ในเดือนมิถุนายน 2565 เดือนแห่งความเท่าเทียมหลากหลาย เดือนแห่งความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และตัวตนของ LGBTQ+ ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย

เราสามารถจัดงานไพรด์ครั้งแรกกลางกรุงเทพมหานคร มองไปทางไหนก็เห็นผู้คนออกมาสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และถึงแม้ว่าบรรยากาศแห่งความสุขสีรุ้งนี้อาจมีอยู่เพียงแค่หนึ่งเดือน เป็นเหมือนกระแสที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่การที่สังคมส่งเสียงถึงเรื่องนี้ย่อมส่งผลให้เกิดการตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น จนทำให้แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ทะยานขึ้นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ไทยติดต่อกันหลายวัน

ผู้คนทวีตแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องสมรสเท่าเทียมเกินหนึ่งล้านครั้ง โดยเฉพาะวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่เลื่อนหน้าฟีดทวิตเตอร์ก็จะเห็นแต่ประเด็นดังกล่าว เพราะเป็นวันที่ประชาชนจำนวนมากต่างเฝ้ารอผลการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เปิดให้ลงมติว่า จะรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 หรือ ‘ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ของพรรคก้าวไกลหรือไม่ ก่อนที่ผลจะออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่รับร่างดังกล่าวในวาระแรก ควบคู่กับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของรัฐบาล และร่างของพรรคการเมืองอื่นรวมแล้ว 4 ฉบับ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นก้าวแรกของการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย และเป็นก้าวสำคัญที่ควรต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นบรรดา ‘ผู้มีอำนาจ’ บางกลุ่มในสังคมไทย แสดงท่าทีต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศ ต่อต้าน LGBTQ+ ต่อต้านทุกอย่างที่หวั่นว่าจะสั่นคลอนอำนาจและค่านิยมเดิมตามจารีตที่ตนยึดถือ ผู้มีอำนาจเหล่านี้คือส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการสร้างตัวบทกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งมักแสดงวิสัยทัศน์ที่สวนทางกับประชาชนอย่างสุดขั้วอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุผลหลากหลาย อาทิ สังคมยังไม่พร้อม ขอให้ไปศึกษาเพิ่มเติม รัฐเสียผลประโยชน์ ฯลฯ ไปจนถึงเหตุผลที่ว่า ความหลากหลายทางเพศคือเรื่องผิดธรรมชาติ เป็นความวิปริต หรือเป็นเรื่องของบาปกรรม ฯลฯ

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ประชาชน นักกิจกรรม และนักการเมืองที่ผลักดันเรื่องนี้ ยังคงต้องต่อสู้ต่อไปไม่หยุดยั้ง

‘เตอร์’ – ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ถือเป็นอีกผู้หนึ่งที่ร่วมผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หลายครั้งหลายหนที่เขาลุกขึ้นพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศ พูดถึงปัญหาเกี่ยวกับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ยังคงถูกกดขี่ข่มเหง ไม่ได้รับการยอมรับจากค่านิยมและจารีตเดิม ไปจนถึงสิทธิตามกฎหมายที่พึงได้รับในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง

ทั้งหมดนี้ก็ด้วยความมุ่งหวังของเขาที่จะเปลี่ยนแปลงให้ ‘ความเท่าเทียม’ เกิดขึ้นรอบด้านอย่างแท้จริง

 

อคติทางเพศในนามของ ‘ความหวังดี’

ณธีภัสร์ย้อนอดีตที่เคยประสบกับ ‘การเลือกปฏิบัติทางเพศ’ หรือ ‘การเหยียดเพศ’ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น มันไม่ได้จำกัดเลยว่าคุณเป็นใคร มีอายุเท่าไร หรือมีอาชีพใด ส่วนใหญ่มักเป็นการกระทำจากผู้ที่มีสถานภาพเหนือกว่า และเปี่ยมไปด้วยอคติทางเพศ ผ่านการแสดงออกในนามของ ‘ความหวังดี’ ประหนึ่งพระผู้มาโปรด

การกระทำเหล่านี้ ณธีภัสร์พบเจอมาตั้งแต่วัยเรียน

“เริ่มต้นจากครอบครัวก่อนเลย ผมเติบโตขึ้นมาในช่วงที่สังคมยังไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศมากเท่ากับวันนี้ คุณพ่อก็ไม่ค่อยพึงพอใจกับอัตลักษณ์ของเราเท่าไร ทั้งการแต่งกาย ทรงผม หรือบุคลิกของเรา แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปคุณพ่อก็ยอมรับมากขึ้น พอเราเข้าสู่สังคมที่กว้างขึ้น ไปโรงเรียน ไปมหาวิทยาลัย บางครั้งเราก็ถูกเลือกปฏิบัติหรือโดนดูถูก ซึ่งกับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันไม่เคยเจอ แต่มักเจอกับผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าอย่างครูบาอาจารย์ของเราเอง

“สมัยเรียนจะมีอาจารย์คนหนึ่งไม่อนุญาตให้เราใส่กางเกงมาเรียน เขาบังคับให้เราใส่กระโปรง ถ้าไม่ทำตามเขาจะไม่ให้เรานั่งเรียนตามปกติ แต่จะให้นั่งคุกเข่าอยู่ในห้องจนกว่าคาบเรียนนั้นจบลง หรือจนกว่าเราจะยอมแพ้แล้วไปเปลี่ยนเป็นกระโปรงมาเข้าเรียน บางครั้งแม้คาบเรียนจบแล้วเราก็ต้องคุกเข่าอยู่อย่างนั้นประมาณ 2-3 ชั่วโมง ตอนแรกอาจารย์คงคิดว่าเราจะยอม แต่เราไม่ยอมทำตามที่เขาสั่ง จนสุดท้ายเขายอมให้เราลุกขึ้นแล้วไล่ออกจากห้อง

“มีอีกครั้งหนึ่งตอนช่วงสอบ เราใส่กางเกงไปสอบ แต่อาจารย์คนเดียวกันไล่เราออกจากห้อง ตอนนั้นนั่งงงอยู่หน้าห้องว่ามันเกิดอะไรขึ้นอีกแล้ว เด็กอายุแค่ 16-17 ปี ถูกครูไล่ออกจากห้องซ้ำๆ ไม่ยอมให้ทำข้อสอบเพราะใส่กางเกง ตอนนั้นคิดอยู่แค่ว่าแล้วแบบนี้เราจะเรียนจบไหม จะกลับบ้านไปบอกพ่อแม่อย่างไร บอกว่าสอบไม่ผ่านทั้งที่ไม่ได้แม้แต่จะทำข้อสอบด้วยซ้ำ นั่งอึ้งอยู่เกือบครึ่งชั่วโมงจนมีอาจารย์อีกคนหนึ่งเดินเข้ามาหา ถามผมว่าทำไมไม่เข้าห้องไปสอบ ผมก็อธิบายไปตามจริงว่าอาจารย์อีกท่านไม่อนุญาตให้สอบ อาจารย์คนนี้เลยเดินเข้าไปคุยให้จนสุดท้ายผมก็ได้สอบ

“ตอนที่อาจารย์คนนั้นบอกให้เราคุกเข่า เขาพูดกับเราว่า ‘ผมหวังดีกับคุณนะ ถ้าสมมติว่าคุณเป็นแบบนี้ต่อไป ตอนโตไปคุณไม่มีอนาคตหรอก เดี๋ยววันหนึ่งคุณจะต้องกลับมาขอบคุณผม’ เหมือนเขารู้สึกว่าเรามีบาป คิดว่าถ้าเราเป็นแบบนี้เราไม่มีอนาคตแน่ๆ ความรู้สึกของผมในตอนนั้นคือ ทำไมการแต่งกายของผมต้องไปมีความสำคัญกับคนอื่นมากขนาดนั้น พูดด้วยภาษาธรรมดาคือ แล้วยุ่งอะไรด้วยวะ เกิดคำถามตามมามากๆ ว่า แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าผมจะไม่มีอนาคต ผมรู้สึกโกรธว่าการที่เราเป็นตัวเรา ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชีวิตของเขา ทำไมเขาถึงต้องเข้ามายุ่งกับชีวิตของเราด้วย”

ไม่เพียงแค่นั้น สังคมไทยยังอุดมด้วยการต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยการล้อเลียน ดูถูก เหยียดหยาม และลดทอนความเป็นคนซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยคิดว่าเป็นเรื่องที่คนคนนั้นต้องทน ‘รับได้’ ยิ่งหากใครไม่มีแต้มต่อทางสังคม ย่อมไม่พ้นจะต้องเผชิญกับสภาวะดังกล่าวซ้ำๆ ซากๆ

“เวลาอ่านข่าว อ่านบทความ บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลายครั้งเราจะเห็นการจั่วหัวด้วยชื่อของคนคนนั้น ตามด้วยประโยคทำนองว่า LGBTQ+ ที่เก่ง LGBTQ+ ที่มีความสามารถ หรือ LGBTQ+ ที่รวยและมีชื่อเสียง แล้วผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกจัดอยู่ในกรอบที่ว่า ก็จะรอดจากการถูกเหยียดหยามไปได้หนึ่งขั้น แต่ LGBTQ+ คนอื่นๆ ที่เป็นคนธรรมดา ทำงานโรงงาน ทำงานบริษัท เดิมตามท้องถนนเหมือนกับคนเพศอื่นๆ พวกเขากลับได้รับถ้อยคำดูถูก หรือการแสดงความหวังดีที่ไม่จริงมากกว่ากลุ่มที่ถูกจัดว่ารวยหรือประสบความสำเร็จ

“ผมเชื่อว่าสังคมไทยเหยียดเพศน้อยกว่าเมื่อก่อน แต่การที่อยู่ดีๆ คุณจะมาพูดกับเราว่า ‘เปลี่ยนเถอะนะ’ ‘เป็นเพศให้ตรงตามเพศกำเนิดเถอะนะ’ หรือสอนสั่งว่าชีวิตต้องดำเนินไปตามที่เขาบอก จงมีชีวิตตามเพศแต่กำเนิด แต่งงานกับเพศตรงข้าม มีลูก สร้างครอบครัว ผมก็อยากจะถามกลับว่าใครเป็นคนเซ็ตระเบียบชีวิตที่ว่าขึ้นมา มันเป็นแบบแผนของใครที่ชี้ว่าชีวิตของคนอื่นๆ จะต้องทำแบบนี้ตามสูตรสำเร็จ แล้วถ้าไม่ทำตามจะเท่ากับว่าผิดหรือ จริงๆ สิ่งที่เราทำหรือสิ่งที่เราเป็นมันอาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องอีกอย่างหนึ่ง เป็นอีกเส้นทางชีวิตที่สามารถขนานไปกับเส้นทางของคุณก็ได้”

ณธีภัสร์ทิ้งท้ายด้วยคำถามชวนคิดว่า “ตกลงเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่คนเหล่านี้ทำกับเราหรือบอกกับเรา เขาทำเพราะคิดว่าหวังดี และอาจจะทำให้ตัวเองได้บุญจริงๆ หรือเปล่า”

 

เมืองไทยจะเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+ ได้อย่างไร หากสังคมไทยยังคงเต็มไปด้วยอคติและกฎหมายที่ไม่เท่าเทียม

เราถามณธีภัสร์ต่อไปว่า คิดอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า ‘เมืองไทยเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+’ เขานิ่งไปครู่ก่อนจะตอบว่า ไม่เชื่อประโยคดังกล่าว และมองว่าเป็นแค่เพียงโฆษณาชวนเชื่อที่เผยชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้คนทั่วไปเห็นแค่มุมเดียวเท่านั้น

“ผมพูดถึงความจริงก่อนแล้วกัน ไม่พูดถึงภาพที่ออกมาตามสื่อบางแห่งที่จะนำภาพของ LGBTQ+ มาทำข่าว มาเล่าประเด็นด้วยการบอกว่า LGBTQ+ คนนี้เป็นดารา LGBTQ+ คนนี้ประสบความสำเร็จ หรือ LGBTQ+ คนนี้มีเงินเยอะ เพราะในความเป็นจริงในสังคม ผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังโดนกดขี่อยู่มาก แม้กระทั่งกฎหมายที่จะรองรับพวกเขาจริงๆ ก็ยังต้องต่อสู้กันมาตั้งนาน ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายสักฉบับออกมารองรับพวกเขา

“แต่ด้วยภาพสื่อ การทำให้เป็นเรื่องบันเทิง หรือการตลาดอื่นๆ มีส่วนทำให้คนในสังคมรู้สึกไปเองว่า LGBTQ+ มีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว หรือการที่สร้างภาพจำฝังหัวว่าถ้าจะเป็น LGBTQ+ ต้องทำตัวดีๆ ต้องเก่ง ต้องรวย สังคมถึงจะยอมรับ แต่สังคมควรมองว่า LGBTQ+ ที่เป็นคนเก่ง เป็นคนไม่เก่ง เป็นคนดี หรือเป็นคนไม่ดี ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับผู้ชายผู้หญิงทั่วไป เราอยากให้สังคมมองด้วยภาพแบบนี้มากกว่า แล้วก็ช่วยกันสนับสนุนให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่รองรับอย่างเท่าเทียม”

ภาพสำเร็จรูปของเหล่า LGBTQ+ ตามสื่อต่างๆ อาจเกลื่อนทับประเด็นสำคัญที่แท้จริง คือกฏหมายที่รองรับสิทธิของพวกเขา และเมื่อไรที่เริ่มมีการส่งเสียงถามถึงสิทธิอันเท่าเทียมดังขึ้น ครั้งแล้วครั้งเล่าที่มันจะถูกทำให้เงียบลง และหนึ่งในวิธีการทำให้เงียบอาจควบรวมถึงการโดนคดี…

ย้อนกลับไปยังการชุมนุมวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 บริเวณแยกราชประสงค์ ณธีภัสร์ได้ขึ้นไปปราศรัยเรื่องการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ หลังจากนั้นจึงได้รู้ว่าถูกหมายเรียกจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี 3 ข้อกล่าวหา

ข้อหาแรกคือ ร่วมกันจัดกิจกรรมของบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนข้อกำหนด ม.9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ข้อหาที่สองคือ ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ กทม. โดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 14

และข้อหาที่สามคือ ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร

ในวันที่ไปรายงานตัว ณธีภัสร์ยืนยันว่าจะยังคงส่งเสียงและผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศต่อไป

วันนี้มาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและแสดงเจตจำนงว่าไม่หลบหนี ยืนยันว่าจะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมร่วมไปกับพี่น้องประชาชนอีก 19 คน ที่โดนคดีเดียวกันจากการไปร่วมม็อบสมรสเท่าเทียมคดีนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะพวกเราไปเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศให้กับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้มีสิทธิสร้างครอบครัวและได้สิทธิสมรสอย่างที่ควรได้ ซึ่งบางคนโดนหมายไปแล้วหลายคดี แต่พวกเขายังยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่ลดละบทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ณ สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี

“ม็อบคราวนั้นทางผู้จัดงานได้ติดต่อมาทางพรรคก้าวไกลว่า อยากให้มีตัวแทนขึ้นปราศรัยร่วมกับนักกิจกรรมและกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ วันที่จะขึ้นเวทีก็มีหลายคนเดินมาบอกว่า ตอนนี้พรรคกำลังโดนเพ่งเล็งนะ ถ้าไปอาจโดยหมายได้ แต่ผมรู้สึกว่าการที่เราจะไปใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ขึ้นเวทีโดยปราศจากอาวุธ มันไม่ควรจะต้องมีอะไรผิดกฎหมายเลย ถ้าเราที่เป็น ส.ส. ยังไม่กล้าทำอะไร หวาดกลัวในการทำสิ่งที่ถูกต้อง หรือหวาดกลัวในการที่จะออกไปแสดงความคิดเห็น แล้วประชาชนเขาจะกลัวมากว่าเราไหม ผมก็เลยคิดว่าอย่างไรก็ต้องไป ต้องขึ้นไปแสดงจุดยืนว่าเราเต็มที่ แสดงให้รู้ว่าเราสนับสนุนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ”

หลายคนอาจมองว่าการที่ณธีภัสร์ถูกหมายเรียกจากการขึ้นปราศรัยครั้งนั้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ แต่เป็นเพราะละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีขึ้นเพื่อควบคุมโรค แต่มันมีบางแง่มุมที่ชวนให้เกิดการตั้งคำถามต่อบรรดาผู้มีอำนาจในการกำหนดกฎหมายว่า เมื่อไรที่ ‘ส่งเสียงดัง’ ทวงถามถึงสิทธิเท่าเทียม รัฐจะโต้กลับด้วยอำนาจทางกฎหมาย รวมถึงวิสัยทัศน์ที่แตกต่างสุดขั้ว ดังเช่นตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า

“ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง เป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติ เป็นไปตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของแต่ละสังคม กฎหมายจะบังคับใช้ได้อย่างยั่งยืนต้องเป็นที่ยอมรับและไม่ขัดกับความรู้สึกของคนในประเทศ ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่แตกต่างกันของแต่ละสังคมย่อมเป็นที่มาของกฎหมายที่แตกต่างกันด้วย ในสังคมไทย มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า การสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชาย-หญิงเท่านั้น ป.พ.พ.มาตรา 1448 จึงเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีตประเพณีที่มีมาช้านาน เนื่องด้วยวัตถุประสงค์ของการสมรส คือการที่ชายและหญิงอยู่กินฉันสามีภริยา เพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ มีการสืบทอดทรัพย์สิน มรดก มีการส่งต่อความผูกพันระหว่างพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ซึ่งการสมรสในระหว่างผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้”

จนทำให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ณธีภัสร์ลุกขึ้นตั้งคำถามต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่นิยามว่าการสมรสเป็นเพียงแค่การสืบพันธุ์ของชายและหญิงเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์เท่านั้น เท่ากับมนุษย์เป็นเพียงเครื่องจักรผลิตลูกหรือ มิหนำซ้ำข้อความบางตอนยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้มีอำนาจมีทัศนคติที่ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะขัดศีลธรรมอันดี เปรียบเทียบผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าผิดธรรมชาติ เหมือนกับสัตว์ที่มีพฤติกรรมแปลกแยกจากปกติ และผลักดันให้กลุ่มคนเหล่านี้ใช้กฎหมายแยกต่างหากอย่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ให้ใช้กฎหมายร่วมกับชายหญิงปกติ ก่อนเขาจะเอ่ยถามทิ้งท้ายไปยังผู้มีอำนาจว่า “แล้วท่านจะวินิจฉัยให้ผมเป็นสัตว์สายพันธุ์ไหนครับ?”

“มันเป็นความโกรธผสมความไม่เข้าใจ โกรธแทนกลุ่มพี่น้อง LGBTQ+ สงสัยและข้องใจว่าทำไมถึงตัดสินแบบนั้น คำตัดสินก็อย่างหนึ่ง ในคำวินิจฉัยก็อีกประเด็นหนึ่ง ถ้าศาลเห็นว่ามาตรา 1448 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เราก็มีวิถีทางที่เราจะต่อสู้ทางสภาฯ ต่อ แต่ข้อความที่เขียนมาในคำวินิจฉัยมีคำพูดที่บ่งบอกว่า พวกเขามีอคติกับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ระบุว่าเป็นพวกแปลกแยก ไปเปรียบเทียบเรากับสัตว์ สิ่งนี้ทำให้รู้สึกว่าพวกเขายังมีอคติกับพวกเราอยู่อีกมาก”

ไม่เพียงแค่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ออกนโยบาย รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เช่นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ หน่วยงานราชการบางแห่งจัดกิจกรรมให้คู่รักเพศเดียวกันมา ‘บันทึกจดแจ้ง’ ที่สำนักงานเขต ซึ่งบันทึกนี้จะไม่มีผลใดๆ ทางกฎหมาย แต่ทำขึ้นสำหรับชาว LGBTQ+ ในช่วงที่รอกฎหมายสำหรับคู่รักเพศเดียวกันให้มีผลบังคับใช้ในอนาคต เป็นพื้นที่การแสดงออกว่ายังมีผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกมากที่รอสิทธิที่จะได้สมรสกัน เป็นอีกประเด็นที่ณธีภัสร์ไม่เห็นด้วย

“ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องการจดทะเบียนแบบปลอมๆ ไม่รู้จะเรียกอย่างนั้นได้ไหม แต่ผมเรียกว่าการจดทะเบียนปลอมแล้วกัน ถ้าเรื่องนี้มันเกิดขึ้นเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ผมอาจจะรู้สึกดีกับมันก็ได้ เพราะบางคนก็จะมองการรณรงค์ทำนองนี้ว่าส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้คนเริ่มตระหนักว่าสังคมเรามีคนกลุ่มนี้อยู่ แต่ปัจจุบันเราเดินกันมาไกลมากแล้ว จนวันนี้มี ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่อยู่ในสภาฯ แล้ว ถ้าคิดอยากจะผลักดันอย่างจริงใจอาจต้องลองมองหาวิธีอื่นที่ทำให้คนตระหนักว่าการเมืองไทยกำลังคุยกันเรื่องสมรสเท่าเทียม

“แต่กิจกรรมบันทึกจดแจ้งที่ว่าไม่ได้แสดงออกถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมเลย เป็นแค่การสนับสนุนให้ LGBTQ+ ได้ทะเบียนปลอมกลับบ้านไป เพราะคุณยังไม่ยอมให้ทะเบียนสมรสจริงๆ แก่พวกเขา เหมือนกับว่ารัฐกำลังใช้ LGBTQ+ เป็นเครื่องมือทางการเมือง เอาประเด็นนี้มาฉาบหน้าทำให้ประชาชนเห็นว่าภาครัฐกำลังให้ความสนใจกับเรื่องของผู้มีความหลากหลายทางเพศ”

ณธีภัสร์อยากให้มองถึง ‘ภาพใหญ่’ คือการผลักดันพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ของพรรคก้าวไกล ที่แม้จะเพิ่งผ่านวาระแรก แต่ระหว่างทางที่ผ่านมานั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย อันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ได้พยายามทำความเข้าใจถึงความเท่าเทียมทางเพศเท่าไรนัก และสังคมไทยก็ไม่ได้ใกล้กับความหมายของคำว่า ‘สวรรค์ของ LGBTQ+’ เลยแม้แต่น้อย

“ผมมองว่าเราจำเป็นต้องแก้กฎหมาย เราต้องการจะเปลี่ยนจาก ‘ชายกับหญิงสามารถสมรสกันได้’ เป็น ‘บุคคลกับบุคคลสามารถสมรสกันได้’ พอเป็นแบบนั้นก็จะมีคนบางกลุ่มพูดว่าแล้ว พ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่ดีตรงไหน ก็ให้สิทธิกับผู้มีความหลากหลายทางเพศเหมือนกัน แถมยังไม่ต้องแก้มาตรา 1448 ด้วย ซึ่งทำให้เราต้องกลับมาที่จุดเดิมก่อนว่า LGBTQ+ ก็เป็นมนุษย์เหมือนพวกคุณหรือเปล่า ถ้ามองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ทำไมคนเหมือนกันถึงจะใช้กฎหมายฉบับเดียวกันไม่ได้ ทำไมต้องแยกออกไป

“ตอนนี้ผมแอบมีความหวัง หวังว่าจะไม่กลับไปเป็นวังวนเดิมที่ทุกคนออกมาโหมกระแส พูดถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ สนับสนุน LGBTQ+ แต่สุดท้ายก็ปัดตกร่างฯ โหวตไม่เห็นด้วยด้วยเหตุผลว่าตอนนี้สังคมไทยยังไม่พร้อม รัฐบาลยังไม่พร้อม ประชาชนยังไม่พร้อม ให้ผู้ยื่นเรื่องกลับไปศึกษาใหม่ก่อนแล้วปีหน้าค่อยมาใหม่ จากนั้นในช่วงเวลาที่ว่างอยู่ก็เอาประเด็นของพี่น้องผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเครื่องมือหาเสียง เรื่องเข้าสภาฯ ถูกปัดตก วนกลับซ้ำไปซ้ำมา”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมืองที่หาเสียงโดยการชูประเด็นสนับสนุน ‘ความเท่าเทียม’ เพื่อผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า แต่เมื่อถึงเวลาใช้สิทธิออกเสียงในสภาฯ พวกเขากลับปฎิเสธ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

“ถ้าคุณมีความจริงใจกับ LGBTQ+ จริง คุณอยากจะทำอย่างที่เคยพูดไว้จริงๆ การสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่นักการเมืองจะได้แสดงความจริงใจกับประชาชน คนที่เขาฝากความหวังไว้กับนักการเมืองก็จะกลับมาเชื่อมั่นในตัวคุณ แต่ถ้าคุณไม่ทำ แล้วประชาชนจะเชื่อมั่นในตัวนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของพวกเขาได้อย่างไร”

 

ปักธงความคิดให้ผู้คน ปรับเปลี่ยนอคติ รอวันอำนาจเก่าร่วงโรย

หากไม่นับเพียงปัญหาจากผู้มีอำนาจในการกำหนดสิทธิและเสียงของกลุ่ม LGBTQ+ ตามกฎหมายแล้ว เราตั้งคำถามกับณธีภัสร์ว่า กับผู้คนอีกมากมายในสังคมที่ยังไม่เห็นด้วยกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ หรือต่อต้าน LGBTQ+ นั้น เขาเคยหาคำตอบไหมว่าเป็นเพราะสาเหตุใด และจะมีวิธีสร้างความเข้าใจร่วมกันได้อย่างไรบ้าง

ณธีภัสร์ประเมินว่า กลุ่มคนเหล่านี้อาจขาดทั้งการพยายามศึกษา การทำความรู้จัก ทำความเข้าใจสิ่งที่คิดว่าแตกต่างจากตัวเอง โดยไม่ตระหนักว่าสังคมปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว  

“การที่คนมีความรักในเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร แต่มีประเด็นหนึ่งที่คนบางกลุ่มพูดถึงกันคือ การต่อต้านของผู้เสียผลประโยชน์จากการที่ LGBTQ+ สามารถแต่งงานกันได้ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ถ้าประเมินกันตามตัวเลขทางเศรษฐกิจจริงๆ จะพบว่า การที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น สามารถแต่งงานและสร้างครอบครัวได้ ประเทศจะได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่ด้วยอคติหรือไม่ที่ทำให้คนที่ไม่ได้เสียผลประโยชน์อะไรเลย ยังคงมีสิทธิเหมือนเดิม มีที่ยืนอยู่ได้เหมือนเดิม แต่กลับรู้สึกว่า LGBTQ+ จะเข้ามาลิดรอน หรือมีสิทธิประโยชน์มากกว่าพวกเขา ทั้งที่ก็ได้เท่ากัน

“คนเหล่านี้ไม่เข้าใจเลยว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้ไปลิดรอนใคร ไม่ได้อยากมีอะไรมากกว่าใคร เราแค่อยากจะมีชีวิตหรืออยากจะมีสิทธิเท่ากับคนอื่น คงได้แต่หวังว่าทุกอย่างจะมีการเปลี่ยนแปลง พอถึงวันหนึ่งกลุ่มผู้มีอำนาจที่ไม่เปิดรับก็ต้องร่วงโรย แล้วการที่เราปักธงความคิดของคนในสังคมไว้ตั้งแต่สมัยนี้ ให้ผู้คนได้รับรู้เรื่องพวกนี้ไปเรื่อยๆ ในวันข้างหน้าคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจแทนก็จะยอมรับเรื่องพวกนี้ ให้คิดเสียว่าอย่างน้อยสิ่งที่เราทำวันนี้มันไม่เสียเปล่า”

นอกจากเรื่องสิทธิเท่าเทียมของ LGBTQ+ ณธีภัสร์และพรรคก้าวไกลได้พยายามผลักดันการแก้ไขสิทธิของชายและหญิงให้เท่าเทียมเช่นกัน เช่น

สิทธิลาคลอด จากเดิมที่มีสิทธิเฉพาะผู้หญิง ได้มีการเสนอให้ทั้งชายและหญิงสามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ 180 วันตามกฎหมาย โดยมีการจัดสรรเวลาระหว่างผู้เป็นพ่อและแม่ให้ลาได้ครบจำนวนวันตามโควตา

ประเด็นผ้าอนามัย ที่ยังถกเถียงกันอยู่ว่าควรเป็นของแจกฟรีหรือไม่ แต่อย่างน้อยสิ่งแรกที่ควรทำ คือทำให้ราคาผ้าอนามัยถูกลง

การเกณฑ์ทหาร ที่ทำให้ผู้ชายจำนวนไม่น้อยเสียโอกาสในการทำงานและการใช้ชีวิตตามต้องการ

“ความจริงเราก็เรียกร้องให้กับสิทธิของผู้ชายด้วย แต่ พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารของก้าวไกลถูกปัดตกไปแล้ว ครั้งหนึ่งมีเรื่องตลกที่เจอกับคนใกล้ตัว ผมคุยกับเขาว่าต้องเลิกเกณฑ์ทหาร เขาตอบกลับมาขำๆ ว่า เกณฑ์ทหารดีจะตาย จะได้แข็งแรง ผมก็รู้สึกว่าถ้าคนเราอยากแข็งแรงจริงๆ มันมีอีกเป็นร้อยพันวิธีที่จะหาทางแข็งแรงเองได้ จำเป็นจริงหรือที่ต้องบังคับให้เกณฑ์ทหารเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เขาอาจจะตอบเล่นๆ แล้วเราจริงจังไปเอง นี่เป็นเรื่องตลกที่เล่าให้ฟังเล่นๆ แต่ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจตรรกะนี้

“พรรคก้าวไกลเคยนำเสนอข้อมูลว่าเราอยู่ในศตวรรษไหนแล้ว เราไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่เกิดสงคราม แล้วก็ตั้งคำถามว่าตกลงแล้วเรามีทหารไว้ทำอะไรกันแน่ เราจะมีการเกณฑ์ทหารไปเยอะแยะมากมายทำไม เพราะภาพที่คนส่วนใหญ่เห็นคือทหารชั้นผู้น้อยรับใช้เจ้านาย เราควรจะทำให้ทหารมีความเป็นมืออาชีพ เป็นอาชีพที่ใครๆ ก็อยากสมัครเข้ามาอย่างสมัครใจ แล้วก็ทำให้หน้าที่ของทหารสมศักดิ์ศรี แต่สุดท้ายก็ถูกปัดตกไปอย่างที่ผมบอก

“ผมว่าเรื่องทั้งหมดที่เราพูดกันมา มันเกี่ยวกับชุดความคิด ค่านิยม และความเชื่อที่ได้รับมาทั้งชีวิต สมมติว่าถ้าเราจะเปลี่ยน ก็ต้องเริ่มเปลี่ยนทั้งองคาพยพ ต้องค่อยๆ เริ่มรณรงค์ แก้ไขแบบเรียน ช่วยกันย้ำซ้ำๆ ให้คนที่ยังไม่เข้าใจได้เข้าใจ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลานานแต่ก็ยังรู้สึกมีความหวัง เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว การพูดเรื่องสิทธิเท่าเทียม เพศวิถี สิทธิผู้ชาย สิทธิผู้หญิง หลายเรื่องแทบจะเป็นไปไม่ได้ มองไม่เห็นทางเพราะพูดไปก็แทบไม่มีใครฟัง”

ณธีภัสร์เน้นย้ำว่า หน้าที่สำคัญของ ส.ส. คือการช่วยกันผลักดันกฎหมายที่ยุติธรรมเพื่อออกมารองรับคนทุกคนไม่ว่าเพศใด และหากวันหนึ่งกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านสภาฯ กลายเป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงๆ ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสร้างครอบครัว มีชีวิตที่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคู่รักชายหญิง นานวันเข้า ผู้ที่เคยไม่เข้าใจหรือต่อต้านก็จะเริ่มลดอคติลง และมองเห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ในสังคม

“หลายสิบปีก่อนหาก LGBTQ+ สักคนอยากเปิดเผยตัว เขาก็จะทำให้ครอบครัวต้องอับอาย การเปิดตัวในยุคปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องยากในหลายครอบครัวก็จริง แต่การมองของสังคมถือว่าดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน ส่วนสำคัญก็เป็นผลมาจากการต่อสู้ของนักกิจกรรมและประชาชนที่ยืนหยัดในตัวเองมาตลอดจนถึงวันนี้ พวกเขาทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทีละน้อย

“วันนี้เราก็จะต้องไม่ท้อ เราจะยังคงปักธงความคิดคน เปลี่ยนแปลงความคิดคนต่อไป เราจะลบอคติของคน คู่กับผลักดันกฎหมายที่รองรับว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง”

Fact Box

  • ก่อนที่ 'เตอร์' - ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 51 ของพรรคก้าวไกล เขาเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างทำงานให้กับองค์กรนักศึกษา เพื่อนที่ทำงานร่วมกันได้ชักชวนให้เขามาทำพรรค 'อนาคตใหม่' ร่วมกัน
  • หลังเรียนจบปริญญาตรี ณธีภัสร์ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท การจัดการมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านการทำงานหลายอย่างทั้งเป็นวิศวกรในโรงงาน และเปิดกิจการส่วนตัว ก่อนมุ่งความสนใจมายังประเด็นสังคมการเมืองและทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกล ในประเด็นเรื่องงบประมาณและความหลากหลายทางเพศ และเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนฯ
Tags: , , , , , , , , , ,