‘ไพลิน’ – ชรินทร ราชุรัชต เป็นช่างภาพหญิงไทยคนแรกที่คว้ารางวัลจากเวทีประกวดภาพถ่ายอันสุดยิ่งใหญ่อย่าง World Press Photo (2022) หัวข้อ Open Format ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในชื่อผลงาน ‘The Will to Remember’ 

The Will to Remember คือผลงานที่ว่าด้วยเรื่องราวความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กำลังถูกลืมเลือน ขณะเดียวกันก็เป็นการกล่าวถึงการส่งต่อมรดกทางความคิดจาก 6 ตุลาฯ สู่การต่อสู้ของกลุ่มราษฎรและการต่อสู้บนท้องถนน ผ่านภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ที่ถูกฉีกขาดด้วยความโกรธของผู้คน นำมาหลอมรวมกับปรัชญาคินสึงิ (Kintsugi) ที่แฝงความหมายถึงการไม่พยายามซ่อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างลงตัว

นอกจากความหมายอันลึกซึ้งของ 6 ตุลาฯ เธอยังซ่อนเร้นความหมายของการเป็น ‘ผีแห่งประชาธิปไตย’ พร้อมกับวิพากษ์สังคมไปพร้อมกัน และสำหรับเธอ การทำงานศิลปะโดยไม่สนใจเรื่องการเมืองคงเป็นไปไม่ได้ จึงทำให้ในวันที่เธอไปรับรางวัล World Press Photo (2022) เธอตัดสินใจชู 3 นิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์และการแสดงออกถึงนัยยะทางการเมืองในประเทศไทย

จาก The Will to Remember สู่การเปิดเผยตัวตนทางการเมืองและปัญหาที่ศิลปินในประเทศไทยต้องพบเจอ รวมถึงเบื้องหลังความสำเร็จและแนวคิดที่ซ่อนอยู่ภายใต้รอยแตกร้าวของสังคมคืออะไร ร่วมหาคำตอบไปกับบทสนทนาต่อจากนี้

จุดเริ่มต้นของการเป็นช่างภาพของคุณมาจากไหน

เริ่มสนใจถ่ายภาพในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นรู้สึกแค่อยากถ่ายอะไรที่สวยๆ เก็บเอาไว้ พอเริ่มได้จับกล้องจริงๆ ก็กลายเป็นว่ามีแต่ภาพของเพื่อนๆ ผู้หญิง (หัวเราะ) เลยเริ่มคิดว่าตัวเองน่าจะเอาดีด้านการถ่ายแฟชั่นได้เหมือนกัน แต่ช่วงนั้นยังไม่มีความรู้ด้านการถ่ายภาพ ต้องเรียนรู้แบบครูพักลักจำจากพี่ๆ ที่เขาเรียนด้านการถ่ายภาพมา แต่ก็ตลกตัวเองเหมือนกันที่พอจบมหาวิทยาลัยมาก็ได้ทำงานด้านถ่ายภาพจริงๆ

เริ่มต้นการถ่ายภาพจริงจังก็ช่วงจับกล้องให้กับนิตยสาร Cheeze Magazine ช่วงนั้นถ่ายทุกแนว แต่คงเน้นไปที่แฟชั่นและสตรีท ทำทุกหน้าที่ตั้งแต่จัดไฟยันแบกขากล้อง 

แต่ช่วงหลังก็ค่อนข้างคิดเหมือนกันนะว่า เราอยากทำงานที่เปิดโลกของตัวเองมากขึ้น ประกอบกับเราค่อนข้างสนใจเรื่องจิตวิทยาด้วย ทำให้เริ่มเอาชีวิตตัวเองออกมาเป็นผลงานมากขึ้น ค่อยๆ เปลือยตัวตนออกมาที่ละนิดจนกลายเป็นเราทุกวันนี้ 

กลายเป็นว่าช่วงหลัง เราเริ่มทำงานวิพากษ์วิจารณ์สังคมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่งานที่เห็นการเติบโตของเราได้ชัดที่สุดน่าจะเป็นงาน Otaku (2011) เอาสิ่งที่เราสนใจอย่างวัฒนธรรมญี่ปุ่น การ์ตูนมังงะและการแต่งคอสเพลย์มาเล่าเรื่องโดยเริ่มจากตัวเองและค่อยๆ วิพากษ์สังคมผ่านตัวละครเหล่านั้น

งานถัดไปคือ ลูกคุณหนู (2013) ชิ้นนี้คือการเอาประสบการณ์ของเราที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบนั้นออกมาให้เห็น งานเหล่านี้อาจกล่าวไม่ได้ว่าเป็นภาพถ่ายเพราะเป็นงานที่อาจจะข้ามสายกันไปมา แต่สิ่งที่เห็นชัดคือการเริ่มวิพากษ์วิจารณ์สังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละผลงาน

ทำไมถึงเปลี่ยนแนวจากการถ่ายภาพแฟชั่นสู่การทำงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์

นอกจากเราจะชอบการถ่ายภาพ เรายังสนใจเรื่องจิตวิทยา-ปรัชญา และเราก็สนใจเรื่องปิตาธิปไตยและความไม่เท่าเทียมกันทางเพศมาตั้งนานแล้ว เมื่อก่อนเราจะทำงานวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ บวกกับเราสนใจงานแนวเหนือจริง (Surreal) เราก็เลยพยายามวิพากษ์วิจารณ์สังคม แต่เริ่มจากชีวิตส่วนตัวของเราเอง 

ยิ่งโตขึ้นเริ่มเปลี่ยนมุมมอง จากคนที่สนใจเพียงแค่เรื่องตัวเอง กลายเป็นอยากวิพากษ์วิจารณ์สังคม เรารู้สึกว่าตัวเราไม่สามารถปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมได้ และเชื่อมโยงตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งพอสนใจการเมืองเราก็รู้ว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิต เมือง ถนน กฎหมาย แม้กระทั่งเรื่องศาสนา เราเริ่มรู้ว่าการเมืองนั้นเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ 

เมื่อเราเริ่มมองสังคม การเมือง และสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมากกว่าเรื่องของตัวเองแล้ว ทำให้งานช่วงหลังๆ ก็เริ่มเปลี่ยนทิศทางไปในที่สุด อย่างผลงาน The Will to Remember ที่ส่งไปคว้ารางวัล World press ปีนี้ ก็เป็นการวิพากษ์สังคมอยู่พอสมควร

ผลงาน The Will to Remember ได้รับแรงบันดาลใจและมีที่มาจากอะไร

       จุดเริ่มต้นของงานชิ้นนี้ คือการที่เราหันมาสนใจการเมืองมากขึ้นและเริ่มทำงานที่วิพากษ์สังคมอย่างที่ได้กล่าวไป ขณะเดียวกันเราเองก็มีความหลงใหลในเรื่องของ จิตวิทยาและปรัชญาอยู่แล้ว จึงนำสิ่งเหล่านี้ออกมาถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะในรูปแบบของตัวเอง

เป็นโชคดีของเราด้วยที่ช่วงคิดงานชิ้นนี้ เราได้มีโอกาสเข้าร่วมศิลปินในพำนัก (Artist Rescidency) ที่ประเทศญี่ปุ่นสามเดือน โครงการศิลปินในพำนักเป็นโครงการที่ให้ทุนแก่ศิลปินเพื่อไปใช้ชีวิตและทำงานศิลปะตามเมืองต่างๆ โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ไม่กี่สัปดาห์จนถึงนานเป็นปี โครงการศิลปินในพำนักสนับสนุนศิลปินที่ได้รับทุนให้ทำงานศิลปะโดยมีส่วนร่วมกับเมืองหรือชุมชนที่ตนไปอยู่อาศัย ผ่านการสำรวจและสร้างบทสนทนากับคนในพื้นที่ในรูปของกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเสวนา นิทรรศการศิลปะ หรืองานวิจัยเชิงสร้างสรรค์

การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างศิลปินผู้มาเยือนกับคนในชุมชน คือหัวใจสำคัญของโครงการศิลปินในพำนัก เราจึงได้ไปเรียนรู้ปรัชญา ‘คินสึงิ’ มาจากอาจารย์ที่นั่น ประจวบเหมาะกับช่วงที่เรากลับมาเมืองไทยได้มีโอกาสฟังคลิปการปาฐกถา ‘ครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาฯ 19’ ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์พูดถึงความจำเป็นที่ต้องกลายเป็นผี 6 ตุลาฯ หากหลังจากนี้ไม่มีใครพูดถึง เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คงเป็นเพียงอดีตที่แสนเลวร้ายและถูกปล่อยให้ลืมเลือนไปตามเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นภารกิจของชีวิตอาจารย์ที่จะสืบทอดความทรงจำนี้ไว้ให้นานที่สุด

ศาสตราจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้ให้นิยามการมองที่สังคมไทยต้องมองหน้าผี 6 ตุลาฯ ให้ชัดๆ เพื่อรักษาคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของเราเอาไว้ จากตรงนั้นทำให้เราฉุกคิดได้เหมือนกัน และตัวเราเองก็คิดว่าจะขอเป็นผี 6 ตุลาฯ ด้วยคน และไม่ว่าจะอยู่ในฐานะช่างภาพ ศิลปิน หรือประชาชนคนธรรมดา อย่างน้อยที่สุดจะขอเป็นผีแห่งประชาธิปไตยตลอดไป ตราบใดที่สังคมไทยยังเป็นเช่นนี้

ช่วงแรกเราคิดหนักเหมือนกัน เราไม่ได้เป็นผู้รอดชีวิตจาก 6 ตุลาฯ แล้วคนในครอบครัวเราก็ไม่เคยไปร่วม 6 ตุลาฯ แล้วจะสามารถนำเรื่องราวเหล่านี้มาถ่ายทอดได้ไหม แต่สุดท้ายเราคิดเพียงว่าเราที่เป็นคนรุ่นหลังก็อยากที่จะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น เรามองว่าเป็นความคิดของคน 6 ตุลาฯ ไม่ต่างจากมรดกที่จะสืบทอดเจตนารมณ์นั้นต่อจากคนรุ่นก่อน นอกจากนี้งานชุดนี้เป็นการพาเราไปค้นหาว่าอะไรที่ทำให้ประเทศเดินทางมาถึงทุกวันนี้ และส่วนสำคัญที่สุดคือ เราอยากให้ความเคารพและยกย่องคนรุ่นก่อนในแบบของเรา

ทั้งสองสิ่งระหว่างปรัชญาคินสึงิ กับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มันมีจุดร่วมบางอย่างระหว่างกัน ซึ่งเราสนใจงานข้ามสื่ออยู่แล้ว จึงคิดว่าการจะทำให้ ปรัชญาที่มาจากการซ่อมเครื่องปั้นดินเผากับงานภาพถ่ายที่เป็นศิลปะสมัยใหม่ มาหลอมรวมกันคงกลายเป็นงานที่เกิดการผสมผสาน ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงการทลายกำแพงของขนบบางอย่างไปพร้อมกัน

ทำไมต้องเป็น ‘ผีแห่งประชาธิปไตย’

เราเพียงแค่รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งหมดมาจากคำพูดของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ทำให้เรารู้สึกว่าอยากจะรักษาความทรงจำนี้ต่อไป พอศึกษาไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่เราไม่เคยสนใจมันมาก่อน แล้วยิ่งเรียนไปยิ่งรู้สึก เรื่องนี้ไม่มีในโรงเรียน เรื่องนี้ถูกทำให้หายไป ทำไมเรื่องนี้ถึงพูดถึงมันไม่ได้ ทำไมพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯ ถึงตั้งไม่ได้ ทำไม 6 ตุลาฯ ถึงถูกลืมเลือนมากกว่าเหตุการณ์อื่น เรารู้สึกว่ามีสาเหตุหลายอย่าง ยิ่งการเป็นผีที่มันพูดเรื่องที่พูดไม่ได้ ยิ่งคนพูดน้อยเรายิ่งอยากจะพูดให้มากขึ้น

ทำไมต้องเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

พอเรามาศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พบว่าเป็นแบบที่อาจารย์ธงชัยกล่าวไว้จริงๆ คือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลที่คอยหลอกหลอนสังคมไทย และครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บยังไม่เคยได้รับการเยียวยา 

ขณะเดียวกัน เราไม่เคยได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่าเกิดอะไรขึ้น มีกล่าวถึงและจากไปโดยไม่ได้ลงลึกรายละเอียด เหมือนเป็นความทรงจำที่บางเบามากสำหรับเรา สุดท้ายเรามองเห็นความพยายามที่จะปกปิดประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายที่ผู้มีอำนาจฝ่ายขวาได้ฝากไว้กับประเทศไทย สุดท้ายเมื่อไม่เกิดการเยียวยา ย่อมไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าปรองดอง หรือแม้แต่การมองไปข้างหน้าก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ หากเราไม่ชำระล้างประวัติศาสตร์เหล่านี้ให้เด่นชัดและปรากฏสู่สังคม และยอมรับว่านี่คือประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นจริง มีผู้เสียชีวิตจริง และจะต้องไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

แก่นของปรัชญาคินสึงิ (Kintsugi) คืออะไร 

ปรัชญาดั้งเดิมของคินสึงิคือการซ่อมแซม และเป็นการยอมรับเอาส่วนที่แตกหักหรือแตกสลายมาร่วมเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของตัวเรา ข้อสำคัญคือสิ่งที่เสียหายเหล่านั้นเราจะซ่อมโดยไม่ซ่อนส่วนที่แตกร้าวเหล่านั้นให้หายไป แต่กลับให้สิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

ปรัชญาคินสึงิเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 อย่างไร

เรามองว่างานชุดนี้ของเราไม่ต่างจากการทวงถามความยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่าน (Transitional justice) ซึ่งเป็นการพยายามตามหาความยุติธรรมให้กับทุกคนในเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่จะไปถึงจุดนั้นได้ ประการแรก เราก็ต้องยอมรับอดีต ยอมรับประวัติศาสตร์เสียก่อน ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์นี้เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของสังคมไทย และเราไม่ควรปกปิด ทำไมเราต้องลืม ทำไมเราจะต้องโดนบังคับให้ลืม

ขณะเดียวกันคินสึงิ เป็นการใช้เส้นสีทองลากให้เห็นว่าอดีตเคยมีรอยแตกแบบนี้ และปรัชญานี้ก็คล้ายคลึงกับปรัชญาพุทธนิกายเซนที่บอกว่าการชื่นชมความไม่สมบูรณ์คือความงดงาม เราชื่นชอบความคิดนี้มาก ยิ่งเมื่อไปเรียนก็ยิ่งได้รู้อะไรหลายอย่างมากขึ้น เช่น ในศาสตร์เรื่องเครื่องปั้นดินเผา ยิ่งซ่อมยิ่งแข็งแรงมากขึ้น ตรงนี้เองที่เราคิดว่าไม่ต่างจากการยอมรับว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตยไทยครั้งหนึ่งและประเทศไทยเคยมีการสังหารหมู่กลางเมือง

จะเห็นได้ว่าทั้งสองต่างมีความเชื่อมโยงระหว่างกันในการให้ความหมายของการไม่ลืมเลือนบางสิ่งและบางอย่างนั่นเอง

กระบวนการทำงานชิ้นนี้มีอะไรบ้าง

เริ่มจากรูปภาพ เรานำภาพส่วนหนึ่งมาจากโครงการ 6 ตุลาฯ และอีกส่วนมาจากภาพที่เราไปถ่ายเอง นำมาพิมพ์บนกระดาษ

ต่อมาคือการนำภาพเหล่านั้นมาฉีกออก ซึ่งการฉีกออกหมายถึงการแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่รัฐทำต่อประชาชน ความโกรธ รวมถึงอารมณ์ของเรามีต่อรัฐ เราก็แสดงอารมณ์เหล่านั้นลงไปบนกระดาษ จริงๆ อาจจะมองว่าเป็น ‘สุนทรียะแห่งการต่อต้าน’ ก็ยังได้ เพราะเป็นการต่อต้านในรูปแบบของการสร้างความจดจำในเหตุการณ์ที่เขาอยากปกปิด ซึ่งหลายๆ อย่างรวมกันเราว่ามันเชื่อมโยงกันทั้งหมด

สุดท้ายจึงใช้ยางรักผสมผงทองคำเปลวกับกาวเพื่อเป็นตัวเชื่อมประสาน ถ้าเป็นงานเครื่องปั้นดินเผาเขาจะใช้ยางรักสีดำเท่านั้น แต่เรานำมาทดลองกับกระดาษพิมพ์พบว่าไม่สามารถทำได้ จึงต้องเปลี่ยนวิธีโดยใช้กาวในการเป็นตัวเชื่อมเข้าด้วยกันก่อน และค่อยๆ ทิ้งไว้ให้มันแห้ง เสร็จแล้วจึงเอายางรักผสมกับผงทอง และค่อยๆ วาดเส้นลงไปอีกที พยายามทำตามเทคนิคคินสึงิให้ได้มากที่สุด

ในระหว่างที่ค่อยๆ ลากเส้น ไม่ต่างจากการทำสมาธิและการภาวนา นึกย้อนถึงอดีต ภาวนาถึงคนรุ่นก่อนที่เขาต้องเสียชีวิตไปในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ภาวนาให้ดวงวิญญาณของพวกเขาไปสู่ภพภูมิที่ดี ส่วนยางรักสีทองเป็นการพยายามเชื่อมโยงถึงความหวัง ขณะเดียวกันก็เชื่อมไปยังประวัติศาสตร์ที่มันขาดออกจากกันให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน 

ทุกขั้นตอนการทำต้องใช้ทั้งแรงกายและความอดทน เราต้องใช้สมาธิตั้งใจทำขึ้นมา ทั้งหมดช่วยให้รู้สึกการเยียวยาตัวเองและยอมรับอดีต ซึ่งการยอมรับอดีตในเชิงปรัชญา เหมือนให้เรายอมรับกับตัวตนอันแหลกสลายที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจส่งผลงานไปประกวดรางวัล World Press Photo ปีล่าสุดคืออะไร

เริ่มคิดว่าถ้าทำผลงานด้านภาพถ่ายและศิลปะมาได้ระยะเวลาหนึ่ง ก็อยากเริ่มที่จะส่งงานประกวดดูบ้าง ขณะเดียวกันอยากทดสอบตัวเองในสนามที่จะพาเราไปไกลกว่านี้ 

ปกติเราจะไปเป็นศิลปินในพำนักที่เมืองนอกบ่อยๆ ถ้าจะพูดให้ชัดคือบ้านเราไม่มีพื้นที่สำหรับศิลปะในเมืองไทยมากเท่าที่ควร เราทำงานศิลปะด้านภาพถ่ายด้วย แล้วบ้านเราแบบไม่มีทุนทางด้านนี้มากเท่าที่ควร หรือการเป็นศิลปินในพำนัก ถ้าเราเป็นคนไทยแล้วอยากออกไปข้างนอกให้ได้ เราคงต้องหาทางวิธีสักอย่างให้ได้ ที่ผ่านมาเราไปเป็นศิลปินในพำนักมาหลายที่ เราเลยเริ่มอยากจะท้าทายตัวเองเลยพยายามลงประกวดดู

เรื่องราวที่เราอยากจะเล่าส่วนนี้ตรงกับสิ่งที่การประกวด World Press Photo (2022) ต้องการ คือ ‘Story that matter’ เขามองว่าเรื่องที่เราเล่ามีความหมายและมีความสำคัญ เราคิดว่าทาง World Press Photo และเรากำลังมองเห็นสิ่งเดียวกัน คือการพาไปทุกคนไปให้เห็นปัญหาของโลกใบนี้ แต่ในขณะที่เป็นปัญหาสุดท้ายก็ยังคงมีความหวังอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้น 

ถามว่าเคยอยากส่งประกวด World Press Photo มาก่อนไหม ก็คงตอบว่าไม่ เพราะถ้าปกติเป็นงานเทศกาลปีที่ผ่านๆ มา ก่อนหน้านี้คงไม่ได้ส่ง เพราะงานเราผิดกฎภาพถ่ายข่าว ภาพถ่ายสารคดีทุกข้อ งานเราไม่เข้ากับคุณสมบัติ World Press เลย ของช่างภาพข่าวและสารคดีที่ต้องเน้นความจริงที่สุด ส่วนใหญ่เขาก็มีกฎว่าห้ามปรับสี ห้ามอะไรหลายอย่าง อย่างภาพ 6 ตุลาฯ เราไม่ได้ถ่ายเอง เราไม่ได้ไปอยู่ใน 6 ตุลาฯ ถึงแม้เราจะทำคินสึงิเองก็ตาม แต่ในเชิงศิลปะการนำภาพประวัติศาสตร์มาทำใหม่มาเสริมเติมแต่งในเชิงศิลปะมันทำได้ การทำงานศิลปะไม่ได้มีข้อจำกัดตรงนี้ ยิ่งปีนี้มีเปิดโอกาสสำหรับคนทำงานศิลปะหรือคนที่ทำงานสื่อผสมและข้ามสื่อกัน ส่งงานได้เราก็คิดว่าน่าจะเพราะงานเราก็มีส่วนที่เป็นสารคดี และส่วนที่เราถ่ายเอง ได้ในประเภทสื่อผสม (Open Format)

ปีที่แล้ว รางวัลเทอร์เนอร์ไพรซ์ (Turner Prize) รางวัลที่สำคัญกับทางศิลปะก็ให้รางวัลกับศิลปินที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง (Activist) ซึ่งเขาได้รับรางวัลโดยทำงานแนวคิดที่เกี่ยวกับการเรียกร้องประท้วง ซึ่งเขาก็ไม่ทำงานศิลปะเองแต่ลงไปทำงานกับชุมชนและให้ชุมชนเป็นคนลงมือทำ ซึ่งเรารู้สึกว่าการทลายกำแพงระหว่างโลกศิลปะกับการเมือง เป็นการเรียกร้องทางการเมืองโดยใช้รูปแบบศิลปะ

รู้สึกว่าการที่ค่อยๆ ทลายกำแพงพวกนี้ ไม่ต่างจากการเปิดประตูให้เพิ่มมากขึ้น เรารู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่ทำให้สามารถเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้มากขึ้น ตรงนี้เป็นการเปิดโอกาสและเรามองว่าช่วงแรกของการมีสิ่งใหม่ๆ ออกมา ย่อมมีการต่อต้านอยู่แล้ว เรามองว่าการที่มีการถกเถียงกัน เป็นเรื่องที่ดีมากกว่า อย่างเทอร์เนอร์ไพรซ์ก็มีการถกเถียงกันว่า คนที่ทำงานเรียกร้องทางการเมืองควรจะได้รางวัลศิลปินด้วยเหรอ ในเชิงภาพข่าวมันควรเป็นศิลปะไหม ถกเถียงกันได้เหมือนกัน ในแง่การเล่าเรื่อง ถ้าใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องแล้ว ใส่ความหมายได้เพิ่มขึ้นได้มันก็น่าจะเป็นการเล่าเรื่องอีกแบบหนึ่งได้เหมือนกัน

ชรินทรที่อยู่ตรงนี้นิยามว่าตัวเองเป็นอะไร ช่างภาพ ศิลปิน หรือนักข่าว

ถ้าให้พูดก็คงต้องตอบว่า เป็นคนที่ทำงานศิลปะมากกว่า แต่ส่วนตัวเราอยากจะออกมาทำงานที่เรียกร้องอะไรสักอย่างกับสังคมมากกว่านี้ เพราะตัวเราเชื่อมโยงกับสังคมมากกว่าเมื่อก่อน ในแง่ของการต่อสู้ในเรื่องการเมืองยังคงต้องต่อสู้และประเทศนี้ยังคงต้องการมันอยู่ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือการเรียกร้อง หรือการทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น

ได้เห็นข้อถกเถียงเรื่องการได้รางวัลที่เกิดขึ้นในหมู่ช่างภาพและศิลปะบ้างไหม

เรื่องการถกเถียง แม้แต่ที่เมืองนอกตอนที่ไปรับรางวัลก็ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับสำนักข่าวจากประเทศต่างๆ ทั้งนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) เอพี (AP) รอยเตอร์ (Reuters) ก็มีการถกเถียงในประเด็นภาพข่าว-สารคดีต้องเป็นอย่างไร หรือแม้แต่ในหมู่ช่างภาพด้วยกันที่ได้รับรางวัลก็พูดคุยกันเรื่องนี้เหมือนกัน หลากหลายความคิดเห็น

กรรมการบางคนค่อนข้างตื่นเต้นที่ได้เห็นงานภาพข่าวหรือภาพถ่ายแนวใหม่ๆ ที่ออกมาเล่าเรื่องแนวสารคดี หรือใช้เทคนิคใหม่ๆ แต่ในแง่บรรณาธิการภาพข่าวอย่างเอพีหรือรอยเตอร์ เขายังมองว่าภาพควรจะเป็นแบบเดิม หรือหนังสือพิมพ์ก็ยังอยากลงข่าวที่เป็นภาพข่าวแบบอยู่ ถ้าให้มาลงข่าวเป็นศิลปะก็ไม่สามารถบอกเล่าเป็นภาพข่าวหรือความจริงได้อย่างเต็มตัว

ในหมู่ผู้ชนะรางวัลทั้งหลายก็มีความน่าสนใจในเรื่องการถกเถียงเหมือนกันในเรื่องเชิงเทคนิคว่า ใช้เทคนิคแบบนี้เหมาะสมหรือไม่สำหรับงานงานโอเพนฟอร์เเมต เช่น ศิลปินยุโรปส่งประกวดภาพโดยใช้ AI เป็นผู้เขียนภาพทั้งหมด โดยที่ไม่ได้ถ่ายด้วยตัวเองเลยแม้แต่ภาพเดียว ในผลงานชื่อว่า ‘The Book of Veles’ เจตนาของศิลปินคือการนำเสนอเรื่อง FAKE NEWS แต่ท้ายที่สุด กรรมการน่าจะมองที่ความตั้งใจ และการสื่อสารนั้นเข้ากับเรื่องและความหมาย เช่น ผลงานนี้ทำทุกอย่างด้วย AI เพราะเขาต้องการเล่าเรื่อง FAKE NEWS การใช้ AI สร้างรูปขึ้นมาโดยไม่ได้ใช้รูปถ่ายที่เขาถ่ายเองเลย คือการสะท้อนถึงความหมายลึกๆ ของคำว่า FAKE NEWS 

ถ้าคิดในแง่นี้ เนื้อหางานและเทคนิคที่เขาต้องการจะสื่อก็ตรงกัน เหมือนกับงานเราที่เราใช้เทคนิคคินสึงิ ซึ่งความหมายปรัชญาของมันคือสิ่งลึกๆ ที่เราจะสื่อในงานเรามันเป็นประเด็นมากกว่า ว่าจะเป็นภาพข่าวมากน้อยแค่ไหน เป็นการแยกประเภทกันไปเลย เราเลยคิดว่าตรงนี้ไม่น่าเป็นปัญหาอะไร

การทำให้เกิดการถกเถียงพูดคุยก็เป็นเรื่องที่ดีใช่ไหม

เวลาที่มีแนวคิดอะไรขึ้นมา ต้องมีการพูดคุยกันอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าการได้มองเห็นมุมมองอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้เราได้เปิดและสำหรับเรา เราเปิดรับความคิดทุกอย่างนะ ด้วยเหตุผลสองเรื่อง หนึ่ง เราไม่ได้อยู่ในโลกของนักข่าวมาก่อน การได้เห็นมุมมองว่านักข่าวเขาคิดแบบนี้ บรรณาธิการข่าวเขาคิดอย่างไร การที่ภาพข่าวจริงๆ เป็นแบบไหน การที่เราได้รู้กฎมากขึ้นสำหรับเราก็ดีอยู่แล้ว สอง คือเราก็ได้นำมุมมองเหล่านี้มาปรับใช้กับงานศิลปะของเราได้มากขึ้นด้วย

ศิลปินจำเป็นต้องสนใจการเมืองไหม

อันนี้แล้วแต่ศิลปินคนนั้นๆ เลย เป็นสิทธิส่วนตัว ใครจะสนใจการเมืองหรือไม่สนใจก็เป็นสิทธิของคนนั้น มันมีคำพูดที่ว่า กลุ่มคนที่ทำงานศิลปะเพื่อศิลปะจริงๆ เราก็รู้สึกว่าจะสนใจการเมืองหรือไม่แล้วแต่คน แต่สำหรับเรา ประเทศมาถึงจุดนี้ที่จะไม่สนก็ไม่ได้แล้ว ถ้าประเทศไทยไม่มีรัฐประหารโดยทหารถึงสิบสามครั้ง การที่เราเคยมีการสังหารหมู่ในเมืองกรุงได้ตั้งหลายครั้งขนาดนี้ แล้วเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังไม่เคยมีการสืบสวน ไม่เคยมีใครถูกขึ้นศาล ประเทศมาถึงตอนนี้จะไม่ให้สนใจการเมืองก็ไม่ได้แล้ว

บ้านเรารัฐบาลท้องถิ่นอ่อนแอ การรวมศูนย์รัฐทำให้ไม่เกิดการสนับสนุนศิลปะในหลายๆ อย่าง ถ้าให้พูดเปรียบเทียบเหมือนโครงการศิลปินในพำนักทุกที่ที่เราไปมักได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ทำให้โครงการอะไรที่รัฐจะมาสนับสนุน หนัง เพลง หรืออะไรก็ตาม ก็จะต้องเป็นแบบเดียวกันไปหมด การที่รัฐจะสนับสนุนให้ศิลปินคนไหนที่รัฐให้ทุนหรือไม่ให้ทุนใครมันมีความหมายในนัยยะทางการเมืองอยู่แล้ว

ประเทศเราก็มีศิลปินเยอะแยะที่ได้ทุนจากต่างประเทศ งานเราก็ไม่มีคนไทยมาซื้อ เราได้ไปแสดงงานที่เมืองนอกตลอด เป็นอีกเหตุผลด้วยที่เราพยายามนำงานออกไปข้างนอกให้ได้ เหมือนอยู่ที่นี่ก็ไม่ค่อยมีที่ยืนมากเท่าที่ควร เรื่องที่เราพูดเขาก็ไม่ได้อยากให้เราพูดขนาดนั้น เราก็ไปหาที่ที่เขาให้เราพูดได้ เขาพร้อมสนับสนุนเรา

เสรีภาพจำเป็นขนาดไหนสำหรับศิลปิน

ในแง่การทำงานศิลปะมันยากถ้าศิลปินต้องโดนบังคับโดยไม่ให้เขามีแนวคิดหรืออะไรที่เป็นของตัวเองเลย เราคิดว่าคนทำงานศิลปะไม่สามารถทำงานแบบเป็นหุ่นยนต์ได้ ในแง่ความคิดสร้างสรรค์ 

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าต้องสร้างสร้างสรรค์ มันไม่สามารถเกิดจากการบังคับได้ สำหรับเรา ถ้าเป็นศิลปินแล้วทำงานศิลปะที่ขัดกับแนวคิดหรือต้องไปพูดเรื่องโกหก เราทำไม่ได้ ในแง่จิตวิญญาณของศิลปินและความเป็นมนุษย์เราคิดว่า ถ้าไม่มีเสรีภาพชีวิตต้องอยู่ในกรงขังที่มันมีกรอบบังคับไว้ เราก็ไม่สามารถทนอยู่กับมันได้ เราก็ต้องออกมาแสดงจุดยืนว่ามันว่าไม่ได้ เราจะออกมาต่อต้าน เราจะพูดในสิ่งที่เราต้องพูดออกมา 

หลังได้รับรางวัล ได้มีการนำผลงานไปแสดงมากี่ประเทศ และมีแพลนจะเปิดที่ไทยบ้างไหม

ตอนนี้เปิดงานในยุโรปเปิดงานไปสิบประเทศ ในหลายเมือง ซึ่งแน่นอนว่าเปิดที่เมืองอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ก่อน หลังจากนั้นไปที่ เมืองซูริก สวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วยกรุงโรม อิตาลี สเปน กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี รวมถึงยังมีกำหนดการไปแสดงอีกที่โปแลนด์และแคนาดา

ส่วนการจัดแสดงที่ไทยยังไม่มีแพลนเลย คือปกติ World Press Photo จะมาเปิดโชว์ผลงานที่ไทยเกือบทุกปี ยกเว้นปีที่เกิดรัฐประหารช่วง 2014 ที่ไม่ได้จัดและปีก่อนหน้าที่เป็นช่วงสถานการณ์โควิดระบาด ที่เหลือก็จัดการแสดงเป็นปกติ แต่หากปีนี้ไม่แสดงที่เมืองไทยก็คงเสียดายเหมือนกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ คงยิ่งพูดอะไรหลายอย่างมาก ว่าประเทศเราเป็นอย่างไร

 ถ้างานชิ้นนี้จัดแสดงในประเทศไทยคิดว่ารัฐจะมองอย่างไรบ้าง

เราว่ารัฐไทยไม่มีมาตรฐานใดๆ เราเลยไม่สามารถรู้ได้ว่าการได้รางวัลนั้น รัฐไทยจะยินดีด้วยหรือไม่ชอบก็ได้ แต่ทั้งนี้ เราไม่เคยมองเห็นมาตรฐานอะไรในรัฐนี้ หรือถ้ารัฐมีก็คงเป็นสองมาตรฐาน เรารู้สึกว่าสังคมมีความกลัวที่ครอบโดยรัฐตลอดเวลา มันทำให้ศิลปินบ้านเราต้องพยายามปกป้องตัวเองโดยการไม่พูด แม้แต่งานเราก็ยังต้องหาช่องทางพูดแบบอ้อมๆ บ้าง หรือถ้าเราแสดงงานที่เมืองไทยอาจไม่แสดงทุกรูป หรือเราใส่กรอบไว้ไม่มีรูปก็ได้ คิดว่าการแสดงในประเทศคงต้องมีการปรับเปลี่ยนไป

ศิลปินไม่สามารถรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง มันสร้างความสับสนและความกลัวให้มากกว่าสิ่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นความกลัวที่ครอบสังคมไทยเอาไว้ เหมือนที่เราชอบเล่นมุขกันว่าใครทำอะไรแล้วบอกว่าอยากกินพิซซ่า ข้าวผัดไหม การที่มันเป็นความกลัวที่ครอบไว้มันรุนแรงมาก เพราะเราไม่รู้เลยว่าเราทำอะไรได้บ้างหรือไม่ได้บ้าง

อะไรที่รัฐควรส่งเสริมศิลปิน

ช่วยเป็นประชาธิปไตย ช่วยเป็นเหมือนประเทศโลกที่หนึ่ง ช่วยออกไปดูต่างประเทศว่าเขาเป็นอย่างไร (หัวเราะ) อันนี้พูดเล่น ถ้าถามเรา วงการศิลปะ เราว่าแค่ช่วยให้เสรีภาพกับศิลปินแค่นี้ ในเบื้องต้นก่อนก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดแล้ว

ถ้ามองจากในประเทศที่เขาสนับสนุนทางด้านวัฒนธรรม ศิลปะ หรือซอฟพาวเวอร์ ประเทศส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องพวกนี้ เขาจะมีการให้เสรีภาพ เปิดกว้างในการทำงานโดยที่ไม่ได้ไปบีบบังคับอะไรกับศิลปิน เราคิดว่ารัฐสามารถให้สิ่งเหล่านี้ก่อนได้ เราคิดว่าเพียงเท่านี้วงการศิลปะบ้านเราก็น่าจะสามารถทำให้ศิลปินไทยทำงานได้อย่างเปิดกว้างได้มากขึ้น

ทราบมาว่าคุณได้รับรางวัลจากมือของราชวงศ์เนเธอแลนด์ ช่วยเล่าความรู้สึกให้ฟังหน่อย

       จริงๆ เมื่อเข้าไปยืนรับรางวัลก็ตื่นเต้น แต่เจ้าชายคอนสตันตินแห่งเนเธอร์แลนด์ก็เป็นกันเองมากไม่ได้อะไร มาเดินมาคุยกับทุกคน เจ้าชายกล่าวกับที่มาร่วมงานบอกไม่ต้องเกร็ง เพราะราชวงศ์ของที่นี่ไม่ต้องแสดงความเคารพแบบโลกเก่าอีกแล้ว เจอกันก็จับมือ กินข้าวร่วมกันธรรมดา

ตอนไปดูงาน มีคนพาเจ้าชายไป เจอกันพร้อมตากล้องทั้งหมด ได้เล่าสถานการณ์บ้านเราว่า คนรุ่นใหม่ นักศึกษา เขาออกมาประท้วงเรื่องอะไร และ The Will to Remember คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับการชูสัญลักษณ์สามนิ้ว จนตอนรับรางวัล เราตัดสินใจขึ้นไปชูสามนิ้วหลังรับรางวัล

 ประทับใจมากที่สุดคงเป็นที่การที่ประเทศเขาเปิดกว้างมากๆ กับการทำงานทางศิลปะ อย่างมีงานของคนที่ชนะรางวัล Photo of the years เป็นผลงานที่ต่อต้านศาสนา แต่ก็สามารถจัดแสดงในโบสถ์ได้ และการที่ราชวงศ์เป็นผู้สนับสนุน World Press Photo ก็ไม่ได้มีการกำหนดว่าประเด็นใดห้ามพูด หรือไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ ที่เข้ามายุ่งเกี่ยว ซึ่งตอนที่ราชวงศ์เนเธอร์แลนด์ออกมากล่าวเปิดสุนทรพจน์ ท่านก็พูดถึงการล่าอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ในอดีต มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้ในอดีต เขาก็ขอโทษในสิ่งที่ผ่านมา หากเราอยากมองไปข้างหน้าเราก็ต้องสนใจอดีต

       ความเปิดกว้างของประเทศโลกที่หนึ่ง ประเทศเสรีประชาธิปไตย เราว่าทำให้เราได้มองเห็นอะไรหลายๆ อย่าง

ทำไมตัดสินใจขึ้นไปชูสามนิ้วบนเวที

สำหรับเราการแสดงงานชุดนี้ในที่ต่างๆ การที่ได้เล่าเรื่องที่พูดไม่ได้ของเมืองไทย ในที่ต่างๆ ทั่วโลก มีความหมายมากสำหรับเรา และรางวัล World Press Photo เป็นรางวัลที่มีเกียรติมาก เราก็ไม่อยากที่จะปิด เราคิดว่าเพื่อการมารับรางวัลนี้ เราก็จะแสดงจุดยืนและเปิดเผยตัวตน เรามีแนวคิดแบบไหน เราเรียกร้องอะไร เราอยู่จุดยืนฝั่งไหน เพราะงานนี้เราเป็นส่วนหนึ่งในงานเองด้วย โดยการเข้าร่วมการประท้วงและบันทึกภาพมา ส่วนหนึ่งคือตัวตนของเรา เราคือหนึ่งในผู้ประท้วง เป็นงานที่อยู่ในมุมมองเดียวกับฝั่งผู้ประท้วง อีกอย่างเราไม่ได้เป็นนักข่าว เราเป็นผู้ประท้วงคนหนึ่งที่ออกไปแสดงจุดยืน

 กังวลบ้างไหมกับการเปิดเผยตัวตน

จริงๆ ก็กังวล ถามว่ากลัวไหมก็กลัว แต่เราคิดว่าเรื่องที่เราต้องพูดออกไป เรื่องไหนควรเรียกร้องก็ต้องเรียกร้องต่อไป ในแง่ของงานศิลปะเราไม่สามารถซ่อนตรงนี้ได้ ถึงอย่างไรก็ต้องพูด งานเราพูดออกมาแล้ว ถ้าตัวเราจะซ่อนก็คงไม่มีประโยชน์ เราให้คุณค่ากับงานมากกว่าความกลัวของเราเอง ถ้าเราตั้งใจว่าจะเป็นผีแห่งประชาธิปไตย ก็ขอหลอกหลอนความคิดเก่าต่อไปด้วยประชาธิปไตยที่ดีกว่

ช่วงที่เข้าไปถ่ายภาพในม็อบไปในฐานะอะไร

เราเข้าไปเพราะสนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่แล้ว เพียงแค่คิดว่าเราคิดเหมือนกับน้องๆ เลยออกไป ช่วงที่เราไปถ่ายรูปก็ถ่ายยากมากเลยเพราะไม่มีปลอกแขนหรืออะไรที่บ่งบอกว่าเราเป็นสื่อมวลชน ไปในฐานะคนธรรมดาเลย แล้วสิ่งที่ได้กลับมาคือภาพที่สามารถมาประกอบเป็นเรื่องราวต่อจาก 6 ตุลาฯ ได้

       เราทำงานศิลปะถ่ายภาพ ไปไหนเราก็ติดนิสัยในการหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายไปด้วย ยิ่งเข้าออกม็อบมากขึ้นเรายิ่งเห็นความเชื่อมโยง กระแสของประวัติศาสตร์มันไหลต่อเนื่องกันมา เป็นเส้นที่มีความเชื่อมโยงกัน มันมีอะไรหลายอย่างจาก 6 ตุลาฯ ที่ไม่ใช่แค่ความทรงจำ มันทำให้เกิดแนวคิดอะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้คนรุ่นนี้ออกมาเรียกร้องในยุคนี้ จากข้อเรียกร้องของน้องๆ ทั้งข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปหลายสิ่ง โดยเฉพาะกฎหมายเรื่อง 112 เป็นกฎหมายที่สืบทอดมาจาก 6 ตุลาฯ ทั้งนั้น

มองอย่างไรกับการที่คนรุ่นใหม่ยกย่องคนในอดีตอย่าง 6 ตุลาฯ

สำหรับเรา มองการประท้วงของคนรุ่นใหม่เป็นแรงบันดาลใจหลายๆ อย่าง ตอนแรกที่เราทำ 6 ตุลาฯ เราก็ยังไม่นึกว่าจะมีคนรุ่นหลังหันมาสนใจการเมือง การที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจอดีต ศึกษาประวัติศาสตร์ เริ่มมีแนวคิดเรียกร้องในสิ่งที่ควรเรียกร้องมานานแล้วแต่เราถูกทำให้ลืมไป เหมือนเราโดนหลอก เราโดนทำให้ไม่รู้เรื่อง อะไรหลายๆ อย่างไม่ถูกปิดกั้น ได้เรียนหลายสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอน คนรุ่นใหม่มีความคิดเชื่อมโยงอดีตกับประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ และคนเสื้อแดง คนรุ่นใหม่เขาศึกษาอดีตมาแล้วจริงๆ ทำไมเขาถึงมาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ในอดีต

ไม่ว่าจะเป็นรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ที่ออกมาเรียกร้อง หรือแฟรงก์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) ที่ออกมาประท้วงในรั้วจุฬาฯ เรารู้สึกสิ่งเหล่านี้เป็นทั้งแรงบันดาลใจและการเปิดโลก เราอายุมากกว่าน้องๆ แต่ก็เพิ่งมาลืมตาพร้อมๆ กับกิจกรรมที่พวกเขาทำ มาช้าแต่ก็มานะ

ในฐานะศิลปินที่เดินทางไปในหลายประเทศเห็นความหวังในสังคมไทยบ้างไหม

แน่นอนว่าเห็นไม่กี่วันก่อน จากผลการเลือกตั้งสนาม กทม. รู้สึกว่าการประท้วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นได้เลยว่าความคิดของคนได้เปลี่ยนไปเยอะมาก ถึงแม้อาจจะยังไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างข้อเรียกร้องที่อย่างที่เขาหวังไว้ เรายังมีนักศึกษาที่โดนจับ ยังคงต้องสู้ต่อไป เราได้เห็นความหวังขึ้นมาในสังคมที่มันมืดมาก การประท้วงที่ผ่านมาได้เกิดแรงกระเพื่อมอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งในแง่ความคิดและเชิงวัฒนธรรม เราว่าหลายอย่างในบ้านเราได้เปลี่ยนไปแล้ว

เรารู้สึกว่าสังคมบ้านเรามันมืดมาก แต่ความหวังเริ่มมาขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเราอยู่ในที่มืดมากเท่าไร เรายิ่งพยายามมองเห็นความหวัง ยิ่งอยู่ในที่มืดก็ยิ่งต้องหาความหวัง ไม่อย่างนั้นก็เหมือนมีชีวิตอยู่โดยตายไปแล้ว เราไม่สามารถอยู่โดยสิ้นหวังไปวันๆ เราทำไม่ได้ ต่อให้มองไม่เห็นหรือมืดยังไง เราก็ยังต้องพยายามหล่อเลี้ยงตัวเอง เราต้องไขว่คว้าทุกแสงทุกความหวังที่มองเห็น เพื่อสู้ต่อไปยังอนาคตให้ได้

Fact Box

  • ‘ไพลิน’ - ชรินทร ราชุรัชต ช่างภาพและศิลปินไทยคนแรกที่คว้ารางวัลระดับโลก จากการประกวด World Press Photo (2022) ปีล่าสุด ประเภทผลงาน Open format โดยใช้ชื่อผลงานว่า ‘The Will to Remember’
  • World Press Photo คือเทศกาลประกวดภาพถ่ายระดับโลก จัดโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในชื่อเดียวกัน ตั้งอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อตั้งและดำเนินการประกวดภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1955 จนถึงปัจจุบัน
  • The Will to Remember คือผลงานที่เป็นการใช้ศิลปะผสมผสานระหว่างภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของประเทศไทย โดยเฉพาะช่วง 6 ตุลาคม 2519 จนถึง การเรียกร้องปฏิรูปสถาบันจากกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มที่มีความคิดทางด้านเสรีนิยมในประเทศไทย นำมาฉีกออกจากกัน ให้ความหมายถึงการพังทลายและการสูญเสีย จากนั้นนำไปลงรักสีทองเชื่อมประสานตามหลักปรัชญาคินสึงิ (Kintsugi) ของประเทศญี่ปุ่น หมายถึงการเชื่อมประสานความทรงจำโดยไม่ได้ทอดทิ้งไปและยังเป็นความหวังสู่อนาคต
  • เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นการปราบปรามกลุ่มนักศึกษาและผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของ จอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การปราบปรามในวันนั้นมีการใช้อาวุธสงครามตามด้วยกลุ่มฝ่ายขวาจัดที่ลงประชาทัณฑ์กลุ่มนักศึกษาและผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เหตุการณ์นองเลือดในวันนั้นไม่ต่างจากการสังหารหมู่ที่ผู้กระทำคือตำรวจและทหาร จนปัจจุบันประวัติศาสตร์เหล่านั้นไม่ได้ถูกจดจำและเสมือนว่ามีใครบางคนกำลังพยายามทำให้เหตุการณ์เหล่านี้เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
Tags: , , , , , ,