‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่’

คือหมัดเด็ดสำหรับการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึง เป็นอาวุธที่จะใช้สู้กับพรรคการเมืองอื่น ผ่านการบอกพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ให้เริ่มถอยคนละก้าว ละทิ้งความบาดหมางขุ่นเคืองใจไว้เบื้องหลัง และเดินหน้าไปพร้อมกัน สู่การเป็นประเทศไทยที่สามัคคีและดีกว่าเดิม 

แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนก็ยังคงสงสัยว่าจะเป็นนโยบายที่ทำได้จริงไหม เพราะครั้งหนึ่งพลังประชารัฐเองก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง จนทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือในช่วงที่ผ่านมาพรรคก็มีเรื่องราวภายใน โดยเฉพาะการแยกทางของพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา ที่ไปเข้าร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ สร้างความสั่นคลอนภายในพรรคไม่น้อย

อีกทั้งหากพูดว่าจะก้าวข้ามความขัดแย้งได้จริงๆ พลังประชารัฐจะสามารถจับมือกับพรรคอย่างเพื่อไทยและก้าวไกลได้หรือไม่

The Momentum พูดคุยกับ สกลธี ภัททิยกุล หัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ ถึงกลยุทธ์ในเกมการเลือกตั้งว่าจะเป็นพรรคที่ยืนอยู่ตรงไหน จับมือกับใคร และพร้อมช่วยประชาชนอย่างไรบ้าง รวมไปถึงตัวของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ว่ามีความพร้อมจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงใดบ้างในเวลานี้

หลังจากการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ผ่านไป ตอนนั้นคุณมองเส้นทางการเมืองอย่างไรต่อ

ด้วยความที่ผมก็ยังร้อนวิชาอยู่ ยังคงเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เรานำเสนอไป ถ้าได้ทำ มันดีต่อประเทศ

ดังนั้นพอมันเริ่มมีความชัดเจนแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งใหญ่ เราก็เลยพยายามนำนโยบายของเรามาทำกับพรรคการเมืองใหญ่ดู คือจากเดิมที่มันเป็นเรื่องท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ คราวนี้เราอยากทำให้มันใหญ่ขึ้น เป็นเรื่องระดับประเทศ เป็นเรื่องระดับชาติ

แต่ยืนยันตรงนี้ว่า เรื่องแพ้การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ผมไม่เสียกำลังใจเลย เพราะผลลัพธ์ที่ออกมา สำหรับผมถือว่าเกินความคาดหมาย เพราะถ้าตัดรายชื่อคุณชัชชาติออกไป ผมก็ชนะเป็นที่ 2 เกือบตั้ง 20 เขต ดังนั้น เราได้เห็นว่ามันมีคนตอบรับสิ่งที่เราจะทำ ก็ยังคงปลื้มและดีใจอยู่

มีเรื่องไหนบ้างในการเลือกตั้งครั้งนั้น ที่สามารถนำมาใช้สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงได้

ผมคิดว่าเรื่องกระแสเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เรื่องนี้มีความสำคัญถึง 70% เลย ส่วนความนิยมของตัวบุคคลเอาเข้าจริงอาจสำคัญประมาณ 30% เอง ดังนั้นการทำการเมืองในกรุงเทพฯ ทำให้เราเห็นว่า ถ้านำพากระแสให้เข้ามาหาตัวได้ มันจะเป็นแต้มต่อที่สำคัญมากในเกมการเลือกตั้ง

อย่างคุณชัชชาติเองตอนนั้นกระแสก็มาแรงมาก ซึ่งหากเราพูดถึงสิ่งนี้ในต่างจังหวัด เกมการเมืองอาจจะออกมาอีกหน้าหนึ่งเลยก็ได้ เพราะต่างจังหวัดการเมืองจะขึ้นตรงกับความเป็นบ้านใหญ่มากกว่า ดังนั้นเกมเลือกตั้งคราวนี้ หากได้ทั้งหัวคะแนนบ้านใหญ่ และสามารถทำกระแสของตัวผู้สมัครให้ดี ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็จะเป็นพื้นที่ของพลังประชารัฐได้

ทำไมจึงกลับมาเข้าร่วมกับพลังประชารัฐอีกครั้ง

ต้องบอกว่าโดยปกติผมเป็นคนที่มี DNA แบบพลังประชารัฐมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าตอนที่ตัดสินใจลาออกก่อนหน้านี้ เพราะว่าเราอยากทำการเมืองอิสระ โดยไม่มีกรอบของตัวพรรคการเมืองมาจำกัดไว้ ในระหว่างการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ซึ่งตอนนั้นก็ทำเต็มที่จริงๆ แล้วผมก็มองว่าเราทำได้ดีระดับหนึ่งแล้ว 

แต่สำหรับการทำการเมืองใหญ่มันแตกต่าง มันต้องอาศัยความร่วมือ ต้องอาศัยทีมขนาดใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหลายพรรคติดต่อเข้ามานะครับ แต่ว่ามีเพียงแค่พรรคพลังประชารัฐและลุงป้อม (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ที่บอกว่าพร้อมให้อิสระเราเต็มที่ อย่างลุงป้อม ท่านพูดเองเลยว่า อยากทำอะไร ทำเลย ดังนั้นการอยู่กับพลังประชารัฐ ก็จะทำให้ผมได้ทำการเมืองในแบบของตัวเองอย่างอิสระ และที่สำคัญตัวท่านเองก็เห็นคุณค่าและให้การสนับสนุนมาโดยตลอด

ดังนั้นมันคงเป็นเรื่องดี ถ้าเราตัดสินใจกลับมาอยู่พรรคทพลังประชารัฐ ตอนนั้นผมคิดแบบนี้

คราวนี้มาในบทบาท ‘หัวหน้าทีมดูแลการเลือกตั้งกรุงเทพฯ’ ของพรรคพลังประชารัฐ

คราวหน้าหน้าที่ของผมคิดการดูแลผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเลย คือทำตั้งแต่คัดเลือกตัวผู้สมัคร ออกแบบนโยบายด้วยการใช้ประสบการณ์สมัยเป็น ส.ส. และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ รวมไปถึงงานหลังบ้านต่างๆ ตั้งแต่การทำป้าย รถหาเสียง วิธีการเดินหาเสียง คือพูดง่ายๆ เราเป็นเหมือนพี่เลี้ยงให้กับผู้สมัครของพลังประชารัฐ ช่วยให้เขาทำงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะผมรู้ว่าการเป็นผู้สมัครที่ต้องทำอะไรคนเดียว มันเป็นเรื่องที่เหนื่อยและว้าเหว่มาก ดังนั้น เราจึงพยายามอำนวนความสะดวกทุกอย่าง แล้วให้เขาเดินหน้าหาเสียง พบปะประชาชนอย่างเดียวพอ

มองว่า กรุงเทพฯ ต้องออกแบบนโยบายให้เฉพาะและแตกต่างจากจังหวัดอื่นอย่างไร

นโยบายลดแลกแจกแถมจะใช้ในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้ เพราะด้วยความที่ประชาชนเป็นมนุษย์เงินเดือนเยอะ และอยากจะเห็นความคุ้มค่าของภาษีที่จ่ายไป ดังนั้น นโนยายจึงต้องคิดให้ต่าง

ซึ่งวิธีคิดนโยบายกรุงเทพฯ เราต้องมองก่อนว่าตัวเราเองในฐานะที่อยู่เมืองนี่เช่นกัน อยากได้อะไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องความสะดวกในการใช้ชีวิต ทั้งจราจร สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ซึ่งก็มีนโยบายและพร้อมทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อยากเสริมในคราวนี้คือเรื่องของการมองภาพใหญ่ มองถึงต้นตอของปัญหากรุงเทพฯ ซึ่งคือความหนาแน่นของประชากร 

กรุงเทพฯ มีประชากรลงทะเบียน 5 ล้านคน แต่อยู่กันจริง 10 กว่าล้านแน่นอน ดังนั้น ปัญหาเรื่องอื่นๆ ทั้งรถยนต์ การจราจร ฝุ่น สิ่งแวดล้อม มันตามมาแน่นอน

ดังนั้น แนวทางแก้ไข ผมขอเสนอนโยบาย ‘กรุงเทพฯ +5’ คือปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา และนครปฐม คือทำให้ความหนาแน่นของประชากรกรุงเทพฯ กระจายออกไปจังหวัดเหล่านี้ แล้วก็ทำให้การเดินทาง เข้าถึงได้ง่าย สะดวก ทำให้ศูนย์กลางของประเทศกว้างและเจริญแผ่ออกไป

แล้วหากมองในภาพรวมประเทศ พลังประชารัฐอยากแก้ไขปัญหาอย่างไร

ถ้าเป็นนโยบายภาพใหญ่ที่จะขายได้ในต่างจังหวัด คือเรื่องนโยบายสวัสดิการและสังคมเป็นหลัก ซึ่งอันที่ขายได้มากที่สุด ซึ่งก็ต่อยอดมาจากรัฐบาลปัจจุบัน คือบัตรประชารัฐ ที่กำลังจะกลายเป็นบัตร 700 คือให้เงินรายเดือนสำหรับคนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์

ซึ่งบัตรของเราจะติดอาวุธเพิ่มไปอีก คือจากเดิมที่ให้เงินไปจับจ่ายใช้สอย แต่คราวนี้จะเพิ่มประกันชีวิตเพิ่มเข้ามา คือสมมติใครที่ถือบัตรอยู่แล้วเสียชีวิต ก็จะได้เงินก้อน 2 แสนบาทไปให้ครอบครัวที่ยังเหลืออยู่ หรือในรูปแบบของเงินกู้ ปกติเราได้เงินเดือนละ 700 บาท แต่คราวนี้ก็เอาเงินเป็นก้อนไปเลย 5 หมื่นบาท แล้วค่อยไปหักทุกเดือนเป็นเวลา 7 ปี แทนอะไรแบบนี้ เอาเงินไปประกอบอาชีพก่อน 

หรืออีกอันหนึ่ง คือการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะได้ยินที่เราหาเสียงกัน สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด คือเงิน 3,000 4,000 และ 5,000 บาท จะเป็นเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ 60 70 และ 80 ปี ตามลำดับ เป็นขั้นบันไดของเบี้ยยังชีพและผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นจุดขายที่ใช้ในต่างจังหวัดและทั่วประเทศ

ก้าวข้ามความขัดแย้ง ถือเป็นนโยบายหลักที่พลังประชารัฐใช้ในการหาเสียงคราวนี้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

มันเกิดขึ้นจากการที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ พยายามจะถอดบทเรียนตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยยังติดหล่มความขัดแย้งอยู่ ซึ่งท่านก็มีความคิดที่จะแก้ไข 

ซึ่งเรื่องนี้ผมก็เห็นด้วยนะ อย่างตอนที่เลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ จะเห็นเลยว่า ต่อให้นโยบายเราดีแค่ไหนก็ตาม แต่คนที่เขาแบ่งฝั่ง แบ่งขั้วการเมืองชัดเจนอยู่แล้ว ก็จะไม่มีทางมาเลือกเราเลย ดังนั้น ที่ผ่านมา การเมืองในไทยก็เลยเป็นการเลือกและไม่เลือก ด้วยความรัก ความเกลียดชังเสียมากกว่า

ทั้งที่ประเทศไทย มีศักยภาพที่ดีพอไม่แพ้ประเทศไหนเลย แต่ทำไมเราถึงต้องมาปล่อยให้ประเทศติดหล่มการแบ่งแยกในตลอด 20 ปีที่ผ่านมาแบบนี้ด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ท่านหัวหน้าพยายามแก้ไขตรงนี้ให้ดียิ่งขึ้น

ถ้าบอกว่าก้าวข้ามความขัดแย้งได้จริงๆ พรรคพลังประชารัฐจะสามารถจับมือกับขั้วตรงข้าม อย่างพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยได้ไหม

ผมว่าเรื่องนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ คำว่าก้าวข้ามคือเราต้องยอมถอยหลังกันคนละก้าว เพราะถ้าเราคิดแต่ว่าอีกฝั่งเป็นศัตรู มันก็ไม่มีทางออก มันก็มาบรรจบกันไม่ได้ ดังนั้น เราอาจจะต้องลองถอยและยอมรับว่า ทุกคนก็มีส่วนผิดกันคนละนิด คนละหน่อย อาจจะต้องทำเป็นลืมและพยายามก้าวไปข้างหน้าต่อ

ผมยังคงเชื่อว่า การถอยคนละก้าวคือเรื่องสำคัญ จริงๆ นะ คือถ้าต่างคน ต่างอยู่จุดเดิม มองอีกฝั่งเป็นศัตรู อย่างไรปัญหามันก็ไม่มีทางจบ อย่างไรก็ไม่สามารถจับมือ มองตากัน แล้วรู้สึกว่าเป็นคนในชาติเดียวกันได้ 

สำหรับคำถามนี้ สุดท้ายพลังประชารัฐจะร่วมมือกับพรรคเหล่านี้ได้ไหม ผมคิดว่าถ้าจุดยืนของแต่ละพรรคอยู่ที่ประชาชนและความเจริญของประเทศจริงๆ มันก็ไม่มีกำแพงไหนจะปิดกั้นการร่วมมือและจับมือกันได้ ผมว่าหลังเลือกตั้งครั้งนี้ เราอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เห็นมาหลายสิบปีแล้วก็ได้ ทั้งการสลายขั้วการเมือง และการจับมือและพัฒนาประเทศไปข้างหน้า ซึ่งผมก็อยากเห็นตรงนั้น เพียงแต่ว่ามันต้องดูเรื่องอื่นประกอบด้วยว่า จำนวนและตัวเลขของที่นั่งในสภาเป็นอย่างไร นโยบายที่ชูอยู่คือเรื่องไหน แล้วเงื่อนไขของแต่ละพรรครับได้มากน้อยอย่างไร  

แต่อย่างไรก็ตาม อันนี้เป็นคำตอบจากมุมมองภาพรวมของพรรคพลังประชารัฐ ส่วนตัวบุคคล ทั้งผมเองและคนอื่นๆ ในพรรค เขาก็อาจมีแนวคิด มีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน อันนั้นก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล

3 เหตุผลที่คุณคิดว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เหมาะแก่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผมขอเป็น 3 คำง่ายที่เป็นตัวตนของท่านเลย คือฟัง คิด และทำ 

ฟัง คือลุงป้อมท่านเป็นคนที่รับฟังทุกคน อย่างตัวผมเองหรือใครก็ตามที่เสนอแนะเรื่องต่างๆ อยากให้ท่านลองปรับ ท่านก็รับฟังนะ คือผมเชื่อว่าการเมืองยุคนี้ มันไม่มีเด็กและผู้ใหญ่แล้ว มันอยู่ที่อะไรเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า ซึ่งหากเรื่องไหนที่เห็นว่าดีท่านก็พร้อมจะรับฟังและปรับเปลี่ยนเสมอ

คิด คือท่านเป็นคนที่คิด หมายความว่าเป็นที่คิดว่างานไหนเหมาะกับใคร ใช้คนได้ถูก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของการเป็นผู้บริหาร

ส่วนเรื่องทำ ก็แน่นอนว่าในหลายนโยบายท่านก็เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังมาตลอด และก็สำเร็จมาเสมอ ทั้งเรื่องดิน เรื่องน้ำ อะไรที่ท่านรับมอบหมายก็ทำลุล่วง 

พรรคพลังประชารัฐมองเรื่องมาตรา 112 อย่างไรบ้างในวันนี้

ผมคิดว่าหลายอย่างต้องปรับให้เขากับยุคสมัย คือท้ายที่สุดมันก็เป็นเพียงแค่กฎหมายมาตราหนึ่ง 

แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ยังเชื่อว่าทุกคนควรมีกฎหมายคุ้มครอง กระทั่งประมุขของประเทศเองก็ตาม

 ดังนั้นในส่วนของกฎหมายมาตรา 112 ที่มันมีอยู่ ตรงนี้โอเคอยู่แล้วสำหรับผม เพียงแต่ว่าวิธีในการนำไปใช้ อาจต้องใช้ให้มันเหมาะสม และไม่ไปทำร้ายฝั่งตรงข้ามที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน 

หากแบ่งขั้วการเมืองเป็นฝั่งซ้ายและฝั่งขวา พรรคพลังประชารัฐจะอยู่ตรงไหน

ผมว่าตรงกลางละตอนนี้ (หัวเราะ) อย่างที่บอกเราเห็นการเมืองมันแบ่งขั้วมาเยอะแล้ว ผมก็อยากให้กลับไปเหมือนสมัยก่อน ที่มันสู้ด้วยนโยบาย และการทำงานจริงๆ คือผมไม่อยากให้ประชาชนในวันนี้ เลือกด้วยความที่เป็นซ้าย เป็นขวา แต่อยากให้จับดูที่เนื้องาน และนโบายอย่างแท้จริง 

แต่ถ้าถามจุดยืนของพลังประชารัฐที่ผมคิดว่าลุงป้อมหรือกรรมการบริหารพรรคเอง ที่พยายามจะสร้างจุดยืนในเรื่องการก้าวข้ามความขัดแย้งขึ้นมา คงอยากให้พรรคอยู่ตรงกลาง แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ตรงกลางจะรับได้กับทุกอย่างนะ ตรงกลางคือพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย โดยต้องถือหลัก ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เอาไว้อยู่

ทุกวันนี้คุณยังพูดคุยกับกลุ่มเพื่อน กปปส. อยู่บ้างไหม

ก็ยังคุยกัน แต่อาจไม่บ่อยเท่าสมัยก่อน ตอนนี้ต่างคนก็ต่างยุ่ง 

แต่พวกเราก็ยังคงเหมือนเดิม ผมคิดว่าการแยกกัน มันไม่ได้เกิดจากการขัดแย้งหรือปัญหาอะไร คือหัวใจของพวกเราก็ยังมีจุดยืนเช่นเดิม เพียงแต่ว่า พอมีโอกาสได้ทำงานการเมือง ในรายละเอียดปลีกย่อยของอุดมการณ์ก็อาจแตกต่างกันออกไป ซึ่งบางคนสบายใจจะอยู่จุดนี้ บางคนก็สบายใจที่จะยืนจุดอื่น ผมว่ามันก็เป็นเรื่องปกติ ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและทัศนคติของแต่ละคน

อย่างตัวผมเองก็สบายใจที่ได้อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เพราะทางลุงป้อมหรือกรรมการบริหารพรรค เขาให้อิสระผมในการทำงาน ซึ่งผมว่ามันก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่คนอื่นก็เลือกสังกัดพรรคต่างๆ เพราะเขาสบายใจที่จะอยู่ในจุดนั้นเช่นกัน 

ในฐานะที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐมาหลายยุคสมัย มองว่าทุกวันนี้พรรคเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

จนถึงวันนี้เรา ผมว่าเราเปลี่ยนไปเยอะ คือต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของพรรคการเมืองใหญ่ เรื่องความเห็นไม่ตรงกัน มีกลุ่ม มีก๊ก คนนั้นสนิทกับคนนี้ มันมีเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ซึ่งจุดนี้ก็ทำให้ที่ผ่านมา คนอาจมองพรรคพลังประชารัฐในแง่ลบ เพราะสังเกตถึงความขัดแย้งที่ปรากฏภายใน

แต่วันนี้ที่ผมได้กลับเข้ามา ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพรรค เห็นทุกคนร่วมไม้ร่วมมือ ตั้งใจทำงาน เพื่อไปสู่จุดหมายใหญ่ โดยเฉพาะในบรรยากาศการเลือกตั้งช่วงนี้ ก็ดูเหมือนกับว่าพรรคกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น 

สุดท้ายเองผมมองว่าพลังประชารัฐก็ต้องก้าวข้ามความขัดแย้งให้ได้ เพราะถ้าภายในเรายังขัดแย้งกันเองอยู่ ก็คงไปนำเสนอเรื่องนี้กับประชาชนได้ ดังนั้น ทุกวันนี้ต้องหันหน้าคุยกัน ทำงานในส่วนตัวเองให้ดีที่สุด

ในตอนนี้พลังประชารัฐยังให้การสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ไหม

เรื่องนี้มันให้คำตอบค่อนข้างยาก คือเราต้องแบ่งเป็นส่วนของพรรคพลังประชารัฐกับตัวพลเอกประวิตรก่อน 

สำหรับพลเอกประวิตรกับพลเอกประยุทธ์ คือความสัมพันธ์ไม่มีทางแยกกันได้แน่นอน คือคนอยู่ด้วยกันมา 50 ปี กินนอนด้วยกัน ดังนั้นความผูกพันที่เกิดขึ้นมันตัดขาดไม่ได้อยู่แล้ว

ในส่วนพรรคพลังประชารัฐนั้น ผมคงตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แต่ถ้าส่วนตัวผมเองในฐานะที่เคยเคารพท่านประยุทธ์อยู่ วันก่อนเป็นอย่างไร วันนี้ก็เป็นอย่างนั้น และผมคิดว่าส่วนมากในพรรคก็คิดเห็นเช่นนี้ ดังนั้น เรื่องที่ตัวพรรคจะมีปัญหาหรือไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์คงไม่มี 

แต่ก็ต้องดูอีกทีหลังเลือกตั้ง เพราะการที่จะเป็นรัฐบาลมันอยู่ที่ตัวเลขเป็นสำคัญ มันอยู่ที่แต่ละพรรคได้ที่นั่งในสภาฯ มาเท่าไร ตรงนั้นถึงจะคุยกันได้ว่าพรรคจะเอาอย่างไรต่อ ในการสนับสนุน ร่วมมือ เดินต่อไปข้างหน้า 

คำว่าผู้นำหรือนายกรัฐมนตรีในปี 2566 ควรมีคุณสมบัติอย่างไร 

คนที่เป็นหัวหน้าองค์กร ผมมองว่าจริงๆ ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องนะ คนที่เป็นประธานบริษัท เขาก็ไม่เห็นต้องรู้เรื่องแม่บ้าน ไม่เห็นต้องรู้เรื่องบัญชีหรอก เพียงแต่ต้องเลือกใช้คนเก่งให้ถูกกับงาน และที่สำคัญคือต้องรับฟัง กล้าตัดสินใจ ผมคิดว่าถ้ามีคุณสมบัติตรงนี้ รับรองว่าเป็นผู้นำหรือนายกรัฐมนตรีที่ดีได้ 

ดังนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ว่าจะต้องเก่งเรื่องกลาโหม เรื่องคลัง เรื่องสิ่งแวดล้อม ไปเสียหมด เพียงแต่ต้องรู้จักใช้คนที่เก่งให้ถูกกับงาน และตัดสินใจเด็ดขาด

คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ตามนิยามของคุณ หมายถึงอะไร

การที่ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพเท่าเทียมกัน หนึ่งคนหนึ่งเสียง และมีเสรีภาพในการสื่อสารหรือแสดงอะไรก็ตามที่ไม่ไปรบกวนสิทธิของคนอื่น และยึดถือการปกครองที่ใช้เสียงข้างมากเป็นสำคัญ

ตลอดชีวิตในฐานะนักการเมืองบทบาทต่างๆ อาชีพนี้มันสอนเรื่องอะไรให้กับคุณบ้าง

ผมผ่านงานการเมืองมา 16 ปี ผมเป็น ส.ส.ตั้งแต่อายุ 29 ตอนนี้ผมอายุ 45 ปีแล้ว ผมผ่านการเป็น ส.ส.ระดับชาติ ส.ส.ท้องถิ่น เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ มา ซึ่งแน่นอนว่ามันก็มีทั้งสมหวัง ผิดหวัง มีครบทุกรสชาติ เป็นประสบการณ์ที่สอนเราหลายเรื่อง

มันก็คงมีครับ คนที่ไม่เคยแพ้การเลือกตั้งเลย แต่สำหรับผมการแพ้มันสอนเราหลายอย่าง สอนว่าแพ้ก็มีวันชนะ สอนให้รู้ว่าการเป็น ส.ส. เป็นผู้บริหาร มันไม่จีรัง เพราะวันหนึ่ง เราก็กลับไปเป็นคนที่ไม่มีสถานะอะไรเลยก็ได้ ดังนั้น ชีวิตการเมืองตลอด 16 ปี มันก็สอนให้ผมเป็นคนที่ไม่ประมาท และเป็นคนที่ไม่ได้ยึดติดกับอะไร 

วันนี้ถ้าถามว่าผมเลิกเล่นการเมืองได้ไหม ผมเลิกได้เลย โดยไม่มีสิ่งใดที่จะต้องเสียดาย เพราะผมก็ทำมาหลายอย่างแล้ว เพียงแต่ว่าวันที่เราทำไหวอยู่ เราก็ยังอยากทำไปเรื่อยๆ เพราะสิ่งที่เราอยากจะทำ มันยังมีประโยชน์กับประเทศชาติอยู่ 

ดังนั้นหากเลือกตั้งครั้งนี้คุณแพ้อีกรอบ ก็ยังคงยืนยันว่าจะไม่เสียกำลังใจ 

ไม่ อย่างที่บอกตลอด 16 ปีที่ผ่านมา มันผ่านมาหมดแล้ว มันทั้งชนะ ทั้งแพ้ มันรู้ทุกรสชาติ ถึงแพ้ก็ไม่ท้อ ในทางกลับกัน มันทำให้เราอยากจะแก้ตัว กลับมาทำให้ดีกว่าเดิมได้อีก เป็นเหมือนแรงกระตุ้นมากกว่า 

ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ The Momentum ได้ทำเนื้อหาผ่านคอนเซปต์ ‘Democracy Strikes Back’ ซึ่งอ้างอิงจากภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ดังนั้นจึงอยากรู้ว่า หากให้คุณเลือกตัวละครในเรื่องนี้ที่เหมาะกับคุณ คุณจะเลือกใคร

คือถ้าชอบนะ ผมอาจจะชอบ มาสเตอร์โยดา (Yoda) เพราะด้วยความสุขุม รอบรู้เก่ง ไม่อวดตัว แต่ถ้าที่ชอบจริงๆ คือ ฮาน โซโล (Han Solo) กล้าที่จะทำอะไรนอกกรอบ กล้าที่จะลุย 

ขอ 1 บทเพลงสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ 

ถ้าเป็นวันนี้ในฐานะแม่ทัพเมืองหลวง และผมเป็นเด็ก Y2K ก็คงต้องเป็นเพลงพลิกล็อค ของ คริสติน่า อากีล่าร์ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะเกิดปรากฏการณ์แบบนั้นได้ หลายคนบอกว่าการเลือกตั้งคราวนี้ ส.ส.เก่าในกรุงเทพฯ เหลือคนเดียวจาก 12 คน ต้องเป็นการแข่งขันที่ยากของพรรค แต่ผมขอบอกไว้เลยว่า การเลือกตั้งมันวัดกันวันนี้ไม่ได้ มันต้องไปดูช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ดังนั้น มันยังคงมีโอกาสสำหรับทุกพรรคอยู่

Fact Box

  • สกลธีถือเป็นแนวร่วมคนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่ม กปปส. ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวระหว่างเดินทางกลับจากต่างประเทศ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามหมายศาลที่ออกมาในข้อหาการชุมนุม แต่ได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมาในวงเงิน 6 แสนบาท 
  • ในปี 2561 สกลธีได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร มาตรา 49(3) และมาตรา 55 และคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยให้พลตำรวจเอก ชินทัต มีศุข รองผู้ว่าฯ ในขณะนั้นพ้นจากตำแหน่ง
  • ในปี 2565 สกลธีได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามผู้สมัครอิสระ โดยได้คะแนนเป็นอันดับ 4 จำนวน 230,534 คะแนน คิดเป็น 8.6% ของผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด
Tags: , , , ,