นับตั้งแต่ปี 2544 ภาคอีสาน ถือเป็น ‘ฐานที่มั่น’ ทางการเมืองของคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าเลือกตั้งกี่ครั้ง กี่หน และด้วย ‘คู่แข่ง’ แบบไหน และไม่ว่าจะใช้ชื่อพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย อีสานก็ยังเป็นของตายสำหรับทักษิณ และทุกพรรคที่ทักษิณสนับสนุนอยู่เสมอ

คำถามก็คือ ทำไมอีสานถึงได้รักพรรคของทักษิณ นโยบายของทักษิณ และผู้แทนของเขามากนัก? แล้วในมุมของ ส.ส.อีสาน ปัญหาของดินแดนที่ราบสูง ทางแก้และทางออกของดินแดนต้องคำสาปแห่งนี้ คือเรื่องอะไรที่สำคัญที่สุด

เราชวน สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย  ผู้แทนราษฎร 4 สมัย ประธานวิปฝ่ายค้าน และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขยายความเรื่อง ‘การเมือง’ ‘ประวัติศาสตร์’ และปัญหาของอีสาน ในมุมของ ‘คนอีสาน’ อย่างเขา ให้กว้างและครอบคลุมขึ้น

“จริงๆ ปัญหาอันดับแรกคือเรื่องกายภาพ คือเรื่องของสภาพภูมิประเทศมันแห้งแล้งในตัว ความแห้งแล้งเป็นที่รู้กันตลอด แหล่งน้ำน้อย ปริมาณฝน ก็มีคนแย้งว่าน้อยบ้าง เยอะบ้าง แต่จริงๆ มันก็น้อยกว่าภาคอื่น ตรงนี้เป็นปัญหาเชิงภูมิศาสตร์มาตลอด แล้วก็ทำอาชีพได้จำกัด” สุทินเริ่มต้นอธิบาย เมื่อเราเริ่มถามถึงปัญหาหลักของอีสาน

แต่สุทินก็ยืนยันว่า ทั้งหมดยังไม่สำคัญเท่า ‘มิติทางประวัติศาสตร์’ และความ ‘ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ’ ที่ทำให้อีสานได้รับความสำคัญน้อยลง… ไม่ว่าจะเรื่อง ‘กบฏผีบุญ’ การลุกฮือของคนอีสานเพื่อต่อต้านกับ ‘อำนาจรัฐ’ เมื่อ 120 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะการเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อ 40-50 ปีก่อน ขบวนการแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เกิดขึ้นและเติบใหญ่เมื่อ 12 ปีที่แล้ว กระทั่งล่าสุด แม้อำนาจ คสช. จะ ‘แข็งตัว’ ครองอำนาจมานานกว่า 5 ปี  แต่ก็ไม่อาจทำลายอิทธิพลของพรรคเพื่อไทยได้

ขณะเดียวกัน แม้อีสานจะเป็นภาคที่มี ส.ส. สูงสุด กว่า 111 คน ภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2560 แต่เสียง ส.ส. ก็เบากว่าพื้นที่อื่น สุทินบอกว่า ส.ส.อีสาน นั้น ‘ไม่รวย’ เท่ากับ ส.ส.เหนือ ใต้ หรือภาคกลาง และพอมาอยู่ในพรรค ก็ไม่ได้เป็นผู้นำพรรค ไม่ได้เป็นผู้กำหนดทิศทางพรรค และเมื่อเป็นรัฐบาล ก็ไม่อาจเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางรัฐบาล 

“ส.ส. มันอาจจะดูเยอะ แต่ว่าโดยความเข้มแข็งนั้น อาจจะไม่มากเท่าไร ที่ผ่านมาพวกเราก็ถูกหวาดระแวง แล้วก็ถูกสกัดกั้น ในอดีต นักการเมืองอีสานถูกปราบปราม รัฐมนตรีอีสานถูกฆ่าทิ้ง” 

สิ่งที่สุทินพูดถึงคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2492 ที่ 4 รัฐมนตรีสายปรีดี พนมยงค์ ได้แก่ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี, ถวิล อุดล อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด, จำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม และ ทองเปลว ชลภูมิ ส.ส.ปราจีนบุรี ถูกสังหารเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2492 บริเวณบางเขน ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างตำรวจนำตัวทั้งหมดไปฝากขังไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน 

เหตุการณ์นี้ ตำรวจอ้างว่าเป็นฝีมือของ ‘โจรมลายู’ สุดท้ายศาลได้พิพากษา ‘จำคุกตลอดชีวิต’ 3 นายตำรวจ ได้แก่ พลตำรวจจัตวา ผาด ตุงคะสมิต, พลตำรวจจัตวา ทม จิตรวิมล และ สิบตำรวจเอก แนบ นิ่มรัตน์ ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ กระนั้นเอง ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทั้ง 3 คนอาจไม่ใช่ผู้ที่ลงมือสังหารจริงๆ

เรื่องดังกล่าวสร้างแผลในใจให้กับผู้แทนราษฎรอีสาน ว่าการที่ ‘โดดเด่น’ หรือเป็นเลือดนักสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบเกินหน้าเกินตา อาจทำให้เกิดภยันตรายกับชีวิตได้

นอกจากนี้ ความที่มี ‘เสื้อแดง’ จำนวนมาก ก็ทำให้ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวกับความมั่นคงของประเทศ ทั้งยังมีมิติของเชื้อชาติ วัฒนธรรม และพอเกิดวิกฤตการณ์การเมืองหลายครั้ง ก็โยงกับอีสานและโยงกับเสื้อแดง ประวัติศาสตร์จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้อีสานถูก ‘ทิ้ง’ ไว้ข้างหลัง

ทั้งหมดนี้ทำให้ฝ่าย ‘อำนาจรัฐ’ ทุ่มเทงบประมาณไปยังอีสานน้อยลง ผลที่ตามมาก็คือความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องการแพทย์ การศึกษา หรือการจัดการทรัพยากร มีปัญหาเรื้อรัง แม้จะมีความพยายามในการกระจายอำนาจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอ 

อีกปัญหาก็คือ การลงทุนพัฒนาภาคอีสานนั้นต้องลงทุนสูงพอสมควร เพราะไม่ได้มี ‘ต้นทุน’ ทั้งด้วยทำเล ที่ตั้ง ทรัพยากร ไม่ได้อยู่ติดทะเล ไม่ได้ใกล้เมืองใหญ่ และพอ ‘อำนาจรัฐ’ เห็นว่าต้องลงทุนสูง ก็เลือกไปลงทุนกับเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรอบกรุงเทพฯ มากกว่า 

“น้อยใจนะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องโกรธเคืองกัน สุดท้ายมันเป็นเรื่องต้องคุยกันแล้วก็จะต้องสร้างการตระหนักรู้ให้กับทั้งคนอีสานและคนทั้งประเทศ คนอีสานต้องตระหนักรู้ว่าเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และเป็นฝ่ายที่มีความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ทั้งประเทศต้องตระหนักรู้ว่า ถ้าในประเทศใดประเทศหนึ่ง ปล่อยให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นจุดอ่อน หรือเป็นจุดที่ฉุดพื้นที่ลง โดยรวมก็ทำให้ประเทศนั้นไม่ดีแล้ว วิธีการพัฒนาประเทศที่ถูกต้องก็คือ พยายามไม่ให้มีจุดอ่อนในประเทศ ต้องพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่เข้มแข็งทั้งหมด

“ต้องทำให้ทุกพื้นที่เข้มแข็ง ไม่ให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นจุดบอด จีนก็เคยมีบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ที่ปลอดการพัฒนา เขาทิ้งไป มันก็ทำให้พื้นที่นั้นเป็นตัวฉุด แต่เมื่อลงไปพัฒนาพื้นที่ ก็ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศดีขึ้น”

‘เพื่อไทย’ ที่พึ่งคนอีสาน

ถามสุทินถึงสาเหตุที่พรรค ‘เพื่อไทย’ ครองใจอีสาน จนทำให้คนอีสานรู้สึกว่าพรรคนี้เป็นพรรคของเขา – ส.ส.มหาสารคาม บอกว่า เป็นธรรมชาติของคนที่ขาดแคลน คนที่ด้อยโอกาส ที่จะแสวงหา ‘ที่พึ่ง’ 

“เป็นธรรมชาติ เขาแสวงหา แสวงไป แสวงมา ก็ไปพบพรรคหนึ่งที่ดูแลเขาน่าจะเป็นที่พึ่งได้ ตอบโจทย์ชีวิตเขาได้ ก็คือไทยรักไทย เพื่อไทย ส่วนพรรคอื่น ทำไมยึดอีสานไม่ได้ ตอบได้ง่ายนิดเดียวว่า เพราะตอบโจทย์คนอีสานไม่ได้ สิ่งที่ไทยรักไทยและพรรคถัดจากนั้นสร้าง แม้ไม่ได้เจาะจงเฉพาะภาคอีสาน แต่ภาคอีสานเองก็ได้ประโยชน์อย่างมาก”

เขาขยายความว่า สิ่งที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือราคาพืชผลการเกษตรที่สูงขึ้นชัดเจน ไม่ว่าจะยุคทักษิณ สมัคร สุนทรเวช หรือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อราคาพืชผลการเกษตรดีขึ้น อีสานก็พอใจ 

ถัดมาคือความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข ซึ่งหากย้อนกลับไปมองตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะปริมาณหมอต่อประชากร ไม่ว่าจะเรื่องค่ารักษา หรืออายุขัยเฉลี่ยประชากร ก็ชัดเจนว่าอีสานมีปัญหามากที่สุดในประเทศ และวลีต้อง ‘ขายงัว ขายควาย’ เพื่อรักษาตัว ก็มาจากภาคอีสาน เมื่อมีโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค และ ‘บัตรทอง’ ก็ทำให้ชีวิตคนอีสานดีขึ้นอย่างชัดเจน 

ทั้งหมดนี้ยังรวมไปถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ การกระจายความเจริญออกไปต่างจังหวัด ก็ทำให้รายเล็กรายน้อยรายย่อยที่ภาคอีสาน มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในยุคของพรรคเพื่อไทย

แล้ว ส.ส. ภาคอีสานแตกต่างจากภาคอื่นๆ หรือไม่? เราถามสุทิน

“ผมว่าต่างนะ เพราะ ส.ส. อีสาน นี่แอ็กทีฟ เป็นสายไฟต์ติ้ง เพราะปัญหาเยอะกว่า เพียงแต่ว่า พอชาวบ้านยากจน ความมั่นคงในจุดยืน อุดมการณ์ของประชาชน มันก็มีผลต่อผู้แทนฯ ผู้แทนฯ ในอดีตที่ผ่านมาก็เลยย้ายพรรคบ่อย เพราะประชาชนก็แสวงหาไปเรื่อย ผู้แทนฯ ก็ต้องเป็นไปตามทิศทางของประชาชน เลยดูเหมือนมีความอ่อนแอในตัว การแสวงหาผู้นำที่เข้มแข็งของอีสานก็เลยค่อนข้างยาก เพราะถูกจำกัดโดยความต้องการของประชาชน ผู้แทนฯ อีสาน เลยจำเป็นต้องใช้เงินใช้ทอง แต่มันก็ไม่ค่อยจะมีเงินมีทองให้ใช้ (หัวเราะ)”

ขณะที่เรื่องแหล่งน้ำและความแห้งแล้ง สุทินบอกว่าภาคอีสานยังคงต้องการโครงการ ‘เมกะโปรเจ็กต์’ ที่ชัดเจน

“ในยุคนายกฯ ทักษิณ นายกฯ สมัคร ก็มีแผนพัฒนาน้ำ แม้จะไม่ใช่เมกะโปรเจ็กต์ แต่เป็นการแก้ปัญหาน้ำในระดับไมโคร เป็นการทำเครือข่ายน้ำ ไม่ได้เยอะ แต่ว่าเมกะโปรเจ็กต์ที่จะพลิกอีสาน โขง-ชี-มูล หรืออีสานเขียว แต่ทั้งหมดก็ยังไม่เกิด เพราะยุครัฐบาลเพื่อไทยไม่เคยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

“จริงๆ เราเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ ยุคไทยรักไทย พอยุคที่สอง พอจะวางเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ก็ถูกยึดอำนาจ หลังจากนั้น แม้รัฐบาลสมัคร ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่มีเสถียรภาพพอ วันนี้ เรื่องน้ำที่อีสานยังต้องการเมกะโปรเจ็กต์ เพื่อจะจบเรื่องความแห้งแล้งเสียที”

เขายืนยันคำเดิมว่า วันนี้ ณ ปี 2564 เรื่อง ‘น้ำ’ ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของดินแดนที่ราบสูง ไม่ว่าจะน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง แต่เรื่องน้ำนั้น ปัญหาคือต้องลงทุนสูง จึงยังไม่มีใครกล้าลงทุน 

และสิ่งที่ตามมาเป็นอันดับ 2 คือการกระจายอุตสาหกรรมไปสู่อีสาน 

“สำหรับผม ต้องกระจายโรงงานต่างๆ ไปสู่อีสาน ปัญหาแรงงานเข้ากรุงเทพฯ ก็เพราะโรงงานอุตสาหกรรมถูกนำมารวมอยู่ในกรุงเทพฯ และรอบๆ กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ากระทรวงอุตสาหกรรมหรือรัฐบาล ได้ส่งเสริมหรือกระจายโรงงานอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาคได้ ก็ควรต้องรีบทำ” 

สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่คิดจะทำ สุทินอธิบายว่า อาจเป็นด้วย 3 ปัจจัย

1. ไม่ฉลาดคิด

2. ไปตามทิศทางของทุนใหญ่ นายทุน ต้องการพัฒนาพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ปริมณฑล หรือในภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โลจิสติกส์ มีความพร้อม สามารถส่งออกต่อได้ง่าย เพราะฉะนั้นเมื่อนักลงทุน เมื่อทุนใหญ่ เป็นผู้กำหนดนโยบายแทนรัฐบาล ทุกอย่าง ก็ถูกกำหนดไว้รอบกรุงเทพฯ 

3. คิดไม่ถึง ก็ทำเอาง่ายเข้าว่า คิดว่ารวมนิคมอุตสาหกรรม ไว้ที่กรุงเทพฯ แล้วให้คนมาหาโรงงานแทน  

“เพราะฉะนั้น เรื่องทั้งหมด จึงเป็นทั้งไม่ฉลาด และเป็นทั้งต้องการ ‘สนองทุน’ ถ้าฉลาดแล้ว ก็ควรจะคิดได้ว่า หากระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานดีขึ้นมากแล้ว ก็ถึงเวลาต้องกระจายความเจริญออกไป ซึ่งจะสร้างประโยชน์ได้อีกมหาศาล”

ขณะที่มหาสารคาม พื้นที่ของสุทินนั้น แม้จะไม่มีภูเขา ไม่มีแหล่งท่องเที่ยว แต่เขาก็วาดภาพมหาสารคามในฝันไว้ที่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเริ่มจาก ‘เมืองปศุสัตว์’ ต่อยอดไปสู่เมืองอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร และเป็นเมืองโรงงานได้ เช่นเดียวกับการเป็นฮับด้าน ‘การศึกษา’ ของภูมิภาค

“อีสานในฝันของผมอาจมีนิคมอุตสาหกรรมสักหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมในทุกจังหวัด แล้วใน 1 ตำบลของแต่ละจังหวัด ก็มีสัก 1 โรงงาน​ ที่เอาวัตถุดิบในพื้นที่มาผลิต แล้วก็ใช้เทคโนโลยีเติมเข้าไป สร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มเติม”

แต่ทั้งหมดนี้ยังต้องการรัฐบาลที่ ‘ไว้ใจ’ และเข้าใจคนอีสาน หวังว่าจะสามารถฟื้นภาคอีสานให้สร้างมูลค่าได้อย่างแท้จริง…

คนอีสานไม่อยากได้ ‘ไฮสปีดเทรน’ เท่ากับอยากได้ ‘น้ำ’ 

จนถึงวันนี้ แม้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนภาคอีสานอยู่หลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเพิ่งลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และก่อนหน้านี้ เมื่อหลายเดือนก่อนก็เดินทางลงพื้นที่ชัยภูมิและอุบลราชธานี และมีภาพของมวลชนต้อนรับอย่างอบอุ่น (และมีภาพของม็อบขับไล่ ในเวลาเดียวกัน) แต่ ส.ส.มหาสารคาม เขต 5 พรรคเพื่อไทย ก็บอกว่าคนอีสานยังเป็น ‘ปฏิปักษ์’ กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

“อย่าลืมว่าการมาของรัฐบาลประยุทธ์เท่ากับว่ามาปราบปราม ทำลายแนวคิด-ทิศทางที่อยู่กับพรรคเพื่อไทย และอยู่กับการต่อต้านเผด็จการ เผด็จการทำให้เขามีปัญหามาในอดีต เพราะฉะนั้น เมื่อทิศทางคนอีสานคือเพื่อไทย คือประชาธิปไตย ไม่ว่าจะโดย ส.ส. โดยเสื้อแดง หรือโดยนักเคลื่อนไหว เมื่อลดความเข้มแข็งเหล่านี้ ก็กระทบคนอีสานโดยตรง”

เขายังยืนยันว่าโครงการที่หวังจะ ‘เอาใจ’ คนอีสานอย่างรถไฟความเร็วสูง หรือ ‘ไฮสปีดเทรน’ ที่จะจบลงที่นครราชสีมา และมีปลายทางที่คาดหวังอย่างอุดรธานี-หนองคาย เชื่อมกับลาวนั้น แทบไม่ได้ตอบโจทย์คนอีสานเลยแม้แต่น้อย… 

“รถไฟไม่ได้ตอบโจทย์คนอีสาน แต่ตอบโจทย์ทุนใหญ่ ทุนชาติ  จริงอยู่ ไฮสปีดเทรนนั้นเชื่อมเมือง เชื่อมคน เชื่อมเศรษฐกิจ แต่ว่าคุณจะเชื่อมคนได้ก็ต่อเมื่อคนของเรา ‘เข้มแข็ง’ พอๆ กับเมืองอื่น ใกล้เคียงกับจีน หรือเทียบเท่ากับเวียดนาม ถึงจะควรเชื่อม เชื่อมเมือง ก็คือเมืองคุณ ควรต้องมีศักยภาพสูง เพื่อเชื่อมเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจคุณอ่อนแอ คุณจะเชื่อมอย่างไร คุณจะเอาไฮสปีดไปขนอะไรที่อีสาน 

“ถามว่า วันนี้คนอีสานจะใช้ไฮสปีดไหม? ก็คงใช่ แต่ถ้าให้เขาเลือกได้จริง เขาคงเลือกให้มีการพัฒนาระบบน้ำก่อน ถ้าได้น้ำก่อน การผลิตเขาจะเยอะ ได้โรงงานอุตสาหกรรมไป ผลผลิตจะเยอะ ความเข้มแข็งจะเยอะ เมื่อถึงเวลานั้น ไฮสปีดถึงจะมีประโยชน์ ตอบโจทย์เขา ขนสินค้า ขนคน เชื่อมโยง เชื่อมคน 

“แต่วันนี้ ในขณะที่การผลิตที่อีสานยังอ่อนแอ จีดีพียังอ่อนแอ เอารถไฟไปก็ไม่รู้จะไปขนอะไร จากหมาเห่าเครื่องบิน ก็จะกลายเป็นหมาเห่ารถไฟ เพราะฉะนั้นที่รัฐบาลประยุทธ์หรือใครก็แล้วแต่ บอกว่าเอาไฮสปีดไปอีสาน แล้วคนอีสานจะอยากได้ เขาอาจอยากได้ แต่เชื่อผมเถอะว่า เขาอยากได้น้ำก่อนที่จะอยากได้ไฮสปีด”

สุทินบอกอีกว่า วันนี้ ถ้าลงทุนกับเครือข่ายน้ำ ก็มูลค่าพอกับการลงทุนไฮสปีดเทรน แต่ที่น่าสังเกตก็คือ รัฐบาลเห็นความสำคัญกับไฮสปีดเทรนมากกว่าชัดเจน 

“เราถึงต้องตั้งคำถามกันวันนี้ว่า ถ้าลงทุนเครือข่ายน้ำ วันนี้มันมูลค่าพอกับไฮสปีดเทรน ทำไมคุณไม่ทำล่ะ ก็ต้องตั้งข้อสังเกตว่า ทำโครงข่ายการจัดการน้ำนั้น ทุนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ ถ้าทำรถไฟ ทุนได้ประโยชน์ ทุนใหญ่ที่สนับสนุน คสช. นั้นได้ประโยชน์ บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ได้ทันที ทั้งในเชิงมูลค่าโครงการ ทั้งเศรษฐกิจรอบไฮสปีด แต่ถ้าทำโครงข่ายน้ำ ไม่ค่อยได้ หรือได้น้อย…” สุทินระบุ 

แล้ว ‘มูลค่าเพิ่ม’ จากอีสานควรได้จากเรื่องอะไร? เราถามสุทินต่อ… เขาอธิบายว่า อีสานก็ยังต้องส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ไม่ใช่เกษตรแบบวันนี้ แต่คือเกษตรทันสมัย 

“ต้องทำการเกษตรให้เป็นอุตสาหกรรม ไม่ใช่ไร่นาสวนผสม ไม่ใช่โคกหนองนา ต้องทำให้เห็นแบบในต่างประเทศ ที่ครอบครัวหนึ่งมีสิบไร่ ทำได้มาก มีรายได้มากกว่าชาวสวนบ้านเรา มีร้อยไร่ ต้องทำให้คนอีสานใช้พื้นที่การเกษตร ทำการเกษตรอย่างมีมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่ปลูกข้าวแล้วขายข้าว ไม่ใช่เลี้ยงวัวแล้วขายวัวเป็นตัว ทำอย่างไรให้เกษตรอีสานไม่ใช่ปลูกข้าวแล้วขายข้าว อย่าไปขายเฉพาะปฐมภูมิ สมมติว่าทำนำก็อาจขายปลาป่นได้ เลี้ยงวัวก็ทำร้านสเต็กขาย ต่อยอดเนื้อวัวไปเป็นเนื้อโกเบได้ ทำร้านค้า ร้านอาหารได้ วันนี้ เกษตรแล้วขายสินค้าปฐมภูมิ ไม่มีทางไปรอด”

รายได้อีสานมีโอกาสเท่าคนอื่น เพราะภาคอื่น ‘เตี้ยลง’

ปัจจุบัน รายได้เฉลี่ยของคนอีสานอยู่ที่เฉลี่ย 83,594 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งต่ำกว่าภาคอื่นๆ และมีโอกาสสูงขึ้นยากมาก จากปัญหาเศรษฐกิจ – และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างเชื่องช้าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา 

สุทินบอกว่า น่าจะต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง หากจะทำให้รายได้คนอีสานเพิ่มขึ้น แต่เรื่องตลกร้ายก็คือ ในความคิดของเขา สิ่งที่จะเป็นปัญหาก็คือ ความเหลื่อมล้ำจะ ‘ดูด’ ภูมิภาคอื่นให้รายได้ลดน้อยลงตามมา

“ถามว่านานไหม ผมว่านาน แต่ว่าถ้าบอกว่าจะเท่ากับภาคอื่นไหม ก็มีโอกาสจะเท่ากัน เพราะภาคอื่นจะเตี้ยลง ทั้งหมดก็คือความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำมันดูดทรัพยากรไปรวมกันหมด รวมกันอยู่ไม่กี่จุด การดูดของทุนสมัยนี้ มันก็ดูดหมดทุกภาค ไม่สนว่าภาคไหน

“ปัจจุบัน ถ้าเราดูรายได้ของประชากร ก็จะพบว่าเศรษฐีกระจุกอยู่ภาคกลาง แต่คนส่วนใหญ่ภาคกลางก็ยังจน แล้วคนรวยก็รวยกระจุกอยู่ที่ไม่กี่ครอบครัว ซึ่งเมื่อเอาคนพวกนั้นมาเฉลี่ยด้วยก็เลยสูง แต่อีสานไม่ได้มีมหาเศรษฐีมากนัก ไม่ได้มีครอบครัวที่รวยมหาศาลเพื่อเอาไปเฉลี่ยกับความจน พวกเราเลยดูจนมาก”

ส่วนที่หลายคนบอกว่า ภาคอีสานมีเมืองใหญ่ระดับ ‘มหานคร’ อย่างนครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี หรืออุดรธานี แต่ในความเห็นของคนอีสานอย่างเขา ก็ยังมองว่าเป็นความเจริญแบบ ‘กระจุก’ ที่ไม่ได้ออกดอกผลใดๆ ไปถึงคนชนบท

“โครงสร้างความเจริญแบบนี้ไม่สามารถออกไปเจริญสู่สังคมชนบท มันเป็นความเจริญแบบป่าเลี้ยงบ้าน บ้านเลี้ยงเมือง เมืองเลี้ยงนคร เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงเมืองใหญ่อีสาน ก็ไม่ควรพูดเฉพาะเรื่องเมือง เพราะปัญหาใหญ่ของอีสานคือชนบท ไม่ใช่เมือง ชนบทต้องเจริญ ไม่ใช่เมืองเจริญอย่างเดียว…

แล้วในนามคนอีสาน อยากให้คนภายนอกมองอีสานอย่างไร?  สุทินบอกว่า อยากให้มองว่าเป็นโอกาสของประเทศ และอยากให้มองว่าภาคอีสาน เป็นภาคที่มีโอกาสในการพัฒนาสูง ทั้งทรัพยากรมนุษย์ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทรัพยากรที่เป็นปัจจัยการผลิต และอยากให้ทุกคนอย่าไปติดยึดหรือล้าสมัย กับมิติทางประวัติศาสตร์ 

“อย่าไปถือความเป็นภาคนิยม ท้องถิ่นนิยม หรือรอยัลลิสต์ อย่าไปคิดเรื่องนั้นมาก เพราะวันนี้ ถ้าเอาความสามารถของคนมาวัดกันทุกวงการ ผมคิดว่าไม่ต่างกัน”

สุทินทิ้งท้ายว่า แม้ในทางการเมืองจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ในทางศักยภาพ คนอีสานนั้นกำลังพิสูจน์ตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ Soft Power จากอีสาน ยูทูเบอร์อีสาน พ่อครัวอีสาน กำลังโดดเด่นมากขึ้น กำลังเติบโตมากขึ้น และต่อให้ใครจะ ‘เหยียด’ คนอีสานอย่างไรก็ตามแต่

“คนอีสานกำลังจะเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ วันนี้ คนอีสานก็กำลังพิสูจน์ตัวเอง ให้ได้รับการยอมรับทุกวงการ ในวงการดารา คนอีสานก็เยอะ วงการนักกีฬาก็โดดเด่นเยอะ นักบริหาร นักการศึกษา ก็ขึ้นมาเยอะ ทั้งหมดคือการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนทัศนคติให้คนภายนอกเข้าใจคนอีสาน ผมกำลังจัดตั้งองค์กรขับเคลื่อน มูลนิธิรักษ์และพัฒนาอีสาน เพื่อที่จะโฟกัสความโดดเด่นของคนอีสานให้เข้มแข็ง นี่คือความฝันของผม ผมอยากทำตรงจุดนี้ สนับสนุนคนอีสาน พัฒนาศักยภาพคนอีสานอย่างเป็นระบบมากขึ้น

Fact Box

  • สุทิน คลังแสง เป็น ส.ส. สมัยแรก ในปี 2544 พร้อมกับรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นครูสอนเด็กพิการ เป็นนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อนโดน อดิศร เพียงเกษ และ แคล้ว นรปติ ชักชวนเข้าสู่สนามการเมือง 
  • นอกจากการเป็น ส.ส. สุทินยังมีคณะรำวงชื่อ สวรรค์บ้านนารวมถึงยังทำวิทยาลัยเทคนิคชื่อ 'วิทยาลัยเทคโนโลยีเอเชียแปซิฟิค' ที่จังหวัดมหาสารคาม ไม่นานมานี้ เขาเพิ่งจัด ทอล์กโชว์การเมือง ที่วิทยาลัย ในหัวข้อ กินอยู่อย่างไรในทศวรรษหน้าเพื่อหาทุนสนับสนุนงานบุญกฐิน ที่มหาสารคาม
  • นอกจากจะเป็นประธานวิปรัฐบาลแล้ว สื่อมวลชนประจำรัฐสภายกฉายา ดาวสภาประจำปี 2563 ให้กับสุทินด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ จากการอภิปรายที่กระชับ เน้นสาระ และมักได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ สรุปประเด็นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
Tags: , , , , ,