พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ตัดสินใจก้าวเข้ามาในแวดวงการเมืองครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน โดยเข้ารับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง แม้จะพ่ายแพ้ให้กับหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 3 ต่อจากพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรค และอันดับที่ 1 จากผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคอีก 23 คน

ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 เขาเป็นหนึ่งในนักการเมืองกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลอย่างเปิดเผยผ่านสื่อมวลชน จนได้รับหมายเรียกและถูกแจ้งความในข้อหากระทำการที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ 

จนกระทั่งการเลือกตั้งปี 2562 เสรีพิศุทธ์ก็ได้รับชัยชนะทางการเมืองขนาดย่อม คือสามารถนำทีมผู้สมัคร ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย เข้าปฏิบัติหน้าที่ในสภาฯ ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านได้จำนวน 11 ที่นั่ง โดยได้รับคะแนนทั้งสิ้น 826,754 เสียง นับเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 6 รองจากพรรคภูมิใจไทย

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พรรคเสรีรวมไทยสะท้อนบทบาทการทำงานอย่างชัดเจนว่าเอาจริงเอาจังขนาดไหน ซึ่งความนิยมของพรรคนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากความชื่นชอบในบุคลิกใจกล้า ห้าวห่าม ตรงไปตรงมา รวมถึงข้อวิจารณ์การก่อรัฐประหารอันเผ็ดร้อนของ ‘ป๊าเสรี’

The Momentum ถือโอกาสกลับมาพูดคุยกับพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์อีกครั้ง ถึงความเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปได้ ความท้าทาย และความหวังของคนชื่อเสรีพิศุทธ์ และพรรคชื่อเสรีรวมไทยในการที่จะเปลี่ยนประเทศผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้

ความแตกต่างระหว่างบทบาทผู้นำในฐานะ ‘ผู้รักษากฎหมาย’ กับ ‘ผู้แทนราษฎร’ คืออะไร

แตกต่างกันมาก บทบาทของผู้บัญชาการตำรวจ คือผู้บริหารสูงสุดขององค์กรตำรวจ เรื่องการผิดระเบียบวินัย การทุจริต หรือการปฏิบัติตนไม่ดีงาม เหล่านี้ย่อมมีในทุกองค์กร แต่เมื่อมันมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดครอบไว้ ข้าราชการส่วนใหญ่จึงมักอยู่ในระเบียบและเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

ตัวอย่างเช่นการประชุม หากเป็นการประชุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์ประชุมต้องพร้อม เจ้าหน้าที่ต้องพร้อม จึงจะเชิญประธานลงมาแล้วเริ่มประชุมได้ ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็อย่างที่เราเห็นแม้แต่คุณชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ยังต้องรอ ส.ส.ให้มาครบองค์ประชุม ไม่ครบก็ไม่สามารถเปิดประชุมได้

ขณะเดียวกัน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีสถานะเหมือนฐานสภาเล็ก ผมต้องเชิญผู้ที่ต้องการร้องเรียน หรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเข้ามาชี้แจงเรื่องราว จะให้เขาเข้ามาโดยที่องค์ประชุมไม่พร้อมย่อมไม่ได้จะอายเขา จึงต้องมีการโทรติดตามเร่งรัดท่านกรรมาธิการทั้งหลายให้มาประชุม แต่ส่วนมากก็ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ขาดความรับผิดชอบ ทำให้กว่าจะประชุมได้แต่ละครั้งนั้นยากเย็น

สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะถึงจะเข้าประชุมสาย หรือขาดประชุมก็ไม่ได้รับโทษอะไร ต่างจากข้าราชการ บางครั้งมีการต่อรองขอเซ็นชื่อไว้ก่อน มาถึงที่ประชุมได้หนึ่งนาที เซ็นชื่อรับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,500 บาท แล้วก็ไป ทั้งที่เงินส่วนนี้เป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชนทั้งนั้น แต่คนพวกนี้มันหน้าไม่อาย ทำอยู่อย่างนี้เป็นกิจวัตร

กรรมาธิการอื่นที่ไม่ใส่ใจแล้วปล่อยเละเทะก็มี แต่ด้วยผมเคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาก่อน จึงไม่ยอมปล่อยผ่านโดยง่าย มีการดำเนินคดีไปบ้าง แต่ด้วยอำนาจ แม้จะเป็นประธานกรรมาธิการ เราก็ไปทำอะไรเขาไม่ได้มาก

ตอนที่คุณประยุทธ์ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ถวายสัตย์ไม่ครบ ผมดำเนินการให้มีคำสั่งเรียกเข้ามาชี้แจงตามขั้นตอนแล้ว แต่เขาก็หน้าด้าน ไม่ยอมมา ตามกฎหมายควรถูกดำเนินคดี ถูกปรับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาก็ไปแก้กฎหมายนี้แทน แล้วส่งคุณสิระ (สิระ เจนจาคะ) บ้าง คุณปารีณา (ปารีณา ไกรคุปต์) บ้าง ให้เข้ามาป่วนการประชุม

ลองพิจารณาแต่ละสิ่งที่คนพวกนี้ทำ หากเป็นตำรวจ คนพวกนี้ไม่มีทางรอด ไม่ถูกลงโทษก็ถูกไล่ออก แต่เพราะเป็นนักการเมือง นอกจากผมจะทำอะไรไม่ได้ ยังโดนดูถูกว่า “ท่านเพิ่งจะได้เป็น ส.ส.สมัยแรกนะ ส่วนฉันเป็นมา 3 สมัย 4 สมัยแล้ว” ไม่พอใจอะไรก็ลุกจากที่ประชุม ไปโผล่ที่งานแถลงข่าวบ้าง ไปอยู่กับม็อบบ้าง ทั้งที่งานในที่ประชุมมันมี แต่กลับไม่ยอมช่วยกันคิดช่วยกันทำ

ฉะนั้น หากถามว่าข้าราชการกับนักการเมืองแตกต่างกันอย่างไร ใครดีเลวกว่ากัน ผมตอบได้ทันทีเลยว่าข้าราชการดีกว่าเยอะ

หมายความว่าหากเทียบกัน นักการเมืองมีความเคารพยำเกรงในกฎกติกาน้อยกว่าตำรวจ?

ใช่ ที่เห็นตามข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจซื้อขายตำแหน่งกัน ความจริงมันน้อยมาก ถ้าลองไปถามตำรวจรุ่นผม เขาก็จะตอบเหมือนกันว่าสมัยเราไม่มีให้เห็นเลย หากว่ากันตามจริง การซื้อขายตำแหน่ง มันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากภายในองค์กรตำรวจ แต่เกิดขึ้นจากนักการเมืองที่ติดต่อเข้ามาขอซื้อขายตำแหน่งผ่านทางนายกฯ จากนั้นจึงมีคำสั่งมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ก็ดูเอาเถอะว่าคนพวกนี้ ขนาดตำแหน่งผู้แทนยังต้องไปซื้อเอาจากประชาชน 500 บาทบ้าง 1,000 บาทบ้าง เดี๋ยวนี้ลามหนักไปถึงขั้นซื้อ ส.ส.ที่สนใจเข้ามาอยู่สังกัด ก็เพราะกูอยากจะเป็นนายกฯ ถ้าเอานาย ก. นาย ข. ที่คนยังไม่รู้จักลงสมัครมันไม่ได้ผล ก็ซื้อตัว ส.ส.จากพรรคนู้นพรรคนี้มาเสียเลย เสรีรวมไทยก็โดนซื้อไปเหมือนกัน

นี่แหละคือความระยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกกฎหมายต่างๆ ในปัจจุบันเห็นได้ชัดเลยว่าไม่มีใครเห็นผิดชอบชั่วดีอะไร เห็นแค่ผลประโยชน์เท่านั้น ใครจ่ายกูยกมือสนับสนุน ใครไม่จ่ายก็ตีตก ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์พี่น้องประชาชนหรอก เดิมทีสภาเขามีไว้ใช้ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน แต่กว่ากฎหมายจะผ่านได้แต่ละฉบับนี่ยากเหลือเกิน แต่พวกเรื่องไม่เป็นเรื่องมักผ่านเร็วนัก

อย่างกฎเกณฑ์ในเลือกตั้งครั้งนี้ เปลี่ยนจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ แถม ส.ส.กับพรรคยังต้องใช้หมายเลขคนละเบอร์กันอีก ทำให้ทุกอย่างมันยุ่งยากสำหรับประชาชนไม่พอ สุดท้ายพิมพ์บัตรไม่ได้ ต้องพิมพ์มาแบบง่ายๆ ซึ่งหมายถึงโกงได้ง่ายด้วย มีแต่ช่องว่างให้กรอกกับหมายเลข ใครที่ไม่รู้ว่าหมายเลข 1 คือใคร หมายเลข 2 คือใคร ก็ต้องจำไปจากบ้าน

หากย้อนมองผลงานของเสรีรวมไทยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คุณจะประเมินว่าอย่างไรบ้าง

ผลงานของพรรคเสรีรวมไทยที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่ทำได้เท่านั้นแต่ยังทำได้เกินกว่าที่คาดคิดเอาไว้ด้วย เนื่องจากเป็นพรรคเล็ก เราจึงไม่สามารถที่จะเลือกได้หรอกว่าจะเอาประธานนู้นประธานนี้ แต่พรรคใหญ่ๆ ก็เห็นว่าตำแหน่งนี้เหมาะสมกับผม เลยมอบตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช. ให้

ตลอด 4 ปี เราแก้ไขปัญหาได้มากมาย เทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพคือในขณะที่เราประชุมทั้งหมด 252 ครั้ง คณะกรรมาธิการอื่นๆ กลับจัดประชุมกันไม่ถึง 60 ครั้งด้วยซ้ำ ดีแต่ผลาญเงินไปต่างประเทศ 

กกต.คือตัวอย่างหนึ่งของหน่วยงานที่จัดให้มีการเดินทางไปดูงานต่างประเทศบ่อยๆ ผมสงสัยเหลือเกินว่าไปทำไมนักหนา โง่นักหรือคิดเองไม่เป็นถึงต้องไปดูงานซ้ำซาก งบประมาณจากภาษีของพี่น้องประชาชน แทนที่จะแบ่งสรรลงไปใช้ในการดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ก็ไม่ได้ลงไปหรอก ไอ้พวกนี้ผลาญหมด ผลาญไปเที่ยวต่างประเทศบ้าง ผลาญซื้ออาวุธบ้าง

การที่คนที่เข้ามาทำงานตรงนี้ไม่รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเองนี่มันคือปัญหาระดับชาติ ผมใช้ชีวิตเป็นคนทำงานมาตลอด 40 ปี เมื่อได้ตำแหน่งประธานกรรมาธิการมาแล้ว โดยธรรมชาติเรารู้หน้าที่ของเรา ในขณะที่บางคนเป็น ส.ส.มานาน ชนะเลือกตั้งมากี่ครั้งก็ไม่เคยทำงานเลย เลือกตั้งได้สมัยเดียวได้เป็นประธานเลยก็มี

ฉะนั้น เราต้องตรวจสอบและตำหนิพรรคการเมืองทุกพรรค ในกระบวนการเลือกคนมานั่งตำแหน่งประธานกรรมาธิการ พวกที่ถูกส่งมาทำงานใน ป.ป.ช.ด้วยกันกับผม หลายคนไม่รู้กฎหมายสักข้อ มานั่งมึนๆ อยู่สักพักแล้วก็พูดว่า “กูไปดีกว่า”

เพราะพรรคการเมืองพวกนี้ เขาไม่คิดจะส่งคนมาตามความรู้ความสามารถ และไม่สนใจที่จะบริหารทรัพยากรบุคคลให้ดี เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่เน้นแบ่งปันโควตา ทดแทนบุญคุณเท่านั้น ถ้ายังติดอยู่ในระบบการทำงานแบบนี้ ประเทศไม่มีวันเจริญหรอกเชื่อผมสิ

จุดยืนของพรรคเสรีรวมไทยอยู่ตรงไหนบนสเปกตรัมทางการเมือง

ผมไม่อนุรักษนิยม ไม่เสรีนิยมอะไร ผมยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตัวแทนของตน ในการเลือกผู้นำของตน ฉะนั้น หากเข้ามาโดยมิชอบ ไปยึดอำนาจมา ผมก็ไม่เอาด้วย ที่ผ่านมามีการพยายามที่จะให้ผมไปอยู่ด้วย แลกกับตำแหน่งบ้าง เงินบ้าง ผมก็ไม่เอา

จะให้ไปอยู่ด้วยได้อย่างไร พวกนี้มันโจรปล้นอำนาจประชาชน ปล้นอำนาจคนเก่าเขามา แล้วเราจะไปผสมโรงกับพวกโจรได้อย่างไร ถ้าเราไปผสมโรงกับพวกโจรก็ถือว่าเรายอมรับโจร ยอมรับการปล้นอำนาจสิ ทั้งที่การยึดอำนาจมันผิดกฎหมาย

เพราะฉะนั้น พรรคที่ยอมรับสิ่งเหล่านี้คือพรรคระยำ ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวกันทั้งนั้น ถามว่าคิดเป็นไหม คิดเป็น แต่คิดเอาประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก อย่าไปหลงเชื่อคนพวกนี้ เชื่อเสรีรวมไทยนี่แหละ ตรงไปตรงมา

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าในมุมมองของคุณ ‘พลเอกประวิตร’ ไม่มีส่วนในการสืบทอดรัฐบาลทหาร มีเหตุผลอะไรที่ทำให้คิดเช่นนั้น

เราต้องพิจารณาถึงความเป็นจริงว่า คุณประวิตรมีส่วนในการก่อรัฐประหารหรือไม่ เราต้องมาดูสิว่าคนยึดอำนาจคือใคร แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมด ตัวการคือคุณประยุทธ์ ส่วนคุณประวิตร (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เกษียณไปนานแล้ว คุณอนุพงษ์ (พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา) เองก็เกษียณไปนานแล้วเช่นกัน ทั้งคู่ไม่มีกำลังพลหรืออาวุธอยู่ในมือเลย จะไปยึดอำนาจอะไร ไม่มีทางทำได้

วันที่ยึดอำนาจ คุณประยุทธ์มีผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมานั่งเคียงข้าง ไอ้พวกนี้ถือว่าอาจมีส่วนร่วมยึดอำนาจนะ แต่ประวิตรไปอยู่ไหน อนุพงษ์ไปอยู่ไหน ไม่มีใครไม่รู้ ผมถึงคิดเห็นว่าประวิตรท่านคงไม่ได้ร่วมด้วย

ส่วนประยุทธ์ พอยึดอำนาจสำเร็จก็คิดว่ากูจะเป็นนายกฯ เอง ต่างจากพี่สนธิ บุญรัตกลินเมื่อปี 2549 ที่ยึดอำนาจเสร็จแล้วเชิญท่านสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งขณะนั้นนั่งตำแหน่งองคมนตรีมาเป็นนายกฯ 

ส่วนประยุทธ์ พอต้องการขึ้นเป็นนายกฯ ก็นึกถึงรุ่นพี่ พี่ประวิตร พี่อนุพงษ์ที่เคยเลี้ยงดู เคยดูแลมาก่อน จึงไปขอให้เข้ามาช่วยงานตัวเองที่เป็นน้องหน่อย ช่วยเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย เป็นรองนายกฯ เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ประวิตรและอนุพงษ์จึงก้าวเข้ามามีบทบาท แต่แค่มาช่วยงานเท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวหลักที่คิดริเริ่มยึดอำนาจ

แสดงว่ามีความเป็นไปได้ที่เสรีรวมไทยจะจับมือพลังประชารัฐ?

เรารู้ว่าเราเป็นพรรคเล็ก ไม่มีอำนาจไปจัดตั้งรัฐบาล หรือเลือกจับมือพรรคการเมืองไหนได้ พรรคไหนได้คะแนนเสียงมากที่สุด หากได้จำนวน ส.ส.มากพอ เขาจะจัดตั้งรัฐบาลกันเองก็ได้ ไม่ต้องเชิญใครมาร่วมหรอก แต่ถ้าเกิดเขามีไม่พอ ขาดนิดหน่อย หรือต้องการให้จำนวน ส.ส.เกินไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย แล้วต้องเชิญคุณประวิตร เราก็จะจำเป็นต้องร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ

นี่คือข้อเท็จจริง คนที่วิจารณ์ต้องต้องวิเคราะห์ให้เป็น ต้องรู้ข้อเท็จจริง หากพรรคใหญ่ไม่เชิญ เราก็ไม่เห็นต้องร่วม แต่หากเขาจะร่วม แล้วเรายืนกรานไม่เอาคุณประวิตร ถึงตอนนั้นจะให้ผมทำอย่างไร ให้ผมร่วมฝ่ายค้านกับคุณประยุทธ์หรือ

หลายคนมองว่าเสรีรวมไทยไม่ใช่พรรคตัวแทนของ ‘คนรุ่นใหม่’ คุณคิดเห็นอย่างไร

เรื่องคนรุ่นใหม่-คนรุ่นเก่า ความจริงอยากให้เข้าใจกันให้ชัดเจน คนรุ่นเก่าทำงานมา 40-50 ปี คนรุ่นใหม่จะมาสู้ได้อย่างไร คนรุ่นใหม่ก็แค่อ่านตำราจบแล้วเป็นคนรุ่นใหม่ ยังไม่เคยทำผลงาน ยังไม่ทำอะไรให้ประเทศชาติเลย แล้วผมทำให้ประเทศชาติมาขนาดนี้ เป็นคนรุ่นเก่าแล้วหรือ เป็นคนไม่มีความรู้ความสามารถ สู้คนรุ่นใหม่ไม่ได้หรือ

อย่างผมเกษียณมา 15 ปี ย้อนมองตัวเองตอนเป็น ผบ.ตร. อายุประมาณ 59 ปี ก็รู้สึกว่าตอนนี้ผมฉลาดกว่าเยอะเลย เพราะเวลาผ่านมาตั้ง 15 ปี มันจะไม่ฉลาดกว่าเดิมได้อย่างไร

ถ้าผมเป็นคนป่วย ร่างกายไม่แข็งแรง เป็นอัลไซเมอร์ อายุมากไปก็ไม่มีประโยชน์หรอก แต่ถ้าร่างกายผมพร้อมทุกอย่าง ทำไมอายุที่มากขึ้นจะไม่มีประโยชน์ล่ะ ความรู้และประสบการณ์ย่อมเหนือกว่าพวกเด็กรุ่นหลังอยู่แล้ว เด็กรุ่นหลังยังไม่เคยทำอะไรเลย ประสบการณ์ก็ไม่มี ผลงานก็ยังไม่มี

หากเป็นต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว เขาดูที่โปรไฟล์เป็นหลักว่ามีผลงานอะไรบ้าง และจะยอมรับคนที่ผลงาน ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ต้องเหนือกว่าคนรุ่นเก่า อยากให้เปลี่ยนทัศนคติเหล่านี้

แต่ถ้าเป็นพวกคนรุ่นเก่าที่ถ่วงความเจริญของชาติ จะคิดจะทำอะไรขอให้ตัวเองได้ประโยชน์ไว้ก่อน ไอ้คนรุ่นเก่าแบบนี้แน่นอนว่าไม่ควรเอามันไว้ แต่หลายคนกลับไปยอมรับ ว่าเก่ง เชี่ยวชาญ ผมได้ยินก็ได้แต่คิดว่า ไอ้บ้า ไปยอมรับมันแบบนั้นได้อย่างไร คนแบบนี้สมควรถูกเอาไปประหารเสียด้วยซ้ำ ข้อหาทำให้ประเทศชาติล่มจม

อย่างรัฐธรรมมนูญที่กำหนดให้ ส.ว.เลือกนายกได้นี่ก็ตัวอย่างหนึ่ง ยังไม่ทันเริ่ม พวกนี้ก็ได้ไปแล้ว 250 เสียง เลือกตั้งครั้งนี้ก็ต้องเป็นไปตามนี้อยู่ เขียนมาได้อย่างไรรัฐธรรมนูญแบบนี้

ในมุมมองของคุณเสรีพิศุทธ์ เราควรจัดการและแก้ไขปัญหา ‘ม็อบ’ อย่างไร

ก็อยู่ที่ว่าเป็นม็อบอะไร ม็อบแบบไหน เพราะม็อบมันเยอะ มีหลายม็อบ ถ้าเป็นม็อบเกษตรกร มาด้วยเรื่องข้าวถูก ยางถูก มันถูก อ้อยถูก พวกนี้เกิดจากความเดือดร้อน เขาจึงต้องมาบอกมากล่าวกับรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ แล้วรัฐบาลไม่ควรต้องรอให้เขามาบอกกล่าวด้วยซ้ำ ควรจะรู้ แล้วแก้ไขปัญหาได้เอง

แต่อย่างกรณีการชุมนุมอื่นๆ เช่น ม็อบที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 นี่เป็นคนละอย่างกันนะ มันไม่ใช่แค่เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนแล้ว แต่เป็นเรื่องของความคิด คิดว่าอย่างนี้ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ต้องแก้ไข แต่ความคิดของเรามันถูกต้องหรือเปล่า รอบรู้หรือเปล่า

พรรคเสรีรวมไทยมองมาตรา 112 เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขไหม

ต้องแก้ ตอบในฐานะที่ผมเป็นทั้งผู้รับใช้กฎหมายนี้ และผู้ถูกฟ้องดำเนินคดีด้วยกฎหมายนี้ ผมโดนมาหมดแล้ว ฉะนั้น ผมรู้จักมาตรานี้ดีกว่าพวกที่มาเย้วๆ กันในม็อบแน่นอน

ประเด็นเรื่องไปม็อบแล้วโดนควบคุมตัว จนสุดท้ายไม่ให้ประกันตัว ตามหลักศาลก็ควรต้องให้ประกัน แต่ที่ความผิดมันหนักจนประกันตัวไม่ได้ จริงๆ แล้วเป็นเพราะกฎหมายถูกเขียนให้เอาความผิดไปรวมกันในมาตราเดียว ทั้งดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย พอมีคำว่า ‘อาฆาตมาดร้าย’ ข้อหานี้มันก็เลยหนักจนศาลให้ประกันไม่ได้

เราต้องแก้ให้ถูกจุดด้วยการแยกเอาข้อหาอาฆาตมาดร้ายที่มีความรุนแรงต่างกันออกมา เหลือแค่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท จากโทษหนักก็จะเป็นเบา เหลือโทษไม่เกิน 3 ปี ศาลก็จะให้ประกันง่าย

แต่ทุกวันนี้ ฝ่ายหนึ่งก็จะสร้างภาพเอาเจ้าอย่างเดียว พูดอย่างไรก็ไม่แก้ ประชาชนเดือดร้อน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่ากูจะแก้ให้หมดเลย เจ้าก็เดือดร้อนอีก เรายังมีกฎหมายคุ้มกันไม่ให้ใครหมิ่นเราได้ แต่จะให้เจ้าไม่มีเลย ใครจะหมิ่นอย่างไรก็ได้หรือ มันต้องคิดให้รอบคอบ อย่างที่ผมบอกในฐานะคนมีประสบการณ์ ส่วนไอ้พวกนั้นแม่งก็พูดหาเสียง หาคะแนนไปเรื่อย

ถ้าในม็อบมีการพูดคุยกันเรื่องงบสถาบันฯ หรือเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ถือว่าอาฆาตมาดร้ายไหม

ไม่ได้อาฆาตมาดร้าย แล้วก็ไม่ได้ดูหมิ่นด้วย ก็คุยกันได้

ความท้าทายในการขจัดอำนาจของกองทัพที่แทรกซึมอยู่ในการเมืองมานาน 90 ปี คืออะไร

ไม่มีใครทำเรื่องนี้ได้หรอกนอกจากผม กองทัพมันคือปัญหาของประเทศ บอกตรงๆ ว่าที่ประเทศเป็นอย่างนี้เพราะกองทัพ เพราะทหารถือว่าตัวเองมีอำนาจ จริงๆ จะเรียกว่าอำนาจก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ต้องเรียกว่ามีกำลังพล มีอาวุธ กูอยากจะเป็นอะไรกูก็ยึดอำนาจ ซึ่งแบบนี้เขาเรียกว่า ‘กบฏ’

ถ้าตอนนั้นผมมีโอกาส ผมจะไม่ยอมให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นหรอก อย่างที่เคยให้สัมภาษณ์ ถ้ายึดอำนาจครั้งที่แล้วผมอยู่ด้วยนะ ผมยิงกบาลไปแล้ว ผมใช้อาวุธเป็น ผมเตรียมการนู่นนี่เป็น เตรียมกำลังอะไรต่างๆ ผมทำเป็นหมด

สมัยท่านนายกฯ ชาติชาย ผมเป็นผู้การกองปราบ ซึ่งก็มีกำลังอยู่ในมือ อาจไม่มากเท่าทหาร พอข่าวออก ผมก็บอกท่านนายกว่า “ให้ผมจัดการก็แล้วกัน” แต่ท่านไม่เชื่อ หัวเราะ สุดท้ายก็ถูกยึดอำนาจไป

ถ้าคราวนั้นผมเป็นคนจัดการ เราอาจสู้เขาไม่ได้ก็จริง เพราะกำลังเราน้อยกว่า อาวุธเราน้อยกว่า แต่อย่างน้อยถ้าฝั่งทหารมีการบาดเจ็บล้มตาย มันก็อยู่ไม่ได้ แล้วคนอย่างผมมันกล้าเสี่ยงไง จะเจ็บจะตายก็มาลองดูกันก่อน

ถ้าให้เลือกระหว่างคุมทหารกับคุมตำรวจ เสรีพิศุทธ์จะเลือกอะไร?

แน่นอนว่าคุมตำรวจมันง่ายกว่า ถ้าต้องคุมตำรวจเรารู้ 100% แต่คุมทหารเราอาจจะรู้สัก 50% มันมีความท้าทายกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เขาไม่ให้เราเลือกหรอก (หัวเราะ)

แต่ถ้าต้องดูแลกองทัพ ก็ต้องทำให้มันอยู่ในระบบ ต้องปฏิรูปเยอะแยะเลย ตำรวจมันก็มีปัญหาของมัน พวกจราจรรีดไถเงิน 500 บาทอะไรพวกนี้ – โอ้โห เจอแค่นี้ก็จะเป็นจะตายกันแล้ว แต่ที่ร้ายแรงกว่าอย่างเวลาเกณฑ์ทหาร แล้วโดนเรียกเงินครั้งละ 5-6 หมื่นบาท ทีแบบนี้เห็นเงียบกัน

พอเป็นทหารแล้ว ต้องมีเสื้อ กางเกง เครื่องแบบ เข็มขัด ถุงเท้า รองเท้า หมวก ชุดกีฬา หรือแม้กระทั่งกางเกงในแจก ของพวกนี้โกงกันมาเป็นร้อยปีแล้วมั้ง เพราะเราเกณฑ์ทหารกันมาตลอด งบประมาณที่มีก็เอาไปโกงกันด้วยการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ถามว่าซื้อมาทำไม ก็ซื้อเพื่อเอาคอมมิชชันกันทั้งนั้น มันจะไปรบกับใครได้ ไม่มีใครเขารบกันแล้ว เขาเลิกกันหมดแล้ว

ประเทศเราถึงเป็นอย่างนี้ไง ฉะนั้นที่ผมบอกว่าจะขูดรีดไขมันจากกระทรวงทบวงกรมก็คือพวกนี้นี่แหละ เราต้องขูดเอาส่วนเกินออกมาให้หมด ไม่ให้มันเอาไปโกงกัน

นายกรัฐมนตรีที่ดีตามคำนิยามของ ‘เสรีพิศุทธ์’ เป็นคนแบบไหน

เป็นแบบผมนี่แหละ จะคิดอะไรทุกอย่างก็เพื่อประชาชนหมด ไม่มีเพื่อประโยชน์ตัวเองเลย ผมพูดตลอดเวลาว่าผมอายุ 75 ปี แล้วนะ จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ ลูกเต้าก็โตหมดแล้ว จะให้ผมทำอะไรอีกล่ะ ผมก็ทำเพื่อประชาชนทั้งนั้น อยู่ที่ว่าประชาชนให้อำนาจแค่ไหน ถ้าประชาชนไม่ให้อำนาจก็แล้วแต่เวรแต่กรรม

นายกฯ กับรัฐมนตรีหลายๆ คนนี่อย่าเอามาเทียบผมเลย เพราะว่าในการรัฐมนตรีหรือนายกฯ คนหนึ่งจะเข้ามาเป็นนักการเมืองได้ ก็ต้องเป็นนักเลือกตั้งมาก่อน เลือกตั้งเก่ง ซื้อเสียงเก่ง พอเป็น ส.ส. 2-3 สมัย กูจะเป็นรัฐมนตรี แล้วเป็นอย่างไร บริหารราชการก็ไม่เป็น ไม่รู้จักระบบราชการ

อย่างคุณประยุทธ์ ถึงแม้จะไม่ใช่นักการเมือง เป็นทหารรับข้าราชการมาตลอดทั้งชีวิต แต่ยังอยู่ในวงแคบ วงแคบที่ว่าหมายถึงอยู่ในค่ายทหารมา 30-40 ปี เวลาสั่งทหารก็ เฮ้ย ไอ้เหี้ย ไอ้ห่า มึงกู สั่งอย่างเดียว ออกมาก็สั่งประชาชนอย่างเดียว มันไม่ได้ มันต้องมีความรอบรู้

โจทย์ที่สำคัญที่สุดในการพาประเทศออกจากวงจรรัฐประหารคืออะไร 

อย่าเอาเผด็จการเข้ามาสิ เอาฝ่ายประชาธิปไตยเข้ามาให้มันเยอะๆ ให้มันสู้กับ ส.ว. 250 คนได้ แต่ตอนนี้ก็ดีกว่าเมื่อก่อนแล้ว เพราะแต่ก่อน พรรคพลังประชารัฐเสนอคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ พรรคเดียว 250 คน ก็ทุ่มมาทางนี้หมด

ตอนนี้ยังแยกประยุทธ์-ประวิตร เสียงมันแบ่งกัน เพราะฉะนั้น พี่น้องประชาชนไม่ต้องรอให้ ส.ว.มาออกเสียงหรอก เลือกประชาธิปไตยให้มันท่วมท้นไปเลย

Fact Box

  • พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์เคยรับราชการอยู่ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ในช่วงปี 2515-2524 มีผลงานเด่นคือการป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ทำให้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘วีรบุรุษนาแก’
  • ในปี 2550-2551 เสรีพิศุทธ์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่ 6 เดือน ก่อนนายกฯ สมัคร สุนทรเวช มีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (น้องชายของพลเอกประวิตร) ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
  • ภายหลัง เขาถูกย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและถูกยัดเยียดหลายข้อหา หนึ่งในนั้นคือความผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112
Tags: , , , , ,