“ความเสี่ยงจากวิกฤตภูมิอากาศคือความเสี่ยงในการลงทุน” (Climate Risk Is Investment Risk)

ประโยคข้างต้นคงไม่มีคนฟังมากนักหากออกมาจากปากนักอนุรักษ์ นักสิ่งแวดล้อม เอ็นจีโอต่อต้านเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือนักการเมืองจากพรรคกรีน แต่คำพูดดังกล่าวกลับสะเทือนทั้งวงการการเงินการลงทุนเมื่อออกมาจากปาก แลร์รี ฟิงค์ (Larry Fink) ประธานและผู้บริหารแบล็กร็อก (BlackRock) ที่เขียนตัวหนาอยู่ในจดหมายประจำปีที่เขาส่งถึงผู้บริหารทั่วโลกในฐานะนักลงทุนสถาบันผู้มีสินทรัพย์มากที่สุดในโลกหรือราว 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

จดหมายดังกล่าวระบุอย่างชัดเจนว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องหาทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหากผู้บริหารบริษัทใดไม่ใส่ใจก็ควรอกสั่นขวัญหายเพราะแบล็คร็อคในฐานะผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญสามารถลงคะแนนโหวตปลดกลางอากาศ ถอนเงินลงทุนจนราคาหุ้นร่วงฮวบ หรือบริษัทเหล่านั้นอาจเสียโอกาสที่จะได้รับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากแบล็คร็อค

นี่อาจถือเป็นครั้งแรกๆ ที่ผู้บริหารในภาคการเงินประกาศอย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกระทบต่อผลตอบแทนในระยะยาวของกองทุนหากยังเลือกลงทุนในบริษัทที่ไม่ปรับตัว โดยใช้เกณฑ์ด้านความยั่งยืนเป็นหลักสำคัญในการพิจารณาเลือกสินทรัพย์สำหรับลงทุน รวมถึงจะถอนเงินลงทุนจากหลักทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้นในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงถ่านหิน เพื่อจัดการความเสี่ยงในพอร์ตฟอร์ลิโออย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินการตามหลักความไว้วางใจ (Fiduciary Duties) ในฐานะตัวแทนที่นำเงินของสาธารณชนมาลงทุน

แต่เขาไม่ใช่คนเดียวที่แสดงความกังวลต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะจากรายงานความเสี่ยงโลกปี 2019 (The Global Risk Report 2019) ซึ่งสำรวจความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารกว่า 1,000 คนทั่วโลกผลปรากฏว่าความเสี่ยงจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ความล้มเหลวในการปรับตัวและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงภัยธรรมชาติ เป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบและมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นสูงเป็นอันดับต้นๆ

ภูมิทัศน์ความเสี่ยงโดยพิจารณาระหว่างความรุนแรงของผลกระทบ (Impact) และโอกาสเกิดผลกระทบ (Likelihood) ภาพจากรายงานความเสี่ยงโลกปี 2019 (The Global Risk Report 2019)

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชวนมาทบทวนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมอย่างไร และความเสี่ยงต่อธุรกิจใดบ้าง

ความเสี่ยงทางกายภาพ และราคาของการไม่ทำอะไร

ความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้วและส่งผลกระทบจริงในหลายพื้นที่ซึ่งตีความได้อย่างตรงไปตรงมาก็คืออันตรายต่อชีวิตและสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน อาคาร หรือโครงสร้างพื้นฐาน ที่อาจเสียหายหรือด้อยค่าลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในแต่ละภูมิภาคก็จะเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ระบุว่าความเสี่ยงในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปคือภัยพิบัติจากแม่น้ำและชายฝั่งทะเล รวมถึงวิกฤตไฟป่า ส่วนเอเชียเสี่ยงต่อการเผชิญการขาดแคลนน้ำและอาหารเช่นเดียวกับทวีปแอฟริกา

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่ดินสำหรับการเกษตรซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกรรายย่อยกลับต้องด้อยค่าลงเพราะสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พื้นที่บริเวณจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) ที่เผชิญการขาดแคลนน้ำฝนเมื่อปลาย พ.ศ. 2559 และภัยแล้งรุนแรงในปี พ.ศ. 2560 ทำให้พื้นที่การเกษตรเกินกว่าครึ่งในประเทศโซมาเลียแทบไร้ผลผลิต ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ประเทศในแถบเอเชีย เช่น ศรีลังกา พม่า เนปาล และบังคลาเทศ กลับต้องเผชิญกับอุทกภัยและฝนที่มากเป็นประวัติการณ์ นำไปสู่ความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตร 

ในมิติด้านสุขภาพ มีการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้การเกิดโรคหรือการตายที่เกี่ยวข้องจากความร้อนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ปัจจุบัน มีประชากรโลกราว 30 เปอร์เซ็นต์ที่อาศัยในพื้นที่ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนจัดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้อย่างน้อย 20 วันต่อปี คลื่นความร้อนยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดต่ำลง อีกทั้งยังทำให้การทำงานงานบางประเภท เช่น งานก่อสร้างกลางแจ้ง อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาพจาก Bank of England

เมื่อ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเผชิญกับภัยธรรมชาติคิดเป็นจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติทั่วโลก รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 56,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 13 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของไทย

The Economist Intelligence Unit หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของนิตยสาร เดอะ อีโคโนมิสต์ ได้ประมาณการมูลค่าความเสี่ยง (Value at Risk: VaR) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนถึงสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 พบว่ามูลค่าความเสียหายที่คาดอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจากสินทรัพย์มูลค่า 143 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ภายใต้การจัดการทั่วโลก อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวย้ำว่าให้ระวังความเสี่ยงหาง (tail risk) กล่าวคือความเสี่ยงที่โอกาสเกิดน้อยแต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสร้างความเสียหายมหาศาล ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวมักถูกทำให้มองไม่เห็นเมื่อคำนวณมูลค่าความเสียหายแบบเฉลี่ย

นี่คือ ‘ราคา’ ของชีวิต ทรัพย์สิน สุขภาพ และความมั่นคงทางอาหารที่เราต้องจ่าย หากภาครัฐและภาคเอกชน ‘ไม่ทำอะไร’ กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต และแน่นอนว่าราคาดังกล่าวย่อมกลับมาสะท้อนในอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน รวมถึงความมั่งคั่งที่อาจสูญหายเพราะภัยธรรมชาติ

ความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน เมื่อธุรกิจปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง

ความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน (transition risk) หมายถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแง่นโยบาย กฎเกณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยี สำหรับกรณีของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวโน้มที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าสินทรัพย์และต้นทุนการดำเนินธุรกิจในบางอุตสาหกรรม

ตัวอย่างเทรนด์สำคัญ เช่น ข้อตกลงปารีสที่ระบุว่าประเทศที่ร่วมลงนามจะต้องช่วยกันจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี คำมั่นสัญญาและแผนการที่แต่ละประเทศเสนอมาในปัจจุบันกลับส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2.8 – 3.4 องศาเซลเซียส ยังไม่นับความไม่แน่นอนในการดำเนินการตามแผนของแต่ละประเทศ จึงเป็นไปได้ว่าภาครัฐหรือประชาคมโลกอาจมีมาตรการขั้นเด็ดขาดในภายหลังเมื่อโลกเดินหน้าเข้าใกล้ ‘จุดแตกหัก’ ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและมนุษยชาติแบบไร้ทางแก้ไข

หากทั่วโลกต้องการดำเนินการตามข้อตกลงปารีสอย่างเคร่งครัด เชื้อเพลิงฟอสซิลสำรองราว 2 ใน 3 ของโลกจะต้องไม่ถูกนำมาใช้ ซึ่งหากกลายเป็นข้อบังคับที่ทั่วโลกยอมตกลงเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ย่อมส่งผลรุนแรงต่อบริษัทในอุตสาหกรรมพลังงานที่ครอบครองแหล่งเชื้อเพลิงถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ อีกทั้งนักลงทุนอย่างธนาคารหรือกองทุนรวมที่นำเม็ดเงินมหาศาลไปลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว เนื่องจากสินทรัพย์ที่เคยคาดหวังว่าจะสร้างรายได้ให้อนาคตกลับด้อยค่าลดลงเหลือศูนย์ในพริบตา

การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำยังอาจส่งผลต่อบริษัทที่มีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตยานยนต์ เรือ เครื่องบิน รวมถึงอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและซีเมนต์ เนื่องจากมาตรการบางอย่าง เช่น การจัดเก็บภาษีคาร์บอน จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเหล่านั้นอย่างมาก

ปัจจุบัน ภาษีคาร์บอนไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปและมีการบังคับใช้ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก แม้ว่าจะมีรูปแบบ วิธีการ และราคาในการจัดเก็บแตกต่างกันออกไป แต่ภาษีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานจริง เช่น ในอังกฤษที่ปริมาณการใช้ถ่านหินลดลงอย่างฮวบฮาบหลังประกาศเก็บภาษีคาร์บอนเมื่อ พ.ศ. 2556 เนื่องจากการดึงดันเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นไม่คุ้มทุนอีกต่อไป

แผนที่แสดงประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (เขียว) ระบบการซื้อขายการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (ฟ้า) และประเทศที่มีทั้งสองมาตรการ (เขียวคาดฟ้า) ภาพจากธนาคารโลก 

ปลายทางของความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงเปลี่ยนผ่านก็จะจบลงที่ความเสี่ยงด้านความรับผิด (Liability Risk) ซึ่งกระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารรวมถึงการประกันภัย ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะบ่อนเซาะเสถียรภาพทางการเงินในระดับโลกในท้ายที่สุด

ก้าวแรกในการจัดการกับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงรอยเท้าการใช้ทรัพยากรของภาคธุรกิจทั้งหมด เพื่อให้นักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อจัดสรรพอร์ตฟอร์ลิโอการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตภูมิอากาศได้คืบคลานเข้ามากระทบหลากหลายมิติในชีวิตของเรา จดหมายของแลร์รี ฟิงค์ ถือเป็นคำเตือนสำคัญว่าการลงทุนมีความเสี่ยงจากวิกฤตภูมิอากาศ ทุกคนควรศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุน

เอกสารประกอบการเขียน

WMO Statement on the State of the Global Climate in 2017

These Countries Have Prices on Carbon. Are They Working?

Climate change: what are the risks to financial stability?

SHADES OF CLIMATE RISK. Categorizing climate risk for investors

These are the business risks that climate change brings

Climate risk and response: Physical hazards and socioeconomic impacts

Climate Risk: What Businesses Should Do About It

The cost of inaction: Recognising the value at risk from climate change

 

Tags: , , , ,