หลังจากยืนเก้ๆ กังๆ มองหาทางออกไปยังทางเดินริมน้ำอยู่พักใหญ่ หญิงชราคนหนึ่งที่ดูเหมือนเป็น ‘ขาประจำ’ ก็มองหน้าเราพลางชี้มือออกไปอีกฝั่งของศาลาริมน้ำ (ทั้งที่ไม่รู้ว่าเรากำลังมองหาอะไร) อธิบายทางไปไหว้เจ้าแม่กวนอิมผ่านหน้ากากอนามัยที่ดูเหมือนใช้มาแล้วหลายวัน 

ยายอ่อน (นามสมมติ) สวมเสื้อเชิ้ตที่เย็บปะจนเกือบจะเป็นงานคราฟต์ นุ่งผ้าถุงเก่าๆ รองเท้าแตะ แกนั่งอยู่ตรงศาลาริมน้ำวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ทำหน้าที่คอยบอกทางให้คนไปสักการะเจ้าแม่กวนอิม ราวกับจะรู้ว่าทุกคนที่มาวัดนี้น่าจะมาเพื่อสักการะเจ้าแม่

ตรงหน้าแกมีแก้วพลาสติกใสใบเขื่องวางอยู่ คงจะเป็นเครื่องมือทำมาหากินแลกกับการบอกทางกับขาจร แต่มองลงไปในแก้วกลับไม่มีเศษสตางค์หรือธนบัตรอยู่ในนั้นเลยสักบาท บทสนทนาจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระไปจนถึงความเป็นมาที่ทำให้ยายอ่อนมานั่งตากแดดตาก สวมบท ‘ไกด์จำเป็น’ ณ ศาลาแห่งนี้ทุกวัน

ยายอ่อนพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า คนแก่อายุ 83 ปี แม้ยังเดินเหินได้ แต่การศึกษาน้อย จะทำอะไรได้มากไปกว่านั่งรอขอเศษสตางค์จากคนที่มาทำบุญที่วัด 

“มีบางคนมาประจำ พอเห็นหน้ายายเขาก็ให้สตางค์” 

ยายอ่อนเล่าต่อว่า สมัยก่อนพอหาเงินเลี้ยงตัวเองได้บ้างจากอาชีพรับจ้างเด็ดพริก โดยรับพริกมาจากแม่ค้าปากคลองตลาด

ไม่ว่าจะไปไหนในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด เราคงเคยเห็นคนแบบ ‘ยายอ่อน’ ในหลายสถานที่ เช่น วัดวาอารามหรือสถานีรถไฟ เราคงเคยได้ยินคำพูดแบบยายอ่อนบ่อยจนชินหู แต่มีใครเคยถามไหมว่า ถ้าไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน ต้องมาอาศัยหลับนอนตามข้างถนน ทำไมคนอย่างยายอ่อนถึงไม่กลับบ้าน?

ยายอ่อนเล่าว่า แกเป็นชาวอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้ามาใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ หลังจากที่ดินจำนวน 10 ไร่อันเป็นมรดกของพ่อแม่ได้ถูกขายเพื่อนำเงินมาแบ่งให้กับลูกๆ ก่อนที่แต่ละคนจะแยกย้ายกันไปมีครอบครัว ทว่าเงินส่วนแบ่งนั้นไม่มากพอที่จะช่วยให้ยายอ่อนซื้อบ้านหรือที่ทำกินได้ ในที่สุด ยายอ่อนตัดสินใจย้ายไปอาศัยอยู่ในเรือโยงที่กลายเป็น ‘บ้าน’ อยู่นับสิบปี 

หลังจากจอดเทียบท่าที่วัดกัลยาฯเป็นเวลาหลายปี อีกทั้งงานรับจ้างขนทรายก็ลดน้อยลงจนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่บนเรือโยงอีกต่อไป ประจวบกับคนในชุมชนวัดกัลยาณมิตรเสนอขายสิทธิ์บ้านขนาด 10 ตารางวาในปี 2556 ยายอ่อนจึงตัดสินใจขายเรือโยงและนำเงินมาซื้อสิทธิ์อยู่อาศัยต่อจากคนในชุมชนเพื่อย้ายขึ้นมาอยู่บนฝั่งกับลูกชาย 

แน่นอนว่าทุกอย่างถูกตกลงกันโดยที่ทางวัดไม่ได้ล่วงรู้ ทำให้ยายอ่อนไม่รู้ว่าชุมชนนั้นกำลังจะถูกไล่รื้อในอีกสองปีถัดมา 

ชุมชนวัดกัลยาในวันที่ถูกรื้อเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558

หลายคนคงจำคดีพิพาทระหว่างกรมศิลปากรและวัดกัลยาณมิตรมหาวรวิหารได้ เนื่องจากวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติในปี 2492 แต่เนื่องจากทางวัดได้รับความนิยมจากพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางวัดมีความจำเป็นต้องบูรณปฏิสังขรณ์เพื่อปรับภูมิทัศน์ภายในวัด โดยหลักสำคัญคือการสร้างที่จอดรถให้กับคนมาทำบุญ 

ระหว่างปี 2546-2558 มีโบราณสถานภายในวัดกัลยาณมิตรถูกรื้อถอน และก่อสร้างอาคารในเขตโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตรวมทั้งสิ้น 45 รายการ กระทั่งกรมศิลปากรได้ทำการฟ้องร้องวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ข้อหารื้อทำลายโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รวมทั้งสิ้น 16 คดี

การปรับภูมิทัศน์ในครั้งนั้นเปลี่ยนภาพวัดกัลยาฯ ไปอย่างสิ้นเชิง จากวัดเก่าแก่จากสมัยรัชกาลที่ 3 ล้อมรอบด้วยชุมชนชาวพุทธที่อาศัยที่วัดอยู่ ลองจินตนาการภาพการพึ่งพาระหว่างวัดและชุมชนในอดีตเมื่อครั้งที่การเดินทางยังไม่สะดวกสบายมากนัก ในขณะที่พระต้องรับบิณฑบาตจากชาวบ้าน ชาวบ้านเองก็ต้องการวัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวของชุมชน 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายทศวรรษ การเดินทางเริ่มสะดวกมากขึ้น คนไทยจำนวนมากที่มักพูดจนติดปากว่า “เมืองไทยเมืองพุทธ” หรือคนอยุธยาที่มีวัดเต็มเมืองอย่างยายอ่อนคงจินตนาการไม่ถึงว่าวัดที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะขับไล่หลายสิบครอบครัวในชุมชนทั้งสองฝั่งของวัด (ด้านติดท่าเรือปัจจุบันเป็นอาคารโรงเรียนวัดกัลยาณมิตร และด้านติดคลองบางกอกใหญ่ปัจจุบันเป็นลานจอดรถและห้องน้ำ) ที่อยู่กับวัดมานานหลายสิบปีออก เพื่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ลานจอดรถ และห้องน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนมาทำบุญ

อาคารเรียนหลังใหม่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นชุมชนใกล้ท่าเรือ

ช่างขัดแย้งกับศาสนสถานริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ป้าเจ้าของบ้านในชุมชนกุฏีจีนข้างโบสถ์ซางตาครูสที่พูดกับอย่างมั่นใจว่า ครอบครัวเธอไม่มีวันโดนไล่ที่แน่นอน 

“โบสถ์ยังต้องการให้คนไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์” 

ฟังแล้วใจหายพิลึก เมื่อเปรียบเทียบกับวัดพุทธที่ชาวบ้านในชุมชนอ้างว่าไม่เคยได้กินข้าวก้นบาตรหรือพระในวัดไม่กล้าบิณฑบาตในชุมชน เนื่องจากไม่ไว้วางใจชาวบ้าน 

จากคนที่เคยมีบ้านเช่าอยู่ในบริเวณวัด ราคาเพียงปีละ 1,000 บาท ยายอ่อนใช้เงินแสนก้อนสุดท้ายของชีวิตกับการซื้อสิทธิ์ครั้งนั้น และวันนี้แกต้องดิ้นรนหาที่อยู่ใหม่ให้กับตัวเองกับครอบครัวลูกชาย ในวันที่ยายอ่อนไม่มีงานรับจ้างใดๆ เพราะปากคลองตลาดเริ่มเงียบเหงาลงนับตั้งแต่มีการจัดระเบียบทางเท้า รายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงเดือนละ 800 บาท ไม่มีทางพอจ่ายค่าเช่าห้องเดือนละ 3,000 บาท ที่อยู่กับหลานสองคนที่พ่อของเด็กเพิ่งเสียไปเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้

จริงอยู่ว่าวัดกัลยาฯ อาจจะมองเห็นความทรุดโทรมของชุมชนรอบวัดเกือบคล้ายสลัมจนทำให้วัดมัวหมอง แต่จะดีกว่านี้ไหม หากวัดที่คนพุทธจำนวนมากหวังให้เป็นที่พึ่ง ได้มองเห็นชุมชนโดยรอบเป็นผู้สนับสนุนวัด และร่วมกันหาทางออกเพื่อพัฒนาวัดและชุมชนไปพร้อมกัน แทนที่จะมุ่งพัฒนาด้านกายภาพเพียงอย่างเดียว เพื่อดึงดูดคนทำบุญจากนอกชุมชน

จากโครงการวิจัย ‘คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง’ ทำการศึกษาใน 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา ที่ได้มีการนำเสนอครึ่งทางการวิจัยเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น ‘คนจนเมือง’ อาศัยอยู่ในสังคมปิดแบบสลัมและนั่งรอการสงเคราะห์จากรัฐบาล ปัจจุบันสามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกได้แล้ว และสร้างรายได้จากการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ

แต่ยายอ่อนคงไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่สามารถถีบตัวเองขึ้นไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อยนอกระบบได้ ห้องเช่าใหม่ที่ไม่มีผืนดินให้ปลูกผักสวนครัว พื้นที่ในชุมชนไม่เอื้อให้สร้างอาชีพ ยายอ่อนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแค่แรงงานนอกระบบ แต่วันนี้กลับไม่มีแม้แต่พริกจากแม่ค้าในตลาดให้กลับมาเด็ดที่บ้านได้ เพราะตลาดซบเซา 

ในวันที่โลกหมุนเร็วแบบไม่รอยายอ่อน และในตลาดซบเซาเพราะการพัฒนาเมืองจากเบื้องบน ผนวกกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดเวลา 16 เดือนที่ผ่านมา ประชากรเช่นยายอ่อนจะต้องปรับตัวเช่นไร

วันนี้ แม้ยายอ่อนจะไม่ใช่คนไร้บ้าน แต่ยายอ่อนก็ไม่เหลือบ้านให้กลับอีกต่อไป และต้องติดกับอยู่ในเมืองที่ไม่เอื้อให้สร้างอาชีพเลยแม้แต่น้อย

 

อ้างอิง

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1944891

https://www.posttoday.com/politic/report/390766

https://siamrath.co.th/n/164049

https://www.thairath.co.th/news/local/513950

https://waymagazine.org/changing-of-the-urban-poor/

Tags: , , ,