“ผมขอยกคำพูดของ อริสโตเติล (Aristotle) ที่เคยพูดเกี่ยวกับหลักพื้นฐานความเสมอภาคเอาไว้ว่า ‘ปฏิบัติในสิ่งที่มีสาระสำคัญอย่างเดียวกันให้เหมือนกัน อะไรที่ปฏิบัติแตกต่างกัน แสดงว่ามันมีสาระสำคัญที่ไม่เหมือนกัน’ ดังนั้น เรื่องจำนวนสนามสอบผู้พิพากษาที่เกิดขึ้น เลยเป็นคำถามในเชิงปรัชญาความยุติธรรม ที่ผู้บริหารศาลต้องตอบให้ได้ว่า คุณจะปฏิบัติแตกต่างกันไปเพื่ออะไร”

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือบุคคลที่ออกมาตั้งคำถามถึงรูปแบบ ‘การสอบเป็นผู้พิพากษา’ ในประเทศไทยมาโดยตลอด เพราะไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการสอบผู้พิพากษาถึง 3 สนาม คือสนามใหญ่ สนามเล็ก สนามจิ๋ว

แม้หนึ่งในเรื่องที่เป็นปัญหาคือหลักเกณฑ์ด้านคุณวุฒิและรูปแบบการวัดผลที่แตกต่าง จนทำให้โอกาสการสอบผ่านในแต่ละสนามต่างกันอย่างชัดเจน แต่อีกส่วนหนึ่งที่ รศ.อานนท์มองว่าต้องถูกตั้งคำถามไม่แพ้กัน คือการบริหารของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่ก็รับรู้ถึงประเด็นที่เกิดขึ้น แต่กลับไม่มีท่าทีที่จะแก้ไขแต่อย่างใด คล้ายกับว่าอยากให้ธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้คงอยู่ต่อ

The Momentum พูดคุยกับ รศ.อานนท์ มาเม้า ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ถึงสาเหตุและต้นตอ ผลกระทบ อีกทั้งหากจะเริ่มนับหนึ่งแก้ปัญหาต้องทำอย่างไรต่อ เพื่อลดการปลูกเมล็ดพันธุ์ความไม่ยุติธรรม จากองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรมเสียเอง

การมีสนามสอบผู้พิพากษาถึง 3 สนาม คืออะไร ความสำคัญและความแตกต่างของแต่ละสนามเป็นอย่างไร

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหลักเกณฑ์ในการสอบเป็นผู้พิพากษา 3 สนาม คือศาลยุติธรรม ที่มีหน้าที่ตัดสินคดีแทบจะทุกคดี เว้นแต่จะมีกฎหมาย กำหนดให้ไปอยู่ในศาลอื่นๆ เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลทหาร ดังนั้น ปัญหาข้อพิพาทของผู้คนในชีวิตประจำวันต่างๆ ส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้น และอยู่ที่ศาลยุติธรรมแทบทั้งสิ้น ทำให้คดีความในศาลยุติธรรมมีปริมาณเยอะมาก จึงจำเป็นต้องมีระบบบริหารบุคคล เพื่อบรรจุคนเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา ปัจจุบันในประเทศไทยเราจะใช้วิธีการสอบแข่งขัน ซึ่งเป็นโมเดลที่เรายึดถือตามประเทศฝรั่งเศส และเยอรมัน ในช่วงปฏิรูปกฎหมายใหม่

ศาลยุติธรรมจะมีการสอบทั้งหมด 3 สนาม แบ่งออกเป็น สนามใหญ่ สนามเล็ก และสนามจิ๋ว ซึ่งมีเงื่อนไขในแง่คุณวุฒิแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้ 

1. สนามสอบผู้พิพากษาสนามใหญ่ ผู้เข้าสอบต้องจบวุฒิปริญญาตรี, สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (สอบผ่านเนติฯ) และ ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี

2. สนามสอบผู้พิพากษาสนามเล็ก ผู้เข้าสอบต้องจบวุฒิปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย, สอบผ่านเนติฯ และได้ประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเส้นทางอื่นๆ เช่น นิติศาสตร์บัณฑิตชั้นเกียรตินิยม และได้ประกอบวิชาชีพเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี

3. สนามสอบผู้พิพากษาสนามจิ๋ว ผู้เข้าสอบต้องจบปริญญาโทกฎหมายจากต่างประเทศ 2 ใบ หรือจบปริญญาเอกกฎหมายในประเทศไทย, สอบผ่านเนติฯ และได้ประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี 

แต่ละสนามมีเงื่อนไขในแง่เนื้อหาการวัดผลแตกต่างกันอย่างไร

แต่ละสนามมีสัดส่วนวิชากฎหมายและวิชาภาษาอังกฤษแตกต่างกัน คือ

1. สนามสอบผู้พิพากษาสนามใหญ่ วิชากฎหมาย 27 ข้อ 270 คะแนน พ่วงด้วยวิชาภาษาอังกฤษ 1 ข้อ 10 คะแนน 

2. สนามสอบผู้พิพากษาสนามเล็ก วิชากฎหมาย 15 ข้อ 150 คะแนน และวิชาภาษาอังกฤษ 2 ข้อ 20 คะแนน 

3. สนามสอบผู้พิพากษาสนามจิ๋ว วิชากฎหมายจะเหลือ 11 ข้อ 10 คะแนน วิชาภาษาอังกฤษจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ข้อ 60 คะแนน

จะเห็นว่า น้ำหนักของวิชากฎหมายในสนามใหญ่ สนามเล็ก สนามจิ๋ว เมื่อจับมาเรียงกัน อัตราส่วนจะค่อยๆ ลดลง และเป็นน้ำหนักในวิชาภาษาอังกฤษที่เพิ่มมากขึ้น เรื่องนี้จึงเป็นความแตกต่างของประเภทในการวัดผลการสอบผู้พิพากษาทั้ง 3 สนาม

แม้จะมีเงื่อนไขต่างกัน แต่อยากรู้ว่าการมีสนามสอบผู้พิพากษาถึง 3 สนาม กลายมาเป็นปัญหาในวงการกฎหมายได้อย่างไร 

ผมขอยกคำพูดของ อริสโตเติล (Aristotle) ที่เคยพูดเกี่ยวกับหลักพื้นฐานความเสมอภาคเอาไว้ว่า

“ปฏิบัติในสิ่งที่มีสาระสำคัญอย่างเดียวกันให้เหมือนกัน อะไรที่ปฏิบัติแตกต่างกัน แสดงว่ามันมีสาระสำคัญที่ไม่เหมือนกัน”

ดังนั้น เรื่องจำนวนสนามสอบผู้พิพากษาที่เกิดขึ้น จึงเป็นคำถามในเชิงปรัชญาความยุติธรรม ที่ผู้บริหารศาลต้องตอบให้ได้ว่า คุณจะปฏิบัติแตกต่างกันไปเพื่ออะไร 

ปัญหานี้ยิ่งขับเน้นให้เห็นมากขึ้น เมื่อทุกคนสอบผ่านได้ในแต่ละสนาม กลับดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาเหมือนกันหมด ไม่ได้มีการกำหนดเฉพาะเจาะจงว่า คนสอบสนามจิ๋วซึ่งเก่งภาษาอังกฤษมากๆ จะอยู่ในที่กองวิเทศสัมพันธ์ หรือกองการต่างประเทศของศาล จึงเกิดคำถามตามมาว่า เราต้องการอะไรจากการที่มีสนามจิ๋ว ซึ่งมีสัดส่วนวิชาคะแนนภาษาอังกฤษถึง 60 คะแนน เราต้องการคนเก่งภาษาอังกฤษจริงไหม 

ถ้าต้องการ ประเด็นแรก คือไม่ต้องจบจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศก็เก่งภาษาอังกฤษได้ ประเด็นที่สอง คือ แม้จะมีคนที่เก่งภาษาอังกฤษเข้าไป แต่สุดท้ายก็กลายเป็นผู้พิพากษาที่จับหน้างานเหมือนกับสนามอื่นๆ คำถามคือจะเอาคนเก่งภาษาอังกฤษเข้าไปทำไม

ดังนั้น ปัญหาสนามเล็ก สนามจิ๋วมีเหมือนกัน คือมีสัดส่วนภาษาอังกฤษมากขึ้น แต่คะแนนสอบกฎหมายลดลง และไม่มีคำตอบหรือเหตุผลมารองรับถึงความแตกต่างเหล่านี้ในแต่ละสนาม

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเช่นนี้เกิดขึ้นมาตอนไหน

ผมได้ค้นคว้าร่องรอยการปรากฏตัวของสนามพิเศษและพบว่าเริ่มมีมาในช่วง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2497 ที่มีการเปิดสอบผู้พิพากษาสนามเล็ก ให้ผู้จบปริญญาโทด้านกฎหมาย มีช่องทางเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้จบปริญญาตรีในการเข้ามาเป็นผู้พิพากษา 

ปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่นานมานี้ ที่มีการเปิดสอบผู้พิพากษาสนามจิ๋ว ในหลังการยังคับใช้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 

ทำไมสิ่งที่เป็นปัญหาถึงไม่ได้รับการแก้ไข

คำถามนี้ต้องถูกถามไปยังการบริหารงานบุคคล หรืองาน HR ของศาลยุติธรรม ที่ตอบไม่ได้ว่าต้องการอะไรจากหลักเกณฑ์ตรงนี้ จะบีบเรื่องคุณวุฒิให้สูงขึ้นหรือต้องการผู้เชี่ยวชาญ เอาเข้าจริงแผนงานของระบบข้าราชการพลเรือนยังสมเหตุสมผลกว่าอีก 

ดังนั้น วันนี้เราต้องมีคำตอบให้ได้ว่า เราต้องการคนจบมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้ปริญญาบัตร 2 ใบ เพื่ออะไร ที่สำคัญคือในการสอบแต่ละครั้ง ควรจะมีการจัดสำรวจก่อนหรือไม่ว่า ศาลยุติธรรมขาดบุคลากรในด้านไหนบ้าง ที่ผ่านมาผมไม่เคยเห็นการสำรวจอย่างจริงๆ จังๆ เลยว่า เราต้องการความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะกฎหมายต่างประเทศจริงหรือเปล่า หรือต้องการผู้เชี่ยวชาญในด้านสาขาอื่นบ้างไหม 

เรื่องนี้นำไปสู่อีกปัญหาคือวัฏจักรของนักศึกษากฎหมายในประเทศไทย 

เท่าที่ผมรับทราบมา ส่วนใหญ่บุคคลที่เป็นผู้พิพากษาจากการสอบสนามจิ๋วได้ จะมีเส้นทางการเรียนในต่างประเทศที่คล้ายคลึงกันมาอย่างยาวนาน คือการเรียนจบในสาขาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อมาทำงานเป็นผู้พิพากษาในศาลที่ไม่ได้ใช้กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ 

หมายความว่า ทุกคนไปคว้าเอาคุณวุฒิมา เพียงเพื่อให้ผ่านหลักเกณฑ์ปริญญาบัตร 2 ใบ ศาลยุติธรรมเองก็ไม่เคยตั้งคำถามว่า ศาลจะเอาคนพวกนี้มาทำอะไร คือถ้าคุณบอกว่าคุณขาดแคลนคนที่มีความรู้ภาษาอังกฤษ ผมคิดว่าไม่ต้องจบปริญญาโทจากเมืองนอกก็ได้ หรือถ้าคุณบอกว่า ต้องการคนที่มีนิติวิธีในกฎหมายระหว่างประเทศ รู้กฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างดี คุณก็สำรวจสิว่าต้องการกี่อัตรา ในสาขาไหน และจัดสนามสอบเป็นตำแหน่งไปเลย ไม่ใช่สอบแบบหว่านล้อมแบบนี้

ผมจึงบอกว่างานจัดการบุคคลของศาลยุติธรรมต้องเริ่มตั้งคำถามได้แล้ว

มีอะไรที่แอบแฝง เป็นเบื้องลึก เบื้องหลัง ภายใต้หลักเกณฑ์ของสนามสอบเหล่านี้บ้างไหม

แน่นอน เพราะปัญหาหนึ่ง คือความตั้งใจที่จะไม่รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นของศาล ในมุมมองของผม เป็นเพราะมันคือเส้นทางและการลงทุนของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ใช้กำลังทรัพย์ส่งลูกหลานไปเรียนที่ต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสอบเข้ามาเป็นผู้พิพากษาได้มากขึ้น 

ยังไม่ได้รวมถึงเงื่อนไขด้านการวัดผลที่สนามสอบเล็กและสนามสอบจิ๋ว มีอัตราการสอบติดมากกว่าสนามใหญ่ ที่มันกลายเป็นแรงจูงใจให้คนส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศมากยิ่งขึ้น 

น่าตั้งคำถามว่า ทำไมองค์กรบริหารศาลยุติธรรมอย่างคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่น่าจะรับรู้ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข จริงหรือไม่ที่พวกท่านเองก็ส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศ เพื่อที่จะกลับมาคว้าบันไดตรงนี้เหมือนกับคนอื่นเขา

ผมเคยออกมาพูดประเด็นนี้ครั้งหนึ่งและเสียเพื่อนไปเลย เพราะเขาเห็นว่า สิ่งที่ผมวิจารณ์จะนำไปสู่การเสียโอกาสในสิ่งที่เขาได้ลงทุนไปแล้ว 

แต่คุณจะยอมได้จริงหรือ เมื่อเราเห็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ความไม่ยุติธรรมจากองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรม

คุณกำลังจะบอกว่าเรื่องสนามสอบผู้พิพากษา มันเกี่ยวข้องถึงการลงทุนในหน้าที่การงาน 

ถูกต้อง เรื่องนี้เป็นการลงทุนที่ใช้เวลาไม่เยอะ แต่ถ้าได้ ผลตอบแทนมันคุ้มค่า 

ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพจากการสอบผู้พิพากษาสนามจิ๋วแล้วกัน สมมติว่านักศึกษากฎหมายคนหนึ่งจบปริญญาตรีที่อายุ 22 ปี ลงทุน ลงแรง เรียนเนติบัณฑิต 1 ปีจนอายุ 23 ปี แล้วระหว่างนี้ก็ไปเรียนต่างประเทศจบมาปีครึ่ง ก็อายุ 24 ปีครึ่ง แล้วในระหว่างนี้ก็เก็บคดีได้ตามเกณฑ์ครบ ซึ่งอายุ 24 ปีครึ่ง ยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าสอบที่อายุ 25 ปีด้วยซ้ำ มีเวลาอีกครึ่งปีในการอ่านหนังสือสอบ พอ 25 ปี หากสอบเป็นผู้พิพากษาได้ ก็จะได้เป็นผู้พิพากษา จนเกษียณที่อายุ 65 ปี 

ดังนั้น เส้นทางข้างหน้าอีก 40 ปี คือช่วงเวลาของการทำงาน จากการลงทุนเพียง 6 ปีเท่านั้น 

หากนับเฉพาะส่วนที่พิเศษกว่าคนอื่นซึ่งต้องลงทุน คือการไปเรียนจบที่ต่างประเทศจำนวน 1 ปีครึ่ง ผมคำนวณการลงทุนในการใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศไม่ลำบากเกินไปอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท เป็นเวลาทั้งหมดปีครึ่ง จะใช้จำนวนเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท แลกกับการมีโอกาสสอบสนามจิ๋วหรือใหญ่ก็ได้ แลกกับการได้เงินเดือน 40 ปี ไม่ต้องแข่งขันอะไรกับใครแล้ว คุ้มนะ 

เรื่องนี้จึงเป็นการใช้เงินซื้อโอกาส เป็นการลงทุนกับความรู้ คนที่ลงทุนจะแย้งเสมอว่าเขาไม่ผิด เพราะระบบปล่อยให้เขาทำได้ แต่คนที่ดูแลระบบกลับไม่มีมาตรการจัดการระบบ เพราะอาจจะให้รอคนอีกรุ่นซึ่งอาจจะเป็นลูกหลานหรือคนรู้จัก เข้ามาได้เหมือนกัน

ดังนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้โทษระดับปัจเจกบุคคลไม่ได้ ต้องโทษระบบที่เอื้อให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

ในช่วงเวลาระหว่างการบังคับใช้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2497 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 เหตุใดจึงมีการเพิ่มจำนวนสนามสอบขึ้น เกิดอะไรในช่วงการร่างกฎหมายหรือในปีนั้น 

หากให้คาดการณ์ก็อาจบอกได้ว่า เป็นการชิมลางกับสนามเล็กมาตั้งแต่ในช่วงปี 2497 แล้วค่อยมาเพิ่มสนามจิ๋วมากขึ้นในช่วงปี 2543 ผมคิดว่าเป็นเพราะคนส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศในช่วงการเกิดกระฎุมพีมากขึ้นหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตในช่วงปี 2534-2535 แล้วมาสะดุดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แต่คนที่ได้รับผลกระทบจะเป็นกลุ่มทุน กลับกันกลุ่มข้าราชการ กลุ่มอัยการไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร และเป็นผู้ที่มีเงินเดือนค่อนข้างสูง มีโอกาสส่งลูกหลานไปเรียนกันเยอะ จนถึงจุดหนึ่งจึงต้องสร้างเส้นทางมารองรับ

เรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสในการสอบเป็นผู้พิพากษาบ้างไหม

ใช่ เพราะปริญญาโท ไม่ใช่การศึกษาขั้นพื้นฐานที่รัฐจะจัดหาให้ฟรี ต้องเสียเงิน การที่คุณจะเหยียบบันไดขั้นนี้ได้ คุณต้องมีค่าใช้จ่าย

จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวในวันนี้ได้อย่างไร

นักกฎหมายเยาวชน บัณฑิตกฎหมาย และนักวิชาการ ต่างเห็นปัญหาและพูดอยู่กันตลอดเวลา แต่ผมบอกเลยว่า กลุ่มคนกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มที่มีอำนาจในการปรับระบบ 

เรื่องนี้เราต้องจี้ไปที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ที่เป็นผู้มีอำนาจปรับระบบ แต่ก็ไม่คิดจะปรับ ผมมองว่าคนที่ใกล้ชิดมากพอที่จะพูดคุยกับคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนได้ คือคณะกรรมาธิการรัฐสภาว่าด้วยองค์กรศาลยุติธรรม

ผมวอนยังท่านที่ดำรงตำแหน่งนี้อยู่ ช่วยหน่อยเถอะ ช่วยในฐานะเป็นผู้แทนปวงชน อยากให้ท่านลองคิดดูว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การบริหารงานบุคคลของศาลไทยควรจะมีความเป็นธรรมเหมือนกับศาลอื่น

แน่นอนช่วงแรกจะมีผู้ได้รับผลกระทบออกมาประท้วงแน่ ถ้าอย่างนั้นก็เจอกันครึ่งทางไหม บอกไว้เลยว่าอีก 5 ปี จะยกเลิกระบบนี้ คนที่เตรียมจะลงทุนจะได้ไม่ต้องไปลงทุน

หรือกรณีจะไม่สอบสนามเดียว จะคงไว้แบบเดิม ศาลก็ต้องพิจารณาว่าต้องการผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาไหน แล้วค่อยเปิดสอบในรูปแบบเฉพาะ ซึ่งต้องมีการสำรวจว่า ศาลขาดแคลนบุคลากรแบบไหน ต้องมีแผนอัตรากำลัง ไม่ใช่เปิดสอบในรูปแบบจับฉ่าย เช่นทุกวันนี้

เรื่องนี้กระทบนักศึกษากฎหมายอย่างไรบ้าง

ส่งผลกับนักศึกษากฎหมายที่เพิ่งจบใหม่แน่นอน เพราะฝั่งคนมีกำลังทรัพย์ก็ต้องลงทุนส่งตัวเองไปต่างประเทศ เนื่องจากตัวเองมีโอกาส ฝั่งคนไม่มีกำลังทรัพย์ก็จะทุ่มเทชีวิตให้กับสนามใหญ่เป็นหลัก ส่วนฝั่งคนที่ทุ่มเทให้กับสนามใหญ่ ก็จะต้องลงทุนกับตัวเองในมิติอื่นที่ไม่ใช่เงินคือเวลา 

มีนักศึกษากฎหมายจำนวนไม่น้อยที่เมื่อเรียนจบเนติบัณฑิตทำงานด้านกฎหมาย แล้วเอาเวลาที่เหลือมานั่งอ่านหนังสือ เพื่อสอบผู้พิพากษาสนามใหญ่ ซึ่งดูดกลืนชีวิตมาก เพราะข้อสอบเยอะ ซับซ้อน เหล่านี้เป็นราคาที่เรียกเวลาที่พวกเขาต้องจ่ายไป

เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนบ้างไหม

หากมองผ่านสายตาประชาชน อันดับแรกที่ผมมองคือเรื่องภาพลักษณ์ขององค์กร เราจะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น เพราะคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเป็นองค์กรปิด ไม่ใช่แค่ทุกอย่างจัดการภายในองค์กรเท่านั้น แต่ดูเหมือนจะปิดหูปิดตา ไม่ฟังปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย

ถ้ามีโอกาสดูสัดส่วนของบอร์ดบริหารคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หลายคนคือบรรดาผู้พิพากษาในองค์กร มีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคนจากข้างนอกน้อยมาก มันสะท้อนแนวคิดขององค์กรนี้ที่ยึดถือคติว่า เรื่องข้างในให้คนข้างในจัดการ เพราะคนข้างในรู้ดีที่สุด 

ในมุมหนึ่งเขาอาจจะมองว่า เป็นการป้องกันการแทรกแซง เพื่อความมั่นคง แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจหมายถึงการเป็นองค์กรปิดที่บริหารจัดการตามอำเภอใจได้เช่นกัน

ในฐานะที่คุณเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงกฎหมาย รู้สึกอย่างไรกับปัญหาเรื่องสนามสอบที่เกิดขึ้นอยู่เช่นนี้

เป็นเรื่องที่พูดกันให้แซ่ดในวงการ แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เสียงดังแค่ไหน ก็ไปไม่ถึงการเปลี่ยนแปลง 

แต่ในอนาคตผมมองว่าอาจเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ เพราะมันจะทำให้ภาพลักษณ์ของศาลยุติธรรมดูดี ทำให้เยาวชนหรือคนที่สนใจอยากเป็นผู้พิพากษา ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าแข่งขัน

Tags: , , , , , ,