กระแสความนิยมของ ‘พรรคก้าวไกล’ ยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะพิจารณาจากตัวเลข ส.ส.ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครั้งเป็น ‘พรรคอนาคตใหม่’ ผลโพลสำรวจความนิยมหลายสำนักสะท้อนให้เห็นว่า แม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นรัฐบาล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความนิยมก็ไม่ได้ลดถอยลงไป

ในเวลาเดียวกัน แม้พรรคเพื่อไทยได้อำนาจรัฐเป็น ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ ร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย แต่กลับมีพื้นที่ทางการเมืองถอยลง การบริหารราชการยุคนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก พรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมมีพื้นที่ทางการเมืองถดถอยลง ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ซึ่งกินพื้นที่การเมืองของกันและกัน กลับมากขึ้นทุกที และทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยม เห็นประโยชน์ในการทำให้ 2 พรรคนี้แตกหักกัน สร้างประโยชน์ในการรักษาอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยม

ด้วยเหตุนี้ การกลับสู่อำนาจหลังเป็นศัตรูตัวฉกาจของฝ่ายอนุรักษนิยมมานาน 20 ปีของ ทักษิณ ชินวัตร จึงง่ายอย่างเหลือเชื่อ ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะอนุรักษนิยม ไม่ว่าจะผู้สนับสนุนของฝ่ายอนุรักษนิยม กระทั่งบรรดา ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ไม่ว่าจะทหาร ไม่ว่าจะองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะสมาชิกวุฒิสภา ล้วนเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยและทักษิณเฉิดฉายในเวลานี้ เพื่อสกัดเส้นทางการขึ้นมามีอำนาจบริหารราชการของพรรคก้าวไกลภายใต้การนำทัพของพิธา

คำถามที่สำคัญคือ ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมหรือพรรคเพื่อไทย จะสามารถ ‘ไว้เนื้อเชื่อใจ’ กันได้มากน้อยแค่ไหน ความขัดแย้งที่ต่อสู้กันมาในอดีตจะถูกดีดนิ้วลบให้หายไปได้จริงหรือไม่?

The Momentum ชวน วันชัย สอนศิริ ส.ว.แต่งตั้ง ในฐานะหนึ่งในบุคคลที่ร่วมต่อต้าน ‘ระบอบทักษิณ’ มานานเกิน 10 ปี และผู้ที่ประกาศคิดค้นระบบ ‘คำถามพ่วง’ ทำให้เศรษฐาขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ เปิดสำนักงานส่วนตัวเพื่อเฉลย ‘พล็อต’ ของฝ่ายอนุรักษนิยม และช่วย ‘คลายปม’ ว่า สาเหตุของการใช้บริการทักษิณและพรรคเพื่อไทยนั้น แท้จริงแล้วคืออะไร

ผู้มีอำนาจสูงสุดเขา ‘ตกลง’ กันไว้หมดแล้ว

“ในสถานการณ์นี้มันไม่มีตัวเลือกตัวอื่น” วันชัยตอบคำถามถึงสถานการณ์ขณะนี้ เมื่อบทสนทนาเริ่มถามถึงการเลือก ‘เพื่อไทย’ ให้เป็นรัฐบาล และกลไกต่างๆ ล้วนเอื้อให้เพื่อไทยบริหารอำนาจได้สะดวกโยธิน

“หากมองในสถานการณ์ขณะนี้ พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ว่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคภูมิใจไทย ไม่แข็งแรงพอที่จะต้านกับพรรคก้าวไกล แต่พรรคเพื่อไทยนั้นเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีความพร้อม ประสบการณ์ และจำนวน ส.ส.ที่สามารถต่อกรกับพรรคก้าวไกลได้ ไม่ว่าจะเป็นในสภาฯ หรือนอกสภาฯ”

ในอดีต แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็น ‘พรรคเสรีนิยม’ ที่ชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่ไม่ว่าพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย ต่างก็ไม่สามารถกุมอำนาจได้ยาวนาน

“เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมมีองคาพยพที่แน่นหนา ไม่ว่าจะเป็นทหาร ข้าราชการ หรือตำรวจ ที่ต่อสู้กันมาตลอดยี่สิบปี แต่ต่อสู้อย่างไรก็ชนะไม่เด็ดขาดเสียที ขืนเป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะมีพรรคอื่นที่แรงกว่าเข้ามา ทำให้ท้ายที่สุดทั้งฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งพรรคเพื่อไทย ต่างก็จะแพ้ในที่สุด

“สำหรับผมมันเป็นความลงตัวทางการเมือง สถานการณ์ทางการเมือง และบุคคลทางการเมืองตัดสินใจว่า จำเป็นต้องมาร่วมไม้ร่วมมือกันทั้งเพื่อตัวเอง เพื่อพรรคของตัวเอง และเพื่อประเทศชาติด้วย”

ถึงจุดนี้ คำถามสำคัญเลยก็คือ เมื่อทักษิณเป็นศัตรูตัวฉกาจของฝ่ายตรงข้ามมานาน 20 ปี อะไรคือสิ่งที่ทำให้ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ เชื่อใจได้ว่าทักษิณจะไม่ ‘หักดีล’

“สถานการณ์บางสถานการณ์ก็ทำให้พรรคการเมืองเข้ากันได้ ในอดีตก็มีมาให้เห็น เช่นพรรคชาติไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ทะเลาะกันเอาเป็นเอาตาย แต่เมื่อเจอกับสถานการณ์ ผลประโยชน์ และอำนาจบางอย่างก็ทำให้เข้ากันได้” วันชัยอธิบาย

“ผมเองนี่ไม่เคยคิดเลยว่าประชาธิปัตย์จะโหวตให้เพื่อไทย แต่คราวนี้คุณเห็นไหม ประชาธิปัตย์เสียงส่วนมากโหวตให้เพื่อไทย มันไม่มีทางจะเป็นไปได้ และผมอยู่ใน ส.ว.มา ไม่คิดเลยว่าพรรคพลเอกประยุทธ์ พรรคพลเอกประวิตร จะโหวตให้เพื่อไทย แล้วก็ไม่น่าเชื่อเลยว่า ส.ว.จะโหวตให้เพื่อไทย ทั้งที่เป็นคู่กัดทางการเมืองในสภาฯ มาตลอดสี่ถึงห้าปี

“นั่นแปลว่า มันเป็นเรื่องของอำนาจ เป็นเรื่องของความลงตัวทางการเมือง และผู้มีอำนาจประเมินแล้วว่า ฟัดกันเอง กัดกันเอง ทะเลาะกันเอง ไม่ลงตัวกันเอง หายนะแน่นอน”

ขณะเดียวกัน ในมุมมองเขา ด้วยการประเมินกระดานการเมืองในขณะนี้ ถือเป็นเรื่องยากมากที่พรรคเพื่อไทยจะรวมกับพรรคก้าวไกล

“การกลับมาของคุณทักษิณครั้งนี้ ผมว่าเป็นพันธกิจที่สำคัญของเขา ถ้าเขาไม่กลับ พรรคเพื่อไทยก็ล่มสลาย

“ยอมรับว่า แต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ต่างๆ ทั้งหมดไม่ได้แพ้ฝ่ายใดเลยนอกจากก้าวไกล แล้วคุณจะไปรวมกันได้ไง”

“กลัวอะไรในพรรคก้าวไกล” เราถามกลับไปสั้นๆ

ในสถานการณ์นี้ในทางการเมือง วันชัยบอกว่า ‘ระดับหัวๆ’ ประเมินแล้วว่า ไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลเข้ามามีอำนาจในสถานการณ์นี้ และเกรงว่าถ้าก้าวไกลมีอำนาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบที่ฝ่ายอนุรักษนิยมรับไม่ได้ เลยเป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างอนุรักษนิยมกับก้าวไกล ซึ่งเรื่องทางการเมืองในทุกยุคทุกสมัย ไม่ได้มองว่าใครดี ใครเลว เพียงแต่ชุดความคิดทางการเมืองที่ต่างกัน

“สำหรับผม พรรคก้าวไกล เขาอาจจะต้องต่อสู้อีกสักระยะหนึ่ง อาจจะสักสามถึงสี่ปี คุณพิธาอาจจะอายุ 45-50 พรรคของเขาแต่ละคนก็อาจจะขึ้นมาอายุ 30-35 ขณะที่คุณทักษิณอีกห้าปีก็อายุ 80” วันชัยตอบคำถาม เมื่อเราชวนให้ประเมิน ‘อนาคต’ ของพรรคก้าวไกล

“คนการเมืองเก่าๆ อายุก็มากขึ้น มันก็แพ้ตัวเองอยู่แล้ว ทั้งแก่ ทั้งตาย สู้กับตัวเองไม่ไหว มันก็เป็นคลื่นตามปกติ เพียงว่าการปรับเปลี่ยนของซีกอนุรักษนิยมจะเปลี่ยนเอาใครขึ้นมา สานต่อ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เหมือนรุ่นก่อนเป็นที่นิยมได้หรือไม่ อันนี้ยังเป็นความท้าทาย

“ถ้าไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและเป็นที่นิยมเหมือนที่รุ่นพ่อทำ ก็ไม่ต่างกับบริษัทต่างๆ ที่ล่มสลายในเจนฯ ต่อๆ มาเหมือนกัน 

“ผมเชื่อว่าโดยอายุ โดยเวลาของการทำงาน ประสบการณ์ ก็จะทำให้ก้าวไกลเขาแข็งและโตขึ้น แล้วสถานการณ์บ้านเมืองก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วก้าวไกลก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการนำทางการเมืองได้”

โลกกลับตาลปัตรจาก ‘ขาประจำ’ ต้านทักษิณ สู่ขาเชียร์ ‘ทักษิณ’

หากย้อนเวลากลับไป 15 ปีก่อน ช่อง ‘เอ็นบีที’ ในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี วันชัย สอนศิริ เป็นพิธีกรรายการคลายปม ร่วมกับ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มีหน้าที่วิพากษ์ทักษิณ องคาพยพ รวมถึง ‘คนเสื้อแดง’ อย่างออกรสออกชาติ รายการคลายปมมีช่วงชีวิตอยู่ถึงการชุมนุมของ กปปส.เพื่อไล่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ขณะที่ทนายวันชัยก็คือหนึ่งในขาประจำของเวที กปปส.ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้นำ

คำถามสำคัญก็คือ แล้ววันชัยไม่รู้สึกอะไรบ้างหรือ กับภาพที่เห็นทักษิณเดินทางไปไหนต่อไหน แล้วมีคนห้อมล้อม ในระหว่างการ ‘พักโทษ’ โดยกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม หลังจากได้ ‘อภิสิทธิ์’ บางอย่าง ทำให้ไม่ต้องเข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียว

“ถ้าพูดกันแบบกลางๆ คนเป็นนายกฯ คนเป็นผู้นำ คนเป็นซูเปอร์สตาร์ หรือใครก็ตามที่เป็นคนรวย คนมีอิทธิพล ภาพมันก็จะไม่ค่อยเหมือนคนปกติ ได้รับการบริการที่ไม่เหมือนพวกเรา (หัวเราะ)

“มันก็เหมือนกัน คุณทักษิณเป็นถึงอดีตนายกฯ ก็ถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง มันก็อาจจะมีอะไรที่มันเลยเถิดไปบ้าง แต่ถามตัวผมว่ารู้สึกอย่างไร ผมรับได้”

ด้วยเหตุนี้ ในฐานะหนึ่งในคนที่เลือกเศรษฐา ขาประจำต้านระบอบทักษิณจึงรู้สึกว่า ‘รับได้’ หากต้องปรองดอง-สมานฉันท์ด้วยวิธีนี้ เพราะเป็นรูปธรรมและเห็นผลชัดเจนมากที่สุด

“เป็นฉันทมติหรือไม่ที่อนุรักษนิยมจะใช้วิธีนี้ หรือว่ายังมีคนไม่ไว้ใจทักษิณอยู่” เราถามคำถามสำคัญ เพราะในเวลานี้ยังมีหลายคนที่ออกมารำพึงรำพัน ไม่ว่าจะเป็นนักจัดรายการ อินฟลูเอนเซอร์ หรือนักวิชาการ ที่ออกมา ‘รับไม่ได้’ กับการที่ทักษิณมีอำนาจ

“ถ้าให้ผมบอกเท่าที่เห็นและเท่าที่รู้ เชื่อว่าเขาตัดสินใจกันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้วว่า ต้องใช้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการต่อสู้ 

“ถามว่าบางคนอาจจะระแวงไหม ฝ่ายอนุรักษ์ก็ยังมีบ้าง ผมมักจะใช้คำว่า ‘หลงโรง’ ที่เกลียดคุณทักษิณเข้ากระดูกดำก็ยังมีอยู่ แต่ก็จะเริ่มลดน้อยถอยลงไป

“ถ้าผลงานของรัฐบาลซึ่งเพื่อไทยเป็นแกนนำออกมาอย่างเต็มที่เต็มกำลัง ประชาชนยอมรับ โดนใจ กระแทกความรู้สึกของประชาชนได้ ผมเชื่อว่าพวกหลงโรง พวกแค้นฝังหุ่น ก็อาจจะเสียงเบาลงและก็จะลดน้อยถอยลงไป”

“แต่ถามจริงๆ คุณเห็นผลงานของเศรษฐาเหรอ”

เขาตอบกลับว่า ยัง ‘อึดอัด’ ที่รัฐบาลยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามที่ประชาชนคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาสังคมต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม เขายังคงเลือกให้โอกาสรัฐบาลนี้ต่อไป ด้วยยังขาดปัจจัยสำคัญคือ ‘งบประมาณ’ และคาดว่า เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 บังคับใช้ในเดือนนี้ ทุกอย่างจะดีขึ้น เว้นแต่ว่าแม้งบประมาณผ่านแล้ว ทุกอย่างจะยังคงเป็นเหมือนเดิม คงไม่มีใครทนได้เช่นกัน

“แต่เชื่อว่าจากประสบการณ์แล้ว เขามาจากการเลือกตั้งโดยตรง คงจะต้องสร้างผลงาน และการสร้างผลงานเท่านั้นที่จะสู้กับก้าวไกลได้ ถ้าคุณไม่มีผลงานจะแหกปากตะโกนอย่างไร จะเป็นรัฐบาลอย่างไร มีเสียงแน่นปึกขนาดไหน เลือกตั้งเมื่อไรผมก็เชื่อว่าแพ้ก้าวไกล”

สิ่งที่อนุรักษนิยมพ่ายคือ ‘กาลเวลา’

หากจำกันได้ หลังการเลือกตั้งปี 2562 ไม่นาน มีการปล่อย ‘คลิปหลุด’ ที่วันชัยเฉลยว่า ตนเองเป็นคนคิด ‘คำถามพ่วง’ ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เมื่อปี 2559

คำถามพ่วงที่วันชัยคิด ตั้งคำถามว่า ‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี’

คำถามพ่วงเป็นการ ‘ยัดไส้’ ให้อำนาจของ ‘วุฒิสมาชิก’ ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี กลายเป็นคำถามสำคัญที่สร้างประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง และขวางพิธาไม่ให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง

แน่นอนว่า ณ เวลานั้นยังไม่มีพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคก้าวไกลเกิดขึ้น และดูเหมือนว่าคู่ต่อสู้เดียวกับพลเอกประยุทธ์ก็คือพรรคเพื่อไทย

คุณรู้สึกไหมว่าคุณเป็นคนปั้น ‘เศรษฐา’ ให้กลายเป็นนายกรัฐมนตรี เราตั้งคำถามกับวันชัย

“ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนปั้น (ยิ้ม) แต่มีความรู้สึกว่า ถ้าไม่มีคำถามพ่วง รัฐบาลนี้ก็ต้องมีพิธาเป็นนายกฯ ไปแล้ว เพราะฉะนั้น คำถามพ่วงจึงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อรองทางการเมืองที่ทำให้พรรคเพื่อไทยและกลุ่มซีกนี้ยังสามารถดำรงคงอยู่ได้

“เหมือนแรกๆ ที่พลเอกประยุทธ์เลือกตั้งมาเสร็จแล้ว ถ้าไม่มีคำถามพ่วง พลเอกประยุทธ์ก็อาจจะไม่ได้เป็นนายกฯ และเหมือนกับคราวนี้ ถ้าไม่มีคำถามพ่วง อำนาจต่อรองในซีกนี้ก็ยังไม่มีกับก้าวไกล

“เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับว่าคำถามพ่วงมีฤทธิ์มีเดชต่อรองทางการเมืองสองครั้งจริงๆ” วันชัยตอบ

หันกลับไปประเมินฟาก ‘อนุรักษนิยม’ คำถามคือแล้วการได้ ‘ศัตรูเก่า’ อย่างพรรคเพื่อไทย คือความล้มเหลวอย่างหนักของฝ่ายอนุรักษนิยมหรือไม่

วันชัยตอบคำถามชัดถ้อยชัดคำว่า ‘เผด็จการ’ นั้นอยู่ไม่ได้ โลกใบนี้ไม่ได้ยอมรับอำนาจเผด็จการอีกต่อไป และโดยเนื้อแท้เผด็จการมันอยู่ได้ไม่นาน แต่พลเอกประยุทธ์ถือว่าเก่งที่อยู่ได้นานถึง 5 ปีในระบอบเผด็จการ

“ในอีกแง่หนึ่ง เผด็จการไม่สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการประจำทั้งนั้น ไม่กล้าสร้างความเปลี่ยนแปลง จนท้ายที่สุดก็ต้องยอมรับต่อการได้มาซึ่งอำนาจตามครรลองประชาธิปไตย คือ ‘การเลือกตั้ง’

“ถามว่าได้รัฐบาลอย่างนี้ มันก็เป็นระยะเปลี่ยนผ่าน และถือว่าได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ได้มีทหาร ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอะไรเข้าไปร่วมรัฐบาลนั้นเลย”

“แล้วสุดท้าย ในฐานะที่ไล่ทักษิณมา 20 ปี ผ่านทั้ง ‘คนเสื้อเหลือง’ ผ่านทั้ง กปปส. คุณอยากจะบอกอะไรกับคนที่สู้มาด้วยกัน หลายคนบาดเจ็บ บางคนก็เสียชีวิต ในมุมมองคุณแล้ว เขาสู้กันเพื่ออะไร” เราตั้งคำถาม

วันชัยนิ่งคิดไปสักครู่ก่อนจะตอบว่า มนุษย์เรามีความขัดแย้งได้

“เหตุการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เป็นการช่วงชิงอำนาจ พอถึงเวลาความขัดแย้งมันก็จบลงได้ด้วยสองสาเหตุ

“หนึ่ง วันเวลาทำให้ความรุ่มร้อนจืดจางลง ทำให้มนุษย์เกิดจิตสำนึกและยุติความขัดแย้งตามธรรมชาติ

“สอง เกิดจากการเจรจาสงบศึกของผู้มีอำนาจเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยผู้นำสูงสุดของฝ่ายแดง-เหลือง-กปปส.-นปช.-ผู้ทำรัฐประหาร ตกลงกันว่าจบสงครามและเดินหน้าไปด้วยกัน

“เราจะมาฝังรอยแค้นเป็นภาพยนตร์หรือหนังพีเรียดเก่าๆ กันอยู่ทำไม

“จบ แล้วเดินหน้า ลดความขัดแย้ง สลายความรู้สึกเก่าๆ บ้านเมืองกำลังเดินไปสู่ความศรีวิไลต่อไป” วันชัยกล่าวทิ้งท้าย

สิ่งที่ไม่ชอบที่สุดเมื่อเป็น ส.ว.คือการ ‘ถูกแทรกแซง’

จนถึงวันนี้ วันชัย รับตำแหน่งสืบเนื่องจากฝ่ายอนุรักษนิยมมายาวนานนับ 10 ปี หลังการรัฐประหารโดย คสช. เขารับบทเป็น สปท. จากนั้นเมื่อมี ส.ว.จากการแต่งตั้ง 250 คน เขาก็เป็นหนึ่งในรายชื่อที่ คสช.เสนอเข้าไป

แน่นอนว่า 250 ส.ว.มีบทบาทมากในการ ‘แช่แข็ง’ ระบบการเมือง รักษาองคาพยพของการรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ให้อยู่ในรูปในรอย ผลพวงจาก ส.ว.ชุดนี้ เป็นต้นว่า ‘องค์กรอิสระ’ ชุดต่างๆ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ส่วนมากล้วนมีที่มาที่ไปจากการเสนอชื่อ และจากการยกมือของ ส.ว.ชุดนี้ ขณะเดียวกัน ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลากหลายร่าง ทั้งจากภาคประชาชนหรือจากพรรคการเมืองถูกปัดตก เนื่องด้วย ‘ก้าวหน้า’ มากเกินไป

ก่อนที่ ส.ว.ชุดนี้จะหมดวาระในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 และต้องเริ่มต้นกระบวนการสรรหาชุดใหม่ เราถามวันชัยว่า เขาประเมินการทำงานอย่างไร

สำหรับคนอื่น ผมไม่กล้าประเมิน แต่สำหรับผม ผมทำงานอย่างเต็มที่มาโดยตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม นอกจากนั้นแล้ว ทำงานก็ยังมีความอิสระ เป็นตัวของตัวเอง อาจมีขัดแย้งกับผู้มีอำนาจบ้าง

“ผมยังได้พิสูจน์ให้เห็นว่า วุฒิสภาไม่ได้เป็นสภาทหารเกณฑ์ทั้งหมด

“สิ่งที่ผมชอบที่สุดคือการอภิปราย เวลาที่มีการพูดและมันเป็นภารกิจโดยตรง จะสังเกตได้ว่าที่นั่งจะมีอาวุธคือ ‘ไมค์’ เอาไว้ให้พูด เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมทำเต็มที่ก็คือการอภิปรายทุกเรื่อง ทุกประเด็นที่เป็นกฎหมาย เข้ามาสู่สภาฯ ถ้ามีกระทู้อะไรที่เกี่่ยวกับบ้านเมืองผมก็ทำเต็มที่”

เราถามต่อ แล้วสิ่งที่ไม่ชอบล่ะ

“ผมไม่ชอบให้มาสั่งการ ผมถือว่าโตๆ กันแล้ว มีความคิด ความอ่านเป็นของตัวเอง ประเภทจะมาสั่งจะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ ผมไม่ชอบ” วันชัยตอบ

วันนี้ ในวัย 70 ปี เขาบอกว่าเขาไม่ได้ทะเยอทะยานในทางการเมือง และหากนับย้อนหลังกลับไป 40 ปี สิ่งที่เขาเป็นมาตลอดและทำมาได้ดีมาโดยตลอดคือการเป็น ‘ทนายความ’ 

หากจำกันได้ วันชัยเริ่มโด่งดังด้วยการเป็น ‘นักพูด’ ของสภาทนายความ ให้ความรู้เรื่องกฎหมาย และตามมาด้วยการจัดรายการขำขันทางกฎหมาย ผ่านรายการ ‘คนหัวหมอ’ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 กับ ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช

จากนั้น เขาทำรายการร่วมด้วยช่วยกันทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และเมื่อการเมืองเริ่มร้อนแรง วันชัยก็เริ่มอยู่ในรายการโทรทัศน์เชิงวิพากษ์ทางการเมือง จากนั้นก็เข้าสู่งานการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยม โดยเริ่มต้นเป็น ส.ว.จากการแต่งตั้งรอบแรกในปี 2554

นั่นเท่ากับว่าเขาอยู่ในเส้นทางการเมืองมาแล้วนับสิบปี

หลังจาก ส.ว.หมดวาระ วันชัยจะทำอะไร?

“ผมก็อายุ 70 กว่าแล้ว ก็ต้องพักผ่อนบ้าง อาจจะมีเขียนหนังสือบ้าง ทำรายการวิทยุเหมือนในอดีตที่ทำมา ก็คิดๆ แต่บางทีมันก็เหนื่อยเกินไป (หัวเราะ)”

ฟังจากน้ำเสียงแล้ว แม้วันชัยจะหมดบทบาททางการเมือง แต่ตัวเขาจะไม่ได้หายหน้าไปไหน และแน่นอนว่า จะยังได้เห็นหน้าเขา ได้ยินเสียงเขาต่อไปแน่นอน

Fact Box

  • ปัจจุบัน วันชัย สอนศิริ เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กรรมการการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • เคยมีประสบการณ์ทำงานรายการวิทยุและโทรทัศน์ เช่น รายการคนหัวหมอ รายการร่วมมือร่วมใจ รายการหัวหมอจ้อข่าว รายการคลายปม และรายการก๊วนซ่าประมาณว่า
Tags: , , , , , ,