อาจเป็นเพราะ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตบางขุนเทียน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลาหมอคางดำระบาด การพูดถึงประเด็นปลาหมอคางดำแต่ละครั้งของเขาจึงทั้งดุเด็ดและเผ็ดมันอยู่เสมอ 

ก่อนหน้านี้ณัฐชาสวมหมวกเป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย อนุกรรมการฯ ที่ทำให้เห็นข้อเท็จจริงหลายประการ โดยเฉพาะข้อมูลที่ชี้ว่า ปลาหมอคางดำไม่ได้เริ่มต้นระบาดในช่วง 2-3 ปีนี้ หากแต่เริ่มระบาดตั้งแต่ปี 2555 

ขณะเดียวกันพื้นที่เริ่มต้นระบาดยังเป็นพื้นที่เดียวกับที่บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ที่มีหลักฐานว่า เป็นเอกชนเพียงรายเดียวที่นำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัย อีกทั้งดีเอ็นเอของปลาก็พบว่ามาจากพ่อแม่ตัวเดียวกัน ตรงกับสายพันธุ์ของประเทศกานา ประเทศต้นทางที่ส่งปลาหมอคางดำให้กับบริษัทเอกชนแห่งนี้ในไทย

แม้เอกชนรายนั้นอ้างว่า ปลาหมอคางดำลอตแรกที่ส่งมา ‘ตาย’ หมดแล้วตั้งแต่ปี 2554 แต่ก็ไม่มีตัวอย่างซากปลาให้กรมประมงไว้ตรวจสอบ

กลับมาพบอีกที ปลาหมอคางดำก็เต็มแหล่งน้ำทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เรื่อยมาถึงสมุทรสาคร กรุงเทพฯ ไปจนถึงภาคตะวันออก ภาคใต้ ทั่วทะเลสาบสงขลา

เรียกได้ว่าปลาหมอคางดำกลายเป็นหายนะทางทะเลไทย เป็นวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ แม้จะใช้ภาษีของประชาชนมาแก้ปัญหาแล้วหลายร้อยล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้ ชาวประมงจำนวนมากสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องหันเหไปประกอบอาชีพอื่น และหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป พันธุ์ปลาดั้งเดิมในแหล่งน้ำทางธรรมชาติอาจกลายเป็น ‘ปลาหมอคางดำ’ แทบทั้งหมด 

แม้เรื่องปลาหมอคางดำถูกฝังกลบด้วยข่าวอื่นๆ แต่ข้อสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ปัญหานี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

สายวันหนึ่ง The Momentum นัดคุยกับณัฐชาในพื้นที่ของเขา ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศูนย์เครือข่ายด้านการประมง แขวงแสมดำ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่ประมงน้ำกร่อยเลี้ยงกุ้ง แต่ ณ วันนี้กลายเป็นพื้นที่ของปลาหมอคางดำโดยสมบูรณ์ 

เรานั่งพูดคุยกับณัฐชาเกี่ยวกับบทบาทของการเป็นโต้โผวิกฤตปลาหมอคางดำ ณ พื้นที่จริง พร้อมกับลองทอดปลาหมอคางดำแกล้มบทสนทนาไปพลาง

จุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามาทำประเด็นปลาหมอคางดำเป็นอย่างไร 

ประมาณปี 2563-2564 ช่วงนั้นผมเข้าไปรับฟังคำร้องเรียนจากชาวบ้านพื้นที่บางขุนเทียนเกี่ยวกับปัญหาหอยแครงช็อกน้ำจืด พอทำมาสักพักหนึ่งก็มีชาวบ้านมาร้องเรียนกับผมว่า ขอให้ผมเข้าไปดูปัญหาปลาหมอคางดำเล็ดลอดเข้ามาในบ่อ ด้วยความที่ตัวเองไม่รู้อะไรเกี่ยวกับปลาหมอคางดำเลยในตอนนั้น ระหว่างที่ฟังชาวบ้านจึงยังไม่เข้าใจว่ามันเป็นปัญหาอย่างไร ในเมื่อปลามันเกิดใหม่เร็วก็ดีสิ จะได้เอาไว้ขาย แต่พอชาวบ้านเขาบอกว่า มันกินสัตว์น้ำทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ที่เขาเลี้ยงไว้หมดเกลี้ยง และไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ที่เราดูแล แต่จังหวัดใกล้เคียงทั้งสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ไปจนถึงจันทบุรีกับสงขลา ต่างก็ร้องเรียนกันเข้ามาว่าพบปัญหาเหมือนกัน ถึงได้เริ่มเอะใจว่ามันไม่ปกติและต้องเป็นปัญหาระดับชาติแล้ว 

พอเข้ามาทำประเด็นนี้ประมาณปี 2565 ก็มีการตั้งกระทู้ถามในรัฐสภา ตอนนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มี ไชยา พรหมา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขาตอบว่า ในปี 2561 ประเทศไทยเคยใช้งบประมาณ 11.4 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ แสดงให้เห็นว่า ปัญหาเกิดขึ้นมานานแล้วและเกิดขึ้นก่อนที่ผมจะมาตั้งกระทู้ถามในสภาฯ เราเลยใช้กลไกของสภาฯ ขอข้อมูลมาจากหลายๆ แหล่ง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากภาคประชาชนที่เคยขับเคลื่อนประเด็นนี้ เอ็นจีโอ รวมทั้งกรมประมง เพื่อหาว่า ปลาหมอคางดำมาจากไหนกันแน่ ก็ไปเจอว่าก่อนหน้านี้บริษัทเอกชนเคยขออนุญาตนำปลาชนิดนี้เข้ามาในประเทศไทย 

ในเมื่อมีการขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย ไฉนจึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัย 

ต้องพูดก่อนว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่เคยมีปลาหมอคางดำอาศัยอยู่ เพราะไม่ใช่ปลาประจำถิ่น กระทั่ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) มีการขออนุญาตในการนำเข้าปลาชนิดนี้จากต่างประเทศเพื่อเอามาวิจัยครั้งแรกเมื่อปี 2549 แต่บริษัทต้นทางไม่พร้อมจัดส่งปลาจึงเลื่อนออกไป พอเข้าปี 2551 บริษัทเอกชนรายเดิมนี้ขออนุญาตนำเข้าปลาชนิดเดิมกับกรมประมงอีกครั้งเพื่อนำมาวิจัย แต่ไม่บอกรายละเอียดว่าวิจัยเรื่องอะไร แต่ดูจะสำคัญมาก เพราะมีการขออนุญาตนำเข้าปลานี้ถึง 3 ครั้งคือ ปี 2549, 2551 และปี 2553 ที่บริษัทต้นทางที่ประเทศกานาพร้อมจัดส่งปลาแล้ว ซีพีเอฟเลยสั่งซื้อปลา 2,000 ตัว ขนมากับเครื่องบิน แต่พอมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิมีปลาตายไปแล้ว 1,400 ตัว ที่เหลือรอดเลยเข้าสู่กระบวนการทำลายในศูนย์วิจัยของซีพีเอฟที่ตำบลยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม 

พอมาดูข้อมูลที่กรมประมงบันทึกไว้ก็พบอีกว่า ที่ตำบลยี่สาร มีการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า พบปลาไม่ทราบชนิดรูปร่างคล้ายกับปลานิลแต่มีคางสีดำ จึงเป็นเรื่องบังเอิญที่ศูนย์วิจัยซีพีเอฟซึ่งเป็นสถานที่วิจัยปลาหมอคางดำ กับจุดที่พบปลาหมอคางดำระบาดในช่วงแรกดันอยู่ในตำบลเดียวกัน จนปลาหมอคางดำระบาดเป็นวงกว้าง ในปี 2561 กรมประมงจึงอนุมัติงบประมาณ 11.4 ล้านบาทมารับซื้อปลา ปัญหาคือ เงินหมดแต่ปลาไม่หมด แล้วยังขยายวงระบาดไปเรื่อยๆ จาก 7 จังหวัดขยับเป็น 19 จังหวัดในวันนี้ 

หรือจริงๆ แล้วปลาหมอคางดำว่ายน้ำข้ามทวีปมาเอง

ปลาหมอคางดำมีถิ่นอยู่ในประเทศแถบทวีปแอฟริกา ไม่ใช่เอเชีย เราไปดูมาแล้วว่าแถบเอเชียมีประเทศไหนขอนำเข้าปลาชนิดนี้หรือเปล่า ก็ไม่มี พอไปดูอีกว่า ดีเอ็นเอปลาหมอคางดำที่ระบาดในไทยจะไปตรงกับปลาหมอคางดำในประเทศไหนของแอฟริกา เพราะมีหลายประเทศที่มีปลาหมอคางดำน่าจะสัก 10 ประเทศ หากปลาว่ายน้ำมาเองก็อาจจะมาจากประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไม่ใช่ประเทศกานาที่เป็นต้นทางนำเข้าปลาของบริษัทเอกชน แต่พอเอาไปเทียบหลายประเทศก็ไม่ตรงกัน แต่มันดันไปตรงกับของกานา 

ความบังเอิญต่อมาคือ พอปลาส่งมาจากกานาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วส่งโดยรถตู้ไปที่ศูนย์วิจัยซีพีเอฟที่ตำบลยี่สาร ปลาดันตาย สุดท้ายยกเลิกการวิจัยแล้วเอาปลาไปทิ้ง แต่ไปเจอปลาอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติในตำบลยี่สารพอดี แล้วถ้าเกิดปลาหมอคางดำว่ายน้ำมาเองจากกานา มันจะเลือกพิกัดและนัดหมายกันไปอยู่ในประเทศเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน ตำบลเดียวกันเลยหรือ ถ้าศาลจะเชื่อรายงานของเอกชนที่เขาบอกว่า ทำลายปลาทิ้งไปหมดแล้ว และมันว่ายน้ำข้ามทวีปมากันเอง คุณจะให้ได้ว่า ทำไมมันจึงบังเอิญขนาดนี้ ถ้าตอบได้บริษัทเอกชนไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าคุณตอบไม่ได้ บริษัทต้องรับผิดชอบ 

ทำไมคุณจึงมุ่งแต่จะหาต้นตอที่ก่อวิกฤตปลาหมอคางดำระบาด แทนจะมุ่งเน้นจะหาวิธีแก้ปัญหา 

คือเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งๆ ที่เราทำพร้อมกันได้ จัดการปลาเราก็ทำ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณมาแก้ปัญหา ดันให้ออกนโยบายมาจัดการ แน่นอนว่าประชาชนอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมผมถึงรั้นแต่จะหาต้นตอ เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่นี้มันต้องใช้เงินแก้ แล้วในวันนี้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณไปแล้วครั้งแรก 11.4 ล้านบาท 450 ล้านบาท และล่าสุดอีก 98 ล้านบาท แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องใช้เงินหลายพันหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าเราหาต้นตอได้ เงินจำนวนนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องมาจากภาษีของพี่น้องประชาชนเลย 

และที่ไกลกว่าคือ วันนี้มีการระบาดในจุดที่ประชิดชายแดนเพื่อนบ้าน จุดใต้สุดที่พบการระบาดคือสงขลา ตะวันออกสุดที่พบคือตราด ไทยเรามีดีเอ็นเอแบงก์ที่เก็บดีเอ็นเอปลาหมอคางดำในประเทศเอาไว้แล้ว หากเล็ดลอดจากชายแดนไประบาดในแหล่งน้ำกัมพูชา ไปทำลายสัตว์น้ำท้องถิ่นของมาเลเซีย แล้วเขาเอาดีเอ็นเอมาเทียบดันตรงกับปลาหมอคางดำที่ระบาดในประเทศเรา เราจะไม่มีงบประมาณมากพอที่จะรับผิดชอบทรัพยากรธรรมชาติของเขา และเขาจะฟ้องประเทศเราแน่นอน ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้น ภาษีของพี่น้องประชาชนอีกกี่หมื่นล้านบาทที่จะต้องเอาไปรับผิดชอบ ฉะนั้นหากรัฐบาลไม่สามารถจับต้นตอได้ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะเราไม่มีเงินมากพอ 

หรือการปล่อยให้ปลาหมอคางดำระบาดจะเป็น ‘แผน’ ของบริษัทเอกชนที่ต้องการทำลายความหลากหลายของสัตว์น้ำ และผูกขาดมันไว้กับตนเอง 

ตัวผมเองยังไม่คิดไปถึงจุดนั้น แต่ในความเป็นจริงมันก็เกิดขึ้นแล้ว วันนี้ปลาทับทิมกับปลานิลจะซื้อมากินก็ต้องไปซื้อตัวที่เจาะคางมียี่ห้อติดไว้แล้ว ขนาดตัวก็เท่ากันหมด เพราะผ่านการคัดเลือกจากโรงงาน วิจัยกันมาแล้วว่า ต้องเลี้ยงกี่วันกี่เดือน ได้เนื้อประมาณไหนจะขายในตลาดได้ นายทุนเขาคิดมาแล้ว 

เวลาที่คนเราจะหาปลากินหาได้จากไหนบ้าง ข้อแรกก็หาตามแม่น้ำลำคลอง ซึ่งตอนนี้ทำไม่ได้ เพราะสัตว์น้ำหายไปแล้วร้อยละ 90 หรือวิธีการต่อมาคือไปซื้อปลาที่มาจากฟาร์มเลี้ยงของเอกชน ตามห้างก็มาจากเอกชนทั้งหมด มันก็มีอยู่ไม่กี่ที่ที่คุณจะซื้อปลามากินได้ ในหลายประเทศที่มีการผูกขาดความมั่นคงทางอาหาร เขาก็ใช้ยุทธวิธีปราบปรามอาหารจากแหล่งธรรมชาติกันทั้งนั้น 

หลายสิบปีมาแล้วตั้งแต่เริ่มมีการระบาด จนถึงตอนนี้ทำไมจึงยังจับมือใครดมไม่ได้ 

อาจจะพูดแบบนั้นไม่ได้ เพราะวันนี้ สส.จับมือคนมาดมแล้ว เริ่มมีกลิ่นตุๆ แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ จากคนมีอำนาจ ซึ่งถ้ายังไม่ทำอะไรไปอีกสัก 5-10 ปี สส.กับพรรคการเมืองรุ่นต่อๆ ก็ต้องมารับไม้ต่อแก้ปัญหานี้ไปอีก และผมขอพูดตรงนี้เลยว่า ถ้าสมัยหน้าเรายังต้องมาพูดกันเรื่องปลาหมอคางดำอีกจงจำไว้ว่า มันมาจากการที่รัฐบาลนี้เพิกเฉยกับการแก้ปัญหา ใน 19 จังหวัดที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำยังระบาดไม่เต็มทุกพื้นที่ ถ้ารัฐบาลสามารถปิดล้อมจัดการลดปริมาณของมันลงได้ คุณจะกลายเป็นฮีโร่พิทักษ์สมบัติของประเทศ หากคุณทำไม่ได้ มันจะลุกลามบานปลายมากกว่านี้ ผลกระทบก็จะหนักกว่านี้ คุณก็ต้องบอกกับสังคมตรงๆ ว่า มันเป็นผลมาจากความเพิกเฉยของคุณ​

ที่สำคัญ วิกฤตจะไม่เกิดหากในปี 2549 ไม่มีการแสตมป์รับรองให้นำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดนี้ ทั้งที่มันเปรียบเสมือนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง นี่คือการอนุญาตให้เอาอาวุธนี้เข้ามาในประเทศแล้วให้มันมาระเบิดอยู่ในประเทศไทย

แต่ก่อนหน้านี้กรมประมงกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งโต๊ะแถลงสถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำในแต่ละจังหวัด โดยภาพรวมดูเหมือนจะดีขึ้น 

เหมือนจะมีหน่วยงานภาครัฐนำโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ไปสำรวจแต่ละพื้นที่ที่มีการระบาดพร้อมกับบริษัทเอกชน มีการลงไปจับปลาหมอคางดำ แจกอุปกรณ์การเกษตรให้ประชาชน เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรแล้ว พองานจบก็ให้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนบอกว่า บริเวณนี้ปลาหมอคางดำลดลงแล้ว แทบจะหาไม่เจอเลย ทั้งที่ยังมีปลาว่ายอยู่เต็มคลอง คนแถวนั้นเขายังสงสัยว่า ไอ้ที่บอกว่าลดลงมันไปเอาข้อมูลมาจากไหน แต่พอไมโครโฟนจ่อปากก็บอกว่า ลดทันที หรือมีรัฐมนตรีมาลงพื้นที่ระบาดบอกว่า เจอปลาหมอคางดำตัวเดียว แต่ประชาชนลงจับปลาหมอคางดำวันหนึ่งได้มา 3-4 ตันต่อวัน 

การที่รัฐบาลยอมแก้ เพราะปัญหามันขยายวงกว้าง ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มี สส.อยู่ ใน 19 จังหวัดที่มีการระบาดก็มี สส.จากฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านปาไปแล้ว 30-40 กว่าคน และในรายงานของคณะกรรมาธิการที่เสนอต่อสภาฯ ก็จะเห็นว่า หลายคนลุกขึ้นอภิปรายเห็นด้วยว่า ปลาหมอคางดำเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่เมื่อปัญหาไปอยู่ในมือของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลกลับไม่ได้หยิบเอาไปแก้ ผมคิดว่า การที่เขาพูดว่าปลามันลดลงไปแล้ว เพราะเริ่มรู้ว่าการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำต้องชนกับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่ทำให้เขาได้อำนาจมาบริหารประเทศ ซึ่งอาจทำให้กลุ่มทุนไม่พอใจรัฐบาล และไม่ตอบสนองต่อการทำโครงการต่างๆ ของรัฐ พอเห็นว่าไปต่อไม่ได้รัฐก็เริ่มถอย 

ฉะนั้นในวันนี้ปลาหมอคางดำกำลังระบาดรุนแรงขึ้นอย่างนั้นหรือ

วันนี้ปลาหมอคางดำระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติ และออกไปตามแนวชายฝั่งทะเลแล้ว ดังนั้นมันก็สามารถเดินทางไปได้ทุกที่ 

เคยมีชาวบ้านชาวจันทบุรีมาเล่าทั้งน้ำตาให้ผมฟังว่า เขาต้องเสี่ยงตายในการออกเรือไปหาสัตว์น้ำมากขึ้นทุกวัน ปกติเคยออกจากฝั่งไปแค่ 4-5 ไมล์ทะเล แต่ทุกวันนี้ต้องออกไปไกลถึง 15 ไมล์ทะเล ผมถามเขากลับว่า ทำไมต้องออกไปไกลขนาดนั้น เขาให้คำตอบว่า ปกติสัตว์น้ำในระยะ 4-5 ไมล์ทะเลก็ยังมี แต่ตอนนี้มีการระบาดของปลาหมอคางดำริมชายฝั่ง สัตว์น้ำมาวางไข่ไม่ได้ มันก็อพยพออกไปไกลขึ้น ชาวประมงที่มีวิถีหากินกับกุ้ง หอย ปู ปลา ก็ต้องตามออกไปไกลขึ้นด้วย

แน่นอนว่า ถึงเขาจะออกทะเลไปไกลกว่าเดิม เขายังต้องใช้เรือลำเดิม ความเชี่ยวชาญด้านการเดินเรือของเขาก็ยังเท่าเดิม แต่คลื่นลมสูงขึ้น คนที่เขามาเล่าให้ผมฟัง ลูกเขาเพิ่งเรือล่มกลางทะเล ดีที่ช่วยเอาไว้ทัน แต่สิ่งที่เขาเสียไปคือเรือทั้งลำ เรือที่เขาใช้หาเลี้ยงครอบครัวมาหลายสิบปี วันนี้ลูกของเขาไม่กล้าออกเรืออีกเลย 

หรือความช่วยเหลือจากบริษัทเอกชนทั้งการรับซื้อปลา สนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ และปลานักล่าแก้วิกฤตปลาหมอคางดำ จะเกิดขึ้นจากความรู้สึกผิด

ผมคิดว่า ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกผิดนะ เขาไม่อยากให้ปัญหานี้เป็นกระแสลุกลามจนบานปลายมากกว่า หรือทำไปเพื่อลดความโกรธของสังคม เขายังคงบอกตลอดว่า ไม่ได้เป็นคนทำ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่รู้ไม่เห็นเรื่องปลาหมอคางดำระบาดในไทย ทุกครั้งที่ช่วยประมงกับเกษตรกรเพราะอยากทำบุญ เป็นกิจกรรมที่บริษัทมีอยู่แล้ว 

แต่ถามว่าแก้ได้ไหมวิธีนี้ ก็ได้บางส่วน แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า การกำจัดกับการเกิดใหม่ของปลาหมอคางดำวันนี้ยังไม่บาลานซ์กัน เรากำจัดสักร้อยละ 10 แต่มันเกิดใหม่อีกร้อยละ 90 แล้วใน 79 อำเภอ ที่มีการระบาดมีศูนย์กำจัดปลาหมอคางดำแค่ไม่กี่แห่ง แต่ก็ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ 

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ดูเหมือนคุณอยากสื่อสารเรื่องนี้ให้กับคนทั้งประเทศเข้าใจ และ ‘ไม่ลืม’ เรื่องนี้มากขึ้น

อยากให้รู้ เพราะอยากให้เตรียมพร้อม วิกฤตปลาหมอคางดำไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เกษตรกรหรือชาวประมงเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลกระทบไปถึงคนที่อยู่บนยอดคอนโดฯ ในเมือง คนที่ชอบกินปลาทูแม่กลอง ปลาสลิดบางบ่อ กุ้งแม่น้ำอยุธยา หรือปลากะพงทอดน้ำปลา สัตว์น้ำพื้นถิ่นจะมีราคาสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว เมื่อก่อนอาจจะเคยซื้อปลาสลิดได้ในราคาไม่แพงมาก แต่วันนี้ราคาอาจจะสูงขึ้นเท่าตัว เพราะบ่อเพาะเลี้ยงปลาสลิดโดนปลาหมอคางดำรุกรานจนปลามันอยู่ไม่ได้

วิกฤตนี้นอกจากกัดกินโฉนดที่ดินของเกษตรกร กัดกินชีวิตและทรัพย์สินของชาวประมง และกำลังกัดกินเงินในกระเป๋าของทุกชนชั้นในประเทศนี้ เพราะความมั่นคงทางอาหารในประเทศกำลังจะหมดไป วันนี้ไทยมีปลากะพงจากมาเลเซียทะลักเข้ามา เพราะการเพาะเลี้ยงในไทยถูกรุกรานจากปลาหมอคางดำ ปลาทูแม่กลองวันนี้ไม่ได้มาจากแม่กลองโดยตรง แต่มาจากการนำเข้ามากกว่าร้อยละ 50 และความเป็นจริงปลาสลิดบางบ่อก็อาจจะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน 

ราคาสัตว์น้ำปกติมันไม่แพงหรอก แต่จะแพงเพราะมีการขนส่ง มีการใช้แรงงานเยอะในขั้นตอนที่จะได้มาขาย เพราะฉะนั้นในวันนี้เมื่อคุณเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร หรือแม้แต่ตลาดก็อาจจะเริ่มสังเกตว่า ทำไมถึงต้องล้วงเงินออกจากกระเป๋ามากขึ้น นี่คือสิ่งที่ผมกำลังชี้ให้เห็นว่า การที่คุณต้องควักกระเป๋ามากขึ้นมาจากปัญหานี้และต้องแก้ไขให้ได้ 

ดูเหมือนคุณจะเกิดอารมณ์โกรธทุกครั้งเมื่อพูดถึงปลาหมอคางดำ เห็นได้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด

เชื่อไหมว่า เงิน 3-4 หมื่นบาทที่ชาวบ้านเอาไปซื้อหอยแครงมาได้กระสอบหนึ่ง ปลาหมอคางดำหลุดเข้าไปในบ่อเลี้ยงแค่ 4-5 ตัว หอยที่ลงไปไม่เหลือเลย ผมในฐานะคนที่รับฟังปัญหา ผมเห็นชาวประมงหลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพต้องเปลี่ยนอนาคตของตัวเอง ครอบครัวที่เคยมีที่ดินหลายร้อยไร่ ทุกวันนี้ต้องเช่าเขาอยู่ เห็นคนเลี้ยงกุ้งเลี้ยงหอยที่มีเงินส่งลูกตัวเองเรียน ต้องให้ลูกลาออกมาเข็นของขายในตลาด เราอาจจะมองว่า ปลาหมอคางดำเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ปลาหมอคางดำมันหิวทุกชั่วโมง และทุกชั่วโมงที่ปลาตัวนี้มันหิว มันคือความเป็นความตายของพี่น้องเกษตรกรและชาวประมง 

เราไม่รู้หรอกว่า เอกชนที่นำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อเอามาวิจัยเรื่องอะไร เอาผลการวิจัยไปทำอะไร แต่แน่นอนว่า หากงานวิจัยประสบความสำเร็จ สิ่งที่เอกชนจะได้คือกำไร หากงานวิจัยที่ทำผิดพลาดต้องยกเลิกโครงการไป ทำไมผลกระทบถึงไม่ไปเกิดกับธุรกิจของเขา แต่เป็นเกษตรกรทั้งประเทศต้องมารับชะตากรรม มันไม่เป็นธรรม ถ้าผมไม่สู้ แล้วปล่อยให้มันเป็นปัญหาแบบนี้ไปอีก 4 ปี ก็เท่ากับว่า ผมกำลังส่งอนาคตแบบนี้ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปอีก 

คุณพูดด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจนขนาดนั้น รัฐบาลมีท่าทีอย่างไร 

นายกรัฐมนตรีก็ตอบคำถาม แต่ก็ตอบแค่สั้นๆ ว่า มีการอนุมัติงบประมาณกลาง 98 ล้านบาทเพื่อไปแก้ปัญหา และบอกปัญหาลดลงแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า นายกฯ ไม่ได้รับรู้ความเดือดร้อนของประชาชนเลย และการอนุมัติงบประมาณ 98 ล้านบาทก็เป็นการอนุมัติ 1 สัปดาห์ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นการอนุมัติงบแบบลูบหน้าปะจมูก ทำให้ผ่านๆ ไปจะได้พูดได้ว่าทำแล้วนะ นอกจากในการจัดสรรงบยังไร้การดึงเอาผู้มีส่วนได้ผลกระทบเข้าไปอยู่ในกระบวนการ เขาแทบไม่ฟังเสียงของประชาชนที่กำลังเผชิญชะตากรรมนี้เลย 

ตัวคุณเองเคยถูกสั่งให้หยุดพูดถึงวิกฤตปลาหมอคางดำไหม

ผมเองก็แปลกใจเหมือนกัน เวลาขึ้นเวทีกับเครือข่ายภาคประชาสังคม บางทีขึ้นไป 3-4 คน 2 คนที่นั่งข้างๆ โดนฟ้องหมด เหลือผมอยู่คนเดียวที่ไม่โดน อาจจะเป็นยุทธวิธีของเขา แต่ผมไม่กังวลนะ เพราะการออกมาต่อสู้แต่ละครั้ง ผมมีการตั้งรับไว้แล้วว่า เรื่องแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ เรื่องที่น่ากังวลกว่าคือ การที่ไม่มีใครออกมาทำประเด็นนี้เลยต่างหาก และหากเป็นแบบนั้นเราจะลำบากมากกว่านี้

แต่หลายคนอาจบอกว่า คุณได้แต่พูด การนำเรื่องนี้ไปพูดในสภาฯ ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาตามมาอย่างไร 

ก็อาจจะจริงส่วนหนึ่งนะ เพราะผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีหน้าที่พูดแทนประชาชน เอาปัญหาของประชาชนเข้าไปในรัฐสภา และในฐานะของคนที่รับปัญหามาจากประชาชนแล้ว หากผมไม่พูดผมก็ไม่ควรเป็น สส. ที่สำคัญการพูดถึงปลาหมอคางดำในสภาฯ ก็ถือเป็นการผลักดันให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณเข้าแก้ไขปัญหา แม้หลายคนจะมองว่า รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แต่การความคืบหน้าครั้งนี้ก็ดูเป็นรูปธรรม การระบาดของปลาหมอคางดำในแม่น้ำลำคลองช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา อาจทำให้คนเดินถนนไม่รู้จัก การได้พูดถึงมันในวันนี้ก็จะทำให้เขาได้รู้จักมันมากขึ้น ที่สำคัญเมื่อประชาชนมองเห็นปัญหาร่วมกัน การจัดสรรงบประมาณ การออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหาก็จะตรงจุดถูกทิศถูกทางมากขึ้นด้วย

ฝ่ายบริหารจะลงมาแก้ปัญหาได้ อันดับแรกเขาต้องมองเห็นว่ามันเป็นปัญหาก่อน ในวันนี้มีการปักธงให้การระบาดของปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติ มีการอนุมัติงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปใช้ในการแก้ปัญหา แสดงว่าสิ่งที่เราพูดถึงเขามองเห็นว่ามันเป็นปัญหาแล้ว รัฐบาลกำลังขยับตามแนวทางที่เราต้องการมาอีกก้าวหนึ่ง ที่สำคัญขณะนี้เรากำลังจะขยับไปอีกขั้นคือ การแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำโดยไม่ใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนสักบาท นั่นคือการพาคนที่นำปลาหมอคางดำเข้ามาปล่อยออกมารับผิดชอบให้ได้ เพราะปลามันมาเองไม่ได้ มันต้องมีคนเอามา และเรากำลังรอดูอยู่ว่า รัฐบาลจะเอาด้วยกับเราหรือไม่

แต่ละขั้นตอนที่เราพูดแล้วรัฐบาลขยับตามนั้นถือเป็นความสำเร็จ ถึงแม้จะเป็นความสำเร็จเล็กไม่ใหญ่โต แต่ท้ายที่สุดมันจะเป็นการสั่งสอนกลุ่มทุนที่พยายามเอารัดเอาเปรียบจากความเดือดร้อนของประชาชน และเป็นการบอกว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่คุณเอาไป คุณจะต้องคืนมันกลับมาให้ครบ และอาจเป็นเพราะสิ่งที่เขาเอาไปมีมูลค่ามหาศาล จึงไม่อยากหันกลับมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและพยายามบอกว่าตัวเองไม่เกี่ยวแทน 

ยังมีโอกาสไหมที่วิกฤตครั้งนี้จะจบ 

ทุกอย่างมีโอกาส อย่าเพิ่งมองว่าที่ผมพูดมาทั้งหมดจะเลวร้ายเสียจนไม่มีวิธีหยุดยั้ง แน่นอนว่า การทำลายปลาหมอคางดำให้เหลือ 0 เป็นเรื่องยาก แต่เราสามารถทำให้มันลดลงจากร้อยละ 90 เหลืออยู่ร้อยละ 10-20 ในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ แล้วพยายามปรับให้ปลาชนิดนี้เป็นปลาพื้นถิ่น ตั้งคำถามว่าเราจะใช้ประโยชน์อะไรจากมันได้ ซึ่งประชาชนก็จะตอบว่ามันกินได้แหละ แต่ไม่อร่อย ก้างเยอะ ก็ต้องหาวิธีเอาไปทำอย่างอื่นนอกจากเอามากิน เอาไปทำน้ำหมักได้ไหม ทำปลาป่น หรืออาหารสัตว์ได้หรือเปล่า ทำให้ชัดเจนว่า มันเป็นปลาที่เอาไปทำประโยชน์นี้ เพราะวันนี้มันไม่มีประโยชน์มันเลยยังเป็นปัญหาอยู่ 

ในพาร์ตของการแก้ไขปัญหา ในพื้นที่ระบาดทั้งหมด 79 อำเภอ ต้องมีการจัดความรุนแรงของการระบาดในแต่ละพื้นที่ ทำเป็นสีแดง เหลือง เขียว และขาว อย่างสีแดงคือพื้นที่ระบาดหนักกินพื้นที่ที่ร้อยละ 80 อาจมีการอนุโลมให้ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายจับปลาได้ในปริมาณมากๆ ให้มีการรับซื้อที่สะดวก เพิ่มปริมาณและราคารับซื้อให้สูงขึ้นเพื่อชวนคนหาปู หาปลา เข้ามาช่วยกันกำจัด พื้นที่สีเหลืองคือพื้นที่ที่มีการระบาดลดลงมาเหลือร้อยละ 50 อาจจะตรึงการรับซื้อ ตรึงราคา แต่อาจจะยกเลิกไม่ให้ใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือปกติแทน พอการระบาดลดลงเหลือร้อยละ 10-20 ก็เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียว มีการรับซื้อแบบประปราย และปล่อยปลานักล่าในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงการเฝ้าระวังไม่ให้มีการระบาดซ้ำในพื้นที่ ส่วนพื้นที่สีขาวคือลดลงไปต่ำกว่าร้อยละ 10 แล้ว สามารถปล่อยปลาท้องถิ่นลงในแหล่งน้ำได้มากขึ้น แต่ยังคงมีการสุ่มตรวจด้วยการสุ่มจับปลาหมอคางดำ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลจะต้องไปสำรวจในพื้นที่ระบาดและสถานการณ์ระบาดให้แต่ละพื้นที่

การเอางบประมาณมาแก้ปัญหา จะต้องมีคณะกรรมการพิจารณาว่า รัฐใช้เงินไปเท่าไร และเมื่อเราหาได้แล้วว่า เอกชนใดมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 97 ที่กำหนดให้ใครก็ตามที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติก็ต้องให้เขาคืนทุกอย่าง ปลาเคยมีกี่สายพันธ์ุ แม่น้ำลำคลองเคยมีความอุดมสมบูรณ์แค่ไหน ต้องทำให้เหมือนเดิมทั้งหมด 

ระยะยาวก็ต้องมาสร้างรั้วกันประเทศ ไม่ใช่สร้างกำแพง แต่เป็นการสร้างมาตรการการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นที่มีมาตรฐาน ระบบคัดกรองที่ดี มีการประเมินความเสียหายในกรณีที่เลวร้ายที่สุดจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีการตั้งกองทุนเอาไว้ประกันความเสียหายเอาไว้ใช้ทันทีเมื่อเกิดความเสียหาย เพราะสิ่งที่จะสู้กับมันได้คือความเร็ว แต่รัฐบาลไม่มีสิ่งนี้แน่ๆ กว่าจะอนุมัติงบประมาณ วันนี้เรายังไม่มีมาตรการที่รวดเร็วพอจะไปแก้ปัญหา แล้วต้องมีการเก็บดีเอ็นเอของสัตว์น้ำที่นำเข้าไว้ในแบงก์ พอบริษัทเอกชนนำเข้ามาวิจัยแล้วตอนหลังพบการระบาด หากเทียบดีเอ็นเอแล้วเป็นสัตว์น้ำชนิดเดียวกัน บริษัทก็ต้องรับผิดชอบทันที แต่ในวันนี้เราทำแบบนั้นกับกรณีของปลาหมอคางดำไม่ได้ เพราะเราไม่มีดีเอ็นเอตอนที่เขานำเข้า เขาก็เลยบอกได้ว่า เขาไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นคนทำให้ปลาระบาด

จะเป็นอย่างไรถ้าคนพูดถึงปลาหมอคางดำน้อยลง

มีผลกระทบแน่นอนครับ เอาเข้าจริงๆ ผมไม่ได้อยากให้เรื่องนี้ดังด้วยเหตุผลที่ต้องของบประมาณหรือต้องการโครงการมาแก้ปัญหา แต่ผมให้ดังเพราะมันเป็นอนาคตของพวกเราทุกคน มันคืออาหารบนโต๊ะในแต่ละมื้อของประชาชน อาจจะไม่ต้องรู้ดีเทลของมันขนาดนั้นก็ได้ แต่ควรรู้ว่ามันจะมีผลกระทบอะไรกับตัวคุณ ซึ่งเข้าใจว่าวันนี้มันมีความพยายามที่จะทำให้สื่อเล่นเรื่องปลาหมอคางดำน้อยลง ปิดกั้นไม่ให้ทำประเด็นนี้ มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับภาคประชาสังคมที่ออกมาต่อสู้ เพราะคนที่เป็นต้นตอวิกฤตเขากลัวว่า กระแสสังคมมันจะเล็งไปที่เขา ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือ เร่งหยิบเรื่องนี้ออกมาตั้งคำถาม ติดตามว่าวันนี้มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว 

สุดท้าย คุณอยากฝากข้อความถึงใครในวิกฤตนี้

อยากฝากข้อความถึงคนปล่อยปลา ผมเข้าใจดีว่านักธุรกิจย่อมคิดถึงผลกำไร แต่หากคุณเพิ่มความเป็นคนเข้าไป คุณจะมองเห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่กำลังลำบากจากความพยายามจะหาแต่ผลกำไรของคุณ ดอกผลที่คุณได้มันทำลายไปแล้วกี่ชีวิต ฆ่าใครตายทั้งเป็นไปแล้วบ้าง คุณอาจจะมีความสุขจากการได้ใช้เงินมหาศาล แต่ธนบัตรทุกใบที่คุณใช้ไปมันมีเลือดเปื้อนอยู่ 

Fact Box

  • ณัฐชาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ พรรคประชาชน หนึ่งในผู้ติดตามประเด็นปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย
  • เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ในการประชุมของ สส.เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ ณัฐชาอภิปรายปัญหาปลาหมอคางดำระบาดโดยชี้ว่า ปลาหมอคางดำเป็นอาชญากรรมครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทย 

 

Tags: , , , , , , ,