปอยู่ในส่วนของกรรมาธิการแล้ว เพราะฉะนั้นกรรมมาธิการก็จะเอาข้อสังเกตจากสังคมไปดำเนินการเขียนกรอบให้ชัดเจนว่า ตรงไหนบ้างที่ทำได้ ตรงไหนบ้างที่ไม่ควรทำ ผมคิดว่าพรรคภูมิใจไทยส่งไม้ต่อไปแล้ว คือเราปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด ทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจขึ้นมาแล้ว ต่อไปเรื่องกรอบกติกาเป็นเรื่องของสภาฯ ทั้งหมดที่จะต้องมาเขียนร่วมกัน แต่หลักใหญ่ของมันคือเรื่องพืชเศรษฐกิจ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนเห็นด้วย ทั้งเรื่องเสรีทางการแพทย์ หรือเอากัญชามาใช้เป็นการรักษาทางเลือก

สรุปว่าพรรคภูมิใจไทยไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ ชัชชาติใช่ไหม

พรรคภูมิใจไทยไม่เคยขัดแย้งกับใครอยู่แล้ว เราพร้อมที่จะทำงานกับทุกคน ทุกพรรคการเมืองด้วย

ประเด็นใหญ่อีกเรื่องในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล และทำไมพรรคภูมิใจไทยจึงโหวตไม่รับร่างฯ

ในพรรคภูมิใจไทยมีความหลากหลาย เราต้องยอมรับว่ากลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลามหรือนับถือศาสนาคริสต์ เขามีหลักคำสอนของศาสนาที่ไม่สามารถยอมรับเรื่องพวกนี้ได้ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องส่วนบุคคลของสมาชิกแต่ละท่านมากกว่า ว่าจะมีแนวคิดและแนวทางต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างไร เมื่อการลงมติเรื่องสมรสเท่าเทียมครั้งที่แล้ว ผมพูดชัดๆ อีกทีว่าผมงดออกเสียง แต่ว่าวันนั้นไม่ได้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับเดียวเท่านั้น แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิความเท่าเทียมถึงสามเรื่องด้วยกัน อีกสองฉบับคือกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งเป็นกฎหมายคู่ชีวิต เช่นเดียวกับกฎหมายอีกฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นกฎหมายคู่ชีวิตเหมือนกัน

หลักใหญ่ใจความของกฎหมายทั้งสองฉบับนั้น อาจไม่เสมอกับเรื่องสมรสเท่าเทียม แต่หลักใหญ่คือเป็นการให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะยังไม่เท่ากับกลุ่มคู่สมรสปกติ แต่สิทธิต่างๆ ที่เขาได้เรียกร้องตลอดสิบปีที่ผ่านมาได้ถูกบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนั้น และสิทธิต่างๆ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมมากขึ้นในชั้นกรรมาธิการ เพราะฉะนั้น ร่างสองฉบับนี้เป็นสิ่งที่ผมสนับสนุน

ส่วนเหตุผลว่าทำไมผมงดออกเสียง เพราะผมเชื่อว่าเราเป็นผู้แทนของกลุ่มคนที่หลากหลาย เราต้องฟังกลุ่มคนกลุ่มอื่นด้วยเช่นกัน ในสังคมนี้มีคนอีกหลายกลุ่มที่เขาแสดงความไม่เห็นด้วยหรือยังไม่เข้าใจกับเรื่องนี้มากเท่าไรนัก

ผมยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะมีสมรสเท่าเทียม เขามีกฎหมายคู่ชีวิตมาก่อน ใช้อยู่ประมาณสองสามปี และเปลี่ยนมาเป็นสมรสเท่าเทียม วันนี้มีแล้วทั้งกฎหมายคู่ชีวิตและสมรสเท่าเทียม นี่คือสหรัฐอเมริกา เขาให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งที่เป็นสิ่งแปลกใหม่ของสังคม ผมเชื่อว่าท้ายที่สุด สังคมก็จะเรียนรู้และเรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้น เป้าหมายสุดท้าย และจุดมุ่งหมายสุดท้าย สังคมไทยน่าจะต้องเดินไปที่สมรสเท่าเทียมแน่นอน แต่วันนี้ผมคิดว่าควรที่จะให้สังคมค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลง ค่อยๆ มีการรับรู้ถึงสิ่งใหม่ เพราะวันนี้การจะทำให้คนคิดเหมือนกัน รู้สึกสบายใจเหมือนกันในประเด็นใหม่ คงเป็นเรื่องยาก

ทุกวันนี้ สังคมไทยจะแบ่งฝั่งชัดเจนระหว่าง ‘เผด็จการ’ กับ ‘ประชาธิปไตย’ อยากรู้ว่าพรรคมีจุดยืนและท่าทีอย่างไรกับการเลือกตั้งใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ และในฐานะที่พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ คิดว่าจะส่งผลอย่างไรต่อการเลือกตั้ง

อย่างที่บอกว่า ต้องดูการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน ทั้งการเลือกผู้แทนและพรรคการเมือง ว่าเลือกจากฐานอะไร ถ้าเลือกเพราะเกลียด ผมว่าสังคมไปต่อยาก ยกตัวอย่าง ทำไมตอนนั้นสังคมเลือกคุณยิ่งลักษณ์ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เพราะสังคมเกลียดคุณอภิสิทธิ์ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ไง วันนี้ก็เหมือนกัน ทำไมครั้งที่แล้วสังคมกลับมาเลือกพรรคพลังประชารัฐให้คะแนนมากมาย เพราะสังคมเขายังกลัวคุณทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) เขายังไม่ชอบคุณทักษิณ นี่คือเราเลือกเพราะเราเกลียด ผมคิดว่ามันหมดเวลาที่เราจะมาเลือกเพราะความเกลียดความกลัวแล้ว

อย่างล่าสุดตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา ก็มีผู้สมัครบางคนใช้แคมเปญว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ถ้าย้อนไปสักสิบยี่สิบปีที่แล้ว ตอนเลือกคุณสุขุมพันธ์ (ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร) มันสามารถที่จะใช้ได้นะ คือเลือกเพราะกลัว ไม่ใช่เลือกเพราะรักนะ ผมคิดว่าการเลือก เราควรเลือกเพราะรักมากกว่า

การเลือกตั้งครั้งนี้ ผมอยากให้สติกับสังคมว่า เราควรจะเลือกเพราะเราชอบมากกว่า อย่าไปเลือกเพราะเราเกลียด อย่างเช่น ครั้งนี้เราไม่ชอบลุงตู่ ไม่ชอบรัฐบาล เราก็ไปเลือกอะไรที่ไม่ใช่ลุง อะไรที่ไม่ใช่องคาพยพของลุง ถ้าไปเลือกแบบนั้น สิ่งที่ได้คืออะไร คุณก็ไม่ได้สิ่งที่คุณรักใช่ไหม คุณลองถามตัวเองก่อน ถ้าคุณเลือกเพราะคุณรักพรรคนี้ ไม่ใช่คุณเลือกเพราะคุณเกลียดลุง หรือถ้าคุณเลือกพรรคนี้เพราะนโยบายเขาดี คุณเชื่อมั่นว่าเลือกไปแล้วเขาทำงานให้ได้ เขาตอบโจทย์ได้ คุณเลือกได้เลยไม่ว่ากัน แต่ถ้าคุณเลือกเพราะเกลียด ผมคิดว่าต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่

อีกประเด็นคือเรื่อง ‘ภาพจำ’ ของพรรคภูมิใจไทย จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่พรรคบอกว่าไม่สนับสนุนเผด็จการ แต่สุดท้ายก็เข้าร่วมรัฐบาลนี้ ประเด็นนี้ถือเป็นข้อชวนกังวลไหม

สิ่งที่หัวหน้าอนุทิน (อนุทิน ชาญวีรกูล) พูดบนเวที ท่านบอกว่าคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นเสียงข้างมากของสภาล่าง เราจะไม่ให้ ส.ว. มากำหนดทิศทาง นั่นหมายความว่า คนจะตั้งรัฐบาล ในสภาล่างก็จะต้องมีเสียงข้างมาก ซึ่งวันนั้นคนที่รวมเสียงข้างมากในสภาล่างได้คือฝั่งนี้นะ แต่สิ่งที่คนเอาไปตีความคำพูดของคุณอนุทินคือ…(นิ่งคิด) ไม่เป็นไร มันผ่านไปแล้ว แต่เจตนาที่หัวหน้าอนุทินจะพูด คือใครครองเสียงข้างมากในสภาล่าง เราก็จะอยู่ฝั่งนั้น

หากสังคมกดดันให้พรรคการเมืองต้อง ‘เลือกข้าง’ ให้ชัดเจน พรรคภูมิใจไทยที่ประกาศว่า ‘อยู่ตรงกลาง’ พร้อมร่วมงานกับฝั่งไหนก็ได้ ทางพรรคไม่วิตกอะไรกับจุดยืนนี้ใช่ไหม

ผมถึงได้บอกว่า ผมอยากให้สติกับสังคมว่า อย่าเลือกเพราะเกลียด ต้องดูให้ชัดเจนว่าเราต้องการอะไร แล้วคนที่เราเลือกเขาทำงานให้เราได้ไหม พรรคการเมืองที่เราเลือกตอบโจทย์เราไหม นโยบายของพรรคที่เราจะเลือกตอบโจทย์สังคมไหม มันแก้ไขปัญหาในสังคมได้ไหม

ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ พรรคภูมิใจไทยวางแผนอย่างไร หรือมีนโยบายอะไรที่อยากผลักดันต่อไป

มีหลายเรื่อง เรื่องกัญชาก็อยากผลักดันต่อ ซึ่งตอนนี้เราผลักดันมาครึ่งค่อนทางแล้ว ต่อไปเราพยายามคิดที่จะต่อยอดเรื่องกัญชาให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ แล้วจะต้องมีอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับคนไทยอีกจำนวนมากบนพื้นฐานของอุตสาหกรรมกัญชา

ในฐานะที่คุณก็เป็น ส.ส. คนหนึ่ง ได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ไหม พอใจกับบทบาทหน้าที่ของตัวเองมากน้อยแค่ไหน

เราอยู่ในพรรคการเมือง ทุกสิ่งที่คิดบางครั้งก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะด้วยมติของพรรคหรือความเป็นพรรคการเมืองที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วยเช่นเดียวกัน เราอยู่ในบ้านหลังใหญ่ เราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นที่อาจจะไม่เหมือนกัน ต้องยอมรับเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยในพรรค บางครั้งเราเป็นเสียงข้างมาก เราให้เหตุผลแล้วพรรคคล้อยตาม เราก็ภูมิใจว่าสิ่งที่ได้เสนอต่อพรรคสามารถที่จะผลักดันได้ แต่บางครั้งเราก็เป็นเสียงข้างน้อย พอพูดไปแล้ว เพื่อนในพรรคเห็นด้วยกับเราน้อยกว่า เราก็ต้องยอมรับและต้องเดินหน้าตามมติของพรรค

ฉะนั้น การทำงานในส่วนของผมช่วงสมัยที่ผ่านมา มันก็มีทั้งพอใจบ้าง ไม่เป็นตัวของตัวเองบ้าง แต่สุดท้ายก็เป็นมติของพรรค และเป็นเสียงข้างมากที่พรรคต้องการเดินทางนั้น เราเป็นคนอยู่ในบ้าน เราก็ต้องรับฟังทุกคนในบ้านเช่นเดียวกัน ในส่วนของงานลงพื้นที่ ผมได้พยายามลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและพยายามแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้อง ซึ่งก็คิดว่าทำได้ดีและพอใจในระดับหนึ่ง

แล้วผลงานของรัฐบาลชุดนี้ที่ผ่านมาล่ะ คุณมีความเห็นอย่างไร

ผมคิดว่าให้ประชาชนตอบดีกว่า ผมอยู่ฝ่ายรัฐบาล มันอาจจะยากที่จะตอบ แล้วอาจจะมีอคติว่าเรามีความเห็นที่ไม่เป็นกลางหรือเปล่า ดังนั้น ให้ประชาชนตอบดีกว่า

Fact Box

  • ภราดร ปริศนานันทกุล เป็นบุตรของสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรี จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสถิติ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Warwick University ประเทศอังกฤษ
  • ภราดร ปริศนานันทกุล ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง คู่กับนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เมื่อ 23 ธันวาคม 2550 และได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ปี 2554 สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา
  • ปี 2561 ภราดร ปริศนานันทกุล ย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทองอีกสมัย และได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกพรรคภูมิใจไทยในปีเดียวกัน
Tags: , , ,