ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญของกรุงเทพที่รอการแก้ไขมาโดยตลอด คือจัดการพื้นที่สาธารณะในหลายรูปแบบ ทั้งในขั้นพื้นฐานอย่างทางเท้า ซึ่งถูกลิดรอนโดยพื้นที่ถนนมาโดยตลอด และปัญหาพื้นที่สาธารณะทางเลือก เช่น สวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ ที่ยังขาดการออกแบบให้ทุกคนเข้าถึงได้ เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มักกระจุกอยู่ใจกลางเมืองเป็นส่วนใหญ่

Close-Up สนทนากับ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center: UddC) ถึงความสำคัญของพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพ ว่า หากได้รับการออกแบบและปรับปรุงแก้ไขด้วยแนวคิดสำคัญเพียงสองประการคือ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ พื้นที่สาธารณะเหล่านั้นจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการ และกลายเป็นสถานที่สำคัญที่มีส่วนทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นได้อย่างไรบ้าง

นิยามของคำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ คืออะไร ต้องทำหน้าที่หรือสนองอะไรให้กับผู้คนบ้าง

หากดูตามประมวลกฎหมายอาญาในส่วนของการกระทำความผิดบนพื้นที่สาธารณะเขาจะนิยามไว้ว่า พื้นที่ใดๆ ก็ตามที่เข้าถึง มีสิทธิ มีความชอบธรรมในการใช้งาน ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า รโหฐาน หรือพื้นที่ส่วนตัว 

แต่แค่นิยามเท่านี้ไม่พอ เพราะบางพื้นที่ก็คาบลูกคาบดอก ถูกตั้งคำถามว่าแค่ไหนถึงเป็นพื้นที่สาธารณะ อย่างเช่นสวนในหมู่บ้านจัดสรร แบบนี้ถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะหรือไม่ เพราะหากนิยามตามที่บอกว่าคนสามารถเข้ามาใช้งานได้ ก็ใช่ แต่ในความเป็นจริงคือไม่ใช่ทุกคนจะใช้งานได้ คุณต้องเป็นสมาชิก เป็นเจ้าของบ้านก่อน แบบนี้ก็ไม่เป็นพื้นที่สาธารณะในความคิดของผม

ถ้าจะให้ผมนิยามโดยละเอียด คำว่าพื้นที่สาธารณะหมายถึงพื้นที่ใดๆ ก็ตามที่เราออกจากรโหฐาน ดังนั้นตรงไหนที่ไม่ใช่ในบ้านเราก็ถือเป็นพื้นที่สาธารณะ ถนน ทางเท้า และต้องมีอีกสององค์ประกอบปรากฏอยู่ในพื้นที่นั้นคือ

หนึ่ง Accessible Places มีความสามารถในการเข้าถึง คือทุกคนเข้าถึงได้ ไม่มีการจำกัดสิทธิ 

สอง Inclusive Process การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของผู้คน คือพื้นที่สาธารณะ ไม่ควรมาจากผู้มีอำนาจบางส่วนตัดสินใจ แต่ควรเป็นการตัดสินใจของผู้คนร่วมกัน เช่น ชุมชนนี้ต้องการสวน ชุมชนนั้นต้องการพิพิธภัณฑ์  

ตรงนี้จะเป็นเกณฑ์ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ตอบสนองคนในสังคมส่วนใหญ่ไปจนถึงระดับท้องถิ่นเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ต้องมีการตัดสินใจร่วมขนาดไหน จึงจะบอกได้ว่าตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคนอย่างแท้จริง

อยู่ที่การพิจารณาหรือมองว่ากลุ่มก้อนการมีส่วนร่วมใหญ่แค่ไหน เช่น ในกรุงเทพก็อาจมองในระดับเขตหรือในหน่วยชุมชนว่าเขาต้องการพื้นที่สาธารณะแค่ไหน เพราะบางทีเราไม่ได้คุยกันแค่สิ่งพื้นฐานที่เมืองต้องมีอย่างถนนหรือทางเท้า ดังนั้นแม้ในระดับเขตอยากจะทำทางเท้าใหม่ แต่มีชุมชนหนึ่งมองว่าอยากทำลานกิจกรรมมากกว่า ผู้บริหารเมืองก็ต้องมาดูแล้วว่าจะจัดสรรปันส่วนงบประมาณพื้นที่สาธารณะให้ตอบโจทย์คนที่อยู่อาศัยในท้องที่นั้นอย่างไรบ้าง

เมื่อรับรู้ถึงความต้องการที่ชัดเจนจากชุมชนแล้ว ได้ข้อสรุปแล้ว ใครควรมีหน้าที่ผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะและการดูแลอย่างต่อเนื่อง

ถ้าจะกล่าวในเชิงทฤษฎี การผลักดันไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ถ้ามองเรื่องความรับผิดชอบ คำตอบคือเป็นของเมือง ซึ่งหมายถึงองค์กรท้องถิ่นที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในระบบสังคมนั้นๆ เช่น สังคมคอมมิวนิสต์ก็เป็นของผู้ปกครอง ถ้าสังคมประชาธิปไตยก็ต้องเป็นของตัวแทน

สำหรับในกรุงเทพ ถือว่าเป็นบริการสาธารณะของเมือง อยู่ในความรับผิดชอบกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่มีมาตรการผังเมืองชัดเจนว่าต้องมีพื้นที่สาธารณะขั้นพื้นฐาน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน แค่ไหน เท่าไร

ส่วนพื้นที่สาธารณะทางเลือก เช่น ห้องสมุด ลานสเกตบอร์ด ที่ชุมชนจัดตั้งกันขึ้นมา ก็เป็นส่วนที่กลุ่มพวกเขาต้องหารือและพัฒนากันเอาเองในเบื้องต้น แต่ในความเป็นจริง ผมมองว่าส่วนนี้สามารถพัฒนาเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ หรือผู้บริหารเมืองก็ได้นะ ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นของคนในชุมชนรายย่อยเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะทางเลือกเพิ่มเติม จากที่ปัจจุบันเราไม่ค่อยเห็นเท่าไรนัก

 

ปัจจุบันคำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ มีหลักการกำหนดไหมว่าควรมีพื้นที่เท่าไร มีปริมาณมากขนาดไหน ต้องกระจายตัวรอบเมืองไหม หรือมีเกณฑ์ในการเข้าถึงอย่างไรบ้าง

ถ้าให้เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างสวนสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดมาตรฐานในเชิงปริมาณเอาไว้คือต้องมีพื้นที่ 9 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน และที่สำคัญคือต้องมีมาตรฐานในเชิงคุณภาพ สามารถเข้าถึงได้ไม่เกิน 10-15 นาทีด้วย ดังนั้นการทำสวนขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งในเมืองจึงไม่ตอบโจทย์ในเชิงคุณภาพ 

ปัจจุบันจึงมีแนวคิดการออกแบบที่น่าสนใจ คือการทำเป็นโครงข่ายของพื้นที่สาธาณะ นั่นคือจะต้องมี Hub หรือพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นสวนทำได้หลายอย่างมากกว่าการเป็นสวน มี Side เป็นพื้นที่สวนขนาดเล็กๆ กระจายไปทั่วเมือง และ Link เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างจุด ซึ่งอาจเป็นเส้นทางสีเขียว เป็นต้น

หลักที่ว่ามานี้สามารถนำไปใช้ออกแบบพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ได้หมดเลยนะ เช่น โรงพยาบาลอาจมี Hub ขนาดใหญ่ ที่ผ่าตัดได้ รักษาเคสฉุกเฉินได้ รองลงมามี Side ที่รับผู้ป่วยทั่วไป และมี Link เป็นศูนย์บริการชุมชนที่ให้คำแนะนำ ประสานงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ก็สามารถทำได้

นอกเหนือจากสวนสาธารณะ คุณอดิศักดิ์คิดว่ามีพื้นที่สาธาณะรูปแบบไหนอีกบ้างที่เป็นปัญหาหลักของคนเมือง

ที่ผมว่าสำคัญมากคือเรื่องทางเท้าซึ่งในด้านการออกแบบควรเป็นโครงข่าย คือ Link ที่ไปถึง Hub หรือ Side ต่างๆ  

หากพูดถึงหลักการของทางเท้า ผมมองว่าควรมีสองส่วนคือ สามารถเดินได้และคุณภาพดี อีกทั้งต้องมีฟังก์ชันหลากหลาย ในต่างประเทศเราตีความทางเท้าได้มากกว่าแค่เอาไว้สำหรับเดินทาง เพราะรวมไปถึงพื้นที่สำหรับนั่งเล่น ไปจนถึงตั้งร้านหาบเร่แผงลอย หรือจะติดป้ายหาเสียงก็ได้ เนื่องจากเขามีพื้นที่ทางเท้าที่มากเพียงพอ

ผมว่าเรื่องนี้สำคัญ ในหลายๆ ประเทศเขาออกแบบเมืองด้วยการคำนวณพื้นที่ระหว่างทางเดินและถนนที่แม่นยำ มีการบริหารพื้นที่หรือ Area Management ที่จริงจังและตอบสนองคนได้หลากหลายมากกว่า

อีกเรื่องคือพื้นที่สาธารณะทางเลือก เช่น พิพิธภัณฑ์ ที่ปัจจุบันกรุงเทพมีค่อนข้างเยอะ ทั้งของรัฐและเอกชนมากกว่า 240 แห่ง แต่สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญของเรื่องนี้ คือการตีความหรือการนิยามสิ่งนี้ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ที่เป็นประเด็นมาโดยตลอด  

พิพิธภัณฑสถาน แปลตามภาษาไทย คือที่เก็บรวมสิ่งของ เป็นสิ่งที่พัฒนาจากประวัติศาสตร์ไทยสมัยก่อนที่พื้นที่ตรงนี้มีไว้เก็บสินทรัพย์ส่วนตัวของคนบางกลุ่ม ส่วน Museum คือพื้นที่รวมสรรพวิทยา ซึ่งความหมายอย่างหลังเปิดโอกาสให้ทำอะไรได้มากกว่า จะสามารถเป็นพื้นที่ให้คนมาพบปะสังสรรค์ มีกิจกรรมร่วมกันจนเกิดความรู้ใหม่

ดังนั้น พื้นที่สาธารณะในต่างประเทศอย่างพิพิธภัณฑ์จึงตีความกว้างกว่าในไทย ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากประวัติศาสตร์ไทย ที่สมัยก่อนพิพิธภัณฑ์ก็มาจากพื้นที่สะสมส่วนบุคคล

เรื่องนี้ผมว่าน่าสนใจ หากเรามาตีความสิ่งนี้กันใหม่ว่าควรกว้างได้แค่ไหน อย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้คนมีส่วนร่วมได้หลายแบบ เพราะปัจจุบันการเข้าไปดูของสะสมของคนอื่นอาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไรนัก กลับกันหากทำให้ผู้คนสามารถมีส่วนร่วม จนเกิดเป็นองค์ความรู้ เป็นกิจกรรม เป็นผลิตภัณฑ์บางอย่างขึ้นมาได้ พิพิธภัณฑ์ก็จะดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

 

คุณคิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีพื้นที่สาธารณะทางเลือกมากยิ่งขึ้น

เป็นเรื่องที่ยากในตอนนี้ เพราะย้อนกลับไปพูดถึงองค์ประกอบของพื้นที่สาธารณะที่ต้อง Inclusive Process คือให้ประชาชนในท้องที่มีส่วนร่วม เมื่อพิจารณากับสถานการณ์ปัจจุบันที่พื้นที่สาธารณะขั้นพื้นฐานเขายังไม่ดีพอเลย ของพวกนี้จะเป็นความต้องการลำดับรองลงมาเสมอ ถ้าไปถามพ่อค้า-แม่ค้าข้างถนน ว่าจะขยายพื้นที่ริมถนนเพิ่มเติมเป็นสวนดีไหม ผมว่าเขาคงอยากได้พื้นที่สำหรับค้าขายอาหารมากกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่วัดศักยภาพของผู้บริหารเมืองได้เป็นอย่างดี ว่าจะจัดการดูแลพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนทั้งในขั้นพื้นฐานและทางเลือกได้ดีแค่ไหน

คุณบอกว่าทางเท้าที่กว้างเป็นอะไรก็ได้มากกว่าทางเดิน ดังนั้นหลายๆ ปัญหาข้างถนนที่ถกเถียงกันมาทุกยุค จะแก้ปัญหาโดยการออกแบบที่ขยายพื้นที่ทางเท้าได้ไหม

ถ้าคุณคิดว่าทางเดินมีไว้เดินเท่านั้น แสดงว่าคุณไม่รวมคนบางส่วนในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ ถ้าเรามองว่าหาบเร่ แผงลอย อาหารข้างทาง มีความสำคัญ เป็นแหล่งผลิตอาหารเข้าถึงได้ ราคาถูก เหมาะสำหรับเมืองนี้ ผู้บริหารก็ต้องให้ความสำคัญและออกแบบพื้นที่ให้เขา ซึ่งในความเป็นจริงก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นนะ เพราะหากไม่นับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าหรือตามตลาดบางจุด การเข้าถึงแหล่งอาหารในบ้านเราถือเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการมีอาหารข้างทางอยู่ทุกหนแห่ง ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนแล้วว่าสังคมยังต้องการแหล่งอาหารเช่นนี้อยู่

เรื่องอัตราส่วนระหว่างถนนกับทางเท้าก็เช่นกัน จะบอกว่าทุกวันนี้ทางเท้าแทบจะเป็นส่วนเกินของถนนอยู่แล้วก็ไม่ผิด ทั้งที่ความเป็นจริงในการออกแบบควรจะนึกถึงทางเท้าก่อนเป็นสำคัญ เพราะพูดกันตามตรง ไม่ใช่ทุกคนจะมีรถ หรือสามารถขับรถได้ แต่การเดินเป็นสิ่งที่แทบทุกคนจะทำได้ จึงเป็นเรื่องประหลาดไม่น้อยที่บ้านเราเลือกจะทำถนนก่อนค่อยมีทางเท้า

ดังนั้นวลีที่เราพูดกันว่า ‘ทวงคืนทางเท้า’ ความหมายจริงๆ คือไม่ใช่ไปทวงมาจากหาบเร่แผงลอย เสาไฟฟ้า หรือพื้นที่สวนหย่อมต่างๆ แต่ควรทวงคืนจากพื้นที่จากถนน ซึ่งในปัจจุบันหลายๆ ประเทศก็สามารถทำได้แล้ว ด้วยการทำ Street diet ลดพื้นที่ถนนจาก 4 เลนเหลือ 2 เลน เพื่อทำเป็นพื้นที่ทางเท้า เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งถือเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงความต้องการที่หลากหลายของทุกคน

 

ป้ายหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็จะไม่เป็นปัญหากับคนเดินเท้าอย่างทุกวันนี้

ไม่มีปัญหาแน่นอน จริงๆ ตั้งคำถามต่อไปได้เลยด้วยซ้ำว่าจำเป็นต้องมีป้ายหาเสียงเยอะขนาดนี้ไหม ซึ่งในโลกพัฒนาเขาไม่ทำกันแล้ว พ.ร.บ.การเลือกตั้งที่ระบุว่าสามารถตั้งป้ายหาเสียงได้ก็มีมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าควรปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยบ้างไหม ทั้งที่ความเป็นจริงเรามีพื้นที่สื่อ มีโลกออนไลน์ ซึ่งก็ถือเป็นพื้นที่สาธารณะในการหาเสียงแล้ว

หรือในหลายๆ ประเทศ ผู้บริหารเมืองอาจตั้งป้ายใหญ่ๆ แล้วรวมผู้สมัครทั้งหมดอยู่ในป้ายเดียวกัน ตั้งเป็นจอ LED โชว์ให้เห็นทีละคนไป ไม่ต้องมาติดป้ายกันทุกเสาไฟฟ้าแบบนี้

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีโครงการระดับเมกะโปรเจกต์ เป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกัน บางพื้นที่ก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลเลยแม้แต่น้อย คุณคิดเห็นอย่างไร

ถ้าเป็นพื้นที่รัฐที่เป็นโครงการใหญ่ใจกลางเมือง เราก็ต้องมาดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เป็น Accessible Places ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้จริงหรือไม่ ไปกีดกันคนบางส่วนไหม และเป็น Inclusive Process ที่คนในท้องที่มีส่วนร่วมไหม หรือกระบวนการนี้เป็น Top-down จากคนด้านบนเพื่อหวังผลอะไรบางอย่างไหม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นความต้องการของคนในพื้นที่นั้นจริงหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วการที่มีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ไม่ใช่สิ่งที่ผิดนะ การมีพื้นที่สาธารณะขึ้นมาก็ดีอยู่แล้ว  

เพียงแต่ถ้าได้ลองตั้งคำถามต่อไปอีกหน่อยก็น่าสนใจอยู่เหมือนกัน ยกตัวอย่างถ้าลองตั้งคำถามว่า ใครต้องการพื้นที่สีเขียวไหม ทุกคนก็บอกว่าต้องการพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว แต่เราถามว่าต้องการพื้นที่สีเขียวแบบไหน ขนาดเท่าไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง เชื่อว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นโครงการที่หลากหลาย ตอบโจทย์ในหลายๆ ประเด็นมากกว่าเมกะโปรเจ็กต์โครงการเดียวแบบนี้  

 

หากคุณต้องเปลี่ยนจากใช้งบประมาณไปกับโครงการปรับปรุงคลองมูลค่าหมื่นล้าน คิดว่าควรทำพื้นที่สาธารณะแบบไหนดี จึงจะเหมาะสมกับผู้คนในเวลานี้ที่สุด

ถ้าจะเปลี่ยนจริงๆ ผมจะเริ่มจากการตั้งคำถามก่อนว่า คลองหมื่นล้านที่เกิดขึ้นมา มีประโยชน์ ตอบโจทย์ผู้คนไหม และเมื่อเทียบกับพื้นที่สาธารณะอื่นๆ มีสิ่งไหนที่เร่งด่วนหรือจำเป็นกว่าหรือไม่ เช่น ปัญหาเรื่องโควิด-19 ทางเท้าที่รอซ่อมมาหลายปี 

อย่างประเด็นการถอดรั้วบริเวณรอบสนามหลวงออกไป เพื่อคืนพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชน คุณมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

สนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ก็มีการเปลี่ยนผ่านและตีความมาหลากหลาย ในสมัยก่อนเป็นทุ่งพระเมรุสำหรับงานพระราชพิธี แล้วก็เปลี่ยนผ่านมาเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนทั่วไป ที่ไปเล่นว่าว ไปทำกิจกรรม ไปแสดงออกทางการเมือง

ดังนั้นในปัจจุบันที่ยุคสมัยเปลี่ยน ผู้คนเปลี่ยน ก็ต้องมาคุยกับคนในชุมชนตรงนั้นว่าจะเอาอย่างไร ผมคงตอบไม่ได้เด็ดขาดเสียทีเดียว ต้องถามว่าเขาต้องเข้าถึงพื้นที่ตรงนี้ไหม ผู้คนต้องการพื้นที่ตรงนี้เป็นอะไร แต่ถึงอย่างไร การเอารั้วออกแล้วทำเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ เช่น มีห้องน้ำดีๆ ให้ใช้งาน มีการรักษาความปลอดภัย ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารควรปรับปรุงในพื้นที่ตรงนั้น

 

หากสนามหลวงไม่มีรั้วแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือเรื่องคนไร้บ้านที่บางกลุ่มมองว่าเป็นปัญหา แต่หากอ้างอิงตามหลักการของพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนต้องสามารถมีส่วนร่วมได้ การที่คนไร้บ้านจะกลับมาปักหลักในพื้นที่นั้นก็ถือว่าไม่ผิดใช่ไหม

ถ้าตามหลักการพื้นที่สาธารณะคือไม่ผิด ทุกคนมีสิทธิจะเข้าถึงได้ แค่นั้นเลย

แต่ปัญหาที่จะต้องแก้คือไม่ใช่ปิดพื้นที่ที่คนไร้บ้านเคยอยู่ จะได้ไม่มีคนไร้บ้าน แต่ผู้บริหารต้องไปดูปัญหา ไปแก้ไขว่าทำไมเขาถึงออกจากบ้านมา ทำไมเขาถึงไม่มีบ้านอยู่ จะต้องแก้ปัญหาจากสาเหตุตรงนั้น ไม่ใช่มาแก้ปลายเหตุด้วยการปิดพื้นที่สาธารณะที่พวกเขามาอาศัยอยู่

 

มีหลายคนที่เสนอว่า ควรทำพื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก (Micro Public Places) กระจายไปให้ทั่วเมือง คุณอดิศักดิ์มองว่ากรุงเทพฯ ตอนนี้ พร้อมไหมสำหรับเรื่องนี้

ได้ สามารถทำได้เลย คือถ้าทรัพยากรจำกัด งบประมาณจำกัด ผู้บริหารก็จำเป็นต้องมีวิธีจัดการ บริหาร ซึ่งการนำไปสอดแทรกให้อยู่ในพื้นที่เล็กๆ สนองกับความต้องการของคนในพื้นที่เล็กๆ ผมว่าสมควรทำอย่างยิ่ง ดีกว่าทำเมกะโปรเจ็กต์

พื้นที่ใหญ่ๆ ที่มีก็ดี แต่มันดีสำหรับคนในเมืองที่สุดแล้วจริงๆ ใช่ไหม อยากให้ลองตั้งคำถามกันดู

Fact Box

  • ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จัดตั้งขึ้นในปี 2555 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำเสนอความรู้แขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง ผลักดันให้เกิดโครงการฟื้นฟูเมืองอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างพื้นที่นำร่องต้นแบบการฟื้นฟูเมืองประเภทต่างๆ (Urban Renewal Prototype)
  • อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการที่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง อีกทั้งเป็นผู้จัดการโครงการ GoodWalk Thailand เมืองเดินได้ เมืองเดินดี ซึ่งเป็นโครงการด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะที่เป็นมิตรต่อผู้เดินถนน 
Tags: , , , , ,