“เชื่อไหมว่าการออกแบบห้องเรียน ก็สะท้อนกลับมาที่แนวคิดการออกแบบรัฐสภาได้ มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Parliament ที่สถาปนิกเขามีโอกาสไปดูต้นแบบรัฐสภาของ 190 ประเทศทั่วโลก แล้วค้นพบความสัมพันธ์อย่างหนึ่งคือ ยิ่งประเทศไหนมีรัฐสภาพื้นที่ใหญ่ ประเทศนั้นมักจะมีคะแนนความเป็นประชาธิปไตยลดน้อยลง ประเทศที่เป็นเผด็จการอย่างเกาหลีเหนือหรือรัสเซีย ผู้นำจะอยู่บนแท่นแล้วก็พูดลงมายังสมาชิกรัฐสภา ซึ่งนั่งอยู่ห่างกัน เพราะเขาไม่อยากให้พูดคุยกัน ไม่อยากให้แลกเปลี่ยนกัน เวลาประท้วงก็จะไม่ค่อยได้ยิน เพราะหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาคือฟังว่าผู้นำต้องการอะไร

“แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย รัฐสภามักจะเป็นห้องเล็กๆ นึกภาพรัฐสภาของสหราชอาณาจักร จะเห็นว่าเขานั่งติดกันเลย ที่นั่งแทบไม่พอสำหรับทุกคนด้วยซ้ำ ถ้าสมาชิกรัฐสภามาช้าต้องยืนอยู่ข้างๆ ที่นั่ง แล้วรูปแบบการจัดผังจะเป็นการแบ่งที่นั่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝ่ายรัฐบาลจะนั่งประจันหน้ากับฝ่ายค้านห่างกันแค่ไม่กี่เมตร แล้วเวลามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็พูดกันหน้าต่อหน้าได้เลย นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้อยู่บนแท่น แต่นั่งอยู่แถวหน้าสุดพร้อมกับรัฐมนตรีทุกคน

“ผมไม่เข้าใจว่ารัฐสภาไทยที่พยายามบอกว่าเป็นประชาธิปไตยนั้น เหตุใดจึงไม่เห็นมีใครมีแนวคิดอยากสร้างรัฐสภาให้มีขนาดเล็กลง มีแต่จะอยากสร้างรัฐสภาที่ใหญ่ยิ่งขึ้น ใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าจะสร้างเสร็จ” 

ทั้งหมดนี้ คือการประเมินผลงานรัฐสภาไทยของ ‘ไอติม’ – พริษฐ์ วัชรสินธุ นักธุรกิจ ซีอีโอบริษัทพัฒนาแอพพลิเคชันด้านการศึกษา อดีตพนักงานบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ McKinsey & Company และอดีตประธานสมาคมนักศึกษา Oxford Union ในช่วงที่เขากำลังศึกษาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด อันถือเป็นแม่แบบของการพูดคุย ถกเถียงแลกเปลี่ยน และวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่เป็นกระแสในสังคม เช่นเดียวกับรัฐสภาในปัจจุบัน

วันนี้ พริษฐ์จะมาพูดถึง ‘รัฐสภาไทย’ โรงละครหลังใหญ่ในเกมการเมืองที่มีปัญหามาโดยตลอด หลังพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาและพรรคพวก ตบเท้าเข้ามาในฐานะ ‘รัฐบาล’ และมี ‘เสียงข้างมาก’ ในรัฐสภา ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะวิพากษ์ตั้งแต่ความเชื่อมั่นของรัฐสภาในช่วงที่ผ่านมา สารพัดความวิปริตที่หยั่งรากฝังลึกมายาวนาน จนถึงทางออกที่อาจช่วยให้เกิดการวิวัฒน์ไปสู่สภาวะ ‘ข้ามสภา’ ที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องพึ่งตัวแทนในรัฐสภาอีกต่อไปในอนาคต 

 

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐสภาไทยชุดนี้มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง    

ผมขอวิเคราะห์ในเชิงภาพรวมแล้วกัน เพราะการทำงานของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนมีผลงานรายบุคคลที่แตกต่างกัน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผมมองว่าความหวังที่คนมีให้กับรัฐสภาเริ่มลดน้อยลง ความหวังที่เคยฝากเอาไว้เริ่มหายไปหลังมีการเลือกตั้ง 

ถ้าย้อนกลับไป 2 ปีที่แล้ว ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ผมว่าประเทศไทยอยู่ในสภาวะเหมือน ‘เกมชักเย่อ’ เรามีทีมหนึ่งที่อาจเรียกว่าระบบที่ล้าหลัง เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ที่มีความถดถอยในเชิงประชาธิปไตยเพราะถูกร่างโดยคณะรัฐประหาร ที่ผ่านประชามติอย่างไม่เสรีและไม่เป็นธรรม ไม่ได้เปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายหาเสียงอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งหากพูดตามตรง นี่คือสภาวะถดถอยลงคลองด้วยซ้ำ หากเทียบจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ยึดโยงจากประชาชนมากกว่า

อีกฝั่งคือ เรามีค่านิยม และวัฒนธรรมในสังคมที่มีการเปิดรับและเชื่อมั่นในประชาธิปไตยมากขึ้น เรามีคนรุ่นใหม่ที่ได้สัมผัสค่านิยมของโลกเสรีจากเทคโนโลยี มีความต้องการ มีความเข้าใจในประชาธิปไตย และมีการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งสอดรับกับกระบวนการเสรีนิยมที่กำลังถูกผลักดัน เช่น การยกเลิกเกณฑ์ทหาร หรือการเรียกร้องสิทธิสมรส

จะเห็นได้ว่ามีการชักเย่อระหว่างระบบและค่านิยมกันอยู่ ดังนั้นพอมีการเลือกตั้ง มีผู้เล่นใหม่เกิดขึ้นมาคือรัฐสภา ฝั่งค่านิยมหรือสังคมก็มองด้วยความคาดหวังว่า รัฐสภาจะมาอยู่ในทีมเขา จะเป็นผู้เล่นอีกคนที่ดึงสังคมไปข้างหน้า ทำให้ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะเขียนอย่างไร เขาก็ยังออกไปใช้สิทธิกันอย่างท่วมท้น ผมถามนักศึกษาว่ามีใครเลือกพรรคเดียวกับพ่อแม่บ้าง ปรากฏว่ามีน้อยมาก เพราะเขามีความคิดเป็นของตัวเอง และเชื่อว่าประเทศยังมีความหวังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประชาธิปไตยและสังคมได้จริงๆ 

แต่พอผ่านไป 2 ปี กลายเป็นว่าฝั่งระบบดั้งเดิมพยายามทำทุกวิธีทาง เพื่อให้ผู้เล่นที่ชื่อ ‘รัฐสภา’ มาเป็นทีมตัวเอง แล้วเปลี่ยนความหวังของคนที่อยากเห็นประชาธิปไตยมาเป็นอุปสรรคของประชาธิปไตย ฉุดรั้งให้สังคมไปข้างหน้าไม่ได้

หลังจากนั้นเราก็จะเริ่มเห็นว่า มันมีการบิดวิธีคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อพลิกผลการเลือกตั้งจากหน้ามือเป็นหลังมือ การเอาสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน มามีบทบาทในการตัดสินใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงฟางเส้นสุดท้ายคือการยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนที่เลือกพรรคนั้นเข้าไป รู้สึกว่าไร้ซึ่งตัวแทนในรัฐสภาแล้ว

ดังนั้นแทนที่รัฐสภาจะเป็นผู้เล่นที่ดึงสังคมไปข้างหน้า อยู่ทีมเดียวกับค่านิยมประชาธิปไตยในสังคม มันถูกกลืนไปอยู่ฝั่งที่ ‘ฉุดรั้งประชาธิปไตยเอาไว้ข้างหลัง’ เลยเป็นเหตุให้สัญญาณของความเชื่อใจอันขาดสะบั้นเกิดขึ้นในเวลาต่อมา นั่นก็คือการเคลื่อนไหวนอกสภาหรือการชุมนุมประท้วง 

ผมเชื่อว่าถ้ารัฐสภาดี ความเคลื่อนไหวนอกสภาจะน้อยลง ถ้าสรุปบทบาทของรัฐสภาปัจจุบัน ผมขอใช้คำว่า ‘ตามไม่ทัน นำไม่เป็น’ ตามไม่ทันตรงที่หลายประเด็นที่คุยกันนอกสภา มันไปไกลกว่าที่คุยกันในสภาแล้ว เวลาเราพูดเรื่องรัฐธรรมนูญว่าจะร่างฉบับใหม่อย่างไร มีเนื้อหาแบบไหน เป็นสภาเดี่ยวหรือเปล่า องค์กรอิสระเขียนอย่างไร ในหมวดที่ 1 หมวดที่ 2 จะแก้ไขมาตราอะไรบ้าง ในสภากลับยังไม่เคยถูกพูดถึงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ นอกรัฐสภามีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง แต่ในรัฐสภา เพียงแค่เอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัติริย์ ก็ถูกปัดตกและประท้วงจาก ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลแล้ว

         

แล้วรัฐสภาไทยมีข้อดีให้พูดถึงบ้างไหม 

การมีอยู่ของรัฐสภา ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยที่เราอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ อย่างน้อยรัฐสภาก็คลายช่องว่างให้เรามีพื้นที่มากขึ้น อย่างน้อยก็เริ่มเห็นการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคน ที่พอเป็นปากเสียงให้กับประเด็นต่างๆ ในสังคมได้ เอาประเด็นเหล่านั้น เข้าไปพูดคุย พิจารณากันในรัฐสภา  

แต่ถ้าเราวิเคราะห์กลไกของรัฐสภาในภาพรวม ผมยังคงใช้คำว่า ‘หมดหวัง’ กับรัฐสภาที่ไร้ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ดี เพราะเวลาเราพูดถึงความผิดปกติของรัฐสภา อย่าลืมว่ารัฐสภามีสองขาคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภา 

 

 “ผมพูดเสมอว่า ภายใต้ความเลวร้ายหลายๆ อย่างในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 องค์กรที่เป็นศูนย์รวมความวิปริตของการเมืองไทยคือ วุฒิสภา”

 

ซึ่งมีบาป 5 ประการที่สมาชิกวุฒิสภาต้องตอบสังคมให้ได้     

บาปที่ 1 คือ การมีอำนาจล้นฟ้าแต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การที่กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา 250 คน แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา เข้ามาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 500 คน ถ้าคิดตามหลักคณิตศาสตร์จะได้คำตอบว่า คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 1 คน มีอำนาจมากกว่าประชาชน 1.9 ล้านเท่า นั่นหมายความว่าประชาชนต้องรวมกัน 1.9 ล้านคน ถึงจะมีเสียงเท่ากับคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาเพียงคนเดียวเท่านั้น

บาปที่ 2 คือ คุณมีอำนาจขัดขวางได้ทุกการปฏิรูป เพราะสมาชิกวุฒิสภานอกจากมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ยังมีอำนาจแต่งตั้ง รับรองชื่อของกรรมการองค์กรอิสระได้ทุกคน และสามารถเข้ามาร่วมพิจารณาโหวตกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ จำเป็นต้องอาศัยเสียงอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา

บาปที่ 3 คือ การคัดสรรคนที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 10 คน ที่มาเลือกสมาชิกวุฒิสภา มี 3 ใน 10 คน ที่เลือกพี่น้องตัวเอง และมีอีก 6 ใน 10 คน ที่ไม่ได้เลือกพี่น้องแต่เลือกตัวเองมานั่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลย อันนี้คือหลักฐานที่ชัดเจนมากในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ที่เลือกพวกพ้องตัวเองเข้ามาคุมเกมการเมือง

บาปที่ 4 คือ ความไม่หลากหลายทางสาขาวิชาชีพ พวกเราเคยบอกว่า เราอยากให้สมาชิกวุฒิสภามีตัวแทนหลากหลายวิชาชีพเข้ามา แต่พอไปดูรายชื่อ 250 คน เราจะเห็นได้ว่า 100 กว่าคน หรือคิดเป็นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ประกอบอาชีพแค่ทหารกับตำรวจ ซึ่งผมคิดว่าคงไม่ต้องไปทำแบบสำรวจกับประชาชน 60 ล้านคนก็รู้ว่าไม่ใช่ 40 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศ ที่ทำเพียงแค่ 2 สาขาวิชาชีพนี้ มันเลยไม่สมเหตุสมผล    

และบาปประการที่ 5 คือ การไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาล ในช่วง 1 ปีแรกที่สมาชิกวุฒิสภาทำงาน มี 145 มติที่ผ่านให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณา ปรากฏว่าผ่านทุกมติด้วยการลงชื่ออนุมัติอยู่ที่ 96.1 เปอร์เซ็นต์ และแม้ปีที่ 2 เราจะเริ่มเห็นสมาชิกวุฒิสภาบางคนเริ่มลุกขึ้นมาคัดค้านบ้าง แต่ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะกระแสนอกสภาที่ไปสร้างแรงกดดันตรงนั้นมากกว่าจิตสำนึกของตัวสมาชิกวุฒิสภาเอง          

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นศูนย์รวมความวิปริตของการเมืองไทยในปัจจุบัน 

เกิดอะไรขึ้นกับสมาชิกวุฒิสภา ทำไมถึงมีปัญหาและข้อสงสัยที่ชัดแจ้งต่อสังคมขนาดนี้

ถ้าให้วิเคราะห์อย่างเป็นธรรม การที่องค์กรในระบบอย่างรัฐสภา ซึ่งควรมีศักยภาพกว้างไกล เป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลง เป็นงานที่ท้าทายอยู่แล้ว โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่ไม่ใช่แค่แวดวงการเมือง แต่รวมไปถึงวงธุรกิจและอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน พวกเราอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในแบบของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ใช่การเอาชนะระบบหรือเปลี่ยนผู้เล่น แต่เป็นการพลิกเกม เปลี่ยนกติกามากกว่า เลยเป็นงานยากขององค์กรที่ต้องปรับรูปขบวนและแผนดำเนินงานกันใหม่      

ยกตัวอย่างเช่น คนรุ่นปัจจุบันรู้สึกอึดอัดกับบริการของคนขับแท็กซี่ที่ปฏิเสธลูกค้าและโก่งราคา ถ้าเป็นกรอบความคิดแบบเดิมๆ เขาจะคิดต่อว่า ต้องแก้ไขปัญหาในระบบอย่างไร ออกกฏหมายอย่างไร หรือปรับวิธีการให้ใบอนุญาตอย่างไร เพื่อให้บริการแท็กซี่มีคุณภาพมากขึ้น แต่สำหรับคนรุ่นใหม่เขาไม่คิดแบบนั้น เขาไปตั้ง Grab ตั้ง Uber เพื่อมาทำลายล้าง เพื่อดิสรัปชัน (Disruption) ให้ตัวระบบเปลี่ยนตามสิ่งที่อยู่นอกระบบให้ทัน

ในภาพรวม ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นใหม่พยายามใช้คือ การพลิกเกม และเขย่ากติกามากกว่า ทำให้รัฐสภาในฐานะองค์กรที่อยู่ในระบบ ต้องเจอความท้าทายตรงนี้มากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะรัฐสภาในไทยที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เขียนกติกา กำหนดอำนาจและที่มาบิดเบือน ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ทำให้เวลาจะทำอะไรสักอย่าง ไม่ได้มีกลไกมาจากความต้องการของประชาชน จึงเกิดปัญหาตามมาแล้วต้องแก้ปัญหากันยกใหญ่ในภายหลัง

           

แต่ก็มีบางคนอ้างขึ้นมาว่า ในเมื่อเสียงข้างมากเขาเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบนี้แล้ว พวกคุณก็ต้องยอมรับสิ แบบนี้เราจะอธิบายให้เขาเข้าใจถึงปัญหาในเชิงกระบวนการตั้งต้นอย่างไร

ท้ายที่สุด เราต้องกลับมามองว่า เราจะออกแบบกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้งอย่างไร เพื่อให้คนที่มีศักยภาพและความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศจริงๆ เข้าไปในรัฐสภาให้ได้เยอะที่สุด ในมุมมองของผม ปัจจุบันประเทศไทยมี 3 ปัจจัยที่เป็นอุปสสรรคอยู่คือ

1. ระบบเลือกตั้ง พอเหลือบัตรใบเดียว มันทำให้อิสระของประชาชนในการเลือก ‘คนที่ใช่’ กับ ‘พรรคที่ชอบ’ ยากมากขึ้น จากสมัยก่อน ถ้าเขาชอบผู้สมัครจากพรรคหนึ่ง แต่ชอบนโยบายจากอีกพรรคหนึ่ง เขาสามารถแบ่งเบอร์กันได้ แต่ตอนนี้ถ้าเขาชอบพรรคหนึ่ง แต่ไม่ชอบผู้สมัครในพื้นที่นั้น เขาก็ต้องจำใจเลือกผู้สมัครคนนั้น ในทางกลับกัน ถ้าเขาชอบผู้สมัครคนหนึ่ง แต่ชอบนโยบายของอีกพรรคหนึ่ง ถ้าเขาจะเลือกตัวแทนโดยใช้บุคคลเป็นตัวชี้วัด เขาก็ต้องยอมเลือกพรรคที่ไม่ได้มีนโยบายตอบโจทย์เขา ดังนั้นจำเป็นอย่างมากที่ต้องปรับระบบการเลือกตั้งจาก 1 ใบ กลับมาเป็น 2 ใบ

2. เรื่องอิทธิพลของการเมืองท้องถิ่น ตราบใดที่ครอบครัวผู้มีอิทธิพลในแต่ละพื้นที่ยังสามารถสร้างอำนาจในพื้นที่นั้นได้อยู่ ก็ยากที่จะทำให้เราหลุดพ้นการเมืองแบบเก่าได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดว่าการเมืองท้องถิ่นที่มีรูปแบบมาจาก ‘บ้านใหญ่’ ยังมีคงอิทธิพลอยู่ คือผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 

3. เรื่องเงินทุน การที่คนคนหนึ่งมีความคิดอยากเข้ามาทำงานการเมือง หรือเข้ามาตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง ด้วยกติกาที่เขียนไว้อยู่มันจำเป็นต้องใช้ทุนมหาศาลมาก อย่างแรกคือคุณต้องส่งผู้สมัครให้ครบทุก 350 เขตก่อน ถ้าเอาตามกฎของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งผู้สมัครคนหนึ่งสามารถใช้เงินในการหาเสียงได้ทั้งหมด 1.5 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าคุณจะสมทบให้ผู้สมัครมีโอกาสแข่งขันเต็มที่ ภายใต้กฎที่ กกต. วางไว้ ก็ต้องใช้เงินถึง 500-600 ล้าน อันนี้แค่ให้ผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งเดียว แต่ถ้าคุณบอกว่า ‘ไม่เป็นไร พรรคการเมืองของฉันไม่มีเงินทุน’ ให้ผู้สมัครสมทบโดยทุนส่วนตัวเอาเอง กลายเป็นว่าผู้สมัครที่ได้เปรียบ คือผู้ที่มาจากครอบครัวใหญ่ มีฐานะดีอยู่แล้ว หรือเป็นผู้สมัครประเภทที่คิดว่าลงทุนแล้วค่อยไปกอบโกยหลังจากเข้ารัฐสภา ก็จะกลับไปสู่ปัญหาข้อที่ 2

ดังนั้น ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาให้คนทั่วไปที่อยากให้ทำงานเพื่อประเทศเข้าสู่ระบบการเมืองได้ ทำให้คนเก่งๆ ที่มีอยู่เต็มประเทศไทย อยากจะเข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น ซึ่งหากลองมองประเทศอื่น เราก็จะเห็นของรูปแบบการสมทบทุนพรรคการเมืองจากส่วนกลางที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ แต่ในประเทศไทย พอคุณไปตัดช่องทาง แถมยังเพิ่มเงื่อนไขว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกพรรคกี่คน ต้องลงสมัครกี่เขต มันกลายเป็นว่าหลายพรรคการเมืองต้องพึ่งทุน ซึ่งหลายครั้งมาจากกลุ่มทุนผูกขาด ในที่สุดก็จะกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เขาขับเคลื่อนนโยบายบางอย่างไม่ได้ 

 

เทียบกับประเทศอื่น พัฒนาการของรัฐสภาไทยเป็นอย่างไรบ้าง          

ถ้าพูดถึงวิวัฒนาการของรัฐสภาไทย ก่อนที่จะไปเปรียบเทียบว่าเร็วหรือช้ากว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ต้องบอกก่อนว่าตัวรัฐสภาไทยเองมีความถดถอย

อย่างที่บอก พอรัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภา ตามหลักประชาธิปไตยสากล อำนาจที่องค์กรมีต้องสอดคล้องกับที่มา แล้วถ้าเราเปรียบเทียบกับ 20-30 ปีที่ผ่านมา คือเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ปี 2550 และปี 2560 จะเห็นว่ามีความไม่สมดุลตรงนี้มากขึ้น ในฉบับปี 2540 เรามีสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจเยอะก็จริง แต่ก็มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด พอมาฉบับปี 2550 ความสอดคล้องของอำนาจที่มาก็ลดน้อยลง เพราะถึงแม้ว่าอำนาจจะมีเท่ากับฉบับปี 2540 แต่ว่าที่มาบางส่วนมาจากการแต่งตั้ง แล้วพอเป็นฉบับปี 2560 ก็เข้าขั้น ‘วิปริต’ สุดๆ เลย เพราะว่าอำนาจกลับมีเพิ่มขึ้น นอกจากจะแต่งตั้งองค์กรอิสระได้ ตอนนี้มาเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีก          

ผมว่าไม่ต้องเทียบกับคนอื่น เปรียบกับตัวเองในอดีตเราก็แย่ลงกว่าเดิม แต่ถ้าเราพยายามมองว่ากระแสโลกเขามีพัฒนาการในส่วนของรัฐสภาอย่างไร ผมว่าก็มี 2-3 ประเด็นที่น่าสนใจ

ประเด็นที่ 1 เราเห็นถึงกระแสของการตั้งคำถามมากขึ้นว่า วุฒิสภาเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือเปล่าในระบบรัฐสภา ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และมีระบบการปกครองคล้ายกับประเทศไทยคือระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบอบประธานาธิบดี และเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่ใช่เป็นสหพันธรัฐ จะมีอยู่ประมาณ 30 กว่าประเทศ ซึ่งใน 20 ประเทศใช้ระบบสภาเดี่ยวแล้ว คือมีแค่สภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีวุฒิสภา ไม่ต้องมาเถียงกันว่า จะเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีอำนาจเท่าไหร่ แต่งตั้งอย่างไร คือเป็นระบบสภาเดี่ยวไปเลย โดยมีแค่ 11 ประเทศเท่านั้นที่ยังมีสมาชิกวุฒิสภาอยู่ และใน 11 มี 7 ประเทศที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาเลือกตั้ง ส่วนอีก 4 ประเทศที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง เช่น สหราชอาณาจักร

จะเห็นได้ว่า โลกเริ่มตั้งคำถามว่าวุฒิสภาจำเป็นไหมในบริบทที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น กระบวนการออกกฎหมายใหม่ แก้กฎหมายเก่า มันอาจจะต้องมีความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมมากขึ้น การลดกระบวนการที่กฎหมายฉบับหนึ่งต้องผ่าน 2 สภา ช่วยให้รัฐมีความคล่องตัวในการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การมีอยู่ของวุฒิสภาไทยปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นค่าเงินเดือนของสมาชิกวุฒิสภา และค่าเงินเดือนของคณะทำงาน ยังไม่รวมถึงค่าสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่ต้องใช้ทุกๆ 5 ปี

ประเด็นที่ 2 ในต่างประเทศทั่วโลก เราเริ่มเห็นถึงความกล้าหาญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น เขาพร้อมจะเลือกความถูกต้องมากกว่าพรรคพวก เราเริ่มเห็นกระแสของนักการเมืองพรรคริพับลิกัน ที่ออกมายืนหยัดว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีจากพรรคตัวเองทำ เราเริ่มเห็นนักการเมืองที่เคยเป็นคู่แข่งกันในประเทศมาเลเซียมาจับมือกันชั่วคราว เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มีปัญหาเรื่องการทุจริต ถึงแม้ในที่สุดจะมีแตกหักกันเองทีหลัง แต่เราเริ่มเห็นความหวังตรงนี้มากขึ้น

และสิ่งหนึ่งที่น่าผิดหวังมาก หากจะแทรกเรื่องประเด็นรัฐธรรมนูญเข้าไปคือ เรายังเห็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนที่ผมรู้สึกว่า ไม่ได้พร้อมยืนหยัดเพื่อหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน เราไม่ได้ขอว่าทุกพรรคการเมืองต้องเห็นด้วยกันไปทั้งหมด หรือต้องอยู่ฝ่ายเดียวกันทั้งหมด แต่เราคาดหวังว่าสมาชิกรัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชนจะยืนอยู่บนหลักที่ว่า ‘ประเทศเราควรปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มาจาก 1 สิทธิ์ 1 เสียงของประชาชน’ แต่ในวันที่โหวตร่างรัฐธรรมนูญ มีร่างหนึ่งคือ ฉบับที่ 4 จากฉบับที่ 7 ที่เป็นข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ปรากฏว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาลแทบทุกคนโหวตเห็นด้วยกับมาตรานี้ โหวตเห็นด้วยกับการที่เสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียวเลือกนายกไม่ได้ ต้องดึงสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คนเข้ามาด้วย สำหรับผม การที่สมาชิกวุฒิสภาจะปัดตก ผมพอคาดการณ์ได้ว่าเขาจะไม่โหวตลดอำนาจตัวเอง แต่เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังมากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่แม้กระทั่งจะยืนหยัดว่า ผู้นำประเทศควรมาจากเสียงของประชาชน     

ประเด็นที่ 3 เราเริ่มเห็นกระแสของการมีประชาธิปไตยโดยตรงมากขึ้น คือการที่มีเทคโนโลยีเข้ามา มันทำให้การตัดสินใจบางอย่าง สามารถ ‘ข้ามสภา’ โดยมีส่วนร่วมกับประชาชนโดยตรงได้ เราจะเห็นได้ว่ามีแพลตฟอร์มที่ประชาชนอาจจะมานำเสนอกฎหมายหรือให้ความเห็นกฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น 

สมัยนี้ เรามีแนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล’ (Liquid Democracy) ที่พยายามผสมผสานข้อดีของประชาธิปไตยโดยตรงกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน พูดง่ายๆ คือ ทุกการตัดสินใจมาจากประชาชนโหวตโดยตรง ไร้ซึ่งตัวแทน แต่คุณสามารถโอนสิทธิของคุณในแต่ละการตัดสินใจ หรือในแต่ละหมวดหมู่ประเด็นไปให้คนอื่นได้ อย่างเช่น ผมสนใจเรื่องการศึกษา ผมอาจใช้สิทธิโหวตนโยบายด้วยตัวเอง แต่ถ้าผมมีเพื่อนที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายมากกว่า ผมอาจจะโอนสิทธิในประเด็นนั้นๆ ให้เขา แล้วเขาจะใช้สิทธิแทนผม แต่ถ้าสักวันหนึ่งเขาโหวตไม่ตรงกับความต้องการของผม ผมก็สามารถเรียกสิทธิคืนกลับมาได้ มันเลยทำให้อำนาจอธิปไตยหรือว่าสิทธิในการตัดสินใจมันอยู่กับประชาชนโดยตรง อีกทั้งยังสามารถลื่นไหลไปตามความต้องการของปัจเจกบุคคลได้       

ทั้งหมดนี้ ทำให้บทบาทของรัฐสภาในปัจจุบันต้องปรับตัว ซึ่งผมคิดว่า ถ้าทุกสถาบันทางการเมือง ไม่ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก ท้ายสุดก็อาจมีคุณค่าหรือความสำคัญน้อยลงในเวลาต่อมา 

แล้วมันสามารถแก้ไขได้ไหม คุณเคยบอกว่าประเทศไหนดี ให้ดูจากประชาธิปไตยในห้องเรียน เป็นไปได้ไหมที่เราจะแก้ไขในเชิงเทคนิคผ่านการจัดรัฐสภาใหม่

ความจริง วิธีหนึ่งที่สำคัญมากในการทำให้คนเชื่อมั่นระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น คือกลไกของการศึกษา การศึกษากับการเมืองมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ถ้าคุณอยากเข้าใจประเทศใดประเทศหนึ่ง ทางลัดที่สามารถทำได้คือการเข้าไปดูว่าห้องเรียนประเทศนั้นมีบรรยากาศ และการออกแบบห้องเรียนอย่างไร ถ้าเราเข้าไปในห้องเรียนที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ เราอาจจะเห็นสภาพที่คุณครูยืนอยู่บนแท่นหน้าห้อง พูดลงมาหานักเรียน โดยที่นักเรียนนั่งหันหน้าเข้าหาคุณครู และมีหน้าที่ฟังอย่างเดียว บางแห่งอาจมีกำแพงมากั้นไม่ให้เขาพูดคุยกัน ซึ่งคุณครูก็จะพูดคนเดียวตลอดทั้งคาบ และถ้ามีนักเรียนยกมือถาม ก็จะโดนปัดตกว่าทำให้เพื่อนเสียเวลา         

แต่ถ้าเราเข้าไปห้องเรียนที่มีความเป็นประชาธิปไตย เราจะเห็นห้องที่มีคุณครูนั่งอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบโดยนักเรียนเป็นวงกลม ทุกคนหันหน้าเข้าหากันเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ในคาบเรียน คุณครูจะพูดน้อยมาก คือพูดตอนต้นคาบเสร็จ ก็ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนกัน หรือแยกย้ายไปทำกิจกรรมกลุ่ม

         

“ห้องเรียนเป็นภาพจำลองค่านิยมของสังคม การศึกษากับการเมืองส่งผลกระทบต่อกันและกัน ในมุมหนึ่งค่านิยมที่เรากำหนดในรั้วโรงเรียน มันส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่านิยมที่เรากำหนดในสังคม”

        

เพราะค่านิยมที่เรากำหนดในห้องเรียน ในรั้วของโรงเรียน จะแปลเป็นค่านิยมของสังคมที่เกิดขึ้นในภาพกว้าง ถ้าเรามีห้องเรียนที่เด็กยกมือถาม คุณครูใช้อำนาจไม่ให้เด็กมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่ให้ตั้งคำถาม ท้ายที่สุด เด็กก็จะเติบโตไปด้วยความเชื่อที่ว่า การตั้งคำถามกับสังคมเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้าเราอยู่ในห้องเรียนที่มีการปฏิบัติระหว่างครูกับนักเรียนต่างกัน เช่น ห้องน้ำนักเรียนสกปรกมาก แต่ห้องน้ำครูหรูหรา นั่นหมายถึงเรากำลังสร้างสังคมของการปลูกฝังเรื่องของระดับชนชั้น ที่มันจะแปลเป็นลำดับความเหลื่อมล้ำของสังคมในอนาคต ถ้าโรงเรียนยังมีการทุจริต มีการฝากแป๊ะเจี๊ยะเพื่อเข้าโรงเรียน มีการโกงงบอาหารกลางวัน ยังมีการที่คุณครูบางคนที่กั๊กวิชาที่ตัวเองรู้ ไม่สอนในคาบเรียน เพื่อไปคิดค่าสอนพิเศษนอกคาบเรียน เราก็จะมีเด็กที่เติบโตขึ้นไปแล้วมองว่าการทุจริตแบบนี้เป็นเรื่องปกติต่อสังคมไทย

ในทางกลับกัน การปกครองในภาคของการเมือง ก็ส่งผลกระทบต่อวิธีการออกแบบห้องเรียน เพราะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการมองโรงเรียนคนละแบบกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ถ้าคุณมีผู้นำที่เป็นเผด็จการ เขาจะมองการศึกษาในโรงเรียนเป็นเครื่องมือในการควบคุมความคิดของประชาชน สิ่งที่ผู้นำเผด็จการทำต่อคือ ไปรื้อหลักสูตรและเขียนให้ประวัติศาสตร์ของตัวเองดีที่สุด เขียนให้หลักสูตรปลูกฝังค่านิยม ความเชื่อที่ทำให้มีการต่อยอดอำนาจได้ยาวๆ ใครตั้งคำถามก็จะบอกว่าเป็นเรื่องไม่จริง ไม่อยู่ในตำรา

ส่วนในประชาธิปไตย เขามองว่าเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เป็นพื้นที่พลเมืองศึกษาที่สร้างให้เด็กนักเรียนแต่ละคนได้สัมผัสความหลากหลายทางความคิด อาจมีการเปิดให้นักการเมือง หรือตัวแทนของหลายๆ ชุดความคิดมาแลกเปลี่ยนความเห็น แล้วให้เด็กๆ ไปคิด วิเคราะห์ แยกแยะเองว่าอยากจะเชื่อหรือไม่เชื่อแบบไหน เพื่อให้เขาสามารถเติบโตไปแล้วเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ได้ ในระบอบประชาธิปไตย        

ท้ายที่สุดแล้ว แนวคิดการออกแบบห้องเรียน ก็จะสะท้อนกลับมาที่แนวคิดการออกแบบรัฐสภา มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Parliament ที่สถาปนิกเขามีโอกาสไปดูต้นแบบรัฐสภาของ 190 ประเทศทั่วโลก แล้วค้นพบความสัมพันธ์อย่างหนึ่งคือ ยิ่งประเทศไหนมีรัฐสภาพื้นที่ใหญ่ ประเทศนั้นมักจะมีคะแนนความเป็นประชาธิปไตยลดน้อยลง ประเทศที่เป็นเผด็จการอย่างเกาหลีเหนือหรือรัสเซีย ผู้นำจะอยู่บนแท่นแล้วพูดลงมาที่สมาชิกรัฐสภาซึ่งจะนั่งห่างกัน เพราะเขาไม่อยากให้พูดคุยกัน ไม่อยากให้แลกเปลี่ยนกัน เวลาประท้วงก็ไม่ค่อยได้ยิน เพราะหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาคือ ฟังว่าผู้นำต้องการอะไร 

รัฐสภารัสเซีย

แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย รัฐสภามักจะเป็นห้องเล็ก นึกภาพของรัฐสภาของสหราชอาณาจักร จะเห็นว่าเขานั่งตัวติดกันมากเลย ที่นั่งไม่พอสำหรับทุกคนด้วยซ้ำ ถ้าสมาชิกรัฐสภามาช้า ต้องยืนอยู่ข้างๆ ที่นั่ง แล้วรูปแบบการจัดผังเป็นการที่แบ่งที่นั่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝ่ายรัฐบาลจะนั่งประจันหน้ากับฝ่ายค้านห่างกันแค่ไม่กี่เมตร แล้วเวลามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็พูดกันหน้าต่อหน้าได้เลย นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้อยู่บนแท่นอะไร แต่นั่งอยู่แถวหน้าสุดพร้อมกับรัฐมนตรีทุกคน 

รัฐสภาสหราชอาณาจักร        

แล้วสำหรับรัฐสภาของประเทศไทยเป็นอย่างไร        

ไม่เห็นมีใครมีแนวคิดว่าอยากสร้างรัฐสภาให้มีขนาดเล็กลง มีแต่อยากสร้างรัฐสภาที่ใหญ่ยิ่งขึ้น ใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าจะสร้างเสร็จ 

 

ทุกวันนี้ ผู้คนหมดความเชื่อมั่นกับรัฐสภา และเริ่มออกไปชุมนุมตามท้องถนนกันมากขึ้น เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคต การเสนอความคิดอาจเป็นกระบวนการที่ ‘ข้ามรัฐสภา’ ได้อย่างสิ้นเชิง       

ผมว่าเราไม่พึ่งรัฐสภาไม่ได้ รัฐสภายังคงมีบทบาทอยู่ แต่ปัจจุบัน เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าการเคลื่อนไหวนอกสภา สร้างความเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบต่อรัฐสภาโดยตรงได้เหมือนกัน ถ้าเราตั้งคำถามว่าจะฝากความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเด็นทางการเมืองต่างๆ ไว้กับการเคลื่อนไหวนอกหรือในสภา คำตอบคือทั้งคู่ 

เราจะเห็นว่า พอมีการเคลื่อนไหวนอกสภา มันส่งผลกระทบต่อคนที่นั่งอยู่ในสภาเหมือนกัน ช่วงที่มีการชุมนุมเกิดขึ้น มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญร่างฉบับใหม่ขึ้นมา จนในที่สุดก็สามารถรวบรวมได้ถึง 1 แสนรายชื่อเพื่อส่งเข้ารัฐสภา จนสร้างความตื่นตัว ทำให้พรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต้องเสนอญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไป มันคือปรากฏการณ์ที่ตอนนี้เหมือนกับว่ากำลังเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทั้งหมดนี้ ผมว่ามันอาจไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา แต่ถ้าเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาอย่างเดียวแล้วด้านในไม่มีปฏิกิริยาตอบรับ มันก็เดินหน้าไม่ได้เหมือนกัน        

เหมือนเกมฟุตบอล สมัยก่อนการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายเหมือนทุกวันนี้ เราอาจจะมองว่า รัฐสภาเหมือนกับศูนย์หน้าที่ต้องลงมาเก็บบอลตั้งแต่ประตูฝั่งตัวเอง แล้วเลี้ยงบอลขึ้นไปยิงประตูฝั่งตรงข้ามเพียงลำพัง แต่ตอนนี้อาจจะมีกองหลัง กองกลาง ที่พอช่วยทำเกมได้แล้ว แต่ท้ายสุดก็ต้องมีคนที่ทำหน้าที่ยิงประตู เข้าไปเปลี่ยนกฎหมาย ไปแก้ระบบ เพื่อให้ข้อเรียกร้องเหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริง

สรุปคือ รัฐสภายังมีบทบาทอยู่ แต่ต้องทำให้รัฐสภาเป็นที่พึ่ง และเป็นความหวังของประชาชนได้อีกครั้ง ซึ่งผมมองว่ามันทำได้ยากมาก ถ้าเกิดเราไม่ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน จะหวังพึ่งแต่นักการเมืองที่ทำงานหนักให้เรา เป็นตัวแทนของเราได้จริงมันไม่พอ ถ้ากติกาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ถูกเปลี่ยน 

 

ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่า อภิปรายไม่ไว้วางใจและเสนอกฎหมายอะไร เสียงก็มักจะไม่พอ เราจะบอกคนที่รู้สึกสิ้นหวังกับรัฐสภานี้อย่างไร          

ผมเชื่อว่าการสร้างความหวังให้รัฐสภาใหม่ต้องมาแก้ที่ตัวรัฐธรรมนูญ เพราะตราบใดที่เรายังใช้กฎกติกาแบบเดิม จะหวังว่าเราเลือกนักการเมืองกี่คน เก่งแค่ไหน พร้อมสู้แค่ไหน มันก็ยากที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้ จริงอยู่ที่มันสามารถสร้างกระแสได้ ทำให้คนมาสนใจประเด็นแต่ละอย่างมากขึ้น และผมคิดว่าอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นเวทีที่ดี ที่ทำให้คนที่ไม่ได้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดได้เห็นถึงปัญหาแต่ละส่วนมากขึ้น ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น     

แต่ถ้ามันนำไปสู่การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจริงๆ มันต้องแก้ที่ตัวรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ไอเดียเหล่านี้ ถูกนำไปปฏิบัติโดยรัฐบาลที่รวบรวมเสียงข้างมากได้จริงๆ 

 

ดังนั้น ณ เวลานี้ ใช้คำว่าคนหมดหวังกับรัฐสภาแล้วใช่ไหม          

ผมว่าเราต้องทำให้มันมีความหวัง 

 

หลังจากนี้ประชาชนควรทำอย่างไรต่อ       

ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปสองในเจ็ดร่าง แม้มันเหมือนกับว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมไม่อยากให้เรานิ่งนอนใจ เพราะว่ายังมีอีกหลายด่านที่ต้องต่อสู้

1. ยังไม่แน่ใจว่าจะมีประชามติถามประชาชนจริงๆ หรือเปล่า ในการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หลังสมาชิกรัฐสภายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยอำนาจรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญ

2. ถึงแม้จะมีการจัดประชามติจริง เราก็ต้องมาลุ้นกันว่า สสร. ที่ถูกเสนอในประชามติ มาจากการเลือกโดยประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า หรือวกกลับไปเอาสูตรของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีการเลือกตั้งแค่ 150 คน และมีการแต่งตั้งอีก 50 คน ยิ่งไปกว่านั้นคือ ระบบเลือกตั้งที่จะใช้ในการเลือกตั้ง สสร. เป็นระบบเลือกตั้งแบบไหน ถ้าเป็นระบบเลือกตั้งที่อยู่ในร่างของไอลอว์ (iLaw) ที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งก็พอมีความหวัง แต่ถ้าเป็นระบบเลือกตั้งที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นประเด็นระดับประเทศ มันก็อาจมีอิทธิพลของการเมืองท้องถิ่นเข้ามาแทรกแซงอยู่

3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีการให้อำนาจ สสร. มีสิทธิพิจารณาแก้ไขมาตราในหมวด 1 และหมวด 2 หรือไม่ เพราะประเด็นที่ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายมีอารมณ์ร่วมมากที่สุดคือเรื่องของการปฏิรูปสถาบันฯ ดังนั้น ถ้าเราปิดประตูตรงนี้ ไม่ให้ สสร. แตะเรื่องนี้ ท้ายที่สุดแล้ว จะทำให้ประเด็นใหญ่ในการเมืองต้องถูกพูดถึงจากข้างนอก กลายเป็นว่า สสร. ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยที่รวบรวมทุกความฝัน แล้วมาหาฉันทามติทางออกร่วมกันได้

 

สำหรับคนที่ลงชื่อให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ (iLaw) ร่วมแสนคนที่รู้สึกสิ้นหวังไปแล้ว จะบอกพวกเขาอย่างไรดี ว่ายังมีหวังอยู่ 

ถึงแม้ร่างที่มี 1 แสนรายชื่ออยู่ในนั้นจะถูกปัดตก แต่ผมไม่แน่ใจว่าอีกสองร่างจะถูกเสนอหรือเปล่า หากไม่มีร่างนี้เข้าไปกดดัน 

ผมมองว่าถ้าวันนั้น เราไม่มีการรณรงค์เพื่อล่ารายชื่อให้เห็นว่าประชาชนต้องการการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน มันอาจจะไม่ได้เป็นการกดดันรัฐสภาเพียงพอเพื่อให้มีการโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญเข้าไปในรัฐสภา ผมว่าผลงานของ 1 แสนรายชื่อที่เข้ามาลงชื่อกับไอลอว์ในวันนั้น เป็นการสร้างแรงกดดันต่อรัฐสภาให้เอาจริงเอาจังเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นการสร้างความตื่นตัวทางการเมืองของหลายๆ คน ให้เข้ามาสนใจรัฐธรรมนูญมากขึ้น  

ผมเริ่มก่อตั้งกลุ่ม ‘รัฐธรรมนูญก้าวหน้า’ หลังลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ตอนนั้นต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่คนในวงกว้างอาจไม่ได้ให้ความสนใจมากเท่าไหร่นัก ทุกครั้งที่เราจัดกิจกรรมเพื่อมาระดมไอเดียเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็จะได้แต่คนที่สนใจเรื่องการเมืองอยู่ก่อนแล้ว แต่พอมีการล่ารายชื่อ 1 แสนรายชื่อ เริ่มมีคนจากหลากหลายแวดวงที่ผมไม่เคยพูดคุยเรื่องการเมืองมาก่อน เข้ามาคุยว่า ตกลงรัฐธรรมนูญตรงนี้เขียนอย่างไร ตกลงมาตรานี้เขียนอย่างไร ผมว่าอันนี้คือผลงานชิ้นโบว์แดงของ 1 แสนคน ที่ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะไม่ผ่าน อย่างน้อยมันสร้างความตื่นตัวสังคมให้สนใจเรื่องนี้         

แต่ถ้าถาม ณ วันนี้จะทำอะไรต่อได้ ผมว่าทำได้เยอะ อย่างแรกคือเตรียมตัวเข้าคูหา แล้วก็โหวตให้มีการจัดตั้ง สสร. ใหม่ขึ้นมา ถ้าเกิดว่ามีการร่างประชามติ ใครที่สนใจผมจะรณรงค์ว่าให้ลงสมัครเลย เข้าไปเป็นหนึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 

อีกสิ่งที่ผมว่าพอทำได้อยู่คือ การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านประชาธิปไตย สมัยก่อนเวลาพูดถึงการต่อสู้ระหว่างฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย และฝ่ายที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย เส้นแบ่งทางความคิดมักเป็นเรื่องของภูมิภาค แล้วก็ฐานเสียง หมายความว่าบ้านหลังหนึ่งมักจะมีแนวโน้มที่เลือกพรรคเดียวกัน มีความเชื่อเหมือนกัน ส่วนอีกบ้านก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นการที่เราจะไปโน้มน้าวให้มาเห็นด้วย เหมือนกับเราต้องไปเคาะประตูอีกบ้านหนึ่งที่มีความคิดต่างกันโดยสิ้นเชิง สำหรับผม มันคือช่องว่างที่ในปัจจุบันสามารถเติมเต็มได้ เพราะเส้นแบ่งทางความคิดเป็นเรื่องของช่วงอายุมากขึ้น บ้านที่มีอยู่ในประเทศไทยอาจจะมีสักคนหนึ่งที่เห็นความสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนคนนั้นอาจเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดในบ้านก็ได้ ซึ่งถ้าคนรุ่นใหม่คนนั้น สามารถหาวิธีการโน้มน้าวคนในครอบครัวที่เหลือให้หันมาสนใจ และเข้าใจถึงความจำเป็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นจริง เป็นการช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ก็สามารถสร้างพลังได้มหาศาล

 

“ถ้าทุกคนที่เป็นแนวร่วมซึ่งมีอยู่ทุกบ้าน สามารถโน้มน้าวอีกสักคนได้ มันจะเป็นปรากฏการณ์ผีเสื้อขยับปีก (The Butterfly Effect) ที่ผีเสื้อกระพือปีกพร้อมกัน มันสามารถสร้างพายุได้”

 

หลังจากนี้ ภาคประชาชนอย่างพวกเราจะขับเคลื่อนนอกสภาอย่างไรต่อดี  

สิ่งที่ทำได้คือ การเคลื่อนไหวที่กว้างขึ้นและลึกลง         

กว้างขึ้นคือ การขยายแนวร่วม ขยายประเด็น ขยายรูปแบบ ผมว่ามันต้องพยายามหาวิธีสื่อสารกับทุกเฉดทางการเมือง อย่ามองว่าการเรียกร้องรัฐธรรมนูญถูกผูกขาดไว้กับกลุ่มการเมืองกลุ่มเดียว แต่มันเป็นที่คนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยเห็นพ้องต้องกันได้ คุณจะคิดต่างเรื่องนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร คิดต่างเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างไร คิดต่างเรื่องนโยบายการยกเลิกการเกณฑ์ทหารอย่างไร แต่คุณน่าจะเห็นร่วมกันได้ว่าคุณต้องการกติกาที่เป็นกลาง ให้ทุกฝ่ายสามารถมาแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน        

ในมุมหนึ่ง ถ้าเราพยายามขยายแนวร่วม พยายามพูดคุยกับคนที่อาจจะมีชุดความคิดทางการเมืองแตกต่างจากเรา สิ่งที่ควรทำคือหาพื้นที่ในการยืนบนจุดร่วมเดียวกัน ซึ่งคำตอบก็คือระบอบที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ต่อมาคือการขยายประเด็น ผมว่าคนที่สนใจเรื่องหลักคิดทางการเมืองน่าจะเห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่แล้ว แต่คำถามที่มักจะเจอมาตลอดคือ แล้วการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างไร จะแก้ไขปัญหาปากท้องอย่างไร ผมว่าสิ่งนี้เป็นหน้าที่ของฝั่งที่เรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างพวกเรา ที่พยายามจะให้เห็นถึงความสัมพันธ์ตรงนี้ พยายามทำให้เห็นว่า ถ้าเราแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ จะทำให้สิทธิเสรีภาพ สวัสดิการ ถูกคุ้มครองมากขึ้น ทำให้เห็นว่าหากมีวิกฤตเข้ามา สิทธิในการเข้าถึงรัฐสวัสดิการจะดีและทั่วถึง สร้างความสำคัญให้เห็นว่า ถ้าคุณมีรัฐธรรมนูญที่มีการออกแบบโครงสร้างกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ ในแต่ละจังหวัด ในแต่ละพื้นที่ จะมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเอง การรอระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดให้ดีขึ้น ไม่ต้องหวังกระทรวงคมนาคมส่วนกลางแล้ว แต่ท้องถิ่นในจังหวัดนั้นมีอำนาจมีงบประมาณในการบริหารจัดการเองได้         

ท้ายสุดคือ การขยายรูปแบบการสื่อสารที่หลายคนมีนิสัยในการรับสารที่แตกต่างกัน อย่างผมเป็นคอการเมืองก็จะชอบเวลามีเนื้อหาค่อนข้างหนักๆ แต่บางคนก็อาจจะมีความต้องการในการรับสื่อและการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง เราจะเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่ม็อบทำได้อย่างน่าสนใจ คือการพยายามเอาสัญลักษณ์ของศิลปะ และป็อปคัลเจอร์ (Pop Culture) มาใช้ในการสื่อสารข้อความของเขา เราเห็นสัญลักษณ์ของเป็ดสีเหลือง ที่สมัยก่อนไม่เคยคิดว่าจะเป็นสัญลักษณ์ของการเมืองถูกนำมาใช้ หรือสมัยที่ผมเป็นทหารเกณฑ์ในค่าย จำได้ว่าจุดที่เพื่อนผมตื่นตัวทางการเมืองมากที่สุด ไม่ใช่จุดที่ผมไปอธิบายให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เป็นจุดที่วง Rap Against Dictatorship ปล่อยเพลง ‘ประเทศกูมี’ ออกมา                

นอกจากกว้างแล้ว เรายังต้องขับเคลื่อนให้ลึกลง หมายความว่า ถ้าเรายิ่งเจาะลึกในแต่ละประเด็นว่า ถ้ามีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา จะแก้มาตรานี้เป็นอะไร แก้รูปแบบวุฒิสภานี้เป็นอย่างไร สรรหาองค์กรอิสระแบบไหน จะเอาอย่างไรกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะถ้าเราสามารถอธิบายลงลึกในแต่ละประเด็นได้ จะทำให้ข้อเสนอของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เกิดการนำออกมากางเปรียบเทียบ ผมว่าขั้นตอนนี้ถือเป็นการให้ความรู้กับสังคม แล้วก็ทำให้คนที่ยังไม่แน่ใจว่าจำเป็นต้องแก้หรือไม่ เห็นภาพชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในแต่ละส่วน จะทำให้ประเทศดีขึ้นได้อย่างไร

 

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ควรจะอยู่ตรงไหน ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่         

ผมมองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ควรเป็นอีกสถาบันการเมืองหนึ่งที่ถูกพูดถึงในรัฐธรรมนูญ ซึ่งวิธีการที่จะพูดคุยเรื่องนี้ได้อย่างครอบคลุมทุกความคิดเห็นมากที่สุด คือการใช้เวที สสร. ในการพูดคุยในทุกชุดความคิด ทั้งฝ่ายที่เห็นว่าควรมีการปฏิรูป ซึ่งก็อาจจะมีความคิดเห็นในรายละเอียดที่แตกต่างกันลงไปอีก หรือในฝ่ายที่ต้องการคัดค้านการปฏิรูปก็ตาม 

ดังนั้นผมคิดว่าการปลดล็อกให้ สสร. มีอำนาจการพิจารณา แล้วก็พูดคุยถึงมาตราต่างๆ ในหมวด 1 หมวด 2 เป็นวิธีที่น่าจะเรียบง่ายที่สุด ในการทำให้ประเด็นเหล่านี้ให้ครอบคลุมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในที่สุดมันจะเป็นพื้นที่ที่สามารถรวบรวมทุกความคิดเห็น ทุกความฝัน แล้วเราได้ฉันทามติร่วมกันออกมาได้ 

         

ช่วงที่ผ่านมา กระแสของแอพพลิเคชันคลับเฮาส์ (Clubhouse) ร้อนแรงมาก สิ่งที่น่าสนใจคือ แอพพลิเคชันนี้สามารถสร้างบรรยากาศในการสนทนาที่ถึงแม้จะเห็นต่าง แต่ก็สามารถพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้ได้อย่างสุภาพชน คุณคิดว่าในสังคมไทยจะสามารถสร้างบรรยากาศแบบนี้ได้บ้างไหม        

ผมว่าคลับเฮาส์มีทั้งข้อดีและข้อที่ควรระวังเหมือนกัน 

ข้อดีอันดับแรกคือ เราเห็นถึงการพูดคุยแบบ ‘ข้ามรัฐสภา’ ผ่านเทคโนโลยี การรับฟังความเห็นของประชาชนมันไม่ต้องอาศัยกลไกของผู้แทนแล้ว แต่คุณสามารถสร้างห้อง แล้วก็เรียกทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครทำอาชีพอะไร อายุเท่าไหร่ สามารถเข้ามาพูดคุยกันได้ ทำให้มีกลไกในการรับฟังความเห็นของประชาชนที่หลากหลาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นในคลับเฮาส์ หรือโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มหลายแห่งได้แล้ว 

อย่างวันก่อนผมจัดคลับเฮาส์ ผมทำโพลนะ ถามในห้องที่มีอยู่ 700 คนว่า มีกี่คนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ก็มีคนไม่เห็นด้วยอยู่เช่นกัน แต่เราก็สามารถพูดคุยกันได้อย่างใกล้ชิด          

ข้อดีอันดับสองที่ผมมองว่าน่าสนใจคือ คลับเฮาส์เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัย ที่คนมีความคิดเห็นแตกต่างกันสามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้อย่างใก้ชิด คือถ้าเราบอกว่า รัฐสภายิ่งเล็กยิ่งทำให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ผมว่าคลับเฮาส์ก็สร้างบรรยากาศที่มันใกล้ชิดเช่นกัน มันเหมือนกับเราโทรศัพท์คุยกับเพื่อน แล้วก็มีเพื่อนอีกคนหนึ่งเข้ามาในสาย ดังนั้นการที่คนสองคนแลกเปลี่ยนกัน สร้างบทสนทนาระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ทำให้คนที่อาจจะเห็นต่างจากอย่างสุดขั้ว สามารถพูดคุยกันด้วยเหตุผลได้         

ส่วนข้อควรระวังของคลับเฮาส์อย่างแรกคือการเข้าถึง เพราะท้ายสุดไม่ใช่ทุกคนเข้าถึงคลับเฮาส์ กลายเป็นว่าเสียงของพวกเขาถูกทอดทิ้งไป นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวลเหมือนกัน รวมไปถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ช่องว่างทางเทคโนโลยี (Digital Divide) ที่พอเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในคุณภาพชีวิตเรามากขึ้น ทำให้ประชาชนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เสียเปรียบประชาชนที่เข้าถึงเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้หลายประเทศอย่างเม็กซิโกและฟินแลนด์ บรรจุเรื่องสิทธิการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเข้าไปในรัฐธรรมนูญเขาด้วย      

ข้อควรระวังที่สองคือ การสร้างปรากฏการณ์ Echo Chamber ที่เรามักจะเลือกเข้าไปในห้องที่มีคนความคิดคล้ายๆ กับเรา เลยทำให้เราไม่ได้บังคับตัวเอง และเผลอเข้าไปอยู่ท่ามกลางคนที่คิดเหมือนเราหมดเลย จนไม่มีโอกาสได้รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรามาก 

 

ถ้าแก้ไขปัญหาเรื่องช่องว่างทางเทคโนโลยี (Digital Divide) และปรากฏการณ์ Echo Chamber วิธีการพูดคุยแบบนี้มันดีกว่าที่รัฐสภาเป็นอยู่ไหม         

ถ้าเราเข้าถึงเทคโนโลยีได้จริงๆ มันจะเปลี่ยนอะไรหลายอย่างไปเยอะมาก และจะทำให้บทบาทของรัฐสภาที่เราคุ้นเคยเปลี่ยนไปด้วย อาจจะไม่ได้มีภาพที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาแล้วโหวตได้ทุกเรื่อง หรือเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ตลอด 4 ปีแล้ว แต่อาจจะเป็นโมเดลประชาธิปไตยแบบลื่นไหลที่สิทธิของทุกคนอยู่กับตัวเองเสมอ ไม่ได้มีการเลือกตั้งทุก 4 ปี แต่เมื่อไหร่ที่เราไม่ว่างหรือไม่ได้เชี่ยวชาญด้านนั้น ก็โอนสิทธิไปให้คนอื่น ถ้าไม่ว่างเข้าไปในสภาคลับเฮาส์เพื่อโหวตเกี่ยวกับกฏหมายยุติการตั้งครรภ์ แต่เรามีเพื่อนที่มีความคิดเหมือนกัน เราก็อาจจะโอนสิทธิให้เพื่อนคนนั้นได้ หรือโอนสิทธิให้ผู้นำที่เรารู้สึกว่าไว้วางใจได้ เป็นตัวแทนชุดความคิด ซึ่งจะทำให้กรอบความคิดและประชาธิปไตยเปลี่ยนไป เราอาจไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่ 4 ปีเต็ม แล้วก็โหวตในทุกๆ เรื่องแล้ว แต่จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเฉพาะกิจ เฉพาะประเด็น เฉพาะช่วงเวลา แล้วทำให้คนทั่วไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกันเองได้ 

 

ร่างรัฐธรรมนูญกำลังจะก่อร่างขึ้นมาในอีกหลายปีต่อจากนี้ สิ่งที่พวกเราในฐานะประชาชนต้องคอยจับตาและตรวจสอบคือเรื่องใดบ้าง    

ผมว่าเราต้องอย่ากะพริบตากับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เหมือนกับว่าจะถูกริเริ่มไปแล้ว เพราะยังมีลูกเล่นอีกมากที่ฝ่ายมีอำนาจเขาพร้อมใช้เสมอเพื่อจะยื้อเวลา เพื่อให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มันล้มเหลวลง      

ลูกเล่นที่ 1 คือ การใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาทำให้เราไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลย ผ่านการตัดสิน การวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องมาเพ่งเล็งกันให้ดี เพราะถ้ามีการตัดสินแบบนั้นขึ้นมา จนทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้ หนทางเดียวที่จะออกรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ ต้องมานั่งแก้ไขทีละมาตรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะมันมีปัญหาเยอะแยะไปหมดที่สัมพันธ์กัน พอจะแกะมาตราหนึ่ง ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 1 ใน 3 มาโหวตเห็นชอบด้วย หรือหากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัตินักการเมือง เกี่ยวกับอำนาจองค์กรอิสระก็ต้องทำประชามติรายประเด็น เกิดความยุ่งยากมากขึ้นไปอีก        

ลูกเล่นที่ 2 คือ ถึงแม้จะมีประชามติ จะเป็นประชามติที่เป็นกลางหรือไม่ อย่างเช่นคำถามที่เขาถามเราในวันนั้นคืออะไร ต้องดูว่าเป็นคำถามที่ชี้นำหรือเปล่า เพราะย้อนไปปี 2559 คำถามพ่วงไม่ได้เขียนอย่างตรงไปตรงมาว่า คุณจะเอาหรือไม่เอา สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน มาเลือกนายกรัฐมนตรีแต่เขียนว่า “เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” มันเขียนอย่างไม่ตรงไปตรงมาและค่อนข้างชี้นำ ซึ่งผมก็กังวลว่ารอบนี้จะเป็นแบบเดิมหรือไม่ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้รัฐบาลได้มุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาวิกฤติโควิด-19 ในปัจจุบัน เราควรที่จะชะลอการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” อะไรทำนองนี้

ลูกเล่นที่ 3 คือ ต้องตรวจสอบให้ดีว่าประชาชนจะได้ สสร. รูปแบบไหน เพราะมีโอกาสสูงมากที่ฝ่ายผู้มีอำนาจพยายามจะออกแบบรูปแบบ สสร. ที่มีการ ‘ล็อกสเป็ก’ และทำให้เขาได้บุคลากรและแนวคิดที่ต้องการ เพื่อจะไปควบคุม สสร. พวกเราต้องจับตาว่า สสร. ในอนาคตข้างหน้าจะมาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ และด้วยระบบเลือกตั้งอะไร เพราะท้ายที่สุดแล้ว สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ และควรมีอำนาจในการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 เพราะถ้าไม่ ก็เท่ากับว่าเรากำลังจะแยกประเด็นรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปสถาบันฯ ออกจากกัน ทำให้ถึงแม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ปัญหาทั้งหมดที่พูดมาก็จะยังไม่จบ

Tags: , , , , , , , ,