ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สั่นสะเทือนไม่เพียงแต่สนามการเมืองในเมืองหลวง หากแต่ยังสั่นสะเทือนไปถึง ‘รัฐบาล’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บรรยากาศของความหวังในฝ่ายประชาธิปไตยอบอวล ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เมื่อ Strategic Vote หรือการลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์ก็มีปัญหา แม้รวมคะแนนทั้งหมดของแคนดิเดตอันดับอื่นๆ ก็ยังไม่เท่ากับ ‘ชัชชาติ’ เพียงคนเดียว

คำถามต่อไปก็คือ ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่เพิ่งผ่านมา กำลังจะบอกอะไร การต่อสู้ระหว่างฝ่าย ‘ประชาธิปไตย’ กับฝ่าย ‘อนุรักษนิยม’ กำลังไปทางไหน ใครคือ ‘ความหวัง’ ภายหลังการเลือกตั้ง และฝ่ายใดที่เต็มไปด้วย ‘ความกลัว’ จากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ อีกทั้งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งถัดไปที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้านานอย่างไรบ้าง 

หาคำตอบกันได้จาก ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

คุณคิดว่าชัยชนะของคุณชัชชาติแบบแลนด์สไลด์เกิดจากอะไร

ก่อนอื่นต้องกล่าวก่อนว่า การแลนด์สไลด์ของคุณชัชชาติที่ได้หนึ่งล้านสามแสนแปดหมื่นคะแนน ส่วนหนึ่งมาจากฐานเสียงของนักการเมือง อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมในตัวบุคคล อย่างไรก็ตามพบว่าคะแนนคุณชัชชาติหลักๆ มาจากแม่น้ำทั้งสามสาย ประกอบไปด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และกลุ่มอนุรักษนิยมก้าวหน้า

ส่วนแรก คือประชาชนที่นิยมชมชอบในพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงในกรุงเทพฯ ประมาณหกถึงแปดแสนคน 

ต่อมา คือคนที่ชอบพรรคก้าวไกล จะเห็นว่าคนเลือกคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นผู้ว่าฯ แค่สองแสนห้าหมื่นคะแนน ในขณะที่เลือก ส.ก.จากพรรคก้าวไกล ประมาณสี่แสนกว่าคะแนน แสดงว่าคนที่เลือก ส.ก. พรรคก้าวไกล ก็ไม่ได้เลือกคุณวิโรจน์เป็นผู้ว่าฯ กทม.

ส่วนสุดท้าย คือคะแนนที่มาจากกลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งคงนิยามได้ว่าเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมก้าวหน้า ที่ไม่ใช่กลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่ง จะเห็นคนที่เลือก ส.ก. ประชาธิปปัตย์ ข้ามมาเลือกคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คุณสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ประมาณเก้าหมื่นคน เพราะคะแนนคุณสุชัชวีร์ ได้เพียงสองแสนห้าหมื่น แต่คะแนนจาก ส.ก.ได้ถึงสามแสนกว่าคะแนน ซึ่งรวมถึงคะแนนจากกลุ่มพลังประชารัฐและกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ

ชัยชนะของคุณชัชชาติกำลังบอกอะไรกับสังคม 

คะแนนเหล่านี้กำลังบอกว่า ถ้าผู้สมัครมีคุณสมบัติที่ดี มีประสบการณ์ และมีวุฒิภาวะความเป็นผู้นำเพียงพอ ย่อมสามารถสร้างแนวร่วมทางความคิดที่ก้าวข้ามสีเสื้อทางการเมืองและพรรคการเมืองได้ แต่การจะหาคนที่มีคุณสมบัติที่เหมือนคุณชัชชาติเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ยาก 

หากดูคุณสมบัติของคุณชัชชาติ ทั้งครอบครัวและประวัติการเลี้ยงดู มีความเป็นคนในอุดมคติของกลุ่มอนุรักษนิยมสูงมาก ทั้งวิธีคิดและคุณค่าของการให้ความสำคัญกับครอบครัว เช่น ลูกคือศูนย์กลางของจักรวาล ความผูกพันในครอบครัว การแสดงออกถึงความกตัญญู และการศึกษาก็ยังได้รับทุนพระราชทานไปเรียนต่อต่างประเทศ 

อาจกล่าวได้ว่า นี่คือคุณสมบัติที่ซื่อสัตย์ ขยันทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่พรั่งพร้อมในอุดมคติของอนุรักษนิยม แต่เป็นอนุรักษนิยมที่ชูธงประชาธิปไตยมาตลอดและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร มีจุดยืนที่ต่อต้านอำนาจการรัฐประหารชัดเจน ซึ่งหากประเทศอยู่ในระบบการเมืองที่ไม่บิดเบี้ยว เป็นระบบที่แข่งกันผ่านกระบวนการประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง คุณชัชชาติควรจะเป็นแคนดิเดตของกลุ่มอนุรักษนิยม แต่ด้วยที่การเมืองไทยบิดเบี้ยวมาโดยตลอด คุณชัชชาติเลยถูกผลักให้มาเป็นผู้สมัครของฝั่งเสรีนิยม ในขณะที่ฝั่งอนุรักษนิยมเองก็ไม่มีตัวเลือกที่น่าสนใจพอ จึงเป็นเหตุให้กลุ่มอนุรักษนิยมก้าวหน้าของไทยประมาณสามแสนคน ที่อยู่ในกรุงเทพฯ กระโดดข้ามฝั่งมาเลือกคุณชัชชาติทันที

กลุ่มอนุรักษนิยมก้าวหน้าคืออะไร และคือใคร

ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง การศึกษาและฐานะดี คนกลุ่มนี้มีอุดมคติของประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่เป็นประชาธิปไตยแบบที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ ต้องไม่มีการซื้อเสียง ไม่โกง ไม่คอร์รัปชัน แต่เมื่อนักการเมืองที่เข้ามารับหน้าที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเขา ก็ยินดีให้โอกาสกับการรัฐประหาร 

เขาอาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพานโยบายจากนักการเมือง ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ได้ผลประโยชน์จากนักการเมืองในอดีต และมีความคิดที่ค่อนข้างจะยึดโยงกับตัวบุคคลมากกว่า 

คนกลุ่มนี้เคยเป็นฐานเสียงของประชาธิปปัตย์ แต่การเลือกตั้งในช่วงปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับบอกว่าไม่สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ทำให้คนกลุ่มนี้ก็ย้ายไปเลือกพลังประชารัฐที่สนับสนุนอย่างชัดเจน 

อย่างไรก็ตาม ผ่านมาแปดปี พวกเขาเห็นสิ่งที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะเข้ามาบริหารบ้านเมือง ไม่ได้ดีอย่างที่คาดหวัง ทำให้เขาเริ่มคิดใหม่ ตรงนี้ไม่ใช่คำว่าตาสว่าง แต่เป็นเพียงการคิดถึงผู้นำคนใหม่ที่มีความอนุรักษนิยมในแบบของเขา 

แน่นอนว่าเขาต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาต้องรู้สึกสบายใจ มั่นคง ปลอดภัย ในจังหวะท่วงทำนองที่นุ่มนวล หากเปลี่ยนเร็วเกินไป คนกลุ่มนี้อาจจะรับไม่ได้ เขามีความกังวลที่จะต้องปรับตัวกับอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขายังยึดโยงอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณี ระบบชนชั้นวรรณะทางสังคม ความมีระบบระเบียบ ความสงบ แต่เชื่อว่าเขาคงเข็ดแล้วจากผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่มาจากฝั่งอนุรักษนิยมมีหลายฝักฝ่าย เป็นไปได้ไหมว่าเพราะเหตุนี้จึงทำให้ ‘เสียงแตก’ และพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้

ต้องกล่าวว่า กลุ่มอนุรักษนิยมก็มีการแตกออกเป็นฝักเป็นฝ่ายกันอยู่แล้ว ไม่ได้รวมกันเป็นก้อนเสมอไป กลุ่มที่สนับสนุนการรัฐประหารในปี 2549 ก็สนับสนุนคุณรสนา โตสิตระกูล สิ่งที่กลุ่มนี้พูดมาตลอดคือไม่เอาทุนสามานย์และการต่อสู้กับผีทักษิณ กลุ่มนี้มีคะแนนอยู่ราวๆ เจ็ดหมื่นเสียง ก็คือคะแนนที่มาเลือกคุณรสนา โตสิตระกูล 

กลุ่มที่สอง คือ กปปส. ที่สนับสนุนการรัฐประหาร 2557 กลุ่มที่สนับสนุนคุณสกลธี ภัททิยกุล กลุ่มนี้ก็จะมีแนวทางอีกแบบหนึ่ง คือมีความใกล้ชิดกับฝั่งทหารค่อนข้างมากกว่ากลุ่มก่อนหน้า 

ส่วนกลุ่มที่สาม คืออนุรักษนิยมพลังประชารัฐ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อ่อนแอที่สุดและมีความไม่มั่นคงมากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่มาจากฐานเสียงประชาธิปัตย์เดิม และมีแนวโน้มว่าการเลือกตั้งใหญ่ในครั้งหน้า โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ คงไปต่อไม่ได้และพรรคอาจพังลงในที่สุด 

ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มอนุรักษนิยมพรรคประชาธิปปัตย์ ซึ่งคิดว่าเป็นพลังที่ยังคงเหนียวแน่นที่สุด และเชื่อว่าจะกลับมาในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่คงไม่สามารถแผ่กิ่งก้านได้อย่างเต็มที่เหมือนในอดีต

หลายฝ่ายฟันธงว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ ที่เข้าเส้นชัยอันดับ 2 น่าจะเป็นคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ไม่ก็คุณอัศวิน ขวัญเมือง แต่ปรากฏว่ากลายเป็นคุณสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แทน มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร 

ต้องยอมรับว่าฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ ยังคงเหนียวแน่น โดยเฉพาะในพื้นที่เก่าอย่างเขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และเขตประเวศ หากมองคะแนน ส.ก.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังคงมาเป็นอันดับสาม

ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์นี้ก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่า คุณสุชัชวีร์ไม่สามารถเป็นแม่เหล็กดูดคะแนนให้ตัวเองได้ ดังนั้น ถึงแม้คุณสุชัชวีร์จะลงในนามอิสระก็อาจจะได้คะแนนเสียงน้อยกว่าที่อิงอยู่กับพรรคเสียอีก อาจกล่าวได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ฆ่าไม่ตาย ไม่ว่าจะกี่ปีก็ตาม

อีกเหตุผล คือพรรคพลังประชารัฐอ่อนแรงลงมาก ทำให้ฐานเสียงที่พรรคพลังประชารัฐยืมมาจากพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 ไม่กลับมาเลือกพวกเขาอีก และในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถทวงคืนพื้นที่ได้ แต่อาจจะไม่มากเหมือนในอดีต เพราะตัวแปรหลักที่เข้ามาแย่งฐานเสียงใน กทม. คือพรรคก้าวไกล ที่ได้คะแนนเสียงจาก ส.ก. ไปไม่น้อย ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะผู้สมัคร ส.ก. พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่ทำงานในช่วงโควิด-19

 ถ้าอนุรักษนิยมต้องการจะปรับตัวให้กลับมาเป็นที่นิยมชมชอบอีกครั้งในสนามการเลือกตั้งครั้งถัดไป พวกเขาควรต้องทำอย่างไร

ต้องปรับและควรจะปรับด้วย การปรับอย่างแรก คือการยึดมั่นในวิถีทางของประชาธิปไตย เคารพกติกาการเลือกตั้ง แล้วพวกเขาก็จะมีผู้สมัครแบบคุณชัชชาติ และการแข่งขันในสังคมประชาธิปไตยไทยก็จะสวยงาม 

ไม่ว่าคุณจะเป็นเสรีนิยมก้าวหน้า รัฐสวัสดิการ หรืออนุรักษนิยม แต่ทุกคนเล่นอยู่ภายใต้กติกาเดียวคือประชาธิปไตย แล้วสิ่งที่เป็นคุณค่าที่อนุรักษนิยมไทยใฝ่ฝันอยากรักษา หวงแหน รวมถึงอยากธำรงเอาไว้ ก็จะยังอยู่สืบต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องหันกลับมาเคารพเสียงของประชาชนและกติกาประชาธิปไตยเสียก่อน

ในช่วงเลือกตั้งก็มีหลายฝ่ายที่เชื่อว่า อย่างไรก็ตามการเมืองไม่มีทางเปลี่ยนแปลง และคุณชัชชาติไม่มีทางได้เป็นผู้ชนะในศึกผู้ว่าฯ กทม.

เสียงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเฉื่อยทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2557 ทำให้การเมืองหยุดนิ่ง หรือแย่กว่านั้นคือการถอยหลัง มันทำลายความหวังและสร้างทัศนคติที่ว่าการเมืองไทยไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ อยู่ภายใต้กรอบเดิมๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัยเกษียณ ซึ่งคนเหล่านี้เกิดและเติบโตมีประสบการณ์ที่วนเวียนอยู่กับการเมืองที่วนอยู่ในอ่างที่ไม่เคยสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้เลย เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งก็มีการรัฐประหาร และคนก็ยอมรับ

ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงเชื่อว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นการเมืองก็ไม่เปลี่ยนแปลง และมองไปด้วยว่าอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. น้อยนิด เป็นเพียงนายกเทศมนตรี และกฎหมายทั้งหลายไม่ได้ให้อำนาจเอาไว้ เลยมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ย้อนกลับไปการเลือกตั้งในปี 2562 คุณชัชชาติก็เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้คะแนนเสียงขนาดนี้ เกิดจากอะไร

เหตุผลข้อที่หนึ่ง คือในการเลือกตั้งปี 2562 ตัวรัฐธรรมนูญอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถเสนอแคนดิเดตได้สามชื่อ แน่นอนว่าแคนดิเดตมือหนึ่งคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ส่วนคุณชัชชาติเป็นเบอร์สอง และเบอร์สามคือ คุณชัยเกษม นิติสิริ ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นจริงๆ คนที่จะมานั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือคุณหญิงสุดารัตน์ 

การเสนอครบสามคนเช่นนี้ เป็นยุทธศาสตร์ที่พรรคเพื่อไทยดำเนินมาโดยตลอด และเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าคงเป็นเช่นเดิม ซึ่งการเสนอเช่นนี้จะเห็นว่า แคนดิเดตแต่ละคนกำลังดึงคะแนนเสียงจากกลุ่มต่างๆ ที่ต่างกัน อย่างคุณสุดารัตน์คือกลุ่มเพื่อไทยต่างจังหวัด คุณชัชชาติคือคนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม ส่วนคุณชัยเกษมก็ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็ต้องให้เกียรติท่านในการเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

เหตุผลข้อที่สอง คือในขณะนั้นคุณชัชชาติไม่ได้ลงพื้นที่ และที่สำคัญคือคนต่างจังหวัดยังไม่รู้จักคุณชัชชาติ ดังนั้น ในฐานะการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคเสนอ คุณชัชชาติจึงยังไม่ได้เป็นผู้สมัครที่มีแรงดึงดูดขนาดนั้น

ในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีคำกล่าวถึงการเลือกแบบยุทธศาสตร์ (Strategic Vote) มันคืออะไร แล้วใช้ได้ผลจริงไหม 

 ต้องอธิบายว่าการโหวตแบบยุทธศาสตร์คือการโหวตด้วยความกลัว กลัวว่าคนที่ชนะจะเป็นคนที่ไม่ถูกใจ จึงพร้อมที่จะเลือกอีกคนหนึ่งที่มีโอกาสมากกว่า แต่คะแนนที่คุณชัชชาติได้ในครั้งนี้ เป็นคะแนนที่สะท้อนมาจากความต้องการผู้บริหารกรุงเทพฯ ที่มีคุณสมบัติอย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นการลงคะแนนที่มาจากความหวัง ไม่ใช่ความกลัว แน่นอนว่าเป็นความหวังที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เป็นการโหวตด้วยความเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้จากการศึกษาข้อมูล และการลงพื้นที่เข้าทุกตรอกออกทุกซอย 

ดังนั้น คะแนนตรงนี้ไม่ใช่การเลือกแบบยุทธศาสตร์ เพราะเชื่อว่าเป็นการโหวตด้วยความหวังมากกว่าความกลัว

ความหวังที่เห็นตอนนี้ชัดเจนขนาดไหน

ต้องบอกว่าเห็นชัดมาก บอกได้เลยว่าทุกวันนี้ยังติดตามไลฟ์ผู้ว่าฯ กทม. ในการลงพื้นที่เพราะมีความสนุก ซึ่งไม่ได้สนุกที่ตัวคุณชัชชาติ แต่สนุกที่เกิดจากคอมเมนต์ในโลกออนไลน์ และปฏิกิริยาที่คุณชัชชาติมีกับทุกคนที่เจอ ล้วนเป็นพลังบวกที่แม้แต่เราก็สามารถซึมซับได้ อันนี้จึงเป็นการเมืองของความหวังที่เกิดขึ้นจริงๆ 

อาจกล่าวได้ว่า ถึงแม้ตอนนั้นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะยังไม่รับรองคุณชัชชาติ แต่สิ่งที่คุณชัชชาติได้ทำให้เห็นอย่างชัดเจน คือทำให้การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง และความคาดหวังที่มีต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมผลักเพดานของความหวังให้สูงขึ้น ถ้านักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง เขาจะตอบสนองคุณ เขาจะฟังคุณ เขาจะเอาปัญหาของคุณไปคิดต่อได้ ซึ่งคุณชัชชาติได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ของนักการเมือง และทำให้เห็นว่าสามารถทำได้ ซึ่งหลายฝ่ายอาจเคยมองว่าการเมืองแบบเดิมๆ ไม่สามารถเปลี่ยนได้

 ทำไมคุณจึงเชื่อว่าการเข้ามาของคุณชัชชาติ สามารถเปลี่ยนแปลง กทม. ได้

1. คุณชัชชาติเข้าใจปัญหาและรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นต้องทำอย่างไร ภายใต้อำนาจที่จำกัดของผู้ว่าฯ กทม. ดังนั้นประโยคที่คุณชัชชาติพูดมาโดยตลอดคือ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเป็นผู้คอยประสาน ติดต่อที่จะเจรจาจัดการในเรื่องต่างๆ รู้และเข้าใจขอบเขตงานของตัวเอง

2. บุคลิกของคุณชัชชาติเอง เป็นคนที่ไม่ชนกับใครเลย ใครถามอะไรมาแรงๆ เขาสามารถเปลี่ยนคำถามนั้นให้กลายเป็นคำตอบที่นุ่มนวล ซึ่งบ่งบอกคุณลักษณะที่มีความประนีประนอมและสามารถทำงานร่วมกันได้

3. คนกรุงเทพฯ เปลี่ยนแล้ว แต่เพียงรอผู้นำที่จะเปลี่ยนไป ซึ่งกลุ่มคนเก่าแก่อาจจะขยับไม่ทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เลยไม่เชื่อและต่อต้าน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งเริ่มแตกหน่อแต่ยังไม่ได้ลงรากลึกลงไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทัศนคติไม่สามารถเปลี่ยนแปลงจากการพลิกหน้ามือเป็นหลังมือได้ทันที

กทม. มีความเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ภายหลังจากที่ กกต. ยืนยันว่าคุณชัชชาติ คือผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด

1. คน กทม. เปลี่ยนตั้งแต่แรกแล้ว และต้องการผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง

2. ทำให้เห็นว่า แม้ในขณะที่ยังไม่ได้รับเข้าตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างปฏิสัมพันธ์ที่นักการเมืองมีต่อประชาชน ความเป็นกันเอง การเข้าถึงประชาชนแบบไม่ต้องใส่ชุดราชการ ไม่ต้องบอกล่วงหน้า สิ่งนี้คือการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว บรรทัดฐานแบบนี้ไม่ใช่เพียงแค่ผู้อำนวยการเขตใน กทม. ที่ต้องเปลี่ยน แต่ยังรวมไปถึงนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดอื่น เขาเห็นตัวอย่างและรับรู้ถึงสิ่งที่ประชาชนตอบรับ

3. หากมีการเลือกตั้งครั้งหน้า เชื่อว่านักการเมืองทั้งหลายจะใช้โมเดลของคุณชัชชาติ เพราะว่าสังคมกับประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว คนที่เคยเป็นอนุรักษนิยม ที่เคยเชียร์รัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ที่เคยเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ หรือ กปปส. อย่างน้อยสามแสนคนกลับมาเลือกคุณชัชชาติ แสดงว่าคนกลุ่มนี้ทดลองแล้ว เคยให้โอกาสนักการเมืองที่มาจากรัฐประหารเข้ามาคืนความสุข พบแล้วว่าไม่สำเร็จ เขาจึงอยากเปลี่ยนและให้โอกาสนักการเมืองที่มาจากการชูธงประชาธิปไตย มีการศึกษาลงพื้นที่ ได้โอกาสในการทำงาน

กล่าวได้ว่า สิ่งที่เรารอต่อจากนี้เมื่อคุณชัชชาติทำงาน กทม. จะเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่ ส่วนนโยบายจะเห็นได้ว่าการเสนอนโยบายที่สามารถทำได้ก็จะเป็นตัวอย่างของนักการเมืองในอนาคต เช่น เขตบางขุนเทียนเริ่มมีการแจกผ้าอนามัย เขตอื่นก็เริ่มเปลี่ยนตามมาเรื่อยๆ

อาจสรุปได้ว่า เป็นการเปลี่ยนความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อนักการเมือง และเป็นการจุดประกายว่า หากเลือกนักการเมืองดีๆ ย่อมสามารถพัฒนาการเมืองและสังคมได้

เป็นเวลากว่าเก้าปีที่ประชาชนไม่มีโอกาสเลือกผู้ว่าฯ กทม. หลายเสียงบอกว่า อาจจะเป็นเพราะ New Voter และกระแสในโซเชียลมีเดีย ที่มีส่วนทำให้คุณชัชชาติได้คะแนนอย่างท่วมท้น

เราคิดว่าทุกเจเนอเรชันโหวตให้คุณชัชชาติ ทุกกลุ่มทุกอาชีพ ทุกช่วงวัย และทุกเขต แต่กลุ่มที่เป็น New Voter จริงๆ มีประมาณหกแสนเก้าหมื่นคน ซึ่งครั้งนี้ไม่มีโพลคะแนนที่ชัดเจน ทำให้ไม่รู้ชัดว่ากลุ่มไหนที่ออกมาเลือกตั้งเท่าไรบ้าง แต่สิ่งที่เห็นคือประชาชนออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้น้อยกว่าปี 2556 ที่ได้ผู้ว่าฯ คือ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร 

ดังนั้น คำถามสำคัญคือใครกลุ่มไหนที่ไม่ได้ออกมาเลือก ส่วนตัวเราอาจมองว่าน่าจะเป็นกลุ่ม New Voter เองที่ไม่ได้มาเลือก ซึ่งทั้งหมดก็กระจายๆ กันไป เพราะตัวแปรหลักครั้งนี้ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และนอกประเทศก็ไม่สามารถเลือกได้ ทำให้คะแนนส่วนหนึ่งหายไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองโดยรวมพบว่าเสียงตอบรับของกลุ่ม New Voter ซึ่งเป็น Gen-Z และ Gen-Y ต่อคุณชัชชาติดีมาก หากเปรียบกับผู้สมัครคนอื่นๆ ซึ่งส่วนมากเป็น Gen-X ขึ้นไป ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกมักไม่เลือกคนสูงอายุแน่ๆ 

ดังนั้น การโหวตครั้งนี้จึงเป็นการโหวตเพื่อความเปลี่ยนแปลง และดูคุณชัชชาติก็มีการสื่อสารทางการเมืองได้ตรงใจกับความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ ยกกรณีที่คุณรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ถามคุณชัชชาติว่ามีมุมมองอย่างไรถึงการแก้ไขกฎหมาย 112 ปรากฏว่าคุณชัชชาติก็สามารถตอบได้ดี ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก

อีกพรรคการเมืองหนึ่งที่โดดเด่น และหลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นความหวังเหมือนกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือพรรคก้าวไกล ทำไมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คราวนี้ถึงยังไม่ประสบความสำเร็จ

หากย้อนไปดูพรรคอนาคตใหม่ สิ่งที่เขาทำมาตลอดคือการไปตีเรื่องเชิงโครงสร้าง แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมต้องใช้เวลา และคนยังไม่เห็นภาพว่าจะทำได้จริงหรือไม่ ขณะเดียวกัน พรรคอนาคตใหม่มาพร้อมกับการโดนข้อครหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นงูเห่า หรือแม้แต่การที่อดีตหัวหน้าพรรคอย่างคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดนร้องเรียนตรวจสอบในคดีเรื่องการครอบครองสื่อ ยิ่งไปตอกย้ำกลุ่มอนุรักษนิยมว่าจะใช้สื่อในการชิงความได้เปรียบในการสื่อสาร จนมาถึงคุณวิโรจน์ ก็ตีและย้ำเรื่องโครงสร้างและความเท่าเทียม กลายเป็นภาพจำที่ไม่ต่างกัน แต่กลับกัน คุณชัชชาติไม่มีอะไรเลย มีเพียงความหวังที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพร้อมกับเป็นมือประสานมากกว่า

อีกกระแสหนึ่ง คือกระแสความไม่พอใจในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่รับรองคุณชัชชาติช้า และยังมีความผิดปกติหลายเรื่องจากการจัดการเลือกตั้ง ตั้งแต่เรื่องสีหมึกปากกา ไปจนถึงเรื่องเลขไทย คิดว่า กกต. จะต้องเรียนรู้อะไรบ้างจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้

1. กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เริ่มจากการเลือกตั้งปี 2562 ก่อน ที่ช่วงสุดท้าย กกต. มีการไม่ประกาศคะแนนยี่สิบเปอร์เซ็นต์สุดท้าย ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไร ทำให้คืนนั้นคนไม่รู้ผลการเลือกตั้ง ซึ่งในความเป็นจริงควรรู้คืนนั้นเลย เมื่อคะแนนออกมาทั้งหมดปรากฏว่าไม่เท่ากับที่ชี้แจงไว้ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เกิดความสงสัยและนำไปสู่การจินตนาการที่ไม่อาจคิดได้ ซึ่งเกิดผลเสียกับ กกต. เอง จึงเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด 

2. การจัดเลือกตั้ง ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจง่าย กกต. มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยง่ายสำหรับประชาชน เพื่อให้สามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนมากที่สุด ดังนั้น บัตรเลือกตั้งควรมีชื่อผู้สมัครหรือนักการเมืองที่ชัดเจน ต่อมาคือเรื่องบัตรเสียที่มาจากสีปากกา อันนี้เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจตั้งแต่แรก อธิบายเลยว่าที่ให้ใช้ปากกาสีน้ำเงินเท่านั้น เพราะบางทีหัวคะแนนเขาให้ปากกาต่างสีมา และเขาสามารถดูและนับได้ว่าลงไปเท่าไรแล้ว ดังนั้น ต้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าเพราะอะไร แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่า กกต. ต้องไว้วางใจประชาชนมากกว่านี้ เขาจะหยิบปากกาสีอะไรมาก็ควรถือเป็นบัตรดี

3. การรับรองผลเลือกตั้งควรทำโดยเร็ว ตามกฎหมายบอกว่าให้เป็นไปตามสุจริตเที่ยงธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย หน้าที่ของ กกต. ต้องมีการตรวจสอบคะแนนให้ถูกต้อง นับคะแนนไม่ผิด และมีการประกาศผลอย่างเร็วที่สุด ถึงแม้กฎหมายการเลือกตั้ง กทม. ให้เวลาสามสิบวัน ส่วนเลือกตั้งท้องถิ่นหกสิบวัน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เต็มพิกัดขนาดนี้ เช่น กรณีของคุณสุรชาติ เทียนทอง กกต. ใช้เวลาตรวจสอบถึงห้าสิบเจ็ดวัน และไม่มีคำอธิบาย ถ้า กกต. ทำเช่นนี้คือจะเกิดสุญญากาศทางการเมือง ประชาชนจะเกิดความกังวลว่าคะแนนตัวเองจะถูกอุ้ม และจะนำมาสู่การตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของ กกต. เองด้วย

4. ทำไมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ ถึงไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกอาณาเขต ทั้งที่ในความเป็นจริงสามารถทำได้ ไม่ได้ผิดกฎอะไร ทั้งที่การทำให้เสียงทุกเสียงของประชาชนสะท้อนเจตนารมณ์ คือหน้าที่ของ กกต.

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ สะท้อนการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร

แน่นอนว่าตอนนี้หลายพรรคยังไม่เข้ารูปเข้ารอย อาจจะบอกอะไรยาก เพราะการเลือกตั้งใหญ่คงต้องลงไปดูรายละเอียดกันในแต่ละจังหวัด แต่สิ่งที่การเลือกตั้ง กทม. พอบอกได้ คือกลุ่มที่เป็นฝั่งฝ่ายค้านในปัจจุบันที่ยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตยกำลังสะสมพลังที่แข็งแกร่งขึ้น 

ในขณะที่ ฝั่งรัฐบาลทั้งพันธมิตรและพรรคร่วมรัฐบาลกำลังอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด ผลเลือกตั้งของกรุงเทพฯ ย่อมสะท้อนถึงพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้น คนที่จะลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐครั้งหน้าอาจจะต้องคิดหนักว่าพลังประชารัฐจะยังคงรอดอยู่ไหม และยังเป็นพรรคที่เป็นตัวแสดงหลักเหมือนที่เคยเป็นอย่างในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ 

ต่อมา คือพรรคขนาดเล็กหรือพรรคที่สร้างใหม่จะอยู่ยากขึ้น มองจากพรรคไทยสร้างไทยที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ คุมบังเหียน ในเขตตัวเองยังได้เพียงสิบเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น พรรคใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นมาแต่ต้องเล่นในเกมที่มีผู้ชนะได้เพียงคนเดียวแบบนี้ ไม่ได้สะสมแต้ม คงต้องทบทวนยุทธศาสตร์อย่างมาก ว่าจะให้บ้านใหญ่รวมกันหรือต่างคนต่างตี แล้วจะเจอปัญหาเดียวกันกับสี่ลำธารอนุรักษนิยมในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ผ่านมา ตรงนี้จะเป็นบทเรียนให้กับพรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่ 

ดังนั้น พรรคเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะกลับไปรวมกับพรรคที่มีอยู่แล้วมากกว่า และภูมิทัศน์การเมืองจะเปลี่ยนไปจากการเลือกตั้ง 2562 ที่มีถึงยี่สิบพรรคการเมือง คาดคะเนว่าจะลดลงเหลือประมาณสิบเอ็ดพรรคการเมือง

ความหวังที่หลายคนเห็นจากตัวคุณชัชชาติในฐานะผู้ว่าฯ กทม. กำลังสะท้อนไปยังกลุ่มผู้นำประเทศในปัจจุบันบ้างไหม 

ด้านหนึ่งสังคมกำลังเห็นความหวัง แต่สำหรับชนชั้นนำเขากำลังเห็นความกลัว มันไปจุดประกายความกลัว ยิ่งเมื่อคุณชัชชาติทำคะแนนได้ดีแค่ไหน ยิ่งลงพื้นที่ก็ยิ่งไปสะกิดต่อมความกลัวที่อยู่ในใจลึกๆ ของฝั่งอนุรักษนิยม นั่นหมายความว่าเมื่อก่อนกลุ่มอนุรักษนิยมมักจะด้อยค่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมาตลอด ด้วยเหตุผลว่าการเลือกตั้งเสียงข้างมากไม่ได้มีคุณภาพแต่เป็นพวกมากลากไป ต่อมาคือนักการเมืองต่างเข้ามาเพื่อคอร์รัปชัน ใช้ระบบอุปถัมภ์และเส้นสายมาตลอด แต่สิ่งที่คุณชัชชาติทำ คือกำลังทำให้มายาคติเหล่านั้นกลายเป็นเพียงลมปาก และเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่มีความหมายอีกต่อไป รวมถึงลบภาพจำของนักการเมืองคนอื่นๆ ที่ผ่านมา

การชนะแบบแลนด์สไลด์ผสมกับการตอบรับของคนที่เข้าแถวรอถ่ายรูป ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ปฏิสัมพันธ์ที่คุณชัชชาติมี ชวนให้ คสช. ที่อยู่มาหลายปี — หากเขาใส่ใจกับประชาชน คงต้องเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า การเมืองสามารถทำเช่นนี้ได้ ไม่ต้องหงุดหงิดใส่ประชาชน ไม่ต้องฉุนเฉียว ก็ชนะใจประชาชนได้ และที่สำคัญยังทำให้เห็นว่าแม้อำนาจของผู้ว่าฯ จะเล็กนิดเดียว แต่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมหาศาล

มองการอยู่ในอำนาจต่อไปของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไร

ตามกฎหมายคงอยู่ถึงเดือนสิงหาคมนี้ แต่ถ้าอนุรักษนิยมไม่มีตัวเลือกและไม่มีตัวแทนก็พร้อมจะอยู่ต่อ แต่การเลือกทางลงที่ดีก็เป็นสิ่งที่ควรทำ หากพลเอกประยุทธ์คิดจะทำ แต่หากคิดจะอยู่ในการเมืองต่อคงเป็นเรื่องที่ลำบาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพรรคหรือคนสนับสนุนเองก็ตาม

Fact Box

  • ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเปรียบเทียบ พรรคการเมือง และระบบการเลือกตั้ง
  • ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) คนที่ 17 หลังชนะการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
Tags: , , ,