“ดิฉัน ทนายแจม ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 11 สายไหม พรรคก้าวไกล ทนายความ แม่ลูกสอง และภรรยาของสามีที่ถูกธำรงวินัย”

ข้างต้นคือคำแนะนำตัวของ ส.ส.ศศินันท์ ทุกครั้งก่อนที่เธอจะอภิปรายประเด็นต่างๆ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประชาชน

ก่อนหน้านั้น เธอเป็นทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights: TLHR) และปีนี้เป็นปีแรกที่เธอก้าวเข้าสู่วงการการเมือง เพื่อเปล่งเสียงการเรียกร้องให้ดังขึ้น ผ่านการเป็นผู้แทนประชาชนในรัฐสภา

บทสนทนานี้เริ่มตั้งแต่การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศในสังคมที่ยังมีความท้าทาย ท่ามกลางข่าวอื้อฉาวของพรรคก้าวไกลเมื่อเร็วๆ นี้ ในกรณีที่มีการคุกคามทางเพศของ ส.ส.ชายภายในพรรค

นอกเหนือไปจากการเสริมพลัง (Empowering) ในฐานะผู้หญิง ในบทสนทนานี้ยังรวมถึงประเด็นที่มาจากประสบการณ์ตรงของเธอในฐานะแม่คนหนึ่ง เช่น สิทธิลาคลอด ห้องให้นมบุตร การทำแท้งเสรี การปฏิรูปการศึกษา อันล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ขาด ซึ่งทั้งหมดนี้สมควรเป็น ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ ทั้งสิ้น 

ก่อนการอภิปรายหรือแสดงความเห็นในรัฐสภา ทำไมคุณถึงแนะนำตัวเองแบบ ‘เต็มยศ’ อย่างนั้นทุกครั้ง

เราต้องการนำเสนอในสองแง่มุม หนึ่งคือตำแหน่งแห่งที่ของเรา ทั้งการเป็นผู้แทนราษฎรและทนายความ สองคือสิ่งที่เราต้องการเข้ามาต่อสู้ในสภาฯ แม่ลูกสองหมายถึงนโยบายที่เราจะทำเกี่ยวกับแม่และเด็ก เช่น สิทธิลาคลอด ห้องให้นมบุตร ส่วนเรื่องธำรงวินัยเราจะพูดแค่ในการอภิปรายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ เพื่อจะเชื่อมให้เห็นว่า เรามีส่วนเชื่อมโยงกับประเด็นนี้อย่างไร เพราะก็เป็นประเด็นที่สังคมเกิดการตั้งคำถามเช่นเดียวกัน

คุณเคยเป็นทนายความมาก่อน อยากให้ช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของอาชีพนี้

แรกๆ เราก็ตามพ่อ แล้วก็ดูซีรีส์เกี่ยวกับกฎหมายด้วยเลยเกิดแรงบันดาลใจ ตอนเด็กดูเรื่อง Law & Order (1990) เลยได้เห็นอาชีพเกี่ยวกับกฎหมายเต็มไปหมด ทั้งอัยการ ทนายความ หรือกระทั่งลูกขุน ตอนนั้นเรารู้สึกว่า การเป็นทนายความในต่างประเทศมันเท่มากเลย ที่จริงเราเคยอยากเป็นอัยการด้วยซ้ำ

พอโตมาตอนนั้นเริ่มอยากทำงานกฎหมายจริงจัง เลยหาซีรีส์เกาหลีเกี่ยวกับกฎหมายมาดู ทั้งหมดนี้เป็นแรงบันดาลใจของเราเลย แล้วสุดท้ายเราก็เลือกเป็นทนายความแทนอัยการ เพราะรู้สึกว่าทำอะไรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า อัยการอาจมีกรอบการทำงานแบบราชการ แต่ทนายความคือทำเองทั้งหมดตั้งแต่ต้น ตั้งแต่สอบข้อเท็จจริง ไปเรือนจำ ไปศาล ไปกรมราชทัณฑ์ เราทำเองทุกขั้นตอน สำหรับเราอาชีพทนายความเลยเป็นอะไรที่สนุกและท้าทาย

งานแรกที่ได้ชิมลาง คือเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ตอนทำได้ประจำอยู่ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นระยะเวลาหนึ่งปีตามวาระของโครงการ แต่เพียงแค่ปีเดียวก็ทำให้เราเห็นปัญหาที่ไม่ถูกแก้ยังมีอยู่มาก ตอนนั้นเราคิดไว้ว่า ถ้าครบวาระจะกลับไปโหมดปกติ คือกลับไปทำงาน Law Firm และรอสอบอัยการ เพราะก็จบเนติบัณฑิตมา

แต่ตอนนั้นกลับเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2557 เลยมีคนชวนให้ไปทำงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เราเลยเป็นทนายความประจำที่ทำงานเต็มเวลาคนแรกของศูนย์ทนายฯ ตอนนั้นมีเราคนเดียวด้วย แถมไม่มีงบประมาณเพราะไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก แต่พอคดีทางการเมืองเริ่มเยอะขึ้น ก็มีคนถูกจับกุมเยอะขึ้น องค์กรก็ค่อยๆ ขยายมากขึ้น เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและมีแหล่งทุนมาสนับสนุน เราก็รู้สึกสนุกและท้าทายเพราะงานที่นี่เป็นคดีทางการเมืองแทบทั้งหมด

การเป็นทนายความที่นี่เลยทำให้เราเปิดโลกเยอะมากเหมือนกัน ทำให้เรารู้สึกว่า กฎหมายบางอย่างก็ไม่เป็นแบบที่เราคิด พอเจอคดีทางการเมืองจริงๆ กลับเป็นอีกแบบหนึ่งเลย ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมาเราได้เห็น ‘อภินิหารทางกฎหมาย’ หลายอย่างมาก

จุดไหนที่ทำให้คุณเริ่มสนใจการเมืองอย่างจริงจัง และเลือกที่จะทำงานเพื่อสังคมมากขึ้นในอีกบทบาทหนึ่ง

โห เรียกว่าทำเพื่อตัวเองดีกว่า ทำเพื่อสังคมมันดูยิ่งใหญ่มากเลย (หัวเราะ) จุดเริ่มต้นอาจจะเพราะเราเป็นคนตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ เช่น เวลาเดินออกไปนอกบ้านเห็นทางเดินฟุตบาทขรุขระ เราก็จะตั้งคำถามว่าทำไมเป็นแบบนี้กันนะ มันดีกว่านี้ไม่ได้หรือ ตอนที่เราเริ่มมีลูกเราก็รู้สึกว่า ทำไมการเลี้ยงลูกในประเทศนี้ยากจัง ทำไมรัฐดูไม่ค่อยรองรับการมีลูกของเราเลย ตอนที่เป็นทนายความทำคดีการเมืองต่างๆ ก็ตั้งคำถามว่า ทำไมกฎหมายบางอย่างไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง ระบบพิจารณาคดีในศาลบางอย่าง ทำไมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เรียนมาไม่ตรงกันนะ

ปัญหาที่เราตั้งคำถามต่างๆ สุดท้ายเราก็มาเชื่อมโยงได้ว่า แทบทุกอย่างเกี่ยวข้องกับการเมืองหมดเลย

อันที่จริง จุดที่เราเริ่มต้นสนใจการเมืองคือช่วงยุครัฐบาลคุณทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) แต่จุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าการเมืองนั้น ‘ใกล้ตัว’ คือช่วงการเกิดขึ้นของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ตอนนั้นเรารู้สึกว่า ตัวเราเองก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมได้เหมือนกัน ปกติแล้วเรามักมองว่า เราจะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ คือติดตามข่าวสาร เฝ้ามอง มีสิทธิกากบาทในคูหาเพื่อเลือกตัวแทนเข้าไป และรอลุ้นว่าเขาจะทำอะไรต่อ แต่ช่วงพรรคอนาคตใหม่ก่อตั้งขึ้น เราเห็น ส.ส.หลายคนในพรรคทำงานและขับเคลื่อนประเด็นสังคม จากที่ก่อนหน้าเราคิดว่าปัญหาต่างๆ ในประเทศไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก ย้ายไปอยู่ต่างประเทศเอาง่ายกว่า แต่ตอนพรรคอนาคตใหม่เรากลับมองเห็นความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลง

พอมาถึงการเกิดขึ้นของ ‘พรรคก้าวไกล’ สิ่งนั้นเป็นจุดที่เราคิดกับตัวเองว่า เราต้องลงมือทำอะไรสักอย่างแล้วและ เราจะมาขับเคลื่อนบางประเด็นเองในสภาฯ เราเลยถามตัวเองว่า ประเด็นอะไรที่เราจะต้องเข้ามาขับเคลื่อนและเป็นตัวแทนในเรื่องนั้นๆ ที่ในสภาฯ อาจจะยังไม่มีมาก่อน เราเลยตัดสินใจจะขับเคลื่อนประเด็น ‘แม่และเด็ก’ เพราะเป็นเรื่องที่มักถูกลืมทั้งที่จริงสำคัญมาก และเราคิดว่าปัญหาสังคมตอนนี้ หากจะแก้ปัญหาระยะยาวจริงๆ อาจจะต้องแก้ที่เด็กแล้ว

เราเห็นต่างประเทศเขามีการสนับสนุนสวัสดิการเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่จนทำไม่ได้นี่ ความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงมีอยู่แล้ว แต่ว่าความฝันต้องชัดก่อน แล้วเป้าหมายจะชัดตาม

ทั้งหมดนี้จึงทำให้คุณตัดสินใจลองมาสมัครเป็น ส.ส.

ก็รู้สึกว่า ‘อยากลองมาเป็นคนพูดเอง’ นี่แหละ ก่อนหน้านี้ นอกจากกับพรรคก้าวไกลก็เคยไปคุยกับพรรคการเมืองอื่นอยู่บ้าง เรื่องนโยบายห้องให้นมบุตรและประเด็นอื่นๆ ที่เราอยากขับเคลื่อน แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเข้าใจเท่าไร เขามักจะมองว่า ทำทำไม ไม่เห็นจะเร่งด่วนเลย คนรากหญ้าไม่ซื้อหรอก ปัญหาปากท้องสำคัญกว่า คือหลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้สำคัญอย่างไร แล้วเรายิ่งอินกับประเด็น เลยคิดว่าถ้าจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังก็คงต้องมาเป็น ส.ส. เพราะน่าจะพูดได้เสียงดังกว่าเดิม เรามองว่าเราก็เป็นตัวแทนเหล่าแม่ๆ ได้ด้วย ซึ่งที่จริงเราพูดเรื่องนี้มา 4-5 ปีแล้ว แต่เพิ่งมามีคนสนใจช่วงที่เราเป็น ส.ส.นี่เอง 

การเข้ามาเป็น ‘ตัวแทนเหล่าแม่ๆ’ ของคุณ มีนโยบายอย่างไรบ้างในการผลักดันสวัสดิการและสิทธิของแม่และเด็ก

ตอนนี้นโยบายที่เริ่มทำไปแล้วมี ‘สิทธิลาคลอด’ และ ‘ห้องปั๊มนมในที่ทำงาน’ เรายื่นเป็นแก้ร่างพระราชบัญญัติ

คือการทำงานในพรรคก้าวไกล จะแบ่งการทำงานกันเป็นปีก ซึ่งเราเอาตัวเองไปอยู่ในสี่ปีกเลย เพราะว่าเรื่องแม่และเด็กเป็นประเด็นที่เชื่อมกับหลายประเด็นอยู่แล้ว คือการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการแรงงาน และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยอันท้ายนี้ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวแต่ที่จริงก็เกี่ยวนะ เราอยากขับเคลื่อนให้ภายในตัวอาคารต้องมีห้องที่รองรับสำหรับเด็กเล็ก เช่น มีที่อุ้มเด็กแบบไม่มีฐาน (Baby Carrier) อยู่ในนั้น กล่าวคือ เป็นที่รองรับสำหรับเด็กทารกเมื่อคุณแม่ต้องเข้าห้องน้ำ นี่จะเป็นสิ่งที่สามารถจับเด็กวางโดยมีตัวล็อกให้ไม่ดิ้นจนอาจเกิดอุบัติเหตุได้ นี่อาจจะเป็นสิ่งที่คิดไม่ถึงว่าจำเป็น แต่มันจำเป็นสำหรับแม่ๆ มาก เราคิดว่าสังคมอาจจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ก็มีความสำคัญ ซึ่งถ้าไม่มี ส.ส.ที่มีลูกเองเข้าไปในสภาฯ ก็อาจไม่มีใครพูดถึงเรื่องพวกนี้

อีกสิ่งที่อยากทำ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองการให้นมในที่สาธารณะ ในต่างประเทศมีการให้การคุ้มครองไปเลย ไม่ต้องโดนมองแรงเวลาให้นมข้างนอก ก็ให้เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งไป ทำทั้งเรื่องห้องให้นมในอาคารและที่คุ้มครองสิทธิในที่สาธารณะพร้อมกันเลย ไม่ได้ย้อนแย้งด้วย เป็นหมุดหมายที่เราอยากทำ แต่ก็ไม่รู้จะผ่านหรือเปล่า

คุณมีประสบการณ์ตรงอย่างไรบ้างในฐานะ ‘แม่ลูกอ่อน’ ที่ทำให้อยากเข้ามาขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ในสภาฯ

ในฐานะแม่ เวลาเราเข้าห้องน้ำสาธารณะหนึ่งครั้งนี่นรกมากเลยนะ เรามีลูกสองคน คนหนึ่งอยู่ในเป้อุ้ม ส่วนอีกคนก็ยังเล็กมาก เวลาจะฉี่ทีเราต้องนั่งประคองลูกไว้ ซึ่งการมี Baby Carrier ช่วยเราได้มาก ถ้าถามว่าทำไมไม่ใช้รถเข็น เพราะรถเข็นในประเทศไทยมันไม่ฟังก์ชันไง ไม่สามารถเสี่ยงเข็นให้หน้าคะมำได้ รถเข็นในประเทศไทยเข็นได้แค่ในห้างสรรพสินค้า เข็นทางเท้าไม่ไหว มันจะกึกๆๆๆ (ทำท่าประกอบ) ตลอด

เหตุการณ์หนึ่งที่พีกมากสำหรับเรา คือเรานั่งร้องไห้บีบน้ำนมใส่โถชักโครก แล้วรู้สึกว่ามันซัฟเฟอร์มากเลย นี่เรากำลังทำอะไรอยู่วะ กับตอนที่ต้องหาที่เปลี่ยนแพมเพิร์สเพราะลูกอึตอนอยู่นอกบ้าน ตอนนั้นเราจำเป็นต้องเปลี่ยนตรงอ่างล้างมือเพราะไม่มีห้องน้ำรองรับ ซึ่งก็มีคนมาด่า แล้วพอเราเอาลูกเข้ามาที่ในห้องน้ำแทน ตอนนั้นลูกเราร่วงลงชักโครกเลย เราร้องไห้และรู้สึกผิดหนักมาก

ความรู้สึกแย่ตอนนั้นส่วนหนึ่งคือกำลังเจอภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Maternity Blue) แต่อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกแย่ คือการที่สังคมนี่แหละที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นแม่ที่แย่ ทำไมลูกเราต้องมาเจออะไรแบบนี้ นี่เรากำลังทำบาปกับเขาหรือเปล่า แล้วพอเราเริ่มบ่นก็จะมีคนบอกว่า ไม่เห็นมีใครมีปัญหาแบบคุณเลย แต่เราว่าไม่ใช่หรอก เขาแค่อาจไม่มีเสียงที่ดังเท่าเรามากกว่า

‘เป็นแม่ต้องเสียสละ ต้องอดทน’ สังคมพยายามคาดหวังให้ผู้หญิงเป็นแม่ที่เพียบพร้อมทุกอย่าง และคาดหวังกับผู้หญิงรอบด้าน แต่กลับไม่ได้มีสวัสดิการอะไรมารองรับเลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อบอกว่า ทำไมสวัสดิการของแม่และเด็กจึงสำคัญ

การที่รัฐพูดว่า ‘อยากให้คนไทยมีลูก’ คุณต้องพูดควบคู่กับการผลักดัน ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ ที่รองรับพวกเขา เพราะสิ่งเล็กน้อยพวกนี้จะทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้ถูกทอดทิ้งจากรัฐ

ที่จริงเรื่องการมีสถานที่รองรับแม่ลูกอ่อน เราได้ไอเดียจากตอนที่ไปเที่ยวที่ไต้หวันมาด้วย หรือกระทั่งญี่ปุ่นกับเกาหลีก็มีอยู่แทบจะทุกที่เลย เพราะเขาให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูก ซึ่งไม่เห็นต้องถามเหมือนคนไทยเลยว่าทำไปแล้วใครจะใช้ เปลืองงบประมาณ เอาเข้าจริง แม่ๆ ไม่ต้องการอะไรมากหรอก แค่ขอให้รู้สึกว่า มีที่ให้เราใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่ใช่ว่าแค่พอออกนอกบ้านก็จะถูกคนในสังคมมองแล้วว่า จะพาออกมาข้างนอกทำไม เอาเด็กมาทรมานทำไม แต่คุณลืมไปไหมว่า เราก็ควรได้ใช้ชีวิตแบบปกติเหมือนกัน ซึ่งมันก็แค่อะไรสักอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าเมืองน่าอยู่

ถ้าอยากให้คนในประเทศมีลูกมากขึ้นก็ต้องมีอะไรพวกนี้ และต้องทำให้รู้สึกว่า การมีลูกมันไม่ใช่การให้ผู้หญิงต้องมานั่งลำบากคนเดียวแต่เพียงลำพัง 

อีกประเด็นที่สำคัญ คือการปฏิรูปการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ในเด็ก คุณมีความเห็นอย่างไร

เอาจริงเราเสียดายโอกาสในการเป็นรัฐบาลครั้งนี้เหมือนกัน เพราะตอนแรกเราอยากอยู่กระทรวงศึกษาธิการด้วยซ้ำ เราอยากแก้หลักสูตรการศึกษา เราเห็นตำราเรียนเด็กไทยยังท่องหน้าที่พลเมืองกันอยู่เลย มีแต่เรื่องศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี เจอผู้ใหญ่ต้องเดินก้มหัว ต้องไหว้สวัสดี เข้าวัด กวาดลานวัด คืออ่านแล้วงง นี่เรากำลังให้ความสำคัญกับอะไรอยู่นะ เราควรพัฒนาอะไรมากกว่านี้ไหม

ยกตัวอย่างหนึ่ง มีช่วงหนึ่งเราสอน Baby Sign Language ให้ลูกเรา (การทำมือเป็นสัญลักษณ์หรือท่าทางต่างๆ แทนการใช้เสียงพูด เพื่อให้สื่อสารกับเด็กเล็กได้ง่ายขึ้น) เพื่อให้เขาสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกของเขาได้ แม้จะยังไม่สามารถพูดได้ เพราะธรรมชาติของเด็กเล็กที่เลือกร้องไห้เพราะเขาไม่รู้ว่าจะต้องแสดงความรู้สึกออกมาอย่างไร

ตอนนั้นนั่งบนเครื่องบิน คือถ้าตอนนั้นลูกเราแหกปากบนเครื่องจะต้องโดนประณามหยามเหยียดแน่เลย แต่ตอนนั้นลูกเราแสดงสัญลักษณ์มือเพื่อสื่อสารออกมาได้ว่า ตอนนั้นเจ็บหูเพราะหูอื้อ แต่คนไทยมักจะมองว่าถ้าสอนภาษามือไปเด็กจะเป็นใบ้

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่จะเข้าใจเรื่องพวกนี้ มันเป็นสิ่งที่รัฐต้องให้ความรู้เขา แล้วมันก็สำคัญมาก เพราะจะทำให้สังคมเข้าใจเด็กมากขึ้นด้วยซ้ำ และพ่อแม่ก็จะกดดันน้อยลง

การเป็นทั้งแม่และผู้หญิงทำงานนอกบ้าน ไม่จำเป็นที่ผู้หญิงต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเลยใช่ไหม

เราโชคดีอย่างหนึ่งคือแฟนเราเขาไม่เคยคิดเลยว่า ผู้หญิงจะต้องเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก และผู้ชายจะต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ตั้งแต่เราเริ่มตั้งท้องจนคลอด จนมาถึงปัจจุบัน แฟนเราเขาทำได้ทุกอย่างเหมือนเราเลย เราพูดตลอดว่าถ้าคุณมีน้ำนม คุณเป็นแม่ได้เลยนะนี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยเราได้มากช่วงเผชิญสภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และเรารู้สึกว่าการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของคนสองคน คือทั้งพ่อและแม่

การที่เราได้กลับไปทำงาน เราว่ามันเป็นอะไรที่ทำให้มันบาลานซ์ความรู้สึกเราได้ดีมาก มันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีตัวตนมากขึ้น ช่วงที่เราเลี้ยงลูกอย่างเดียวเรารู้สึกเหมือนเราเป็นเครื่องจักรอะไรบางอย่าง อย่างช่วงสามเดือนแรก เรารู้สึกเหมือนเราเป็นเครื่องผลิตน้ำนม เราเป็นเหมือนแม่วัวตัวหนึ่ง จริงๆ การเป็นแม่แบบเต็มตัวได้นั้นดีมากๆ แต่อย่างเรา เราอาจจะรู้สึกว่าเราฟูลไทม์ไม่ได้

แต่ถึงอย่างนั้นอย่าไปบอกว่าแม่ที่ทำงานนอกบ้านคือแม่ที่ไม่รักลูก หรือแม่ที่เป็นแม่บ้านคือคนขี้เกียจทำงาน ผู้หญิงแต่ละคนมีการให้คุณค่าตัวเองแตกต่างกัน เราอาจจะมีคุณค่าอะไรบางอย่างที่เราอยากได้รับ ซึ่งไม่ใช่ว่าเราไม่รักลูก ทุกคนล้วนมีเหตุและผลของตัวเอง และสำหรับเรา การที่เราได้ทำงานทำให้ชีวิตเรามีมิติมากขึ้น เพราะเราทำงานมาตลอด พอวันหนึ่งถ้าให้ต้องเลี้ยงลูกอย่างเดียว อาจทำให้รู้สึกว่าชีวิตเหมือนขาดอะไรบางอย่างไป พอกลับไปทำงานแล้วก็เลี้ยงลูกไปด้วย เราว่ามันเติมเต็มสำหรับเรามากกว่า

การเป็นทั้งทนายความหญิงและ ส.ส.หญิง ถ้าในมุมมายาคติ อาจจะยังมีบางคนบอกว่า เป็นอาชีพที่เหมาะกับผู้ชายมากกว่า หรือผู้ชายทำได้ดีกว่า

เราว่าสังคมค่อยๆ เรียนรู้มากขึ้น อย่างเราเอง แฟนเราเลี้ยงลูกเก่งกว่าเราอีก และในบางครั้งงานผู้แทนราษฎรเองในหลายบริบท ผู้หญิงก็ทำได้ดีกว่า เช่นในประเด็นที่เรากำลังขับเคลื่อน อย่างแม่และเด็ก การคุกคามทางเพศ แต่เราก็ไม่ได้พูดว่าผู้หญิงต้องขับเคลื่อนเรื่องเด็กและสตรีอย่างเดียว ผู้หญิงก็สามารถขับเคลื่อนเรื่องหนักๆ ได้ เช่น ประเด็นตำรวจ ทหาร งานการเมืองอื่นๆ ที่ต้องหาข้อมูลตัวเลข เราว่าผู้หญิงก็ทำได้ดี

ทุกอาชีพ ผู้ชายผู้หญิงแยกกันไม่ได้หรอก เว้นแต่งานบางอย่างที่อาจต้องใช้แรงงาน ใช้กำลัง ซึ่งผู้หญิงอาจจะสู้ไม่ได้

เราอยากสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสู่การเมืองมากขึ้น ประเด็นเมื่อวาน (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จากการที่พรรคก้าวไกลมีมติต่อกรณี ส.ส.ก้าวไกลคุกคามทางเพศ) ทำให้เราเห็นว่า การที่ผู้หญิงเข้ามามีสัดส่วนในการเมืองมากขึ้น มีความสำคัญอย่างไร เราต้องทำให้รัฐสภาเป็นสถานที่ที่ผู้หญิงอยู่อย่างปลอดภัยมากขึ้น และกล้าที่จะพูดมากขึ้น

กระทั่งในวงการวิชาชีพกฎหมายเอง ผู้หญิงก็ถูกกดขี่มานาน ตอนนั้นเราก็สู้เรื่องให้ทนายความหญิงสวมกางเกงไปศาลได้ คือในอดีตอาจจะด้วยสังคมที่ผู้ชายทำงาน ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูก เลยอาจทำให้มิติต่างๆ ของสังคม ทุกอาชีพเลยดูเป็นผู้ชายไปเสียหมด และขาดมิติของผู้หญิงไป

สภาฯ ปัจจุบันนี้ก็อาจเรียกได้ว่า มีสัดส่วน ส.ส.ผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น

จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่มี ส.ส.ผู้หญิงเยอะขึ้น แต่ผู้ช่วย ส.ส.เองก็เป็นผู้หญิงมากขึ้น น้องๆ เด็กใหม่ๆ ที่มาทำการเมือง หรือกระทั่งวงการสื่อมวลชนเองก็ตาม ผู้หญิงเยอะขึ้นมากๆ หรือเวลาที่เราไปศาล บางห้องพิจารณา อัยการเป็นผู้หญิงหมด ศาลก็เป็นผู้หญิง เคยมีอยู่คดีหนึ่งชุบชูใจเรามาก ทั้งบัลลังก์เป็นผู้หญิงหมดเลย ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ เราเลยคิดว่า สังคมก็คงค่อยๆ ปรับ

บางทีผู้ชายก็แซวว่า ‘เฮ้ย นี่สังคมหญิงเป็นใหญ่หรือเปล่า’ คือสังคมเป็นแบบนี้ ยุคหนึ่งที่ผู้ชายมีบทบาทมาก ผู้หญิงก็จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นบ้าง ทีนี้มันจะค่อยๆ เบลนด์เข้าหากัน อันนี้คือธรรมชาติของวัฏจักรทุกอย่าง อย่างที่บอกว่าเมื่อผู้หญิงโดนกดมามากเราก็จะค่อยๆ มีพลังมากขึ้น เราก็ต้องค่อยๆ Empower กันไปเรื่อยๆ

ถึงจะมีสัดส่วนของ ส.ส.ผู้หญิงมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสาวโสด ทุกครั้งที่คุณแนะนำตัวเองว่าเป็นแม่ เป็นภรรยา มีแรงเสียดทานจาก ส.ส.ผู้ชายบ้างไหม

จากตัวเองไม่เท่าไรนะ แต่มีปัญหาหนักหัวคนอื่นทั้งนั้นแหละ เคยมี ส.ส.ผู้ชายพรรคอื่นมาบอกเราเวลาแนะนำตัวว่า จะพูดทำไม จะไปบอกเขาทำไมว่ามีสามีแล้ว คิดว่าหนูโสดไม่มีผัวนะเนี่ย คือยังดูเป็นสาวอยู่เลยทำไมมีผัวมีลูกไวจัง อะไรแบบนี้ หรือแบบบอกให้แนะนำตัวปกติ ไม่ต้องไปบอกเขาหรอกว่ามีลูกมีผัวแล้ว เดี๋ยวราคาจะตก ตอนนั้นเราเดินหนีเฉยๆ แต่ถ้าบางคนที่รู้จักกันแซว เราก็ตอบขำๆ ก็มีผัวจริงๆ นี่ คืออยากบอกว่าไม่เห็นเป็นอะไร ไม่ได้เป็นปัญหาของเราด้วย แต่เป็นปัญหาของคุณมากกว่า

คิดว่าภายในรัฐสภามีอคติทางเพศบ้างไหม 

เรายังไม่เห็นชัดเท่าไร อาจจะเพราะเพิ่งเริ่มทำงาน มีกรรมาธิการ (กมธ.) เราก็เข้าไปเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคในด้านกฎหมาย เป็นรองประธาน กมธ.คนที่หนึ่ง ใน กมธ.เราเองก็ยังไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร

แต่มีเพื่อน ส.ส.ผู้หญิงบางคนที่เขาไปนั่งกรรมาธิการอื่น ก็เคยเจอ ส.ส.ผู้ชายบางคนมาบอกว่า ‘หนูสวยมากเลยนะ’ คือมุมหนึ่งก็รู้สึกแปลกๆ มาจ้องกันแล้วบอกว่าสวยมากเลย แล้วพอพูดว่าไม่โอเค เขาก็มักจะบอกว่าจะคิดมากทำไม ชมว่าสวยก็ไม่ได้หรือ แต่อย่างไรก็ต้องดูที่บริบท

เท่าที่ฟังคุณเล่ามา อคติทางเพศในรัฐสภาหรือวงการการเมือง อาจไม่ได้มาจาก ‘การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ’ แต่เป็นเรื่องของ ‘การคุกคามทางเพศ’ มากกว่า คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

เคยมี ส.ส.ผู้ชายในพรรคที่แกล้งพูด ‘ไม่ยืนใกล้พี่แจมดีกว่า เดี๋ยวหาว่าคุกคาม’ ก็ยังมีแบบนี้อยู่ หรือ ‘สะกิดพี่แจมได้ไหม’ เออ สะกิดมาสิ ขอแค่อย่าสะกิดแบบมีอารมณ์ก็พอ หรืออย่างเคยมีเหตุการณ์ที่มี ส.ส.ไปถามผู้ช่วยว่าใช้น้ำหอมกลิ่นอะไร แล้วเอาหน้าไปใกล้ๆ อันนี้ไม่โอเคแล้ว นี่เป็นการคุกคาม คือถ้าถามแค่กลิ่นอะไร หอมดี ซื้อที่ไหน ก็บริบทหนึ่ง คือต้องพิจารณาทั้งบริบทกับเจตนา ต้องดูหลายๆ อย่าง

เมื่อเป็นเรื่องคุกคามทางเพศ เราไม่สามารถบอกได้ทันทีว่า A, B, C คุกคาม แต่มันต้อง A และบริบทรอบข้าง B และบริบทรอบข้าง หรือ C และบริบทรอบข้าง แล้วค่อยพิจารณา

จากกระแส #MeToo เราคิดว่าผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศเยอะมากนะ แต่ถ้าถามว่าทำไมไม่ออกมาพูด… คือจะพูดอย่างไรดีล่ะ จะคุ้มไหม แล้วยิ่งระยะเวลาการแจ้งความคือภายในสามเดือนหลังเกิดเรื่อง บางทีสามเดือนเขายังทำใจออกมาพูดไม่ได้เลย กฎหมายไม่ได้เอื้อขนาดนั้น ตอนนี้เราเริ่มเห็นว่าปัญหามันอยู่ที่กฎหมาย เราก็ลองดูว่า ถ้าได้แก้กฎหมายแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะช่วงนี้ก็กำลังพยายามทำเรื่องนี้กันอยู่

เราอยากแก้กฎหมายเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ จะปรับเรื่องระยะเวลาการร้องทุกข์ อัตราโทษ และคำนิยามให้กว้างขึ้น

ช่วงที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลก็มีปัญหาและข่าวอื้อฉาวที่ถูกครหาว่า ส.ส.ในพรรคคุกคามทางเพศ และกระบวนการพิจารณาจากการสอบวินัยก็ล่าช้า คุณเองก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสอบสวนวินัยพรรค อยากอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร

ที่กระบวนการสอบวินัยไม่สามารถทำอย่างรวดเร็วได้ สาเหตุหนึ่งคือเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนสูงมาก ต้องพิจารณาบริบทรอบข้างอีกเยอะ นั่นจึงทำให้ไม่สามารถเอาตัวบทกฎหมายมาจับเพื่อพิจารณาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ได้

สำหรับเรา กระบวนการเวลาสอบเรื่องเพศ ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ตัวกรรมการสอบวินัยว่า มีความเข้าใจทางเพศมากพอหรือยัง และผู้เสียหายพร้อมไหมที่จะพูด สาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้เสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ไม่กล้าเข้ากระบวนการ เพราะว่าวิธีการพิจารณากระบวนการมีปัญหา และตอนแรกผู้สอบวินัยก็เป็นผู้ชายด้วย คำถามแบบในมุมมองของนักกฎหมายชายที่ค่อนข้างเถรตรงอาจทำให้ขาดความละเอียดอ่อนในส่วนนี้ไป

เรื่องความพร้อมของผู้เสียหายก็สำคัญ คืออย่างที่บอก การที่คนนอกมักเรียกร้องให้ผู้เสียหายออกมาพูด คือมันไม่ใช่ ต้องให้เวลากับเขาด้วย เหมือนตัวเราวันนี้ก็เหมือนกัน เราไม่ได้พร้อมพูดขนาดนั้น บางอย่างมันต้องตกผลึกก่อน เราไม่อยากออกมาพูดด้วยอารมณ์

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต คือหากตัวผู้ถูกร้องเรียนมีพฤติกรรมในรูปแบบการกระทำซ้ำๆ (Pattern) มีพฤติกรรมเดียวกันกับผู้เสียหายหลายคน อันนี้อันตรายมากเลย 

 

ตอนที่ภายในพรรคก้าวไกลพิจารณาเรื่องนี้ มีการยกเอาหลักการสันนิษฐานว่าผู้ถูกร้องบริสุทธิ์ไว้ก่อน (Presumption of Innocence) มาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาไหม สำหรับคุณ และหากใช้หลักนี้ในการพิจารณาความผิดเกี่ยวกับเพศ คิดว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

มีคนยกประเด็นนี้ขึ้นมาเหมือนกัน ว่าต้องยกผลประโยชน์ให้จำเลยก่อน เพราะข้อเท็จจริงยังไม่ชัวร์ หนึ่งในกรณีที่มีปัญหาคือไม่มีแชตออกมาชัดเจน ก็จะโดนบอกว่า ‘ไม่มีหลักฐาน’ หรือกระทั่งในเรื่องของ ‘ความยินยอม’ (Consent) เอง ก็ยังไม่ชัวร์ว่าสมยอมหรือเปล่า เลยมีคนบอกว่ามันควรจะยกประโยชน์ให้กับผู้ถูกกล่าวหา เพราะว่าหลักฐานไม่พอ แถมมีคนมาอ้างว่า ถ้าอย่างนี้ ส.ส.ก้าวไกลคนไหนถูกใครเกลียดหน่อยก็รวมหัวกันสร้างเรื่องขึ้นมาก็ได้นี่

เราพยายามบอกเสมอว่า เรื่องเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ จะเอากฎหมายมาจับเพื่อตีความตามตัวบทร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะมันมีรายละเอียดที่ละเอียดอ่อนมากกว่านั้น แต่ถ้าเราจะยกระดับเรื่องนี้ขึ้นมาให้สังคมเห็นว่ามันสำคัญ เราก็คงต้องให้ความเห็นใจกับผู้เสียหายมากกว่านี้

เราเองก็ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เราไม่อยากเอาความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสินเหมือนกัน เราก็เลยปรึกษาคนที่เขาทำงานโดยตรงด้านนี้หลายองค์กร ก็มีเรื่อง Consent (การยินยอม), Power Dynamics (การใช้ความต่างของอำนาจเพื่อกดขี่อีกฝ่าย), Grooming (การเตรียมการเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ) ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ถึงแม้จะมีความผิดเหมือนกัน แต่สัดส่วนการลงโทษของกรณีเหล่านี้จะแตกต่างกัน

สำหรับคุณเอง หากจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร็วที่สุดจะทำอย่างไร

เราว่าการมีกระบวนการที่ชัดเจนก็สำคัญ ตอนนี้พรรครับจบตรงที่ว่าให้กรรมการวินัยพรรคสอบ ซึ่งตอนแรกกรรมการนี้ที่ตั้งมาไม่ได้มีสำหรับการสอบเรื่องการคุกคามทางเพศ กระบวนการที่สอบอาจขาดความละเอียดอ่อนในด้านนี้ และนั่นทำให้ผู้เสียหายรู้สึกไม่ปลอดภัยมากๆ เพราะกรรมการวินัยเป็นผู้ชาย มีตำรวจ ทนายความ พอจะนึกคำถามออกใช่ไหมว่าเขาจะถามว่าอะไร คราวหลังเราเลยเสนอว่า ขอเป็นกรรมการผู้หญิงสอบกันเอง ซึ่งอันนี้เราก็โดนโต้แย้งจากผู้ใหญ่ว่า ทำไมให้ผู้หญิงสอบกันเอง เราก็บอกไปว่าจริงๆ มันสำคัญนะ

เรามีนโยบายหนึ่งที่อยากเสนอ คือให้มีตำรวจหญิงทุกสถานี เพราะเวลาผู้หญิงเราถูกสอบปากคำเรื่องแบบนี้กับตำรวจผู้ชาย เจอตำรวจขำก็มี ผู้หญิงก็จะเหมือนโดนกระทำซ้ำอยู่แบบนั้น เราอ่านสำนวนแบบ อวัยวะเข้าไป เจ็บไหม นั่นนี่ แล้วเป็นอย่างไรต่อ ก็ยากเหมือนกันถ้าจะพูด ดังนั้น จึงควรเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องนี้ได้ถึงจะมาทำ เพราะมันจะใช้กรอบแบบกฎหมายทั่วไปมาพิจารณาคดีทางเพศไม่ได้ มันส่งผลกระทบต่อผู้เสียหายมากๆ เหยื่อจะรับผลกระทบได้ไหม อีกทั้งกฎหมายเรื่องนี้ในประเทศไทยก็ยังไม่ครอบคลุมและยังไม่ชัดเจนมากพอ

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เราคิดว่าเราต้องทำงานกันหนักขึ้น และทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะแต่ละคนพื้นเพต่างกัน ร้อยพ่อพันแม่ จะให้เข้าใจเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกคนก็ยาก ต้องให้เวลาพรรคนั่นแหละ

เราอาจจะผิดหวังในมุมส่วนตัว แต่ก็ไม่ได้โทษพรรคหรือเพื่อนในพรรคไปเสียทั้งหมด ตอนนี้ก็มีมองหน้ากันไม่ติดบ้าง ก็ขอเวลาให้เราทบทวนตัวเองด้วย ทั้งบทบาท และเหตุการณ์ต่างๆ

การที่พรรคก้าวไกลมีข้อครหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ของคุณไหม

 ส่งผลอยู่แล้ว ส่งผลมากด้วย ที่จริงเมื่อวาน (1 พฤศจิกายน 2566) เราก็พูดในห้องประชุมประมาณว่า มติในครั้งนี้ของเพื่อนทุกคน เราเคารพ แต่ก็ยอมรับว่ามันจะส่งผลกับการทำงานของเพื่อนอีกหลายคนที่ขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ และจะส่งผลต่อพรรคในอีกสามปีที่เหลือ จะทำให้หลายคนต้องแบกอะไรไว้บนหลังตลอดสามปีนี้ ต่อไปเราจะพูดจะขับเคลื่อน พ.ร.บ.การคุกคามทางเพศอย่างเต็มปากเต็มคำได้อย่างไร ถ้าในพรรคเราเองยังมีความคิดแบบนี้

คิดว่าจะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนคืนมาได้อย่างไร

จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในก้าวไกลสะท้อนถึงสังคมภาพรวมทั้งหมด เราไม่อยากให้มองแค่ว่าเป็นเรื่องของพรรค สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า สังคมไทยทั้งหมดตอนนี้มันเป็นอย่างไร มันบ่มเพาะกันมานาน และเรากำลังขยับเรื่องนี้กัน แม้ว่าจะขยับไปได้พอสมควร เพราะเอาเรื่องนี้มาเป็นหนึ่งในวินัย และถึงแม้มันอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันก็มีพัฒนาการให้ค่อยๆ เรียนรู้ไป

พรรคเองก็เรียนรู้เหมือนกันจากมติในครั้งนี้ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ เราสั่งสอน วิพากษ์วิจารณ์กันได้ เพื่อให้เติบโต ทั้งสมาชิกพรรคและโหวตเตอร์ อย่างส่วนตัวเราอ่านความคิดเห็นหมด ทั้งคนที่ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ กับพรรค แล้วก็จะค่อยๆ เอาความเห็นพวกนี้มาปรับ

อีกอย่างคือต้องขอบคุณคณะกรรมการบริหารพรรคมากเลยที่กล้าหาญ กรรมการวินัยเองก็สู้สุดฤทธิ์ เราสู้กันสุดแล้วจริงๆ

งานส่วนใหญ่ที่คุณขับเคลื่อนจะเป็นประเด็นเรื่องของผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศ คุณนิยามตัวเองว่าเป็น ‘เฟมินิสต์’ ไหม

 ถ้าเฟมินิสต์หมายความถึง การเข้าใจผู้หญิง การ Empower ผู้หญิง เราก็คือเฟมินิสต์ แต่เราไม่ใช่เฟมินิสต์ในความหมายทางลบที่แปลว่าสุดโต่ง เราไม่ได้เกลียดผู้ชาย สามีเราก็เป็นผู้ชาย เฟมินิสต์เป็นอะไรที่นิยามยากมาก เราไม่กล้าพูดเพราะว่าหลังๆ ความหมายก็หลากหลายมาก แต่ถ้าหมายถึงในความหมายของการ ‘สู้เพื่อสิทธิผู้หญิง’ หรือ ‘เข้าใจความเป็นผู้หญิง’ ถ้าในความหมายนี้เราก็คือเฟมินิสต์คนหนึ่ง

 

เพิ่งมีโอกาสได้ไปงาน ‘ทำแท้งในแสงสว่าง’ (Bangkok Abortion) ของกลุ่มทำทาง เลยเพิ่งรู้ว่า คุณเปิดเผยเองว่าเป็นคนหนึ่งซึ่งเคยทำแท้งมาก่อน

เป็นเรื่องที่เราเพิ่ง Call Out ไปไม่นานมานี้ เราว่าเรื่องนี้พูดยากและเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก แม้กระทั่งพรรคเองก็ยังหวั่นๆ ที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะยังมีเรื่องของศีลธรรม โทษประหาร อะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยยังไม่ได้เปิดขนาดนั้น

สถิติของการทำแท้งจริงๆ ไปเช็กได้เลยว่า ส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยมีลูกมาแล้วด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น เราต้องออกจากกรอบนี้ก่อนว่า สังคมไทยมักจะมองคนทำแท้งเป็นเด็กใจแตกเสียก่อน คือหลายคนก็เป็นแม่ที่เขาไม่ได้อยากมีลูกแล้ว แต่การป้องกันก็ไม่มีทางไหนที่ป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไง ขนาดทำหมันแล้วยังหลุดได้เลย

สื่อก็สำคัญ ละครไทยเมื่อก่อนมีเยอะไง ไปทำแท้ง ใจแตก ผีเด็ก ช่วงที่เราทำแท้ง เป็นช่วงที่ ‘ริวจิตสัมผัส’ ดังมาก เชื่อไหมแล้วเราต้องกลัวผีเด็กอยู่มาประมาณปีกว่าๆ จริงๆ อยู่กับความรู้สึกว่ากูเป็นคนบาป กรรมหนัก ชีวิตจะไม่เจริญก้าวหน้า ชีวิตต้องตกต่ำ

แต่พอเราก้าวออกมาจากความรู้สึกนั้นได้ เราสนับสนุนสิทธิเนื้อตัวร่างกาย การตั้งครรภ์คือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มันคืออนาคตของเรา เวลาพูดถึงเรื่องทำแท้งเราต้องตัดมายาคติที่ว่า ‘ถ้าทำแท้งถูกกฎหมายแล้ว ใครๆ ก็อยากจะไปทำแท้ง’ ออกไปก่อน

เรามองว่าการทำแท้งคือทางเลือกหนึ่งในการจัดการตัวเอง ซึ่งควรมีเพื่อเป็นทางเลือกว่าหากมีการตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจเกิดขึ้น เราต้องมีสิทธิที่จะจัดการกับร่างกายตัวเองได้ มันเลยควรเป็นทางเลือกมากกว่าข้อห้าม

หรือถ้าถามเราว่า เราสนับสนุนให้มีการทำแท้งเสรี จะสวนทางกับเรื่องสิทธิเด็กที่เราขับเคลื่อนอยู่ไหม ที่จริงแล้วทั้งหมดนี้คือเรื่องเดียวกัน เพราะถ้ามีลูกตอนไม่พร้อมก็เละกันหมด มันจะล้มเป็นโดมิโนเลย

 

คุณคิดว่า การดึงประสบการณ์ส่วนตัวมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานมีพลังอย่างไร

เราว่ามันเหมือน… ตอบอย่างไรดี เคยได้ยินคำว่า ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ไหม เราว่า คำนี้เป็นคำที่ดีมาก การที่เราจะขับเคลื่อนอะไรบางอย่างแล้วมีสิ่งนี้ด้วย เราว่ามีพลังอยู่แล้ว

ทุกคนถามเราเยอะมากว่า ทำไมพี่แจมพลังเยอะจัง ทำทุกอย่างเลย บางครั้งแฟนเราก็เตือนเราว่าระวังตัวเอง ระวังจะแย่นะ ทำไมถึงต้องอินอะไรขนาดนั้น คือมุมหนึ่งอาจจะมองว่า เราเครียดเกินไปไหม แต่เรารู้สึกว่าการที่เรายังมีอารมณ์ความรู้สึกกับมันอยู่ แปลว่าเรายังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าวันไหนเราเย็นชากับมันแล้ว อันนั้นเราว่าน่ากลัวกว่าอีก

จากประสบการณ์ตรงซึ่งเป็นจุดเริ่มที่คุณบอกว่าคุณ ‘ทำเพื่อตัวเอง’ เมื่อเป็นนักการเมืองแล้ว ความคิดความมุ่งหวังที่จะผลักดันหลายเรื่องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม คิดว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

เป้าหมายก็ส่วนหนึ่ง แต่ระหว่างทางก็สำคัญ คือเพื่อนๆ ในพรรคก็ชอบแซวว่า ‘ผมเข้าใจเรื่องเลี้ยงลูกมากขึ้นเพราะทนายแจมเลยนะ’ เพราะเราพูดทั้งหมดตลอด (ยิ้ม)

เราอยากบอกว่าทุกอย่างต้องเป็นไปได้สิ ถ้าคิดว่าเป็นไปไม่ได้คงไม่มาสมัครเป็น ส.ส. คงย้ายหนีไปอยู่ต่างประเทศแล้ว การที่เรายังมาทำงานการเมืองเพราะว่าเรามีความเชื่อในการเปลี่ยนแปลง ก็เลยยังสู้ต่อ

ถ้าบอกว่า ‘มันยาก’ แสดงว่า ‘มันยังทำได้’ นั่นก็เพราะเราเห็นความเป็นไปได้ไง

Fact Box

  • แจม-ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ ‘ทนายแจม’ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล (เกียรตินิยมอันดับ 1) นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และได้รับประกาศนียบัตรบัณฑิต กฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย รุ่นที่ 66
  • จุดเริ่มต้นการทำงานทนายความของเธอ มาจากการเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และทำงานเป็นทนายความเต็มตัวที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นระยะเวลา 7 ปี
  • ปัจจุบัน เป็น ส.ส.สมัยแรกในนามพรรคก้าวไกล และสังกัดอยู่กรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
  • ‘ทนายความสิทธิมนุษยชน คุณแม่ลูกสอง ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการเมือง’ คือประโยคแนะนำตัวในเพจสาธารณะของเธอ
  • สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของเธอได้ทางเฟซบุ๊กเพจ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ - ทนายแจม - Sasinan Thamnithinan
Tags: , , , , , , ,