นี่ไม่ใช่บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับวิธีการรับมือโรคซึมเศร้าด้านการแพทย์ หรือการแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ป่วยซึมเศร้า

แต่เป็นการแลกเปลี่ยนทัศนคติเรื่องโรคซึมเศร้ากับ ‘สรวิศ ชัยนาม’ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เขียนหนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ ที่ไม่ได้จะบอกให้ใครต้องโยนยาต้านเศร้าทิ้ง หรือหันหลังให้กับจิตแพทย์

แต่เป็นการตั้งคำถามถึงสาเหตุของโรคซึมเศร้า ที่เราไม่อาจลดทอนให้เหลือเพียงความบกพร่องของสารเคมีในสมอง ทว่าจะชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของ ‘ปัจเจก’ ทว่าเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยด้านสังคมที่ฝังรากหยั่งลึกผ่านโครงสร้างสังคมต่างๆ ทั้งเรื่องของอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ การกดทับ ความรุนแรง และความอยุติธรรม

หรืออาจกล่าวได้ว่า อีกสาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้านั้น มาจาก ‘พาหะนำโรค’ ที่มีชื่อว่า ‘ทุนนิยม’

ภาพ: Reuters

เมื่อเราไม่สามารถลดทอนสาเหตุของโรคซึมเศร้าให้เหลืออย่างใดอย่างหนึ่งได้ แล้วสาเหตุของโรคนี้ในมุมของคุณคืออะไร

ภาพใหญ่คือปัญหาสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจก แต่ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องของสังคมที่โยงใยเข้ากับระบบเศรษฐกิจการเมือง ภาพแรกคือสุขภาพเป็นเรื่องของสังคมแน่ๆ ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก ไม่ใช่เรื่องของใครของมัน เพราะอำนาจ โครงสร้างทางสังคม ความรุนแรงทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมของสังคม ต่างวิ่งผ่านตัวเราเสมอ เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสังคมมีอิทธิพลต่อเรา โดยเฉพาะคนบางกลุ่มจะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ ในขณะที่คนอีกกลุ่มได้รับผลกระทบน้อยกว่า

กลุ่มในที่นี้ของผมหมายถึง ‘ชนชั้น’ บางชนชั้นจะเห็นโรคบางโรคได้มากกว่า ค่อนข้างเด่นชัดเป็นพิเศษกว่าชนชั้นอื่น ถ้าเช่นนี้แล้วปัญหาทางสุขภาพมันจึงไม่สามารถแยกออกจากระบบเศรษฐกิจการเมืองได้ การรักษาจึงไม่สามารถรักษาได้แค่ร่างกายเท่านั้น อย่างการรักษาโรคซึมเศร้าก็ไม่ควรเป็นแค่การปรับสารเคมีในสมองให้สมดุล แน่อยู่แล้วว่าขั้นตอนการปรับสารเคมีในสมองเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่คำถามคือทำไมหมอไม่เคยตอบเราเลยว่า ทำไมสารเคมีในสมองมันถึงไม่สมดุลกันวะ แล้วอะไรคือสาเหตุของความไม่สมดุลนี้ การรักษาโรคซึมเศร้ามันก็เหมือนการรักษาโรคด้านกายภาพร่างกายทั่วไป แต่เมื่อสาเหตุของโรคมันอยู่นอกร่างกาย มันอยู่สูงกว่าร่างกาย เช่นโครงสร้างทางสังคม ดังนั้นการรักษาที่แท้จริงคงไปไกลมากกว่าการรักษาด้วยยาและแพทย์

แปลว่าการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าควรนำปัจจัยทางสังคมมาร่วมวิเคราะห์หาสาเหตุของโรคด้วย

ผมรู้สึกว่าเมื่อสาเหตุของปัญหามันอยู่นอกร่างกาย มันอาจทำให้หมอหลายๆ คนไม่มีทางออก หรือไม่ได้สนใจทางออก หรือไม่ได้มองว่ามีปัญหาที่ใหญ่กว่าร่างกาย ถ้ามองในเรื่องอาการป่วยไข้ โรคซึมเศร้าก็เป็นเพียงโรคหนึ่งของร่างกายที่ต้องรักษาด้วยยา แพทย์ และการบำบัด

แต่ถ้าสาเหตุมันใหญ่กว่าปัจเจกล่ะ มันไม่ใช่แค่เรื่องของใครของมันล่ะ เมื่อมองอย่างนี้แล้ว วิธีการรักษา การแก้ไข ก็ต้องไปแตะสังคมอีกมากมาย และนี่อาจจะเป็นการรักษาที่ถึงรากและแท้จริงมากกว่าหรือเปล่า แต่เมื่อเสนอเช่นนี้แล้วมันก็จะได้รับการต่อต้านเป็นอย่างมาก เพราะมันส่งผลกระทบต่อ ‘ทุน’ อีกมากมายที่ต้องสูญเสีย ดังนั้นวิธีคิดโดยมองว่าสุขภาพเป็นเรื่องของใครของมัน มันจึงดูเหมือนรักษาง่ายกว่า แต่จริงๆ แล้วมันแค่ทำให้เราอยู่ต่อไปได้ เป็นเพียงการเอาตัวรอดไปอีกวันหนึ่งมากกว่า แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ราวกับว่า โลก-สังคม-ทุนนิยม ทำให้คนป่วยไข้ และท้ายที่สุด ทุนนิยมก็ผลิตยาต้านเศร้ากลับมาขายให้คนที่ป่วยอีกที พูดแบบนี้ได้ไหม

ได้ แต่อาจจะต้องละเอียดกว่านี้หน่อย ผมมองว่ามันทำให้คนบางชนชั้นมีโอกาสเศร้าและประสบปัญหาโรคซึมเศร้ามากเป็นพิเศษและมากกว่ากลุ่มอื่น หรืออย่างน้อยก็เสี่ยงมากกว่า อาจจะมาจากสาเหตุด้วยชนชั้นของเขา ด้วยงานของเขา ด้วยอาหารที่เขากิน สภาพแวดล้อมที่เขาอยู่อาศัย จริงๆ อาจมาตั้งแต่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่อ่อนแอตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะครอบครัวยากจนจากรุ่นสู่รุ่น บรรพบุรุษก็ยากจน มันเลยส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของเขาน้อยลง แต่แน่นอนเวลาเราบอกว่าโลกทำให้เราเศร้า เราก็ต้องมาดูตรงนี้อีกว่า โลกหรือการเมืองมันทำให้เราเศร้าเพราะอะไร

เพราะการเมืองไม่ได้เสนอทางออกอะไรให้เราเลย การเมืองเป็นเพียงความพยายามรักษาโลกสัจนิยมแบบทุน โครงสร้างโลกที่เป็นอยู่ ความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ การเมืองมักจะบอกว่ามันไม่มีทางออกหรอก เราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เมื่อมีคนเสนอทางออกก็มักจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เราต้องทนอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่เท่านั้น แม้ว่าโลกที่เราอยู่ตอนนี้มันจะเหลื่อมล้ำมากแค่ไหน มีการกดขี่ทางชนชั้นมากแค่ไหน มีความอยุติธรรมมากเพียงไร ก็ต้องอดทนกันต่อไป เราอยู่ในการเมืองลักษณะนี้

ภาพ: Reuters

ช่วยขยายคำว่า ‘โลกสัจนิยมแบบทุน’ ให้ฟังหน่อยว่าคืออะไร

เริ่มจากภาพใหญ่สุดก่อน โลกสัจนิยมแบบทุน หรือ Capitalist Realism หากใช้วลีของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มาร์กาเรต แทตเชอร์ คือไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นอยู่ (There is no alternative.) คือทุนนิยม หรือหากใช้คำอธิบายแบบการเมืองปรัชญา ก็คำของ ฟรานซิส ฟุกุยามะ (Francis Fukuyama) ที่ดึงคำพูดผิดๆ มาจากเฮเกล (Hegel) ว่ามันคือจุดจบของประวัติศาสตร์ (The End of History) เราเข้าสู่ยุคที่ประวัติศาสตร์ได้สิ้นสุดแล้ว ในความหมายที่ว่ามนุษย์จะยังคงต่อสู้ขัดแย้งกันต่อไป แต่อย่างน้อยในระดับเศรษฐกิจการเมืองเราจะเลิกเถียงกันแล้ว เพราะทุกคนสามารถตกลงและยอมรับได้ว่า สุดท้ายเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและประชาธิปไตยที่มีรัฐสภา มีการเลือกตั้งเป็นระยะๆ แบบนี้ คือระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ดีที่สุดแล้ว

ส่วนคำว่าประวัติศาสตร์ได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้ามองโดยภาพของสัจนิยมแบบทุน มันพยายามบอกว่า โลกที่เป็นอยู่นี่แหละ โลกที่เอ็งเผชิญอยู่คือความจริงหนึ่งเดียวที่สามารถเป็นไปได้ สัจนิยมแบบทุนจะไม่พูดว่าดีที่สุด เพียงแค่บอกว่าเอ็งจะชอบหรือไม่ชอบก็เรื่องของเอ็ง มันไม่สำคัญ ความสำคัญมันอยู่ที่ความเป็นจริง (reality) นี่คือความจริงหนึ่งเดียวที่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับและอยู่กับมัน

ช่วยยกตัวอย่างความเป็นจริงหรือความจริงหนึ่งเดียวที่เป็นไปได้ ที่แม้ว่าเราไม่ชอบ แต่ก็ต้องจำใจยอมรับและอยู่กับมันให้ฟังหน่อย

สัก 10 กว่าปีที่แล้วสโลแกนที่มักจะเห็นบ่อยๆ แปะตามที่ต่างๆ คือ “Keep Clam And Carry On” ใจเย็น ทนต่อไป เอ็งทำอะไรไม่ได้หรอก ก็ยิ้มฟันขาวเข้าสู้ แต่นี่เป็นภาพของโลกที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง ปฏิเสธการปฏิวัติ ปฏิเสธการแตกหักกับโลกที่เป็นอยู่ มันเป็นโลกที่ไม่ได้ต่อต้านทุนนิยม และนี่เป็นความเป็นจริงที่เอื้อต่อทุนนิยม ส่วนการปฏิวัติกลายเป็นเรื่องที่ถูกมองว่าเพ้อฝัน มึงเลิกฝันถึงมันเถอะ นอกจากนี้ บางสายยังพยายามเสนอว่าการปฏิวัติจะนำเราไปสู่อะไรที่เลวร้ายกว่าเดิม แย่กว่าเดิม เผด็จการกว่า ยากจนกว่าอีกด้วย

เมื่อกลายเป็นโลกที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง ปฏิเสธการปฏิวัติ นั่นหมายความว่าคุณไม่ควรจะต่อต้านทุนนิยมอีกต่อไปแล้ว และการปฏิวัติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นแบบนี้นั่นหมายความว่าการวิเคราะห์การเมืองปัญหาของชนชั้นก็จะหายไปด้วย เพราะชนชั้นไม่สำคัญอีกแล้ว โครงสร้างสังคมจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ เพราะสุดท้ายเราต้องปรับตัวและอยู่กับมันให้ได้

ไม่ว่าประเทศหรือโลกใบนี้จะมีชนชั้นกระฎุมพี ชนชั้นนายทุน ชนชั้นปกครอง อำมาตย์หรืออะไรก็ตาม ที่เหลือก็เป็นคนชนชั้นล่างที่ต้องอยู่กับมันไปโดยไม่ได้รับการอธิบาย ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เราก็ต้องก้มหน้าอยู่กับมันต่อไป จนสุดท้ายการไม่พูดถึงเรื่องชนชั้นกลายเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องไม่สลักสำคัญอีกต่อไป เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่สามารถปฏิวัติแตกหักกับชนชั้นได้ โครงสร้างสังคมไม่สำคัญอีกต่อไป แล้วสิ่งที่เหลืออยู่ก็คงมีแค่ ‘ตัวเอง’ แล้วมั้งที่พอจะเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อทุกอย่างมันกลายเป็นการวิเคราะห์ในระดับปัจเจก แม้แต่จะเฝ้าฝันถึงการเปลี่ยนแปลงก็ยังถูกดับด้วยชุดความคิดที่ว่ามันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือเปลี่ยนแล้วแย่กว่าเดิม ตอนนี้มันดีที่สุดแล้ว ดังนั้นสิ่งที่พอจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้มันจึงเหลือแค่ตัวเอง เช่น การเปลี่ยนบุคลิกตัวเอง เปลี่ยนอัตลักษณ์ ฟิตร่างกาย มีกล้าม ดูแลรักษาหุ่น กินอาหารดีมีสุขภาพ ก็ว่ากันไป จนสุขภาพกลายเป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องของใครของมัน เพราะมันไม่เกี่ยวกับอะไรกับโครงสร้างสังคมแล้วนี่

ภาพ: Reuters

คุณคิดอย่างไร กับมุมมองที่ว่าโลกภายนอกมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ สิ่งที่เปลี่ยนได้ก็มีแค่ตัวเอง 

เป็นมุมมองที่ผิดฉิบหาย ที่หลายคนพยายามจะเสนอว่าก็โลกภายนอกมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือเปลี่ยนได้ยาก สิ่งที่เปลี่ยนได้คือตัวคุณเอง เพราะมองปัจเจกแยกออกจากสังคม นั่นหมายความว่าสังคมไม่มีผลกระทบต่อปัจเจกเลย บางทีคุณไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้นะ บางทีคุณไม่สามารถมีสุขภาพดีได้นะ เพราะคุณไม่สามารถควบคุมได้ทุกอย่างนะโว้ย เพราะสิ่งสำคัญต่างๆ มันอยู่นอกเหนือการควบคุมของปัจเจกเลยด้วยซ้ำ เช่น เมื่อเราพูดถึงเรื่องโรคซึมเศร้า เรื่องสุขภาพ ศาสตร์สุขภาพที่เน้นเฉพาะบุคคลที่ต้องรับผิดชอบตัวเองมันเป็นสุขภาพของพวก 1% หรือเปล่า กูมีเวลาเหลือเฟือ เข้าฟิตเนสได้ มีเทรนเนอร์ อยู่บ้านก็มีลู่วิ่ง กินอาหารสุขภาพอะไรของกูไป แต่คนส่วนใหญ่มันแดกอย่างนี้ไม่ได้รึเปล่าวะ ใช่ไหม เพราะของพวกนี้มันแพง

อีกอย่าง แม้ว่าคุณจะพยายามออร์แกนิกแค่ไหน แต่ถ้าประเทศคุณยังนำเข้าไกลโฟเซต สารต้องห้ามอะไรอีกมากมายที่นานาประเทศสั่งแบนไปแล้ว สิ่งเหล่านี้มันก็แทรกซึมเข้าไปในผืนดินและน้ำ มันก็ไม่สามารถออร์แกนิกได้ขนาดนั้นหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้มันก็โยงใยเข้ากับนโยบายรัฐและบรรษัทปุ๋ย สารเคมี การเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรอีกมากมาย ไม่ใช่แค่วิถีชีวิตของปัจเจกแล้วว่าเขาจะเลือกกินอะไรด้วยซ้ำ เพราะโลกข้างนอกมันกระทบต่อเรา แม้ว่าคุณจะเลือกดีแค่ไหนก็ตาม

ผมแอบมองว่าการที่เรามองปัจเจกแยกออกจากสังคมเป็นมุมมองที่ประหลาดและเป็นมุมมองของพวก 1% ที่มองว่ากูสามารถอยู่ใน bubble ของกูได้ อยู่ในหมู่บ้านไฮโซของกูได้ มี social distancing ได้ เพราะจริงๆ แล้วพวกเศรษฐีมีระยะทางสังคมก่อนคำคำนี้จะเกิดด้วยซ้ำ ด้วยวิถีชีวิตของพวกเขา ด้วยการเดินทาง ด้วยหน้าที่การงาน เขาได้แยกตัวออกไปจากสังคมหมดแล้ว สังคมจะฉิบหายอย่างไรก็ไม่ค่อยส่งผลกระทบกับเขามากนัก สิ่งที่เขากินก็ไม่ได้มาจาก local หรือเปล่า หรือวิถีชีวิตของเขาก็ไม่ได้พึ่งพิงเศรษฐกิจชาติและท้องถิ่นเสียทีเดียว ดังนั้นพวกนี้ก็ social distancing มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โควิด-19 ก็อาจจะไม่ได้กระทบอะไรมากนัก เพียงแต่อาจจะเจอเพื่อนน้อยลง หรืออะไรก็ว่ากันไป พูดง่ายๆ ว่าถ้าต้องการสุขภาพที่ดี คุณต้องการสังคมที่ดีด้วย

ทำไมชุดความคิดที่ผลักภาระให้ปัจเจกถึงถูกสืบทอดมายาวนานและค่อนข้างเข้มแข็งมากๆ เช่น ถ้าคุณอ่อนแอก็แพ้ไป ช่วยไม่ได้ เพราะตัวคุณเองไม่เก่งพอ

มันตอบได้หลายแบบมากนะ เพราะมีหลายเหตุผล หลายคำตอบ ถ้าตอบแบบอิงเหตุผลในเชิงความรู้ ภาพแรกคงจะเป็นถ้าเราเลิกวิจารณ์ทุนนิยม ถ้าเรามองว่าทุนนิยมไม่ใช่ปัญหา มองว่ามันเป็นธรรมชาติ ทุนนิยมมันคือเศรษฐกิจของเรา หรือถ้าเราเลิกสนใจเรื่องชนชั้น และมองว่าการวิเคราะห์แบบชนชั้นนั้นไม่สำคัญเลย นี่หมายความว่าเครื่องมือสำคัญในการเข้าใจโลกของเราหายไปเลยนะ สุขภาพก็ไม่เกี่ยวกับเราแล้วสิ ไม่เกี่ยวกับชนชั้นแรงงาน การวิเคราะห์ในส่วนนี้ก็หายไป ก็อย่างที่บอกว่ามันก็จะเหลือแค่ปัจเจกแล้วล่ะ มันก็เหลือแต่ตัวกูแล้วนี่ ชนชั้นไม่สำคัญ โลกเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี่คือตอบแบบแรก

ต่อมาอาจจะกลับหัวกลับหางข้อเสนอของคุณหน่อย ผมรู้สึกว่าคนจำนวนหนึ่งเขารู้ดีว่ากำลังถูกแหกตาอยู่ กำลังถูกผลักภาระทุกอย่างมาที่ปัจเจก ต้องดูแลตัวเองทั้งหมด มันแหกตากันชัดๆ เพราะประสบการณ์ในชีวิตจริงมันแทบจะตรงข้ามเลยว่าสิ่งเหล่านี้ไม่จริง ปัจเจกไม่ได้มีเสรีภาพและอำนาจขนาดนั้น แต่ทำไมเราถึงยังติดกับกับภาวะอเสรีภาพ ที่เรามองว่ามันคือเสรีภาพของกูอยู่วะ

ผมขอยกตัวอย่างภาพยนตร์ Parasite (ชนชั้นปรสิต) ลูกชายคนโตของครอบครัวคิมที่ยากจนที่เราเห็นมาตั้งแต่ต้นเรื่อง เขาเหล่านี้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมได้อย่างดี บ้านตัวเองที่ตั้งอยู่บนเนินแทบจะกึ่งใต้ถุน สภาพซอมซ่อแตกต่างกันชัดเจนระหว่างรวย-จน ไม่มีเงินเรียนต่อ ทั้งที่ฉลาดกว่าลูกบ้านคนรวยตั้งเยอะ รวมถึงเหตุการณ์ที่บ้านถูกน้ำท่วมจนต้องไปนอนที่ศูนย์พักพิง ส่วนครอบครัวคนรวยสะดวกสบาย อากาศแจ่มใส โทรเรียกเพื่อนๆ มาเฉลิมฉลองปาร์ตี้วันเกิด

ภาพ: Parasite (2019)

คนเหล่านี้ประจักษ์ชัดเจนว่าสังคมแม่งโคตรจะชนชั้นเลยว่ะ แม่งโคตรจะเหลื่อมล้ำเลยว่ะ โคตรอยุติธรรมเลยว่ะ แต่สุดท้ายก็ยังเพ้อฝันว่ากูสามารถจะประสบความสำเร็จ มีทุกอย่างได้ เพียงแค่ขยันทำงาน ไม่มุ่งเรื่องรัก สนใจแต่การเรียนและการทำงาน แล้วถ้ากูทำงานหนักก็จะมีเงินเป็นมหาเศรษฐี มีทุกอย่าง แล้วก็มีเงินมากพอจะซื้อบ้านหลังนั้นที่พ่อกูแอบอยู่ใต้ถุนได้

ที่โยงเช่นนี้คือเวลาเราบอกว่าปัญหาของคนจำนวนหนึ่งไม่ได้อยู่ที่ว่าพวกเขาไม่รู้ แต่เขารู้ดีกว่าด้วยซ้ำ หากมองแบบซ้ายดั้งเดิม อุดมการณ์คือสิ่งที่หลอกล่อในหัวเรา สิ่งที่ให้ความรู้ผิดๆ มอบภาพโลกที่บิดเบี้ยวกับเรา แต่เหล่านี้สามารถแก้ได้ด้วยความรู้ ข้อมูลใหม่ ข้อเท็จจริงใหม่ ก็จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ นี่คือการมองแบบซ้ายเดิม

สิ่งที่ผมพยายามนำเสนอคือ บางทีอุดมการณ์ไม่ใช่ว่าหลอกเรา แต่มันอยู่ได้เพราะเรารู้ดีกว่าด้วยซ้ำ แต่ถึงเรารู้ดีกว่าอุดมการณ์ มุมมองเช่นนี้ก็ยังดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะมันเร้าอารมณ์บางอย่าง มันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของสิ่งที่อยู่ในหัวแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของอารมณ์ ของแรงปรารถนา ตราบใดที่เราไม่สามารถคลายส่วนนี้ได้ อุดมการณ์เหล่านี้ก็ยังคงเดินต่อไป หรือเขาอาจะรู้ดีกว่าอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่เขาไม่มีทางออกอื่น และไม่อาจละทิ้งความเชื่อนี้ได้

หรือแท้จริงแล้วทุนนิยมคือเครื่องมือที่สืบทอดและดำรงไว้ซึ่งชุดความคิดดังกล่าว 

การส่งต่อชุดความคิดดังกล่าวหรือสิ่งที่เป็นอยู่มันมาจากหลายระดับ ทั้งรัฐบาล ทุน หรืออาจจะสายวิชาการที่ไม่เสนออะไรเลย หรือสายสังคมและสายการเมืองที่แทบจะไม่เสนออะไรเลยด้วยซ้ำ ผมขอพูดรวมกับโควิด-19 สถานการณ์การระบาดนี้มันแย้มให้เราเห็นความขัดแย้งมากมายในสังคมภายใต้ภาวะปกติที่คนโหยหา ถวิลอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมเร็วๆ แต่ภาวะปกติที่เราโหยหาเหล่านี้มันเต็มไปด้วยความขัดแย้งมากมาย ที่เผยให้เห็นชัดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ความขัดแย้งทางชนชั้น รวย-จน-ทุน-แรงงาน-กระฎุมพี อีกฝั่งหนึ่ง แรงงาน-เมือง-ชนบท คนจำพวก 1% สามารถ social distancing ได้ ในขณะที่คนอีกจำนวนมากไม่สามารถ work from home ได้ คนที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องออกไปทำงานอกบ้าน หรือใครได้วัคซีนก่อน ใครได้วัคซีนหลัง ใครบ้างที่นอนตายข้างถนน ใครบ้างที่ต้องนอนโรงพยาบาลสนาม และใครที่นอนโรงพยาบาลเอกชน ยกตัวอย่างเศรษฐีหรือนายทุน เขาคงไม่ได้นอนโรงพยาบาลสนามหรอก และส่วนใหญ่ก็ไม่ตายที่บ้าน หากใครรวยพอก็สามารถบินไปฉีดวัคซีนถึงต่างประเทศได้อีก

นี่คือความขัดแย้งที่เกิดในสังคมเรา และโควิด-19 ได้แย้มให้เห็นภาพชัดขึ้น เมื่อเราเริ่มเห็นกระบวนการขัดแย้งชัดเจนขึ้น มันก็จะมีกระบวนการลบและปิดความขัดแย้งลงอย่างรวดเร็ว เช่น ฝั่งรัฐบาลจะมีวลีภาษา เปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความปฏิปักษ์ โดยใช้คำว่า ‘สงคราม’, ‘ศัตรู’, ‘โควิด-19’ เป็นศัตรูที่อยู่ภายนอกเข้ามารบกวนสังคมของเราและทำให้สังคมมีปัญหา ระส่ำระสาย คนล้มตาย และป่วยอีกจำนวนมาก ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มันเป็นภาพสะท้อนความขัดแย้งในสังคม ที่มีความเหลื่อมล้ำและการกดขี่มาโดยตลอด แต่กลับถูกเปลี่ยนให้เป็นปรปักษ์ที่มาจากข้างนอก แทนที่จะเป็นเรื่องของข้างในที่สังคมนี้สร้างเงื่อนไข สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อโควิด-19 และการแพร่ระบาดของโรค นี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัด

สอง เวลาเราพูดถึงตัวเลขของผู้ติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิต มันจะมีบางสายที่บอกว่าจำนวนของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่มันคือชีวิต ความสูญเสียของญาติพี่น้องเรา สิ่งนี้ผมยอมรับได้ แต่เราต้องมาดูกันอีกทีว่าตัวเลขพวกนี้มันกำลังหลอกอะไรเราหรือเปล่า ตัวเลขพวกนี้อาจจะเป็นจำนวนที่จริงหรือไม่จริง หรืออาจจะถูกกดหน่อยๆ แม้จะเป็นตัวเลขอะไรก็ตาม แต่สิ่งที่เรามองไม่เห็นคือชนชั้น

าพ: Reuters

ในจำนวนผู้เสียชีวิต ในจำนวนผู้ติดเชื้อ มันมาจากคนกลุ่มใดมากเป็นพิเศษหรือเปล่า มากกว่าชนชั้นอื่นหรือเปล่า นี่คือการกลบความขัดแย้งด้านชนชั้นตัวเลขมันถูกซ่อนความขัดแย้งทางชนชั้นเอาไว้ ระหว่างรวย-จน ระหว่างทุน-กรรมมาชีพ หรือที่ ศบค. แบ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีผู้สูงอายุและโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน หัวใจ ฯลฯ หากเราไปดูให้ดี ผู้สูงอายุจากชนชั้นไหนเสี่ยงมากเป็นพิเศษหรือเปล่า หากคุณเป็นผู้สูงอายุและต้องอยู่รวมกันในห้องเล็กๆ 5 คน มันจะเสี่ยงกว่าผู้สูงอายุเจ้าสัวที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์หลังโต มีพื้นที่สีเขียวเป็นไร่ๆ ของตัวเองหรือเปล่า ไม่ต้องใส่หน้ากาอนามัยเลยด้วยซ้ำ เพราะกันตัวเองออกจากสังคมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

บางทีโรคเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำของชนชั้นที่ดี สังคมที่เหลื่อมล้ำจะผลิตคนป่วยในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก และจะเห็นได้ค่อนข้างเด่นชัดในชนชั้นแรงงานและชนชั้นล่าง เราจึงต้องต้องย้อนกลับไปดูว่าตัวเลขที่ดูเหมือนจะเป็นกลางมันซ่อนอะไรไว้ ซ่อนเพื่อไม่ให้เราไม่เห็นความขัดแย้งทางสังคมหรือเปล่า เมื่อรวมกับวลีของรัฐที่พยายามจะลบความขัดแย้งออกไป ที่บอกว่าต้องรู้จักเรียนรู้ป้องกันตัวเองออกจากโรคโควิด-19 โดยการปกป้องคุ้มครองครอบจักรวาล (Universal Protection) บ้าบออะไรของมัน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วรัฐโบ้ยความรับผิดชอบกลับไปที่ระดับปัจเจกเท่านั้น หรือระดับผู้ประกอบการเท่านั้น ซึ่งถ้ามึงติดโควิด-19 ในช่วงนี้ หมายความว่ามึงไม่มีทักษะชีวิตในการอยู่กับโควิด-19 ใช่ไหม นี่ก็เป็นการโทษปัจเจกอีกแล้ว

แปลว่ารัฐ คือหนึ่งในเครื่องมือการกลบความขัดแย้ง และแปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้เป็นภาระของปัจเจก

รัฐบาลพยายามจะผูกหัวผูกหาง หมายความว่ามันมีมาตรการอะไรมากมายที่ทำให้เรามองไม่เห็นความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมที่มีหลายระดับ โดยการพยายามเปลี่ยนมันให้เป็นความรับผิดชอบของปัจเจกและวิทยาศาสตร์แบบกลางๆ ส่วนตัวผมคิดว่าการแพทย์ก็ไม่ได้เป็นกลางหรือเปล่า เพราะหมอหลายๆ คนก็ดูกระฎุมพี้กระฎุมพี เหมือนมึงไม่ได้เข้าใจสังคมเลย

หนึ่ง คือไม่เข้าใจว่ามึงเข้าใจไวรัสดีพอแค่ไหน เพราะมันมีอะไรที่เราไม่รู้เกี่ยวกับไวรัสอีกมากมาย สอง ค่อนข้างชัดเจนว่ามึงไม่ได้เข้าใจสังคมเลย สิ่งที่พูดออกมาเป็นเพียงการโบ้ยให้ปัจเจกดูแลตัวเองแค่นั้น

ความน่าสนใจคือเราเห็นปัญหาที่อยู่ในภาวะปกติแล้ว แต่ทำไมเรายังอยากกลับไปสู่ภาวะปกติเดิมอีก โดยการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด หากมองให้ดีปัญหามันใหญ่กว่าการเข้าถึงวัคซีนคุณภาพดีๆ ที่ฟรีหรือเปล่า เพราะโรงพยาบาลก็ไม่เพียงพอแล้ว ปัญหามันซับซ้อนและใหญ่กว่านั้นมาก ดังนั้นหากต้องการแก้ไขโจทย์ใหญ่ มันคือโครงสร้างสังคมในระดับที่ใหญ่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไม่มีใครอยากแตะ แต่การที่เราต้องการรีบกลับไปสู่สภาวะปกติ วิถีชีวิตแบบเดิมให้เร็วมากที่สุด โดยไม่พูดถึงปัญหาที่แท้จริง มันคือการเลี่ยงที่จะเผชิญกับความขัดแย้งในสังคมเราหรือเปล่า

ในเมื่อโควิด-19 ได้ถ่างภาพความเหลื่อมล้ำและสะท้อนความขัดแย้งในสังคมให้เด่นชัดขึ้น คุณคิดว่าแล้วทำไมคนถึงยังอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ยังหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับโครงสร้างสังคมและทุนนิยมอย่างที่คุณว่ามา

เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก ขอเริ่มจากชนชั้นบนรวมถึงชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง วิธีคิดของเขาเป็นแบบลิเบอรัลเดิมๆ เป็นวิถีสายทุนที่เปลี่ยนเรื่องเหล่านี้ให้กลายเป็นการกุศล ความใจบุญสุนทาน เป็นความช่วยเหลือ ใครช่วยได้มากได้น้อยก็ว่ากันไป แต่เขาเหล่านี้ทำราวกับว่าความยากจนไม่ใช่เพราะพวกเขา ไม่ใช่เพราะโครงสร้างสังคม ไม่ใช่เพราะทุนนิยมเลย แต่ความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น หรือการไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน การเข้าถึงระบบสาธารณสุข การติดโรคระบาด ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องของความโชคร้ายเสียมากกว่า ราวกับว่าไม่ใช่ความผิดของทุนนิยมที่บังคับให้คนต้องไปทำงาน คนไม่มีสิทธิ์ที่ไม่ทำงาน มันเลยออกมาในรูปแบบของการช่วยเหลือ พระเอกขี่ม้าขาว เพื่อให้รู้สึกผิดน้อยลง แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรเลย

มุมมองของลิเบอรัลชนชั้นนำจะแตกต่างกับพวกฝ่ายซ้ายหรือมาร์กซิสต์คือ เวลาพวกลิเบอรัลหรือชนชั้นนำเห็นขอทาน คนไร้บ้าน ตามท้องถนน พวกเขาจะบอกว่าระบบมันแย่จังเลย ดูสิ มีขอทาน คนไร้บ้าน เราต้องปฏิรูป เราต้องคอยแก้ไขระบบ แต่ถ้ามองแบบซ้ายมาร์กซิสต์ เวลาเห็นขอทาน คนไร้บ้านบนท้องถนน ก็จะบอกว่าระบบมันกำลังทำงานได้ดี นี่แหละคือผลผลิตของระบบ มันไม่ใช่ความผิดพลาดและความผิดเพี้ยนของระบบที่มีคนจน ขอทาน คนไร้บ้านตามท้องถนน แต่ระบบมันขับคนออกจากสังคม เศรษฐกิจต่างหาก นี่คือผลลัพธ์ของระบบที่กำลังทำงานได้ดี หรือทำงานได้ตามปกติของมัน เพราะระบบดำเนินได้ตามปกติ มันเลยสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา นี่คือมุมมองที่แตกต่างกัน

กิจการภายนอก สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แล้วในระดับของการชุมนุมและส่วนของแรงงาน คุณมองการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับโครงสร้างสังคมและทุนนิยมนี้อย่างไร

ในระดับของการชุมนุมและการประท้วงก็อาจจะส่งผลในทางที่ว่า ถ้าการชุมนุมไม่พูดถึงทุนเลย พูดถึงเพียงรัฐเผด็จการ หรือเป้าหมายเป็นแค่เล็กๆ จาก 10 ข้อ เหลือ 3 ข้อ หรือลดเหลือ 1 ข้อ ลดเพดานลงเรื่อยๆ ไม่พูดถึงเรื่องชนชั้น การชุมนุมต่างๆ จะไม่เป็นการตั้งประเด็นหรือเปล่า การชุมนุมต่างๆ จะไม่ช่วยขยับขยายขอบเขตหรือพิกัดของความคิด การท้าทาย หรือการเรียกร้องทางการเมืองและสังคมหรือเปล่า มันก็จะกลายเป็นข้อเรียกร้องต่างๆ ที่แทบจะไปได้ด้วยดีกับโลกที่เป็นอยู่ มันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะแตะเรื่องทุน เรื่องชนชั้น เพราะสุดท้ายคุณจะประท้วงไปเพื่ออะไร ถ้าพูดว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคม แต่จะคงทุนไว้หรือ จะคงระบบชนชั้นแบบเดิมไว้หรือ หรือจะต้องการแค่รัฐธรรมนูญใหม่ มันต้องไปไกลกว่านั้นได้หรือเปล่า เรายังอยู่ในช่วงเวลาที่หน้าต่างแย้ม และสามารถผลักสิ่งเหล่านี้ออกไปได้ไปหรือเปล่า ก่อนที่มันจะปิดอีกรอบหนึ่งทางด้านความคิดและอุดมการณ์

ส่วนฝั่งของแรงงานก็คงตอบได้อีกหลายระดับเช่นกัน ผมคิดว่าแรงงานจำนวนหนึ่งไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นแรงงานหรือเปล่า แรงงานที่พอจะมีสถานะขึ้นมาหน่อยก็มองว่าตัวเองเป็นผู้ประกอบการ ฉันลงทุนกับชีวิตของฉัน การขายของออนไลน์ การเป็นฟรีแลนซ์ การไม่มีเจ้านายโดยตรง การทำงาน gig economy ทั้งหลาย หรือการทำงานผ่านแพลตฟอร์มมากมาย จนบางทีเราอาจจะรู้สึกว่ากูไม่มีนายจ้างและกูเป็นนายตัวเอง กูไม่ใช่แรงงาน กูเป็นนายทุนเหมือนกัน เป็นผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการเหมือนกัน ดังนั้นถ้ามาในสายนี้อาจจะไม่ได้โยงใย หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของแรงงาน และก็ไม่ได้รู้สึกว่าชะตาของฉันก็โยงใยเข้ากับแรงงานคนอื่น ฉันเป็นปัจเจกแยกออกจากคนอื่น แยกออกจากแรงงาน

อีกปัญหาที่ผมพบจากการพูดคุยกับสายแรงงานในระดับผู้นำสหภาพแรงงาน คือเขาไม่ได้มองว่าทุนนิยมเป็นปัญหานะ มันกลายเป็นสายแรงงานที่โยงอนาคตของตัวเองเข้ากับอนาคตของทุน ผู้ประกอบการ เจ้านายและนายจ้าง ภาพของเขาคือรัฐบาลที่ดีคือรัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต และถ้าเศรษฐกิจเติบโต นายจ้างและบริษัทจะมีผลกำไรสูงขึ้น แรงงานก็จะดีไปด้วย โจทย์ของเขาไม่เคยอยู่ที่ทุนนิยมที่คอยขูดรีด หรือทุนนิยมสร้างปัญหาอะไรบ้าง แต่โจทย์อยู่ที่รัฐบาลที่ไม่ดี บริหารเศรษฐกิจแย่ คือไม่มีความสามารถในการดึงดูดการลงทุน ไม่มีความสามารถในการทำให้เศรษฐกิจเติบโต ปัญหามันอยู่ที่รัฐ ไม่ใช่อยู่ที่ทุนนิยม

แรงงานสายนี้จึงกลายเป็นแรงงานที่ปกป้องทุนนิยม ปกป้องผู้ประกอบการ นายจ้างตัวเอง และพยายามบอกว่าปัญหาเป็นเพราะรัฐบาลต่างหาก และสิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่เศรษฐกิจการเมืองใหม่หรือที่เป็นธรรมกว่านี้ แต่ต้องการรัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ต้องการผู้นำที่มีความสามารถ อาจจะเป็นเศรษฐีพันล้านหมื่นล้านคนใหม่ที่จะเข้ามาและทำให้เศรษฐกิจเติบโต และทุกอย่างจะเจริญก้าวหน้าไปหมดเลย

อีกภาพหนึ่งอาจเป็นเพราะสหภาพแรงงานของเราอ่อนแอมาแต่ไหนแต่ไร และอ่อนแอลงเรื่อยๆ และอาจมีสายงานในบางเอกชน บางมหาวิทยาลัย เช่นมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่ การตั้งสหภาพแรงงานเป็นเรื่องต้องห้าม ผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ แต่ในภาพใหญ่คงจะเป็นว่าเครื่องมือ หรือกรอบที่เราใช้และสร้างความเข้าใจ อธิบายสิ่งต่างๆ มันเป็นเครื่องมือที่ใช้ภาษาที่แทบจะออกห่างจากชนชั้น โครงสร้างสังคม และทุนนิยม แต่มันเป็นเครื่องมือและภาษาที่เน้นไปที่ปัจเจกและความรับผิดชอบของปัจเจก หรืออย่างน้อยก็ความใจบุญของคนรวยเสียมากกว่า

ในหนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ ที่คุณเขียน มีการพูดถึงไลฟ์โค้ชและการคิดบวก ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือการผลักภาระไปที่ปัจเจก

ตระกูลไลฟ์โค้ชหรือคำแนะนำอะไรทั้งหลายมันอาจจะมีมายาวนาน ซ่อนอยู่ในปรัชญา วิถีการดำเนินชีวิตหลายพันปีก็ว่าไป แต่มันเพิ่งมาเป็นอุตสาหกรรมพันล้านเมื่อ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง รวมถึงสายนั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนาภายใน นี่ก็เป็นอุตสาหกรรมพันล้านเช่นเดียวกัน พวกเขาพยายามจะบอกว่าเราต้องรู้จักดูแลตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อตัวเองอย่างไร ดำเนินชีวิตอย่างไร ใช่ นั่นอาจจะเป็นข้อดี แต่ที่อยากจะบอกว่าความรับผิดชอบในระดับปัจเจก รู้จักดูแลตัวเองต่างๆ นานา มองโลกในแง่ดีมากมาย อีกด้านหนึ่งของเหรียญมันคือการโทษตัวเอง สุดท้ายแล้ว ถ้ามึงทำทั้งหมดแล้วมึงยังล้มเหลว มึงยังจน หรือลูกยังไม่มีกิน แล้วมึงจะโทษใครได้ ก็ตัวเองนั่นแหละ หรือต้องเปลี่ยนไลฟ์โค้ชคนใหม่ แต่หลักๆ ก็ต้องโทษตัวเอง

ด้านหนึ่งของเหรียญมันเหมือนกับว่าเรามีเสรีภาพมากมาย สามารถทำนู่นทำนี่ได้หมด แต่อีกด้านหนึ่งคือการโทษตัวเองและผลักภาระให้ปัจเจก รวมไปถึงการกินยาต้านโรคซึมเศร้าด้วยซ้ำ ผมไม่ได้บอกว่าต้องเลิกกันยา เลิกหาไปจิตแพทย์ หรือเลิกบำบัดนะ เพียงแต่สิ่งเหล่านี้มันทำให้คุณแค่รับมือได้ไปวันๆ มากกว่าการแก้ไขหรือเปล่า มันอาจจะไม่ได้แตกต่างจากเวลาเครียด รู้สึกชีวิตเหี้ย ไปดื่มเหล้าในช่วงเวลานั้นก็ทำให้ผ่อนคลาย รู้สึกดีขึ้นและผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายไปได้ แต่มันก็ไม่ได้แก้อะไรเลย ทุกอย่างยังคงอยู่ ปัญหายังคงอยู่ เพราะปัญหาใหญ่มันใหญ่กว่าตัวเรา ใหญ่กว่าแค่สารเคมี ความไม่สมดุลต่างๆ ในร่างกาย การรักษาหรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า heal มันจึงต้องไปแตะสังคมด้วย

ถึงหมอจะบอกว่าต้นตอของปัญหาคือ จิตใจ ร่างกาย และสังคม แต่สังคมของมึงเป็นอะไรที่โคตรจะแคบเลย เพราะมันไม่เคยขึ้นไปสู่ทุนนิยม ไม่เคยแตะเศรษฐกิจ สังคมของมึงอยู่แค่ครอบครัว คนรอบข้าง เพื่อน ต้องให้กำลังใจ ต้องเข้าใจ แต่แท้จริงแล้วสังคมมันต้องรวมถึงโครงสร้างทางสังคม ความรุนแรงทางสังคม การกดขี่ขูดรีดที่มากับทุนนิยมด้วย—นี่คือสังคม พูดง่ายๆ ไม่ว่าจะโรคซึมเศร้า โรคอ้วน โรคหัวใจ หรือโควิด-19 ปัญหามันซับซ้อนและใหญ่มากกว่าแค่ไวรัส มากกว่าแค่ร่างกายของปัจเจกคนนั้นคนนี้ มากกว่าแค่ปอดที่ติดเชื้อและสารเคมีในสมอง ถ้าเราไม่รู้จักจะเห็นมันและพยายามจะคลี่และแก้ไข และรักษาปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น โรคก็จะไม่มีวันหายไปไหน และจะสะสมถาโถมมากขึ้นเรื่อยๆ

ภาพ: Reuters

การชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปและต่อต้านอำนาจเผด็จการ สามารถเรียกว่าเป็นเหมือนการหาทางออกจาก ‘โลกซึมเศร้า’ ได้ไหม

เรื่องการชุมนุมของเยาวชน ในตอนแรกคงไม่มีใครนึกคิดว่ามันจะจุดติด แต่สิ่งที่ตามมามันเหนือความคาดหวังในระดับหนึ่งด้วยซ้ำ ซึ่งการจุดติดมันเป็นสิ่งที่สะท้อนและโยงมาถึงสิ่งที่คุณเรียกว่า ‘ยาต้านเศร้า’ มันทำให้เราเห็นว่ามันไม่ได้มีแค่ปัจเจกที่ต่างคนต่างอยู่นะ ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตและอนาคตของตัวเองเท่านั้น แต่มันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เรา’ มันมีคนที่คิดเหมือนเราและคล้ายๆ เราอีกมากมายที่ไม่พอใจ และมองว่าปัญหามันไม่ใช่แค่ระดับปักเจกเท่านั้นที่ผิดพลาด แต่ปัญหามันใหญ่กว่าเรา และมันต้องแก้ไขปัญหาที่ใหญ่นั้นด้วย เราถึงจะมีอนาคต ถึงจะสามารถมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้

ภาวะซึมเศร้าส่วนหนึ่งมันมาจากการมองว่าตัวเองไร้ค่า ด้อยกว่าทางด้านภววิทยา ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ และต้องจมปลักอยู่กับมันโดยการโทษตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่พอมันมีการประท้วง การแสดงออกว่า ‘เรา’ เยาวชนจะเปลี่ยนแปลง หรือกลุ่มอีกมายมายที่รวมกันบอกว่าเราสามารถสร้างอนาคตได้ เปลี่ยนแปลงอนาคตได้ แม้ว่าเราอาจจะอยู่ในจุดที่เหี้ยและแย่ที่สุด แต่ไม่ยอมแพ้ และคิดว่าสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ส่วนนี้ผมแอบรู้สึกว่ามันคือการสร้างความกระตือรือร้นทางการเมืองที่ดี การสร้างความเป็นเราที่ดึงคนออกจากตัวเอง ดึงคนออกจากการโทษตัวเอง จมปลักกับตัวเองแล้วมองปัญหาว่ามันใหญ่กว่าตัวปัจเจก

ภาพของการชุมนุมประท้วงมันมีหลากหลายกลุ่มมาก ทั้งสารพัดทะลุ อย่างกลุ่มทะลุแก๊ซที่ดินแดง มันเป็นภาพสะท้อนของการเมืองว่า การเมืองระบบรัฐสภาและพรรคการเมืองไม่ได้สะท้อนความต้องการ ชีวิต และข้อเรียกร้องของคนทั่วไปแล้ว ที่ต้องออกมาเรียกร้องบนถนนเพราะการเมืองแบบนั้นมันไม่ใช่ฟังก์ชั่น มันเป็นภาพสะท้อนของความล้มเหลวในการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ปัญหาโครงสร้างสังคมของประเทศนี้ ส่วนข้อดีคือมันทำให้เห็นถึงความขัดแย้งทางสังคม ที่ฝ่ายการเมือง รัฐ หรือตำรวจ พยายามจะกลบมันแล้วเปลี่ยนความขัดแย้งเหล่านี้ให้กลายเป็นคดีผิดกฎหมายต่างๆ เช่น ม.112, ม.116 หรือใช้วลีทรยศแผ่นดิน หนักแผ่นดิน ที่คล้ายกับเป็นสิ่งปฏิกูลที่ต้องถูกชำระออกไป หรือการพยายามกลบความขัดแย้งในสังคมด้วย conspiracy theory ที่คิดว่าเยาวชนใสซื่อบริสุทธิ์แต่ที่ออกมาประท้วงเพราะถูกชักใยอยู่เบื้องหลัง

คุณคิดอย่างไรว่า ในเมื่อคนที่รับรู้แล้วว่าทุนนิยมนั้นโหดร้ายเพียงไร แล้วทำไมถึงยังหลีกเลี่ยงเผชิญหน้ากับทุนโดยตรง หรือคนบางกลุ่มกลับอ้าแขนรับทุนเลยด้วยซ้ำ

ถ้าตัดส่วนของการศึกษาออกไป ที่บอกว่าเราถูกกล่อมเกลาทางสังคมในลักษณะหนึ่ง ถูกสอน หรือภาษาในชนชั้นมันหายไป ฝ่ายซ้ายหายไปหมดแล้ว ที่เหลืออยู่ก็อ่อนแอเป็นอย่างมาก หรือเพิ่งกลับมาฟื้นฟูและได้รับความสนใจเมื่อไม่นานมานี้ และการศึกษาส่วนใหญ่ก็เป็นสายลิเบอรัล ไม่ค่อยแตะถึงชนชั้น ภาษาที่ใช้ไม่ใช่ของชนชั้นหรือการวิพากษ์ทุนเสียทีเดียว แต่เป็นภาษาอย่างอื่น เช่น สิทธิมนุษยชน เรื่องของอัตลักษณ์ ความยอมรับทางสังคม ความเคารพอัตลักษณ์เรื่องเพศ​ เพศวิถี หรือสันติวิธี ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญนะ แต่มันเป็นอีกเรื่องราวหนึ่ง ปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากสิ่งเหล่านี้ เหมือนกับเราต้องกลับมาเรียนรู้วิธีการต่อสู้ทางสังคมทางการเมืองใหม่ โทนใหม่ จะต่อสู้อย่างไร เคลื่อนไหวอย่างไร และการต่อสู้ในระดับการเคลื่อนไหวเป็นเช่นไร มีบทเรียนในอดีตจากการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง รวมถึงประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะต้องเผชิญ

แต่ความยากคือเราจะเผชิญหน้ากับทุน หรือจะต่อต้านทุนที่มีความซับซ้อน แยบยล และมีความแตกต่างของตัวทุนนิยมเองได้อย่างไร เพราะด้านหนึ่ง ทุนนิยมก็สร้างปัญญาชนของมัน สร้าง think tank ที่ช่วยปกป้อง สร้างความชอบธรรมให้ทุนนิยม เศรษฐีมีมูลนิธิมากมายที่ทำเรื่องนั้น และส่งเสริมนักคิดมากมายที่ปกป้องชนชั้นนายทุนและทุนนิยมเอง แน่นอน ทุนนิยมโดยเฉพาะฝั่งทุนมันก็กำจัดนักเคลื่อนไหวมากมาย ทั้งด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม ชุมชนที่ต่อต้านการสร้างเขื่อน โรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการลากไปฆ่า ยิงทิ้ง ทำให้สูญหาย หรือฟ้องร้อง มีคดีความ โดยเฉพาะสายแรงงาน เมื่อเปิดโปงเรื่องการขูดรีดแรงงานในโรงงาน หรืออุตสาหกรรม ก็ถูกฟ้องเป็นคดีหัวโต

แต่เราก็ต้องเข้าใจความพิเศษและความแตกต่างของทุนด้วยว่า ด้านหนึ่งมันยินยอมให้คนวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งแตกต่างจากระบอบเผด็จการหรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันโอเคที่คุณจะวิจารณ์ มันไม่มี ม.112 ที่คอยปกป้องทุน คุณวิจารณ์มันได้ แล้วมันก็อยู่ได้ ซึ่งจริงๆ ก็ถูกวิจารณ์มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว จากสายสังคมนิยม อนาธิปไตย ก่อนมาร์กซิสม์ มีมาร์กซิสม์ หลังมาร์กซิสม์ เลนิน รวมถึงมหาเศรษฐีพันล้านหมื่นล้านก็เป็นคนที่วิจารณ์ทุนเองด้วย อาจจะไม่ใช่ในระดับที่เข้มข้น แต่ก็มีการวิจารณ์กันเนืองๆ เช่น บิล เกตส์ (Bill Gates), จอร์จ โซรอส (George Soros) และวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)

ภาพ: Reuters

ถ้าอย่างนั้นการที่สามารถวิจารณ์ทุนนิยมได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการลดความขัดแย้งในสังคมลงด้วยหรือเปล่า 

ตราบใดที่ชีวิตเราต้องพึ่งพิงทุนนิยมทั้งเรื่องงาน สิ่งที่เรากิน สิ่งที่เราใช้ ทุนก็ไม่สนใจที่เราจะวิจารณ์มันหรอก ตราบใดที่เราไม่มีทางออก ไม่มีทางเลือกอื่น เราก็สามารถวิจารณ์ทุนได้ แม้จะรู้ดีว่าเลวร้ายอย่างไร พูดง่ายๆ ว่าเราไม่รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ แค่ในหัวมันรู้ว่าทุนเลวร้ายอย่างไร ซึ่งจุดนี้แตกต่างจากระบอบเผด็จการ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะในระบอบเหล่านี้ไม่สามารถวิจารณ์จักรพรรดิได้ ไม่สามารถวิจารณ์กษัตริย์ได้ เพรามีกฎหมายมากมายปกป้องอยู่ รวมไปถึงการปลูกฝังความเชื่อความคิดมากมายที่ต้องยกย่องจนหลายๆ คนอาจพร้อมพลีชีพเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่ในขณะที่ทุนกลับมีน้อยมาก และไม่จำเป็นต้องมีด้วยซ้ำ ที่บอกว่ากูพร้อมตายเพื่อทุนนิยม แต่ทุนนิยมมันก็อยู่ได้ แม้ไม่มีใครพูดเช่นนั้น

แต่ประเด็นที่ทุนนิยมแตกต่างจากระบอบเผด็จการคือ ในระบอบเผด็จการเราจะรู้ว่าอยู่ภายใต้อำนาจของใคร มีคนกดอยู่ โดยสามารถสัมผัสและมองเห็นได้ แต่ในขณะที่ทุนนิยมทั้งในทางปฏิบัติและทางทฤษฎี ความรู้สึกนี้มักจะหายไป เพราะภายใต้ทุนนิยม เราถูกฝัง ถูกกล่อมเกลา หรือถูกเสนอว่าเราคือปัจเจก เป็นตัวของตัวเอง แค่หาผลประโยชน์เข้าตัวเอง แค่ทำเพื่ออัตลักษณ์ของตัวเอง และทุกคนก็ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเองนั่นแหละ

เราเป็นตัวเองตลอดเวลา รวมไปถึงการซื้อของ การบริโภค นอกจากนี้ยังแสดงออกถึงความเป็นตัวเองอีกหลายรูปแบบ เช่น หากคุณเป็น LGBTQ+ ก็เปิดเผยมาเลย อย่าปิดบัง คุณเป็นผิวสีหรือ ทุนรับได้ และทุนก็ทำสินค้าขายให้คุณ ทุนเป็นส่วนหนึ่งของ LGBTQ+ ส่งเสริมสิทธิของ LGBTQ+ ต้องการให้มีห้องน้ำที่สาม หรือในบางบริษัท ช่วง Black Lives Matter ทุนก็มีแคมเปญมากมาย แม้แต่ใน NBA หรือการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษที่คุกเข่าข้างเดียว ต่อต้านการเหยียดสีผิว ทุนไม่มีปัญหากับสิ่งแบบนี้ เวลาอยู่ภายใต้ทุนเราจึงรู้สึกว่าเป็นปัจเจก เป็นตัวของตัวเอง ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วมันรู้สึกใช่ รู้สึกเป็นธรรมชาติ ไม่รู้สึกว่ามีอะไรมายัดเยียดกดทับอยู่

หรือการไปทำงาน ถ้าโชคดีหน่อย เจ้านายก็บอกว่าไม่ใช่ที่ทำงาน นี่คือครอบครัว เจ้านายพยายามเป็นเพื่อนกับคุณ กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว หรือที่ทำงานมีโต๊ะปิงปอง แทงสนุกเกอร์ ปั่นจักรยานได้ แอบไปหลับนอนบนโซฟาเหมือนกับอยู่บ้าน ฯลฯ นี่ก็ทำให้รู้สึกว่ามันไม่ใช่งานว่ะ นี่คือโจทย์ที่ทำให้ทุนอยู่ได้ เพราะมันทำงานผ่านความเป็นปักเจก

เพราะในความเป็นปัจเจกมักแตกต่างจากระบอบอื่น เมื่อเป็นตัวของตัวเอง เมื่อซื้อ ลงทุน สะสมทุน เราก็จะลืมและมองไม่เห็นว่า้รากำลังรับใช้ทุนในระดับที่สูงกว่า ท้ายที่สุดแล้วจึงไม่รับรู้ว่ากำลังอยู่ใต้ทุน รับใช้ทุนอยู่ ซึ่งแตกต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบเผด็จการที่จะเห็นได้ชัดเจนกว่า

มักได้ยินคำวิพากษณ์วิจารณ์ว่า ม็อบยุคนี้เป็นม็อบของนักศึกษาหรือชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ แทบไม่มีชนชั้นแรงงานเข้ามาร่วมด้วย หรือมีแค่ส่วนน้อย สามารถเรียกได้หรือไม่ว่า นี่คือผลผลิตของการผลักภาระไปที่ปัจเจก จนส่งผลให้การต่อสู้ทางชนชั้นถูกลดทอนลงไปด้วย

การชุมนุมก็มีหลายเจ้า บางครั้งบางคราวก็มีมารวมกันบ้างและมีการจัดย่อยของตัวเอง มีหลายสาย บางสายพยายามตั้งสหภาพใหม่ขึ้นมาในระดับชาติ บางสายพยายามเรียกร้องรัฐสวัสดิการ แต่มันยังไม่เด่นชัด แม้ว่าเป็นกลุ่มที่ชัดเจนแต่การรับรู้ยังไปไม่ได้กว้าง ผมไม่แน่ใจว่าภาพยังเป็นของเยาวชนชนชั้นกลางหรือไม่ หรือเยาวชนต่างจังหวัดรู้สึกไม่อินกับข้อเรียกร้องก็อาจจะเป็นไปได้ แต่อีกด้านหนึ่ง ผมก็แอบรู้สึกว่ามันยังไม่สากลเพียงพอหรือ

เวลามีคนบอกว่านี่คือมุมมองของชนชั้นกลาง ของคนเมือง มันมองได้สองแบบ แบบแรกคือพวกที่ออกมาเรียกร้องเฉพาะเรื่องของตัวเอง โลกทัศน์แคบ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสังคม ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสากล แต่อีกสายหนึ่ง เราก็ต้องมาเปิดใจรับฟังว่าข้อเรียกร้องของเขามันสากล มันครอบคลุมกลุ่มอื่นได้มากกว่านี้หรือเปล่า ผมคิดว่าเวลาที่ตั้งข้อเรียกร้องที่มันเฉพาะมากๆ มันจะกลายเป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือเปล่า แต่ถ้าออกมาเรียกร้องอะไรที่ใหญ่และแตะถึงระบบโครงสร้าง นี่หมายความว่าในรายละเอียดสามารถดึงข้อเรียกร้องอื่น คนกลุ่มอื่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้ด้วย

การชุมนุมเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มบางทีมันสะท้อนภาพชนชั้นได้ เช่น ความเป็นชนชั้นกลางที่อาจขัดกับสายที่มองตัวเองเป็นชนชั้นล่างหรือแรงงานก็ได้ ยกตัวอย่าง บางสายบอกว่ามึงร้องเพลง เต้นรำ สันติวิธีไป หากโดนตำรวจหรือ คฝ.จับเข้าคุกทีละ 30-40 คน ก็ค่อยประกันตัว ดำเนินวิธีตามกฎหมาย นี่มันเป็นการต่อสู้ของชนชั้นกลางหรือเปล่า อีกสายของการต่อสู้ก็อาจจะบอกว่า ไอ้ห่า กูไม่มีเงินประกันว่ะ แม้มันจะมีกองทุนสำหรับการประกันตัว แต่คิดว่าจะมาถึงกูไหม น่าจะมีอารมณ์อะไรแบบนี้ หรือการมองว่าการติดคุกไปแล้วจะมีทนายประกัน มีเงินประกันตัว ทนายให้ความสนใจ มันเป็นฐานคติ assumption ที่ผิดพลาดของชนชั้นกลางหรือเปล่า

มันเลยเกิดเป็นสายที่บอกว่า ตำรวจเป็นมิตรกับเรา ถ้าไม่โต้ตอบตำรวจ ตำรวจจะไม่ทำร้ายเรา ในขณะที่อีกสายก็จะบอกว่า ชีวิตกูแม่งเหี้ยทุกวี่ทุกวัน ขับมอเตอร์ไซค์ก็โดนเรียก โดนกลั่นแกล้งสารพัด ถูกเอาคืนในทุกวันอยู่แล้ว ดังนั้นคนในสายนี้อาจไม่อินกับการเคลื่อนไหวที่มีมิติเดียว เต็มไปด้วยอคติทางชนชั้น ที่มองว่าเรื่องนี้ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ มันเวิร์กตลอด มีทางเดียวที่จะสู้ ในด้านนี้ก็คงมีมั้ง

ภาพสะท้อนว่าคุณจะเลือกสู้แบบใด เลือกต่อต้านในลักษณะใด มันก็อาจจะเป็นภาพสะท้อนของชนชั้นได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นก็ต้องเปิดกว้างและยอมรับการต่อสู้ในแบบอื่นด้วยหรือเปล่า เพราะการต่อสู้ไม่ได้มีทางเดียว

ภาพ: Reuters

ถ้าอย่างนั้นโจทย์ของการต่อสู้เพื่อแตะโครงสร้างทางสังคมอยู่ตรงไหน และทำอย่างไรถึงจะปลุกการต่อสู้ทางชนชั้นให้กลับมาได้อีกครั้ง

ในระดับการเคลื่อนไหว หรือ social movement ที่พยายามสร้างมวลชนให้ใหญ่ขึ้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน มันยังไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ชัดเจน แม้ว่าจะมีการเปิดประเด็นทุนนิยมบ้างก็ตาม แต่มันก็ยังไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่จะเล่นประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจน มันต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่เป้าหมายไม่ใช่แค่ชนะการเลือกตั้ง แต่เป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เรายังไม่มีพรรคการเมืองในระดับนั้น

พรรคฝ่ายซ้ายไม่มีการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องการเผชิญหน้ากับทุน ต้องทำอะไรกับเศรษฐกิจการเมือง และพรรคที่มีอยู่ในสภาตอนนี้ ดีสุดอาจจะเรียกว่าเป็นกลางซ้าย (centre-left) แล้วก็ไล่ไปสู่ขวาสุดโต่ง สภาเลยเป็นสิ่งที่ทำให้พูดถึงทุนนิยมได้ หรือไม่มีอะไรแตะทุนนิยมได้เลย หรือแตะน้อยมาก หรือไม่ได้มองว่าทุนนิยมเป็นปัญหาด้วยซ้ำ โจทย์ก็คือเราอาจจะต้องการพรรคฝ่ายซ้ายด้วยไหม เพราะมันต้องควบคู่กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองทางสังคม จะมาหวังแต่พรรคที่มีอยู่สามารถเป็นไปได้หรือเปล่า นี่ผมตั้งไว้เป็นคำถามแล้วกันนะ

ส่วนเกมที่เล่นผ่านสภาก็ต้องมาคิดกันว่า การเลือกตั้งมันเพียงพอหรือเปล่า แล้วเกมนอกสภาต้องมีอะไรบ้าง สามารถทำได้มากกว่านี้ได้แค่ไหน เพราะฝ่ายขวาไม่เคยมองฝั่งเดียวกันเป็นศตรู แม้ว่าจะไม่ชอบกันแต่มันก็สามารถขวายิ่งขึ้นอีก เป็นเพื่อนกัน เป็นพี่น้องกัน แต่ถ้าคุณเป็นลิเบอรัล เป็น centre-left กลางซ้ายๆ แบบลิเบอรัลหน่อยๆ คุณก็จะมองคนที่อยู่ซ้ายเดียวกันไม่ใช่เพื่อน มันมีแค่กู ฝ่ายซ้ายอื่นก็เป็นศัตรู ฝ่ายขวาก็เป็นศัตรู ปัญหามันอยู่ตรงนี้ เพราะฝ่ายซ้ายไทยอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง เพิ่งมากระปรี้กระเปร่ามีชีวิตชีวาขึ้นมาหน่อย แต่ center-left หรือกลางซ้ายของไทยใหญ่มาก และไม่ได้มองว่าคนที่อยู่ฝ่ายซ้ายเดียวกันเป็นมิตรเสียทีเดียว ในขณะที่ฝ่ายขวากลับเข้มแข็งและแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ

มันจึงเป็นอะไรที่ยากมากที่เราต้องเปิดพรรคการเมืองแบบฝ่ายซ้ายให้ได้ เพราะสิ่งนี้จะล้อไปกับการเคลื่อนไหวนอกสภา และพรรคฝ่ายซ้ายก็จะได้ช่วยแดกดันพรรคกลางซ้ายในสภาอีกด้วย จุดนี้คงจะต้องรวมการเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ ต่างคนต่างเดินก็ดี ไม่ต้องชุมนุมพร้อมกันทุกครั้งหรอก แต่ผมรู้สึกว่ามันยังจำเป็นที่ต้องรวมกลุ่มธงต่างๆ ให้ได้มากที่สุดอยู่ดี ไม่อย่างนั้นมันคงจะยากที่จะกดดันอะไร

ถ้ามีการเมืองที่ดี มีโครงสร้างสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำ มีความเสมอภาคมากขึ้น หรือมีรัฐสวัสดิการที่ทั่วถึง เช่นนั้นแล้ว ปัญหา ‘โรคซึมเศร้า’ จะได้รับการรักษาเยียวยาอย่างแท้จริงไหม

อย่างน้อยก็มีงานสายแพทย์ระบาดวิทยาจำนวนหนึ่ง วิธีการตอบได้คงต้องมีการเปรียบเทียบกันในข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งก็มีคนทำมากมาย เช่นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันเอง ไม่ต้องไปเทียบประเทศรวย-จน พัฒนา-ไม่พัฒนา ก็จะมีหมู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง และมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่น้อยหน่อย หรือใช้คำว่ามีความเสมอภาคที่มากกว่า ก็จะพอเห็นได้ว่าสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง จะมีโรคมากมายเป็นจำนวนมากกว่า เช่น โรคอ้วน ซึมเศร้า เครียด ติดเหล้า ติดยาเสพติด หัวใจ ฯลฯ สัดส่วนของผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้จะสูงกว่าสังคมที่มีความเสมอภาคมากกว่า อันนี้ก็น่าจะเป็นตัวชี้วัดหรือภาพสะท้อนอะไรบางอย่างได้ว่า ถ้าทุกอย่างดีขึ้นและมีความเสมอภาคมากขึ้น สัดส่วนของคนที่ป่วยโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นล่างและชนชั้นแรงงานก็น่าจะลดน้อยลง ผมคงพูดได้แค่นี้ เพราะมันก็คงยากที่จะคาดเดา

ภาพ: Reuters

ในเมื่อสัจนิยมแบบทุน ทำให้ไม่สามารถวาดฝันถึงสังคมที่ปราศจากทุนได้เลย และถ้าไม่ใช่ทุนนิยม คุณมองว่าโลกหลังทุนนิยมน่าจะเป็นแบบไหน หรือเราต้องอยู่กับทุนนิยมนี้ต่อไปอย่างไร 

ใช่ มันยากที่จะจินตนาการถึงโลกหลังทุนนิยม หรือภาพของสังคมที่ดีในแบบยูโทเปียว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ยากที่จะจินตนาการถึง อย่างภาพยนตร์ฮอลลีวูดส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาทรงนี้ มันเป็นภาพแบบดิสโทเปียมากกว่า โลกที่น่าหดหู่ แต่ภาพยนตร์เหล่านี้เป็นการเตือนเราว่า ถ้ามึงไม่เปลี่ยนแปลงปัจจุบันอะไรเลย อันนี้คือปลายทาง คืออนาคตของสังคมที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จริงๆ แล้วภาพของสังคมดิสโทเปียคือภาพของสังคมปัจจุบันนั่นแหละ เพียงแต่ทำให้ทุกอย่างสุดโต่งมากขึ้น เด่นชัดและเข้มข้นมากข้น

ส่วนภาพสังคมแบบยูโทเปียในปัจจุบันมันมีน้อยกว่า แต่ก็ยังพอเห็นได้ผ่านงานวรรณกรรมไซ-ไฟ ผมขอแนะนำให้อ่านหนังสือของอดีตรัฐมนตรีคลังของกรีซ ในสมัยที่พรรคฝ่ายซ้ายเลือกตั้งชนะ เขาชื่อ ยานิส วารูฟากิส (Yanis Varoufakis) เขียนนิยายไซ-ไฟชื่อ Another Now, Now พูดถึงปัจจุบันตอนนี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง ในอีกเวอร์ชันหนึ่ง เป็นภาพของสังคมคู่ขนาน อันหนึ่งคือโลกของเรา แต่นั่นคืออีกโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ก็มีไอเดียมากมาย หรือในสายสิ่งแวดล้อมก็เห็นได้ในนิยายไซ-ไฟจำนวนหนึ่ง ที่พยายามวาดภาพสังคมที่สามารถรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้ และไปพ้นทุนได้อย่างไร

แน่นอน ผมเห็นควรว่าจะต้องเร่งนำเสนอภาพของสังคมหลังทุนนิยมในอนาคตให้เป็นรูปธรรม หรือให้ความหวังมากขึ้นกว่านี้ เพราะสัจนิยมแบบทุนมันอยู่ได้โดยการทำลายความหวังของเรา ในความเป็นอุดมการณ์อย่างที่บอกว่า ความเป็นจริงที่เป็นอยู่ไม่ได้ดีที่สุดหรอก

เวลาพูดว่าสังคมหลังทุนนิยมมันสามารถออกหัวหรือก้อยก็ได้นะ ทางแรกคือเป็นสังคมหลังทุนนิยมที่เลวร้ายกว่าทุนนิยมด้วยซ้ำ สายที่พูดถึงสิ่งเหล่านี้จะบอกว่าเราไปพ้นทุนนิยม แต่มันเป็นอะไรที่ป่าเถื่อนและเลวร้ายกว่าทุนนิยมอีก จะเรียกสังคมนี้ว่าเป็นสังคมแบบฟิวดัลใหม่ (neo-feudalism) ถ้าพูดแบบไทยๆ ก็ศักดินาใหม่มั้ง มันคือการฟื้นคืนของระบอบฟิวดัล และปรับรูปปรับโฉมใหม่ ส่วนใหญ่ไม่มีกษัตริย์แล้ว แต่เป็น CEO เศรษฐีหมื่นล้าน พันล้านล้าน ที่แต่ละคนมีอาณาจักร มีบริษัทใหญ่โต ควบคุมชีวิตเราหมดเลย ยกตัวอย่าง สมมติว่า เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ไปสร้างอาณานิคมในดาวอังคาร อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ไปสร้างอาณานิคมในดาวเคราะห์อื่นๆ คำถามคือ คนที่อยู่ในอาณานิคมเป็นทาสเศรษฐีเหล่านี้หรือ เป็นคนงานหรือ พวกนั้นมันก็คือกษัตริย์ไม่ใช่หรือ สามารถควบคุมชีวิตมึงได้ทุกอย่างหรือเปล่า

ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่มีคนพูดถึงโลกสังคมหลังทุนนิยมอาจจะเยอะมากอย่างผิดหูผิดตา อย่างน้อยก็ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีหลายสาย ทั้งสิ่งแวดล้อม วรรณกรรมไซ-ไฟ การเมืองก็มีที่พูดถึง Green New Deal, People’s Green New Deal หรือ New Deal แบบสีแดง พูดถึง Eco-socialism สังคมนิยมที่สนใจเรื่องนิเวศ ซึ่งมันดูก็พอจะเป็นความหวังเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงนี้ ที่ทำให้เราเห็นภาพโลกหลังทุนนิยมได้ดีขึ้น

 

ภาพ: กิจการภายนอก สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Reuters

Fact Box

สรวิศ ชัยนาม รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เขียนหนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์, จากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์ ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์, Slavoj Zizek: ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย, ทำไมต้องตกหลุมรัก Alain Badiou, ความรัก และ The Lobster และ จักรวรรดิอเมริกา ประวัติศาสตร์แบบทวนกระแส อัตลักษณ์ ชีวอำนาจ

Tags: , , ,