“อยู่กระทรวงเกรด C ก็ดี จะได้ไม่มีใครจับตามอง ความคาดหวังก็ไม่ได้เยอะ และเมื่อคนคาดหวังกับเราไม่มาก แปลว่า หากเราทำได้ดีขึ้นมาได้สักนิดหนึ่ง มันก็มากเกินกว่าที่เขาคาดหวังแล้ว” ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตอบคำถาม รู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนมองว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดเป็นกระทรวงเกรด C
ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีวราวุธนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดดเด่นในฐานะรัฐมนตรีที่ดันเรื่อง ‘โลกร้อน’ และ ‘คาร์บอนเครดิต’ ขณะเดียวกันก็โดดเด่นกว่าใครเพื่อนในเวทีระดับโลก
รอบนี้เขานั่งกระทรวง พม. กระทรวงที่เรียกว่าเป็น ‘กระโถนท้องพระโรง’ คือ มีเรื่องอะไรก็โยนมาที่นี่ ตั้งแต่เด็กเกิดใหม่ จนคนแก่ และผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันยังถูกปรามาสว่าเป็นกระทรวงเกรด C กระทรวงที่น้อยคนจะแย่งกันเป็นรัฐมนตรี
แต่วราวุธมองว่า สิ่งสำคัญคือ กระทรวงนี้สามารถเป็นโต้โผ รับผิดชอบวิกฤตเด็กเกิดน้อย วิกฤตสังคมผู้สูงอายุ ที่ขณะนี้คนไทยไม่อยากมีลูกและ ‘ผู้สูงอายุ’ ก็กำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต แรงงานที่มีน้อยต้อง ‘แบก’ ผู้สูงอายุ เป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ที่มีประชากรมากกว่า 1 ใน 5 ขณะที่ทั้งวัยแรงงานและเด็กเกิดใหม่กำลังน้อยลงเรื่อยๆ
เหล่านี้ได้เพิ่มความตื่นเต้นให้กับวราวุธกับการทำงานในกระทรวงด้านสังคมครั้งแรก
ในฐานะที่เราเลือกวราวุธเป็นหนึ่งในสปีกเกอร์งาน Drive the Momentum งานฉลองวันเกิดครั้งแรก ที่จะสรุปเทรนด์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 เราชวนวราวุธนั่งคุยยาวๆ ก่อนที่จะถึงวันงานในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 เพื่อตั้งคำถามว่า ถึงวันนี้สังคมไทยพร้อมที่จะ ‘แก่’ แค่ไหน แล้วในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.มองสังคมไทย ในวันที่ ‘แก่ตัว’ มากขึ้นอย่างไร
รู้สึกอย่างไร หลังย้ายเก้าอี้จากรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอยู่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ผมรู้สึกกลัว เพราะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกระทรวง พม.เลย เนื่องจากผมเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล กับหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร พอมาทำงานด้านสังคมบอกตรงๆ ว่า มีความรู้เกี่ยวกับวงการนี้น้อยมาก คิดอยู่ตลอดว่าจะทำงานอย่างไร แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็เร่งรีบศึกษาทั้งที่ยังมีความกลัวอยู่แบบนั้นแหละ แต่อีกด้านหนึ่งก็รู้สึกดีใจนะ เพราะก่อนหน้ามาเป็นรัฐมนตรีที่ พม. ผมทำงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมา 4 ปี มองว่า การเรียนรู้ของผมกับที่ทำงานเก่ามันมากพอแล้ว คงไม่มีอะไรให้เราได้เรียนรู้อีก อยู่กระทรวงเดิมก็มีแต่ ‘ทรุด’ กับ ‘ทรง’ คงดีมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว
การเปลี่ยนกระทรวงก็เหมือนกับเดินออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง มองเห็นความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แม้การทำงานอาจไม่ถนัดและไม่มีอารมณ์ร่วมเท่ากับกระทรวงเก่าที่เคยทำ แต่ก็ต้องพิชิตมันให้ได้ เมื่อตั้งหลักได้แล้วจึงเริ่มทำงานชนิดลุยแหลก
พม.ท้าทายอย่างไร ช่วยขยายความได้หรือไม่
ก็ท้าทายในหลายมิติ อย่างแรกคือการทำงาน เพราะผมไม่เคยรู้จัก พม.มาก่อน ต่อมาที่ท้าทายคือการคิดว่า เราจะทำให้คนนอกกระทรวงตระหนักถึงสิ่งที่เราได้รู้อย่างไร รวมถึงคิดว่าเราจะบูรณาการเอาองค์ความรู้จาก ทส.มาทำงานใน พม.อย่างไร
ระบบการทำงานของ พม.ก็มีความท้าทายเหมือนกัน เพราะบุคลากรของเขาทำงานเชิงสังคมสงเคราะห์กันมานาน พอมาวันนี้ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทของตัวเอง ไม่ได้เป็นเพียงคนนั่งแจกสวัสดิการแล้วก็จบ จึงเป็นความท้าทายในการดึงเอาศักยภาพของคนทำงานขึ้นมาอีกครั้ง ผมมองว่ามันเป็นเรื่องยาก อาจจะถึงขนาดต้องมานั่งดึงศักยภาพกันแบบคนต่อคน
เอาเข้าจริง ก็เห็นใจข้าราชการ เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีมาบริหารกระทรวงแต่ละคนก็มีลักษณะการบริหารที่ต่างกัน รัฐมนตรีคนหนึ่งเข้ามาก็จะมีลักษณะการทำงานอีกแบบ พออีกคนเข้ามาก็ทำอีกแบบ บางครั้งข้าราชการจะทำงานเยอะกว่ารัฐมนตรีก็ไม่ได้ เดี๋ยวโดนหมั่นไส้ หากทำช้ากว่ารัฐมนตรีก็โดนว่าอีก หรือหากไม่สนองนโยบายก็โดนเล่นงาน โดนตั้งกรรมการสอบ สั่งโยกย้าย ข้าราชการเลยต้องเดินให้เท่ากับรัฐมนตรี
ดูเหมือนว่าคุณอยากเปลี่ยนแปลงการทำงานของข้าราชการ แล้วคุณบอกกับเขาอย่างไร หลังเข้ารับตำแหน่ง
ผมฝากปลัดไปบอกกับเหล่าท่านผู้บริหารและข้าราชการของ พม.ทุกคนว่า ขอความกรุณาเปลี่ยนจากรองเท้าหนังให้เป็นรองเท้าผ้าใบ จะได้วิ่งตามผมทัน ถึงผมจะขาสั้นแต่ว่าผมวิ่งเร็วนะ (หัวเราะ)
การเปลี่ยนแปลงการทำงานภายในองค์กรเป็นเรื่องที่ท้าทาย ต้องขอบคุณปลัดกับชาว พม.ที่เขาพร้อมให้ความร่วมมือ การทำงานการเมืองกับงานข้าราชการ หากปรบมือข้างเดียวมันไม่ดังหรอก ถ้ารัฐมนตรีออกนโยบายมาแล้ว แต่ข้าราชการเขาไม่เอาด้วยเราก็แย่ กลับกันหากข้าราชจะทำอะไรบางอย่าง แต่รัฐมนตรีไม่เอาด้วย เขาก็ไปต่อไม่ได้ มองดีๆ จะเห็นว่ากระทรวงของเรามีบุคลากรมากฝีมือและมีศักยภาพเต็มไปหมด สิ่งที่ผมต้องทำคือ การดึงเอาศักยภาพของบุคลากรเหล่านั้นมาทำงานให้กับ พม.และให้ พม.ไปดึงเอาศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่มออกมา
ที่ผ่านมาบทบาทของ พม.เป็นแบบไหน ทำไมจึงต้องปรับเปลี่ยน
เอาเฉพาะที่มองเห็นหลังจากทำงานภายในกระทรวงมา 1 ปี ที่ผ่านมาสังคมไทยมอง พม. เป็นกระทรวงสังคมสงเคราะห์มาโดยตลอด หากมีใครควรได้รับความช่วยเหลือ ไม่มีที่ไป เป็นขอทาน ก็มักถูกโยนเข้ามาให้ พม.แก้ปัญหาอยู่กระทรวงเดียว เป็นเหมือนกับกระโถนท้องพระโรงรองรับทุกปัญหา
ไม่ได้จะหมายถึงว่า การทำงานเชิงสังคมสงเคราะห์ไม่ได้เป็นภารกิจของ พม.นะ เพียงแต่มันไม่ใช่ภารกิจหนึ่งเดียวของกระทรวง ผมเห็นว่ากระทรวงนี้มีศักยภาพมากกว่าการเป็นกระทรวงสังคมสงเคราะห์อีกมาก คนทำงานใน พม.ไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ แล้วรอให้เด็กโดนทำร้ายจึงค่อยออกไปช่วย หรือคนแก่โดนทิ้งแล้วจึงค่อยไปช่วยคนแก่ นี่เป็นงานที่พวกเรา พม.ต้องทำกันอยู่แล้ว แต่ถ้าให้ทำอยู่แค่นี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐมนตรีหรอก เป็นแค่ศูนย์ดำรงธรรมคอยช่วยเหลือพี่น้องประชาชนก็เพียงพอแล้ว
แล้วอะไร ที่จะทำให้ประชาชนสามารถมอง พม.ว่าเป็นได้มากกว่ากระทรวงสังคมสงเคราะห์
เป้าหมายของ พม.ในตอนนี้คือ การสร้างศักยภาพให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง อย่างผู้พิการที่หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า ก็เขาเป็นคนพิการแล้วจะทำงานได้อย่างไร ขออธิบายว่า ผู้พิการมีทั้งพิการเพราะตาบอด หูหนวก ไม่สามารถพูดหรือสื่อสารได้รวมถึงพิการตามจุดต่างๆ ของร่างกาย แต่มันเป็นเพียงความพิการส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมดของร่างกายเขา ยังมีอีกหลายส่วนที่เขาใช้งานได้ เขาจึงยังมีศักยภาพในการทำงาน แต่งานที่ว่าอาจเป็นงานที่ต้องใช้ความถนัดหรือทักษะที่เขามีอยู่แล้ว
หรือผู้สูงอายุ ถ้าพูดถึงมุมมองต่อคนอายุ 60 ปีขึ้นไปในปัจจุบัน เทียบย้อนกลับไปสัก 30 ปีที่แล้ว สมัยก่อนก็อาจมองว่า คนวัยนี้แก่เกินไปที่จะทำงาน แต่วันนี้มุมมองเปลี่ยน คนอายุ 60 ปี ก็มีศักยภาพการทำงานอยู่ สะท้อนว่าคนสูงอายุไม่ได้เปราะบาง หากเราพูดถึงเขาในแง่การทำงาน นี่ก็เป็นหน้าที่ของ พม.ในการดึงศักยภาพของเขาออกมาให้ได้ ให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมกับสังคม ได้ทำงานหาเลี้ยงตัวเองมากกว่ารอพึ่งพาบำเหน็จ-บำนาญ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าเป็นพลเมืองที่มีประสิทธิผลทางสังคมแทนจะให้คนในวัย 60 ปี เกษียณไปต้องนั่งน้ำลายยืดดูทีวีอยู่ที่บ้านและท้ายที่สุดก็กลายมาเป็นภาระด้านสาธารณสุข
การผลักดันอาชีพให้ผู้สูงอายุ ลำพังแค่ พม.จะสามารถทำอย่างไรให้เอกชนเห็นด้วย
อันที่จริงการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน พม.ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองนะ เราจะบังคับเอกชนให้หันมาจ้างงานผู้สูงอายุไม่ได้อยู่แล้ว สิ่งที่เราทำได้คือ การนำเสนอหรือชี้ให้เขาเห็นว่าผู้สูงอายุยังมีศักยภาพทำงานได้อยู่ ดูอย่างประเทศญี่ปุ่นตอนนี้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสูงสุดไปแล้ว เด็กแรกเกิดน้อยลง อยู่ในจุดที่หันซ้าย-หันขวาแล้วไม่รู้จะเอาใครเข้ามาเป็นแรงงาน เลยจำเป็นต้องเอาผู้สูงอายุเข้ามาทำแทน ที่พูดไม่ได้หมายความว่า ให้เขาไปแบกกระสอบข้าวสารหนักๆ อะไรทำนองนั้นนะ คนวัยนี้อาจจะเหมาะกับงานด้านการให้ข้อมูลมากกว่า เช่น การบอกทาง การประชาสัมพันธ์ หรืองานที่ไม่จำเป็นต้องออกแรงมาก
ในญี่ปุ่นเราจึงได้เห็นประชาสัมพันธ์เป็นคุณลุง คุณยายหรือคุณตาทั้งนั้นเลย เพราะเขาเอาคนหนุ่มสาวไปทำงานประเภทอื่นๆ แทน ผมอยากส่งเสริมให้ภาคเอกชนเล็งเห็นและผลักดันเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุเข้ามาทำงาน
ดูเหมือนว่าประเทศไทยก็อาจจะเกิดวิกฤติคล้ายกับประเทศญี่ปุ่นในไม่ช้า
ใช่ วิกฤตประชากรเป็นสิ่งที่เรากำลังจะเผชิญในอีกไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้ เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ประชากรไทยหายไปกว่า 4.5 แสนคน หากแนวโน้มยังเป็นแบบนี้ต่อไปอีก 50-60 ปี จากจำนวนประชากร 66 ล้านคนอาจเหลือยู่ประมาณ 33 ล้านคน หรือหายไปครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรเทียบกับปัจจุบัน ซึ่งจะมีผลแน่ๆ กับการหลุดออกจากกับดักการเป็นประเทศผู้มีรายได้ปานกลาง ขณะเดียวกันประเทศไทยยังต้องการกำลังแรงงาน
อัตราการเกิดน้อยยังกระทบไปถึงการดูแลผู้สูงอายุ คนวัย 91 ปี อย่างแม่ของผมยังมีพี่สาวคอยดูแล แต่สำหรับคนสูงวัยคนอื่นๆ ที่ไม่ได้แต่งงาน อยู่บ้านคนเดียว ไม่มีลูกหลานหรืออาจจะมี แต่ไม่มีศักยภาพเข้ามาดูแล เขาจะอยู่กันอย่างไรและได้รับการดูแลแบบไหน ปัญหาด้านประชากร ผู้สูงอายุและเด็กเกิดใหม่มันพันกันไปหมด การลดจำนวนของประชากรจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากสำหรับประเทศนี้
เมื่อเด็กเกิดใหม่เริ่มน้อย พวกเขาจึงสำคัญมากที่สุดในตอนนี้?
จะพูดแบบนั้นก็ได้ เพราะเขาเป็นทรัพยากรที่สำคัญกับประเทศมากที่สุด จึงต้องให้การดูแลทั้งความปลอดภัย และการพัฒนาร่างกายและจิตใจ ถ้าอยากให้ความคิดของเด็กพัฒนาควบคู่ไปกับทุกองค์ประกอบ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอื่นๆ ก็ต้องดูแลเด็กตั้งแต่ในครรภ์ ไม่ใช่รอให้คลอดก่อนแล้วค่อยมาดูแล แปลว่าต้องดูแลร่างกายและสภาพจิตใจแม่เด็กระหว่างตั้งครรภ์ด้วย เพราะว่าสภาพร่างกายและจิตใจของแม่ มีผลกับสภาพจิตใจและร่างกายของเด็กในครรภ์
ส่วนช่วง 3 ปีหลังคลอด เป็นเรื่องของการจัดสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเด็ก ต้องมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กรองรับเด็กเกิดใหม่ ให้เขาได้รับการพัฒนากล้ามเนื้อ ฝึกการจับ การมอง การฟังและการคิดวิเคราะห์ เพราะเด็กเกิดใหม่ของเรายังน้อย ก็ควรดูแลพวกเขาให้ดี ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กที่มีน้อยอยู่แล้วด้อยคุณภาพลงไปอีก ซึ่งการจะดูแลก็ต้องทำในทุกมิติและต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกกระทรวง
คุณเห็นด้วยกับการเร่งการเกิดใหม่ของประชากรไหม
ผมเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะเราต้องการประชากรที่มีคุณภาพ โดยหวังว่าเขาเกิดมาแล้วจะมาช่วยลดภาระของประเทศ ไม่ใช่กลายมาเป็นภาระหนักขึ้น
ยิ่งเด็กมีปัญหามาก นั่นแปลว่าเราต้องใช้ทรัพยากรทั้งบุคลากรและงบประมาณของประเทศจำนวนมากเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เด็กก่อขึ้น แต่เมื่อเด็กเป็นผลผลิตโดยตรงของพ่อและแม่ การโทษเด็กเสียทีเดียวอาจจะไม่ถูก ต้องกลับไปดูว่า พ่อและแม่ให้ความสำคัญกับลูกมากแค่ไหน จึงเป็นเหตุผลที่ พม.เน้นคุณภาพก่อนปริมาณ
จะทำอย่างไรให้เด็กเกิดใหม่เป็นประชากรที่มีคุณภาพ
เด็กทุกคนสามารถเป็นคนที่มีคุณภาพกันได้ทั้งนั้น แต่อาจต้องสำรวจการดูแลของครอบครัวว่า เขาเลี้ยงดูลูกอย่างไร แทนที่จะปล่อยให้ลูกอยู่แต่กับมือถือ ควรพูดคุยกับลูกบ่อยๆ ตอนนี้ลูกผมเรียนอยู่ต่างประเทศทุก วันนี้ก็ยังโทรคุยกันวันเว้นวัน เมื่อครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ดูแลเขาไปทีละขั้นอย่างไม่รีบร้อน มันจะทำให้เขามีความมั่นใจ และไม่กลายมาเป็นภาระของสังคม
ช่วงวิกฤตทางการเมืองไทยระหว่างปี 2550-2557 ตอนนั้นลูกผมอายุ 3-7 ขวบ ระหว่างนั้นผมอยู่กับลูกตลอด เดินทางไปส่งที่โรงเรียน อ่านหนังสือให้ฟัง การทำกิจกรรมร่วมกัน มันทำให้เราเห็นวิวัฒนาการตั้งแต่ลูกยังเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ ในแง่การทำงานการเมือง ช่วงเวลานั้นอาจเป็นจุดที่แย่มากของผม แต่สำหรับคนเป็นพ่อ นี่เป็นสวรรค์ของผมเลย
แน่นอนว่า การอยู่พร้อมหน้าแบบครอบครัว อาจเป็นเรื่องยากสำหรับครอบครัวอื่น หรือบางคนก็มองว่า เพราะผมเป็นถึงรัฐมนตรีมีเงินมีทองหรือเปล่าจึงมีเวลาอยู่กับลูก ผมเข้าใจนะ จึงได้บอกว่า เราต้องเน้นที่คุณภาพของเด็กก่อน หากคุณมองว่า เมื่อเด็กเกิดมาแล้วจะกลายเป็นภาระก้อนโตของคุณก็อย่าเพิ่งมีลูก แต่ถ้ามองว่าลูกเป็นของขวัญที่ดีที่สุด เป็นความหวังของตระกูล เป็นอนาคตของประเทศ และเป็นพลเมืองของโลกที่จะต้องทำสิ่งดีๆ ให้ไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทย อย่างนั้นคุณมีลูกได้เลย
ในฐานะรัฐมนตรี พม. คุณวางแผนหาทางออกให้ประชากรเกิดมามีคุณภาพได้อย่างไร
ผมมีนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ภายใต้แนวคิดการแก้ปัญหาเด็กเกิดใหม่ที่ไม่ใช่แค่การโยนเงินให้กับครอบครัว กระทรวง พม.ได้นำเสนอในที่ประชุมสหประชาชาติและที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีซึ่งได้รับความเห็นชอบแล้ว นโยบายมีทั้งหมด 5 ยุทธศาสตร์ แต่ละยุทธศาสตร์มีอยู่ 5 มาตรการ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อนโยบาย
ยุทธศาสตร์แรกเป็นการ ‘ดีล’ กับคนทำงานก่อน ส่งเสริมให้คนวัยทำงานพร้อมมีครอบครัว ให้พวกเขามีบ้าน มีศักยภาพในการหาเลี้ยงครอบครัว สามารถดูแลเลี้ยงดูลูกได้ ที่สำคัญคือ คนวัยนี้ต้องเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่วัยชรา หลายคนอาจจะคิดว่า มันเร็วไปหรือเปล่า ผมอายุ 20-30 ปีอยู่เลยจะต้องเตรียมแก่แล้วเหรอ เอาจริงๆ คุณก็ต้องเตรียมแก่ก่อนที่คุณจะแก่จริงๆ สิ จะไปเตรียมเอาตอนที่คุณแก่มันไม่ทันหรอก
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พูดถึงการดูแลและพัฒนาเด็กเล็กที่มีน้อยอยู่แล้ว เพื่อให้มีคุณภาพดี โดยการทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสำหรับดูแลร่างกายและจิตใจ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือผู้สูงอายุ นอกจากการดูแลคือ การดึงศักยภาพของคนกลุ่มนี้กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีค่า สิ่งที่เราจะได้รับคือการมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำกิจกรรมได้ก็จะไม่ติดบ้าน ไม่ติดเตียงให้กลายเป็นภาระด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณส่วนอื่น การดูแลผู้สูงอายุยังนับเป็นการแบ่งเบาภาระของคนหนุ่ม-สาววัยแรงงาน เมื่อภาระของหายไปส่วนหนึ่ง เขาก็จะมีเวลามีแรงในการหาเลี้ยงครอบครัวต่อไปได้
ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือการทำให้ผู้พิการสามารถสร้างผลิตผลทางสังคมได้ เปลี่ยนมุมมองให้นายจ้างมองผู้พิการว่า เป็นคนที่ยังมีความสามารถ แทนจะมองพวกเขาเป็นผู้พิการ ทุกวันนี้เรามีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่กำหนดว่า หากนายจ้างมีลูกจ้าง 100 คน จะต้องมีผู้พิการ 1 คน ซึ่งบางบริษัทก็จ้างผู้พิการเข้ามาแต่จ้างมาให้เขาอยู่เฉยๆ แล้วจ่ายเงิน จะได้ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อันนี้แหละเห็นชัดว่า เป็นการจ้างงาน เพราะมองว่าเขาเป็นผู้พิการ แทนที่จะจ้างเขาด้วยความสามารถของเขา
ที่ท้าทายมากที่สุดคือ ยุทธศาสตร์ที่ 5 เพราะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้คนมีความหวังว่า ถ้าพวกเขามีลูก แล้วลูกของเขาจะเติบโตขึ้นมาด้วยการศึกษาที่ดี ได้เรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีฝุ่นควัน อากาศสดชื่น ไม่ใช่เต็มไปด้วยขยะ
ฟังดูดีมาก แต่ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่กระทรวง พม.สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียวหรือเปล่า?
วันนี้ประเทศไทยไม่ได้มีกระทรวง พม.กระทรวงเดียว เรามี 20 กระทรวงอุตลุดไปหมด แค่ทุกกระทรวงทำหน้าที่ตัวเองให้เต็มร้อยก็นับเป็นหนึ่งใน 5 ยุทธศาสตร์ของเราแล้ว และที่มันฟังแล้วดูเหมือนจะทำยาก ก็เพราะยังไม่มีประเทศใดในโลกประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากร การสร้างสังคมที่คนรุ่นใหม่มีความหวัง ประเทศญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถทำได้ ดูจากอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศก็ยังคงสูงอยู่
สิ่งที่ผมพูดมันจึงเป็นเหมือนโลกเหนือจริง เป็นความฝัน แต่นั่นคือวิถีที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องวิกฤตโครงสร้างประชากร
คุณมีครอบครัวเป็นของตัวเอง การได้อยู่ร่วมกับพวกเขามีอิทธิพลกับการคิดนโยบายเพื่อครอบครัวของคนทั้งประเทศอย่างไร
มีอิทธิพลในทุกองค์ประกอบเลยครับ โดยเฉพาะเรื่องผู้สูงอายุ เช่น ผมเป็นคนที่โทร.หาแม่ทุกวัน ตื่นเช้าก็โทร.หากันเพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ บางวันเล่าเรื่องตลกให้แม่ฟัง แม่หัวเราะเอิ๊กอ๊ากแล้ววางสาย คุยกันไม่เกิน 5 นาที บางวันโทร.ไปก็ไม่ได้คุยเพราะแม่ติดกิจวัตรประจำวันอยู่ แต่ถึงจะรับสายหรือไม่รับ แม่จะรู้เสมอว่า ลูกชายของเขาโทร.มา ยุทธศาสตร์ที่ผมใส่ลงไปในนโยบาย 5×5 ก็คือสิ่งที่ผมทำอยู่แล้วเป็นประจำทุกวัน
เมื่อ 2-3 ปีก่อน แม่ของผมหกล้มในห้องนอนของตัวเอง รักษาในโรงพยาบาลไปเกือบ 3 เดือน โชคดีที่มีพี่สาวกับพยาบาลอีกคนคอยดูแล แต่ผมก็กลับมาคิดว่า แล้วพ่อกับแม่ของครอบครัวอื่นๆ ที่เขาไม่มีลูก อยู่คนเดียวเพราะไม่ได้แต่งงานแล้วใครจะดูแลพวกเขา
มนุษย์เมื่ออายุเข้าสู่วัยชราก็จะมีความคล้ายคลึงกับช่วงวัยเด็ก จำได้ไหมว่า เราเองก็ตักข้าวจนหกเลอะเทอะไปหมด ตอนยังเด็กๆ มีคนไปส่งตอนจะเข้าห้องน้ำ ตอนเราแก่มันก็จะเป็นแบบนั้นอีกรอบ ผมจึงมองว่า ควรมีนักบริบาลผู้สูงอายุ ให้คนในชุมชนมาดูแลผู้สูงอายุภายในชุมชนของตัวเอง เพราะมีความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่มากกว่า และมีการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุมีค่าตอบแทนให้ ซึ่งนโยบายต่างๆ เหล่านี้ทำขึ้นจากประสบการณ์ของผมเลย
หรือการดูแลผู้สูงอายุ เราควรเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเข้าไปด้วย?
เพิ่มได้ถ้ามีเงิน จะบอกอย่างนี้ ทุกคนอยากได้เบี้ยคนชราเป็น 1,000 บาทกันทั้งนั้น ในขณะที่อัตราการเกิดใหม่มีน้อยลง ภาษีที่เก็บได้ก็จะน้อยลงไป หมายความว่า ผมต้องเพิ่มการเก็บภาษีแลกกับสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ เอาง่ายๆ แค่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% คนยังด่ากันแทบตาย เราต้องไม่ลืมว่า งบประมาณของประเทศมาจากภาษีที่เก็บจากประชาชน
เห็นหลายคนชอบพูดกันว่า ประเทศแถบสแกนดิเนเวียมีสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับไทย แต่การหักภาษีของเขาก็สูงกว่าด้วยเช่นกัน อย่างประเทศญี่ปุ่นที่ภาษีมรดกสูงลิ่ว จนบางครอบครัวเลือกที่จะใช้มรดกเองแทนจะส่งต่อให้กับลูกหลาน
ดังนั้น ถามว่าให้เบี้ยคนชรา 1,000 บาทได้หรือเปล่า คำตอบก็คือให้ได้อยู่แล้ว แต่หากระบบการเงินของธนาคารเกิดล่มขึ้นมา เงินจำนวนนี้อาจแจกจ่ายให้คนชราได้แค่ปีเดียวเท่านั้น แล้วทำไมไม่ตัดงบของแต่ละกระทรวงมาทำเบี้ยคนชราล่ะ? หลายคนอาจถามต่อ ก็ต้องยอมรับว่าสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณลงมาแบบนั้น ประกอบกับทุกกระทรวงก็เล็งเห็นความสำคัญในภารกิจของตัวเอง พอไปถามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ภารกิจของเขาสำคัญหรือเปล่า เขาก็ต้องตอบว่าสำคัญ ขณะที่เบี้ยผู้สูงอายุที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูแลก็สำคัญ พอมันสำคัญกันทั้งหมด แล้วสำนักงบประมาณจะทำอย่างไร
อีกตัวอย่างก่อนหน้านี้ที่คิดว่าจะทำให้เห็นชัดคือ ประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน และในปี 2565 มีคนขึ้นทะเบียนเสียภาษีกับกรมสรรพากร 11 ล้านคน แต่เสียภาษีจริงๆ อยู่แค่ 4.5 ล้านคน นี่ยังไม่ถึง 10% ของประชากร 66 ล้านคนเลย ขณะที่คนชราของประเทศมีอยู่ 13 ล้านคน แต่มีคนเสียภาษีกันอยู่แค่ 4.5 ล้านคน แค่นี้ก็พอจะเห็นภาพแล้วว่า เราควรทำอย่างไร
ปัจจุบันภารกิจของ พม.มีมากมายขนาดนี้ คิดว่าในปีหน้าจะมีอะไรใหม่ๆ ให้รัฐมนตรีกระทรวงได้วัดฝีมืออีกหรือเปล่า
เอาแค่ปัญหาที่มีอยู่ในตอนนี้ก็แก้ได้ทีละเปลาะ แต่สถานการณ์ของโลกมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราไม่รู้เลยว่าแต่ละปีจะมีปัญหาอะไรที่เร่งด่วนเกิดขึ้นมาอีก เราไม่รู้ว่าความคิดของคนที่เกิดขึ้นมาแต่ละรุ่นจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ปัญหาใหม่ๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นมาอีกได้ ใครจะไปรู้ เพียงแต่สถานการณ์ของประเทศไทยเป็นแบบนี้ วันนี้นโยบายที่เราทำจึงออกมาเป็นแบบนั้น และในอนาคตนโยบายที่ทำขึ้นในวันนี้อาจไม่ใช่นโยบายที่ถูกต้องก็เป็นได้
นับจากวันนี้ที่ให้สัมภาษณ์ เหลืออีกเพียง 3 ปี ก่อนที่คุณจะสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี พม.ในระยะเวลาที่เหลืออยู่ คนไทยจะได้เห็นอะไร
ในเทอมที่เหลืออยู่อีก 3 ปี คุณจะเห็นการทำงานของกระทรวง พม.ที่คล่องแคล่วกว่าเดิมอย่างแน่นอน มีการทำงานเชิงรุก สามารถติดตามเรื่องร้องเรียนว่ามีความคืบหน้าอย่างไร ได้เห็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพราะไทยไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก เรามีประเทศคู่สัญญา มีสนธิสัญญาและอนุสัญญา ส่วนกระโถนท้องพระโรงเรายังคงเป็นอยู่เหมือนเดิมด้วยความยินดี
อีกเรื่องที่เรากำลังทำคือ การเชื่อมฐานข้อมูล วันนี้กระทรวงของเราเชื่อมฐานข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ทำให้ปกติที่ผู้พิการจะขอรับสวัสดิการจากเดิมที่ต้องไป 3 จุด ตั้งแต่โรงพยาบาล กระทรวง พม. และสำนักงานมหาดไทยของท้องถิ่น วันนี้ไปแค่ 2 กระทรวงก็พอ ขณะที่ตอนนี้เรากำลังขอเชื่อมฐานข้อมูลกับกรมการปกครองและกระทรวงการคลัง เพื่อประโยชน์ในขั้นตอนการจ่ายเงินสวัสดิการ
คำถามสุดท้าย หลายคนมองว่า กระทรวง พม.เป็นกระทรวงเกรด C ในฐานะรัฐมนตรีของกระทรวง คุณมีความรู้สึกกับมุมมองนี้อย่างไร
อยู่กระทรวงเกรด C ก็ดี จะได้ไม่มีใครจับตามอง ความคาดหวังก็ไม่ได้เยอะ และเมื่อคนคาดหวังกับเราไม่มาก แปลว่าหากเราทำได้ดีขึ้นมาได้สักนิดหนึ่ง มันก็มากเกินกว่าที่เขาคาดหวังแล้ว เหมือนตอนที่เราเข้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็มีคนมาบอกว่า กระทรวงของเราเป็นกระทรวงเกรด C ย้อนหลังกลับไป 5-6 ปีที่แล้ว ยังไม่มีใครสนใจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเลย แม่ของผมยังถามว่า เป็นกระทรวงอะไร ทำเกี่ยวกับอะไร แต่วันนี้มีคนไปอยู่กระทรวงเกรด C กันเสียเยอะ ก็ผมทำไว้ดีเสียจนโดนเขาเตะออกมาอยู่ที่ พม.นี่ไง จนวันนี้เรากลับไปอยู่กระทรวงเดิมไม่ได้แล้ว
การทำงานอยู่ในกระทรวงเกรด A มันเหนื่อยนะ ทำดีก็เสมอตัว ถ้าทำพลาดก็โดนด่า แต่ถ้าอยู่กระทรวงเกรด C หากเราทำเจ๊งขึ้นมาก็เสมอตัว แต่ถ้าทำดีขึ้นมาหน่อยก็นับว่าเป็นกำไรแล้ว ผมทำงานอยู่กระทรวงเกรดนี้ก็ดีนะ สบายใจดี
Tags: วราวุธ ศิลปอาชา, Drive The Momentum, วราวุธ, Close-Up