เป็นเวลาร่วมเดือนที่ผู้ต้องหาจำนวน 22 คน ในคดีชุมนุม ‘19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร’ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี จดหมายถึงแม่ของ ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์ และถ้อยคำของ ‘รุ้ง’ – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ตอบกลับเพื่อนว่า “กูก็คิดถึงพวกมึง” ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวไปทั้งน้ำตา เผยให้เห็นว่าภายใต้ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงของการทำหน้าที่แกนนำ อีกด้านหนึ่งพวกเขายังคงเป็นเพียงคนหนุ่มสาวที่ต้องผลัดรับผลัดสู้ระหว่างการเรียกร้องประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กับการต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรม โดยต้องทิ้งสถานะการเป็นนักศึกษาไว้ชั่วคราว 

ขณะสถานภาพการเป็นนักศึกษายังดำรงอยู่ มหาลัยวิทยาธรรมศาสตร์ในฐานะสถาบันการศึกษาต้นสังกัดของรุ้งและเพนกวินก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อใดก็ตามที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว เรามักเห็น ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับหน้าที่เป็น ‘นายประกัน’ คอยช่วยเหลือนักศึกษาอยู่เสมอ ด้วยความเชื่อมั่นว่า ‘บทบาทของมหาวิทยาลัยคือ การยืนเคียงข้างนักศึกษา’ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะถูกหรือผิด พวกเขาควรมีสิทธิ์ในการต่อสู้จวบจนวินาทีสุดท้าย 

ตลอดการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวในหมู่นักเรียน นักศึกษา สถาบันการศึกษาถูกตั้งคำถามหลายครั้งว่าบทบาทของพวกเขาคืออะไร ‘ยืนอยู่ข้างศิษย์’ ‘ยืนอยู่ข้างรัฐ’ หรือ ‘ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝั่ง’ ไม่ว่าจะตัดสินใจทางไหนย่อมมีทั้งฝ่ายชื่นชมและเสียงก่นด่าสาปแช่ง 

ความที่อดิศร เป็นทั้งผู้บริหาร อาจารย์ นายประกัน และเป็นพลเมืองคนหนึ่งที่อยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้า เขารับมืออย่างไรกับความคาดหวังรอบด้านที่มีต่อมหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ การประกาศจุดยืนว่ามหาวิทยาลัยจะยืนข้างนักศึกษามีข้อจำกัดอะไรที่ขีดเส้นไม่ให้มหาวิทยาลัยอื่นทำได้ รวมถึงการยื่นประกันตัวลูกศิษย์ในรอบนี้ที่ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาปลุกพลังตัวเองและคนรอบข้างอย่างไรในวันที่ทุกอย่างดูอับจนหนทาง

 

ขณะนี้การยื่นเรื่องประกันตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอย่างไรบ้าง 

ตอนนี้เราพยายามประสานกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ช่วยประกันตัวหรือยื่นเรื่องต่างๆ เพราะมันไม่ได้มีแค่เรื่องประกันตัวอย่างเดียว แต่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพของนักศึกษาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนที่ยังต้องเรียนอยู่ ต้องให้อาจารย์ที่สอนในแต่ละรายวิชาช่วยส่งหนังสือเข้าไปให้เขาอ่าน และให้เขามีโอกาสได้ทำงานส่ง เพราะแต่ละคณะที่ดูแลนักศึกษาอยู่ ทุกๆ ฝ่ายต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องที่เขาควรจะมีสิทธิ์และมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาได้ ซึ่งเราคิดว่านี่เป็นหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัยที่ต้องช่วยดูแลเขาในเรื่องนี้

ผมไม่อยากให้มองว่าผมทำงานคนเดียว จริงๆ เราทำงานกันเป็นทีม ทุกๆ คนมีความห่วงใยนักศึกษาหมด เราไม่ได้กำลังจะบอกว่าเราเข้าข้างใคร เราไม่ได้กำลังจะบอกว่าใครถูกหรือใครผิด แต่เรากำลังจะบอกว่าสุดท้ายหากเขาผิดจริง คุณก็ต้องให้โอกาสเขาได้ต่อสู้จนถึงที่สุดก่อน นี่คือหลักการพื้นฐานที่เราต้องรักษาไว้ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองคนหนึ่งในสังคม 

ในส่วนการช่วยประกันตัวนักศึกษานั้น มหาวิทยาลัยมีการกำหนดบทบาทอย่างไร

จริงๆ ไม่ได้มีการกำหนดบทบาทที่ชัดเจน มันเป็นเรื่องของสามัญสำนึก ที่เราเห็นว่านักศึกษาของเราควรจะได้รับการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานในการเป็นพลเมืองของประเทศนี้ มหาวิทยาลัยไม่ได้มองว่าใครทำผิดทำถูก เพราะอย่างน้อยๆ มันยังไม่ได้มีการตัดสินจนถึงที่สุด ฉะนั้นโดยหลักการก็คือ ระหว่างที่เขาต้องต่อสู้อยู่ในชั้นศาล มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นต้นสังกัดก็ต้องดูแลเขาอย่างดีที่สุด และยืนเคียงข้างเขาให้ได้มากที่สุด

ตรงนี้เป็นหลักการพื้นฐานว่าเราจะทำอะไรตรงนั้นได้บ้าง ก็เป็นเรื่องของการตีความของแต่ละปัจเจกบุคคล ก่อนที่ผมจะมาเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา สมัยยังเป็นผู้ช่วยอธิการฯ อยู่ ผมก็เข้าไปช่วยดูแล ถือว่าเป็นอาสาสมัครด้วยเหมือนกัน แน่นอนว่ามันเป็นงานที่ทำแล้วไม่ได้อะไรในแง่ของค่าตอบแทน แต่เป็นเรื่องที่เราเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องทำ โดยเฉพาะในฐานะที่เราทำหน้าที่ดูแลนักศึกษา ในฐานะที่เป็นฝ่ายกองกิจการนักศึกษา ประเด็นหลักของเราคือการให้ความช่วยเหลือเขาให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้

อีกประเด็นหนึ่งผมคิดว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะที่เราเป็นสถาบันการศึกษา สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเราต้องยึดมั่นเรื่องพื้นที่การเรียนรู้ เราต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งในรั้วสถาบันและข้างนอก เพราะเราเชื่อว่าสังคมจะก้าวไปข้างหน้าได้ คนต้องเริ่มที่จะเรียนรู้อะไรบางอย่าง ต้องก้าวข้ามความคิด ความเชื่อ คุณค่าบางอย่างที่ตัวเองยึดถือ และสามารถใช้กระบวนการสันติวิธีเริ่มรับฟังกันและกันให้มากขึ้น มีความอดทนอดกลั้นต่อกันมากขึ้น ไม่อย่างนั้นสังคมจะก้าวไปข้างหน้าไม่ได้

เราต้องยอมรับกันได้แล้วว่าความขัดแย้งมันเกิดขึ้น และมันก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ได้อยากเห็นความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคม ถ้าเราไม่อยากให้เกิดความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้น หมายความว่าทั้งสองฝั่งหรือมากกว่าสองฝั่ง ควรจะต้องเริ่มต้นอดทนอดกลั้นให้มากขึ้นเพื่อที่เราจะได้เริ่มรับฟังกันและกัน ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ ในแง่ของความเป็นมนุษย์ มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่ว่าเรามีความสามารถที่จะไม่ใช้เพียงแค่อารมณ์ ความรู้สึก และสัญชาตญาณ แต่เราสามารถใช้ปัญญา ใช้ความคิด ใช้หลักการ ใช้เหตุผลเข้ามาสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษา เราอ้างตัวเองว่าเป็นแหล่งเพาะปัญญาของสังคม ดังนั้นเราควรจะต้องทำบทบาทตรงนี้มากขึ้น

สามารถพูดได้ไหมว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังพยายามจะช่วยขับเคลื่อนสังคมอีกทางหนึ่ง

เวลาที่เราใช้คำว่า ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ นั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็มีองค์ประกอบที่หลากหลาย คนข้างในธรรมศาสตร์ ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด ไม่ใช่ทุกคนที่คิดเห็นตรงกัน แม้กระทั่งแถลงการณ์ที่ออกมาก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเห็นเหมือนกันทั้งหมด (แถลงการณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่อง ขอให้คำนึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกจับกุม) แต่ในฐานะที่เราเป็นสถาบันการศึกษาซึ่งถูกสถาปนาขึ้นมาด้วยปณิธานว่า ‘เราจะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน’ เราต้องยึดมั่นหลักการตรงนี้ แน่นอนว่าต้องอยู่ภายใต้กฎหมายหรือข้อกำหนดบางอย่างที่เห็นชอบร่วมกันด้วย แต่เราควรจะสามารถสร้างพื้นที่ที่พาเราไปพูดคุยกันในจุดที่สังคมอาจยังไม่สบายใจที่จะพูดได้ 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่อาจารย์หลายๆ คนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามสร้างให้เกิดขึ้นก็คือ เราพยายามชวนสังคมให้กลับเข้ามาร่วมคิดกับเรื่องเหล่านี้ และอาจด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นักศึกษาจำนวนมากให้ความสนใจเรื่องความเป็นไปของบ้านเมือง รวมถึงการเรียนการสอนในบางคณะบางวิชาเองก็เปิดพื้นที่การพูดคุยกัน ผมเลยคิดว่ามันเป็นความเด่นชัดของตัวมหาวิทยาลัยด้วยที่ให้การสนับสนุนการอภิปราย การถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ อย่างเคารพซึ่งกันและกัน โดยใช้หลักการ ใช้เหตุผล ใช้ทฤษฎีมาคุยกัน

 

เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกอบไปด้วยคนที่มีมุมมองความคิดหลากหลาย การกระทำของคุณสามารถถูกโจมตีได้จากทุกฝ่าย คุณรับมืออย่างไร 

อันดับแรกต้องไม่เอาตัวเองเข้าไปรับก่อน เวลาที่คนโกรธ เวลาที่คนโจมตีสถาบัน โจมตีมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งคนที่โจมตีมาที่ตัวเราเอง ต้องเข้าใจก่อนว่าการโจมตีหรือการแซะ มันมาจากความโกรธ มาจากความคาดหวังอะไรบางอย่างที่เขาไม่ได้รับ นักศึกษาที่ผ่านมาอาจจะเคยโกรธมหาวิทยาลัยที่ไม่ออกมาดูแลสนับสนุนเขาในบางเรื่อง ซึ่งก็เข้าใจได้ ครั้งหนึ่งผมเองก็เคยเป็นนักศึกษาเหมือนกัน เวลาที่มหาวิทยาลัยไม่ดูแลเรา เราก็รู้สึกว่าทำไมเขาถึงละเลยหน้าที่ของเขา หรืออาจารย์บางท่านที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำ ก็จะรู้สึกโกรธว่าทำไมมหาวิทยาลัยถึงได้ตัดสินใจทำแบบนี้ เพราะเขามีคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยควรจะวางตัวเป็นกลาง 

ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไป ไม่ได้อยู่ดีๆ ความโกรธเกิดขึ้นโดยปราศจากที่มาที่ไป เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าความโกรธความไม่พอใจมาจากจุดๆ ไหน เราก็ต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเราเองก่อนว่า สิ่งที่เราทำนั้น เราทำไปด้วยความต้องการอะไร ทำไปด้วยเป้าหมายอะไร ถ้าเรามองว่าสิ่งที่เราทำมีหลักการ มีเป้าหมายที่ชัดเจน เราก็ต้องมั่นคงต่อสิ่งที่เราทำ เพราะเรารู้ว่าเราไม่ได้กำลังพยายามสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม เราไม่ได้ต้องการจะคุ้มครองใครคนใดคนหนึ่ง แต่เรากำลังคุ้มครองหลักการที่สำคัญในการที่เราเป็นพลเมืองของประเทศนี้ 

การที่เราจะสร้างสังคมประชาธิปไตย สังคมที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน สังคมที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน สิ่งนี้เป็นหลักการที่สำคัญ และเป็นหลักการตอนที่มหาวิทยาลัยถูกสร้างขึ้นมา เราต้องยืนยันในหลักการนี้ ถ้าหลักการนี้อาจจะไม่ถูกใจบางคน เราก็ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสมาทานกับหลักการเหล่านี้

สังคมสามารถรับรู้ได้ถึงความไม่ยุติธรรมของกระบวนการทางกฎหมายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในฐานะที่คุณทำงานอยู่เบื้องหลัง มีความไม่ยุติธรรมอื่นอีกไหมที่ยังไม่ปรากฏให้สังคมเห็น 

(นิ่งคิด) เรื่องความยุติธรรมหรือความไม่ยุติธรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องพูดก็เห็นอยู่ในสังคม เรารับรู้อยู่ทุกๆ ขณะของการเป็นพลเมืองในสังคมนี้ว่ามีอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลา เราเดินออกมาจากบ้าน เราเห็นความไม่เท่าเทียมหรือถูกเลือกปฏิบัติตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในทุกๆ อณูของสังคม และมันเป็นเรื่องปกติ ปกติในที่นี้ คือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างของสิ่งต่างๆ ที่ไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่แรก สิ่งที่เราเห็นเลยเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมบ้าง ทำไมเราถึงยังมีคนจน ทำไมเราถึงมีกลุ่มบุคคลที่ถูกกระทำต่างๆ จากคนที่มีอำนาจมากกว่า 

ผมคิดว่าสุดท้ายเราต้องเริ่มถอยออกมาหนึ่งก้าว แล้วมองว่าเรากำลังต่อสู้กับระบบ เรากำลังต่อสู้กับโครงสร้างความไม่ยุติธรรม เราต้องไม่ตกลงไปสู่การพยายามโจมตีแค่ระดับบุคคลแล้วจบแค่นั้น ทุกคนยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ในตัวเอง เรายังมีรัก โลภ โกรธ หลง ต่างๆ และหลายครั้งมันก็ทำให้เรามีท่าที มีการแสดงออกที่อาจจะไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจคนทุกคน กระทั่งฝั่งนักศึกษาหรือฝั่งแกนนำราษฎรเองก็ไม่ได้มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมด มันมีความขัดแย้งภายในเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มีการตั้งคำถาม มีการดีเบตกันตลอดเวลา ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นเรื่องปกติ 

 เราต้องไม่เอาเรื่องของความดี-ความชั่วเข้ามาเป็นเครื่องมือโจมตีอีกฝั่งหนึ่ง เพราะว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไปมองแบบระดับปัจเจกบุคคล แล้วเรากำลังบอกเขาว่าคนนี้ดี คนนี้ไม่ดี คนนี้ใช้อำนาจ คนนี้ไม่ใช้อำนาจ สุดท้ายมันจะวนลูปกลับมา เพราะเราไม่มีทางจะสร้างคนที่สมบูรณ์แบบได้ 

“คนทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของระบบ เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางวัฒนธรรมบางอย่าง ถ้าเราจะต่อสู้ เราต้องขึ้นไปต่อสู้ในระดับที่เป็นโครงสร้างทางวัฒนธรรม”

พยายามสร้างวิธีคิดใหม่ คนบางกลุ่ม บางเจเนอเรชันอาจจะรู้สึกว่ายากในแง่ของการจะเปลี่ยนวิธีคิดของเขา ก็ไม่เป็นไร เราก็เริ่มทำงานกับคนรุ่นใหม่ กับกลุ่มคนที่คิดว่าน่าจะสามารถเปิดใจรับฟัง เปิดใจจะเรียนรู้ได้มากกว่า 

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมพยายามพูดอยู่เสมอก็คือ เวลาที่เราพยายามเรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน เราต้องไม่ลืมว่ากลุ่มคนที่เรากำลังต่อสู้ด้วยนั้น เขาเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่าเราต้องให้อภัยทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องเป็นคนดี ต้องรักเพื่อนมนุษย์ทุกคนเท่าๆ กัน แต่เราต้องระมัดระวังที่จะไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ในตัวเราด้วยการไปแช่งให้เขาตายหรือมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับเขา แล้วเรารู้สึกว่าเขาสมควรแล้ว 

สำหรับผมถ้าจะโจมตีก็โจมตีว่าระบบอะไร หรือโครงสร้างแบบไหนที่ทำให้คนเหล่านั้นได้ดิบได้ดี ทำให้เขามีอำนาจ มีอภิสิทธิ์บางอย่างในสังคมมากกว่าคนอื่นๆ โจมตีไปตรงนั้น มากกว่าจะไปสะใจ ไปสมน้ำหน้าเขา 

แล้วระหว่างที่ดำเนินการยื่นเรื่องประกันตัวนักศึกษาในชั้นศาล คุณได้พบเจออะไรบ้าง 

ผมได้เจอกับครอบครัวของนักศึกษา เจอความทุกข์ใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ของคนเป็นพี่น้อง ของคนเป็นเพื่อน ที่ไม่รู้จะสู้ไปทางไหน เพราะเขารู้ว่าสิ่งนี้มันอยู่นอกเหนือการควบคุม ความรู้สึกสิ้นหวัง ความรู้สึกของการไม่เห็นทางออกหรือว่าทางรอดมันเป็นความหดหู่อย่างถึงที่สุด 

แต่อีกมุมเราก็เห็นความพยายามของทีมทนาย ของทีมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนที่พยายามจะมาร่วมช่วยประกันตัว หรือมาช่วยเป็นประจักษ์พยานของกระบวนการในศาล เราเห็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เราเห็นนักวิชาการ เราเห็นคนหลายคนมาให้กำลังใจหรือพยายามช่วยเหลือ 

เราเห็นสภาวะบางอย่างที่เกิดขึ้นในระบบศาล ในระบบยุติธรรมที่เราตั้งคำถามกับมันว่าตกลงแล้วเรากำลังได้รับการคุ้มครองหรือว่าเรากำลังถูกลิดรอนความเป็นพลเมืองของเรา แต่สุดท้ายแล้วเราเห็นพลังของการที่ทุกๆ ฝ่ายมาช่วยกัน พลังเหล่านี้ผมว่าเป็นพลังที่สำคัญในสังคมไทย มันเป็นพลังของการที่เราไม่ปล่อยทิ้งใครให้เดียวดาย มันเป็นพลังของการที่เราบอกว่า ไม่ว่าสิ่งที่คุณทำจะถูกหรือจะผิด แต่สุดท้ายเรายังเชื่อมั่นในหลักการของความเป็นพลเมืองที่เราต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ และผมคิดว่าการมารวมกันของคนกลุ่มนี้ก็เพื่อยืนยันในเรื่องเหล่านี้ ว่าเราจะไม่ยอมให้อำนาจอะไรบางอย่างมากระทำกับเพื่อนของเรา มาลดทอนศักดิ์และศรีในความเป็นมนุษย์ของเราได้ 

 

รู้สึกท้อไหมกับการเป็นนายประกันในวันที่ไม่สามารถประกันตัวลูกศิษย์ออกมาได้เลย

ถามว่าเศร้าไหมมันก็เศร้า โกรธไหมมันก็คงโกรธ เราเห็นความบิดเบี้ยวของระบบที่พลเมืองคนหนึ่งในสังคมถูกทำให้ไร้พลัง โดยการบังคับใช้กฎหมายหรืออำนาจบางอย่างที่ไม่ยุติธรรมกับคนทุกๆ คน แต่ถ้าอีกฝั่งบอกว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้องเรียบร้อยก็สามารถโต้แย้งได้เสมอ เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการเปิดพื้นที่คุยกัน เพราะ บางอาชีพ บางสถานะ ถูกยกระดับขึ้นไปให้มีความศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งไม่สามารถจะแตะต้องได้ 

ถามว่าเหนื่อยไหม มันก็เหนื่อยแหละ เพราะก็มีงานอื่นๆ ที่ต้องทำอยู่ ทั้งงานสอน งานวิจัย และงานฝ่ายกิจการนักศึกษา ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของการประกันตัวแค่อย่างเดียว เราต้องดูแลนักศึกษาทุกๆ คน มันก็เหนื่อย มันก็ท้อ มันก็จะมีความรู้สึกประมาณว่าแล้วยังไงต่อ แต่ถามว่าเมื่อเราอยู่ตรงจุดๆ นี้ เราต้องมองว่าถ้าเราไม่ทำ ก็มีคนอื่นทำ เพราะฉะนั้นเลยไม่ได้ตั้งคำถามว่าทำไมฉันถึงต้องทำ แต่ตั้งคำถามแค่ว่า เรายังไม่ได้ทำอะไรอีกบ้างที่ควรจะต้องทำ เพราะผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รอให้มีฮีโร่ขี่ม้าขาวมาช่วยเราไม่ได้ เราต้องลงมือทำด้วยตัวเองส่วนหนึ่ง 

ผมเองก็เป็นคนเล็กๆ ในมหาวิทยาลัย อายุงานยังไม่ได้เยอะอะไรมากมาย ถามว่ามีความเสี่ยงไหมในแง่ของการที่เรากระโดดเข้ามาอยู่ตรงนี้ แล้วถูกมองว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันก็มีความเสี่ยง แต่ถามว่าความเสี่ยงของเรากับเป้าหมายยาวๆ ที่เราอยากเห็นสังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้า ผมคิดว่าเป้าหมายตรงนั้นมันสำคัญกว่าชีวิตผมแค่หนึ่งชีวิต

สุดท้ายแล้วถ้าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา เราก็ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าในวันนี้เราสามารถมองหน้าตัวเองในกระจกแล้วบอกว่า เราได้ทำบางสิ่งบางอย่างแล้ว และอย่างน้อยเราก็ได้ลงมือทำ อย่างน้อยเราก็พยายามที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเคลื่อนไปข้างหน้าได้ เพราะฉะนั้น ผมไม่ได้กลับมานึกถึงตัวเอง ตัวเองมันหายไปในระหว่างการทำงาน รู้เพียงแค่ว่าตรงนี้มันต้องทำ แล้วก็กระโดดลงไปทำเลย

นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่คุณโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าพร้อมจะหลุดจากตำแหน่งบริหารของมหาวิทยาลัย

ตำแหน่งมันไม่ได้เที่ยง ถ้าใครเห็นเฟซบุ๊กผม จะรู้ว่าผมประกาศลงจากตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีเพื่อกลับมาทำงานช่วยคณะ และผมได้แจ้งกับทางทีมบริหารไปแล้วว่า ผมขอนุญาตไม่รับตำแหน่งบริหารต่อ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดเรื่องของการช่วยเหลือนักศึกษา ผมแค่ถอยออกมาเพื่อจะได้สามารถทำงานหลายๆ เรื่องพร้อมกันได้ และผมไม่ได้มองว่าตัวเองมีความสามารถในแง่ของการเป็นผู้บริหารจริงๆ ผมมองว่าเราเป็นนักวิชาการ เราอาจจะเป็นคนที่สนใจงานขับเคลื่อนสังคมอะไรพวกนี้ แต่ด้วยการพูดคุยด้วยอะไรต่อมิอะไร หลายคนคงรู้สึกว่าด้วยสถานการณ์แบบนี้ อาจจะต้องการคนที่มีลูกบ้าแบบเรา (หัวเราะ) 

ถ้าจะให้วิเคราะห์ตัวเอง ผมเป็นคนที่พร้อมจะฟังทุกๆ คน อาจจะเป็นด้วยกระบวนการที่เราเติบโตขึ้นมา กระบวนการที่เราถูกหล่อหลอมในทางการศึกษาหรืออะไรก็ตาม มันทำให้เราเห็นความสำคัญ เห็นคุณค่าของการฟัง และผมคิดว่าตรงนี้เป็นจุดที่เราดึงเอามาใช้ในแง่ของการทำงานได้ เพราะเราต้องทำงานกับความขัดแย้ง เราต้องทำงานกับขั้วตรงข้ามหลายขั้วมาก ความเป็นตัวเราในแง่ของการที่เราไม่พยายามด่าทอ ไม่ใช้คำรุนแรงกับคนที่เห็นตรงข้ามกับเรา โอเค เราอาจจะมีการแซวอะไรบ้าง แต่เราไม่ได้ลุกขึ้นมาแล้วด่ากราดใคร การสามารถที่จะไปเข้าใจและรับฟังตั้งแต่ทีมบริหาร อาจารย์ นักศึกษาต่างๆ ได้ ทีมบริหารเลยเห็นว่าเราน่าจะช่วยเหลือมหาวิทยาลัยในสถานการณ์นี้ได้ สุดท้ายก็เลยได้กลับมาทำงานฝ่ายบริหารอีกรอบหนึ่ง 

ถ้าวันหนึ่งมีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดนคดีเยอะขึ้นเรื่อยๆ บทบาทในการดูแลของมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนไปไหม

ต่อให้เป็นร้อยคนก็ต้องดูแล ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยก็ให้ความดูแลอาจารย์ที่ถูกฟ้องตอนช่วง กปปส. คือเราดูแลทุกๆ คน เราไม่ได้ดูแลนักศึกษาที่ออกมาทำเรื่องนี้เท่านั้น และต่อให้นักศึกษาโดนเรื่องอื่น มหาวิทยาลัยก็มีหน้าที่ต้องดูแล และก็มีงานอีกเยอะแยะมากมายที่มหาวิทยาลัยให้การดูแลนักศึกษา เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่านี่เป็นบทบาทหน้าที่หลักของการเป็นสถาบันการศึกษาที่เราต้องทำ ต่อให้เป็นร้อยเป็นพันคนเราก็ต้องทำเพราะว่า นี่คือหลักการเบื้องต้น

 

แม้จะบอกว่าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยหรืออาจารย์คือการยืนเคียงข้างนักศึกษา แต่บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับทุกการกระทำของเขาได้ไหม

เอาง่ายๆ เลย เพื่อนๆ เขาแต่ละคนก็ไม่ได้คิดตรงกัน ทีมบริหารทุกคนก็ไม่ได้คิดตรงกัน คณาจารย์เองก็อาจจะไม่ได้คิดตรงกันทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เป็นความปกติในสังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนสามารถจะมีความคิดเห็น มีอุดมการณ์ มีความเชื่อ มีคุณค่าบางอย่างที่มันไม่ตรงกันอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็ย้อนมาสู่หลักการที่ว่าเรากำลังพยายามรักษาอะไร เรากำลังพยายามปกป้องอะไร เรากำลังพยายามปกป้องสิทธิเสรีภาพในความเป็นพลเมืองของประเทศชาติหรือเปล่า ต่อให้คุณประกาศตัวในจุดยืนอะไรก็ตามที่เราอาจจะไม่เห็นด้วยทั้งหมด แต่เราก็ต้องยอมให้เขาได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ภายใต้กรอบกติกาที่เรามองว่าไม่ใช่การทำผิดกฎหมาย เพราะถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เราคิดมันดีที่สุด อันนั้นคือความน่าเป็นห่วงของสังคมไทย แล้วก็มีคนที่เป็นแบบนี้เยอะในสังคม 

 ผมเองก็มีมิติบางมิติที่ลืมตัวคิดว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เรายึดถือดีที่สุดแล้ว ใช่ที่สุดแล้ว เพราะมันเป็นธรรมชาติของคน เวลาที่เรามองโลกผ่านเลนส์อะไร เราก็จะมองเห็นมันตามนั้น และเราจะตีความคนที่คิดต่างจากเราว่าเขาทำไม่ถูกต้อง

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเปิดพื้นที่ในใจเรา พื้นที่ของความเป็นไปได้ พื้นที่ของการรับฟังคนที่คิดต่างจากเรา ฟังเข้าไปให้ถึงเป้าหมาย ฟังเข้าไปให้ถึงคุณค่าความเชื่ออะไรบางอย่างของเขา ฟังด้วยการลดอคติในตัวเราลง เราอาจจะเข้าใจเขามากขึ้น”

เราอาจไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเขาในท้ายที่สุด แต่อย่างน้อยเราเข้าใจที่มาที่ไปของสิ่งนั้น ก่อนที่เราจะกระโจนเข้าไปตัดสินเขาอย่างรวดเร็วว่า อันนี้มันโง่ อันนี้มันคิดผิด 

มีข้อจำกัดอะไรอีกที่ทำให้บางมหาวิทยาลัยไม่สามารถอยู่ข้างนักศึกษาได้

มหาวิทยาลัยมันไม่ได้มีชีวิตด้วยตัวเอง มหาวิทยาลัยถูกบริหารโดยคนกลุ่มหนึ่ง มีชีวิตของนักศึกษาและอาจารย์ที่อยู่ด้วยกัน ณ ช่วงเวลาหนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วงนี้เป็นแบบนี้ก็เพราะมีท่านอธิการคนนี้ มีผมทำงานในตำแหน่งนี้ มีคนนู้นคนนี้ทำงานในตำแหน่งต่างๆ ถ้าสมมติว่าไม่ได้เป็นท่านอธิการบดีคนนี้ เป็นคนอื่น ผมไม่ได้มาอยู่ตำแหน่งนี้ ท่าทีหรือบทบาทของมหาวิทยาลัยอาจจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

เพราะฉะนั้นทุกอย่างมีจังหวะเวลาอะไรบางอย่าง แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีประวัติศาสตร์ในแง่ของการยุ่งเกี่ยวประเด็นทางการเมืองแตกต่างกันออกไป อันนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจในสถานการณ์ปัจจุบันด้วยเช่นกัน แต่สุดท้ายคนที่ยืนอยู่ตรงจุดปัจจุบันมากกว่า ไม่ใช่แค่ตัวผู้บริหาร แต่หมายถึงองคาพยพทั้งหมดของมหาวิทยาลัยด้วยที่ทำให้มหาวิทยาลัยเลือกที่จะทำบางสิ่งบางอย่าง หรือไม่ทำบางสิ่งบางอย่าง ผมคิดว่าแต่ละมหาวิทยาลัยก็เผชิญกับข้อจำกัด ปัจจัย องค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้เขาตัดสินใจในแบบที่เขาตัดสินใจเช่นกัน 

กรณีฝ่ายอำนาจรัฐรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ตรงข้ามกับเขา ทางมหาวิทยาลัยรับมือกับประเด็นนี้อย่างไร 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เคยยืนตรงข้ามกับอำนาจรัฐ เรายืนอยู่ฝั่งของหลักการ นี่คือสิ่งที่เรายืนยัน แต่ถ้าจะถูกตีความว่าเรายืนอยู่ตรงข้ามกับอำนาจรัฐ อันนี้เป็นเรื่องของการตีความของคน สิ่งที่เราประกาศตัวอยู่เสมอก็คือ นี่คือหลักการที่เราคิดว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต้องรักษาไว้ และเราก็จะยึดมั่นอยู่กับหลักการนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นรัฐบาลไหน จะเป็นรัฐบาลที่เราเห็นด้วยหรือจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งก็ตาม ถ้าคุณปฏิเสธหลักการเหล่านี้ มหาวิทยาลัยพร้อมจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามเสมอ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ต่อสู้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เรากำลังรักษาหลักการมากกว่า 

ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังทำอยู่ ที่ผ่านมาอาจจะมีการเตือนกัน มีการส่งข้อความอะไรบางอย่างมาบ้าง แต่สำหรับผม เรารับฟังในความเป็นห่วงได้ แต่เราต้องยืนยันในสิ่งที่เราทำว่ามันไม่ได้ขัดต่อหลักกฎหมาย ถ้าเรากลับไปดูในแถลงการณ์ก็ไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด เราไม่ได้บอกว่านักศึกษาของเราทำถูก แต่เราบอกว่าเราต้องรักษาสิทธิ์ของเขาในการที่เขาจะสามารถต่อสู้สิ่งที่ถูกกล่าวหาได้อย่างถึงที่สุด สิ่งนี้คือสิ่งที่เรากำลังบอกกับสังคม 

“ไม่ว่าเราจะมีชุดความเชื่อแบบไหน เราต้องไม่ละทิ้งข้อตกลงพื้นฐานที่เรามีร่วมกัน เราต้องไม่เลือกปฏิบัติเพียงเพราะว่าเขาทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ถูกใจเรา เพราะสุดท้ายเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่รักษาหลักการ มันไม่ได้ช่วยการันตีเลยว่าในอนาคตเราจะไม่เป็นคนหนึ่งที่เจอกับสถานการณ์นี้เช่นกัน”

ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีบทบาทอย่างสูง ผู้บริหารของธรรมศาสตร์หลายท่านก็รู้สึกผิดที่เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้น คุณกลัวไหมว่าเข็มนาฬิกาจะย้อนกลับไปเป็นแบบเดิม

ผมคิดว่าสิ่งที่ท่านเหล่านั้นรู้สึกก็คือมันไม่ควรจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น ผมไม่คิดว่าท่านเสียใจว่าเราไม่ควรจะเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ ท่านเสียใจว่าการเรียกร้องสิ่งเหล่านี้มันนำไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่เป็นความรุนแรง เป็นการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของคนจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันสถานการณ์อาจจะแตกต่างจากในอดีต เรามีบทเรียนหลายอย่าง ถึงบางคนจะบอกว่าเราไม่เคยเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต แต่ผมคิดว่าเราได้เรียนรู้อะไรบางอย่างและก็เราเรียนอยู่รู้ตลอดเวลาในแง่ของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะน้องๆ แกนนำ หรือแม้กระทั่งอีกฝั่งหนึ่งก็ตาม เขาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาที่จะปรับกลยุทธ์ ปรับยุทธศาสตร์ของเขา ในกระบวนการที่จะจัดการกับเรื่องของความขัดแย้ง มันค่อยๆ ปรับ ประยุกต์ไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราเห็นแล้วว่าถ้าฝั่งหนึ่งใช้ความรุนแรง เราสูญเสียขนาดไหน ผมคิดว่าคงจะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่างๆ นานา อันนี้มองในเชิงทฤษฎีนะ 

เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการในการเรียนรู้ และคนรุ่นใหม่เขามีกระบวนการในการปรับตัวสูงมาก บางทีมากกว่าที่เราคาดคิดด้วยซ้ำไป ผมเชื่อมั่นว่าสุดท้ายแล้วมันจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ในแง่ของการมีพื้นที่ได้พูดคุยเจรจากัน ผมยังมีความเชื่อ ผมยังมีความหวังตรงนั้น ฟังดูอาจจะอุดมคติไปสักหน่อย แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นว่าสุดท้ายสังคมต้องการพื้นที่ตรงนั้นจริงๆ และด้วยกลยุทธ์ต่างๆ นานา มันน่าจะนำไปสู่ตรงนั้นได้ 

 

ตอบคำถามอย่างไรเวลามีคนบอกว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สอนนักศึกษาให้เป็นพวกออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

 ผมไม่รู้ว่ากระบวนการตรงนี้มันเกิดอะไรขึ้น แต่ในฐานะที่ผมเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยากาศของตัวมหาวิทยาลัยมันสนับสนุนการแสดงออกทางความคิดภายใต้กฎกติการ่วมกัน และเรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังแสดงออกนั้นนำไปสู่ผลกระทบอะไรยังไงบ้าง ทุกๆ อย่างมันมีความต่อเนื่องกัน นักศึกษาทุกคนก็รู้ กลุ่มที่ออกมาหรือแกนนำทุกๆ คนก็รู้แหละว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้น แต่เขาเลือกจะยอมรับว่ามีความเสี่ยงตรงนั้นอยู่ เขารู้ว่าสิ่งที่เขากำลังทำนั้นมีเป้าหมายเพื่ออะไร และเขาเชื่อในสิ่งเหล่านั้น ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยพยายามสร้างให้เกิดขึ้นก็คือ เราบอกกับนักศึกษาอยู่เสมอว่ามหาวิทยาลัยนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อประชาชน 

ฉะนั้น นี่คืออุดมการณ์ที่เราเชื่อมั่น แต่คุณจะทำอะไรเพื่อนำไปสู่สังคมที่ดีขึ้นเป็นเรื่องความสนใจของพวกคุณแต่ละคน บางคนสนใจเรื่องการเมือง บางคนอาจสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม บางคนอาจสนใจเรื่องอื่นๆ แต่เราพยายามสอนให้นักศึกษาไม่นิ่งเฉย ไม่จำนนต่อสิ่งที่เป็น ผมว่านี่เป็นหัวใจหลักของการเป็นสถาบันอุดมศึกษา การที่เราไม่นิ่งเฉยเวลาที่เราเห็นความทุกข์ยากของคนในสังคม เวลาที่เราเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา 

ถ้าดูประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เราก็จะเห็นว่าทุกๆ ช่วงเวลาจะเห็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สนับสนุนให้นักศึกษายืนอยู่เคียงข้างประชาชน สิ่งที่น้องๆ เขาเลือกทำเป็นสิ่งที่ผ่านกระบวนการคิด ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน ชีวิตเขาไม่ได้จะมีแค่ในชั้นเรียน ชีวิตเขามีโลกอื่นๆ ที่มันหล่อหลอมให้เขามีวิธีคิดแบบนี้ด้วยเช่นกัน แต่ว่าบรรยากาศของมหาวิทยาลัยมันเอื้อมากกว่า มันเปิดพื้นที่ให้เขาได้มีโอกาสพูดเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างไรให้ทันต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาที่ไปไกลกว่าในห้องเรียน

เราต้องสามารถเรียนรู้ไปกับเขาได้ ต้องยอมรับก่อนว่ามีหลายเรื่องที่เป็นความรู้ใหม่ๆ และเราก็ต้องพยายามอัพเดทตัวเองให้ทันกับองค์ความรู้ตรงนั้นด้วยเช่นกัน แต่ผมว่าท่าที วิธีคิด ทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ของการเรียนรู้ให้มันเกิดขึ้นภายในใจเราก่อน เพราะมันอาจจะมีการให้คุณค่าในเชิงความสัมพันธ์ที่แตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมา ในอดีตเรามองอาจารย์ว่าเป็นบุคคลที่ต้องเคารพเลื่อมใส เป็นคนที่กุมอำนาจความรู้อะไรบางอย่าง แล้วนักศึกษาก็ต้องเชื่อฟัง ในขณะที่นักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เขาไม่ได้รู้สึกว่าอาจารย์คือผู้ทรงคุณวุฒิในทางความรู้ เพราะเขาเองอาจจะรู้มากกว่าอาจารย์ด้วยซ้ำไป จากการศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง 

ในเมื่อสถานะหรืออำนาจตรงนั้นหายไป หมายความว่าเราก็ไม่ได้มีอำนาจที่อยู่เหนือเขาในเชิงความรู้อะไรมากมายเท่าไหร่แล้ว โอเค อาจจะมีอำนาจในแง่ของการให้เกรด แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่คุณไม่มีสิทธิ์จะใช้อำนาจในทางไม่ชอบ เพียงเพราะคุณไม่ชอบหน้าเขาหรือเขาพูดไม่ดีกับคุณ เขาสามารถฟ้องร้องได้ คนรุ่นใหม่ก็อาจจะรู้สึกว่าเขามีอำนาจในแง่ของการจะรักษาสิทธิ์อะไรบางอย่างของเขาตรงนี้ แต่พอเราโฟกัสไปเรื่องของสิทธิ์อะไรต่างๆ นานาที่ควรได้ เรากลับกำลังเริ่มหลงลืมมิติในเรื่องของความสัมพันธ์ 

เราอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย เราไม่ได้เข้ามาเพื่อที่จะมาเอาความรู้ไปอย่างเดียว เราเข้ามาเพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพ เพื่อจะเติบโตในความเป็นมนุษย์ของตัวเราเองด้วย ซึ่งการเติบโตหรือการพัฒนาในความเป็นมนุษย์ มันไม่ใช่แค่ต้องผ่านการอ่าน แต่มันผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับคน กับเพื่อนนักศึกษา กับอาจารย์ เราจะเรียนรู้ในแง่ของการมีปฏิสัมพันธ์ยังไงให้เคารพต่อกัน เหล่านี้เป็นกระบวนการในการพัฒนามนุษย์ทั้งหมดเลย แต่น่าเสียดายที่มันไม่ค่อยได้รับความสำคัญในปัจจุบันเท่าไหร่นัก เราไปหมกมุ่นกับเรื่องที่ว่าเราจะถ่ายทอดความรู้ในทางวิชาการให้กันและกันได้ยังไงบ้าง ก็เลยไปจบที่ว่าเอาความรู้เป็นตัวตั้ง ทั้งที่ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ใหญ่ไม่ต่างกับเรื่องความรู้เลย 

 

ภายใต้การเคลื่อนไหวในหมู่นักศึกษา มีอะไรที่รู้สึกเป็นห่วงเขาไหม

จริงๆ ก็ไม่กล้าเป็นกังวล เพราะเขาทำถึงขนาดนี้ หมายความว่าเขาผ่านกระบวนการคิด ผ่านกระบวนการถกเถียงอภิปรายกับเพื่อนๆ ของเขามาเยอะ หน้าที่ของเราไม่ควรจะไปสั่งสอนเขา แต่ถ้าถามว่าเป็นห่วงในเรื่องอะไรก็คงเป็นห่วงในเรื่องของสวัสดิภาพ เป็นห่วงในเรื่องที่เขาจะได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเขาหรือเปล่า หรืออาจจะเป็นห่วงลักษณะของการใช้เวลากับการคิดใคร่ครวญ และตกตะกอนความคิดในหลายๆ เรื่อง รวมถึงการเคารพรับฟังในเสียงที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเขาไม่มีนะ แต่ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องยึดมั่น ยึดกุมมันให้อยู่ไม่ว่าเราจะอยู่ในพื้นที่ตรงไหนก็ตาม

“ถ้าเราเชื่อในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ตัวเราเองหรือทุกๆ การกระทำของเรามันต้องมีความเป็นประชาธิปไตย ต้องมีความเคารพในความหลากหลายอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นนะ มันเป็นสิ่งที่เราต้องบ่มเพาะไปเรื่อยๆ”

ต่อให้บอกว่าผมสมาทานกับประชาธิปไตย แต่ก็มีบางช่วงในชีวิตที่เราทำตัวเหมือนเป็นเผด็จการกับคนใกล้ตัว อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องหมั่นเตือนตัวเอง ต้องเห็นตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังพยายามจะทำสิ่งใหญ่ที่เป็นอุดมการณ์ แต่ว่ากับคนข้างๆ เรา กับคนที่กระทั่งเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์กับเรา เราปฏิบัติกับเขาได้อย่างที่เรากำลังเรียกร้องในเชิงอุดมการณ์หรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่ผมไม่ได้เป็นห่วงแค่นักศึกษา แต่ผมเป็นห่วงทุกๆ คนที่อยากจะขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นตัวอย่างของการที่บางทีเราแสดงออกหรือปฏิบัติกับคนบางคนอย่างไม่เท่าเทียม ยังไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ของเขา อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

อีกบทบาทหนึ่งของคุณนอกจากการเป็นผู้บริหาร อาจารย์ และนายประกัน คุณยังเคยเป็นนักศิลปะบำบัดที่พูดถึงการดูแลตัวเอง (self-care) ในสภาพสังคมที่ไร้ซึ่งความหวังเช่นนี้ มีคำแนะนำไหมว่าเราจะปลุกความหวังให้ตัวเองได้อย่างไร

โจทย์นี้ก็เป็นโจทย์ที่ผมมีคำถามอยู่กับตัวเองเหมือนกันนะ ว่าตกลงมันง่ายกว่าไหม ถ้าเราจะแค่วิ่งหนีออกไปจากสังคมนี้ แล้วไปหาสังคมอื่นที่น่าจะเหมาะกับคุณค่า ความเชื่อ และอุดมการณ์ของเรา แล้วผมเชื่อว่าก็มีหลายคนในบ้านเราที่กำลังพร้อมจะวิ่งหนีเหมือนกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อย่างที่ตอนนี้มีกระแสคนอยากจะออกหนีไปอยู่ที่อื่น ซึ่งมันก็ยอมรับได้ในแง่ของการที่เราเหนื่อยเกินกว่าจะอยู่กับอะไรที่รู้สึกว่าไม่เห็นจะก้าวหน้าไปถึงไหนเลย แล้วฉันต้องเอาชีวิตทั้งหมดของฉันมาไว้ในพื้นที่แห่งนี้หรือ 

แต่สิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เราพยายามจะทำอะไรบางอย่างให้กับสังคม ให้กับคนรุ่นถัดไป มันอาจจะไม่สำเร็จในรุ่นของเราก็ได้ แต่อย่างน้อยเมื่อเราได้ลงมือทำบางสิ่งบางอย่างที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แม้ว่าสุดท้ายผลลัพธ์ใหญ่อาจจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงของคนรอบๆ ตัวเรา ถึงแม้มันจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ผมว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นพลังที่ทำให้เราเห็นว่าเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ 

อย่างน้อยเราต้องมองเห็นก่อนว่า เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน เราอาจจะพลาดได้ เสียใจได้ ผิดหวังได้ หมดหวังได้ แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่ได้อยู่คงทนถาวร เรายังมีคนที่อยู่ร่วมอุดมการณ์เดียวกันกับเรา เราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง ผมคิดว่าพลังของกลุ่มเล็กๆ ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญในสังคม คุณไม่ได้กำลังต่อสู้อยู่คนเดียวตามลำพัง เรารับรู้ว่ามีคนจำนวนมากพยายามทำบางสิ่งบางอย่าง แล้วเรารับรู้กันและกัน มันจะช่วยปลุกเราจากวันที่เรารู้สึกท้อ จากวันที่เรารู้สึกหมดหวัง จากวันที่รู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว เราอยากจะวิ่งหนีแล้ว แต่เราต้องยอมรับให้ได้ในความอ่อนแอของตัวเราเองก่อน ว่ามันมีวันแบบนั้นเกิดขึ้นได้เช่นกัน แล้วก็อย่าคาดคั้น อย่ากดดันตัวเราเอง โดยเฉพาะน้องๆ ที่กำลังพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่ว่าเราพ่ายแพ้แล้ว มันคือทั้งหมด มันแค่เหตุการณ์หรือสถานการณ์หนึ่งเท่านั้นเอง 

มองภาพใหญ่ให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำมีความก้าวหน้า มีการเคลื่อนไหวอะไรบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว คุณเข้าไปปลุกจิตวิญญาณของคนหลายคนให้เขาตื่นขึ้นมาแล้ว นั่นคือความสำเร็จที่พวกคุณสร้างให้เกิดขึ้นได้แล้ว จงภูมิใจกับมัน ใช้มันเป็นพลังที่เข้ามาเยียวยาตัวเราเอง เข้ามาทำให้เรามีพลังที่จะลงมือทำต่อไป พักบ้าง ลุกบ้าง สู้บ้าง ถอยบ้าง เหล่านี้เป็นกระบวนการทั้งหมด มองให้เห็นเป็นภาพรวมแล้วจะรับรู้ได้ว่าเราไม่ได้อยู่ตามลำพัง

Fact Box

  • ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และรักษาการรองคณบดี คณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ ภาวะผู้นำ และการจัดการความเปลี่ยนแปลง
Tags: , , ,